เชื่อว่าหลายคนที่เข้ามาอ่าน คงมีทักษะการทำอาหารติดตัวอยู่บ้าง
บางคนอาจจะเพิ่งเพิ่มเมื่อช่วงที่ต้องอยู่กับบ้านนานๆ จับตะหลิว จับกระทะ บ่อยขึ้น ถอยเตาอบมาทำขนมปัง ระหว่างนั้นก็ถอยเครื่องทำเส้นพาสต้ามารีดเส้นสดกินเองในบ้านก็เชื่อว่ามี ยิ่งช่วงนี้ร้านพาสต้าเส้นสดกำลังเป็นที่นิยม เป็นปรากฏการณ์กันในหมู่นักกิน
ส่วนหนึ่งคิดว่าเรากลับไปโหยหาความสดใหม่ โฮมเมด และกินของที่ไม่ใช่ของสำเร็จรูปกันมากขึ้น
การทำอาหารที่ใช้ของที่ทำขึ้นมาใหม่ๆ สดๆ มีเสน่ห์ที่หาได้ยาก และยิ่งหากทำได้เองทั้งหมด
สิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่ความภาคภูมิใจ แต่มันคือการได้เลือกสิ่งที่ดีให้กับตัวเอง ผลที่ได้มากกว่าความอร่อย คือความปลอดภัย
ครูหนึ่ง-สุมิตตา บางบอน ทำอาหารกินเองในบ้านมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ เหตุผลหลักที่ครูหนึ่งเลือกทำอาหารเอง เพราะลูกชายมีอาการเนื้องอกในสมองและเป็นภูมิแพ้ แพทย์ลงความเห็นว่าเป็นเพราะกรรมพันธุ์ แต่อีกสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากการกินอาหารที่สะสมมาทั้งชีวิตของครูหนึ่งและลูกด้วยเช่นกัน

“เราเชื่อว่าเป็นด้วยการกินได้ก็ต้องหายด้วยการกินได้เหมือนกัน พอลูกป่วย เราเลยศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้การกินช่วงแรกเริ่มที่แค่การบำบัด การล้างพิษ ขับสารตกค้างจากยาที่ต้องกินเป็นจำนวนมากแล้วเกิดการสะสม
“เลยปรับการกินในบ้าน เริ่มทำอาหารให้ลูกกินเอง ลูกอยากกินแฮมเบอร์เกอร์ พอไปหาขนมปังตามท้องตลาด พลิกดูฉลากขนมปังก็คิดได้เลยว่า เราไม่ค่อยมีอิสระในการเลือกอาหารสักเท่าไหร่ มันมีอยู่จำกัด ทั้งชนิดและรสชาติแบบที่เขามีไว้ให้ ยังไม่รวมเรื่องสารเคมีต่างๆ ที่ผสมอยู่ด้วย เลยคิดว่าน่าจะเริ่มลงมือทำขึ้นมาเองดีกว่า เลือกใช้วัตถุดิบใหม่ๆ ผสมเข้าไปได้ด้วย
“เช่นบะหมี่ พอลูกอยากกิน เราก็ศึกษาวิธีทำแล้วลองปรับสูตร ลองทำเป็นบะหมี่โกโก้ ใส่โกโก้เข้าไปผสมด้วย หรือเรารู้ว่าเด็กไม่ชอบกินผัก เราก็หาวิธีใส่ผักผสมเข้าไปในบะหมี่ให้เด็กได้กิน แล้วเราก็ได้เลือกผักที่ดีและปลอดภัยใส่เข้าไปได้ด้วย”
ครูหนึ่งเชื่อในพลังของธรรมชาติที่อยู่ในอาหาร การสะสมพลังงาน และการดูแลที่ดีของคนปลูก
“คิดแบบง่ายๆ ว่า ถ้าผักเติบโตเองตามธรรมชาติ มันก็แข็งแรงตามธรรมชาติ เรากินเข้าไปเราก็ต้องแข็งแรงสิ” ครูหนึ่งเปรียบเทียบผักจากธรรมชาติกับผักที่ต้องใช้ปุ๋ยประคบประหงม และคิดว่าการกินผักที่เติบโตด้วยวิธีธรรมชาติจะได้รับพลังงานจากธรรมชาติไปด้วย
“เราทำอาหารให้ลูกกิน เราเลยต้องทำอาหารให้เป็นยา ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน เลยต้องลงลึกถึงดินฟ้าอากาศและการปลูก ส่วนผสมแต่ละอย่างบางทีเราต้องไปคุยกับคนปลูก ขอดูส่วนผสมเลยก็มี

“และผลจากการกินแบบนี้มาหลายปี ทำให้อาการป่วยของลูกเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นมาก”
ครูหนึ่งสนใจการทำบะหมี่ และทดลองทำบะหมี่หลายรสจากทั้งผัก สมุนไพร และดอกไม้ให้สีง่ายๆ ในบ้านหลายชนิด ลงลึกไปถึงเรื่องแป้งสาลีที่เป็นส่วนผสมหลักในการใช้ทำเส้นบะหมี่ ครูหนึ่งเล่าว่า มีคนที่แพ้แป้งสาลีเยอะ แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่อาจแพ้สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตแป้งมากกว่าก็เป็นไปได้ การเลือกแป้งที่ปลอดภัย รู้ที่มาก็สำคัญมาก
“เรื่องราคาที่สูงกว่าปกติของวัตถุดิบปลอดภัย ก็แล้วแต่คนจะให้ความสำคัญ เรารู้ว่าถ้าป่วยค่ายามันแพงมาก แลกกับการซื้อของกินที่ดีในราคาสูงกว่าก็คิดว่าคุ้มค่า”
บะหมี่ทำเองของครูหนึ่ง ไม่มีการชั่ง ตวง วัด แบบเป๊ะๆ ครูหนึ่งพาเราเดินเก็บไข่เป็ดเลี้ยงเองในเล้า เด็ดผักหรือดอกไม้ที่ปลูกเองและที่ขึ้นตามธรรมชาติมาเป็นส่วนผสมที่ครูหนึ่งจะสอนทำเส้นบะหมี่ง่ายๆ ปลอดภัย และที่สำคัญได้รสจากธรรมชาติแท้ๆ
เส้นบะหมี่ไข่
อุปกรณ์
- แป้งสาลีอเนกประสงค์ (หากได้แป้งที่ปลอดภัยและรู้แหล่งที่มาจะดีมาก)
- ไข่เป็ด (ครูหนึ่งแนะนำให้เลือกฟองที่มีเปลือกไข่สีเขียวหรือดำคล้ำ จะมีธาตุอาหารมากกว่า และไข่จะมีคุณประโยชน์มากกว่าฟองสีขาว)
- เกลือ
- ภาชนะสำหรับผสม
- เครื่องรีดเส้น
วิธีทำ

- ตักแป้งอเนกประสงค์ กะเอาตามปริมาณสัดส่วน 1 : 2 (หรือแป้งประมาณ 100 กรัมต่อไข่เป็ด 1 ฟองใหญ่)

- ใส่เกลือ 1 หยิบมือลงในแป้งเพื่อทำให้แป้งมีความหนึบขึ้น

- ตอกไข่เป็ด 1 ฟองผสมลงในภาชนะสำหรับผสม ไข่เป็ดเป็นส่วนผสมโปรตีนที่ทำให้เส้นบะหมี่เด้งโดยธรรมชาติ หากใช้ไข่ไก่จะทำให้เส้นเด้งน้อยกว่า

- นวดให้ส่วนผสมทุกอย่างเข้ากัน ยิ่งนวดนาน แป้งจะยิ่งเหนียวนุ่มขึ้น


- กดแผ่นแป้งให้แบนยาวเพื่อนำเข้าเครื่องรีดเส้นพาสต้า ค่อยๆ ปรับเบอร์ขนาดความกว้างของช่องรีดแป้งจากกว้างไปแคบ (แต่ละเครื่องอาจมีขนาดแตกต่างกัน) นวดทีละเบอร์จนได้แผ่นบางและเนื้อเนียน

- โรยแป้งสาลีอเนกประสงค์ลงบนแผ่นแป้ง เพื่อเตรียมตัดออกเป็นเส้น สาเหตุที่ใช้แป้งโรย เพราะเส้นจะได้ไม่จับตัวติดกันเป็นก้อนหลังตัด และที่เลือกใช้แป้งสาลีอเนกประสงค์แทนแป้งมันแบบปกติ เพราะจะได้ลดความเสี่ยงของชนิดแป้งที่ต้องใช้หลายชนิด แต่ใช้แป้งมันแทนได้ หากมีแป้งมันที่ปลอดภัย


