วันก่อน มีเจ้าของกิจการท่านหนึ่งส่งข้อความมาปรึกษาดิฉัน

ธุรกิจของเขาไปได้ดีทีเดียว เป็นร้านเล็กๆ ที่ตั้งใจทำขนมอย่างเต็มที่ แต่ตัวเขาเอง ก็ไม่แน่ใจว่า จะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างไร หากขยายสาขามากเกินไป อาจสูญเสียความคราฟต์ หากไม่ขยาย ตัวเลขผลประกอบการจะนิ่งเกินไปหรือเปล่า เขาควรกระโดดไปทำสินค้าอื่นนอกจากขนมบ้างไหม 

ดิฉันนึกถึงร้านเสื้อผ้าเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่ใช้เวลาบ่มเพาะธุรกิจตนเองกว่า 17 ปี ก่อนลุกขึ้นมาปกป้องรักษาเมืองอันเป็นบ้านเกิดของพวกเขา และขยายธุรกิจอย่างก้าวกระโดดในช่วง 10 ปีนี้ทีเดียว 

กลับบ้านเกิด 

เมื่อ ค.ศ. 1981 มีสองสามีภรรยาคู่หนึ่งตัดสินใจย้ายจากเมืองนาโกย่า กลับมายังบ้านเกิดของสามีที่จังหวัดชิมาเนะ 

สามีชื่อ ไดคิจิ มัตสึบะ (Daikichi Matsuba) ภรรยาชื่อ โทมิ มัตสึบะ (Tomi Matsuba) เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เมืองโอโมริในจังหวัดชิมาเนะยังไม่มีอะไรเลย เป็นแค่เมืองในหุบเขาเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 400 คนเท่านั้น 

สองสามีภรรยามัตสึบะกลับมาด้วยความคิดถึงบ้านเกิด พวกเขาประทับใจธรรมชาติและความสงบที่นี่

“เมืองนี้มีประวัติศาสตร์ มีธรรมชาติ มีความอบอุ่นในบทสนทนา แบบที่คนในเมืองคงจะลืมเลือนไปแล้ว ดิฉันคิดว่าทุกอย่างที่นี่งดงามมากๆ ค่ะ ในชีวิตประจำวัน เรายุ่งจนลืมอะไรบางอย่างที่สำคัญในชีวิต อย่างความงดงามของฤดูกาล หรือการใช้ของเก่าแก่ ไลฟ์สไตล์คนญี่ปุ่นแบบโบราณ ยังมีอยู่ที่นี่ค่ะ” โทมิกล่าว

ในช่วงแรก ไดคิจิและโทมิช่วยกันเย็บผ้าและสินค้ากระจุกกระจิกขาย เช่น ผ้ากันเปื้อน อุปกรณ์ในครัว ตอนเริ่มทำกิจการใหม่ๆ นั้น ไดคิจิเป็นคนนำสินค้าไปตระเวนขายตามหน้าสถานีหรือที่ต่างๆ บ้าง เมื่อมีรายได้มากขึ้น ก็เริ่มนำสินค้าไปจำหน่ายร้านค้าส่ง 

Gungendo ร้านเสื้อผ้าเล็กๆ ในญี่ปุ่นที่ใช้เสื้อผ้าและเวลา 17 ปีรื้อฟื้นบ้านเกิดในหุบเขา
สองสามีภรรยามัตสึบะ 
ภาพ : greenz.jp

หลังจากนั้น 17 ปี ใน ค.ศ. 1998 ทั้งคู่ตัดสินใจสร้างแบรนด์ใหม่ชื่อ ‘Gungendo’ และตั้งชื่อบริษัทว่า ‘ศูนย์วิจัยวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอิวามิกินซัง’ (ย้ำว่า นี่คือชื่อบริษัทจริงๆ) 

อิวามิกินซัง (Iwami Ginzan) เป็นชื่อบริเวณที่ได้รับการบันทึกเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก และเป็นที่ตั้งสำนักงานบริษัท 

ส่วนคำว่า Gungendo (群言堂) ซึ่งเป็นชื่อแบรนด์นั้น มาจากภาษาจีน หมายถึง การที่ทุกคนสามารถเล่าถึงสิ่งที่ตนเองชอบ และทำให้เกิดเรื่องดีๆ ได้ 

สองสามีภรรยาชอบความเรียบง่ายแบบชนบท ชอบชีวิตดีๆ ที่นี่ พวกเขาเริ่มเล่าผ่านสินค้าที่ตนเองถนัด นั่นคือ เสื้อผ้า

ไดคิจิต้องการทำเสื้อผ้าที่เข้ากับเมืองโอโมริ โทมิจึงเสนอว่า เสื้อผ้าสไตล์เมืองโอโมริ คือเสื้อผ้าที่ใส่ง่าย ดูสบายตา และดีต่อใจ พวกเขาพยายามเฟ้นหาวัตถุดิบที่ดีเพื่อทอผ้า เลือกใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น และใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการย้อมผ้า ด้วยสไตล์ที่เรียบง่าย สีสันแปลกตา ทำให้เสื้อผ้าแบรนด์ Gungendo เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากใส่สบาย และดูมีเอกลักษณ์

Gungendo ร้านเสื้อผ้าเล็กๆ ในญี่ปุ่นที่ใช้เสื้อผ้าและเวลา 17 ปีรื้อฟื้นบ้านเกิดในหุบเขา
ภาพ : www.gungendo.co.jp
Gungendo ร้านเสื้อผ้าเล็กๆ ในญี่ปุ่นที่ใช้เสื้อผ้าและเวลา 17 ปีรื้อฟื้นบ้านเกิดในหุบเขา
ป้ายที่ติดเสื้อ เขียนว่า เราย้อมด้วยพืชชนิดนี้ 
ภาพ : motokurashi.com

ไดคิจิและโทมิไม่ได้นำรายได้ส่วนนี้ไปขยายสาขาร้านเสื้อผ้าโดยทันที แต่กลับนำเงินไปรีโนเวตบ้านเก่าแก่ 200 กว่าปีหลังหนึ่ง ไปสร้างคาเฟ่ ร้านอาหาร และบ้านพักในเมืองแทน

อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์

เหตุใดแบรนด์เสื้อผ้าจากต่างจังหวัดถึงต้องการไปทำธุรกิจอื่น เช่น ร้านอาหารและที่พัก เช่นนี้ได้ 

ไดกิจิและโทมิมองว่า พวกเขาไม่ได้ทำธุรกิจร้านอาหารหรือทำโรงแรม แต่มองว่ามันคือการนำเสนอไลฟ์สไตล์วิถีชีวิตบางอย่าง และพวกเขาเพียงแค่เลือกเล่าเรื่องราวผ่านเสื้อผ้า อาหาร และที่พักอาศัย

ท่ามกลางการเติบโตของเศรษฐกิจและเมือง วิถีชีวิตชนบทที่เรียบง่าย อยู่กับธรรมชาติ กำลังหายไป และสองสามีภรรยากำลังพยายามรักษาไว้ 

Gungendo ร้านเสื้อผ้าเล็กๆ ในญี่ปุ่นที่ใช้เสื้อผ้าและเวลา 17 ปีรื้อฟื้นบ้านเกิดในหุบเขา
ภาพ : www.gungendo.co.jp 

ร้านอาหารที่นี่ เสิร์ฟข้าวซึ่งปลูกจากในท้องถิ่น พร้อมอาหารพื้นเมืองที่จัดมาอย่างงดงาม บางเมนูก็เป็นอาหารง่ายๆ อย่างข้าวปั้นรสต่างๆ กับผักดอง รสชาติของคนชนบทที่เรียบง่ายแต่ดี 

Gungendo ร้านเสื้อผ้าเล็กๆ ในญี่ปุ่นที่ใช้เสื้อผ้าและเวลา 17 ปีรื้อฟื้นบ้านเกิดในหุบเขา
ภาพ : www.gungendo.co.jp

ส่วนบ้านพัก ก็นำบ้านเก่าแก่กว่า 200 ปี กับ 150 ปีมารีโนเวต โดยรับแขกเพียงวันละ 3 คู่เท่านั้น (ช่วง COVID-19 เหลือเพียงวันละคู่) ตอนเย็น ไดคิจิ โทมิ หรือพนักงานร้าน Gungendo ก็จะแวะมานั่งทานข้าวกับแขกที่มาพักด้วย

Gungendo ร้านเสื้อผ้าเล็กๆ ในญี่ปุ่นที่ใช้เสื้อผ้าและเวลา 17 ปีรื้อฟื้นบ้านเกิดในหุบเขา
ภาพ : www.gungendo.co.jp

ข้าวที่บ้านพักนี้หุงจากเตาถ่าน ส่วนกับข้าว ก็ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นตามฤดูกาล แขกและพนักงานล้อมวงทานข้าวบนโต๊ะไม้โบราณ​ ที่นี่จึงมิใช่เพียงการมาพักบ้านเก่าแก่เพื่อหาประสบการณ์​ แต่คือการได้สัมผัสความรู้สึกสงบ และการได้กลับ ‘บ้าน’

Gungendo ร้านเสื้อผ้าเล็กๆ ในญี่ปุ่นที่ใช้เสื้อผ้าและเวลา 17 ปีรื้อฟื้นบ้านเกิดในหุบเขา
ภาพ : www.gungendo.co.jp

ไดคิจิและโทมิรู้ดีว่าพวกเขาทำธุรกิจเพื่ออะไร พวกเขาทำเสื้อผ้าที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติเพราะอยากให้คนใส่ผ้าดีๆ ใส่สบาย ทำที่อยู่อาศัยเพราะอยากให้คนได้สัมผัสวิถีชีวิตแบบชนบท ทำร้านอาหารสำหรับคนที่มาพักไม่ได้ แต่อย่างน้อย ได้ลองทานอาหารท้องถิ่นจริงๆ 

ทั้งร้านเสื้อผ้า ที่พัก ร้านอาหาร คาเฟ่ ล้วนอยู่ในบริเวณเดียวกันหมด

นอกจากนี้ สองสามีภรรยายังรีโนเวตบ้านโบราณในบริเวณนั้นอีก 10 หลัง บางหลังก็ใช้เวลาซ่อมแซมเป็นปีๆ 

มีหลังหนึ่งที่ทั้งคู่ตั้งใจไม่ติดตั้งไฟฟ้า น้ำประปา แก๊ส แต่เป็นบ้านที่เข้าไปนั่งพักแล้วใจสงบ เพราะได้ยินเสียงลำธารเล็กๆ ด้านหลัง เสียงลมพัด ตอนกลางคืนก็จุดเทียน 

บางหลังเป็นที่ให้พนักงานและคนในเมืองมานั่งทานข้าวหรือประชุมหารือกัน

หากพวกเขามุ่งแสวงหากำไรสูงสุด Gungendo ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปซ่อมบ้านเก่าแก่เลย พวกเขาแค่ผลิตเสื้อผ้า และส่งจำหน่ายให้ได้มากที่สุดก็เพียงพอแล้ว

โทมิเล่าว่า “การที่เราทำธุรกิจเช่นนี้ ไม่มีใครเป็นคู่แข่ง และเราก็ทำตามสิ่งที่ใจปรารถนาได้ เราพยายามรีโนเวตบ้านโบราณไปแล้วสิบหลัง ซึ่งเราคงทำแบบนี้ไม่ได้ในเมืองใหญ่ เรากำลังพยายามทำสิ่งที่ทำไม่ได้ในเมืองใหญ่ หากต้องการสินค้าแฟชั่นหวือหวา หรือสินค้าราคาไม่แพง ลูกค้าเลือกไปซื้อตามเมืองใหญ่ๆ ได้ แต่การมาที่นี่ คือการได้สัมผัสเสน่ห์ของชนบท”

ไดคิจิและโทมิไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อหวังเงิน แต่ทำเพื่อรักษาเมืองนี้ไว้ ทั้งคู่อยากให้คนที่อาศัยในเมืองนี้มีชีวิตที่ดีขึ้น พวกเขาเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า จะต้องมีสักวันที่ผู้คนเห็นคุณค่าของชนบท พวกเขาฝันเห็นหนุ่มสาวย้ายมาทำงานที่นี่ แต่งงาน มีครอบครัวที่นี่ โดยยังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่ 

ปัจจุบัน Gungendo มีร้านในโตเกียวและตามหัวเมืองใหญ่กว่า 30 ร้าน เพื่อนำเสนอไลฟ์สไตล์แบบเรียบง่าย และมีสินค้าฝากวางตามร้านต่างๆ เพื่อให้คนเมืองเข้าถึงความเป็น Gungendo ง่ายขึ้น

มีแบรนด์ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ชื่อ Medu โดยมีคอนเซปต์ว่า ‘วันที่ดี เริ่มต้นตั้งแต่ยามค่ำคืน’ วัตถุดิบมาจากยีสต์ที่เกิดจากการหมักดอกบ๊วยในหมู่บ้าน 

มีแบรนด์เสื้อผ้าชื่อ Gungendo Laboratory ซึ่งจำหน่ายเสื้อผ้าเช่นกัน แต่เน้นแนวแฟชั่นและสไตล์วัยรุ่นขึ้น 

มีคนหนุ่มสาวสมัครมาทำงานกับบริษัทมากขึ้น ย้ายมาอยู่เมืองนี้มากขึ้นทีละนิดๆ

ปรัชญาของ Gungendo คือ ‘รักษาเก่า-สร้างใหม่’ (復古創新) กล่าวคือ การให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาสมัยก่อน ขณะเดียวกันก็ปรับตัวตามยุคสมัย เพื่อให้วิถีชีวิตแบบชนบทญี่ปุ่นยังคงสืบทอดไปสู่คนรุ่นหลัง 

พวกเขาไม่ได้พยายามปกปักษ์รักษาของเดิม แต่ปรับเปลี่ยนสิ่งของ อาหาร ที่พัก ให้เข้ากับยุคสมัย โดยไม่ขัดแย้ง

นี่คือวิถีของ Gungendo และบริษัทศูนย์วิจัยวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอิวามิกินซัง

“ชีวิตนี้ เกิดมาแค่ครั้งเดียว คงน่าเสียดายที่เราจะทำอะไรเพียงแค่เพราะได้กำไรนะ ดิฉันทำงานนี้แล้วมีความสุข ดีใจเวลาเห็นใครสักคน หยิบสินค้าเรา ใช้สินค้าเราอย่างสุขใจ พวกเราอยากถ่ายทอดวิถีชีวิตเช่นนี้ให้กับสังคม ผ่านธุรกิจของเรา เพราะฉะนั้น เวลาเราขายสินค้าอะไร เราก็จะแนบไปรษณียบัตรที่เล่าถึงวิถีชีวิตที่เมืองนี้บ้าง เขียนข้อความเล่าถึงความตั้งใจของพวกเราในบรรจุภัณฑ์บ้าง โชคดีที่มีคนเห็นด้วยกับวิธีคิดของพวกเรา และทำให้ธุรกิจเราค่อยๆ เติบโตถึงทุกวันนี้” โทมิกล่าวทิ้งท้าย 


เราทำธุรกิจเพื่ออะไร

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย