“นิตยสารผู้หญิงที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น เป็นนิตยสารแบบไหนคะ 

“ในวงการนิตยสาร ยอดขายนิตยสารทั่วไปใน ค.ศ. 2020 นั้น ลดลงกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับ ค.ศ. 2017 แต่นิตยสารผู้หญิงอันดับหนึ่งฉบับนี้ ยังทำยอดขายได้สูงขึ้น 2.3 เท่า เมื่อเทียบกับ 3 ปีก่อน

“นิตยสารที่ขายได้กว่า 3.7 แสนฉบับในช่วงครึ่ง ค.ศ. 2020 และทำยอดขายทิ้งห่างจากนิตยสารอันดับ 2 กว่าเท่าตัว 

“ขอแนะนำทุกท่านให้รู้จัก ‘Halmek’ (ภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า ฮารุเมขุ) นิตยสารที่เจาะกลุ่มผู้อ่านวัย 50 ปีขึ้นไป”

นี่คือคำพูดของดิฉันตอนไปบรรยายเรื่องการตลาดสำหรับผู้สูงอายุ ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มหนึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน

ดิฉันรู้จักนิตยสาร Halmek นี้ตอนดูข่าวธุรกิจของญี่ปุ่น แต่ยังไม่ได้หาข้อมูลอย่างจริงจังเท่าไร จนต้องเตรียมสอนในครั้งนี้ 

ตอนแรกดิฉันคิดว่านิตยสารนี้ไปได้ดี เพราะจับกลุ่มตลาดผู้สูงอายุที่ยังคงชอบสินค้าดั้งเดิมแบบนิตยสารอยู่ แต่พอหาข้อมูลไปเรื่อยๆ ถึงค่อยพบว่า จริงๆ แล้ว นิตยสารฉบับนี้เคยตั้งใจจับตลาดกลุ่มนี้มาก่อน แต่ดำเนินธุรกิจผิดพลาดจนล้มละลาย ผู้บริหารชุดใหม่ต้องเข้ามาพลิกฟื้นอย่างใหญ่หลวง 

ภายใต้คำว่า ‘การตลาดสำหรับผู้สูงอายุ’ เรื่องราวของ Halmek จะทำให้พวกเราเห็นพลังของการเห็นลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง และ Business Model ที่สวยงาม

นิตยสารล้ม-ลุก 

นิตยสาร Halmek เริ่มวางจำหน่ายใน ค.ศ. 1996 โดยใช้ชื่อนิตยสารว่า ‘อิคิอิคิ’ (ภาษาญี่ปุ่น แปลว่า สดใส) โดยมุ่งจับกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่แรก 

ยอดขายของนิตยสาร อิคิอิคิ ค่อยๆ เติบโตโดยตลอด ช่วงที่ขายดีนั้นเคยจำหน่ายได้ปีละ 4 แสนฉบับทีเดียว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือบริษัทลงทุนมากเกินไป จนสร้างหนี้กว่า 6.5 พันล้านเยน 

ผู้บริหารชุดใหม่ที่เข้ามากอบกู้กิจการ ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อและแนวทางของนิตยสาร ภาพลักษณ์เดิมของนิตยสารฉบับนี้เน้นไปทางการดูแลสุขภาพเป็นหลัก ส่วนภาพลักษณ์ใหม่คือการนำเสนอเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น และเปลี่ยนชื่อนิตยสารจาก อิคิอิคิ เป็น Halmek เพื่อสื่อความหมายว่า ไม่ว่าอายุเท่าใด ก็ยังสดใสและคิดบวกเสมอ 

ฮารุเมขุ นิตยสารผู้หญิงที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น ด้วยการเจาะกลุ่มผู้อ่านวัย 50 ขึ้นไป
ภาพ : magazine.halmek.co.jp 