- ปรับเครื่องตัดเส้นตามขนาดที่ต้องการ แล้วรีดแผ่นแป้งให้ออกมาเป็นเส้น เลือกแบ่งครึ่งหรือกำหนดความยาวของเส้นบะหมี่ตามชอบ
- หากไม่ได้ใช้เครื่องตัดเส้น พับแป้งเป็นทบแล้วใช้มีดซอยเส้นขนาดตามชอบแทน
- แนะนำให้พักเส้นทิ้งไว้ 1 คืนก่อนนำมาทำอาหาร จะได้เส้นที่อร่อยยิ่งขึ้น
เส้นบะหมี่ไข่ใส่ดอกเฟื่องฟ้า
อุปกรณ์
- แป้งสาลีอเนกประสงค์
- ไข่เป็ด
- ดอกเฟื่องฟ้า
- เกลือ
- ภาชนะสำหรับผสม
- เครื่องปั่น
- เครื่องรีดเส้น
วิธีทำ

- เด็ดเกสรดอกไม้ออก เพื่อป้องกันอาการแพ้เกสรดอกไม้โดยไม่รู้ตัว แล้วล้างทำความสะอาดดอกไม้

- นำดอกไม้ใส่เครื่องปั่น ตอกไข่เป็ด 1 ฟองผสมลงไปด้วย พร้อมเกลือ 1 หยิบมือ

- ปั่นรวมกัน
- ตักแป้งอเนกประสงค์ กะเอาตามปริมาณสัดส่วน 1 : 2 (หรือแป้งประมาณ 100 กรัมต่อของเหลวจากการปั่น)


- เทส่วนผสมที่ปั่นในภาชนะผสม นวดให้ส่วนผสมทุกอย่างเข้ากัน
- กดแผ่นแป้งให้แบนยาวเพื่อนำเข้าเครื่องรีดเส้นพาสต้า ค่อยๆ ปรับเบอร์ขนาดความกว้างของช่องรีดแป้งจากกว้างไปแคบ นวดทีละเบอร์จนได้แผ่นที่บางและเนื้อเนียน
- โรยแป้งสาลีอเนกประสงค์ลงบนแผ่นแป้ง เพื่อเตรียมตัดออกเป็นเส้น


- ปรับเครื่องตัดเส้นตามขนาดที่ต้องการ แล้วรีดแผ่นแป้งให้ออกมาเป็นเส้น เลือกแบ่งครึ่งหรือกำหนดความยาวของเส้นบะหมี่ตามชอบ
- หากไม่ได้ใช้เครื่องตัดเส้น พับแป้งเป็นทบแล้วใช้มีดซอยเส้นขนาดตามชอบแทน
- แนะนำให้พักเส้นทิ้งไว้หนึ่งคืนก่อนนำมาทำอาหารจะได้เส้นที่อร่อยยิ่งขึ้น
เส้นบะหมี่ไข่ใส่ใบไชยา
อุปกรณ์
- แป้งสาลีอเนกประสงค์
- ไข่เป็ด
- ผักไชยา
- เกลือ
- ภาชนะสำหรับผสม
- เครื่องปั่น
- เครื่องรีดเส้น
วิธีทำ

- ล้างทำความสะอาดผักไชยา

- นำผักใส่เครื่องปั่น ตอกไข่เป็ด 1 ฟองผสมลงไปด้วย พร้อมเกลือ 1 หยิบมือ

- ปั่นรวมกัน
- ตักแป้งอเนกประสงค์ กะเอาตามปริมาณสัดส่วน 1 : 2 (หรือแป้งประมาณ 100 กรัมต่อของเหลวจากการปั่น)

- เทส่วนผสมที่ปั่นในภาชนะผสม นวดให้ส่วนผสมทุกอย่างเข้ากัน
- กดแผ่นแป้งให้แบนยาวเพื่อนำเข้าเครื่องรีดเส้นพาสต้า ค่อยๆ ปรับเบอร์ขนาดความกว้างของช่องรีดแป้งจากกว้างไปแคบ นวดทีละเบอร์จนได้แผ่นที่บางและเนื้อเนียน
- โรยแป้งสาลีอเนกประสงค์ลงบนแผ่นแป้ง เพื่อเตรียมตัดออกเป็นเส้น


- ปรับเครื่องตัดเส้นตามขนาดที่ต้องการ แล้วรีดแผ่นแป้งให้ออกมาเป็นเส้น เลือกแบ่งครึ่งหรือกำหนดความยาวของเส้นบะหมี่ตามชอบ
- หากไม่ได้ใช้เครื่องตัดเส้น พับแป้งเป็นทบแล้วใช้มีดซอยเส้นขนาดตามชอบแทน
- แนะนำให้พักเส้นทิ้งไว้หนึ่งคืนก่อนนำมาทำอาหารจะได้เส้นที่อร่อยยิ่งขึ้น
ข้อควรระวัง : ผักไชยาไม่ควรกินดิบ เมื่อผสมในเส้นบะหมี่ควรลวกให้สุก