ปัญหาในที่ทำงานเป็นสิ่งที่อยู่คู่มนุษย์ออฟฟิศทั่วโลก ไม่ว่าองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ต้องพบเจออุปสรรคในการทำงานทั้งนั้น ไม่ว่าจะความเห็นต่างทางความคิด บ้างหัวหน้าก็สั่งงานไม่รู้เรื่อง บรีฟงานไม่เข้าใจ หรือลูกน้องทำงานออกมาไม่ได้ตามต้องการ ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานด้วยกันเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีผลต่อการพัฒนาองค์กรให้ประสบความเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ในปัจจุบันจึงมีสถาบันฝึกอบรมบุคลากรเกิดขึ้นกันเป็นดอกเห็ด มีรูปแบบและวิธีการสอนแตกต่างกันไป แน่นอนว่าการอบรมย่อมส่งผลดีมากกว่าผลเสียต่อองค์กร แต่ในมุมของเหล่าพนักงาน สิ่งนี้เปรียบเป็นเหมือนยาขม เพราะแม้จะดีตรงที่ไม่ต้องทำงานในวันนั้น แต่การนั่งแช่ฟังคอนเทนต์วิชาการจากวิทยากรก็ดูจะน่าเบื่อหน่าย จนหลายคนคิดว่าปล่อยให้ฉันกลับไปทำงานดีกว่า

บรรดาสถาบันฯ ต่างก็ต้องงัดกลเม็ดเด็ดพรายมาใช้เพื่อสะกดให้ผู้รับการอบรมได้รับเนื้อหาความรู้ต่าง ๆ ที่นำมามอบให้ ฝ่าย HR ก็ต้องเข็นพนักงานให้เข้าฟัง ส่วนพนักงานนั้นก็กลายเป็นว่าจำเป็นต้องเข้าร่วมแบบพอเป็นพิธี เช็กชื่อพอเป็นพิธี และส่งการบ้านอย่างพอเป็นพิธี เพราะความรู้ก็เป็นความรู้วันยันค่ำ ไม่ได้สนุกสนานน่าฟังเหมือนสื่อเอนเตอร์เทนเมนต์

“ปัญหาหรือข้อจำกัดหนึ่ง คือคอนเทนต์ความรู้มันไม่สนุก น่าเบื่อ เป็นกำแพงหนึ่งที่ทำให้คนที่เป็นนักเรียนรู้มือใหม่เข้าไม่ถึงความรู้ สมมติว่ามีคนร้อยคนต้องขึ้นไปเรียน แต่เราพบว่าอัตราการขึ้นไปเรียนต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่าคนร้อยคนเรียนไม่ถึง 20 คน ไปเรียนน้อยมาก จนองค์กรต้องให้รีวอร์ดต่าง ๆ เพื่อให้ขึ้นไปเรียน” อาจารย์บี-เภสัชกร คงเกียรติ ฉัตรหิรัญทรัพย์ CEO ของสถาบันฝึกอบรมบุคลากร Beyond Training บอกเล่าภาพปัญหาบางส่วนที่ได้พบเจอมา

สำหรับคนทำงานและบริษัทใหญ่หลาย ๆ แห่งในประเทศแล้ว น่าจะรู้จักหรือได้ยินชื่อของสถาบันฝึกอบรมบุคลากรแห่งนี้กันมาบ้าง แต่ชื่อของ Beyond Training อาจไม่คุ้นหูสำหรับคนนอกวงการ ว่าแล้วมาทำความรู้จักกับสถาบันฝึกอบรมบุคลากรที่กำลังปรับเปลี่ยนวิธีการอบรมอันแสนจำเจ ไปสู่ความเป็นสื่อบันเทิงที่ได้ทั้งสาระและความสนุกพร้อม ๆ กัน 

ซิตคอมพัฒนาทักษะบุคลากรรูปแบบใหม่ที่ได้ทั้งสาระและความบันเทิง

Beyond Training

“เรามีจุดประสงค์หรือแพสชันในการเปิดบริษัท คือเปลี่ยนประเทศด้วยปัญญา เพราะเรามีความเชื่อว่าคนไทยมีศักยภาพ แต่อาจต้องใช้เวลาดึงศักยภาพที่แท้จริงนี้ออกมา เราอยากเป็นตรงกลางที่ผลิตสื่อความรู้ดี ๆ ส่งมอบให้กับคนไทย ให้เขาปรับ Mindset ได้ทักษะใหม่ ๆ พัฒนาตนเองเพื่อขึ้นเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง และหาเงินหาทองดูแลตัวเองได้ ดูแลคนในครอบครัว” 

อาจารย์บีเล่าถึงที่มาที่ไปของสถาบันฝึกอบรม Beyond Training ซึ่งเริ่มต้นจากการรับทำอีเวนต์สัมมนาที่มีเข้าร่วมตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น รวม ๆ แล้ว ใน 3 ปีแรก สถาบันมีประสบการณ์จัดอบรมไปแล้วมากกว่า 20,000 คน 

ก่อนที่ต่อมาจะหันมารุกตลาดอบรมบุคลากรทุกระดับชั้น ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ เมเนเจอร์ ไปจนถึงผู้บริหารตามองค์กรอย่างเต็มตัว ด้วยการมอบวิชาที่เป็น Soft Skill เช่น วิชาการสื่อสาร การพรีเซนต์ ภาวะผู้นำ และนวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยพัฒนาให้การทำงานมีประสิทธิผลมากขึ้น

เมื่อกระแสโลกเข้ามาสู่ยุคดิจิทัล พฤติกรรมการทำงานของผู้คนเริ่มเปลี่ยนไป การพัฒนาตัวเองเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้ทันโลก จนกลายเป็นเทรนด์ในหมู่พนักงานออฟฟิศรุ่นใหม่ และพร้อมกับความจำเป็นต้อง Work form Home ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ฝ่ายบุคคลหลาย ๆ บริษัทจึงเริ่มสรรหาคอร์สออนไลน์ต่าง ๆ มาเพื่อใช้พัฒนาพนักงาน เช่นเดียวกับ Beyond Training ที่ขยับตัวอีกครั้ง ด้วยแพลตฟอร์มการเรียนการสอนที่พัฒนาบุคคลากรผ่านระบบออนไลน์ในชื่อ Beyond Training Plus

การจัดอบรมในรูปแบบออนไลน์อาจไม่ใช่สิ่งใหม่ หรือเกิดขึ้นที่ Beyond Training เป็นครั้งแรก เพราะระยะหลังมานี้ บริษัทฝึกอบรมต่างก็หันมาใช้วิธีนี้ในเป็นจุดขาย เพื่อปรับตัวให้เข้ากับวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ในยุค New Normal กันทั้งนั้น

ทว่าในมุมของพนักงาน การเรียนรู้ลักษณะนี้ก็อาจยังไม่ค่อยตอบโจทย์เท่าใดนัก ไหนจะงานที่ต้องรับผิดชอบ ไหนจะต้องเปิดดูคลิปออนไลน์เพื่อเก็บประวัติ หรือหากจะเรียนวันหยุดก็ต้องเสียวันพักผ่อนเสาร์-อาทิตย์ ที่แทบไม่พอให้พักได้หายเหนื่อยจากการทำงาน 

“เราก็เห็นปัญหานี้ เลยคุยกันว่าทำยังไงให้คอนเทนต์สนุก เหมือนอาหารอร่อย คนก็วิ่งมากินเอง แต่ถ้าคอนเทนต์แข็ง ๆ แห้ง ๆ น่าเบื่อ มันเหมือนกับเอาผักยัดใส่ปากเด็ก บอกกินสิมันมีวิตามิน แต่เด็กบอกเห็นผักก็ไม่อยากกินแล้ว สิ่งที่เราทำก็คือเอาผักเนี่ยแหละมาชุบแป้งทอด ข้างในก็จะอุดมไปด้วยวิตามิน ก็คือความรู้เหมือนเดิม แต่พอชุบแป้งทอดก็กินง่ายขึ้น หรืออย่างผลไม้นี้ดีมีไฟเบอร์สูง แต่เด็กก็ไม่ชอบ เราก็เอามาเคลือบช็อกโกแลตเป็นฟองดูว์ ก็ดูหอมหวานกินง่ายมากขึ้น หมายความว่าเราเอาความรู้ที่เป็นทักษะต่าง ๆ ที่คนทำงานยุคใหม่จำเป็นต้องเรียนรู้ มาเคลือบหรือฉาบด้วยความสนุก”

จึงออกมาเป็นโปรเจกต์ที่ชื่อ GURU GU(ไม่)RU สื่อพัฒนาศักยภาพบุคลาการแนวใหม่ที่ได้ G-village Co-Creation Hub โปรดักชันเฮาส์ชื่อดังที่ฝากผลงานภาพยนตร์ โฆษณา และซีรีส์มาอย่างโชกโชน อย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง มะลิลา ที่ไปคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังในประเทศเกาหลีใต้และสิงคโปร์ รวมถึงกวาด 7 รางวัลจากเวทีใหญ่ในประเทศอย่างสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 28 และซีรีส์เรื่อง หอนี้ชะนีแจ่ม มาเป็นผู้ช่วยนำความรู้ที่ดูจะน่าเบื่อ ช่วยปรับเปลี่ยนหน้าตา จับชุบแป้งทอด ให้ผู้ชมได้กินง่ายขึ้น โดยที่เนื้อหาสาระต่าง ๆ ยังคงอยู่อย่างครบถ้วน

ซิตคอมพัฒนาทักษะบุคลากรรูปแบบใหม่ที่ได้ทั้งสาระและความบันเทิง

ความรู้ชุบแป้งทอด

GURU GU(ไม่)RU เป็นซิตคอมรูปแบบ Edutainment ที่ซีซั่นแรกออกมาแล้ว 55 ตอน และได้เปิดให้ลูกค้าองค์กรได้ซื้อไปใส่ในแพลตฟอร์มการเรียนรู้ของบริษัท หรือที่เรียกว่า LMS (Learning Management System) เพื่อให้พนักงานได้เปิดดูยามว่าง ระหว่างเดินทางไป-กลับทำงาน หรืออยากผ่อนคลายจากการทำงานก็เปิดดูได้ทันที ซึ่งคอนเทนต์นี้จะช่วยพัฒนาองค์ความรู้และทักษะในการทำงานด้านต่าง ๆ ใน 4 หมวดหมู่ ที่ทีมเทรนเนอร์ Beyond Training สอดแทรกวิชาต่าง ๆ ไว้ภายใต้ความบันเทิง ผ่านเหตุการณ์สมมติที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน ได้แก่ 

– Leadership (ความเป็นผู้นำ) เช่น วิชา Effective Meeting วิชา Active Listening และวิชา Empowerment & Delegation

– Selling Skill (ทักษะการขาย) เช่น วิชา Professional Selling Skills และวิชา Selling steps Mindset & Technique

– Super Productive (การเพิ่มศักยภาพในการทำงาน) เช่น วิชา Effective and Cross และวิชา Leanovative Kaizen

– Digital Skill (ทักษะด้านดิจิทัล) เช่น วิชา Digital Mindset และวิชา Design Thinking

“สาระมันมีอยู่แล้ว เพียงแต่เรามาเคลือบช็อกโกแลต นี่แหละคือหน้าที่ของโปรดักชันของเรา ก็คือทำยังไงให้มันสนุก เพราะเนื้อหาสาระข้างในมันคือสารที่ดี แต่คนยังไม่อยากจะกินตอนนี้ หรือว่าเคี้ยวยากนิดหนึ่ง พอเราไปรีเสิร์ช ไปศึกษากัน ก็ลงล็อกได้ว่าทำเป็นซิตคอมมั้ย มีความเป็นซีรีส์หน่อย เป็นเรื่องของเจ้านาย ลูกน้อง คนในองค์กร ตอนสั้นๆ ยาวประมาณ 7-8 นาที ในการเล่าเรื่อง” แก๊ป-คณีณัฐ เรืองรุจิระ โปรดิวเซอร์จาก G-village Co-Creation Hub ที่ร่วมอยู่ในวงสนทนาช่วยเล่าเสริมในมุมของโปรดักชัน ซึ่งรับหน้าที่ชุบแป้งผักต่าง ๆ ให้กินง่ายและเอร็ดอร่อยมากขึ้น

ซิตคอมเรื่องนี้เป็นเหมือนเรื่องราวของอ้วนผอมที่เป็นตัวแทนความไม่รู้ ทั้งในมุมของหัวหน้าที่ไม่รู้ก็เลยสั่งงานให้ลูกน้องแบบนั้น หรือในมุมของรุ่นพี่ในที่ทำงาน ที่บางครั้งคำพูดคำจาอาจไม่ชวนฟัง ก่อนจะมีวิทยากรท่านต่าง ๆ เป็นตัวแทนของกูรูหรือผู้รู้ มาช่วยบอกเล่าว่าสถานการณ์แบบนี้ควรคิดและตัดสินใจอย่างไร เพื่อให้ผู้เรียน ผู้ชมได้เรียนรู้ไปพร้อมกับตัวละคร ซึ่งงานก็ได้คอมเมเดี้ยนสุดฮาจากยืนเดี่ยว สแตนอัปคอมเมดี้ อย่าง ยู-กตัญญู สว่างศรี และ เบ๊น อาปาเช่ มาเป็นตัวละครหลักในการดำเนินเรื่อง

“คอนเทนต์นี้มีความเฉพาะตัว เป็นเรื่องของแตกต่างแต่เติมเต็ม คือ Beyond Training เนี่ยก็ Education จ๋า เรารู้ว่าสุดขอบของความสนุกเราก็ยังน่าเบื่อ ส่วน G-village ก็เอนเตอร์เทนเมนต์จ๋า ผมคิดว่าเราเอาสุดขอบของเราไปประสาน เหมือนกับเฟรนช์ฟรายจิ้มอยู่กับไอศกรีม มันแปลกแต่อร่อย คิดว่าเราไม่มีทางทำไอศกรีมให้อร่อยได้แน่นอน มันเป็นการเติมเต็มในพื้นที่ซึ่งกันและกัน” อาจารย์บีขยายความถึงการทำงานร่วมกันครั้งนี้

เบื้องหลังซีรีส์ GURU GU (ไม่) rU จาก Beyond Training สถาบันฝึกอบรมบุคลากรที่เปลี่ยนวิธีการสอนให้ได้ทั้งสาระและความบันเทิงพร้อม ๆ กัน

กลับมาที่ส่วนของเนื้อหาสาระ ซึ่งเป็นความถนัดของทาง Beyond Training แต่ใช่ว่าจะเป็นการนำเอาปัญหาอะไรก็ได้ในองค์กรมาใส่รวมไว้อยู่ในเรื่อง เพราะเคสที่เกิดขึ้น และสาระที่จะได้รับ อาจารย์บีบอกว่าได้อ้างอิงจากงานวิจัยระดับโลก เช่น Mckinsey และ Harvard Business Review ที่ศึกษาเกี่ยวกับทักษะในอนาคตของพนักงาน และศึกษานานาปัญหาจากในโซเชียลมีเดีย เพื่อทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของพนักงานออฟฟิศทั้งหลาย เป็นเสมือนสารตั้งต้นที่นำมาใช้พัฒนาออกมาเป็นบทในที่สุด

“เราทำการบ้านหนักมาก เตรียมบท 8 – 9 เดือน ถ้าเป็นคนก็คลอดได้เลย ในการรีเสิร์ชทักษะที่คนทำงานต้องการ รีเสิร์ชตลาด รีเสิร์ชปัญหาของคนทำงานในโซเชียลมีเดีย เพื่อพัฒนาบทเพื่อตอบโจทย์และมีความสนุก” CEO จาก Beyond Training อธิบายเพิ่ม

รีเสิร์ชจากงานระดับโลกแบบนี้ แล้วปัญหาสารพัดเรื่องในออฟฟิศของชาวต่างชาติเหมือนหรือต่างอย่างไรกับในบ้านเรา จะตอบโจทย์พฤติกรรมของคนไทยได้มากน้อยแค่ไหน – เราตั้งคำถามกับอาจารย์บี

“ปัญหาหัวหน้าลูกน้องมีเหมือนกันทั่วโลก แต่ความต่างก็มีแบบคนไทยดราม่าแต่รักสนุก เป็นไทยสไตล์ของเรา มีคำพูดบางอย่าง พฤติกรรมบางอย่าง เหน็บแนม ประชด งอน การทำงานในองค์กร ไม่ชอบก็ไม่กล้าพูด แต่ฝรั่งของทำงานแล้วไม่ถูกใจ ก็เรียกว่าวันออนวัน พูดคุยกันตรง ๆ จบจากห้องประชุมก็จบ แต่คนไทย จบแต่ไม่จบ หัวหน้าก็ไม่กล้าเตือนลูกน้อง ลูกน้องก็กอสซิปหัวหน้าพฤติกรรมหนึ่งของการทำงานในคนไทย คือมีไลน์กลุ่มที่ไม่มีเจ้านาย ไว้ถล่มดราม่าในที่ทำงาน” 

ขณะเดียวกัน GURU GU(ไม่)RU  ยังเป็นซีรีส์ที่สะท้อนภาพของบรรยากาศในการทำงานจริง ๆ จนใครได้ดู อาจจะรู้สึกว่าได้เห็นภาพตัวเองขณะกำลังนั่งทำงาน

“เราคิดว่าทำให้มันเป็นเนื้อแท้ในการดูซีรีส์ ไม่ใช่เรื่องหัวหน้าที่แสนดีที่ทำถูกตลอด นี่ไม่ใช่ซีรีส์โลกสวย แต่มันคือซีรีส์โลกจริงมากกว่า ดูแล้วก็ เออ หัวหน้าเราก็เป็นแบบนี้เหมือนกันนะ หรือว่าไม่ใช่แค่ปัญหาหัวหน้ากับลูกน้อง แต่เป็นสิ่งที่เจอในการทำงาน ที่ติดปัญหาเรื่องนี้จริง ๆ เช่น คิดไอเดียใหม่ ๆ ไม่ออกเหมือนกัน แต่ดีดนิ้วปุ๊บไม่ได้คิดออกเลย ก็ค่อนข้างเลียนแบบมาจากชีวิตจริงของคนทำงาน” อาจารย์บีเสริม

GURU GU(ไม่)RU  Season 2

เร็วๆ นี้ GURU GU(ไม่)RU กำลังจะปล่อยซีซั่น 2 จำนวน 36 ตอน ซึ่งมีเนื้อหาแบ่งออกเป็น 4 หมวดหมู่เช่นเดียวกับซีซั่นแรก แต่เปลี่ยนหมวดหมู่ใหม่ พร้อมทั้งจัดเต็มวิชาที่น่าสนใจจากทีมวิทยากร Beyond Training ที่จะมาช่วยอัปสกิลล์และรีสกิลล์ให้กับผู้ชมอย่างรอบด้าน แบ่งออกเป็น 

– Leadership (ความเป็นผู้นำ) เช่น วิชา Self Leadership 

– Productivity (การเพิ่มศักยภาพในการทำงาน) มาจากวิชา Critical Thinking วิชา Project Management และวิชา Knowledge Management

– Entrepreneurship Mindset (ผู้ประกอบการในองค์กร) มาจากวิชา Entrepreneurship Mindset

– Innovation Technology (นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการทำงาน) เช่น วิชา Sustainable Digital Innovation และวิชา Innovation Management

โดยทั้งตัวแทนจาก Beyond Training และ G-village Co-Creation Hub เผยเป็นเสียงเดียวกันว่า นอกจากเรื่องของเนื้อหาที่เปลี่ยนไปแล้ว ในซีซั่นนี้มีความแตกต่างไปจากเดิมอีกหลายอย่าง

“อาจารย์บีให้ไอเดียมาว่า สำหรับการทำซีซั่น 2 อยากให้ซีรีส์นี้เล่าเรื่องตั้งแต่หัวหน้าหนึ่งคน ที่มีลูกน้องเข้ามาทำงาน ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ จนวันสุดท้ายเขาเกษียณออกไป ซึ่งก็จะเป็นโครงของซีซั่นนี้ที่เหมือนดูซีรีส์หนึ่งเรื่อง จะมีความผูกพันกับตัวละคร แต่ละตัวก็มีคาแรกเตอร์เฉพาะ” แก๊ป โปรดิวเซอร์เล่าถึงความพิเศษของโปรเจกต์ครั้งใหม่ ก่อนที่อาจารย์บีจะช่วยเล่าเพิ่มเติมอีกว่า

“ซีซั่นนี้เรามีคอมเมเดียนเพิ่มจำนวนจากแค่ 2 ท่านเป็น 4 – 5 ท่าน เพราะเราต้องการจำลองเลเยอร์ขององค์กรที่มีตั้งแต่โอเปอเรชั่น ซูเปอร์ไวเซอร์ เมเนเจอร์ ไดเรกเตอร์ ตอนพัฒนาบทเราอยากให้คนดูรู้สึกเห็นตัวเองในคอนเทนต์นี้ ฉันเป็นเด็กจบใหม่ ชีวิตจริงในการทำงานก้เป็นแบบนี้ ทำอะไรไม่ค่อยเป็น โก๊ะ ๆ ก็จะมีพี่เลี้ยงคอยประกบ โดยแบ่งเป็น 4 เลเยอร์ในองค์กร” 

เบื้องหลังซีรีส์ GURU GU (ไม่) rU จาก Beyond Training สถาบันฝึกอบรมบุคลากรที่เปลี่ยนวิธีการสอนให้ได้ทั้งสาระและความบันเทิงพร้อม ๆ กัน

ไม่เพียงเท่านี้ เพราะจากเดิมที่เนื้อหาแบ่งระหว่างความบันเทิงกับพาร์ตที่วิทยากรให้ความรู้ แต่สำหรับซีซั่นใหม่นี้ อาจารย์บีบบอกว่า วิทยากรที่ในซีซั่นแรกจะพูดแต่ศัพท์วิชาการ จนหลายคนที่ได้ดูก็แอบกดข้ามไปบ้าง มาคราวนี้ก็จะได้บทตลกด้วย ส่วนคอมเมเดียนก็จะมีโอกาสได้ลองพูดภาษาวิชาการเช่นกัน ทำให้การเล่าเรื่องเป็นไปอย่างลื่นไหล 

พร้อมกันนี้ ยู กตัญญู หนึ่งในนักแสดงที่อยู่มาตั้งแต่ซีซั่นแรก ยังช่วยสำทับความพิเศษของซีซั่นใหม่ ในมุมของนักแสดงด้วย

“ซีซั่นแรกจะใส่มุกเยอะ ซีซั่น 2 ก็ไม่ได้น้อยลงนะ แต่สอดแทรกให้เนียนขึ้น วิทยากรที่เข้ามาก็มีมุกกับเราด้วยเลย แต่ในขณะเดียวกัน ข้อมูลชุดความรู้เข้ามาผสมในเรื่องแล้วกลมกลืมขึ้น ไม่ได้แยกขาดไปเลย พอมาเกลี่ยกับเนื้อเรื่องก็ไม่ได้ลดความตลก แต่สร้างเนื้อหาให้ความตลกมันสอดคล้องกับความรู้ที่พยายามนำเสนอ ผมก็ยังตลกเหมือนเดิม คำสอนที่อาจารย์สอน นั่งฟังก็ได้ความรู้ไปด้วย ผมเองทำบริษัท พอได้ฟังก็เอามาปรับใช้ได้”

ไฮไลต์สุดท้ายคือการสรุปความรู้ในตอนท้ายของแต่ละ EP ซึ่งผู้ชมก็สามารถแคปภาพ หรือหยุดภาพเพื่อจดบันทึก แล้วนำสกิลล์ที่ได้รับไปทบทวนปรับใช้ต่อไป 

“อีกความพิเศษคือการสรุปความรู้ ชาเลนจ์ของการทำคอนเทนต์นี้คือเรามีเวลาในการใส่เนื้อความรู้นิดเดียว เพราะถ้าใส่เยอะ คนก็บอกว่านี่ความรู้ งั้นก็ไม่ดู ฉะนั้น ต้องใส่น้อย แต่ทำไงให้น้อย แต่ดูมาก เรากลั่นเฉพาะ ถ้าเป็นกาแฟนี่เป็นเอสเปรสโซ่ช็อตอะ ต้องเข้มข้น น้อยจริง ๆ แต่คนดูแล้วต้องได้ความรู้“ผมคิดว่าคอนเทนต์ที่เป็นเอดูเทนเมนต์มันง่าย แต่ทำให้กลมกล่อมยาก เราทำด้วยแพสชัน ถ้าเอาเงินเป็นตัวตั้งโปรเจกต์นี้คงไม่เกิด เราอยากให้ความรู้มันสนุก เพื่อที่ขยายขอบเขต ให้คนรู้สึกว่าความรู้ก็สนุกได้ อยากให้ GURU GU(ไม่)RU  เป็นประตูบานแรก หลังจากนั้นเขาจะไปฟังพอดแคสต์อะไรได้เลยครับ หรือไปงานอีเวนต์ไปเลยครับ วันนี้ชาเลนจ์ของเราคือ คนจบการศึกษาคิดว่าจบแล้วไม่ต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มแล้ว แต๋โลกการทำงานจริง ๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่งั้นวันหนึ่งเขาจะตกงาน องค์กรก็ไม่มีประสิทธิภาพ แข่งขันไม่ได้ แล้วสุดท้ายก็ส่งผลมาที่ประเทศเรากำลังพัฒนา ไม่พัฒนาแล้วสักที” อาจารย์บีทิ้งท้าย

เบื้องหลังซีรีส์ GURU GU (ไม่) rU จาก Beyond Training สถาบันฝึกอบรมบุคลากรที่เปลี่ยนวิธีการสอนให้ได้ทั้งสาระและความบันเทิงพร้อม ๆ กัน

Writer

Avatar

พณิช ตั้งวิชิตฤกษ์

นักลองฝึกพิสูจน์อักษร ผู้แสร้งเป็นนักลองฝึกเขียน อดีตเป็นนักเรียนภาษา ผู้สนใจเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ รักในมวลรอบข้างที่ดี กาแฟ ชาเขียว และแมวเหมียว

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