‘หาดเล็ก’ คือพื้นที่แคบๆ สุดปลายแหลมทางตะวันออกของจังหวัดตราด ก่อนเทือกเขาบรรทัดจะบรรจบกับทะเลอ่าวไทย

พื้นที่ตรงนี้มีความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อฝรั่งเศสแบ่งเขตประเทศ โดยตัดอาณาเขตของสยามให้ไปเป็นของกัมพูชาที่ตนยึดอาณานิคมอยู่ ชาวสยามกลุ่มหนึ่งมาตั้งหลักปักฐานอยู่บริเวณหาดเล็กเพื่อใช้ตัวเองเป็นกำแพงมนุษย์กั้นระหว่างกัมพูชากับทะเลอ่าวไทย หากไม่มีพวกเขา สถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตอย่างเกาะช้างและเกาะกง รวมถึงทะเลอ่าวไทยเกือบครึ่ง ก็คงไม่ได้เป็นของไทยอย่างในทุกวันนี้

เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนในชุมชนเยอะขึ้น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มก็ลดพื้นที่อยู่อาศัยบนบกให้น้อยลงทุกที สภาพปัจจุบันจึงกลายเป็นว่าบ้านเรือนกว่า 500 ครัวเรือน เบียดกันลงไปอยู่ในทะเลและเกิดสภาพเป็นชุมชนแออัด ซึ่งชาวบ้านไม่มีเงินพอที่จะซ่อมแซมด้วยตนเอง

‘หาดเล็กโมเดล’ การออกแบบที่อยู่อาศัยของชุมชน 738 ครัวเรือนในพื้นที่ที่แคบที่สุดในประเทศไทย
‘หาดเล็กโมเดล’ การออกแบบที่อยู่อาศัยของชุมชน 738 ครัวเรือนในพื้นที่ที่แคบที่สุดในประเทศไทย

ใน พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) ห้ามไม่ให้ปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำเข้าไปในทะเลน่านน้ำไทยหรือชายหาด เมื่อเป็นเช่นนี้ ชุมชนหาดเล็กที่ตั้งอยู่ริมและในน้ำก็ผิดกฎหมายอย่างเต็มประตู

ปัญหากองสุมกันจนเหมือนจะมาถึงทางตัน การมีอยู่ของชุมชนเต็มไปด้วยข้อจำกัดทั้งในเชิงกายภาพและเชิงข้อเขียนทางกฎหมาย สุดท้ายก็คงต้องจบด้วยการให้ผู้คนบริเวณนี้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น

แต่พวกเขาไม่ยอมแพ้ง่ายๆ อย่างนั้น

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ร่วมกับบริษัทภูมิสถาปัตยกรรม LANDPROCESS และชาวบ้านในชุมชน ภูมิใจนำเสนอ ‘หาดเล็กโมเดล’ หาทางออกให้ปัญหาสุดหินผ่านการออกแบบ บนความคาดหวังว่าถ้าที่นี่สำเร็จจะใช้เป็นโมเดลที่ช่วยเหลือชุมชนได้อีกกว่า 7,000 ชุมชนทั่วประเทศ

นี่คือโครงการที่ผลักดันโดยภาครัฐพร้อมกับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ และทุกขั้นตอนผ่านการยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงอย่างประชาชนในพื้นที่

‘หาดเล็กโมเดล’ การออกแบบที่อยู่อาศัยของชุมชน 738 ครัวเรือนในพื้นที่ที่แคบที่สุดในประเทศไทย

การร่วมมือ 3 ด้านเช่นนี้หาไม่ได้ง่ายๆ

และเป็นเหมือนการบอกลางๆ ว่างานไซส์เล็กแค่นี้แท้จริงแล้วยิ่งใหญ่แค่ไหน

เราฟัง อาจารย์กช-กรกช วรอาคม และ โด้-นราธร มุลเมืองแสง ภูมิสถาปนิกจาก LANDPROCESS เล่าเรื่องราวการรวมพลังของคนรักหาดเล็ก แล้วเกิดความศรัทธาในมนุษยชาติขึ้นมา

ขออนุญาตนำมาเล่าต่อ ณ ที่นี้ เผื่อคุณจะเกิดศรัทธาเหมือนกันกับเรา

‘หาดเล็กโมเดล’ การออกแบบที่อยู่อาศัยของชุมชน 738 ครัวเรือนในพื้นที่ที่แคบที่สุดในประเทศไทย

หาดเล็ก สิทธิ์ไม่ได้เล็กตามไปด้วย

การห้ามปลูกสิ่งก่อสร้างในน่านน้ำ จะว่าไปก็มีเหตุผล

เมื่อมีสิ่งใดๆ อยู่ในน้ำนั่นหมายถึงการเพิ่มโอกาสในการทำให้แหล่งน้ำสกปรก ปนเปื้อน การทิ้งขยะลงบนแหล่งน้ำ และปัญหาอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน ในมุมหนึ่ง การออกกฎหมายเช่นนี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อม

แต่ในอีกแง่หนึ่ง วิถีชีวิตแบบอยู่กับน้ำคือสไตล์ของชาวเรามาตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะเป็นที่ราบลุ่ม หลายชุมชนล้อมรอบด้วยทะเลและแม่น้ำ การบังคับไม่ให้มีชีวิตอยู่กับน้ำก็เท่ากับการตัดพวกเขาจากรากของตัวเอง

คำถามที่ถูกต้องจึงกลายเป็น ‘เราจะอยู่ร่วมกับพื้นที่น้ำยังไง’ มากกว่า

‘หาดเล็กโมเดล’ การออกแบบที่อยู่อาศัยของชุมชน 738 ครัวเรือนในพื้นที่ที่แคบที่สุดในประเทศไทย

“มันเป็นสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ เป็นคนไทยเหมือนกันก็ควรจะมีสิทธิในที่อยู่อาศัยเหมือนกัน คนกลุ่มนี้ ถ้าไม่มีที่ตรงนี้ก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหนแล้วนะ เพราะนี่คือบ้านของเขา” อ.กช อธิบาย

หาดเล็กเป็นพื้นที่ประเภทนี้พื้นที่แรกที่กรมเจ้าท่าปล่อยให้เช่าพื้นที่ เรียกว่าพวกเขามีโอกาสได้อยู่อาศัยอย่างถูกกฏหมาย เพื่อลองดูว่าจะออกแบบที่ดินครึ่งบกครึ่งน้ำเหล่านี้อย่างไรไม่ให้ระบบนิเวศเสียหายและไม่เกิดการรุกล้ำเพิ่มเติม

‘หาดเล็กโมเดล’ การออกแบบที่อยู่อาศัยของชุมชน 738 ครัวเรือนในพื้นที่ที่แคบที่สุดในประเทศไทย

ในขณะเดียวกัน ชาวบ้านที่นี่ก็มีภูมิความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างชาวทะเล และมีมาดของความเป็นเจ้าบ้านมากกว่าผู้บุกรุก เพื่อให้ได้อยู่ต่อ เขาพร้อมเปิดใจปรับกิจวัตร รับความเปลี่ยนแปลงเต็มที่

“เขาน่าช่วยขนาดนี้ ทำไมเราจะไม่อยากช่วยเขาล่ะ”

ตั้งเป้าหมายให้ใหญ่

ไม่ใช่แค่นั้น ที่ผ่านมาชาวบ้านเองก็พยายามพัฒนาชุมชนเองอยู่แล้วด้วย

พวกเขาต่างรู้ดีว่า ถ้าจะอยู่ให้ได้เขาจะต้องขยับตัว นั่นคือสาเหตุที่ชาวบ้านเคยลองทำโฮมสเตย์ อยากทำแพพานักท่องเที่ยวไปดูสัตว์ทะเล หรือทำเส้นทางเดินในป่าชายเลนและปลูกป่าชายเลนเพิ่ม

แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทางออกของชาวบ้านไม่อาจแก้ปัญหาได้รอบด้าน ทำให้ผู้ที่มาเยี่ยมเยือนมาได้ครั้งเดียวก็ไม่รู้จะไปทำอะไรต่อ ไม่รู้จะเดินทางอย่างไร

ไม่เพียงเท่านั้น พื้นที่นี้จริงๆ แล้วยังเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานมาก ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กรมเจ้าท่า และอีกมากมาย แต่ละภาคส่วนก็มีความกังวลในด้านที่ตนเองดูแล เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม การทิ้งขยะลงทะเล หรือการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร เรื่องความมั่นคงของพื้นที่บริเวณชายแดน เป็นต้น

เป้าหมายของงานนี้จึงเป็นการตอบสนองโจทย์ให้ครบทุกฝ่าย ผ่านการเพิ่มเครื่องมือให้ชาวบ้านได้มีโอกาสพัฒนาระบบนิเวศทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมของพวกเขาเอง

อ.กช บอกว่า “สำหรับภูมิสถาปนิกอย่างเรา ทางออกที่จะเสนอให้เขาได้ก็คือแบบ”

ศึกษากันใหญ่

จะออกแบบได้ ต้องเข้าใจบริบทก่อน

ชุมชนหาดเล็กประกอบด้วย 5 หมู่บ้านที่อยู่รวมกัน แต่ละหมู่บ้านมีจุดเด่นและปัญหาแตกต่างกันไป

หมู่บ้านที่ 1 อยู่ด้านเหนือสุดของหาดเล็ก มีลักษณะเป็นป่าชายเลนอยู่แล้ว แต่ด้วยการสร้างบ้านเรือนและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ป่าเลยหายไปมาก เป้าหมายจึงเป็นการฟื้นฟูป่ากลับมา โดยปลูกป่าเคียงคู่ไปกับการทำทางศึกษาธรรมชาติ ให้ทางเดินไม้ช่วยกันแนวคลื่น ปกป้องป่าไปด้วยในตัว

หมู่บ้านที่ 2 อยู่บริเวณกึ่งกลางหาดเล็ก มีปัญหาเรื่องคลื่นซัดแรงและลมพัดแรง เป็นหมู่บ้านที่บ้านเรือนเสียหายหนักที่สุด สิ่งแรกที่ต้องแก้ไขจึงเป็นการออกแบบแนวกันคลื่นโดยใช้ไม้ไผ่ คอนกรีต และป่าชายเลนเป็นตัวกรองแรงคลื่นรวมกัน 3 ชั้น

หมู่บ้านที่ 3 ถัดลงมาด้านใต้ของหมู่บ้านที่ 2 เป็นหมู่บ้านที่ยังทำประมงเรือเล็กอยู่อย่างชัดเจน และยังมีวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวหาดเล็กหลงเหลืออยู่มาก จึงเน้นการชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้ชีวิต อยู่โฮมสเตย์ กินอาหารทะเล และเรียนรู้วิถีชาวประมง

หมู่บ้านที่ 4 อยู่ด้านใต้สุดแหลม ติดชายแดนกัมพูชา จึงเป็นที่ตั้งของตลาดสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้า หมู่บ้านนี้มีตลาดและลานกิจกรรมให้คนได้ออกมานัดเจอพบปะกัน

และสุดท้าย หมู่บ้านที่ 5 อยู่ถัดลงมาด้านใต้ของหมู่บ้านที่ 1 เป็นบริเวณที่มีคนอยู่เยอะที่สุด ทำให้เกิดปัญหาความเป็นอยู่ที่แออัด มีขยะเยอะ รวมถึงมีทั้งคนไทยและกัมพูชา เวลาจะคุยอะไรก็ต้องใช้เวลามากหน่อย แต่ข้อดีคือที่นี่มีประเพณีดั้งเดิมน่ารักๆ หลายอย่าง เช่น ลอยกระทง 2 แผ่นดิน ไทย-กัมพูชา และงานแข่งเรือ สิ่งที่พวกเขาต้องการจึงเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับส่งเสริมให้กิจกรรมเหล่านี้เข้าถึงง่าย ปลอดภัย และเหมาะกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

หัวใจใหญ่

กระบวนการออกแบบงานนี้ประกอบด้วยการคุยมากกว่าการลงมือวาดแบบจริงๆ อีก

หาดเล็ก

“ตอนเรียนเราเคยคิดว่าการออกแบบนี่ยากที่สุด แต่พอมาทำงานอย่างนี้ ขั้นตอนออกแบบน่ะทำวันเดียวก็เสร็จ ตรงที่ยากคือกระบวนการนำไปทำให้เกิดขึ้นจริงๆ ต่างหาก เช่นจะทำอย่างไรให้กรมเจ้าท่ายอมปลดล็อกพื้นที่ตรงนี้ หรือให้ชาวบ้านยอมให้รื้อบ้านตัวเอง” อ.กช อธิบาย

ระหว่างการออกแบบพวกเขาต้องคำนึงถึงทุกภาคส่วนและอุดทุกปัญหา เพื่อให้ได้ ‘ทางออก’ ที่เหมาะสมที่สุด สมบูรณ์แบบที่สุด เป็นที่น่าพึงพอใจที่สุด เวลาขอการอนุมัติหรือยินยอมอะไรจะได้น่าทำจนไม่ว่าใครก็ปฏิเสธไม่ลง

หาดเล็ก
หาดเล็ก

แน่นอนว่าโครงการจะดีแค่ไหน หากสุดท้ายผลไม่เกิดขึ้นในเชิงรูปธรรมผู้คนก็จะไม่มีทางเห็นผลกระทบชัดเจน และไม่ส่งแรงกระเพื่อมใดๆ ในสังคม การสร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ต้องเริ่มจากการสร้างจริง ที่จะทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนไป

เพราะรู้แบบนี้ พวกเขาจึงทุ่มกันเต็มที่เพื่อผลักดันให้มันเกิดขึ้นจริง

อ.กช กระซิบกับเราว่า “ที่จริงแล้วงานนี้ก็ลุ้นอยู่นะว่าจะเกิดไหม แต่ถ้ามันยากแล้วเราจะไม่ทำเลยมันก็ไม่ใช่ ถ้าทุกคนคิดว่ายาก ไม่ลองหมดเลย มันก็ไม่มีทางเกิด เราต้องสู้สิ ต้องมั่นใจว่ามันต้องได้”

หาดเล็ก
หาดเล็ก

แรงกระเพื่อมใหญ่

เมื่อปี 2561 หาดเล็กโมเดลได้รับเลือกเป็นกรณีศึกษาในงาน World Habitat Day ขององค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย

พวกเขาเลือกเพราะเห็นข้อดีอะไรของที่นี่

หาดเล็ก

ข้อเท็จจริงก็คือ มีที่อยู่อาศัยปักหลักอยู่ในพื้นที่คล้ายคลึงกับที่หาดเล็กนี้อีกกว่า 7,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ ที่กำลังรอคอยอยู่ว่าจะโดนสั่งให้ย้ายออกจากบ้าน หรือจะมีทางออกอื่นมาช่วยเหลือพวกเขาไว้

แต่ไม่ใช่แค่นั้น ตอนนี้โลกกำลังเผชิญสภาพอากาศที่แปรปรวน ภาวะโลกร้อนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี แปลว่าที่อยู่อาศัยบนบกจะลดลง หากมีหนทางใดให้เราใช้ชีวิตกับน้ำหรือในน้ำได้ ก็จะเปิดประตูไปสู่โอกาสใหม่ๆ อีกมาก

หาดเล็ก

“อาจารย์คิดว่ามันไม่ใช่แค่ปัญหาของชุมชนนี้นะ ถ้าแก้ปัญหาตรงนี้ได้ จะนำโมเดลไปใช้ได้ในอีกหลากหลายชุมชนชาวประมง ทั้งในสเกลประเทศและสเกลโลกเลย” อ.กช กล่าว

หากสำเร็จ หาดเล็กอาจช่วยชีวิตหาดใหญ่ๆ ได้อีกมากมาย

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