บุคลากรทางการแพทย์ไทยทำงานหนักและแสนเหน็ดเหนื่อย

เชื่อว่าเป็นสถานการณ์ที่เราต่างรับรู้ ยิ่งช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 พวกเขาต้องวิ่งวุ่นทุกวัน รักษาผู้ป่วยที่จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้ความเสี่ยงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง จนอ่อนล้าทั้งกายใจ บางรายถึงขั้นต้องแลกด้วยชีวิต

แม้จะทุ่มเทสุดกำลังแล้วก็ตาม แต่ในสถานการณ์ปกติ ผู้ป่วยจำนวนมากยังเผชิญประสบการณ์อันน่าเจ็บปวดที่โรงพยาบาล ต้องตื่นแต่เช้าไปนั่งรอคิวยาวนาน เฝ้ารอด้วยความไม่รู้และกังวลใจ สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และระบบการบริหารงานที่เป็นอยู่

H LAB คือธุรกิจที่มองเห็นปัญหาอันซับซ้อนนี้ในระบบสาธารณสุขและตั้งใจช่วยแก้ไข ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มการบริหารงานในโรงพยาบาล (Hospital Management System) ด้วยมุมมองและความเชี่ยวชาญจากสายงานอื่น

H LAB ธุรกิจพัฒนาระบบบริหารห้องฉุกเฉินและ รพ. ด้วยหลักวิศวกรรมและความเข้าใจมนุษย์

“เป้าหมายของเราคือการ Re-engineering the Healthcare System หรือการถอดระบบเดิมที่เป็นอยู่ นำมาออกแบบใหม่และประกอบกลับเข้าไป เป็นระบบการให้บริการและรักษาในโรงพยาบาลที่ดีขึ้น” ข้าวตู-กมลวัทน์ สุขสุเมฆ ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ H LAB กล่าว เธอมุ่งมั่นทำงานด้านนี้มาร่วม 10 ปี ตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตที่ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การก้าวเท้าเข้ามาทำงานในระบบสาธารณสุขถือเป็นเรื่องท้าทาย แต่ H LAB ใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมอุตสาหการ สร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัลและบริการที่ช่วยให้โรงพยาบาลและหน่วยงานรัฐกว่า 22 แห่ง ได้ใช้งานระบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และวางแผนทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม

นับรวมแล้วมียอดการใช้งานกว่า 7 ล้านครั้ง ประหยัดเวลาบุคลากรทางการแพทย์ไปได้มากกว่า 300,000 ชั่วโมง และยังมีบทบาทช่วยรับมือโควิด-19 ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล

ในวันที่ระบบสาธารณสุขของประเทศกำลังสั่นคลอน เราชวนข้าวตู พร้อม มิ่ง-ภาวัต ศิริวัฒนโยธิน Chief Technology Officer (CTO) และ โต๊ะ-ภูริพล ชาญภัทรวาณิช Product Owner สองเพื่อนร่วมงานที่เป็นรุ่นน้องร่วมภาควิชาของข้าวตูด้วย มาพูดคุยเพื่อเข้าใจการทำงานและเบื้องหลังภารกิจของพวกเขา

ระบบที่ดีจะช่วยรักษาชีวิตคน ถึงเวลาที่เราจะจินตนาการและออกแบบระบบการทำงานทางสาธารณสุขใหม่ไปด้วยกันแล้ว

H LAB ธุรกิจพัฒนาระบบบริหารห้องฉุกเฉินและ รพ. ด้วยหลักวิศวกรรมและความเข้าใจมนุษย์
01

Time to Re-engineer

H LAB คือบริษัทที่เกิดขึ้นจากการค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์และต่อจุดเหล่านั้นให้มาบรรจบกันเมื่อข้าวตูเติบโต

“ตอนเด็ก เราชอบเรียนชีววิทยา แต่ก็ฝันว่าอยากเป็นนักประดิษฐ์ที่สร้างสิ่งใหม่ให้โลก เลยเลือกเรียนวิศวกรรมศาสตร์และเลือกภาควิชาอุตสาหการ เพราะอยากมองเห็นภาพรวมทั้งระบบ ไม่ว่าจะไปทำงานในอุตสาหกรรมไหน ก็น่าจะพอเข้าใจสิ่งที่เขาทำ” บัณฑิตผู้เรียนในภาควิชาที่เรียนเนื้อหาหลากหลายจนขึ้นชื่อเรื่องความเป็นเป็ดที่เดินได้ บินได้ ว่ายน้ำได้ กล่าว

“พอปีสี่ ต้องทำโปรเจกต์จบ ที่ภาควิชา อาจารย์สีรง ปรีชานนท์ กำลังทำโปรเจกต์กับโรงพยาบาลพอดี เราเห็นว่าไม่ค่อยมีใครทำด้านนี้ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานด้าน Healthcare”

เลนส์การมองโลกของข้าวตูที่ผ่านการร่ำเรียนด้านวางแผน ออกแบบ บริหารจัดการทรัพยากรและระบบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้เธอต้องตกใจ เมื่อเห็นระบบของโรงพยาบาลที่ยังคงบันทึกข้อมูลสำคัญต่างๆ ลงบนกระดาษ หรือซอฟต์แวร์ที่ใช้งานมานานเกินกว่าสิบปี ทำงานได้เพียงเรื่องพื้นฐาน แต่ไม่อาจนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงกระบวนการหรือแสดงผลให้คนเห็นข้อมูลและทำงานง่ายขึ้นทั้งหน่วยงาน

เมื่อเจอปัญหาค้างคาใจ ข้าวตูเริ่มชีวิตการทำงานกับอาจารย์สีรงที่ศูนย์การวิเคราะห์ระบบสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (HSA) ตระเวนให้คำปรึกษาด้านการจัดการระบบแก่โรงพยาบาลและเห็นว่าสิ่งที่ทำเป็นประโยชน์ มีความต้องการอยู่ในอุตสาหกรรม จึงตัดสินใจตั้งเป็นบริษัทที่แก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยตรงเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

“ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรเยอะ มีแต่ความตั้งใจล้วนๆ ช่วงแรกยังไม่มีความรู้การบริหารเลย คิดแค่ว่ามีคนต้องการ และเราทำสิ่งนี้ให้เป็นประโยชน์ได้” ข้าวตูเล่าด้วยเสียงหัวเราะ ความกล้าลงมือทำในวันนั้นเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของเธอ

เมื่อภารกิจต้องอาศัยความเฉพาะทาง ทีมที่เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพและพร้อมฝ่าฟันไปด้วยกันเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ การเสาะหาสมาชิกที่มีคุณสมบัติเช่นนั้น ทำให้ข้าวตูพบกับมิ่งและโต๊ะที่ฉายแววตั้งแต่สมัยเรียน

“ตอนนั้นอาจารย์กำลังตามหาคนช่วยงานในโปรเจกต์อื่น ผมลองเข้าไปทำแล้วก็ได้มาเป็น Outsource ช่วยพี่ข้าวตูเขียนโปรแกรมตั้งแต่ช่วงแรกๆ จนได้รับการชวนเข้ามาทำประจำ” มิ่ง หัวเรือด้านเทคโนโลยีในวัย 25 ปีกล่าว

“อาจารย์มาเล่าให้ฟังว่า ข้าวตู ผมไปเจอน้องคนหนึ่งที่บ้ามาก (ในทางที่ดี) เสนอมาช่วยแก้โจทย์ที่ตอนนั้นยังไม่มีใครแก้ได้และทำอย่างจริงจัง หาความรู้ตลอด เลยคุยกันว่าต้องเป็นคนนี้แหละ เพราะสิ่งที่มิ่งเป็นคือหนึ่งในดีเอ็นเอของ H LAB ที่เราตั้งใจไว้” รุ่นพี่เอ่ยชม

ส่วนโต๊ะเคยฝึกงานที่ศูนย์พัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลรัฐ และพบปัญหาภายในไม่ต่างอะไรกับที่ข้าวตูเคยเผชิญ 

“เราเห็นว่าแม้แต่โรงพยาบาลระดับประเทศยังมีปัญหาตรงนี้อยู่ อยากช่วยและเปลี่ยนแปลง ทำอะไรที่สร้างประโยชน์ พอทั้งสองคนชวนมาทำงานนี้ เราจึงตอบตกลง ” โต๊ะเล่า เขารับหน้าที่ดูแลการสร้างผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เป็นเพียงคอนเซปต์จนเกิดขึ้นจริง

ข้าวตูและทีมงานจึงรวมกันเป็นทีมรุ่นบุกเบิกที่มีอุดมการณ์แรงกล้า พร้อมสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่พลิกโฉมระบบการทำงานของโรงพยาบาลประเทศไทย

H LAB ธุรกิจพัฒนาระบบบริหารห้องฉุกเฉินและ รพ. ด้วยหลักวิศวกรรมและความเข้าใจมนุษย์
H LAB ธุรกิจพัฒนาระบบบริหารห้องฉุกเฉินและ รพ. ด้วยหลักวิศวกรรมและความเข้าใจมนุษย์
02

เพื่อนคู่คิด

ในช่วงแรกธุรกิจเริ่มต้นจากบทบาทที่ปรึกษา เข้าไปช่วยโรงพยาบาลปรับระบบภายในให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามสารพัดโจทย์

ตั้งแต่การออกแบบผังและกระบวนการทำงานใหม่ของแผนกผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาล

สร้างระบบที่ลดเวลารอ CT Scan ช่วยโรงพยาบาลจัดสรรอุปกรณ์และตารางการทำงานของบุคลากรให้เหมาะสมที่สุด

คิดวิธีบริหารจัดการคลังยาให้พร้อมบริการอย่างประหยัดต้นทุน ไม่ขาดไม่เกิน เป็นต้น

ทำไปสักระยะหนึ่ง ทีมมองเห็นว่าหากอยากขยายผลให้กว้างขึ้นกว่านี้ด้วยกำลังคนที่มี หนทางไปต่อคือการสร้างผลิตภัณฑ์เป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถเข้าไปติดตั้งในโรงพยาบาลหลายๆ แห่ง โดยปรับแต่งเพิ่มลดฟังก์ชันต่างๆ ได้ตรงความต้องการ

ทิศทางใหม่นี้ส่งผลให้เกิดเป็นซอฟต์แวร์ ‘CORTEX’ ที่ปัจจุบันมุ่งเน้นอยู่ 2 ระบบหลัก

หนึ่ง CORTEX Workflow หรือระบบบริหารจัดการเส้นทางและประสบการณ์การรับบริการ (Patient Journey & Experience) ของผู้ป่วยนอก ตั้งแต่การเริ่มนัดหมายแพทย์ ไปจนถึงการจ่ายเงินและรับยากลับบ้าน

ในฝั่งผู้ป่วย พวกเขาสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อนัดหมาย เช็กสถานะ และตรวจสอบข้อมูลของตัวเองได้ทุกเมื่อ ขจัดความว้าวุ่นใจในการรอคอย

ส่วนทางโรงพยาบาล H LAB จะเข้าไปเก็บข้อมูล ปรับเปลี่ยนกระบวนการและติดตั้งซอฟต์แวร์ให้เป็นเครื่องมื่อไว้ให้บุคลากรดูข้อมูล จัดคิวผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาเร็วกว่าที่เคย ลดความแออัดของสถานที่ และไม่ต้องกรอกเอกสารที่ไม่จำเป็นซ้ำไปซ้ำมา เพราะทุกอย่างถูกเก็บบันทึกและสรุปผลไว้ในระบบแล้ว

“เราสามารถนำข้อมูลบนระบบมาวิเคราะห์ เพื่อช่วยแพทย์พัฒนากระบวนการรักษา เช่น เขาจะเห็นว่าเส้นทางการรักษาของแต่ละคน แต่ละโรค เป็นอย่างไร ใช้เวลาเท่าไรบ้าง ตรงไหนเป็นจุดคอขวด ถ้ามีผู้ป่วยรอรับบริการหลายพันคน แต่มีแพทย์อยู่ไม่ถึงร้อย เขาจะจัดตารางเวรภายใต้เงื่อนไขที่มีอย่างไรดี ระบบนี้ช่วยให้เขาเห็นภาพ และสื่อสารระหว่างฝ่ายชัดเจนขึ้น

“มีเคสที่เราเคยเข้าไปช่วย Visualize ข้อมูลที่มีอยู่แล้วแพทย์ชอบมาก เขาบอกว่าแต่ก่อนไม่เคยเห็นภาพรวม Journey ของผู้ป่วยแบบนี้เลย เมื่อก่อนเห็นเป็นข้อมูลสองมิติ ตอนนี้เขาเห็นภาพรวมแบบ Bird-eye View และใช้ทำงานต่อได้ทันที” มิ่งและข้าวตูผลัดกันอธิบายกลไกการใช้งานของซอฟต์แวร์ ไม่เพียงแต่ช่วยจัดระเบียบการทำงาน แต่ยังทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เหมาะสมที่สุดภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ หรือเรียกว่า Optimization

คุยกับ 3 วิศวกรของผู้พัฒนาระบบบริหารห้องฉุกเฉิน-โรงพยาบาล ช่วยจัดสรรทรัพยากรและประหยัดเวลาคนนับแสนชั่วโมง

ส่วนอีกระบบหนึ่งคือ CORTEX ER (Emergency Room) หรือระบบบริหารจัดการแผนกฉุกเฉิน ฉายภาพให้บุคลากรเห็นภาพรวมสถานการณ์ของผู้ป่วยและทรัพยากรทั้งห้องฉุกเฉิน ช่วยประเมินอาการ จัดลำดับความเร่งด่วนในการรักษา (ระบบ Triage) ภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัด

“ทุกโรงพยาบาลมีทรัพยากรจำกัด ปกติแพทย์หรือพยาบาลจะต้องรีบประเมินเป็นระดับว่าใครควรได้รับการรักษาก่อนหลังอย่างรวดเร็ว แต่มนุษย์มีขีดจำกัด สิ่งที่ต้องระวังคือการคัดกรองที่ผิดพลาด เราจึงเข้าไปช่วยให้ข้อมูลอยู่บนระบบและประเมินอย่างแม่นยำ

“ระบบนี้ไม่ได้ตัดสินใจอะไรแทน แต่ใช้ข้อมูลจากแนวทางปฏิบัติและงานวิจัยมาใส่ในอัลกอริทึม เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดที่ช่วยเตือน เก็บรายละเอียด เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยขึ้น”

หากดูจากสถิติเมื่อ พ.ศ. 2559 ในไทยมีผู้เข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินกว่า 35 ล้านครั้ง โดย 60 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉิน สามารถรับการรักษาได้ตามปกติ การใช้งานระบบนี้จะช่วยให้การรักษาเข้าถึงคนที่ต้องการที่สุดอย่างทันท่วงที

เพราะเพียงเสี้ยวนาทีในห้องแห่งนี้ อาจเป็นจุดแบ่งระหว่างความเป็นและความตายของใครสักคน

03

People – Process – Technology

“ช่วงแรกคนไม่ค่อยเข้าใจเลยว่าเราเข้าไปทำอะไรในโรงพยาบาล” วิศวกรหญิงกล่าวถึงความท้าทายเมื่อก้าวเท้าเข้าไปในสถานที่ที่แวดล้อมด้วยบุคลากรทางการแพทย์

“หลายคนคิดว่าเราเป็นช่างไฟ ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ หรือพนักงานไอทีของโรงพยาบาล ให้ไปช่วยดูระบบอย่างอื่นแทน บุคลากรทางการแพทย์บางคนก็มีทัศนคติไม่ดีต่อเรา จากประสบการณ์ที่เขาเคยต้องยุ่งเกี่ยวกับคนทำงานด้านระบบที่ดูเหมือนไปวุ่นวายกับการทำงานของเขา”

ในมุมมมองผู้ปฏิบัติงาน การต้องปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานที่คุ้นชินมาโดยตลอดอาจเป็นเรื่องน่ารบกวนใจอยู่บ้าง แม้ว่าระบบใหม่นั้นจะช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้นในภายหลังก็ตาม

ส่วนเรื่องทางเทคนิคก็ยากไม่แพ้กัน

“โครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาลที่เราจะเข้าไปทำงานด้วยอาจไม่ได้ทันสมัยขนาดนั้น ในขณะที่ระบบเราค่อนข้างเป็นปัจจุบัน เพราะต้องทำให้เสถียรและไว้วางใจได้มากที่สุด แต่เขาอาจไม่เห็นความสำคัญว่าทำไมต้องลงทุนปรับเปลี่ยนมหาศาลในช่วงแรก แต่จริงๆ ควรทำนะ ไม่ใช่แค่เพื่อติดตั้งระบบของเรา แต่เพื่อการต่อยอดโรงพยาบาลในอนาคต

“ไม่อย่างนั้น จะเหมือนว่าเราอยากใช้ตู้เย็น แต่ที่บ้านไม่ได้เดินสายปลั๊กไฟให้ดีและปลอดภัยไว้รองรับ เวลาเกิดเหตุอะไรขึ้นมา จะเกิดปัญหาตามมาหลายอย่าง” มิ่งและข้าวตูเสริม

ภารกิจจะดำเนินต่อไปไม่ได้เลย ถ้าไม่ทำให้คนยอมลดกำแพงและพร้อมเปิดใจรับสิ่งใหม่

“เราเริ่มต้นด้วยความจริงใจ พยายามทำให้เขาเห็นภาพว่าผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นคืออะไร เพราะเขาคือผู้ใช้งานที่ต้องอยู่กับระบบแทบทุกวัน 

“เช่น ต่อไปกระบวนการจะสั้นลง แพทย์กับพยาบาลไม่ต้องทำบางขั้นตอนแล้ว มีเวลาไปอยู่กับผู้ป่วยหรือได้พักผ่อนมากขึ้น บางอย่างตอนแรกเขาอาจต้องลงแรงหน่อย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วย แต่มันจะไปสบายตรงส่วนอื่นแทน มองภาพรวมแล้วทั้งระบบดีขึ้น”

ประกอบกับที่แต่ละโรงพยาบาลมีลักษณะและวิธีการทำงานแตกต่างกัน ทีมจึงเข้าไปเก็บรายละเอียดให้ได้ลึกที่สุดด้วยความใส่ใจ พูดคุยตั้งแต่ผู้ป่วย เจ้าหน้าที่จากสหวิชาชีพ จนถึงผู้บริหาร เรียนรู้การทำงานทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อนำข้อมูลกลับมาปรับแต่งซอฟต์แวร์ให้เหมาะสมกับแต่ละโรงพยาบาล

คุยกับ 3 วิศวกรของผู้พัฒนาระบบบริหารห้องฉุกเฉิน-โรงพยาบาล ช่วยจัดสรรทรัพยากรและประหยัดเวลาคนนับแสนชั่วโมง
คุยกับ 3 วิศวกรของผู้พัฒนาระบบบริหารห้องฉุกเฉิน-โรงพยาบาล ช่วยจัดสรรทรัพยากรและประหยัดเวลาคนนับแสนชั่วโมง

เมื่อเห็นความใส่ใจและพลังที่เปี่ยมล้น คนก็อยากร่วมช่วยเหลือ

“ความเชื่อของ H LAB คือเราไม่ได้ขายซอฟต์แวร์เฉยๆ แล้วจบ แต่เราขายการแก้ปัญหา ดังนั้น ต้องช่วยปรับกระบวนการให้ดีด้วย เพื่อให้เขาใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์ได้เต็มที่ สุดท้ายแล้ว ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ People, Process และ Technology ต้องไปด้วยกัน” ข้าวตูสรุปหลักคิดสำคัญของบริษัท

ด้วยแนวคิดที่คำนึงถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างครอบคลุม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมาจึงน่าชื่นใจอย่างยิ่ง

“มีพยาบาลแผนกผู้ป่วยนอกมาบอกว่าหลังจากใช้งานระบบเรามาหนึ่งปี จากเดิมที่ยุ่งมากๆ จนหัวหมุน ต้องคอยจัดคิวคนไข้ ตอนนี้ทำงานสะดวก มีเวลาแนะนำคนไข้มากขึ้น พอมีหนึ่งวันที่โรงพยาบาลต้องปิดระบบชั่วคราว เขาบอกเลยว่าคิดถึงระบบของเรามาก” โต๊ะเล่าภาพความประทับใจ

“อีกเคสหนึ่งคือ ช่วงเก็บข้อมูล เราเคยไปสัมภาษณ์ลูกที่พาพ่อที่ป่วยเป็นมะเร็งมาตรวจที่โรงพยาบาล เขาบอกว่าถ้ามีระบบอย่างที่เราเล่าให้ฟัง ตอนนี้คงได้พาพ่อไปกินข้าวเดินเล่น แทนการนั่งรอคิวด้วยความกังวลอยู่แบบนี้ หลังจากที่เราติดตั้งระบบเรียบร้อย เราเจอเขาอีกครั้งหนึ่งและเขาขอบคุณเรา บอกว่ามันมีความหมายสำหรับเขามาก และยังช่วยให้คำแนะนำต่อด้วย

“เป็นความสัมพันธ์ที่ดีที่เกิดขึ้นทั้งกับโรงพยาบาลและผู้รับบริการ นี่คือความสุขของการทำงานนี้” ข้าวตูยิ้ม

04

ช่วยรับมือโควิด-19

ความสำคัญของแพลตฟอร์มแบบ H LAB ยิ่งเผยให้เห็นเด่นชัด เมื่อเกิดวิกฤตอย่างโควิด-19 ที่แพร่ระบาดจนเกินกำลังของห้องฉุกเฉินภายในโรงพยาบาล

แม้ไม่ใช่วัคซีนคุณภาพดีที่พึงมี แต่ระบบแบบ CORTEX พอจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยบริหารสถานการณ์ให้ไม่บานปลายไปมากกว่าที่เป็นอยู่

“จุดที่เราเข้าไปช่วยได้คือระบบสนับสนุน เช่น ในห้องฉุกเฉินที่ต้องขยายกำลังขึ้นสามถึงสี่เท่า แพทย์แทบไม่ได้พักกินข้าว คอลงานกับเราแบบใส่ชุด PPE อยู่ ทีมคุยกันเลยว่าเรามีกำลังคนเท่าไร ให้เหยียบคันเร่งสุดแรง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้บุคลากรใช้สื่อสารหากัน และมอนิเตอร์อาการของคนไข้ได้ง่ายขึ้น มีหนึ่งโรงพยาบาลที่เรากำลังจะเข้าไปติดตั้งซอฟต์แวร์ตามข้อกำหนดเดิม แต่พอสถานการณ์เปลี่ยน เรารีบปรับซอฟต์แวร์ให้รองรับการใช้งานที่มากขึ้นเลย เพราะตอนนี้ต้องช่วยกัน” โต๊ะและข้าวตูเล่าความเร่งด่วนของสถานการณ์

กระบวนการทำงานช่วงนี้ท้าทายขึ้น จากเดิมที่สามารถเข้าไปเก็บข้อมูลและจำลองการใช้งานระบบก่อนใช้งานจริงที่โรงพยาบาล ตอนนี้ ทีมต้องทำงานผ่านทางออนไลน์ สร้าง Virtual Hospital ขึ้นมา เพื่อจำลองสถานการณ์และอธิบายให้คนเห็นภาพ แต่ข้าวตูย้ำว่าความลำบากนี้เทียบไม่ได้เลยกับสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์กำลังเผชิญ

นอกจากจะคอยช่วยเหลือโรงพยาบาลที่เป็นลูกค้าอยู่แล้ว H LAB ยังได้ร่วมพัฒนาระบบการวางแผนทรัพยากร เช่น เตียง บุคลากร ให้เพียงพอกับผู้ป่วย โดยอาศัยโมเดลที่คาดการณ์ความต้องการล่วงหน้า แจกจ่ายให้โรงพยาบาลนำไปใช้งาน

รวมถึงให้คำปรึกษา สร้างโมเดลช่วยจำลองสถานการณ์ เมื่อมีหน่วยงานต้องการจัดตั้งจุดตรวจโควิด-19 จุดฉีดวัคซีนหรือโรงพยาบาลสนาม เพื่อจัดระบบการประเมิน คัดกรองอาการ ต่อคิวทางออนไลน์ และเข้ารับบริการ ด้วยความรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด

H LAB ธุรกิจพัฒนาระบบบริหารห้องฉุกเฉินและ รพ. ด้วยหลักวิศวกรรมและความเข้าใจมนุษย์
05

ทีมที่เติบโตไปพร้อมกัน

“เราเติบโตขึ้นในทุกปีพร้อมกับขนาดของบริษัท” ข้าวตูทบทวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นหลังจากเป็นผู้ประกอบการ

“เดิมเราเป็นวิศวกรที่ทำอะไรด้วยความอยาก คิดจะสร้างฟีเจอร์นู่นนี่ ไม่ค่อยคิดเลยว่าในตลาดเขาต้องการอะไร แทบไม่มีความเป็น Entrepreneur สักนิด ในช่วงแรกที่รายได้ไม่เยอะ เราแก้ปัญหาด้วยการให้เงินเดือนตัวเองน้อยๆ แต่พอคิดว่าถ้าอยากชวนคนเก่งๆ ที่ตั้งใจมาทำงานด้วยกัน เขาไม่ควรต้องมาลำบากแบบเรา ควรได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดี เราจึงคิดแผนธุรกิจจริงจังและโตขึ้นเรื่อยๆ

“พอทีมใหญ่ขึ้น มีคนหลากหลายวิชาชีพ อายุ คาแรกเตอร์ จากเดิมที่เราเป็น Introvert มาก ก็ต้องพยายามสื่อสารกับคนในทีมให้บ่อย ถ่ายทอดวิสัยทัศน์ที่อาจดูอีกยาวไกลมากจนนึกภาพตามได้ยาก ให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน บางทีก็ลองไปฝึกเล่าให้แม่ฟัง ดูว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการหรือไม่ได้ตามติดเทคโนโลยีขนาดนั้นคิดเห็นอย่างไร”

การรับบทผู้นำมักเป็นเรื่องท้าทาย แต่ในขณะเดียวกัน หากเราเปิดใจรับฟังคนรอบตัว เราจะได้เรียนรู้สิ่งสำคัญมากขึ้น

“ความท้าทายหนึ่งของผมคืออายุที่น้อย” มิ่งเล่า เขาต้องรับบทบาทสำคัญของบริษัทตั้งแต่เรียนจบ

“ตอนแรกผมพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาคนเดียวด้วยความรู้ที่พอมี พอเริ่มรับคนที่ความเชี่ยวชาญแตกต่างกันเข้ามามากขึ้น ก็ต้องศึกษากระบวนการทำงานต่างๆ ให้ทำงานด้วยกันได้ บางคนอายุเยอะกว่า เก่งในด้านหนึ่งมากกว่าผม สิ่งที่เราต้องทำคือเคารพความคิดของคนอื่น คุยกันด้วยเหตุผล แบ่งงานให้คนมีพื้นที่ได้แสดงในสิ่งที่ถนัด และได้รับผิดชอบงานที่สำคัญและเติบโตจากตรงนั้น โดยมีเราคอยซัพพอร์ตอยู่” 

“ส่วนผมต้องบริหารทีมที่มีความถนัดที่หลากหลาย” โต๊ะเสริม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สำเร็จต้องอาศัยทั้ง Developer, Designer ร่วมมือกันไปกับฝั่งธุรกิจและการตลาด ซึ่งแต่ละฝ่ายอาจมีวิธีมองปัญหาและแก้ไขต่างกัน

“แต่เราคุยกันเสมอว่า Product นี้ เราอยากทำเพื่อตอบโจทย์อะไร พอทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน เราจะพยายามหาโซลูชันมากกว่าโฟกัสว่าใครถูกหรือผิด มองในมุมของผู้ใช้งานจริงๆ ทำให้เราทำงานกันเป็นทีมได้อย่างลงตัว” 

คุยกับ 3 วิศวกรของผู้พัฒนาระบบบริหารห้องฉุกเฉิน-โรงพยาบาล ช่วยจัดสรรทรัพยากรและประหยัดเวลาคนนับแสนชั่วโมง
06

ความฝันระดับประเทศ

“เป้าหมายต่อไปของเราคือ การพัฒนาแพลตฟอร์มเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบ IT โรงพยาบาลที่สนับสนุน Ecosystem ของเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพด้านสุขภาพ (HealthTech) ให้เติบโตต่อไป” ข้าวตูเผยภาพฝันที่เธออยากพาบริษัทให้ไปถึง

หนึ่งในปัญหาใหญ่ของระบบสาธารณสุขประเทศไทยคือ ระบบข้อมูลของสถานพยาบาลแต่ละแห่งไม่สามารถเชื่อมต่อกัน เกิดจากการบันทึกข้อมูลลงบนกระดาษ หรือเก็บข้อมูลโดยไม่ได้ใช้มาตรฐานกลางเดียวกัน ต่อให้มีข้อมูลปริมาณมหาศาล แต่ก็เหมือนคุยคนละภาษา และระบบ IT ในโรงพยาบาลยังไม่ค่อยเปิดให้ซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชันและระบบ Internet of Things (IoT) ยุคใหม่เข้ามาเชื่อมต่อเพื่อร่วมมือพัฒนาไปด้วยกัน

ในขณะที่บางประเทศ ภาครัฐลงทุนอย่างจริงจังและกำหนดมาตรฐานกลางของระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ข้อมูลเชื่อมต่อถึงกันแบบเรียลไทม์ภายใต้กรอบที่กำหนด แพทย์ไม่ต้องเสียเวลาตรวจสอบข้อมูลจากสถานพยาบาลเดิมที่ผู้ป่วยเคยไปมาก่อน ดำเนินการต่อได้แม้ผู้ป่วยหมดสติ

ข้อมูลเหล่านี้ยังมีส่วนช่วยในการคิดค้นนวัตกรรม พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้วิเคราะห์ข้อมูลอย่างชาญฉลาด แม่นยำ ปลอดภัย รวดเร็ว เหมือนที่ H LAB กำลังพัฒนาระบบคาดการณ์อาการไม่พึงประสงค์ เช่น หัวใจวายเฉียบพลัน ของผู้ป่วยล่วงหน้าตั้งแต่เนิ่นๆ

ที่สำคัญ ใช้ประกอบการวางแผนการดำเนินงานทางสาธารณสุขของทั้งประเทศได้อีกด้วย (ปัจจุบันเรามีแพลตฟอร์ม Health Link ที่เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพแล้ว แต่ถือว่ายังอยู่ในขั้นต้นของการใช้งาน) 

H LAB ใฝ่ฝันที่จะเป็นส่วนหนี่งของการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนั้น

“เรามองถึงอนาคตของประเทศ เพราะเราไม่สามารถทำ Healthcare ให้ดีครบทุกด้านและโตคนเดียวอยู่แล้ว ระบบของเราจึงมีมาตรฐานข้อมูลที่ทำให้ทุกโรงพยาบาลที่ติดตั้งระบบนี้สามารถคุยกัน และเปิดให้ HealthTech อื่นๆ เข้ามาเชื่อมต่อเพื่อทำงานร่วมกันและต่อยอดไปได้ต่ออย่างยั่งยืน”

ช่วงนี้ สถานพยาบาลอาจกำวังวุ่นกับการรับมือสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่เมื่อคลี่คลายกลับสู่ปกติ การพัฒนาระบบการบริหารจัดการของสถานพยาบาลและระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ รองรับสำหรับอนาคต ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจนิ่งนอนใจได้อีกต่อไป 

เรายังมีช่องว่างที่รอคนเข้ามาร่วมสำรวจและแก้ไขปัญหาอีกมาก โดยเฉพาะในตลาด B2B หากใครมีทักษะและพร้อมเผชิญความท้าทาย วงการนี้กำลังต้องการศักยภาพคุณอยู่

“ระหว่างทางคงเจออุปสรรคเยอะมาก เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ บุ๋นและบู๊ เรียนรู้อะไรใหม่ทุกวัน ถ้าใครเข้ามาทำแล้ว อย่าลืมเหตุผลในวันแรกว่าเราทำไปทำไม อยากแก้ปัญหาให้ใคร

“สุดท้ายแล้ว ทุกการตัดสินใจของเราเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไข้ นั่นคือเหตุผลที่เราและทีม H LAB ตั้งใจทำให้ดีที่สุดเสมอ” 

คุยกับ 3 วิศวกรของผู้พัฒนาระบบบริหารห้องฉุกเฉิน-โรงพยาบาล ช่วยจัดสรรทรัพยากรและประหยัดเวลาคนนับแสนชั่วโมง

Lessons Learned

  • นอกจากโฟกัสผลิตภัณฑ์ ต้องเข้าใจผู้ใช้งานและผู้เกี่ยวข้องจริงๆ ว่าปัญหาคืออะไร เขาต้องการอะไร
  • ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์และสื่อสารให้คนที่แตกต่างหลากหลายเข้าใจ ถ้าอยากสร้างทีมให้ดี ต้องให้โอกาสคนแสดงความสามารถและคอยสนับสนุนเขาอยู่ข้างๆ
  • บางอย่างอาจต้องปรับตัวจากความเคยชินเดิม เช่น เมื่อก่อนต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์​ แต่ในการตัดสินใจบางอย่างทางธุรกิจ มีเรื่องจังหวะเวลาด้วย แม้ข้อมูลไม่พอ แต่ถึงเวลาตัดสินใจแล้วก็ต้องเดินหน้าต่อ
  • ไม่มีธุรกิจไหนเติบโตได้ด้วยตัวคนเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อให้ทั้งอุตสาหกรรมพัฒนาขึ้น

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

รัชต์ภาคย์ แสงมีสินสกุล

ช่างภาพที่มีร้านล้างฟิล์มเป็นของตัวเอง แต่นานๆจะถ่ายฟิล์มที เพราะช่วงนี้ฟิล์มมันแพง