เนื้อหาในนิตยสารก็ไม่ได้มีแต่เรื่องการดูแลสุขภาพอีกต่อไป ประเด็นใดที่ผู้หญิงวัย 50+ สนใจ Halmek จะหยิบมาเล่าหมด เช่น พลังของคำพูด ทำอย่างไรกับผมขาว ทำความสะอาดแค่ตู้เย็นกับหน้าบ้านก็พอ หรือข่าวอัปเดตอย่าง เทคนิคการใช้ LINE ให้สนุกและสะดวกยิ่งขึ้น

ฮารุเมขุ นิตยสารผู้หญิงที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น ด้วยการเจาะกลุ่มผู้อ่านวัย 50 ขึ้นไป
ภาพ : magazine.halmek.co.jp

Halmek ออกนิตยสารรายเดือน ไม่มีวางจำหน่ายหน้าร้าน ผู้ที่สนใจเลือกโทรสั่งหรือสั่งทางออนไลน์ก็ได้ หากถูกใจผู้อ่านก็สมัครนิตยสารเป็นรายปี หรือตลอด 3 ปีได้เลย 

Halmek ให้ความสำคัญกับคุณภาพของเนื้อหานิตยสารเป็นอย่างมาก ปกติแล้วนิตยสารทั่วไปใช้เวลาทำคอนเทนต์ประมาณ 2 -3 เดือน แต่ Halmek มีทีมงานถึง 10 กว่าคน และใช้เวลาเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ เรียบเรียง เขียนทั้งหมดกว่าครึ่งปี 

ทุกอย่างถูกวางแผนไว้ล่วงหน้า ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม ขณะที่ดิฉันกำลังเขียนต้นฉบับนี้ Halmek ก็มีโครงร่างสำหรับโปรโมตนิตยสารฉบับเดือนตุลาคมเรียบร้อยแล้ว ลองมาดูหัวข้อกันนะคะ

ฉบับพิเศษ

  • ฝึกสมองอย่างไร ให้ปลอดภัยจากอาการหลงลืมและอัลไซเมอร์ควิซตรวจสอบคนที่มีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์ง่าย vs ยาก 
  • เพียงแค่ก้าวขาห่าง 5 ซม. ก็ป้องกันอัลไซเมอร์ได้… วิธีเดินที่ถูกต้อง 
  • แบบออกกำลังสมองง่ายๆ ใช้เวลาเพียงแค่ 1 นาที
  • กับข้าวง่ายๆ ที่ช่วยล้างพิษในสมอง 
  • เปลี่ยนกิจกรรมในชีวิตประจำวันนิดเดียว สมองก็หนุ่มสาวขึ้นแล้ว 
  • หากตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวเป็นอัลไซเมอร์ จะทำอย่างไรดี 

เนื้อหาพิเศษจากทีมงาน Halmek 

  • รู้จักจุดอ่อนของสมองตนเอง และสนุกกับการเสริมสร้างพลังสมอง
  • กิจกรรมฝึกสมองโฉมใหม่ 

เนื้อหาพิเศษอื่นๆ 

  • ชีวิตที่มีดอกไม้ 
  • คำพูดที่สร้างพลังใจ
  • แมตช์สเวตเตอร์และกางเกงอย่างไร ให้เหมาะกับการออกไปเดินเล่นในฤดูใบไม้ร่วง
  • รวมกลอนไฮกุจากทางบ้าน

เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่สุภาพสตรีวัย 50+ อยากรู้ กังวล หรือสนใจทั้งสิ้น 

ทีมบรรณาธิการพยายามเลือกใช้คำที่ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นความรู้ใหม่ที่ผู้สูงอายุยังไม่ค่อยคุ้นชิน ยกตัวอย่างเช่น ตอนสอนวิธีการใช้สมาร์ทโฟนนั้น ผู้อ่านจำนวนมากอาจไม่เข้าใจคำว่า ‘แท็บ’ หรือ ‘แตะหน้าจอ’ ทีม บ.ก. ก็เลือกใช้คำที่ผู้สูงอายุจะเข้าใจง่าย เช่น แตะเบาๆ น้ำหนักมือคล้ายกับตอนเอานิ้วแตะเมล็ดงาขึ้นมาจากจาน

ฮารุเมขุ นิตยสารผู้หญิงที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น ด้วยการเจาะกลุ่มผู้อ่านวัย 50 ขึ้นไป
มีภาพแตะเมล็ดงาประกอบด้วย
ภาพ : business.nikkei.com

ในช่วงโควิด-19 มีการจัดอีเวนต์และสัมมนาทางออนไลน์ ครั้งแรกนั้นมีผู้สมัครมา 10 คน ในวันงาน มีคนเข้าโปรแกรม Zoom ได้เพียง 2 คนเท่านั้น เมื่อลองสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ก็เจอปัญหาที่ไม่คาดคิด เช่น ผู้อ่านหลายท่านไม่ทราบว่าโน้ตบุ๊กตนเองไม่มีกล้อง แต่ทีมงานก็ไม่ย่อท้อ ครั้งถัดไป ทีมงานพยายามทำคู่มือให้เข้าใจง่ายที่สุดส่งให้ผู้อ่านล่วงหน้า จนในระยะหลัง Halmek จัดสัมมนาทาง Zoom ในหลักพันคนได้แล้ว 

นอกจากเนื้อหาและสไตล์การเขียนที่เต็มไปด้วยความใส่ใจต่อผู้อ่านแล้ว สันปกก็ออกแบบให้เห็นหมายเลขฉบับง่าย เผื่อผู้อ่านต้องการกลับมาหยิบฉบับเก่าๆ อ่านอีกครั้ง ส่วนสันปกด้านล่าง ออกแบบเป็นรูปภาพ หากเรียง 12 เล่มต่อกัน ก็จะกลายเป็นภาพเดียวกัน เป็นการทำให้ผู้อ่านอยากซื้อนิตยสารเก็บทุกเล่มหรือสมัครรายปี 

รู้เขา รู้เรา รู้ผู้อ่าน รักผู้อ่าน

ความท้าทายของทีม บ.ก.​ Halmek คือ ทำอย่างไรให้ผู้อ่านอยากสมัครอ่านนิตยสารต่อเรื่อยๆ นิตยสารก็ไม่ได้มีวางจำหน่ายตามร้านหนังสือ เพราะฉะนั้น ต้องทำเนื้อหาให้คนอยากสมัครอ่าน ขณะเดียวกัน ทุกเล่มต้องมีเนื้อหาที่น่าสนใจหมด เนื่องจากผู้อ่านจะได้สมัครรายปีหรือซื้ออ่านต่อเรื่อย ๆ 

บ.ก. ใหญ่ของ Halmek กล่าวไว้ว่า นิตยสารที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ มักจะทำคอนเทนต์ที่ผู้อ่านไม่ค่อยสนใจ เช่น เดิมเป็นนิตยสารด้านอินทีเรีย แต่หันไปทำเรื่องแฟชั่นบ้าง อาหารบ้าง หรือเดิมเป็นนิตยสารสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มทำอาหาร แต่พอระยะเวลาผ่านไป ก็เริ่มมีเนื้อหาแบบการตกแต่งอาหารให้เลิศหรู ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ผู้อ่านสนใจเลย ส่วนใหญ่ปัญหาเหล่านี้มักเริ่มจากทีมงานที่รู้สึกเบื่อที่ต้องทำเรื่องเดิมๆ 

เป้าหมายสิ่งสำคัญในการทำคอนเทนต์ของ Halmek มีเพียงการทำคอนเทนต์ที่ผู้อ่านสนใจ 

แต่จะทำอย่างไรล่ะ 

Halmek มีทีมวิจัยเฉพาะ โดยรับสมัครผู้อ่านที่สะดวกช่วยตอบแบบสอบถามหรือสัมภาษณ์ โดยมีสมาชิกกว่า 3,000 คน

ตอนที่จะทำคอนเทนต์เรื่องสมาร์ทโฟนนั้น ทีม บ.ก. ยังนึกไม่ออกว่า ผู้สูงอายุติดขัดประเด็นใดตอนใช้สมาร์ทโฟน ทางทีมงานจึงตัดสินใจขอให้ผู้อ่านสิบกว่าท่านช่วยเขียน ‘สมาร์ทโฟนไดอารี่’ โดยเขียนว่า ตนเองใช้โทรศัพท์มือถืออย่างไร ตั้งแต่ตอนตื่นนอน จนถึงตอนเข้านอน มีปัญหาในการใช้งานอย่างไรบ้าง 

ผลลัพธ์ที่ออกมา เหนือความคาดคิดของทีม บ.ก.​

ผู้สูงอายุแตะหน้าจอไม่เป็น ไม่เข้าใจคำศัพท์ต่างๆ ที่ปรากฏในเครื่อง เช่น แอปฯ หรือคำว่าดาวน์โหลด ผู้สูงอายุบางท่านพยายามค้นหาสูตรอาหาร แต่พอวางโทรศัพท์ไว้แป๊บเดียว หน้าจอก็ดับ แล้วไม่รู้จะทำอย่างไร 

เมื่อทีมงานทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการใช้สมาร์ทโฟน ก็กลายเป็นฉบับที่ขายดี

นอกจากนี้ ในนิตยสารจะมีไปรษณียบัตรแนบไว้ให้ผู้อ่านส่งกลับ โดยมีคำถามต่างๆ เช่น เล่าเรื่องราวสั้นๆ เกี่ยวกับท่าน ในแต่ละเดือนจะมีผู้อ่านส่งไปรษณียบัตรนี้กลับมาให้ Halmek กว่า 2,000 ใบ ทีมงานก็จะอ่านทุกใบจริงๆ 

คุณยายบางท่านเขียนมาเล่าว่าหลานเพิ่งคลอด หรือปวดหลัง หรือดอกไม้ในสวนบานแล้ว ทีมงานจะอ่านและวิเคราะห์ว่าตอนนี้ผู้สูงอายุกำลังสนใจอะไร หรือมีปัญหากับอะไรบ้าง บางครั้งจะเชิญผู้อ่านประมาณ 5 – 10 ท่านมาล้อมวงจิบน้ำชาและสัมภาษณ์ไปด้วย 

Halmek ตั้งชื่อหน่วยงานวิจัยและเก็บข้อมูลนี้ว่า ‘ศูนย์วิจัยการใช้ชีวิตที่ดี’ 

Halmek เป็นแค่นิตยสาร แต่ทำไมต้องมีศูนย์วิจัย ทำไมต้องมีฐานลูกค้ากลุ่มตัวอย่างกว่า 3,000 คน ต้นทุนจะสูงหรือไม่ คุ้มค่ากับการลงทุนหาข้อมูลหรือเปล่านะ

Beyond Magazine

โดยปกติ รายได้หลักของนิตยสารมาจากการโฆษณา แต่กรณี Halmek นั้น นิตยสารวางจำหน่ายในรูปแบบจัดส่งถึงบ้าน ค่าส่งถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าตามน้ำหนักนิตยสาร ทำให้ Halmek เพิ่มจำนวนหน้าโฆษณาตามสปอนเซอร์ไม่ได้ 

รายได้หลักของพวกเขาจึงไม่ใช่ค่าโฆษณา แต่กว่าร้อยละ 80 มาจากการจำหน่ายสินค้า นอกนั้น ยังมีรายได้จากการจัดอีเวนต์ สัมมนา ตลอดจนค่าที่ปรึกษาสำหรับตลาดผู้สูงอายุ 

ศูนย์วิจัยการใช้ชีวิตที่ดีจะรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทุกด้านที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เช่น แฟชั่น เครื่องสำอาง ไลฟ์สไตล์ การดูแลสุขภาพ จากนั้น ทีมอื่นๆ ของ Halmek ได้แก่ ทีมนิตยสาร จะนำไปแปลงเป็นคอนเทนต์ทีมจำหน่ายสินค้า จะนำไปพัฒนาสินค้าขายต่อ หรือหากมีบริษัทใดสนใจเกี่ยวกับข้อมูลตลาดผู้สูงอายุ ก็มาซื้อได้จาก Halmek 

เวลาส่งนิตยสาร พวกเขาจะแนบแคตตาล็อกสั่งซื้อสินค้าไปด้วย สินค้าบางชิ้นอาจนำมาเล่าในนิตยสาร และผู้อ่านก็ซื้อได้จากแคตตาล็อก สินค้าตัวหนึ่งที่ขายดีคือกางเกงผ้ายืด โดยศูนย์วิจัยได้เชิญกลุ่มตัวอย่าง 345 คนมาวัดรูปร่างด้วยเครื่องวัดสามมิติ จากนั้นนำไปวิเคราะห์และออกแบบเป็นกางเกง 3 แบบ ซึ่งใส่สบายและกระชับพอดี กางเกงรุ่นนี้ทำยอดขายได้กว่า 1,000 ล้านเยน 

‘Halmek’ นิตยสารผู้หญิงที่ทุ่มเททำการตลาดเพื่อผู้สูงอายุ ผลิตสินค้าตอบสนองคุณยาย จนยอดขายทิ้งห่างคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่น
ภาพ : business.nikkei.com

หรือตอนที่นิตยสารเล่าถึงนักเปียโนและการเล่นเปียโน พวกเขาก็จัดอีเวนต์พาผู้อ่านไปชมคอนเสิร์ต และฟังเรื่องราวเบื้องลึกเพิ่มเติม

การทุ่มเทวิจัยและหาข้อมูลครั้งหนึ่งนั้น จึงมิได้นำไปใช้ในนิตยสารเพียงอย่างเดียว แต่ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาสินค้า ตลอดจนการจัดอีเวนต์และสัมมนาต่างๆ 

หากเป็นนิตยสารทั่วไป สมมติทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการทำสีผม ก็อาจนำเสนอแค่วิธีการทำสีผม สีที่ได้รับความนิยม แต่หากเป็น Halmek พวกเขาจะเล่าเรื่องราวการทำสีผม ทำสีและอุปกรณ์ออกมาจำหน่าย ตลอดจนจัดอีเวนต์โดยให้ช่างทำสีผมมืออาชีพมาสอน 

ผู้อ่านก็จะได้สัมผัสประสบการณ์นอกเหนือจากแค่การอ่าน แต่ยังได้สัมผัสสินค้า ได้รับคำแนะนำจากมืออาชีพ เป็นประสบการณ์เฉพาะที่จะได้จากนิตยสาร Halmek 

ส่วนฝั่ง Halmek เอง ก็มุ่งมั่นที่จะสร้างชีวิตที่ดี ที่ผู้สูงอายุสดใส มีพลัง และยังคงสนุกกับการเรียนรู้

บทเรียนจาก Halmek

  1. การมุ่งมั่นเข้าใจลูกค้าและพยายามตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่วิธีการเขียนคอนเทนต์ การเลือกหัวข้อ ตลอดจนการออกแบบปก สันปก
  2. การเก็บข้อมูลลูกค้า แม้เราอาจไม่มีเงินทุนสูงเท่า Halmek แต่การสัมภาษณ์ลูกค้า หรือการฟังฟีดแบ็กลูกค้า ก็เป็นสิ่งที่บริษัททำได้ 
  3. การออกแบบ Business Model ที่ดี รายได้หลักจะมาจากไหน กรณีของ Halmek คือ การสร้างคอมมูนิตี้ โดยมีศูนย์กลางมาจากนิตยสาร แล้วต่อยอดธุรกิจอีเวนต์และจำหน่ายสินค้า

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย