หลังจากติดตามการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่บอกให้เราเตรียมหนาวมาสักพัก และแล้วก็ถึงช่วงเวลาที่ลมหนาวมาเยือน

ค่ะ ตราบใดที่เรายังมีความหวัง โลกนี้จะยังคงสวยงาม

ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ Virgin Umeshu หรือไอศครีมรสเหล้าบ๊วยที่จะเยียวยาคุณ

หลังจากแอบเป็นแฟนคลับแบรนด์ไอศครีมสุดคราฟต์อย่าง ‘Guss Damn Good’ มานาน เพราะเป็นตัวอย่างอันหาญกล้าของแบรนด์เกิดใหม่ ในวันที่คนบอกว่า ‘ไอศครีมราคาก้อนละ 85 บาทไม่มีท็อปปิ้งขายไม่ได้หรอก เพราะมันถ่ายรูปไม่ได้’

ใช่ เรายังไม่ทันจะได้ถ่ายรูปเลย ก็กินอร่อยจนหมดถ้วยไปแล้ว

หรือแม้แต่ทำหน้าไม่แน่ใจ เมื่อได้ยินว่าหนุ่มสาวดีกรีปริญญาโทจากบอสตันจะมาเปิดร้านไอศครีม เพียงเพื่อให้คนออกจากบ้านมานั่งแลกเปลี่ยนไอเดียธุรกิจ

และก็ใช่อีก ที่ก็เราเป็นหนึ่งคนที่ฝันถึงสถานที่แบบนั้น

The Cloud มีนัดกับ ระริน ธรรมวัฒนะ Chief Icecream Artist และ นที จรัสสุริยงค์ Chief Icecream Scientist สองผู้ตั้ง ในบ่ายวันหนึ่งที่ร้านสาขาเพลินจิต ตั้งใจจะพูดคุยเรื่องธุรกิจและการทำแบรนด์ไอศครีมที่ฉีกทุกกฎของการเป็นไอศครีม

ไม่ว่าจะเป็นหน้าตาและสีสันที่คล้ายกันทั้งตู้ ที่มาของรสชาติและชื่อที่ชวนสงสัย การไม่แปะป้ายบอกรสชาติไอศครีมเพราะอยากให้ลูกค้าได้ฟังและชิมรสชาติที่เขาอาจไม่เคยกินที่ไหน และการขายไอศครีมราคาก้อนละ 85 บาทโดยไม่มีท็อปปิ้งแม้เพียงนิดเดียว ไปจนถึงการทำร้านที่ไม่ได้เป็นไปตามภาพฝันแรกที่อยากเห็นร้านเป็นพื้นที่รวมพลคนทำธุรกิจสร้างสรรค์ แต่ใช้มันมากำหนดคาแรกเตอร์ของไอศครีมจน Guss Damn Good เป็นที่รักของคนทั้งผอง

นอกจากจะเป็นไอศครีมที่มีวิธีคิดที่เก๋แล้ว Guss Damn Good ยังเท่มากอีกด้วย เพราะไม่ได้อาศัยแค่ความกล้า แต่เต็มไปด้วยความตั้งใจ ประณีตในรายละเอียด ทั้งยังสนุกที่ได้ฉีกกรอบยอมออกจากรูปแบบเดิม และตรงไปตรงมาอย่างที่สุด

ครั้งหนึ่งมีคนเข้าใจว่าร้านต้นตำรับของไอศครีม Guss Damn Good อยู่ที่บอสตัน ถึงกับเดินหาแล้วถึงกับส่งข้อความถามทางหลังไมค์ เพราะหาร้านในบอสตันไม่เจอ

นั่นก็เพราะ Guss Damn Good เป็นร้านไอศครีมสัญชาติไทยแท้ และอยู่ที่ไทยนี่แหละ

และเพราะ Guss Damn Good เป็นไอศครีมที่ใช้ความรู้สึกในทุกกระบวนการผลิต จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเรายังรู้สึกถึงใครบางคนเสมอ คนที่เคยกินไอศครีมรสนั้นด้วยกัน

Guss Damn Good
Guss Damn Good
Guss Damn Good

(Ice) Cream–working Space

จุดเริ่มต้นของไอศครีม มาจากความฝันของระรินและนที ที่อยากมีร้านไอศครีมเพื่อเป็นพื้นที่กลางให้เหล่าผู้ประกอบการรุ่นใหม่และคนในสายงานฟรีแลนซ์ใช้พบปะและแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์

