ถ้าลองนึกภาพสนามเด็กเล่นที่คุณคุ้นตา ไม่ว่าจะเล่นเองหรือพาลูกไปเล่นมาเมื่อเย็น คุณคงเห็นภาพเครื่องเล่นสำเร็จรูปอย่างชิงช้า ไม้กระดก และสไลด์เดอร์ซึ่งหน้าตาคล้ายกันทุกที่ 

แน่นอนว่าสนามเด็กเล่นเหล่านี้ล้วนเล่นสนุก แต่มันน่าจะสนุกยิ่งกว่าเดิม ถ้าพื้นที่เล่นเหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ตัวจริงมามีส่วนร่วมในการออกแบบ 

ด้านล่างนี้คือเคสของสนามเด็กเล่นของสิงคโปร์ที่ทดลองชวนเด็ก ๆ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างพ่อแม่และคุณครูมาช่วยออกแบบ จนได้สนามเด็กเล่นหน้าตาไม่จำเจ แถมยังเล่นสนุก ตอบโจทย์การเล่นของเด็ก ๆ แบบถึงแก่น

เชิญก้าวเท้าเข้าสนามเด็กเล่นขนาดน่ารักแห่งนี้ แล้วสำรวจ ‘Hack Our Play’ ไปพร้อมกันค่ะ

Hack Our Play สนามเด็กเล่นที่เด็กจิ๋วร่วมออกแบบ สนุกกว่าและถูกกว่าเดิม 5 เท่า

สนามเด็กเล่นที่ยกระดับ ‘การเล่น’

Hack Our Play เป็นพื้นที่เล่นแห่งแรกของสิงคโปร์ที่มีการร่วมออกแบบ (Participatory) และมีชุมชนร่วมสร้าง ริเริ่มโดย Lien Foundation อนุบาล St. James’ Church Kindergarten และกลุ่มนักออกแบบอาสาสมัครที่ชื่อ Participate in Design 

โครงการนี้เกิดขึ้นเพราะทุกคนรู้ว่า การเล่นนั้นแสนสำคัญกับพัฒนาการเด็ก แต่สนามเด็กเล่นทั่วไปมักเป็นการสั่งซื้อมาจากแคตตาล็อก ทำให้เกิดประสบการณ์เล่นที่ธรรมดาและซ้ำเดิม ทีมเชื่อว่า เราจำเป็นต้องคิดใหม่ทำใหม่กับการออกแบบและสร้างพื้นที่เล่นในสิงคโปร์

และเพื่อให้สนามเด็กเล่นเป็นที่ที่เด็ก ๆ ได้เจอกับประสบการณ์เฉพาะตัว รวมถึงตอบโจทย์การเรียนรู้ได้ดีที่สุด แทนที่จะนั่งออกแบบกันเอง พวกเขาจึงตั้งใจสร้างสนามเด็กเล่นโดยชวน ‘ผู้รู้’ มาร่วมออกแบบ

ผู้รู้ที่ว่ามีทั้งคุณครู คุณพ่อ คุณแม่ และแน่นอน ที่ขาดไม่ได้คือเหล่าเด็กจิ๋ว ที่ย่อมรู้ว่าตัวเองอยากได้สนามเด็กเล่นแบบไหน

Hack Our Play สนามเด็กเล่นที่เด็กจิ๋วร่วมออกแบบ สนุกกว่าและถูกกว่าเดิม 5 เท่า

สนามเด็กเล่นที่ผู้เล่นร่วมออกแบบ

เพราะอยากชวนทุกคนที่สำคัญกับการเล่นของเด็ก ๆ มามีส่วนร่วม แทนที่จะจิ้มสั่งซื้อเครื่องเล่นมาติดตั้งแบบรวดเร็ว สนามเด็กเล่นที่นี่ใช้เวลาถึง 8 เดือนในการร่วมออกแบบ มีผู้เล่นฝ่ายต่าง ๆ เข้าร่วมมากกว่า 400 คน ตั้งแต่นักออกแบบ ครู พ่อแม่ ชาวชุมชน จนถึงบรรดาผู้ใช้งานจริงตัวน้อย

 ทีมงานเริ่มจากสานสัมพันธ์กับผู้คนที่เชี่ยวชาญด้านการเล่น ทำการค้นคว้า รีวิว และสัมภาษณ์คนที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงเด็ก ๆ เพื่อหาข้อมูลเรื่องประสบการณ์การเล่นในประเทศสิงคโปร์ และสำหรับเด็ก ๆ จะมีกิจกรรมสร้างปฏิสัมพันธ์เพื่อเข้าใจพวกเขาให้ลึกซึ้งขึ้น เช่น Crayon Conversations และ One-day Pop-Up Play ด้วย 

แล้วในที่สุด ทีมงานก็ได้ภาพสนามเด็กเล่นที่ทุกคนช่วยกันวาดขึ้น

เด็ก ๆ อยากได้พื้นที่ที่พวกเขาเล่นสนุกได้อย่างสบายใจไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหรือเดี่ยว อยากได้สนามเด็กเล่นสีสดใส และอยากมีอิสระในการเลือกว่าจะเล่นอะไร และจะเล่นแบบไหน นอกจากนี้ ผู้ใช้งานตัวน้อยยังอยากได้พื้นที่ซึ่งเล่นโดยใช้จินตนาการได้เต็มที่

ขณะเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่ก็มีสนามเด็กเล่นในฝัน นั่นคือพื้นที่ที่มีทั้งองค์ประกอบจากธรรมชาติและสิ่งที่คนสร้างขึ้น รวมถึงมีพื้นที่สำหรับ Sensory Stimulation ซึ่งปลอดภัยแต่ท้าทายความสามารถลูก ๆ นอกจากนั้น พวกเขายังอยากได้พื้นที่สบาย ๆ เพื่อให้เด็กได้มีโซนพักเหนื่อย 

นี่คือภาพสนามเด็กเล่นในฝัน ซึ่งกลายมาเป็นสนามเด็กเล่นในความเป็นจริง 

Hack Our Play สนามเด็กเล่นที่เด็กจิ๋วร่วมออกแบบ สนุกกว่าและถูกกว่าเดิม 5 เท่า
Hack Our Play สนามเด็กเล่นที่เด็กจิ๋วร่วมออกแบบ สนุกกว่าและถูกกว่าเดิม 5 เท่า

สนามเด็กเล่นแห่งนี้มีชิ้นส่วนของเล่นให้เด็ก ๆ หยิบมาต่อ มีกำแพงเขียวซึ่งพาธรรมชาติมาสู่พื้นที่ และส่วนผสมของโครงสร้างแบบตายตัวและชิ้นส่วนที่ปรับเปลี่ยนได้ ก็ช่วยให้สนามเด็กเล่นนี้เล่นได้หลายรูปแบบ ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่พักผ่อนสำหรับเด็ก ๆ และผู้ใหญ่ที่มาด้วยได้

นอกจากนี้ สถานที่นี้ยังหลอมรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ อย่างสถาปนิก นักออกแบบ ผู้ผลิตสนามเด็กเล่น จนถึงนักการศึกษาปฐมวัย ทำให้ที่นี่เป็นสนามเด็กเล่นที่ผ่านการคิดมาแล้ว ทั้งแง่มุมเชิงเทคนิค ความปลอดภัย จนถึงการหาวิธีส่งเสริมพฤติกรรมการเล่นให้หลากหลายรูปแบบ

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ วัสดุที่ใช้สร้างสนามเด็กเล่นนี้เป็นสิ่งที่รีไซเคิลได้ เป็นของที่หาได้รอบตัว และไม่ได้มีโครงสร้างแบบมาตรฐาน ทำให้สนามเด็กเล่นนี้สามารถพัฒนาต่อได้ แถมราคาวัสดุรวมแล้วยังแสนถูก ตกอยู่ที่ 18,000 ดอลลาร์ ขณะที่สนามเด็กเล่นทั่วไปนั้นราคามากกว่า 100,000 ดอลลาร์เลยทีเดียว

ที่สำคัญ ที่นี่เกิดขึ้นโดยมีเด็กตัวเล็กและผู้ใหญ่ตัวโตที่เกี่ยวข้องมาร่วมสร้างส่วนประกอบต่าง ๆ ของพื้นที่กันอย่างสนุกสนาน เรียกได้ว่าเป็นสนามเด็กเล่นที่ทุกคนร่วมสร้างตั้งแต่ต้นจนจบอย่างแท้จริง

Hack Our Play สนามเด็กเล่นที่เด็กจิ๋วร่วมออกแบบ สนุกกว่าและถูกกว่าเดิม 5 เท่า
เรื่องราวสนามเด็กเล่นของสิงคโปร์ที่ร่วมสร้างโดยผู้เล่นตัวจิ๋วและชุมชนตั้งแต่ต้นจนจบ

สนามเด็กเล่นที่ส่งต่อความรู้

หลังสนามเด็กเล่นประกอบร่างเรียบร้อย มันก็กลายเป็น Prototype ของสนามเด็กเล่นที่ชุมชนและผู้เล่นตัวจิ๋วช่วยกันสร้างขึ้น มีผู้คนแวะเวียนมาดูงาน โดยพวกเขาหวังว่าโรงเรียน Pre-school อื่น ๆ จะพัฒนาพื้นที่เล่นแบบนี้ขึ้นมาบ้าง 

และนอกจากมีพื้นที่แบบ Physical ให้ดู ทีม Hack Our Play ยังทำคู่มือส่งต่อความรู้แบบออนไลน์ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงวิธีการสร้างสนามเด็กเล่นแบบนี้ได้ถ้วนหน้า 

จากสนามเด็กเล่นเล็ก ๆ ที่คนกลุ่มหนึ่งร่วมกันสร้าง Hack Our Play จึงกลายเป็นองค์ความรู้สำหรับการสร้างพื้นที่เล่นซึ่งตอบโจทย์เด็ก ๆ อย่างแท้จริงและพวกเขามีโอกาสร่วมสร้างสรรค์ 

องค์ความรู้ที่ช่วยให้เด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมกับพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ กับเมืองที่เขาอาศัย

“เด็ก ๆ ทุกวันนี้คุ้นเคยกับการได้ของสำเร็จรูป พวกเขาแทบไม่รู้เลยว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ยังไง และเพราะอย่างนั้นก็จะไม่ได้ชื่นชมใส่ใจมันมากนัก แต่เมื่อได้ร่วมออกแบบ คุณจะมองของที่เสร็จสมบูรณ์ออกมาด้วยสายตาต่างออกไป นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมสร้างพื้นที่เล่นยังช่วยเตรียมตัวเด็ก ๆ สู่การเป็น Active Citizen ด้วย” Jacqueline Chung ซึ่งเป็น Senior Principal ของ St. James’ Church Kindergarten กล่าวไว้ 

เรื่องราวสนามเด็กเล่นของสิงคโปร์ที่ร่วมสร้างโดยผู้เล่นตัวจิ๋วและชุมชนตั้งแต่ต้นจนจบ

ภาพประกอบและข้อมูลอ้างอิง 

hackourplay.org

participateindesign.org

www.straitstimes.com

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN