ในสถานการณ์ช่วงไวรัสระบาด ผมเลื่อนไถหน้าจอมือถือไปเห็นแคมเปญประกาศขายหน้ากากผ้า เพื่อระดมทุนจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับหมอและพยาบาลในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ชื่อว่า CO-with 19 ซึ่งมาถึงตรงนี้ คุณอาจจะคิดว่ามันก็เหมือนกับการระดมทุนที่เห็นกันมากมายในตอนนี้ 

ว่ากันโดยหลักการแล้วมันก็ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างกับโครงการอื่นๆ แต่ความต่างที่น่าสนใจจนต้องเอามาบอกเล่ากันต่ออยู่ตรงที่แคมเปญนี้ เป็นการหยิบจับเอาศิลปินนักออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น DUCTSTORE The Design Guru, TNOP DESIGN, Pomme Chan, Visionary, Lolay, Jeep Kongdechakul, Sahred Toy, Cuscus, Yune, TUNA Dunn, Kanith, Juli Baker and Summer, Lili Tae, Benzilla, Banana Blah Blah, Nakrob Moonmanas, Benxblues, Nut.Dao, KNN.5 และ Suthipa Kamyam มาสร้างสรรค์ลวดลายที่ได้แรงบันดาลใจมากจากวงดนตรีอย่าง 25hours, Scrubb, Phum Viphurit, SLUR, Yellow fang, DCNXTR, Stoondio, Whal & Dolph, TELEx TELEXs, Solitude Is Bliss, Safeplanet, Dept, Anatomy Rabbit, H 3 F, Somkiat, Moving and Cut, Mints, Zweed n’ Roll, และ temp. จนออกมาเป็นกราฟิกบนหน้ากากผ้าหลากหลายที่มีทั้งน่ารัก สดใส สนุก ไปจนถึงจนเรียกรอยยิ้มได้อย่างไม่ยากเย็น ด้วยความน่าสนใจเลยคิดว่าจะขอเข้าไปซื้อเพื่อบริจาคในโครงการนี้ด้วย แต่กลายเป็นว่าหน้ากากผ้าหลายๆ ชิ้นนั้นขายหมดเกลี้ยงไปแล้วด้วยซ้ำ

Ground Control กับโปรเจกต์สร้างสรรค์หน้ากากผ้าที่ช่วยกอบกู้ทั้งสังคมและวงการศิลปะ

ที่น่าสนใจกว่าลายบนหน้ากาก เห็นจะเป็นกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการทำแคมเปญนี้ เพราะเป็นกลุ่มคนที่เพิ่งมารวมตัวกันได้ไม่กี่เดือนภายใต้ชื่อว่า GroundControl นั่นเอง ซึ่งแม้จะใหม่แต่เมื่อเห็นทีมคนทำงานแล้ว เราก็ไม่แปลกใจถึงเสียงตอบรับที่ดีมากต่อเคมเปญเล็กๆ นี้เลย เพราะทีมงานทั้งสามคนประกอบไปด้วย ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ ที่หลายคนอาจจะคุ้นชินกับหน้าที่การเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์และเป็นศิลปินทำงานด้านภาพถ่าย รวมไปจนถึงการจัดการด้านงานศิลปะอีกมากมาย คริสซี่-ศิขรินทร์ ลางคุลเสน อดีตนักสื่อสารของค่ายหนังใหญ่ที่นอกจากจะสนใจในศิลปะ เธอยังเป็นคอลัมนิสต์ของคอลัมน์ What I’ve Scene ใน The Cloud อีกด้วย (ใครสนใจตามไปอ่านการท่องเที่ยวตามรอยหนังของเธอได้) และ ปอน-อังกูร ไชยปรีชาวิทย์ ผู้เคยทำงาน Social Enterprise หรือธุรกิจเพื่อสังคมมาแล้วหลายต่อหลายตัว 

Ground Control กับโปรเจกต์สร้างสรรค์หน้ากากผ้าที่ช่วยกอบกู้ทั้งสังคมและวงการศิลปะ

แม้จะมาจากต่างแบ็กกราวด์ แต่ทั้งสามคนนั้นมีแพชชันที่สอดคล้องกัน นั่นคือ ความรักและสนใจในด้านศิลปะ และต้องการใช้บริษัทแห่งนี้เชื่อมต่อวงการสร้างสรรค์เข้ากันกับสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งตัวงานศิลปะและศิลปินอย่างยั่งยืน แม้จุดหมายที่ได้ฟังในทีแรกจะดูไกลเหมือนอยู่ห่างกันคนละดาว แต่หลังจากที่ได้นัดคุยกับทั้งสามคนผ่านวิดีโอคอล ผมก็เชื่อว่าทั้งสามคนในนามของ GroundControl น่าจะส่งสารอะไรบางอย่างที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการศิลปะหลังจากนี้ได้ไม่มากก็น้อย 

และก็ขอเชิญพบกับบทสนทนาของ GroundControl ภาคพื้นดินผู้อยู่เบื้องหลังแคมเปญแห่งนี้ไปพร้อมกันหลังสัญญาณนับถอยหลัง…

GroundControl to Major Tom

ผมถามทั้งสามคนถึงที่มาที่ไปของการมารวมตัวกันว่าเกิดจากอะไร ทั้งสามคนเล่าให้ฟังว่ามันเริ่มต้นมาจากการที่ผ้าป่านซึ่งเป็นคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และศิลปะ ตั้งแต่การทำงานสายภาพถ่าย เป็นผู้จัดการงานศิลปะ ภัณฑรักษ์ของแกลเลอรี่ ร่วมก่อตั้งเทศกาลงานศิลปะ ไปจนถึงเป็นกรรมการตัดสินงานประกวดหลายงาน มาถึงจุดที่มีเป้าหมายชัดเจน และพบว่ามีสิ่งที่อยากทำอยู่อีกเยอะมาก แต่ทำไม่ได้ด้วยตัวคนเดียว จึงรวมทีมขึ้นมา

“ด้วยความที่เราทำงานอยู่ในแวดวงนี้มาระยะหนึ่ง เรามีโอกาสได้ไปดูงานหลายๆ ที่ ในหลากหลายตำแหน่ง ทั้งงานนิทรรศการ งานประกวดภาพถ่าย บุ๊กแฟร์ อาร์ตแฟร์ ทั้งในระดับเอเชียและในภูมิภาคยุโรป พอเราได้เห็นภาพที่กว้างขึ้นของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แบบนี้ มันทำให้เราเกิดไอเดียและโปรเจกต์ในหัวขึ้นมาเยอะมาก เพราะมองเห็นโอกาสที่จะสร้างสรรค์และเชื่อมโยงแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน เราไม่ได้ทำเป็นเองทุกอย่าง ก็เลยมองหาพาร์ตเนอร์ที่จะมาร่วมงานกัน 

“คนแรกที่นึกถึงเลยคือคริสซี่ เพราะว่าเราทั้งสองคนรู้จักกัน เป็นเพื่อนกันอยู่แล้ว เดินทางด้วยกันมาหลายทริป คือป่านเชื่อว่าคนที่เดินทางด้วยกันได้จะทำงานด้วยกันได้นะ บวกกับเราทั้งสองคนก็มีทัศนคติ ความชอบ เป้าหมาย ในด้านศิลปะและวัฒนธรรม รวมไปถึงวิธีและการจัดการงานที่คล้ายกัน ก็เลยชวนมาร่วมงาน” ผ้าป่านเล่าถึงจุดเริ่มต้น 

และผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนหนึ่งคือปอน น้องชายแท้ๆ ของผ้าป่านนั่นเอง

“สองคนนั้นเขาอยู่ในแวดวงศิลปะกันอยู่แล้ว แต่ผมเป็นคนเดียวที่มาจากทางฝั่งธุรกิจ มีความเข้าใจในบริบทของภาคสังคมและเทคโนโลยีอยู่บ้าง แต่ถ้าพูดกันตรงๆ เราเหมือนอยู่กันบนโลกคนละใบเลยนะ ผมเคยคิดถึงขั้นว่าศิลปะคือภาพวาด ภาพถ่าย แค่นั้นเลยจริงๆ ด้วยซ้ำ 

“แต่พอโตขึ้น เห็นโลกที่กว้างขึ้น ก็เลยได้ค่อยๆ เห็นว่าจริงๆ ศิลปะมันแฝงอยู่รอบตัวเรา ยิ่งพอได้ฟังไอเดียของ GroundControl ก็เลยสนใจอยากมาร่วมด้วย เพราะนอกจากจะทำให้เราเข้าใจงานภาคศิลปะเชิงสร้างสรรค์อย่างลึกซึ้งขึ้นแล้ว เราเองก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์นี้ได้เข้ามาเพิ่มศักยภาพ ขยายขอบเขตความเป็นไปได้ให้กับโลกฝั่งธุรกิจ เทคโนโลยี รวมไปถึงภาคีภาคสังคมที่เราทำงานด้วยมาตลอดหลายปี” ปอนอธิบายต่อ

Ground Control กับโปรเจกต์สร้างสรรค์หน้ากากผ้าที่ช่วยกอบกู้ทั้งสังคมและวงการศิลปะ
Ground Control กับโปรเจกต์สร้างสรรค์หน้ากากผ้าที่ช่วยกอบกู้ทั้งสังคมและวงการศิลปะ

เป้าหมายแสนห่างไกล

ผมถามต่อว่า เป้าหมายของทั้งสามคนคืออะไร พวกเขาอธิบายว่า GroundControl เป็นกลุ่มที่นิยามตัวเองไว้ว่า เป็นบริษัทจัดการงานสร้างสรรค์ที่ดูแลทั้งงานศิลปะ งานสร้างสรรค์ จนถึงงานครีเอทีฟและนวัตกรรมด้วย และยังทำเรื่องการเชื่อมต่อให้เกิดชุมชนระหว่างนักสร้างสรรค์ ลูกค้า และสังคม เพื่อให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนของเหล่านักออกแบบและศิลปิน ซึ่งเมื่ออยู่กันได้อย่างยั่งยืนแล้ว ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาและยกระดับแวดวงศิลปะของไทยให้ทัดเทียมกับที่อื่นๆ ในเอเซียได้ 

“เราสนับสนุนการร่วมมือกันของคนจากหลากหลายอาชีพ ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคสังคม แล้วเข้าไปร่วมบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันภายใต้ขอบเขตของงานสร้างสรรค์ เรามองว่าในยุคปัจจุบัน มันมีทิศทางที่แต่ละอย่างจะถูกรวมองค์ความรู้กันมากขึ้น ไม่ใช่รู้ลึกรู้จริงด้านเดียว แต่ต้องรู้ให้กว้าง ข้ามสาย และถึงแม้เราจะทำไม่ได้ทุกอย่าง แต่ถ้ามองเห็นภาพรวม ก็จะมองเห็นความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น 

“เราอยากเห็นการ Collaborate ที่สนุกๆ จากสายงานที่ต่างกันสุดขั้ว มันคือหนทางที่ศิลปินจะถูกส่งออกไปยังอุตสาหกรรมอื่น ไม่กระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมศิลปะ และเกิดเป็นประโยชน์ร่วมกันในทุกฝ่ายต่อไป

Ground Control กับโปรเจกต์สร้างสรรค์หน้ากากผ้าที่ช่วยกอบกู้ทั้งสังคมและวงการศิลปะ
Ground Control กับโปรเจกต์สร้างสรรค์หน้ากากผ้าที่ช่วยกอบกู้ทั้งสังคมและวงการศิลปะ

“ในช่วงปีหลังๆ มานี้ เราจะเห็นได้เลยว่างานสร้างสรรค์มันสร้างมูลค่าให้กับชุมชนและเมืองได้จริง จนมีทั้งภาครัฐและเอกชนมาสนับสนุนงานศิลปะเพิ่มขึ้นเยอะมาก ทั้งงานเทศกาล งานประกวด ไปจนถึงการชวนศิลปินมาสร้างงานบนกำแพง ก็ทำให้ย่านนั้นมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มมากขึ้น เราอยากเห็นการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและการผลักดันนักสร้างสรรค์และศิลปินไทยเก่งๆ ที่มีอยู่เยอะมากให้ได้ทำงานระดับเอเชีย และก้าวต่อไปในระดับโลกกันมากขึ้น

“ในระหว่างนั้นศิลปินเหล่านี้ก็ต้องอยู่ให้ได้ ด้วยแรงสนับสนุนจากหลายภาคส่วน อย่างกลุ่มลูกค้าที่เป็นเจ้าของธุรกิจที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อแบรนด์มองเห็นคุณค่าและความสำคัญของงานสร้างสรรค์ ก็จะเกิดการจ้างงาน-สร้างงาน และถ่ายทอดชิ้นงานหรือแคมเปญนั้นๆ ส่งต่อให้กับสังคมได้อีกทีหนึ่ง

“การที่จะทำแบบนั้นได้ สังคมเองก็ต้องมองเห็นคุณค่าของงานสร้างสรรค์ และเข้าใจผลผลิตของอุตสาหกรรมนี้เช่นเดียวกัน เราว่ามันเป็นหน้าที่ของคนที่อยู่ในวงการนี้เหมือนกันนะ ที่ต้องพยายามสื่อสารและเปลี่ยนแปลงทัศนคติให้เข้าใจและสนับสนุนงานสร้างสรรค์กันมากขึ้น หลายประเทศขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้กันอย่างจริงจัง จนเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจได้ ถ้ามันเกิดขึ้นได้แบบครบวงจรก็จะทำให้นักสร้างสรรค์เองอยู่ได้อย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องเปลี่ยนเอกลักษณ์ของตัวเอง และจะเป็นการยกระดับงานของศิลปินให้มันสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้” ทั้งสามคนอธิบายถึงเป้าหมายของกลุ่ม

Ground Control กับโปรเจกต์สร้างสรรค์หน้ากากผ้าที่ช่วยกอบกู้ทั้งสังคมและวงการศิลปะ

หลังฟังคำตอบ เราค่อนข้างตกใจในเป้าหมายของทั้งสามคนที่ดูเหมือนว่าจะอยู่ห่างไกลเสียเหลือเกิน 

“มันอาจจะดูไกลมากๆ เลย โดยเฉพาะการเปลี่ยนทัศนคติของคน จนถึงที่สุดแล้วเราอาจจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลยก็ได้ แต่อย่างน้อยขอให้เราได้เริ่มต้น อาจจะเป็นการส่งต่อความคิดนี้ไปให้กับรุ่นต่อไป อีกมุมเรามองว่ามันไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว ยิ่งทุกวันนี้ทุกคนมีพื้นที่สื่อเป็นของตัวเอง จะสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาก็ได้ ยิ่งทำให้เรามั่นใจว่า สิ่งที่เราอยากเห็นมันไม่ได้ไกลมากขนาดนั้นนะ 

“หลายคนมองว่าศิลปะเป็นเรื่องฟุ่มเฟือย แต่อย่างในช่วง COVID-19 นี้ พวกเราก็เห็นว่าคนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ทำงานศิลปะออกมาจัดระดมทุนกันอยู่ค่อนข้างมาก ทั้งที่ก็เป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโรคระบาดนี้เช่นกัน เพราะไม่มีพื้นที่แสดงงาน ไม่เกิดการซื้อขายงานกันตามปกติ แต่ก็ผลิตงานออกมาเพื่อระดมทุนกันได้เยอะมาก เราจึงเห็นว่างานศิลปะมันสร้างคุณค่าและช่วยสังคมได้จริง หรือสิ่งที่ทำให้เรายังมีความสุขเวลาอยู่บ้านก็คือเรื่องสุนทรียะที่อยู่รอบตัวเรา” ทั้งทีมเล่าถึงเป้าหมายที่อาจจะไม่ได้ไกลอย่างที่เราคิด

Ground Control กับโปรเจกต์สร้างสรรค์หน้ากากผ้าที่ช่วยกอบกู้ทั้งสังคมและวงการศิลปะ

ภารกิจแรกของ GroundControl

เราถามถึงโครงการแรกของทีมที่ได้ทำร่วมกันอย่างหน้ากากผ้าที่พาศิลปินและนักออกแบบมาเจอกันว่าเริ่มต้นมาอย่างไร ทางทีมก็อธิบายถึงจุดเริ่มต้นว่า ทุกคนได้เห็นและรับรู้ปัญหาของทางโรงพยาบาลที่ขาดแคลนอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง 

พอดีว่า นิค-ธาฤทธิ์ เจียรกุล (วง temp. และ Part Time Musicians) ที่เชิญวงดนตรีอินดี้หลายๆ วงมาทำไลฟ์ผ่านอินสตาแกรม 14 วัน 14 วง สนใจอยากทำระดมทุน จึงเอาโครงการที่เปิดรับมาให้ทางทีมช่วยกันดู เหมือนตรวจสอบกันอีกรอบว่าโครงการไหนที่ขาดแคลนจริงๆ บ้าง ทางทีมก็เลยได้เจอโครงการของทางโรงพยาบาลที่ขาดแคลนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งด้วยวัฒนธรรมของชาวมุสลิมที่อาจจะไม่สอดคล้องกับการระบาดของโรคในตอนนี้ และความอ่อนไหวด้านสถานการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ไม่ค่อยมีการสื่อสารเรื่องนี้ออกไปมากนัก 

“พวกเราอยากช่วยทำอะไรบางอย่างในแบบที่พวกเราทำได้ ก็เลยมาเริ่มต้นโปรเจกต์ CO-with 19 ซึ่งเราก็มามองกันว่าตอนนี้เรามีอะไรอยู่ในมือบ้าง พบว่าเรามีพี่ๆ เพื่อนๆ เป็นศิลปิน นักออกแบบ และนักวาดภาพประกอบ ส่วนนิคก็มาจากสายนักดนตรี โปรเจกต์นี้เลยเกิดขึ้นง่ายมาก เพราะมันตรงกับเป้าหมายของเราด้วย 

“นั่นคือการนำเอาสองวงการมาเจอกัน ร่วมมือกันสร้างงานเพื่อสังคม และยังได้ ทำ-มา-หา-กิน ภายใต้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ออซั่มโด มาควบคุมคุณภาพการผลิต รวมไปถึง Socialgiver เข้ามาสนับสนุนเป็นแพลตฟอร์มด้านการบริจาคเงิน โดยรายได้ทั้งหมดจากแคมเปญนี้ เราบริจาคให้กับโรงพยาบาลในสามจังหวัดชายแดนใต้

Ground Control กับโปรเจกต์สร้างสรรค์หน้ากากผ้าที่ช่วยกอบกู้ทั้งสังคมและวงการศิลปะ

“คือเราก็รู้นะว่าการทำแบบนี้มันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุของระบบโครงสร้างในภาพรวมใหญ่ แต่ตอนนี้ความขาดแคลนของโรงพยาบาลก็เป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งถ้ามีโมเดลที่ทำให้เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างได้จริง เราก็พร้อมทำกันเต็มที่ แต่เพียงแค่ในตอนนี้มันรอไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงแบบนี้ที่เกิดจากคนด้านล่างมันเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าในยุคสมัยนี้ที่ทุกคนไม่ได้รอการเปลี่ยนแปลงจากนโยบายแบบบนลงล่าง แต่ขับเคลื่อนกันด้วยแรงจากชุมชนขึ้นไป” ทีมเล่าย้อนถึงวันที่ทำโปรเจกต์ CO-with 19

เราถามถึงแผนรับมือในวันที่เกิดวิกฤตโดยตรงกับงานแบบออแกไนเซอร์ของทั้งสามคนที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นว่ามีแผนรับมืออย่างไรบ้าง

ถึงแม้เราจะเน้นเรื่องการทำงานกับบรรดานักสร้างสรรค์ แต่ส่วนหนึ่งก็คือการทำกิจกรรมและอีเวนต์ ซึ่งงานหลายตัวถูกเลื่อนออกไป เรายังคาดการณ์ไม่ได้ชัดเจนว่าหลังจากผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับสังคม หลายคนบอกว่ามันจะมี New Normal ใหม่ๆ เกิดขึ้นมามากมาย ซึ่งก็น่าตื่นเต้นดีที่เราจะทดลองหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดที่แตกต่าง ค้นหาทางเลือกใหม่ในการจัดกิจกรรมทั้งหลาย เป็นการปรับตัวสำหรับโลกอนาคตที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ เช่น การจัดนิทรรศการงานศิลปะหรืออาร์ตแฟร์ในรูปแบบออนไลน์ เปิดให้คนได้มีประสบการณ์เสมือนอยู่ที่งานแสดงจริงๆ เป็นทั้งพื้นที่แสดงงาน ขายงาน เสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ หรือจะพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อคนเข้าด้วยกันได้ 

“ความท้าทายตอนนี้ คือการค้นหาความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งก็ขอฝากให้รอติดตามกันว่าโปรดักต์ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้นจะมีอะไรบ้าง อยู่ในรูปแบบไหน และนำไปสู่สิ่งใหม่ได้ยังไง” 

ชาว GroundControl ทิ้งท้าย ซึ่งทำให้เราตั้งตารอดูนวัตกรรมใหม่ๆ ทางศิลปะที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ด้วยความหวังเป็นอย่างมาก

Ground Control กับโปรเจกต์สร้างสรรค์หน้ากากผ้าที่ช่วยกอบกู้ทั้งสังคมและวงการศิลปะ

ขอขอบคุณ

ภาพ : กันต์รพี โชคไพบูลย์

สถานที่ : OOOBkk

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan