หลายวันก่อนมีข่าวใหญ่น่าตกใจมาจากตุรกี นั่นคือรัฐบาลตุรกีมีแผนจะเปลี่ยนพิพิธภัณฑ์ฮาเกียโซเฟีย (Hagia Sophia) ให้กลับไปเป็นมัสยิดภายในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ 

ข่าวนี้ค่อนข้างช็อกโลกพอสมควร ถึงขนาดองค์การยูเนสโกต้องส่งจดหมายประท้วง และสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสและองค์กรศาสนาคริสต์ต่างๆ ออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ แรกเริ่มเดิมทีมหาวิหารแห่งนี้เคยเป็นคริสตสถานของชาวกรีกนิกายออร์โธดอกซ์ใจกลางกรุงคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงของอาณาจักรโรมันตะวันออก ที่ยืนหยัดมานับพันปีหลังอาณาจักรโรมันตะวันตกล่มสลายลงในคริสต์ศตวรรษที่ 5 

พอถึงคริสต์ศตวรรษที่ 11 ศาสนจักรในเมืองหลวงด้านตะวันออกก็แยกตัวออกจากสันตะสำนักที่กรุงโรม กลายเป็นนิกายออร์โธดอกซ์ ก่อนจะถูกกองทัพชาวออตโตมันนำโดยสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 โจมตีจนแตกใน ค.ศ. 1453 (ใครสนใจเรื่องคอนสแตนติโนเปิลล่มไปชมซีรีส์ ออตโตมันผงาด (Rise of Empires Ottoman) ครับ สนุกและ CG สวยดี มีภาพฮาเกียโซเฟียตอนกรุงแตกด้วย) จากนั้น วิหารแห่งนี้ก็เปลี่ยนเป็นมัสยิด ภาพโมเสกไอคอนของพระเป็นเจ้าและนักบุญต่างๆ ก็ถูกโบกปูนทับหรือเอาม่านปิดไว้ 

เวลาต่อมา ใน ค.ศ.1935 ศาสนสถานแห่งนี้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยนายคามาล อตาเติร์ก (Kemal Atatürk) รัฐบุรุษของตุรกีมีนโยบายสร้างรัฐฆราวาส พยายามแยกศาสนาออกจากการเมืองเพื่อนำชาติก้าวไปสู่โลกสมัยใหม่ ฮาเกียโซเฟียจึงเผยโฉมต่อสาธารณชนอีกครั้งในฐานะอาคารจัดแสดงที่เต็มไปด้วยกลุ่มทัวร์ ใส่รองเท้าและเดินชมได้ทุกซอกทุกมุม (รวมทั้งต้องต่อคิวยาวเหยียดเพื่อซื้อตั๋วด้วย) 

แต่เมื่อไม่กี่วันมานี้ เมื่อรัฐบาลตุรกีมีนโยบายสนับสนุนศาสนาอิสลามอีกครั้ง ฮาเกียโซเฟียจึงอาจพลิกโฉมตัวเองอีกรอบ แม้ว่าจะมีข้อตกลงว่าจะไม่มีการรบกวนงานศิลปกรรมโบราณ เช่น ภาพพระคริสต์ นักบุญ แม่พระ ที่ประดับด้วยโมเสกภายในก็ตาม แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการใช้ม่านคลุมทับ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นจากมุมมองของสาธารณชนอีกต่อไป

Hagia Sophia มหาวิหารตุรกีที่เคยเป็นโบสถ์ มัสยิด พิพิธภัณฑ์ และกำลังกลับไปเป็นมัสยิดอีกที

มหาวิหารแห่งโรมันตะวันออก

มหาวิหารฮาเกียโซเฟีย อ่านตามสำเนียงเติร์กว่า อายาโซเฟีย (Ayasofya) มีความหมายว่า ‘พระปัญญาบริสุทธิ์’ หรือพระปัญญาศักดิ์สิทธิ์ (Holy Wisdom) ได้รับการตีความไปหลายความหมาย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะหมายถึง ‘พระบุตร’ หรือพระเยซูคริสต์ ในฐานะที่ทรงเป็นพระปัญญา (Logos) ที่พระเป็นเจ้าทรงใช้สร้างโลกและจักรวาล ดังที่ปรากฏในบทแรกของพระวรสารนักบุญยอห์น 

มหาวิหารแห่งนี้สร้างขึ้นโดยพระจักรพรรดิจัสติเนียน มหาราชแห่งโรมันตะวันออกผู้มีความฝันว่าจะรื้อฟื้นอาณาจักรโรมที่ล่มสลายไปแล้วให้กลับคืนมา รัชสมัยของพระองค์เต็มไปด้วยความรุ่งเรือง การทำสงครามแผ่ขยายดินแดน การค้าทางไกล การปฏิรูปกฎหมาย (ที่เรียกกันว่ากฎหมายจัสติเนียน) และเรื่องราวฉาวโฉ่ในราชสำนักของพระมเหสีทีโอโดรา 

ความมั่งคั่งของพระองค์นำไปสู่อภิมหาโครงการขนาดยักษ์ที่ไม่เคยมีอาณาจักรใดทำได้มาก่อน คือการสร้างโดมขนาดมหึมาที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว่า 31 เมตรและสูงถึง 55 เมตร อาณาจักรอียิปต์อาจสร้างพีระมิดที่ใหญ่กว่านี้ แต่ไม่มีใครหาญกล้าทำห้องโถงด้วยอิฐกว้างใหญ่กินพื้นที่มากมายโดยไม่มีเสาค้ำตรงกลางได้ ในศตวรรษที่ 6 จักรพรรดิจัสติเนียนสถาปนาโดมแห่งสรวงสวรรค์แห่งนี้ เสมือนชะลอเอากรุงเยรูซาเล็มบนสวรรค์ตามรายละเอียดในพระคัมภีร์ไบเบิลลงมาไว้ในโลกมนุษย์ เป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าของสถาปัตยกรรมโลกไปอย่างสิ้นเชิง 

จักรพรรดิจัสติเนียนเลือกพื้นที่สร้างวิหารใหม่บนตำแหน่ง ‘มหาวิหารหลวง’ (Magna Ecclesia) ที่สร้างโดยจักรพรรดิคอนสแตนติอุสที่ 2 และจักรพรรดิเทโอโดสิอุสที่ 2 ดังนั้นมหาวิหารของพระองค์จึงนับได้ว่าเป็นหลังที่ 3 พระองค์เริ่มงานใน ค.ศ. 532 โดยจ้างนักคณิตศาสตร์และสถาปนิกชื่อดัง คนงานกว่าหมื่นคน และจัดหาหินอ่อนที่ดีที่สุดจากทั่วอาณาจักรโรมัน และใช้เวลาสร้างเพียง 5 ปีเท่านั้น โดมกลางห้องโถงที่ใหญ่ที่สุดในโลกโบราณกว้างกว่า 31 เมตร แต่บางเพียง 2 ฟุต ก็สำเร็จลงใน ค.ศ. 537 ที่นี่เป็นวิหารหลวงสำหรับประกอบพระราชพิธีต่างๆ เช่น งานบรมราชาภิเษก ทั้งยังเป็นที่ประทับของพระอัยกาแห่งคอนสแตนติโนเปิล ประมุขของศาสนจักรกรีกออร์โธดอกซ์ด้วย 

จักรพรรดิยังโปรดให้รวบรวมบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระธาตุที่เกี่ยวข้องกับพระคริสต์และบรรดานักบุญมารวบรวมไว้ที่นี่ เช่น สายคาดเอวของแม่พระ หรือโต๊ะอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซู ซึ่งมีตำนานว่า เรือที่บรรทุกโต๊ะศักดิ์สิทธิ์มานั้นได้ล่มลงในอ่าวก่อนจะถึงเมือง ทำให้คลื่นลมในทะเลของกรุงคอนสแตนติโนเปิลนั้นสงบอยู่เสมอ แม้ว่าสภาพอากาศเลวร้ายก็ตาม

Hagia Sophia มหาวิหารตุรกีที่เคยเป็นโบสถ์ มัสยิด พิพิธภัณฑ์ และกำลังกลับไปเป็นมัสยิดอีกที
 แผนผังของฮาเกียโซเฟีย
ภาพ : en.wikipedia.org
Hagia Sophia มหาวิหารตุรกีที่เคยเป็นโบสถ์ มัสยิด พิพิธภัณฑ์ และกำลังกลับไปเป็นมัสยิดอีกที
ภาพตัดขวางของฮาเกียโซเฟีย 
ภาพ : en.wikipedia.org
Hagia Sophia มหาวิหารตุรกีที่เคยเป็นโบสถ์ มัสยิด พิพิธภัณฑ์ และกำลังกลับไปเป็นมัสยิดอีกที
ภายในมหาวิหารฮาเกียโซเฟีย ยังเห็นภาพเทวดาเซราฟิมที่มุมทั้งสี่ของโดม
Hagia Sophia มหาวิหารตุรกีที่เคยเป็นโบสถ์ มัสยิด พิพิธภัณฑ์ และกำลังกลับไปเป็นมัสยิดอีกที
มุขด้านหน้าทางประตูหลวง ปูด้วยหินอ่อนขนาดใหญ่
Hagia Sophia มหาวิหารตุรกีที่เคยเป็นโบสถ์ มัสยิด พิพิธภัณฑ์ และกำลังกลับไปเป็นมัสยิดอีกที
ภายในโดมประธาน จะเห็นภาพ ‘พระมารดาพระเจ้า’ อุ้มพระกุมารเยซู ในฐานะ ‘บัลลังก์แห่งปัญญา’ อยู่ที่โดมบริวาร

ศิลปกรรมแห่งฮาเกียโซเฟีย

เมื่อปีที่แล้วผมยืนอยู่หน้าฮาเกียโซเฟีย ผมมองไปยังมหาวิหารขนาดยักษ์ เป็นความใฝ่ฝันมาตั้งแต่เนิ่นนานแล้วว่าจะเดินทางมาชม ‘โรมที่สอง’ เมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ให้ได้ แต่ฮาเกียโซเฟียกลับดูเหมือนก้อนไอศกรีมเชอร์เบตขนาดยักษ์หลายๆ ก้อนกองรวมกันในจาน แม้ใหญ่โตแต่ไม่มีสง่าราศีใดๆ เลย ราวกับโรงนาขนาดยักษ์ที่ก่อด้วยอิฐและฉาบปูนทาสี แต่นี่คือปรัชญาของศาสนสถานสไตล์ไบแซนไทน์ของชาวกรีกออร์โธดอกซ์ 

ภายนอกของโบสถ์อาจดูธรรมดาไร้ความหรูหรา แต่เมื่อก้าวเท้าเข้าไปข้างใน เราเห็นการตกแต่งด้วยหินอ่อนที่คัดมาอย่างดี ปูเป็นพื้นและฉาบทั่วบริเวณผนัง สลับกับหินแกรนิตสีเขียวลายดำที่ขัดจนเป็นมันมะเมื่อม ภายในโถงกลาง โดมแห่งสรวงสวรรค์ลอยคว้างอยู่กลางอากาศ ปิดผิวพื้นด้วยโมเสกทองคำเคลือบแก้วต้องแสงระยิบระยับ ที่มุมทั้งสี่ของโดมรองรับด้วยแกนอิฐขนาดใหญ่ ประดับภาพเซราฟิมที่ใช้ปีกห่อตัว เพื่อป้องกันรัศมีที่แผ่ออกจากพระกายของพระเจ้าผู้ประทับอยู่กึ่งกลางโดม (แต่ต่อมาถูกเปลี่ยนเป็นศิลปะอักษรประดิษฐ์แบบอิสลาม) ที่มุมต่างๆ ของโบสถ์ จิตรกรได้รังสรรค์ภาพพระมารดามารีย์ประทับอุ้มพระบุตรบนตัก แสดงความเป็น ‘พระบัลลังก์แห่งปัญญา’ เพราะพระเจ้าผู้ทรงเป็นสติปัญญาแห่งจักรวาลประทับอยู่บนตักของพระนาง 

ตลอดเวลาพันปีที่ฮาเกียโซเฟียเป็นคริสตสถาน วิหารหลวงแห่งนี้ค่อยๆ ถูกประดับประดาทีละเล็กทีละน้อยด้วยกระเบื้องโมเสก มีภาพบรรดานักบุญ นักปราชญ์ ปิตาจารย์ จักรพรรดิองค์ต่างๆ ที่เคยครองนครโรมตะวันออก เช่น ภาพจักรพรรดิคอนสแตนตินผู้สร้างนครแห่งนี้ จักรพรรดิจัสติเนียนกำลังถือเครื่องบูชาน้อมกายเข้ามาสักการะพระคริสต์ หลายภาพก็มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เช่น 

1. ภาพโมเสกพระจักรพรรดินีโซอี ซึ่งเราได้เคยกล่าวถึงพระนางมาแล้วว่า ทรงหายประชวรจากการรบกวนของวิญญาณชั่วร้ายด้วยผ้าคาดเอวของแม่พระ ในฮาเกียโซเฟีย พระนางทรงชุดแต่งยศถือม้วนกระดาษประกาศการสนับสนุนศาสนจักร ขณะที่พระสวามีคือคอนสแตนตินที่ 9 ทรงถือถุงเงินแสดงการอุปถัมภ์มหาวิหารแห่งนี้

Hagia Sophia มหาวิหารตุรกีที่เคยเป็นโบสถ์ มัสยิด พิพิธภัณฑ์ และกำลังกลับไปเป็นมัสยิดอีกที
พระจักรพรรดิคอนแสตนตินที่ 9 กับพระนางโซอีถวายเครื่องบูชาแด่พระคริสต์
ภาพ : commons.wikimedia.org

ภาพพระจักรพรรดิลีโอที่ 6 ทรงหมอบอยู่เฉพาะพระพักตร์พระคริสต์ ซึ่งกำลังถือหนังสือมีข้อความว่า “สันติจงดำรงอยู่กับท่าน” ข้างๆ มีกรอบวงกลมบรรจุภาพแม่พระ อีกกรอบบรรจุภาพอัครเทวดากาเบรียล ภาพนี้เป็นโมเสกที่ใครๆ ก็ต้องเห็นก่อน เพราะประดับอยู่เหนือประตูกลางทางเสด็จ

Hagia Sophia มหาวิหารตุรกีที่เคยเป็นโบสถ์ มัสยิด พิพิธภัณฑ์ และกำลังกลับไปเป็นมัสยิดอีกที
ภาพจักรพรรดิเลโอที่ 6 หมอบต่อหน้าพระคริสต์
ภาพ : upload.wikimedia.org

ภาพ ‘ผู้เสนอคำวิงวอนต่อพระเจ้า’ หรือ Deesis เป็นภาพที่โด่งดังมาก เพราะเป็นรูปแรกๆ ที่ถูกค้นพบจากการลอกปูนทางชั้นลอยทิศใต้ ภาพนี้เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก พระคริสต์ประทับกลางภาพในฐานะผู้พิพากษาโลก แสดงพระพักตร์ถมึงทึง ขนาบข้างด้วยพระแม่มารีย์ทางขวา และนักบุญยอห์นผู้ประกอบพิธีล้างทางซ้าย ชาวออร์โธดอกซ์เชื่อว่า ทั้งสองท่านทำหน้าที่ทนายแก้ต่างให้มนุษย์ ขณะที่พระเป็นเจ้าทรงตัดสินโทษบาปของแต่ละคนในวันสุดท้าย

Hagia Sophia มหาวิหารตุรกีที่เคยเป็นโบสถ์ มัสยิด พิพิธภัณฑ์ และกำลังกลับไปเป็นมัสยิดอีกที
ภาพผู้เสนอคำวิงวอนต่อพระเจ้า หรือ Deesis
ภาพ : upload.wikimedia.org

2. รูปแม่พระอุ้มพระกุมารเยซูบนตัก เป็นภาพโมเสกที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 8 หลังการทำลายไอคอนครั้งใหญ่ ภาพนี้ซ่อมแซมทับของเดิม เคยมีภาพอัครเทวดามีคาแอลและกาเบรียลขนาบข้าง แต่ถูกทำลายไปแล้ว การที่ภาพนี้ยังคงหลงเหลืออยู่ อาจเป็นเพราะธรรมเนียมการให้เกียรติแก่ ‘พระนางมัรยัม’ ตามคัมภีร์อัลกุรอ่าน

Hagia Sophia มหาวิหารตุรกีที่เคยเป็นโบสถ์ มัสยิด พิพิธภัณฑ์ และกำลังกลับไปเป็นมัสยิดอีกที
ภาพ : en.wikipedia.org/wiki/

ลองจินตนาการถึงพิธีกรรมแบบออร์โธดอกซ์ ที่ห้องโถงเต็มไปด้วยตะเกียงชวาลาน้ำมัน เปลวไฟสะท้อนกับสีทองของกระเบื้องโมโค มีควันกำยานลอยจางๆ เป็นภาพที่เหมือนสวรรค์บนพื้นพิภพ นี่คือปรัชญาของกรีกออร์โธดอกซ์ อาคารภายนอกที่ดูเรียบง่ายเปรียบเสมือนร่างกายอันอนิจจังของมนุษย์ที่รอวันเสื่อมสลายไป ขณะที่จิตวิญญาณอันมีค่าซุกซ่อนอยู่ข้างในกายของเรา เปรียบเสมือนโมเสกทองที่ประดับอยู่ภายในอาคารนั่นเอง ศิลปะไบแซนไทน์และโรมาเนสก์จึงแสดงออกด้วยความหมายลึกซึ้งเช่นนี้เสมอ 

อย่างไรก็ตาม กระเบื้องโมเสกเหล่านี้ไม่ใช่ผลงานดั้งเดิมตั้งแต่สมัยจักรพรรดิจัสติเนียน เนื่องจากในศตวรรษที่ 8 เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘การทำลายรูปไอคอน’ (Iconoclast) เชื่อกันว่าเป็นแนวคิดที่ชาวคริสต์ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลามที่ปฏิเสธรูปเคาพ พวกนักบวชและจักรพรรดิคอนสแตนตินที่ 5 และจักรพรรดิทีโอฟิลอส สั่งให้ทำลายล้างรูปพระเป็นเจ้าและนักบุญต่างๆ จนสิ้นซาก 

อย่างไรก็ตาม แนวคิดสุดโต่งเช่นนี้ดำเนินไปได้ไม่นาน ในที่สุดเมื่อเปลี่ยนรัชกาลและมีการสังคายนาความคิดกันใหม่ คณะสงฆ์มีมติให้ใช้รูปไอคอนของพระเป็นเจ้าและนักบุญได้ต่อไปใน ค.ศ. 843 เหตุการณ์นี้เรียกกันว่า ‘ชัยชนะของออร์โธดอกซ์’ และยังมีการเฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึงการกลับมาใช้รูปไอคอนอยู่จนทุกวันนี้

เมื่อโรมล่ม วัดก็ล่ม

อาณาจักรไบแซนไทน์คอนสแตนติโนเปิลยืนหยัดท้ากระแสอนารยชนได้ไปอีกพันปีหลังโรมตะวันตกล่ม จนกระทั่งสุลต่านเมห์เม็ดที่ 2 แห่งอาณาจักรออตโตมัน ซึ่งขณะนั้นมีพระชนม์เพียง 21 ชันษา ได้กรีฑาทัพเข้าโจมตี ‘เมืองที่ไม่มีใครตีได้’ แห่งนี้ 

ก่อนหน้านี้ทัพมุสลิมจำนวนมากพยายามยึดครองคอนสแตนติโนเปิล เพื่อให้สำเร็จไปตามคำทำนายโบราณของมุสลิมว่า วันหนึ่งอิสลามจะมีชัยเหนือมหานครแห่งนี้ แต่ก็ไม่เคยสำเร็จด้วยชัยภูมิอันแข็งแกร่ง คอนสแตนตินที่ 11 จักรพรรดิโรมันองค์สุดท้ายทรงตั้งรับโดยมีกำแพงเมืองขนาดมหึมาและท้องทะเลขวางหน้า มีโซ่เหล็กขึงข้ามช่องแคบบอสฟอรัส ป้องกันกองทัพเรือทุกลำที่จะแล่นเข้าไปในอ่าว 

กระนั้นก็ดี สุลต่านเมห์เม็ดใช้กลทัพที่ไม่มีใครคาดคิดว่าเขาจะทำได้ คือชักลากเรือรบขึ้นทางบกข้ามป่า อ้อมไปใช้ปืนใหญ่ขนาดมหึมาระดมยิงจากในอ่าว สุลต่านปิดล้อมเมืองอยู่นาน 53 วัน จึงยึดมหานครโรมตะวันออกไว้ได้ในมือใน ค.ศ. 1453 จักรพรรดิคอนสแตนตินทรงหายตัวไปในการศึก บ้างเล่าลือว่าเทวดานำตัวพระองค์ไป และเกิดเป็นตำนานว่าพระองค์จะกลับมาอีกครั้งหากกรุงสแตนติโนเปิลกลับมาอยู่ในครอบครองของชาวคริสเตียน ส่วนสุลต่านเมห์เม็ดทรงม้าเข้าไปในมหาวิหาร เพราะไม่อาจเดินด้วยเท้าได้สะดวก เพราะในฮาเกียโซเฟียเต็มไปด้วยซากศพและเลือด พระองค์สั่งห้ามบรรดาทหารทำลายเครื่องประดับต่างๆ ภายในโบสถ์ และประกาศว่าสมบัติทั้งปวงรวมทั้งมหาวิหารแห่งนี้เป็นของพระองค์ แล้วเสด็จจากหลังม้าลงละหมาด เป็นการเปลี่ยนคริสต์สถานให้กลายเป็นมัสยิดอย่างสมบูรณ์

ตำนานเล่าลือกันว่า ก่อนคอนสแตนติโนเปิลจะเสียแก่ออตโตมัน มีลางบอกเหตุหลายประการ เช่น เกิดสุริยุปราคาซึ่งเป็นไปตามคำทำนายของฝ่ายมุสลิม หลังจากนั้น 4 วัน เมืองทั้งเมืองก็ถูกปกคลุมด้วยหมอกหนาเป็นเวลา 3 วัน เหมือนเป็นลางร้ายคล้ายกับช่วงเวลามืดมิดขณะที่พระเยซูสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และเมื่อหมอกจางลง ก็มีแสงประหลาดเหมือนฟ้าผ่าลอยอยู่เหนือมหาวิหารฮาเกียโซเฟียตลอดทั้งคืน ชาวบ้านต่างอื้ออึงกันว่าพระจิตของพระเจ้าหรือพระแม่มารีย์ทรงละทิ้งเมืองหลวงแห่งนี้ไปแล้ว ยิ่งทำให้กองทัพฝ่ายโรมันเสียกำลังใจมากขึ้น

หลังจากเมห์เม็ดยึดเมืองหลวงได้ 3 วัน ทรงมีบัญชาอภัยโทษให้ชาวเมือง ใครก็ตามที่หลบหนีก็ให้กลับมาอยู่บ้านของตนเสีย ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม เพราะตามกฎหมายอิสลามนั้นยังให้สิทธิ์การนับถือศาสนาแก่ชาวกรีกออร์โธดอกซ์อยู่ โดยต้องเสียภาษีพิเศษ ดังนั้นจึงยังคงมีโบสถ์และสังฆราชแห่งคอนสแตนติโนเปิลต่อไปได้ แต่ต้องย้ายออกจากฮาเกียโซเฟียไปประกอบพิธีในโบสถ์แห่งอัครสาวกอันมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองแทน แต่ตัวมหาวิหารใจกลางเมืองถูกเปลี่ยนไปเป็นมัสยิด

เสามินาเร็ต 4 ต้นถูกต่อเติมเข้าไปที่มุม เพื่อเป็น ‘หออะซาน’ หรือหอสำหรับส่งสัญญาณบอกเวลาละหมาด ภาพไอคอนของพระเจ้าและบรรดานักบุญถูกย้ายออกไป พระแท่นถูกรื้อทำลาย และบรรดากระเบื้องโมเสกถูกฉาบปูนปิดเอาไว้ (ยกเว้นบางภาพ เช่น ภาพพระนางมารีย์ ที่ชาวมุสลิมเองก็ให้ความเคารพในฐานะท่านหญิงมัรยัม มารดาของนบีอีซา หรือพระเยซู) และด้วยความที่ฮาเกียโซเฟียเป็นพระราชทรัพย์ของสุลต่านตั้งแต่สมัยเมห์เม็ด สภาพภายในจึงถูกรักษาไว้อย่างดี เพราะเป็นเขตพระราชฐานติดกับรั้วพระราชวังที่มิได้เปิดตลอดเวลา บริเวณชั้นลอยนั้นถูกปิดจากสาธารณชนอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะชาวต่างชาติ แทบไม่มีโอกาสเห็นความอัศจรรย์ของโดมห้องโถงที่ใหญ่ที่สุดในโลกโบราณอีกเลยเป็นเวลานานแสนนาน

ด้วยความมหัศจรรย์ของโครงสร้างสถาปัตยกรรมแบบไบแซนไทน์ ราชวงศ์ออตโตมันผู้พิชิตหลงใหลสิ่งก่อสร้างแบบนี้ และยังว่าจ้างช่างโรมันให้ก่อสร้างมัสยิดมีลักษณะและขนาดใกล้เคียงกันจำนวนมากในกรุงอิสตันบูล เช่น มัสยิดสุลต่านสุไลมาน มัสยิดบาเยซิดที่ 2 มัสยิดสุลต่านเมห์เม็ด หรือที่รู้จักในนาปัจจุบันว่า มัสยิดสีน้ำเงิน (Blue Mosque) มัสยิดใหญ่น้อยที่สร้างขึ้นภายหลัง ก็ออกแบบมาในลักษณะฮาเกียโซเฟียย่อส่วนทั้งสิ้น

Hagia Sophia มหาวิหารตุรกีที่เคยเป็นโบสถ์ มัสยิด พิพิธภัณฑ์ และกำลังกลับไปเป็นมัสยิดอีกที
Hagia Sophia มหาวิหารตุรกีที่เคยเป็นโบสถ์ มัสยิด พิพิธภัณฑ์ และกำลังกลับไปเป็นมัสยิดอีกที
มัสยิดสุลต่านเมห์เม็ดหรือมัสยิดสีน้ำเงิน ตั้งอยู่ใกล้ฮาเกียโซเฟีย

พิพิธภัณฑ์ในโลกสมัยใหม่ที่กำลังจะกลับไปเป็นมัสยิด

ฮาเกียโซเฟียคงสภาพเป็นมัสยิดหลวงเป็นเวลากว่า 500 ปี ความอลังการภายในถูกเก็บซ่อนไว้จากสายตาของสาธารณชน โดยเฉพาะคนต่างชาติ แต่ค่อยๆ เผยโฉมตนเองออกมาผ่านการซ่อมแซมทีละเล็กทีละน้อยในยุคสมัยใหม่ ใน ค.ศ. 1847 สุลต่านอับดุลเมยิดได้จ้างสถาปนิกชาวสวิสให้มาปฏิสังขรณ์ฮาเกียโซเฟีย ลอกปูนที่ฉาบทับกระเบื้องโมเสกทองคำออก เผยให้เห็นภาพไอคอนส่องประกายสดใส เมื่อช่างได้ถวายตัวอย่างกระเบื้องโมเสกให้สุลต่านทอดพระเนตร พระองค์โกรธมากเพราะคิดว่าสถาปนิกฝรั่งใช้เงินสร้างกระเบื้องทองคำโดยพลการ แต่เมื่อทราบความจริง ก็ทรงโกรธบรรพบุรุษของพระองค์ที่ฉาบปูนปิดทับกระเบื้องล้ำค่าเหล่านี้ไว้ 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะของประมุขรัฐอิสลาม อับดุลเมยิดก็เกรงว่าการลอกปูนออกจะทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ เขาจึงให้ช่างชาวสวิสฉาบปูนดังเดิม และให้เขียนลายพรรณพฤกษาแบบยุคจัสติเนียนและยุคโกธิกลงไปทับแทนที่ (ยังคงเห็นลวดลายอยู่จนทุกวันนี้) แต่พระองค์ก็อนุญาตให้สถาปนิกนำบันทึกเกี่ยวกับกระเบื้องโมเสกเหล่านี้ไปเผยแพร่ในทวีปยุโรปได้ จึงเป็นครั้งแรกที่ศิลปกรรมของฮาเกียโซเฟียเผยตัวตนให้ชาวโลกได้รับรู้ หลังจากถูกปิดบังมากว่า 500 ปี

ใน ค.ศ. 1931 สถาบันไบแซนไทน์นำโดย โทมัส วิตต์มอร์ (Thomas Whittemore) ได้รับอนุญาตจากคามาล อตาเติร์ก ผู้นำคนแรกของสาธารณรัฐตุรกี ซึ่งขณะนั้นมีความโน้มเอียงไปทางรัฐฆราวาส ได้เสนอให้มัสยิดแห่งนี้เปลี่ยนเป็นมิวเซียม และบูรณะฮาเกียโซเฟียครั้งใหญ่ เพื่อเปิดให้สาธารณชนเข้าชมอีกครั้งในฐานะพิพิธภัณฑ์ จนกระทั่ง ค.ศ. 1935 ก็ได้เปิดพิพิธภัณฑ์ฮาเกียโซเฟียเป็นครั้งแรก 

พรมปูพื้นถูกยกออกไป เผยให้เห็นแนวทางเดินหินอ่อนกลางโบสถ์ มีการกะเทาะเอาปูนที่ฉาบทับกระเบื้องโมเสกออกไป ภาพพระคริสต์ ‘ผู้ทรงสรรพานุภาพ’ กลับมาเผยพระพักตร์อีกครั้ง มีผู้เข้าชมมากมายมหาศาลกว่าปีละ 3.3 ล้านคน ฮาเกียโซเฟียกลายเป็นสมบัติกลางของมนุษยชาติ มิใช่คนในศาสนาใดศาสนาหนึ่งอย่างสง่างาม อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นมีความพยายามจากศาสนิกทั้งคริสต์และอิสลาม ที่ต้องการให้มิวเซียมแห่งนี้กลับไปเป็นศาสนสถานอีกครั้ง เช่น เรียกร้องให้มีการประกอบพิธีทางศาสนา หรือตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ก็เริ่มมีการเปิดเสียงอาซานจากหอมินาเร็ตวันละ 2 ครั้ง และหลังจากนั้น กระแสการเรียกร้องให้เปลี่ยนมิวเซียมให้เป็นมัสยิดก็แรงขึ้นเรื่อยๆ 

Hagia Sophia มหาวิหารตุรกีที่เคยเป็นโบสถ์ มัสยิด พิพิธภัณฑ์ และกำลังกลับไปเป็นมัสยิดอีกที
การปฏิสังขรณ์สมัยคามาล อตาเติร์ก นักบูรณะลอกปูนออก แสดงให้เห็นภาพไอคอนของบรรดาปิตาจารย์ที่สร้างขึ้นสมัยไบแซนไทน์
ภาพ : www.pallasweb.com

จวบจนกระทั่งเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2563 นี้เองที่รัฐบาลตุรกี นำโดยประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdoğan) ร่วมกับสมาคมปกป้องสิ่งแวดล้อมและอนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์ มีมติเปลี่ยนมิวเซียมแห่งนี้ให้กลายเป็นมัสยิดอีกครั้ง ภายในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ ท่ามกลางความระแวดระวังของคนรุ่นใหม่ว่า ประเทศตุรกีที่ดำเนินนโยบายรัฐฆราวาสมาตลอดจะกลับไปเป็นรัฐอิสลามอีกหรือไม่ สถานะและรูปลักษณ์ของฮาเกียโซเฟียที่กลับไปเป็นมัสยิดจะมีหน้าตาอย่างไร จะสื่อสารกับผู้ชมได้เหมือนบรรยากาศเดิมๆ หรือไม่ ต้องคอยดูกัน

ภาพเปิดบทความ : Abdullah Öğük

Writer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช