หากเอ่ยคำว่า ‘ศิษย์เก่าศิลปากร’ หลายๆ คนมักจะนึกถึงศิลปินแห่งชาติชื่อดังหลากหลายแขนง อย่างไรก็ดี เราเองกลับนึกถึงอีกกลุ่มบุคคลที่เดินตามรอยเท้าของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือชื่อเดิม คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย บนเส้นทางการเป็นครูสอนศิลปะ

เข้าห้องทำงาน อ. ศิลป์ พีระศรี แวะหอประติมากรรมต้นแบบ ขุมทรัพย์ยุคบุกเบิกวงการศิลปะของประเทศ

ดังนั้น ในวาระโอกาสวันศิลป์ พีระศรี วนมาบรรจบอีกครั้งในปีนี้ เราจึงออกปากชวนศิษย์เก่าศิลปากร ผู้เป็นอาจารย์ศิลปะรุ่นใหม่ไฟแรง 2 ท่าน คือ อาจารย์อนิวัฒน์ ทองสีดา หรืออาจารย์เลยลม อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และ อาจารย์วรรณฤทธิ์ กะรินทร์ หรืออาจารย์อาร์ต อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาพาเราเดินชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ และหอประติมากรรมต้นแบบ พลางย้อนคิดถึงแรงบันดาลใจของผลงานและความเป็นครูของอาจารย์ศิลป์ โดยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการต่อยอดความคิดและทิศทางการสร้างศิลปินไทยในอนาคตไม่มากก็น้อย

อาจารย์อนิวัฒน์ ทองสีดา
มหาวิทยาลัยศิลปากร

ความเป็นครูควบคู่กับศิลปิน

“เราจำอาจารย์เลยลมครั้งแรกได้จากการที่มายืมสีขาว ในห้องสอบเข้าจิตรกรรม” อาจารย์อาร์ตเล่าย้อนไปถึง พ.ศ. 2549 ที่พวกเขาทั้งคู่ก้าวเท้าเข้ามาเป็นนักศึกษาภาควิชาจิตรกรรมพร้อมกัน

“นี่ถ้าไม่ได้สีอาจารย์อาร์ต อาจจะไม่ได้เรียน” อาจารย์เลยลมหัวเราะ

พวกเขาบอกว่า มิวเซียมนี้ไม่ได้เปลี่ยนไปมากจากภาพจำของพวกเขาเท่าไร กล่าวคือ เป็นห้องจัดแสดงเล็กๆ 2 ห้อง ที่ทำให้ศิษย์รุ่นหลังของมหาวิทยาลัยได้รู้จักใกล้ชิดกับอาจารย์ศิลป์ แม้ว่าจะไม่เคยได้เรียนกับท่านโดยตรง

ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ในห้องแรกเป็นห้องเวิร์กช็อปของอาจารย์ศิลป์ที่ถูกจัดเป็นแกลเลอรี่แสดงทั้งผลงานของอาจารย์เอง และผลงานของลูกศิษย์ที่อาจารย์สะสมไว้ เช่น เฟื้อ หริพิทักษ์, ชลูด นิ่มเสมอ, เขียน ยิ้มศิริ ฯลฯ

“ตั้งแต่แวบแรกเราจะเห็นความเป็นยุโรป โดยเฉพาะงานปั้นแบบ Bust (รูปปั้นจากศีรษะถึงหน้าอก) ที่เป็นเอกลักษณ์ของความคลาสสิกมาแต่ไหนแต่ไร”

ว่าแล้วเราเลยได้คุยถึงงาน Bust ชิ้นสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตอาจารย์ศิลป์ 

ในช่วงแรกที่นายคอร์ราโด เฟโรชี เข้ามารับราชการในไทย ด้วยอายุเพียง 32 ปี แถมยังเป็นชาวต่างชาติ จึงยังมีผู้ดูแคลนท่านอยู่ จนได้สมเด็จครู (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) ที่ทรงมองเห็นอัจฉริยภาพของนายช่างจากฟลอเรนซ์คนนี้ จึงทรงสั่งให้ปั้นรูปเหมือนท่าน นายเฟโรชีจึงปั้นพระรูปครึ่งพระองค์ เปลือยพระศอมาจนถึงพระอุระ ถือเป็นมาสเตอร์พีซชิ้นแรกๆ ที่กระจายชื่อของท่านไปในวงเจ้านายสยาม

ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร

เมื่อปั้นเสร็จยังคงมีคนบางกลุ่มกล่าวว่า ฝรั่งไม่รู้ธรรมเนียมของสยาม ปั้นพระรูปพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เปลือยพระอุระเป็นการมิบังควร สมเด็จฯ จึงทรงเก็บพระรูปปั้นนี้ไว้มิให้ออกสู่สายตาบุคคลภายนอก แล้วมีรับสั่งให้นายเฟโรชีปั้นพระรูปขึ้นใหม่ เป็นพระรูปครึ่งพระองค์ตั้งแต่พระเศียรลงมาจนถึงพระศอ สวมฉลองพระองค์คอจีน ปัจจุบันจัดแสดง ณ ท้องพระโรงวังปลายเนิน 

จากนั้นสมเด็จครูยังทรงกราบบังคมทูลฯ เชิญให้รัชกาลที่ 6 มาทรงเป็นแบบให้นายเฟโรชี โดยปั้นเฉพาะพระพักตร์ ซึ่งเป็นที่พอพระราชหฤทัย ทำให้อาจารย์ฝรั่งกลายเป็นที่ยอมรับของคนในกระทรวงในที่สุด

เริ่มจากเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร กระทรวงวัง ด้วยเงินเดือน 800 บาท นายเฟโรชีค่อยๆ ได้รับความไว้วางใจในหน้าที่การงานมากขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา และได้วางหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมขึ้น พร้อมกับก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมในเวลาต่อมา

เมื่อกรมศิลปากรแยกจากกระทรวงศึกษาธิการไปขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2485 จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงมีคำสั่งให้อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นคือ พระยาอนุมานราชธน ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรและตราพระราชบัญญัติ ยกฐานะโรงเรียนประณีตศิลปกรรมขึ้นเป็น ‘มหาวิทยาลัยศิลปากร’ โดยมีศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรชีดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของมหาวิทยาลัย

ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร

“ในส่วนของห้องทำงาน เราจัดแสดงสิ่งที่สะท้อนถึงงานทั้งสองด้านของท่าน นั่นคือเหล่าชิ้นงานและอุปกรณ์ศิลปะที่แสดงถึงความเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ อีกทั้งตู้หนังสือและอุปกรณ์เครื่องเขียนที่แสดงถึงภาระหน้าที่ทางด้านวิชาการ” อาจารย์เลยลมเล่า

“ชิ้นที่เราประทับใจมากที่สุดในนี้ คือเจ้าเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อโอลิมเปียบนโต๊ะของท่าน คนเป็นครูทุกคนน่าจะเข้าใจ เพราะมันคือสิ่งที่ผลิตองค์ความรู้และเผยแผ่งานออกไปในวงกว้าง แน่นอนว่าอาจารย์ศิลป์เองก็เขียนหนังสือด้วย ตอนแรกๆ มันไม่มีตำรานะ ท่านก็เขียนขึ้นมามากมาย อย่างทฤษฎีศิลปะที่เอามาใช้สอน แสดงถึงความตั้งใจอันยิ่งยวดของท่านที่ต้องทำงานในช่วงจุดเปลี่ยนของวงการการศึกษาศิลปะในไทย จากที่เคยเป็นสกุลช่าง แล้วก็กระโดดมามีอะคาเดมีแบบสากลเลย ซึ่งมันแตกต่างกันพอสมควร”

ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร

สไตล์การเรียนแบบอะคาเดมี

ใน พ.ศ. 2488 สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงและประเทศอิตาลีอยู่ฝั่งผู้แพ้สงคราม หลวงวิจิตรวาทการ จึงทำเรื่องขอโอนสัญชาติและเปลี่ยนชื่อศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรชี เป็นคนไทยชื่อ นายศิลป์ พีระศรี