ฟังแล้วเป็นไอเดียที่ไม่เลว

แต่ช้าก่อน ‘ร้านไอศครีม’ กับ ‘พื้นที่กลางสำหรับคนทำงานสร้างสรรค์’ เกี่ยวข้องกันอย่างไร

“ที่บอสตัน ร้านไอศครีมเป็นที่ที่คนทุกเพศทุกวัยออกมาใช้เวลาร่วมกันจริงๆ ซึ่งแม้จะเป็นเมืองหนาวมีหิมะตกเกินครึ่งปี แต่ก็มีร้านไอศครีมเยอะมาก และเกือบทุกร้านมีคนเข้าแถวซื้อไอศครีมกันตั้งแต่เช้าจนดึกดื่น” สองนักเรียนไทยใน Babson College มหาวิทยาลัยที่เก่งกาจเรื่องการบ่มเพาะผู้ประกอบการสร้างสรรค์เล่าย้อนไปที่จุดเริ่มต้น

ระรินเล่าว่า สิ่งที่ทำให้ทั้งคู่หลงใหลไอศครีมคือ ความไม่มีกรอบ ซึ่งต่างจากเบเกอรี่หรือขนมชนิดอื่น จะจับอะไรมาใส่กับอะไรในไอศครีมก็ไม่ผิด ทั้งยังไม่มีพิธีตรีตรอง ไม่ต้องมีอุปกรณ์การกินให้มากความ จะคุยไปด้วยกินไปด้วยก็ทำได้

นอกจากสัมผัสไอศครีมเหนียวนุ่มน่าตื่นเต้น นทีเล่าว่า สิ่งทำให้คนบอสตันอยากออกจากบ้านมาร้านไอศครีมทุกวัน คือ บรรยากาศสนุกๆ เพลงที่เปิดเสียงดังๆ ซึ่งแม้พื้นที่ร้านจะไม่ใหญ่มาก แต่ทุกคนเชื่อมโยงและเข้าถึงกันด้วยโต๊ะกลางขนาดใหญ่ มีเก้าอี้ทรงสูงล้อมรอบให้เลือกนั่ง และไม่ว่าคุณจะยืนหรือนั่งทุกคนซึ่งอยู่ในระดับสายตาเดียวกัน จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความสนใจของตัวเองกันอย่างสนิทสนม

“ย้อนกลับไปวันนั้นเราเองก็ตอบไม่ได้ว่าอะไรคือจุดร่วมกันระหว่างไอศครีมและพื้นที่ Entrepreneur Hub เรารู้แค่ว่าเราชอบพลังแบบนี้ และอยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นที่บ้านเรา” สำหรับระรินและนที ไอศครีมเป็นตัวกลางเชื่อมพลังงานและมวลดีๆ ของชาวบอสตัน เมื่อเรียนจบกลับมาประเทศไทย ทั้งคู่ก็รีบเล่าไอเดียธุรกิจให้คนรอบตัวฟัง แต่ไม่มีใครซื้อไอเดียนี้เลย ทั้งยังสงสัยและตั้งคำถามว่า ในยุคที่ทุกคนชอบถ่ายรูปของกิน ไอศครีมที่ไม่มีท็อปปิ้งจะขายได้ยังไง

แต่เรื่องนี้ยังไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับการที่ทั้งสองคนเป็นนักเรียนปริญญาโทที่ไม่ได้เป็นเชฟหรือเคยเข้าครัวจริงจังมาก่อน

Guss Damn Good
Guss Damn Good
Guss Damn Good

ไอศครีมที่ใช้ความรู้สึก

ที่มาของชื่อ Guss Damn Good นั้น

ชื่อ Guss Ice Cream มาจาก Gut ของ Gut Feeling และ Cus ของ Focus

ส่วน Damn Good มาจากคำอุทานของเพื่อนรุ่นพี่หลังชิม Guss Ice Cream คำแรก

“เราเริ่มจากความคิดว่าผู้ประกอบการควรจะมีอะไร ก็พบว่าผู้ประกอบการที่ดีควรจะมี Gut Feeling นั่นคือ เราก็ดูตัวเลขกำไรขาดทุนอย่างดีนะ แต่สุดท้ายเราก็จะใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจ” ระรินอธิบาย ก่อนส่งไม้ต่อให้นทีเล่าหนึ่งตัวอย่างของการใช้ความรู้สึกตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ในธุรกิจว่า ตอนอยู่ที่บอสตันพวกเขาทำไอศครีมกันเองด้วยเครื่องทำไอศครีมขนาดเล็กที่ซื้อจากเว็บ Amazon

ต่อมา ในวันที่ตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจจริงจัง ทั้งสองคนก็คิดหาคนมาเป็นเชฟช่วยทำไอศครีม เพื่อที่ทั้งคู่จะได้รับหน้าที่ส่วนของการตลาดและสื่อสารแบรนด์ตามถนัด แต่เมื่อพบกับคนที่ตามหา พวกเขากลับคิดมากจนนอนไม่หลับ เพราะคิดเสียดายที่จะไม่ได้หยิบจับทดลองทำไอศครีมด้วยตัวเองอีกต่อไป จึงเปลี่ยนไม่จ้างเชฟแล้วขับรถไปซื้อเครื่องทำไอศครีมเครื่องใหญ่ด้วยกัน

ไอศครีมที่มีคาแรกเตอร์ Entrepreneur

แม้จะไม่ได้เป็นร้านไอศครีมที่มีพื้นที่กลางสำหรับผู้ประกอบการและฟรีแลนซ์อย่างที่ตั้งใจ แต่ทั้งระรินและนทีก็ไม่ลืมที่จะใส่จิตวิญญาณและความเชื่อ ‘อย่างผู้ประกอบการ’ ลงไปในการทำแบรนด์ Guss Damn Good

“ที่ผ่านมา เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยคนที่มีความฝันและมุ่งมั่นจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจจากสิ่งที่รักและชอบ ซึ่งมาจากทั่วทุกมุมโลก และเราก็ซึมซับพลังแบบนี้ตลอดเวลา ทุกคนที่เราเจอมีคาแรกเตอร์ 4 ข้อที่ชัดมากๆ ทุกคนสนุกสนาน บ้าบิ่น เปิดใจคุยกันตรงๆ มีเหตุผล และไม่ได้มีพิธีรีตรอง เราจึงคิดและทำให้ไอศครีมของเรามีคาแรกเตอร์แบบ ‘ผู้ประกอบการ’ ได้แก่ หนึ่ง มีความสนุก สอง ใส่ใจในรายละเอียด สาม ขบถ ฉีกกรอบนิดๆ และสี่ ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม” นทีเล่าถึงช่วงเวลาเมื่อครั้งอยู่ท่ามกลางแวดล้อมของคนรุ่นเดียวกัน

Guss Damn Good
Guss Damn Good

วิทยาศาสตร์การไอศครีม

“ความรู้เรื่องการทำไอศครีมทุกอย่างมาจากหนังสือ และไม่ใช่หนังสือ Homemade Bakery ที่มีรูปภาพสวยๆ ใครๆ ก็ทำตามได้ง่ายๆ ที่บ้าน แต่เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ที่เล่าเรื่องโมเลกุล เกล็ดน้ำแข็ง สูตรการหาจุดเยือกแข็งและจุดหลอมเหลว” ระรินรีบออกตัวเล่าที่มาของสูตรไอศครีม โดยรายชื่อหนังสือทุกเล่มมาจากการแนะนำของเชฟเจ้าของร้านไอศครีมร้านโปรดในบอสตัน

ก่อนจะเป็นหน้าที่ของนทีและลูกพี่ลูกน้องของเขา ช่วยกันคิดผูกสูตรผ่านโปรแกรม Excel โดยคำนวณส่วนผสมและองค์ประกอบทั้งหมดที่จะส่งผลต่อรสชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำ จุดเยือกแข็ง จุดหลอมเหลว ความหวาน ความมัน เพื่อหาสมดุลของสัดส่วนไขมันที่ส่งผลต่อเนื้อสัมผัสไอศครีมแบบบอสตันที่ทั้งเขาและระรินต้องการ

“อย่างเปอร์เซ็นต์ของน้ำส่งผลโดยตรงกับเนื้อไอศครีม ถ้ามากเกินไปก็จะกินแล้วเสียวฟัน ซึ่งไอศครีมที่ดีจะต้องกินแล้วไม่เสียวฟัน ทั้งหมดนี้เกิดจากการบาลานซ์สูตร ทำอย่างไรให้ออกมา Warm Eating แปลว่า แม้จะกินของแช่เย็นแต่ก็รู้สึกอบอุ่นในช่องปาก” ระรินเล่าเสริม

ถึงกระนั้น นทีก็ย้ำว่าสูตรคำนวณของเขาไม่ได้ถูกต้องที่สุดเสมอไป แต่เป็นเพียงการตั้งต้นทดลองทำรสชาติ เพราะสุดท้ายแล้วพวกเขาให้ความสำคัญกับความรู้สึกอร่อยมากกว่า ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ตระเวณชิมไอศครีมทั่วบอสตันและรัฐแมสซาชูเซตส์ จนรู้ว่าเนื้อสัมผัสแบบไหนที่ชอบและใช่

แน่นอน ไอศครีมเนื้อสัมผัสแบบบอสตันแท้ๆ จะต้องเนื้อเนียน นุ่ม เหนียว แต่ไม่หนักเกินไป

Story to Flavor

ขณะที่เรากำลังคิดถึงอากาศเย็นๆ ที่มาปีละวันสองวัน

คนบอสตันกินไอศครีมเพียงเพราะได้คิดถึงช่วงเวลาแสนหวานของหน้าร้อน

ระรินและนทีตั้งโจทย์ต่อว่า นอกจากบรรยากาศร้อนและหนาวไอศครีมทำให้คิดถึงช่วงเวลาหรือเหตุการณ์อื่นใดในชีวิตได้อีกบ้าง จึงเป็นที่มาของไอศครีมที่มีความรู้สึก ซึ่งกว่าจะออกมาเป็นรสชาติ 1 รสชาติ มีวิธีคิดที่เป็นเหตุเป็นผลกันอยู่ในกระบวนระหว่างนั้น

Don’t Give Up #18, Why Can’t Coffee Be White?, Tokyo Mist, Sweet Caroline และ Maine Rocky Coast คือชื่อรสชาติไอศครีมบางส่วน

“เราไม่ได้ตั้งชื่อประหลาดเพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่มันคือแก่นของการคิดรสชาติของเรา Guss Damn Good อาจจะไม่มีรสชาติที่คนถามหาเพราะเราฉีกกฎนั้นทิ้งไป แต่เรามีรสชาติที่คิดว่าคนน่าจะชอบ เราก็ไม่รู้หรอกว่าคนอื่นจะทำแบบนี้ไหม เราแค่อยากให้ไอศครีมเป็นมากกว่าขนมหวาน ถ้าเราอยากไอศครีมที่ทำให้คนกินคิดถึงบางสิ่งบางอย่าง เราก็ควรเริ่มด้วยเหตุการณ์ บรรยากาศอะไรดีๆ” ระริน ผู้รับบทนักออกแบบรสชาติเล่า

เหตุการณ์หรือกิจกรรมอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ที่ระริน นที และผองเพื่อนยังจำมันได้ดี ก่อนจะคิดต่อว่ารสชาติน่าจะเป็นอะไรจากวัตถุดิบและส่วนผสมแบบไหน แล้วจึงทดลองสลับกับชิมรสชาติไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบความรู้สึกนั้น แล้วจึงตั้งชื่อรสชาติไอศครีมออกมา

“จริงๆ เป็นรสชาติที่คนทั่วไปกินได้และน่าจะชอบ เพราะเราไม่ได้ทำรสแปลกประหลาดอย่างเบคอน สปาเกตตี้ หรือรสชาติที่เข้าใจยากขนาดนั้น เราสองคนมีความเชื่อว่าไม่ว่าเราจะทำรสชาติจากเรื่องราว หรือใช้สูตรคำนวณซับซ้อนขนาดไหน เราก็อยากทำให้ Guss เป็นไอศครีมที่อร่อย” นทีเสริม

Guss Damn Good
Guss Damn Good
Guss Damn Good

GUESS Damn Good

นอกจากจะไม่มีท็อปปิ้งแบบร้านไอศครีมที่กำลังเป็นที่นิยม ไอศครีมของ Guss Damn Good ซึ่งมีสีสันและหน้าตาเกือบเหมือนกันทั้งตู้ ยังไม่มีป้ายบอกชื่อรสชาติอีกด้วย

“ช่วงแรกที่ออกร้านขายตามงาน Flea Market เรารู้อยู่แล้วว่าจะต้องเจอปัญหาที่หน้างาน เพราะเราใช้เวลาอธิบายต่อคนนานมาก เพราะเราอยากให้เขาได้ชิมทุกรสจริงๆ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมแถวไอศครีมของเราจึงยาว” นทีเล่า ก่อนจะอธิบายเหตุผลของวิธีคิดนี้ว่า แม้จะเหนื่อยเล่าเรื่องราวของไอศครีมในช่วงแรก แต่กลับเป็นข้อดีของแบรนด์ เพราะทำให้ลูกค้าไม่ตัดสินใจเลือกไอศครีมจากสิ่งที่เขามองเห็น

“ถ้าเราปักป้ายว่ารสนี้คือนม คนก็สั่งรสนม 1 ลูก โดยที่เราไม่มีโอกาสคุยอะไรกับเขา แต่เมื่อเราไม่ได้ให้ตัวเลือก และเขาต้องถามเราเท่านั้นถึงจะรู้ว่าไอศครีมแต่ละรสคืออะไร มีหลายคนเลยที่ทั้งชีวิตไม่เคยชอบกินคาราเมลมาก่อนเพราะจำได้แต่รสหวานเลี่ยน ซึ่งถ้าเราปักคำว่า Burn Caramel ลงไป เขาก็จะไม่กล้าสั่ง จนเมื่อเราบอกว่าคาราเมลที่เรากวนเองมันอร่อยยังไง ขมมากแค่ไหน ก็เปลี่ยนใจทำให้เขาชอบคาราเมล ที่สำคัญ ทำให้ทั้งเราและเขารู้จักกันมากขึ้น อย่างน้อยก็ทำให้เขาจดจำเราได้” นทีและระรินช่วยกันเล่าถึงการเปลี่ยนมุมมองความเสี่ยงให้กลายเป็นโอกาสในที่สุด

Craft and Ice Cream

“เราสองคนไม่ใช่เชฟ เราไม่อายที่จะบอกว่าเราทั้งสองคนมีความรู้เรื่องไอศครีมน้อยมากในวันที่เริ่มต้น นั่นทำให้เรายิ่งสนุกกับการลองผิดลองถูก โดยที่ไม่รู้สึกว่าผิดกฎเกณฑ์สิ่งที่เรียนมา เพราะเราไม่เคยเรียน เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจับอะไรมาเจอกันแล้วจะให้รสชาติที่ดีหรือแย่ยังไง นั่นทำให้เราเจอรส Why Can’t Coffee Be White? เราอยากทำไอศครีมรสกาแฟ แต่ทำอย่างไรสีของกาแฟก็ไม่ออก แต่กลิ่น รสชาติ และคาเฟอีน มาเต็มแล้ว” ช่างเป็นเรื่องบังเอิญที่น่ารัก

หรืออย่างรส Virgin Umeshu ไอศครีมรสเหล้าบ๊วยที่ไม่ส่วนผสมของแอกอฮอล์เลย ยิ่งทำให้คนที่ชอบกินเหล้าบ๊วยหรือไม่เคยกินเหล้าบ๊วยมาก่อนก็ชอบไอศครีมรสนี้เหมือนกัน และสำหรับรสยอดฮิตอย่าง Bonfire ที่นทีอยากให้มีมาตั้งนานแล้วแต่ระรินไม่ยอมทำเพราะกลัวขายไม่ได้ แต่สุดท้ายกลับเป็นรสชาติอันดับหนึ่งในใจของแฟนๆ รวมถึงเราด้วย

สิ่งที่น่าสนใจและทำให้ Guss Damn Good แตกต่าง คือวิธีคิดออกแบบรสชาติไอศครีมที่สร้างและได้แรงบันดาลจากเรื่องราวของผู้คน เช่น รส Make a Toast ของคู่แต่งงานใหม่ ที่ทั้งบ่าวสาวชอบปาร์ตี้เพราะบรรยากาศการเฉลิมฉลอง จึงออกมาเป็นไอศครีมรสสตรอว์เบอร์รี่แชมเปญ หรือรส Sing Along ของคู่รักที่มอบเป็นของขวัญแทนคำขอบคุณ จากส่วนผสมของรสชาตินมที่ภรรยาชอบ แล้วใส่เกล็ดช็อกโกแลตของโปรดของลูกสาวลงไป ให้ความรู้สึกย้อนกลับไปยังวัยเด็ก

ระรินบอกว่า ไอศครีมของ Guss Damn Good ไม่จำกัดว่าจะต้องทำจากความรู้สึกดีๆ เท่านั้น ในอนาคตเธออยากจะลองทำรส Heart Broken ขมๆ หน่อย

ฟังแล้วอยากลองชิมมันซะเดี๋ยวนี้เลย

Guss Damn Good
Guss Damn Good

Guss Damn Good x BRAND

ไม่เพียงแปลงเรื่องราวส่วนบุคคลออกมาเป็นรสชาติ

Guss Damn Good ยังเก่งกาจเรื่อง Collaboration คิดรสชาติตอบโจทย์แบรนด์ทั้งเล็กและใหญ่อย่างประณีต และแบรนด์แรกที่ Guss Damn Good ทำงานด้วย ก็คือ wet & wild

“wet & wild เป็นแบรนด์เครื่องสำอางจากอเมริกา เขามีสีลิปสติกที่ทุกคนใช้แล้วสวย ที่สำคัญ ทุกคนเอื้อมถึงได้เพราะราคาไม่แพง เราก็ตีโจทย์ว่าแบรนด์นี้มาจากอเมริกา เราไม่อยากได้อะไรหรูหรา ส่วนผสมจะเป็นของที่มีในตู้เย็นบ้านคนอเมริกัน เช่น ครีมชีส และเชอร์รี่ เนื่องจากแคลิฟอร์เนียร์แหล่งกำเนิดแบรนด์นั้นมีเชอร์รี่เป็นของขึ้นชื่อ ก่อนจะออกมาเป็นรส Cream Cheese Cherry เป็นไอศครีมสีขาวที่กินไปเรื่อยๆ จะเจอซอสสีแดงเหมือนลิปสติก” เราได้แต่กลืนน้ำลายตามสิ่งที่ระรินเล่า

ในการทำงาน Collaboration หลังจากรับบรีฟจากแบรนด์ ระรินและนทีจะกลับไปทำการบ้านเพื่อกลับมาเสนอ 3 รสชาติที่เป็นไปได้ สอดคล้องกับเรื่องราวที่เป็นโจทย์ พร้อมเล่าถึงส่วนผสมของไอศครีมและเหตุผลที่ใช้ ก่อนจะตัดสินใจเลือกเพียง 2 รสชาติเพื่อทำของจริงกลับมาให้ชิมในการนัดหมายครั้งต่อไป

I feel good, I knew that I would, now

เราขอให้ระรินเล่าตัวอย่างการออกแบบรสชาติร่วมกับแบรนด์ให้ฟังเพิ่มเติมอีก เพราะเห็นว่ากระบวนการคิดสนุกและมีเอกลักษณ์ที่ยากจะลอกเลียนแบบ

“โจทย์จาก TEDxChulalongkornU พูดถึงการเดินหน้าต่อ ต่อยอดจากงานปีก่อนที่พูดเรื่องการเริ่มต้น เราก็คิดถึง Road Trip ทุกครั้งที่ขับรถเดินทางไปจุดหมายต่อไป เรารู้ว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปตลอดเวลา แต่เราไม่รู้หรอกว่าเราจะเจออะไรข้างหน้า อาจจะฝนตก พายุ หรือรถเสีย เราจะเจอบททดสอบระหว่างทางมากมาย เราจึงอยากให้ไอศครีมมีครบทั้งสามความรู้สึก หอมหวาน สนุกสนาน แต่ก็ตื่นเต้น มีเปรี้ยวๆ นิดหนึ่ง ตามด้วยอุปสรรคที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ออกมาเป็นไอศครีมรสบลูเบอร์รี่หอมหวาน ซึ่งเกิดจากการกวนซอสบลูเบอร์รี่ให้เปรี้ยว ตามด้วยใส่โรสแมรี่ลงไปในไอศครีมให้รสออกฉุนๆ หน่วงนิดๆ แทนอุปสรรคที่เราจะเจอ”

ฟังแค่นี้ก็รู้สึกว่าเราต้องรีบหา Road Trip มาชิมบ้างแล้ว ยังไม่นับไอศครีมรส Chubby Camper ให้อารมณ์ช็อกโกแลตเลอะหน้าเด็กอ้วนที่ไปแคมปิ้งกับพ่อแม่ ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกับ Escape Hotel ที่เขาใหญ่ และไอศครีมรส Suntan ไอศกรีมรสชาดำกลิ่นพีช ให้อารมณ์นอนจิบชาอาบแดดอยู่ที่หัวหิน ที่ทำร่วมกับ Escape Hotel ที่หัวหิน

So good, so good, I GUSS you

ขณะที่ตัวอย่างการทำงานร่วมกับแบรนด์ใหญ่ทั้งไทยและเทศ เช่น DTAC ที่มีโจทย์อยากได้ไอศครีมสำหรับหน้าร้อนเพื่อแก้อาการหัวร้อน

“ตอนแรกเราตีความลึกเกินไป มัวแต่คิดถึงส่วนผสมที่มีผลต่อสุขภาพทำให้ร่างกายหลั่งสารมีประโยชน์สร้างความสุข ก่อนจะกลับมาคิดถึงวิธีหาความสุขอย่างการกินไอศครีมรสชาติอร่อยที่คุ้นเคย จึงออกมาเป็นไอศครีมรส Summer Smile ไอศครีมวานิลลาที่ใส่ Salted Vanilla Speculoos หรือแฮปปี้คุ้กกี้ ตามด้วยอัญชัน และชินนาม่อนจางๆ อร่อยมาก ขายดีสุดๆ ซึ่งตอนนี้ไม่มีขายแล้วเพราะเราได้ใช้คุ้กกี้ Speculoos หมดประเทศแล้วตั้งแต่รู้ว่าตัวแทนจำหน่ายจะไม่นำเข้าคุ้กกี้นี้อีกต่อไป”

หรือตัวอย่างของแบรนด์รองเท้าชื่อดัง แรงบันดาลใจของรสโปรดของใครหลายคน

“มีครั้งหนึ่งที่รส TOMS มีปัญหา เป็นช่วงที่พายุไซโคลนถล่มมาดากัสการ์ ทำให้วานิลลาขาดแคลน ราคาจึงขึ้นสูงกว่าปกติ 8 เท่า เราก็ลองใช้วานิลลาพันธุ์อื่นแล้วแต่รสชาติไม่เหมือนเดิม เราจึงสื่อสารกับลูกค้าด้วยการเขียนบอกว่า เราขอโทษที่เราต้องดื้อใช้วานิลลาพันธุ์ที่เราเคยใช้เท่านั้น ทำให้เราต้องขอขึ้นราคา 10 บาท ปรากฏว่าขายดีขึ้นมาก มีคนส่งข้อความหลังไมค์มาขอบคุณและชื่นชมว่าที่เราทำนั้นดีแล้ว” ระรินยิ้มรับ

Guss Damn Good
Guss Damn Good

If I ain’t GUSS you

“มีหลายครั้งมากที่คนไม่เชื่อว่า Guss Damn Good เป็นไอศครีมของคนไทย มีคนส่งข้อความมาถามในเพจว่าไปบอสตันแล้วหาร้าน Guss Damn Good ไม่เจอ” นทีเล่าติดตลก

ปัจจุบัน Guss Damn Good มีหน้าร้านทั้งหมด 6 สาขา ได้แก่ ศาลาแดง เพลินจิต เซ็นทรัลเวิลด์ Eight ทองหล่อ The Commons และ เมกา บางนา นอกจากมีหน้าร้านแล้วยังมีบริการออกร้านนอกสถานที่ ส่งไอศครีมถึงบ้าน และออกแบบรสชาติไอศครีมร่วมกับแบรนด์ต่างๆ

“ในการบริหารจัดการ เรากังวลเรื่องการขนส่งไอศครีมมากที่สุด พวกเรากลัวไอศครีมละลาย เวลาที่ลูกค้าสั่งให้ไปส่งไอศครีมเราจะถามกลับไปเสมอว่าเขาจะกินจริงกี่โมง เช่น ถ้าสั่งให้ไปส่งบ่าย 2 แต่ลูกค้าตั้งใจออกจากออฟฟิศตอน 1 ทุ่ม เราจะขอส่งไอศครีมไปที่บ้านแทนได้หรือเปล่า

“ช่วงแรกของ Guss Damn Good สนุกเพราะสิ่งที่ทำนั้นยากและท้าทาย การคิดสูตร เปิดร้าน มีปัญหาให้เราแก้ไขทุกวัน เวลาไปออกอีเวนต์สักครั้งถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ต้องเตรียมอะไรเยอะแยะมากมาย แต่ถึงจะเหนื่อยก็สนุก ซึ่งพอเริ่มโต ปัญหาก็เปลี่ยนไป มีงานที่เราไม่อยากทำแต่เราต้องทำเพื่อให้ธุรกิจเติบโต เราทำแต่งานที่เราชอบไม่ได้ เราต้องทำงานส่วนที่เราไม่ชอบด้วยเพื่อผลักสิ่งที่ชอบให้ไปข้างหน้า” ระรินเล่าความตั้งใจจริงที่อยู่ระหว่างทาง

“ในการทำงานวันแรกสนุกยังไง วันนี้ก็ยังสนุกอย่างนั้น สำคัญคือ พาร์ตเนอร์ที่ทำงานร่วมกัน จากวันที่เริ่มต้นเพียง 2 คน วันนี้เรามีพาร์ตเนอร์เข้ามาช่วยอีก 3 คน (สวิตา นาคะชัย Director of Fun ทัตพงศ์ วุฒิหิรัญปรีดา People / Sales / Store และ พัฒจิรา สีมานนทปริญญา People / Scoop / Store) เราทำงานร่วมกันใต้ความความเชื่อใจและการเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อก่อนความสุขของผมคือการแอบมองเห็นลูกค้าเผลอยิ้มอย่างลืมตัวในคำแรกที่กิน ก่อนที่เขาจะกลับมา Act Cool เป็นเหมือนรางวัลเล็กๆ จากการทำงาน แต่ในวันนี้ที่สิ่งที่เราทำเติบโตขึ้น ความสุขของเราก็เปลี่ยนไป ความสุขของเราคือการเห็นคนที่ทำงานกับเรามีความสุข” นทีเล่า เป็นจังหวะเดียวกับที่เราแอบเห็นใบหน้าเผลอยิ้มของเขา

Inspired by people story, inspired by ‘Guss Damn Good’

เราลองใช้นิ้วนับจำนวนรสชาติของไอศครีมจากชื่อที่ได้ยินตลอดบทสนทนา ก่อนจะรวบรวมความกล้าถามความถี่ของการออกรสชาติใหม่ๆ ซึ่งทั้งระรินและนทีหัวเราะแทนคำตอบ ว่าพวกเขาเองก็ไม่รู้ว่าคำตอบที่ถูกต้อง เนื่องจากที่ผ่านมารสชาติทั้งหมดเกิดขึ้นจากความบังเอิญ ความรู้สึกอยากรู้ อยากลองทำ และเรื่องราวระหว่างทางที่พบเจอ เช่น ไม่นานมานี้ Guss Damn Good ออกไอศครีมรสชาติพิเศษ ได้แก่ รสชาจากไต้หวัน ในจำนวนจำกัด และแน่นอนว่าหมดลงในเวลารวดเร็ว

นทีเล่าว่า ทุกครั้งที่คนในทีมออกเดินทาง เขาจะให้โจทย์ว่าอยากจะหิ้วของฝากอะไรกลับมาให้เพื่อนกินมากที่สุด เช่นกันกับระรินที่เพิ่งไปเที่ยวงาน Food Fair ก่อนจะลงมือทำชุดไอศครีม จากชาจากไต้หวัน 5 ถ้วย ทั้งยังแนะนำให้กินเรียงตามลำดับ ซึ่งเธอถึงขั้นคุยตรงกับเจ้าของไร่

นทีและระรินบอกว่า พวกเขาเป็นร้านไอศกรีมที่ไม่มีนโยบายลดราคา และทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เช่น กิจกรรมแลกไอศครีมกับของขวัญในวันครบรอบวันเกิดร้านที่ผ่านมา หรือกิจกรรมให้ทายรสชาติแลกรับไอศครีมฟรี เป็นต้น

แต่เรากลับพบว่ากระแสตอบรับนั้นสวนทาง ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะแฟนคลับ Guss Damn Good ที่เหนียวแน่นไม่แพ้เนื้อไอศครีมที่เหนียวนุ่ม

ทั้งหมดนี้เกิดจากการคิดแล้วทำเลย ซึ่งแม้จะทำให้ชาว Guss เหนื่อยไปบ้าง แต่นทีก็ย้ำว่า บางไอเดียหากคิดนานเกินไป สุดท้ายเราจะเจอแต่เหตุผลที่ทำให้สิ่งที่ตั้งใจไม่เกิดขึ้น

เราจบบทสนทนาด้วยการปล่อยให้ระรินและนทีคุยกันถึงรสชาติใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายบอสตัน เพื่อที่จะไม่สปอยล์คุณก่อน

เอาล่ะ จงวิ่งไปร้าน Guss Damn Good สาขาที่ใกล้คุณมากที่สุด

Guss Damn Good

ขอบคุณสถานที่:   ร้าน Bar Storia สาขาเพลินจิต

The Rules

นที จรัสสุริยงค์ – Co-founder, Chief Icecream Scientist 
  1. เคารพและเชื่อใจเป็น 2 ข้อที่สำคัญในการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์
  2. แพสชันอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความอดทนด้วย เพื่อที่รับมือกับงานที่ชอบและงานที่ไม่ชอบ
  3. รักษาตัวตนหรือคำมั่นสัญญาที่แบรนด์มีต่อลูกค้า นั่นคือ เราจะไม่ทำในสิ่งที่ทำให้รู้สึกผิดกับ Guss Damn Good

 

ระริน ธรรมวัฒนะ – Co-founder, Chief Icecream Artist
  1. หมั่นหาความรู้เพิ่มเติม
  2. คิดถึงเรื่องการรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบตัวก่อนงานเสมอ
  3. ทำทุกอย่างอย่างตั้งใจ เพื่อจะมั่นใจและภูมิใจกับสิ่งที่ทำ

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan