01

ปรับหลักสูตรให้ทันโรค

เราได้ยินว่า โรงเรียนนี้ถึงกับปิดโรงเรียนเป็นปี หลังจากเปิดมาได้ทศวรรษ เพื่อทบทวนว่าแนวทางโรงเรียนใน 10 ปีข้างหน้าต่อไปจะเป็นอย่างไร และทุก 10 ปี เขาจะหยุดโรงเรียนเกือบทั้งปี เพื่อที่จะตั้งคำถามไปข้างหน้า 10 ก้าวว่า โลกน่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร และการเรียนรู้แบบไหนคือคำตอบ

เหมือนกับโรงเรียนทั่วโลกในตอนนี้ที่ต้องหยุดและถอยให้กับ COVID-19 ที่มาล็อกดาวน์เรากันถ้วนหน้า อย่างที่เรากะพริบตากันไม่ทัน

02

ไปเป็นติ่งกันเถอะ

Ha-Ja ในภาษาเกาหลี แปลว่า Let’s Go ไปกันเถอะ!

ปี 2000 เมื่อ 20 ปีที่แล้วในการประชุมการศึกษาทางเลือกที่เรียกว่า IDEC International Democratic Education Conference จัดขึ้นที่นิวยอร์ก ตอนนั้นตัวเองได้ไปร่วมในฐานะนักเรียนฝึกสอนของโรงเรียนอัปปาทีนาส์ นักการศึกษาจากเกาหลีใต้คนหนึ่ง ฮาแทอุก (Ha Tae-wook) ทำเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการศึกษาในเกาหลีใต้ เขาบอกว่า อีก 10 ปีข้างหน้า โลกจะต้องรู้จักเกาหลีใต้ด้วยการส่งออกอุตสาหกรรมบันเทิงทางวัฒนธรรม ด้วยภาพยนตร์ ดนตรี อาหาร ศิลปะ

ทุกครั้งที่ดูซีรีส์เกาหลี ใช้เครื่องสำอางเกาหลี ฟังดนตรีเคป๊อป และทำข้าวผัดกิมจิ เราจะนึกถึงคำของศาสตราจารย์คนนั้น

ย้อนกลับไป 10 ปี ในปี 2010 จนถึงปัจจุบันโลกกลายเป็นติ่งเกาหลีไปหมดแล้วตามที่ศาสตาจารย์ Ha Tae-wook ได้ประกาศก้องไว้

50 ปีก่อน เกาหลีเป็นประเทศที่แพ้สงคราม ต้องแบ่งแยกประเทศออกเป็น 2 ส่วน 2 ระบบการปกครอง

เกาหลีใต้เร่งพัฒนาชาติด้วยอุตสาหกรรมบันเทิงและด้วยทรัพยากรบุคคล การศึกษาถูกใช้เป็นสายพานพัฒนาชาติอย่างบ้าคลั่ง สถิติการฆ่าตัวตายไต่ระดับสูงขึ้นพร้อมกับการพัฒนาชาติ คนในชาติเริ่มจับสังเกตได้ว่า หากโตด้วยติ่งน้ำตาแบบนี้ ด้วยการศึกษาความเร็วสูงแบบนี้ ‘แฮงบก’ หรือคำว่า ‘ความสุข’ จะหายไป จึงเริ่มมีทางเลือกทางการศึกษาที่จัดโดยกลุ่มนักการศึกษา ครู ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายๆ รูปแบบ

Haja Center เป็นโรงเรียนทางเลือกหนึ่งที่เกิดขึ้นอันดับต้นๆ ในกรุงโซล

ศาสตราจารย์เฮจอง สังกัดมหาวิทยาลัยชื่อดังในสามอันดับต้นของโซล ที่ขึ้นต้นด้วยตัว Y

เราพบศาสตราจารย์เฮจองครั้งแรกที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ปี 2000 ในการประชุมการศึกษาทางเลือก Global Gathering เฮจองเล่าให้ฟังว่า เขาเปิดโรงเรียนที่เรียกได้ว่าเป็นโรงงานผลิตความคิดสร้างสรรค์ เป็นเหมือนแล็บทดลองให้เด็กได้ประกอบการความฝัน

เราได้ยินเมื่อ 20 ปีที่แล้ว หัวใจแทบหยุดเต้น อยากว่ายน้ำข้ามคาบสมุทรไปโซลทันที

แต่ใครจะรู้ว่ากว่าเราจะได้ไปจริงก็เข้าไป 20 ปี

งานวิจัยของศาสตราจารย์เฮจองพบว่า สถิติของเด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน (Drop Out) มีจำนวนมากขึ้นทุกวัน เด็กๆ ที่อยากจะ ‘เท’ โรงเรียนพวกนี้รู้สึกว่า โรงเรียนที่ไม่ได้สร้างการเรียนรู้จะอยู่ไปทำไม พวกเขาจึงเลือกที่จะเดินออกมากลางทางจากโรงเรียน แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาลาออกจากการเรียนรู้

พื้นที่รองรับการแสดงออกทางความคิดอย่างสร้างสรรค์และเท่าทันความทุกข์ของเยาวชนในเกาหลีใต้ช่วงนั้น เป็นสิ่งที่ศาสตาจารย์เฮจองคิดว่าน่าจะเป็นแบบโรงงาน สตูดิโอ ที่เป็นแล็บให้เด็กผลิตงานแสดงออกจากศิลปะ วัฒนธรรม อย่างสนุกสนานบนเบื้องหลังของความคิดที่เป็นอิสระและแรงกดดัน

Haja Center รร. ที่เปิดเพื่อปลดความทุกข์เยาวชนในยุคเกาหลีใต้พัฒนาประเทศหลังแพ้สงคราม

Haja Center เปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ธันวาคม ปี 1999 มีชื่อเต็มๆ ว่า Seoul Youth Factory for Alternative Culture ด้วย 2 เหตุผล เหตุผลแรกอย่างที่ว่าไปข้างต้น และอีกเหตุผล เนื่องจากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในย่านอินชอน ซึ่งเป็นย่านที่มีสถานบันเทิงตอนกลางคืน มีเด็กวัยรุ่นตายถึง 56 คน

คำถามที่คนทั่วไปถาม คือทำไมเด็กวัยรุ่นที่ตามกฎหมายแล้วยังดื่มสุราและเข้าผับไม่ได้ ถึงได้ไปตายในผับเป็นจำนวนมาก

แต่ผู้ร่วมก่อตั้ง Haja กลับคิดว่า เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่เราต้องกลับมาถามสังคมว่า เราไม่มีสถานที่ดีกว่านี้ให้เด็กวัยรุ่นไปรวมหัวกันแล้วหรือ วัยรุ่นไม่ใช่ตัวปัญหา สังคมต่างหากที่ไม่เปิดพื้นที่ให้พวกเขาแสดงออก คลับ 999 เป็นสตูดิโอแรกๆ ที่เกิดขึ้นใน Haja Center เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ว่า สังคมต้องสร้างพื้นที่แสดงออกและบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ให้พวกเขา

03

โอปป้าบินมาอาสา

วันหนึ่งฟ้าก็ส่งโอปป้ามาเป็นอาสาสมัครให้เรา ประมาณ 10 ปีที่แล้วที่เรายังทำศูนย์การเรียนทางเลือกเล็กๆ เพื่อเด็กชายขอบที่สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เราได้รับอีเมลจาก Haja Center ว่ามีเด็กนักเรียน 2 คนที่สนใจอยากทำโปรแกรมอาสาสมัครมาอยู่ที่ประเทศไทย 3 เดือน เราเขียนอีเมลตอบกลับไปว่า เด็กมัธยมจริงๆ หรือที่อยากจะบินมาเองถึง 3 เดือนเพื่อที่จะมาเป็นอาสาสมัคร ทาง Haja ยืนยันว่าเด็กนักเรียนของเขาดูแลตัวเองได้ ออกแบบการเรียนเองได้ และทาง Haja อนุญาตให้เป็นหลักสูตรออกแบบร่วมกันระหว่างเด็ก โรงเรียน และเรา

ไฮยาชิ และ ชิเคง เป็นเด็กที่ตลอดเวลาการมาอยู่กับเรา 3 เดือน เล่นเป็นผู้กำกับการเรียนรู้ของพวกเขาเอง โปรเจกต์ที่พวกเขาตัดสินใจทำ คือการทำงานศิลปะกับเด็กๆ ชาติพันธุ์ในหมู่บ้าน ด้วยวัตถุดิบที่มีในพื้นที่มีให้ ตั้งแต่ทุ่งนา ป่าเขา สายฝน ต้นไผ่

ไฮยาชิ เขียนตำนานนิทานพื้นบ้าน บนฝาผนังบ้านไม้ไผ่ของชาวบ้าน

ชิเคง ทำเครื่องดนตรีจากกระบอกไม้ไผ่กับเด็กๆ ในหมู่บ้าน

Haja Center รร. ที่เปิดเพื่อปลดความทุกข์เยาวชนในยุคเกาหลีใต้พัฒนาประเทศหลังแพ้สงคราม

ภาษาที่แตกต่าง ไม่เป็นอุปสรรคการเรียนรู้ได้เลย เขาทั้งสองใช้ศิลปะและดนตรี ฝ่าข้ามกำแพงนั้น

โรงเรียนแบบไหนกันที่เปิดน่านฟ้าให้เด็กมัธยม 2 คนที่เพียงได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับโรงเรียนเล็กๆ ชายขอบไทยพม่า ก็อยากจะบินมาเป็นอาสาสมัครได้โดยคิดหน่วยกิตให้ด้วย ถ้าโรงเรียนนั้นไม่เชื่อในศักยภาพของตัวเด็กเพียงพอ และมองเห็นโอกาสสร้างสมรรถนะในการรู้ที่จะเรียน และเรียนอย่างไรด้วยตัวของผู้เรียนเอง เป็นหลักสูตรในหลักสูตรที่คิดใหม่ ทำใหม่ โดยตัวผู้เรียนเองอย่างแท้จริง เมื่อกลับไป ทั้งสองคนนี้ตัดสินใจไม่สอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่เป็นผู้ประกอบการสร้างกิจการเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมเล็กๆ ของพวกเขาเอง

04

ปัดฝุ่นปีกที่พับไว้

ปี 2018 อีกเกือบ 20 ปีจริงๆ ตั้งแต่ที่เราได้ยินเรื่อง Haja Center และได้โอกาสไปสัมผัสจังหวะหัวใจใหม่ของตัวเอง

เหตุผลที่เราไปอาจจะไม่ใช่ไปดูโรงเรียน Haja ซะทีเดียว แต่เราไปยื่นเอกสารสมัครเรียนทุน ป.โท สาขากำกับภาพยนตร์ที่มหาลัยศิลปะชั้นนำแห่งหนึ่งในโซล ทั้งที่เขาบอกว่าส่งทางไปรษณีย์ได้ แต่เราบอกว่า เราจะไปยื่นใบสมัครด้วยตาตัวเอง

จากกล้องตัวแรกที่ขอพ่อซื้อตอนประถมห้า ทำให้เราสัญญากับตัวเองว่า จะต้องทำหนังให้พ่อได้ดูก่อนพ่อตาย ตอนน้ั้นพ่อเพิ่งหายจากโรคมะเร็ง เราจึงคิดว่า โอกาสนี้ล่ะนะที่เป็นของเรา ทำไมเกาหลีใต้ถึงส่งออกวัฒนธรรมบันเทิง และมีอิทธิพลไปทั่วโลกได้จริงอย่างที่เขาวางไว้ในเวลาเพียงไม่กี่ปี เราจึงเลือกที่จะมุ่งไปที่นั่น

Haja Center รร. ที่เปิดเพื่อปลดความทุกข์เยาวชนในยุคเกาหลีใต้พัฒนาประเทศหลังแพ้สงคราม

โอกาสการไปเยือน Haja Center เป็นเรื่องรองที่ไม่แพ้เรื่องแรก ก้าวแรกที่ได้เข้าไปเยือนสตูดิโอต่างๆ ที่เพื่อนครูพาเดินชม ทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่ในมหาวิทยาลัยมากกว่าโรงเรียนมัธยม แต่ละสตูดิโอของการเรียนรู้ใจกลางเมืองโซล มีสตูดิโอประหยัดพลังงาน ปรับอุณภูมิได้ด้วยกำแพงฉาบด้วยดิน และแผงปะจุุกำแพงที่บุด้วยเสื้อผ้ามือสองที่มีเหลือเฟือในความเป็นอยู่ของเมือง แทนที่จะต้องไปหาฟางที่เป็นวัสดุที่อยู่ในต่างจังหวัด นับเป็นการประยุกต์ความคิดสร้างสรรค์ตามต้นทุนที่พวกเขามี

Haja Center รร. ที่เปิดเพื่อปลดความทุกข์เยาวชนในยุคเกาหลีใต้พัฒนาประเทศหลังแพ้สงคราม
Haja Center รร. ที่เปิดเพื่อปลดความทุกข์เยาวชนในยุคเกาหลีใต้พัฒนาประเทศหลังแพ้สงคราม
Haja Center รร. ที่เปิดเพื่อปลดความทุกข์เยาวชนในยุคเกาหลีใต้พัฒนาประเทศหลังแพ้สงคราม

กระบะปลูกข้าวที่ลานจอดรถ ถังเก็บน้ำฝนบนอาคารเพื่อสำรองน้ำใช้ในสวนผักแนวตั้ง แปลงผักบนดาดฟ้าสำหรับชุมชนรอบๆ โรงเรียน คาเฟ่คลับของแม่ๆ ที่มีเวลาว่างจากงานบ้านมาสังสรรค์และทำกิจกรรมร่วมกันในโรงอาหารของโรงเรียน สตูดิโองานไม้จากไม้อัดลังของโชว์รูมขายรถเบนซ์ที่เด็กๆ ไปขอมาไว้ใช้ทำโต๊ะหนังสือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ในโรงเรียน

Haja Center รร. ที่เปิดเพื่อปลดความทุกข์เยาวชนในยุคเกาหลีใต้พัฒนาประเทศหลังแพ้สงคราม
Haja Center รร. ที่เปิดเพื่อปลดความทุกข์เยาวชนในยุคเกาหลีใต้พัฒนาประเทศหลังแพ้สงคราม

สตูดิโอจักรยานมือสองซึ่งไปรวบรวมจักรยานเก่าๆ ที่ชาวเมืองไม่ใช้แล้ว มาประกอบเป็นจักรยานปั่นไปทำแผนที่ชุมชนรอบเมือง และปั่นเป็นเครื่องเก็บไฟเวลาโรงเรียนมีงานคอนเสิร์ตหรือไฟดับ

Haja Center รร. ที่เปิดเพื่อปลดความทุกข์เยาวชนในยุคเกาหลีใต้พัฒนาประเทศหลังแพ้สงคราม
Haja Center รร. ที่เปิดเพื่อปลดความทุกข์เยาวชนในยุคเกาหลีใต้พัฒนาประเทศหลังแพ้สงคราม

สตูดิโอโมเดิร์นที่มีเวที ฉาก เครื่องไฟ อุปกรณ์การถ่ายทำ ตัดต่อภาพเคลื่อนไหว แอนิเมชัน กราฟิก แบบ Full HD ออกอากาศตามสถานีได้

ทุกมุมทุกห้องสตูดิโอใน Haja Center เปรียบเสมือนห้องเรียนในฝัน ที่จับต้องความฝันของเด็กวัยมัธยมได้จริงๆ ก่อนที่จะเลือกไปมหาวิทยาลัยหรือไม่ก็ได้ โดยมีงบกลางจากรัฐเป็นผู้สนับสนุน ทางโรงเรียนเพียงเขียนเสนอทรัพยากรที่พวกเขาอยากจะได้ แม้แต่อาคารเรียนนี้ ก็ได้มาจากการที่กลุ่มศาสตราจารย์ที่ก่อตั้งโรงเรียนนี้เห็นว่า รัฐมีอาคารที่ไม่ได้ใช้ให้สมประโยชน์ในยุคที่เศรษฐกิจถดถอยอยู่มากมาย ทำไมไม่เอามาทำเป็นสถานประกอบการทางการศึกษาที่ดำเนินงานโดยเอกชนที่มีศักยภาพเสียเองล่ะ

3 เดือนหลังจากกกลับมาจากเกาหลีใต้คราวนั้น เราได้รับอีเมลจากมหาวิทยาลัยศิลปะที่เราไปสมัครเรียน ป.โท ว่า เราไม่ได้รับทุนการศึกษา เราต่อสายตรงไปที่มหาวิทยาลัยทันที เพื่อขอเหตุผลว่าทำไมเราถึงไม่ได้ เพื่อจะได้ปรับปรุงต่อไปในปีหน้า ทางมหาวิทยาลัยบอกว่า คนสมัคร 6,000 คน มีทุนให้ 6 ทุน ไม่ต้องเสียใจและไล่บอกเหตุผลแต่ละคนไม่ได้จริงๆ ว่าทำไมถึงไม่ได้ เราร้องไห้ถอดหายใจอยู่สามวัน

05

ซักผ้าไม่ต้องเข้าเครื่องซักผ้าก็ได้ : มหาวิทยาลัยไม่ใช่คำตอบเสมอไป

ใครจะรู้ว่า ปีต่อมา เราได้กลับไปยืนร้องไห้อีกรอบที่หน้ามหาวิทยาลัยที่ไม่ให้ทุนการศึกษาเราในปีก่อน โดยที่ไม่ได้ไปเรียน เราก็ได้กลับไปกำกับภาพยนตร์สารคดี บินสิ! ของเราเอง และวันเปิดกล้องเราก็ได้พบและสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ที่เราหวังว่าจะได้ไปเรียนกับเขาในมหาวิทยาลัยนั้น อีชางดง (Lee Chang-dong) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Burning ที่ได้รางวัลระดับคานส์ และฝากฝังตัวเป็นลูกศิษย์แบบแอบพักลักจำกันอยู่ห่างๆ

อีชางดง เล่าให้เราฟังว่า เขามีเรื่องใบไม้สีม่วงในวัยเด็กเหมือนกัน แต่ของเขาต่างจากเราตรงที่เขาเจอครูที่ไม่ฆ่าจินตนาการของเขา วัยเด็กเขาเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน แม้แต่สีเทียนยังไม่มีใช้ เวลาครูให้วาดภาพ เขาต้องรอสีที่เหลือจากเพื่อนๆ และสีที่เหลือมักจะเป็นสีที่ไม่ค่อยได้ใช้ เช่น สีม่วง สีเทา วันนั้นที่ครูบอกให้วาดภาพป่าไม้ เขาใช้สีเทาและสีม่วง ระบายสีป่าไม้ของเขา ครูกลับบอกว่า เขามีความคิดสร้างสรรค์และได้รางวัลชนะเลิศ

ต่างกับครูของเราที่คอยสกัดความฝันด้วยการบอกว่า ใบไม้สีม่วงไม่มีจริง วาดอย่างนี้จะไม่ได้รางวัล

เหมือนการได้พบกับเรื่องราวของ ลุงอีชางดงและ Haja Center จะปลอบใจเราว่า ‘แควนชันนา’ ในภาษาเกาหลีที่บอกว่า ‘ไม่เป็นไรหรอกนะ’ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยไม่ใช่คำตอบของการเรียนรู้เสมอไป คนเราไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เดินทางเติบโตไปกับความฝันของเขาได้ ถ้าเขายัง ‘รักที่จะเรียนรู้’

แน่นอน น้ำตาที่ไหลหน้ามหาวิทยาลัยศิลปะแห่งนั้น ในรอบนี้เป็นน้ำตาแห่งความตื้นตันใจและเชื่อใจในความรักที่จะเรียนรู้ของตัวเราเองเสมอมา

Haja Center บอกเราเสมอว่า ทุกคนเป็นผู้ประกอบการความฝันของตัวเองได้ ณ ที่ตรงนั้น ณ ที่ตรงนี้ ตรงไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าสู่สายพานที่สังคมวางไว้ก็ได้จริงๆ

Haja Center รร. ที่เปิดเพื่อปลดความทุกข์เยาวชนในยุคเกาหลีใต้พัฒนาประเทศหลังแพ้สงคราม

06

ถอยสามก้าวสิบ

Haja Center แบ่งได้เป็น 3 ยุคสมัย

สมัยแรก ปี 1999 – 2006 จัดกระบวนการเรียนการสอนในรูปแบบของสตูดิโอที่เน้นไปทางดนตรี ศิลปะร่วมสมัย การออกแบบกราฟิก กิจกรรมสร้างสรรค์ทั้้งหลาย

สมัยที่ 2 ปี 2006 – 2010 เริ่มมีโครงการผู้ประกอบการเพื่อสังคมสำหรับเยาวชน ทำให้เขาได้สำรวจอาชีพในเชิงเศรษฐกิจเพื่อสังคม

สมัยที่ 3 ปี 2010 – ปัจจุบัน เริ่มสร้างชุมชนต่างวัยให้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เยาวชน ผู้ใหญ่ คนสูงวัย เป็นลักษณะอยู่ร่วมกันเป็นหมู่บ้าน เน้นเรื่องการพึ่งตนเอง การร่วมมือกัน เพื่อสร้างสังคมสาธารณะที่ดีขึ้น

จะเห็นได้เลยว่า ทิศทางของ Haja Center ปรับและเปลี่ยนในทุกทศวรรษ จากการเน้นเรื่องการสร้างปัจเจกชนที่มีพื้นที่แสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ ทศวรรษที่ 2 ก็พบว่าแค่นั้นไม่พอ การสร้างผู้ประกอบการทางความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้นให้อยู่รอดทางเศรษฐกิจเพื่อสังคมเป็นสิ่งสำคัญ

และมาถึงทศวรรษที่สามของ Haja Center การสร้างชุมชนที่มีความสัมพันธ์ระหว่างวัยและทักษะการที่ยั่งยืน คือการพึ่งตัวเองได้ในการสร้างปัจจัยพื้นฐานของชีวิต เป็นสิ่งที่สร้างให้สังคมดีขึ้น

ระหว่างทศวรรษ Haja Center ถอยหยุดพัก เพื่อทบทวน ประมวลผลสิ่งที่พวกเขาเดินกันมา เพื่อที่จะก้าวต่อไปอีก 10 ปีอย่างเข้าใจและเท่าทันสังคมที่เปลี่ยนไปไวกว่าตาพวกเขาจะเห็น

Haja Center รร. ที่เปิดเพื่อปลดความทุกข์เยาวชนในยุคเกาหลีใต้พัฒนาประเทศหลังแพ้สงคราม

07

ตั้งคำถามกับการศึกษา หาคำตอบจากการเรียนรู้

ถ้ามีโอกาสได้กลับไปที่เกาหลีใต้อีกครั้ง เราอยากกลับไปคุยกับ Haja Center เรื่องเหตุการณ์โรคระบาด วิกฤตสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงขึ้นกว่าเดิมนี้ เราเชื่อเหลือเกินว่า พวกเขาจะถอย ทบทวนกันอีกรอบ เพื่อที่จะก้าวต่อไปใหม่ อย่างเท่าทันกับโรคและโลกเร็วขึ้นอย่างแน่นอน

แล้วบ้านเราเองล่ะ ฟังสัมภาษณ์ท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาว่า เราจะเลื่อนเปิดเทอมการศึกษาของเด็กนักเรียนออกไป 2 เดือน ระหว่าง 2 เดือนนี้ ท่านได้กล่าวว่า สำหรับเด็กชั้นประถม การเรียนออนไลน์หรือทางไกล เรามีหลักสูตรการเรียนทางไกลที่ใช้กันมานานแล้ว ก็เพียงพอแล้วสำหรับพื้นฐาน

ในฐานะที่เป็นคนสนใจเรื่องการศึกษาคนหนึ่ง อยากบอกว่าเรากำลังเสียโอกาสที่จะใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสในการสร้างให้เด็กและเยาวชนของเราเรียนรู้ หลักสูตรที่คิดมาเป็นทศวรรษเพื่อส่งให้ห้องเรียนเรียนแบบเหมารวม จะมาทันสมัยกับยุค COVID-19 บุกโลกได้อย่างไร อาชีพใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นมาจากยุคปัญญาประดิษฐ์ในศตวรรษที่ 20 นี้ เป็นสิ่งที่หลักสูตรที่สร้างเมื่อทศวรรษที่ 19 ไม่ได้บรรจุไว้สอนแน่นอน

ลองทำการบ้านส่องมองเรื่องของการจัดการศึกษาเรียนรู้รอบๆ บ้านเราได้ อาทิ Haja Center นี้

Haja Center รร. ที่เปิดเพื่อปลดความทุกข์เยาวชนในยุคเกาหลีใต้พัฒนาประเทศหลังแพ้สงคราม

สิ่งที่เราจะทำในเวลาที่ต้องถอยกลับกันมาหลายก้าวในตอนนี้ เป็นโอกาสในการสร้างหุ้นส่วนการเรียนรู้ขึ้นมาใหม่ จากการให้โรงเรียน ครู และกระทรวง เป็นศูนย์กลางถือหุ้นการศึกษาเป็นใหญ่ โอนให้ผู้เรียนเอง ผู้ปกครองเอง ชุมชนเอง สังคมเอง ถือหุ้นการศึกษาเป็นศูนย์กลาง

แล้วกระทรวง ครู ระบบ เป็นแค่ ‘เวที’ หรือ ‘ก้อนหินให้พวกเขาก้าวข้าม’ ผู้หนุนเสริมให้ผู้เรียน ผู้ปกครอง บ้านชุมชน สังคม ได้เป็นนักแสดง ผู้เล่น ผู้กำกับ นักออกแบบเรียนรู้จากปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญ เชื่อมโยงสัมพันธ์กับชีวิตแต่ละคนของพวกเขา เรียนที่จะรู้ว่าจะเรียนอย่างไร เรียนไปเพื่ออะไร ไม่ใช่ผู้รอรับหลักสูตรเหมารวมจากส่วนกลางที่สร้างมาตั้งแต่สมัยที่โทรศัพท์สมาร์ทโฟนยังไม่ผลิต

โลกไม่สำเร็จรูปเหมือนมาม่าในซองให้เราอีกต่อไปแล้ว การเรียนในโรงเรียน หลักสูตรสำเร็จรูปเป็นแท่งสาระ 8 วิชา และเป็นสายวิทย์ สายศิลป์ ​ก็ไม่น่าใช่คำตอบอีกต่อไปแล้วสำหรับโลกที่ต้องหยุดล็อกดาวน์ด้วยไวรัสตัวเล็กที่เราแทบมองไม่เห็น

08

ฮาวทูเทโรงเรียน

กลับไปที่ยุคอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กันค่ะ ไอสไตน์บอกว่าทุกคนคืออัจฉริยะ

กลับมายุค COVID-19 บอกเราว่า เราต้องรักษาระยะห่างทางสังคม นั่นหมายความว่าโรงเรียนจะยัดนักเรียนจำนวนมากอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน เวลาเดียวกัน หรือไปเรียนทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว อีกนานแค่ไหนไม่รู้

กลับมาที่เราบอกว่า จะมีงานใหม่ๆ เกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ งานที่เราไม่รู้จักอีกต่อไป เกิดขึ้นมาใหม่หลายร้อยอาชีพ เลือกเรียน 4 ปีในมหาวิทยาลัย เพื่อจะออกไปประกอบอาชีพนั้นไม่ทันแล้ว

เหมือนว่าโลกตอนนี้ต้องการจบครบในตัวคุณเองมากมายหลากหลายทักษะในตัว มากกว่าการเป็นลูกจ้างรอเงินเดือน

โลกและโรค กำลังบีบอัดเราให้ค้นหาอัจฉริยะของเราให้ได้ ถึงจะอยู่รอด

ไอสไตน์พบอัจฉริยะของเขาได้จากการทดลอง ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า เพียงเพื่อจะค้นหาคำตอบที่เขาตั้งสมมติฐาน

เวลานี้เป็นเวลาที่แสนดีที่จะให้นักเรียนของเราได้ทดลอง ค้นหาสิ่งที่เขาสนใจ มีคำถาม ตั้งคำถาม

คำถามง่ายๆ ก็ได้ เกิดมาเพื่ออะไร อยากทำอะไรไปเพื่ออะไร แล้วจะทำอย่างไร เพื่อไปถึงจุดนั้น

พ่อแม่ ครู มองดูอยู่ห่างๆ เห็นลูกๆ ล้มก็ไม่ต้องรีบไปประคอง ลองให้เขาได้ลุกเอง สังเกตก็ได้ว่า ล้มครั้งต่อๆ ไป เขาจะลุกเองได้เร็วขึ้นและทะมัดทะแมงขึ้น

ตัวพ่อแม่เอง สถานศึกษาเอง ก็มีงานที่ต้องคลิก ปรับตัวกลับมาเป็นผู้เรียนรู้กันใหม่ให้ทันโรคและโลกด้วยเช่นกันหรือเปล่า แม้ว่าปัญหาปากท้องจะรุมเร้า เราก็ไม่อาจวางใจ ปล่อยให้หน้าที่ให้การศึกษาเรียนรู้ของลูกหลานเราไปอยู่ในมือโรงเรียนเหมือนเก่าได้อีกแล้ว

เรากลับไปเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว เพราะเราไม่เคยมีปกติเดิมที่พาเราก้าวทันโลกที่โอบอุ้มเราไว้เลย

Writer & Photographer

Avatar

เสาวนีย์ สังขาระ

Film Maker, Farmer, Facilitator ผู้ผลิตภาพยนตร์สารคดีอิสระ บินสิ! โปรดักส์ชั่นเฮาส์ และรายการบินสิ! ผู้ก่อตั้งและอำนวยการเรียนการสอน ที่สวนศิลป์บินสิ Films Farm School