อย่างไรก็ดี วิธีสอนของท่านยังคงความเป็นอะคาเดมีแบบอิตาเลียนอยู่เช่นเดิม

“ในตู้เราจะเห็นเครื่องมือแต่งปูน มีด ค้อน รวมไปถึงสีน้ำและพู่กันที่นำมาจากอิตาลี สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือช่างศิลปะ แต่ยังเป็นสื่อที่จะนำประเทศไทยเข้าสู่โลกของศิลปะสมัยใหม่

ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร

“รากเราเป็นงานช่างแบบจารีต จู่ๆ ก็มีงานแบบธรรมชาตินิยมเข้ามาให้ศึกษา นอกจากนั้น ยังมีศิลปะแบบโมเดิร์นของยุโรปให้เรียนรู้อีก ความเคลื่อนไหวด้านศิลปะช่วงนั้นถือว่าค่อนข้างเร็วมากเมื่อเทียบกับระยะเวลาการพัฒนาศิลปะในยุโรป ซึ่งอาจจะส่งผลต่อรสนิยมผู้คนที่ตามไม่ทัน ต้องยอมรับว่าคนในสังคมบางส่วนไม่มีเวลาพอที่จะค่อยๆ คลี่คลายหรือเจาะลึกตกผลึกความรู้หรือรูปแบบผลงานใหม่ๆ เหล่านี้” อาจารย์อาร์ตกล่าว

“แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจารย์ศิลป์ได้วางรากฐานการศึกษาศิลปะไว้ดีมาก แม้จะมีข้อจำกัดมากมายแต่ท่านก็สร้างองค์ความรู้ที่ครอบคลุมตั้งแต่ Old Academic ไปจนถึงแนวทางของศิลปะร่วมสมัยได้”

ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร

อาจารย์เลยลมเสริมว่า หัวใจของการเรียนการสอนแบบอะคาเดมีคือการฝึกฝนทักษะพื้นฐานให้แน่นรอบด้าน ก่อนจะฝึกความสร้างสรรค์ จนมีประเด็นว่าลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์มักจะเป็นเรเนซองส์แมน คือต้องศึกษาทุกอย่างและทำได้หลายอย่าง อาทิ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี

“อาจารย์ศิลป์เองก็ศึกษาพื้นฐานของศิลปะไทยด้วยนะ ท่านวาดลายไทย พานักเรียนไปศึกษาตามวัดต่างๆ อย่างอยุธยา สุโขทัย ไปดูว่ารากฐานของมันมายังไง”

พอพูดถึงสุโขทัยเลยได้คุยถึงอีกหนึ่งผลงานชิ้นเอกของท่าน 

ชั่วชีวิตการทำงานกว่า 39 ปี ในประเทศไทย ท่านได้รับมอบหมายจากรัฐให้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์และอนุสาวรีย์สำคัญของประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในชิ้นสำคัญที่เราเห็นทุกวันนี้คือพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ที่มีมติให้ก่อสร้างขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เพื่อเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ อาจารย์ศิลป์เป็นผู้ที่ศึกษาพระพุทธรูปลีลาศิลปะสุโขทัยอย่างลึกซึ้ง เพราะเคยทำงานวิจัยว่าพระพุทธรูปลีลาศิลปะสุโขทัยเป็นสไตล์พระพุทธรูปที่อ่อนช้อยและงดงามลงตัวที่สุดของไทย จึงสร้างพระพุทธรูปลีลาที่มีการผสมผสานรูปแบบศิลปะสุโขทัยเข้ากับกายภาพที่สมจริงได้ จนมีความพิเศษอย่างยิ่งขนาดได้รับสมญาว่า เป็นความงามสูงสุดของศิลปะไทย

ว่าแล้วเราจึงเดินออกไปสู่หอประติมากรรมต้นแบบเพื่อดูลักษณะงานที่ว่านี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ขุมทรัพย์เพื่อการเรียนรู้

กลางโถงใหญ่ของหอประติมากรรมต้นแบบ มีแบบเศียรของพระพุทธรูปปางลีลาขนาด 1:1 ที่เราพูดถึง วางให้ศึกษากันชัดๆ ล้อมรอบด้วยต้นแบบงานปั้นอนุสาวรีย์ผลงานของอาจารย์ศิลป์และลูกศิษย์อีกมากมาย พื้นที่นี้มีประวัติย้อนไปตั้งแต่สมัยที่เคยเป็นวังของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ซึ่งเป็นที่สำหรับข้าราชการกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เพื่อใช้ปฏิบัติงานปั้นหล่ออนุสาวรีย์สำคัญๆ เรียกว่า ‘โรงปั้นหล่อ’

โรงปั้นหล่อ

จะเห็นว่าตัวอาคารมีทรงสูงติดกระจก ซึ่งออกแบบให้รับแสงสว่างและช่วยระบายความร้อน

“ลักษณะของฟิกเกอร์ได้รับอิทธิพลจากยุคคลาสสิกมาก”

อาจารย์อาร์ตพูดขึ้นมา แล้วชี้อธิบายสไตล์ของร่างกายรูปปั้นตรงหน้าเราอย่างตื่นเต้น

“ดูง่ายๆ อย่างท่ายืนจะเห็นว่าเป็นแบบ Contrapposto หรือตริภังค์ (ท่าพักสะโพก) ซึ่งเป็นท่าของงานประติมากรรมที่ถูกพัฒนาโดยช่างชาวกรีกมาอย่างยาวนานจนประสบความสำเร็จ และกลายเป็นท่าทางมาตรฐานที่อยู่คู่กับโลกศิลปะจวบจนปัจจุบัน

“ท่ายืนแบบนี้ไม่ค่อยปรากฏในงานศิลปะของไทยในอดีต เพราะอาจจะมองว่าไม่สุภาพเรียบร้อย”

โรงปั้นหล่อ
โรงปั้นหล่อ

อาจารย์อาร์ตชี้ให้เห็นรูปต้นแบบที่ถูกเปลี่ยนไปอีกหลายชิ้น เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ต้องเปลี่ยนท่านั่ง จากเดิมเป็นแบบผ่อนคลายแต่มั่นคง เป็นท่านั่งหลังตรงธรรมดา หรือ พระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 6 ที่สวนลุมพินี ในตอนแรกไม่มีพระมาลา ซึ่งดูไม่เหมาะสม ไปจนถึงต้นแบบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือย่าโม ที่อาจารย์อาร์ตเทียบความเหมือนของท่ายืนถือดาบกับรูปปั้นสำริดเดวิดของ ดอนนาเทลโล (Donatello) ซึ่งถือเป็นรูปสำริดนู้ดท่ายืน (โดยไม่มีซัพพอร์ต) ขนาดใหญ่รูปแรกของยุคศิลปะเรเนซองส์

โรงปั้นหล่อ

ในโถงประติมากรรมต้นแบบยังมีขุมทรัพย์เพื่อการเรียนรู้อีกมาก โดยเฉพาะในโซนของปลาสเตอร์ที่อาจารย์ศิลป์นำเข้ามาเพื่อการเรียนการสอนในวิชาของท่าน มีชิ้นที่เด่นมากๆ คือรูปปั้น Belvedere Torso ซึ่งถอดแบบมาจากของจริงที่ขุดพบในโรม

“ศิลปินระดับโลกอย่าง มีเกลันเจโล (Michelangelo) ก็ได้แรงบันดาลใจจากรูปปั้นชิ้นนี้ จะเห็นได้จากงานภาพแบบเฟรสโก อย่าง The Last Judgement รูปคนกำลังชูหนังที่ถลกออกมาท่านี้เลย แม้กระทั่ง ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ (Peter Paul Rubens) ก็เคยศึกษาชิ้นนี้

“การสอนแบบอะคาเดมีในยุโรปยังคงใช้ผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในแบบฝึกหัด” อาจารย์อาร์ตเล่าถึงความสำคัญของมัน

“ผลงานส่วนมากที่เราคิดว่าเป็นของชาวกรีกนั้น จริงๆ แล้วถูกสร้างเลียนแบบชาวโรมัน ผลงานที่เป็นต้นฉบับถูกทำลายและสูญหาย แต่ Belvedere Torso ชิ้นนี้ถูกพบในสภาพที่สมบูรณ์มาก โดยเฉพาะบริเวณลำตัว แม้ว่าส่วนอื่นๆ จะเสียหายไปแล้ว แต่แค่ลำตัวเพียงส่วนเดียวก็เป็นเครื่องยืนยันถึงความยิ่งใหญ่ของประติมากรรมกรีกได้แล้ว 

“ถึงแม้จะเป็นฟิกเกอร์ที่มีรูปร่างใหญ่โตกำยำ แต่กลับไม่รู้สึกถึงความแข็งเกร็ง ลำตัวโน้มมาข้างหน้าช้าๆ แต่บิดเอียงเผยให้เห็นแผงหน้าอกและกล้ามเนื้อหน้าท้องใต้กระดูกซี่โครงที่โป่งพองขึ้นเล็กน้อย ราวกับว่ากำลังสูดอากาศหายใจ 

โรงปั้นหล่อ

“ความยากของการสร้างสรรค์นี้คือการออกแบบ ศิลปินต้องเชี่ยวชาญมาก จะพบว่าในผลงานไม่มีรายละเอียดไหนเลยที่เพิ่มเข้ามาอย่างไม่มีความหมาย ทุกส่วนล้วนสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน”

อาจารย์ทั้งสองคนเห็นพ้องกันว่าน่าเสียดายที่ชิ้นปลาสเตอร์เหล่านี้ไม่ได้ถูกใช้ในการเรียนการสอนเหมือนก่อน ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะเป็นโบราณวัตถุที่ควรเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ แต่ในขณะเดียวกัน ควรรักษาวัตถุประสงค์ดั้งเดิมในการนำเข้ามาของอาจารย์ศิลป์ นั่นคือการนำมาใช้เพื่อการเรียนรู้

ความมี ‘มาสเตอร์’ และ ‘สไตล์’

ครูอาร์ตเล่าถึงข้อดีข้อหนึ่งในการเรียนแบบอะคาเดมี คือมาตรฐานที่ถูกสร้างผ่านการเลียนแบบ ‘มาสเตอร์’ หรือเรียนรู้จากผลงานของครู ซึ่งเมื่อเรียนกับใครเราจะได้รูปแบบหรือวิธีคิดมา

“เราคิดเสมอว่าถ้าเราเรียนกับอาจารย์ศิลป์ในยุคนั้น เราต้องสอบตกแน่ๆ ความอุตสาหะตั้งใจเป็นสิ่งสำคัญมาก” อาจารย์อาร์ตหัวเราะ

“แม้ระบบการศึกษาศิลปะจะสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ แต่ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าจะมีงานในอนาคต สุดท้าย ทุกคนต้องออกไปแข่งขันในโลกเสรีอยู่ดี พวกเรามีหน้าที่คือเตรียมความพร้อมให้เขา

“อย่างที่เราไปดูมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ในจีน การศึกษาแบบอะคาเดมีของจีนคุณภาพสูงมาก นักเรียนที่จบหลักสูตรก็มีทักษะสูงเช่นกัน ถึงอย่างนั้นยังต้องออกมาแข่งขันกันเองอยู่ดี ตอนสอน เราสอนตามมาตรฐานที่มี นอกเหนือจากนั้น ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาคือสไตล์ของเรา ให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เรียนไปมันพัฒนาต่อได้

ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร

“ผมไปดูงานมาหลายที่ โดยเน้นการเรียนศิลปะแบบอะคาเดมีเป็นหลัก ถึงจุดหนึ่ง ผมมองเห็นว่ารูปของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย จีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลี มีรูปแบบไม่เหมือนกัน ถ้ามองงานดรอว์อิ้งจะเห็นชัดมาก ผมมองว่ามันเป็นสไตล์ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นจากจริตของแต่ละประเทศ เช่น รัสเซียโครงสร้างจะแน่น เหลี่ยมมุมชัด จีนเน้นแสงเงาจัดและรายละเอียดเยอะ ญี่ปุ่นเน้นเอกภาพ ส่วนเกาหลีเน้นความซับซ้อน แสดงว่ามันมีความเคลื่อนไหวอยู่ แม้แต่ในหลักสูตรที่ถูกมองว่านิ่งแล้ว”

ในประเด็นนี้อาจารย์เลยลมแบ่งปันข้อคิดในการสอนครุศิลป์ของตัวเองว่า

“ในส่วนของการฝึกครูศิลปะ เราพยายามเน้นให้นักศึกษาไม่ยึดอัตตาความเป็นครู แต่เน้นให้มีความเป็นครูในการสอน 

เราไม่ควรไปสร้างเงื่อนไขให้เขาเดินตามเราตลอด เพราะเขาจะไม่โต เราต้องสอนให้เขาค้นคว้าและสร้างเทคนิคของตัวเองให้ได้ ซึ่งในฐานะครู พี่ว่าสำคัญ เราจะทำอย่างไรให้ลูกศิษย์ของเราเก่งกว่าเราให้ได้

“เวลาเราสอนครู จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเก่งเลิศเลอ แต่คุณจะต้องถ่ายทอดสิ่งที่คุณถืออยู่ในมือให้ได้ นั่นคือความรับผิดชอบของคุณ”

อาจารย์เลยลมทิ้งท้ายว่า

“อาจารย์ศิลป์ให้ความสำคัญกับพื้นฐาน ไม่ใช่สไตล์ของท่าน เราจะเห็นว่างานของลูกศิษย์อาจารย์มีสไตล์ไม่เหมือนกันเลยสักคน แต่มีรากฐานเดียวกัน นี่สิครูที่เก่ง”

ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร

การประเมินคุณค่างานศิลปะ

อย่างไรก็ดี การเป็นครูต้องมีการประเมินศิษย์ ในส่วนนี้อาจารย์ทั้งสองมองว่ามีความยากพอสมควร

“การเรียนศิลปะมันไม่เป็นเส้นตรงนะ มันไม่มีทางเดียว ด้วยความที่เป็นงานสร้างสรรค์ มันมีทั้ง Specialist กับ Normalist การศึกษาอาจจะผลิตมาตรฐานบางอย่างขึ้นมา ทำให้เกิด Norm แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีพื้นที่ของ Specialist ซึ่งเป็นวิธีการมองและกลั่นกรองแบบเฉพาะตัว เอางานสองแบบมารวมกันไม่ได้ ด้วยวิธีการประเมินคุณค่าต่างกัน เราจะประเมินงาน Abstract กับงานคลาสสิกด้วยมาตรฐานความถูกต้องชุดเดียวกันไม่ได้” อาจารย์อาร์ตกล่าว

“มันโยงไปเรื่องการประเมินคุณค่า การศึกษาศิลปะในประเทศไทยเรายังไม่มีมาตรฐานที่บอกชัดเจนว่าดีหรือไม่ดี ซึ่งอาจจะไม่มีอยู่จริงก็ได้” อาจารย์เลยลมเสริม

“แต่มันทำให้เกิดปัญหาอีกอย่างคือ ครูต้องเอาประสบการณ์ของตัวเองไปตัดสินงานนักเรียน บางครั้งต้องอิงเกณฑ์ เกรดเอต้องได้เท่านี้ เกรดบีต้องได้เท่านี้ หรือบางครั้งต้องอิงกลุ่ม ที่ต้องดูทุกคนในห้อง” อาจารย์อาร์ตกล่าวต่อ

“แต่เราต้องยอมรับด้วยว่าพื้นฐานศิลปศึกษาของไทยยังคงความอะคาเดมิกอย่างมาก มันไม่ได้ Avant-garde และถ้าจะละทิ้งมันก็อาจจะเร็วไปรึเปล่า เทรนด์โลกดูพยายามกลับมาหาทักษะเหล่านี้ เอาจริงๆ คำว่า ร่วมสมัย ในวงการศิลปะบ้านเรายังถูกตีความต่างกัน ในหลักสูตรที่ทำสหศาสตร์ศิลป์ ปลายทางของมันมีความคลุมเครือมาก เราต้องยอมรับว่าครูอาจารย์ศิลปะในประเทศไทยมาจากหลายยุคหลายสมัย มีวิธีประเมิน วิธีคิด ประสบการณ์ ต่างกัน” อาจารย์เลยลมปิดท้าย

ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร

วิสัยทัศน์การสอนศิลปะในอนาคต

คำถามสุดท้ายของเราต่ออาจารย์ทั้งสองคือ

“อาจารย์คิดว่าการเรียนการสอนศิลปะในไทยควรจะถูกพัฒนาไปอย่างไรในอนาคต”

“เราดูพัฒนาการของการสอนศิลปะของจีน ของรัสเซีย เราลงทุนไปที่โน่นเพื่อไปดูวิธีการสอนในมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเขา สิ่งที่เราเห็นคือเขามีแผนกที่วิจัยงานศิลปะของมาสเตอร์ หมายถึงว่าเป็นนักวิชาการที่นำผลงานของศิลปินมาดูแล้วช่วยกันวิเคราะห์ว่างานชิ้นนี้มีกระบวนการสร้างขึ้นมาอย่างไร และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อสร้างหลักสูตร เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างศิลปินกับนักวิชาการ ยกตัวอย่างเช่นบางครั้งศิลปินไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรบริเวณนี้ถึงใช้สีแดง มันเวิร์กเพราะเขารู้ว่ามันเวิร์ก ตรงนี้นักวิชาการจะมาให้คำตอบและอธิบายว่ามันเวิร์กเพราะอะไร ซึ่งในเมืองไทยยังไม่ค่อยมี” อาจารย์อาร์ตตอบ

“สมัยเรียนดรอว์อิ้ง เคยมีอาจารย์บอกว่า งานเราไม่มีพลัง เราก็ไม่เข้าใจว่าพลังที่เขาหมายถึงคืออะไร อาจารย์อธิบายว่า มันขาดชีวิตอยู่ สำหรับนักเรียนมันนามธรรมมาก จริงๆ แล้วอาจารย์ควรจะตอบให้ได้ว่า ที่ขาดพลังเป็นเพราะท่ายืนไม่มั่นคง ทิศทางของเส้นไม่สอดคล้องกับจุดที่รับน้ำหนัก ทำให้รู้สึกโอนเอนและดูไม่มีพลัง ขาดชีวิตชีวา”

อาจารย์เลยลมพยักหน้าเห็นด้วย

ศิลป์ พีระศรี มหาวิทยาลัยศิลปากร

“ก่อนที่จะให้คนเป็นครูในมหาวิทยาลัย เขาควรได้ฝึกความเป็นครูก่อน นี่ไม่ใช่แค่ฝั่งศิลปะนะ แต่ทุกสาขาวิชาเลย เราเอาคนที่จบปริญญาเอก ปริญญาโท หรือมีประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ มาสอนเด็กไม่ได้ทันที เพราะเขาอาจจะไม่เข้าใจวิธีสื่อสารกับนักเรียน เพราะกระบวนการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนนั้นแตกต่างกันและละเอียดอ่อนมาก ยกตัวอย่างการวิจารณ์ศิลปะ มันมีระบบและกระบวนการของมันอยู่ อย่าง Look, See, Explore, Evaluate ไม่ใช่แค่สวยหรือไม่สวย แปลว่าคนที่สอนต้องสอนให้ได้ไกลกว่านั้น”

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทสนทนาที่ทำให้เรารู้สึกว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไร ศิษย์มหาวิทยาลัยศิลปากรยังคงตั้งใจที่จะพัฒนาวงการศิลปะของประเทศเรา ตามรอยผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติอย่างต่อเนื่อง ดั่งคำกล่าวของอาจารย์ศิลป์ที่ว่า “นายรักฉัน นายไม่ต้องทำอะไร นายทำงาน”

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล