ย้อนกลับไปฤดูร้อน ค.ศ. 2020 ผมได้มีโอกาสฝึกงานกับ Monuments and Architectural Maintenance Division ของมหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งเมืองเลอเวินที่ประเทศเบลเยียม งานที่ผมได้รับคือให้ทำหน้าที่ประเมินสภาพกำแพงรอบหมู่บ้านมรดกโลกซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเลอเวิน ตอนได้รับโปรเจกต์มาก็รู้สึกตื่นเต้น ว่าจะได้มีโอกาสประเมินสภาพกำแพงหมู่บ้านเก่าอายุหลายร้อยปีต้องสนุกมากแน่ๆ เลย แต่พอเจองานจริงๆ เข้าไปก็ทึ่งไปสักพักว่ากำแพงรอบหมู่บ้านมันใหญ่และยาวมาก ทำไปกี่ชาติกว่าจะเสร็จ และสภาพก็ค่อนข้างยับเยินแตกต่างจากตัวอาคารภายในหมู่บ้าน

Great Beguinage Leuven รีโนเวตหมู่บ้าน 800 ปีของนางชีคาทอลิก เป็นหอพักนักศึกษาในเบลเยียม
รูปตัวอย่างกำแพงโซน 1 ของหมู่บ้าน

ต้องเล่าก่อนว่าการประเมินสภาพกำแพงนี้เป็นการทำงานต่อจากการประเมินภาพครั้งล่าสุดเมื่อ ค.ศ. 2008 ซึ่งได้ทำแบบรังวัดไว้ก่อนหน้าแล้ว หน้าที่ของผมคือสร้างภาพออร์โทโฟโต (Orthophoto) ผ่านเทคนิคที่เรียกว่าโฟโต้แกรมเมทรี (Photogrammetry) เพื่อประกอบกับรังวัดเดิม และอัปเดตข้อมูลสภาพในปัจจุบัน

Great Beguinage Leuven รีโนเวตหมู่บ้าน 800 ปีของนางชีคาทอลิก เป็นหอพักนักศึกษาในเบลเยียม
ตัวอย่างแบบสำรวจสภาพ

อย่างไรก็ตาม โปรเจกต์จากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเสร็จใน 3 เดือน ตอนนี้ก็ลากยาวมาจะหนึ่งปีเข้าไปแล้ว แถมเพิ่มขึ้นมาคือกลายเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ของผม เด็กไทยตาดำๆ ต้องมานั่งทำวิทยานิพนธ์หมู่บ้านเก่าแก่ที่ก่อตั้งใน ค.ศ. 1232 และเอกสารส่วนใหญ่เป็นภาษาฝรั่งเศสกับภาษาดัตช์

เอาเป็นว่าเพื่อไม่ให้ยืดเยื้อ ส่วนหนึ่งของงานวิจัยของผมคือ การเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของกำแพงนี้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยหากเล่าไม่เข้าใจว่าหมู่บ้านนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ดังนั้น ผมจึงขอถือโอกาสเริ่มอธิบายต่อจากนี้ไปครับ

Beguinages หมู่บ้านสำหรับผู้หญิง

Great Beguinage Leuven รีโนเวตหมู่บ้าน 800 ปีของนางชีคาทอลิก เป็นหอพักนักศึกษาในเบลเยียม

ในอดีตราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 บริเวณพื้นที่ยุโรปตะวันตกเฉียงเหนือหรือปัจจุบัน คือประเทศเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ เริ่มมีการรวมกลุ่มของผู้หญิงที่มีใจศรัทธาในพระเจ้าและตั้งหมู่บ้านขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งผู้หญิงเหล่านี้อาจไม่ได้แต่งงาน หรือเป็นแม่หม้ายที่เลือกอุทิศชีวิตเพื่อพระเจ้า หมู่บ้านเหล่านี้มีลักษณะเป็นเหมือนอารามที่มีโบสถ์อยู่ใจกลางหมู่บ้าน รายล้อมไปด้วยอาคารขนาดเล็กซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้หญิง และมีรั้วรอบรอบบ่งบอกอาณาบริเวณชัดเจน หมู่บ้านแบบนี้กระจายตัวอยู่มากมายในเขตพื้นที่ที่เรียกว่า Flanders ในประเทศเบลเยียม 

Great Beguinage Leuven รีโนเวตหมู่บ้าน 800 ปีของนางชีคาทอลิก เป็นหอพักนักศึกษาในเบลเยียม
บรรยากาศ ‘เบกีนาจ’ ในอดีต
ภาพ : The Archives of Ghent University

Beguines ผู้หญิงศักดิ์สิทธิ์

คำถามนี้ด้วยเวลาที่ล่วงมาหลายศตวรรษ ก็ยังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ แหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือได้บอกว่าความหมายของคำว่า Beguine (Latin : Beguina) อาจมาจากภาษาเก่าของแซกซัน (Old Saxon) คือคำว่า Beggen หรือแปลว่า To Beg การวอนขอ หรือ To Pray การภาวนา อย่างไรก็ตาม สมมติฐานนี้ไม่ได้มีการยอมรับอย่างแพร่หลาย รวมไปถึงสมมติฐานที่บอกว่าคำว่า Beguine ที่อาจเพี้ยนมาจากคำว่า Beige ในภาษาฝรั่งเศสโบราณ ซึ่งเป็นสีชุดที่กลุ่มผู้หญิงเหล่านี้สวมใส่

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้หญิงเหล่านี้ถูกเรียกว่า Beguine ครั้งแรก จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 12 ในเมือง Liège ซึ่งได้อธิบายว่า พวกเขาคือผู้หญิงศักดิ์สิทธิ์ Holy Women (Latin : Mulieres Sanctae, Mulieres Religiosae) ต่อมาในช่วงกลางศตวรรษที่ 13 กลุ่มเหล่านี้ได้แพร่หลายออกไปในอาณาเขต ซึ่งปัจจุบันคือประเทศเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และภาคเหนือของประเทศฝรั่งเศส 

Great Beguinage Leuven รีโนเวตหมู่บ้าน 800 ปีของนางชีคาทอลิก เป็นหอพักนักศึกษาในเบลเยียม
Beguine of Ghent ราว ค.ศ. 1840
ภาพ : en.wikipedia.org

การเคลื่อนไหวของ ‘เบอแกน’ เริ่มต้นจากผู้หญิงชั้นสูง และค่อยๆ กระจายลงมายังชนชั้นกลาง โดยมุ่งเน้นที่การอุทิศตนเพื่อพระเจ้าและการภาวนา ช่วยเหลือคนยากจนและปัญหาของเศรษฐกิจสังคมในสมัยนั้น ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้รับการยอมรับในเขตเมือง

ในอดีตเบอแกนอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน ซึ่งเรียกว่า ‘เบกีนาจ’ โดยไม่เคยได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากสันตสำนักที่กรุงโรม ดังนั้น จึงเป็นเพียงกลุ่มของผู้หญิงผู้มีความเชื่อที่อยู่ร่วมกันและปฏิบัติศาสนกิจร่วมกัน นอกจากนั้นการอยู่อาศัยในรูปแบบชุมชนปิดยังสะท้อนถึงการพึ่งพาตนเอง ลักษณะพิเศษของชุมชนเหล่านี้ถูกเรียกว่า ‘เมืองในเมือง’ (Towns in Towns) อ่านมาถึงตรงนี้ ห้ามเชื่อมโยงกับเขตทาวน์อินทาวน์ที่ลาดพร้าวนะครับ ถึงเป็นย่านเมืองในเมืองเหมือนกัน แต่ไม่ได้มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด 

มาที่สาระกันต่อ พวกเขาได้พัฒนางานหัตกรรม Lace Making หรือการถักลายลูกไม้ ซึ่งกลายเป็นของฝากเลื่องชื่อของประเทศเบลเยียมในปัจจุบัน 

Great Beguinage Leuven รีโนเวตหมู่บ้าน 800 ปีของนางชีคาทอลิก เป็นหอพักนักศึกษาในเบลเยียม
บรรยากาศเบอแกน ขณะทำงานหัตถกรรมลูกไม้ (Lace Making)
ภาพ : adore.ugent.be
Great Beguinage Leuven รีโนเวตหมู่บ้าน 800 ปีของนางชีคาทอลิก เป็นหอพักนักศึกษาในเบลเยียม
เบอแกนขณะสวดภาวนาภายในโบสถ์นักบุญยอห์นบัปติสต์ในเมืองเลอเวิน
ภาพ : Archief R. Lemaire, Centrale Bibliotheek, KU Leuven

การขึ้นทะเบียนมรดกโลก

เบกีนาจเริ่มต้นราวคริสตศตวรรษที่ 13 และอยู่เรื่อยมาจนถึงยุครุ่งเรืองในราวคริสตศตวรรษที่ 16 และ 17 ดังนั้น รูปแบบสถาปัตยกรรมของเบกีนาจส่วนใหญ่จึงเป็นรูปแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมกอธิก เรอเนซองส์ และบาโรก ซึ่งส่วนใหญ่สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมโบสถ์ที่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน ภายนอกมักสร้างรูปแบบสถาปัตยกรรมกอธิก แต่ภายในมักจะประดับประดาด้วยงานสถาปัตยกรรมภายในรูปแบบบาโรก ซึ่งเติมแต่งในยุครุ่งเรืองช่วงคริสตศตวรรษที่ 16 และ 17 

จากการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในประเทศแถบนี้ จากปัญหาทางการเมืองตามที่เราเคยได้ยินเรื่องปฏิวัติฝรั่งเศสและสงครามโลก ทำให้เบกีนาจเกือบทั้งยุโรปหายไป เหลืออยู่เพียงภายในประเทศเบลเยียมเท่านั้น เบกีนาจเหล่านี้ยังคงสภาพดั้งเดิม ด้วยเหตุนี้ เองชาวเบลเยียมจึงได้เขียนคุณค่าและความสำคัญของเบกีนาจรายงานต่อยูเนสโก จนได้รับการยอมรับเป็นมรดกโลก (Serial Nominations) ในปีคริสตศักราช 1998 

การได้รับการยอมรับเป็นมรดกโลกนั้นมักคำนึงถึงปัจจัยหลัก 4 ประการ คือ คุณค่าโดดเด่นสากล บูรณภาพ ความแท้ และแผนการจัดการมรดกวัฒนธรรม ต่อจากนี้ไปอาจมีสาระนิดหน่อยนะครับ เพราะอยากให้เข้าใจว่าจริงๆ การได้เป็นมรดกโลกนั้นเริ่มกันยังไง และต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

ปกติแล้ว UNESCO มีเกณฑ์ 10 ข้อ ซึ่งหากตัวมรดกวัฒนธรรมนั้นมีคุณค่าเพียงข้อเดียว ก็ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกได้ อย่างเมืองมรดกโลกกรุงศรีอยุธยาของเราผ่านเกณฑ์คุณค่าเพียงแค่ข้อเดียว ก็ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแล้ว

แต่ที่เบกีนาจ มีคุณค่าโดดเด่นสากล (Outstanding Universal Value) ถึง 3 ประการ คือ 

  1. ลักษณะทางกายภาพของเบกีนาจโดดเด่น จากการตั้งถิ่นฐานที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมทางศาสนาและแบบแผนที่เรียกว่า the Flemish Cultural Region
  2. เบกีนาจเป็นหลักฐานอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของวัฒนธรรมแบบแผน ของกลุ่มผู้หญิงที่มีความเชื่อในยุคกลางบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรป (คุณค่าข้อนี้เป็นข้อเดียวกันกับอยุธยา ซึ่งถือว่าแสดงการพัฒนาและความโดดเด่นของศิลปะชาติไทย)
  3. รูปแบบสถาปัตยกรรมเบกีนาจโดดเด่น ผสมผสานระหว่างลักษณะสถาปัตยกรรมทางศาสนาในยุคกลาง ที่สะท้อนคุณค่าของรูปแบบชีวิตทางศาสนาและสภาพทั่วไปของชุมชนในสังคมนั้น

เมื่อเราพูดถึงบูรณภาพ (Integrity) อาจเป็นคำที่หลายคนเพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรก อธิบายง่ายๆ ก็คือความครบถ้วนบริบูรณ์ ในความหมายของ UNESCO ลักษณะชุมชนปิดของเบกีนาจ ทำให้รักษาความสมบูรณ์ของชุมชนที่ตั้งอยู่ในเมืองได้อย่างดี นัยหนึ่งคือตัดขาดออกจากเมือง และอีกนัยหนึ่งคือแสดงออกและรักษาอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของสภาพดั้งเดิมไว้ได้อย่างดีภายในกำแพงและประตูรั้วล้อมรอบหมู่บ้านนั่นเอง หากเราเปรียบเทียบกับอยุธยา บูรณภาพของอยุธยาคือการที่เจดีย์เก่าต่างๆ ได้รับการรักษาให้อยู่ในสภาพดี และตำแหน่งคูคลองถนนโบราณยังคงแสดงออกถึงความครบถ้วนบริบูรณ์ดั้งเดิม ดังนั้นอยุธยาจึงมีบูรณภาพเป็นที่ยอมรับนั่นเอง

ความแท้ (Authenticity) คำศัพท์นี้ถือเป็นระดับสูงสุด เพราะเป็นของที่อธิบายยากสักหน่อย ขออธิบายง่ายๆ ว่า เราทุกคนเกิดมามีใบหน้าของเราที่ธรรมชาติให้มา ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม ซึ่งหากเราไม่ทำอะไรกับใบหน้านี้เลย เมื่อเวลาผ่านไปจนเราอายุมาก ใบหน้าก็อาจเกิดริ้วรอย กลากเกลื้อน และอื่นๆ 

สิ่งนี้เองเป็นเครื่องสะท้อนว่า ใบหน้าเราผ่านกาลเวลามานาน มีความแท้หนึ่งเดียวที่เป็นใบหน้าเรา ซึ่งหากเราไปทำศัลยกรรม เสริมดั้ง ตาสองชั้น หรือฉีดฟิลเลอร์เข้าไป (สิ่งนี้อาจเปรียบได้ในเชิงอนุรักษ์คือ Repair, Re-habilitation, Reconstruction หรือ Restoration) ถ้าคนยังพอจำได้ว่าเป็นใบหน้าเราอยู่ ก็เท่ากับว่าเรายังมีความเป็นของแท้ แต่วัสดุหน้าเปลี่ยนไปเท่านั้นเอง ซึ่งถือว่ามีหนึ่งเดียว ไม่เหมือนใคร แต่ความแท้มากน้อยแค่ไหนนั้น ก็วิพากษ์วิจารณ์กันได้ต่อไป

สำหรับมรดกวัฒนธรรมอย่างเบกีนาจ ความแท้ค่อนข้างชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย กล่าวคือ ถึงกลุ่มเบอแกนจะหมดไปจากเบลเยียมแล้ว แต่ที่ตั้ง (Setting) ของหมู่บ้านเหล่านี้เองถูกรักษาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ซึ่งเป็นความแท้ที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ของชุมชน ความสงบ และพื้นที่ที่ถ่ายทอดอัตลักษณ์ของชุมชนและพื้นที่ปิดล้อม นอกจากนั้นสภาพแวดล้อมแบบยูโธเปีย (Eutopian Setting) ยังคงแสดงออกผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมของชุมชนให้สัมผัสได้ในปัจจุบัน

ท้ายสุด การได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะต้องมีแผนการจัดการเพื่อรักษา คุณค่า บูรณภาพ และความแท้ให้คงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งแผนการจัดการนี้จะต้องถูกเขียนขึ้นอย่างบูรณาการจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเป็นการยืนยันว่าจะรักษาสภาพที่ดีของมรดกโลกเหล่านี้ต่อไปได้ หากวันใดวันหนึ่งคุณค่า ความแท้ หรือบูรณภาพ ถูกลดทอนไป ก็อาจถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกที่ถูกคุกคาม และอาจถูกเพิกถอนการประกาศได้ในที่สุด ดังนั้น การดูแลรักษาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องและประเมินตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

Great Beguinage Leuven (Groot Begijnhof Leuven)

เนื่องจากงานวิจัยของผมนั้นมุ่งศึกษากำแพงของเบกีนาจที่เมืองเลอเวิน ดังนั้นผมจึงได้มีโอกาสค้นคว้าข้อมูลในหอจดหมายเหตุของเมืองและของมหาวิทยาลัย เพื่อประกอบการเขียนเล่มวิทยานิพนธ์ของผมเป็นส่วนใหญ่ ผมจึงอยากแบ่งปันข้อมูลส่วนที่เป็นประวัติศาสตร์คร่าวๆ เพื่อให้เข้าใจสภาพว่าหมู่บ้านเบกีนาจที่เลอเวินนั้นเกิดขึ้นและพัฒนาอย่างไรจนถึงทุกวันนี้

Great Beguinage Leuven รีโนเวตหมู่บ้าน 800 ปีของนางชีคาทอลิก เป็นหอพักนักศึกษาในเบลเยียม
แผนที่เมืองเลอเวินปีคริสตศักราช 1363
ภาพ 1363 PRENT, zonder datum, Archief R. Lemaire, Centrale Bibliotheek, KU Leuven

เบกีนาจในเมืองเลอเวินก่อตั้งขึ้นประมาณปีคริสตศักราช 1232 ซึ่งก่อตั้งขึ้นนอกกำแพงเมือง 

ในยุคแรกเริ่ม เห็นได้จากแผนที่เก่าของเมืองเลอเวินในราวปีคริสตศักราช 1363 ที่ระบุตำแหน่งของโบสถ์นักบุญยอห์นบัปติสต์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับแม่น้ำแดเลอ (Dijle) อย่างไรก็ตาม ตอนผมทราบว่าเขามีแผนที่ย้อนกลับไปถึงเมื่อเกือบ 800 ปีที่แล้วก็แอบตกใจนะครับ ที่ไทยเองเวลาค้นเจอแผนที่ร้อยกว่าปีก็รู้สึกมีคุณค่ามากมายแล้ว

Great Beguinage Leuven รีโนเวตหมู่บ้าน 800 ปีของนางชีคาทอลิก เป็นหอพักนักศึกษาในเบลเยียม
ภาพขยายแผนที่เมืองเลอเวินปีคริสตศักราช 1363
ภาพ 1363 PRENT, zonder datum, Archief R. Lemaire, Centrale Bibliotheek, KU Leuven

นอกเหนือไปกว่านั้น แผนที่ยังถูกเขียนเป็นภาพสามมิติไอโซเมตริก ซึ่งแสดงองค์ประกอบสำคัญของเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว เราจะเห็นว่าอาคารโบสถ์ส่วนใหญ่สร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมกอธิกซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น แต่นอกจากตัวโบสถ์แล้วไม่ได้ระบุตำแหน่งอาคารโดยรอบของหมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยทางด้านประวัติศาสตร์ระบุไว้ว่า หมู่บ้านเริ่มก่อตั้งในปีคริสตศักราช 1305 โดยเป็นอาคารโครงสร้างไม้ประกอบกับดิน ซึ่งเราพอจะเห็นความชัดเจนของหมู่บ้านมากขึ้นจากแผนที่ที่เขียนขึ้นราว 200 ปีให้หลัง ซึ่งให้รายละเอียดของหมู่บ้านเบกีนาจเลอเวินไว้อย่างดี 

นักศึกษาไทยที่วิจัยกำแพงหมู่บ้านโบราณเบลเยียม พาไปไขความลับในหมู่บ้านแห่งหญิงโสดและแม่ม่าย ซึ่งกลายเป็นพื้นที่มรดกโลก
แผนที่เก่าราวคริสตศตวรรรษที่ 16 แสดงอาณาบริเวณ ‘เบกีนาจเลอเวิน’
ภาพ : the 16th isometric illustration of Groot Begijnhof Leuven by Croÿ

จากแผนที่ เราจะเห็นว่าตัวอาคารโบสถ์ซึ่งสร้างในคริสตศตวรรษที่ 13 รายล้อมด้วยอาคารบ้านเรือนขนาดเล็ก และล้อมรอบด้วยกำแพง ซึ่งภายในกำแพงนี้เองเป็นพื้นที่ที่เหล่าเบอแกนใช้ชีวิตอยู่ 

ซึ่งเมื่อเรามาดูแผนที่เกือบ 400 ปีที่แล้วกันต่อ เราจะเห็นพื้นที่สีเขียวที่ขยายต่อไปด้านทิศใต้ ซึ่งเหล่าผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า อาจเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่เบอแกนใช้เพาะปลูกเพื่อเลี้ยงดูหมู่บ้าน 

นักศึกษาไทยที่วิจัยกำแพงหมู่บ้านโบราณเบลเยียม พาไปไขความลับในหมู่บ้านแห่งหญิงโสดและแม่ม่าย ซึ่งกลายเป็นพื้นที่มรดกโลก
ภาพวาดทิวทัศน์เมืองเลอวเวินแสดงบรรยากาศของเมืองโดยเราสามารถเห็นหอระฆังของเบกีนาจ (Beguinage) และ ซินควินเทอน (Sint-Quinten) ซึ่งตั้งอยู่กลางภาพ 
ภาพ : Stadsgezicht van Leuven by Antoon Van Den Wijngaerde, [1557-1559] – Oxford, Ashmolean Museum, University of Oxford

เมื่อถึงยุครุ่งเรืองในคริสตศตวรรษที่ 17 อาคารแทบทั้งหมดถูกทดแทนด้วยอาคารก่ออิฐรูปแบบเฟลมมิชเรอเนซองส์ เราอาจเห็นความหนาแน่นของหมู่บ้านได้จากแผนที่ของบราว (Blaeu, 1649) อย่างไรก็ตาม รายละเอียดก็ไม่ได้แสดงอย่างชัดเจนเหมือนแผนที่ในยุคก่อนหน้า เพราะนักประวัติศาสตร์ในยุคต่อมาได้เล่าว่า การเข้าไปในพื้นที่หลังกำแพงนั้นก่อน ค.ศ.​ 1800 เป็นสิ่งที่ยากมาก ข้อมูลจึงอาจไม่ระเอียดดังแผนที่ยุคก่อนหน้า ซึ่งผู้เขียนแผนที่อาจถูกเชื้อเชิญให้เข้าไปวาดเป็นพิเศษ

นักศึกษาไทยที่วิจัยกำแพงหมู่บ้านโบราณเบลเยียม พาไปไขความลับในหมู่บ้านแห่งหญิงโสดและแม่ม่าย ซึ่งกลายเป็นพื้นที่มรดกโลก
Map of Leuven by BLAEU, 1649
ภาพ : Bibliotheek Campus Arenberg, KU Leuven

นอกจากแผนที่แล้ว ช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 18 เริ่มมีบันทึกต่างๆ ระบุว่ามีผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านกว่า 300 คน แต่นั่นก็เป็นช่วงที่หนาแน่นที่สุดก่อนเข้าสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสในเวลาต่อมา ซึ่งทำให้สิทธิการครอบครองที่ดินเปลี่ยนจากการปกครองตนเองของเบกีนาจ เป็นครอบครองโดยรัฐ Commissie van Openbare Onderstand (Public Welfare Commission) ซึ่งเจ้าของใหม่ก็ใจดียินยอมให้เบอแกนอาศัยอยู่ในที่ดิน และดำเนินกิจวัตรประจำวันต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม จำนวนของผู้อยู่อาศัยลดลงอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและเด็กกำพร้า บ้านเรือนถูกปล่อยเช่าในราคาที่ถูก นักประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในยุคดังกล่าวว่า ‘เป็นชุมชนที่มีสถาพถดถอยของหญิงชรา’ 

จุดเปลี่ยน

ฟังไปก็ดูหน้าเศร้านะครับสำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และโดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความถดถอย เมื่อผมค้นคว้าเอกสารในหอจดหมายเหตุของมหาวิทยาลัยและของเมืองเลอเวิน ภาพถ่ายต่างๆ ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 20 ยิ่งสะท้อนสภาพของชุมชน และเบอแกนกลุ่มสุดท้ายที่ภาพถ่ายบันทึกวิถีชีวิตของพวกเขาไว้ได้ ผมจึงขอเลือกสักภาพสองภาพมาแบ่งปันกัน

นักศึกษาไทยที่วิจัยกำแพงหมู่บ้านโบราณเบลเยียม พาไปไขความลับในหมู่บ้านแห่งหญิงโสดและแม่ม่าย ซึ่งกลายเป็นพื้นที่มรดกโลก
เบอแกนกลุ่มสุดท้ายในเมืองเลอเวิน
ภาพ : Archief R. Lemaire, Centrale Bibliotheek, KU Leuven

ผลของการปฏิวัติฝรั่งเศสทำให้ที่ดินตกเป็นของรัฐ ประกอบกับจำนวนที่ลดลงของผู้อยู่อาศัย สภาพการจัดการของเบกีนาจก็เสื่อมโทรมลงจนในที่สุดรัฐต้องประกาศประกาศขายหมู่บ้าน ซึ่งไม่ใช่แค่ประกาศขายอย่างเดียว แต่เป็นการประกาศขายที่ระบุว่า ผู้ซื้อต้องซ่อมหมู่บ้านให้อยู่ในสภาพดีด้วย

นักศึกษาไทยที่วิจัยกำแพงหมู่บ้านโบราณเบลเยียม พาไปไขความลับในหมู่บ้านแห่งหญิงโสดและแม่ม่าย ซึ่งกลายเป็นพื้นที่มรดกโลก
บรรยากาศภายในบ้านพักของเบอแกน
ภาพ : Archief R. Lemaire, Centrale Bibliotheek, KU Leuven

ในช่วงเวลานั้นคนสนใจก็มีน้อย และใครจะมีเงินมากพอซื้อและซ่อมหมู่บ้านนี้ได้ นอกไปจากมหาวิทยาลัยคาทอลิกแห่งเมืองเลอเวิน ผ่านการโน้มน้าวของ ศาสตราจารย์เลมอนด์ เลอแมร์ (Prof. Raymond M. Lemaire) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม และหนึ่งในผู้เขียนกฏบัตรเวนิส (Venice Charter) หมู่บ้านแห่งนี้ก็ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยราวปีคริสตศักราช 1962 

จากจุดเริ่มต้นนี้เอง มหาวิทยาลัยได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์เลอแมร์ บูรณะอาคารในหมู่บ้านทั้งหมด เพื่อใช้เป็นที่พักของอาจารย์ และนักศึกษาจากทั่วโลก นับจากเวลานั้นเองการบูรณะครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้น

นักศึกษาไทยที่วิจัยกำแพงหมู่บ้านโบราณเบลเยียม พาไปไขความลับในหมู่บ้านแห่งหญิงโสดและแม่ม่าย ซึ่งกลายเป็นพื้นที่มรดกโลก
ตัวอย่างแบบรังวัดอาคารในช่วงการสำรวจอาคารเพื่อการบูรณะ
ภาพ : Archief R. Lemaire, Centrale Bibliotheek, KU Leuven

เริ่มต้นจากการสำรวจอาคารทุกหลัง ซึ่งในขณะนั้นมีสภาพเสื่อมโทรมอย่างมากถึงมากที่สุด เนื่องจากอาคารดูต่อเติมดัดแปลงต่อกันหลายศตวรรษ ทำให้การค้นหาความแท้ไม่ใช่เรื่องง่าย และภายนอกอาคารทั้งหมดทาทับด้วยปูนหมักผสมสีขาว (Limewash-layer) ซึ่งเป็นกระบวนการอนุรักษ์อาคารอย่างหนึ่ง เพื่อรักษาสถาพของอิฐและยาแนวของผนังไม่ให้เสื่อมโทรม

ผ่านการบูรณาการกฏบัตรอนุรักษ์สากลอย่างเวนิสชาร์เตอร์ ศาสตราจารย์เลอแมร์ เลือกบูรณะอาคารให้กลับไปอยู่ในสภาพดั้งเดิมในช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่ถูกทาทับด้วยปูนหมักผสมสี ดังนั้น การบูรณะครั้งใหญ่เพื่อลอกชั้นปูนหมักผสมสีออกทั้งหมู่บ้านจึงเกิดขึ้น 

นักศึกษาไทยที่วิจัยกำแพงหมู่บ้านโบราณเบลเยียม พาไปไขความลับในหมู่บ้านแห่งหญิงโสดและแม่ม่าย ซึ่งกลายเป็นพื้นที่มรดกโลก
ภาพถ่ายเปรียบเทียบก่อนและระหว่างบูรณะ
ภาพ : Archief R. Lemaire, Centrale Bibliotheek, KU Leuven

การเปิดหน้างานบูรณะอาคารนั้นต้องค่อยๆ ทำ เพราะจริงๆ แล้วการลอกเปลือกอาคารออก นัยหนึ่่งคือการทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไปด้วย แต่หากตัดสินใจแล้วก็ต้องเก็บข้อมูลให้มากที่สุด จากภาพเราจะเห็นว่า เมื่อลอกชั้นปูนหมักผสมสีออก ผนังอิฐเปลือยก็เผยโฉมสู่สายตาผู้คนอีกครั้ง ซึ่งเรารู้ได้ว่าอาคารถูกสร้างเป็นอิฐเปลือยแต่แรก ก็จากลักษณะของการเรียงอิฐที่เป็นแบบแผน

นักศึกษาไทยที่วิจัยกำแพงหมู่บ้านโบราณเบลเยียม พาไปไขความลับในหมู่บ้านแห่งหญิงโสดและแม่ม่าย ซึ่งกลายเป็นพื้นที่มรดกโลก
บางครั้งในชั้นประวัติศาสตร์ก่อนหน้าเราอาจเจอหลักฐานที่บ่งบอกเวลาในการก่อสร้าง เช่นภาพนี้ ภายหลังการลอกชั้นปูนหมักผสมสีออกก็ค้นพบหลักฐาน ซึ่งบ่งบอกว่าอาคารถูกสร้างขึ้นในปีคริสตศักราช 1674
ภาพ : Archief R. Lemaire, Centrale Bibliotheek, KU Leuven

จากสภาพภายนอกที่ค่อยๆ เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีส้มอิฐ สภาพภายในอาคารเองก็ถูกแทนที่ด้วยเฟอร์นิเจอร์และองค์ประกอบสมัยใหม่ เพื่อตอบรับการอยู่อาศัยในปัจจุบัน ดังนั้น แนวคิดในการอนุรักษ์ของกฏบัตรเวนิสที่กล่าวไว้ว่า การใช้ของใหม่ ควรแสดงออกถึงความแตกต่างจากของเดิมอย่างชัดเจน ก็ได้ถูกถ่ายทอดผ่านการปรับปรุงสภาพภายในนี้เอง

นักศึกษาไทยที่วิจัยกำแพงหมู่บ้านโบราณเบลเยียม พาไปไขความลับในหมู่บ้านแห่งหญิงโสดและแม่ม่าย ซึ่งกลายเป็นพื้นที่มรดกโลก
ภาพร่างแนวคิดออกแบบการอยู่อาศํยภายในอาคารเก่าเพื่อการปรับปรุง
ภาพ : Archief R. Lemaire, Centrale Bibliotheek, KU Leuven
นักศึกษาไทยที่วิจัยกำแพงหมู่บ้านโบราณเบลเยียม พาไปไขความลับในหมู่บ้านแห่งหญิงโสดและแม่ม่าย ซึ่งกลายเป็นพื้นที่มรดกโลก
บรรยากาศห้องพักใต้หลังคาในเบกีนาจ
ภาพ : Archief R. Lemaire, Centrale Bibliotheek, KU Leuven

นอกจากนั้น แนวคิดการมองหมู่บ้านเบกีนาจในแบบองค์รวม ถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงเพื่อสร้างบูรณภาพของพื้นที่ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งในเวลาต่อมา แนวคิดนี้เองได้แผ่ขยายไปจนถึงการจัดการพื้นที่สีเขียวภายในหมู่บ้าน เพื่อให้การอยู่อาศัยของยุคสมัยใหม่ไม่แออัดเหมือนในอดีต

เบกีนาจวันนี้

นักศึกษาไทยที่วิจัยกำแพงหมู่บ้านโบราณเบลเยียม พาไปไขความลับในหมู่บ้านแห่งหญิงโสดและแม่ม่าย ซึ่งกลายเป็นพื้นที่มรดกโลก
บรรยากาศเบกีนาจเลอเวินในฤดูใบไม้ผลิ
ภาพ : dontthinktoomuch.com

หลังจากการบูรณะเสร็จสิ้นลงราวปีคริสตศักราช 1970 อาจารย์และนักศึกษาก็ทยอยเข้ามาอยู่อาศัยจนถึงทุกวันนี้ ณ ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าการเข้ามาอยู่ที่หมู่บ้านนี้ก็ต้องต่อสู้กับคนเยอะหน่อย เพราะนอกจากราคาค่าเช่าที่ค่อนข้างสูงกว่าอาคารพักอาศัยทั่วไปแล้ว ยังต้องเขียน Motivation letter อธิบายว่าทำไมเบกีนาจถึงควรรับเราเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านนี้ (ก็เพราะเราอยากอยู่ไหม มีตลกร้ายบอกว่าการเข้าอยู่ในเบกีนาจ ยากกว่าสอบเข้ามหาวิทยาลัยอีก)

นักศึกษาไทยที่วิจัยกำแพงหมู่บ้านโบราณเบลเยียม พาไปไขความลับในหมู่บ้านแห่งหญิงโสดและแม่ม่าย ซึ่งกลายเป็นพื้นที่มรดกโลก
บรรยากาศเบกีนาจเลอเวินในฤดูร้อน
ภาพ : www.uitinleuven.be

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ถูกปรับปรุงเป็นที่พักอาจารย์และนักศึกษา พื้นที่แห่งนี้ก็มีชีวิติชีวาอีก เพราะนอกจากอาคารมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นแล้ว การที่เป็นพื้นที่สีเขียวของเมือง รวมถึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักในเมืองเลอเวิน ทำให้โดยปกติมักจะมีกิจกรรมมากมายเกิดขึ้นในหมู่บ้าน และในฤดูร้อน ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุ่งหญ้าสีเขียวที่รายล้อมไปด้วยอาคารโบราณ ช่างอบอุ่นและดึงดูดให้มีผู้คนมานอนอาบแดด ดื่มเบียร์กันตามภาษาชาวเบลเยียมอย่างสุขกายสบายใจ

นักศึกษาไทยที่วิจัยกำแพงหมู่บ้านโบราณเบลเยียม พาไปไขความลับในหมู่บ้านแห่งหญิงโสดและแม่ม่าย ซึ่งกลายเป็นพื้นที่มรดกโลก
ในช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูหนาว เบกีนาจจะมีคืนแห่งแสงเทียน เทียนนับพันดวงถูกจุดและประดับประดารอบหมู่บ้าน เพื่อให้ผู้คนได้มาเดินชมความงามของหมู่บ้านในยามค่ำคืน และต้อนรับสู่ฤดูหนาวที่ค่ำคืนยาวนานขึ้น
ภาพ : leveninleuven.be
หนึ่งในอาคารเพียงไม่กี่หลังที่ยังใช้ปูนหมักผสมสีฉาบผนังอาคาร เนื่องจากค้นพบว่าเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมก่อนศตวรรษที่ 17 ซึ่งการใช้ปูนหมักประกอบกับโครงสร้างไม้และผนังก่ออิฐ เป็นกรรมวิธีที่ควรอนุรักษ์เนื่องจากเป็นงานช่างของยุคสมัยนั้น
ภาพ : dontthinktoomuch.com

ท้ายที่สุดแล้ว ผมก็ยังนั่งทำวิจัยเรื่องกำแพงเก่าต่อไป เพราะว่าหมู่บ้านทั้งหมดได้รับการบูรณะ แต่กำแพงรอบหมู่บ้านกลับเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับการรักษาให้ดีเท่าที่ควร มันยังเป็นพื้นที่สุดท้ายที่ร่องรอยของปูนหมักผสมสียังปรากฏให้เห็นเป็นเครื่องหมายแห่งกาลเวลาที่ไม่ได้ถูกทำลายไป ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจมากก็คือ ในพื้นที่ที่ดูเหมือนจะไม่สำคัญ แต่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์มีสภาพเสื่อมโทรม เราควรจะเสนอแนวทางในการอนุรักษ์ และดูแลรักษาอย่างไร หากมีโอกาส ผมคงได้มีโอกาสแบ่งปันเรื่องกำแพงโบราณอายุกว่า 400 ปีต่อไปครับ 

หากท่านผู้อ่านสนใจอ่านข้อมูลเพิ่มเติม ก็สามารถเข้าไปในเว็บไซต์ของยูเนสโกได้ครับ

Writer

Avatar

อภิชาติ กิตติเมธาวีนันท์

โตมากับวัดกาลหว่าร์ หลงใหลในประวัติศาสตร์ คริสตศาสนา และการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม