“ผมมีความฝัน”

ประโยคสั้นๆ ที่ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชื่อก้องชาวอเมริกันกล่าวเอาไว้ ในการปราศรัยเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกอบอาชีพและอิสรภาพของพลเมือง ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เมื่อกว่า 60 ปีที่แล้ว 

ประโยคที่ทรงพลังนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ เป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนสิทธิและความเท่าเทียมไปทั่วโลก

เพราะความฝันเป็นเรื่องที่เรามีกันได้ทุกคน ไม่จำกัดสีผิว ชนชั้น ที่มา และฐานะทางสังคม

แคมเปญ I HAVE A DREAM เป็นความร่วมมือกันระหว่าง Greyhound Original แบรนด์สตรีทแฟชั่นสัญชาติไทยที่ใครๆ ก็คุ้นหู กับ The Hub Saidek ศูนย์ลดความเสี่ยงสำหรับเด็กไร้บ้าน ที่อยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิสายเด็ก 1387 

Greyhound X The Hub Saidek ที่ใช้แฟชั่นไฟฉายขยายส่วนให้เห็นความฝันของเด็กไร้บ้านชัดขึ้น
Greyhound X The Hub Saidek ที่ใช้แฟชั่นไฟฉายขยายส่วนให้เห็นความฝันของเด็กไร้บ้านชัดขึ้น

The Hub Saidek มีหน้าที่หลักคือการดูแลเด็กที่ประสบความยากลำบากจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ไม่ได้รับการยอมรับเพราะความหลากหลายทางเพศ ไปถึงการค้ามนุษย์ จนทำให้พวกเขาต้องออกจากบ้านมาใช้ชีวิตอยู่บนถนน 

Greyhound X The Hub Saidek ที่ใช้แฟชั่นไฟฉายขยายส่วนให้เห็นความฝันของเด็กไร้บ้านชัดขึ้น

วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ เต๋า-วุฒิชัย วงศ์ใหญ่ เจ้าหน้าที่สื่อสารและระดมทุนของมูลนิธิสายเด็ก 1387 ที่เป็นผู้ออกปากชวน บี-บดินทร์ อภิมาน Creative Director จาก Greyhound ให้มาทำหน้าที่ ‘ไฟฉายขยายส่วน’ เพื่อให้เรื่องราวของเด็กไร้บ้านถูกมองเห็นในวงที่กว้างมากขึ้น รวมถึงเจ้าหน้าที่อีก 2 ท่าน กานต์-กานต์ มงคล และ แจม-ธัญญ์นภัส วิริยาวัชรนนท์ จาก The Hub Saidek ที่รับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลเด็กๆ ตลอดโครงการ

เหมือนฝัน

การได้มาร่วมงานกันระหว่างสององค์กรไม่ใช่เรื่องบังเอิญ 

เต๋าเปิดประเด็นให้เราฟังว่า เขาเพิ่งเริ่มทำงานด้านการสื่อสารกับมูลนิธิสายเด็ก 1387 เมื่อต้น พ.ศ. 2563 ส่วนตัวมีความสนใจด้านแฟชั่นอยู่แล้วเป็นทุน เมื่อได้เห็นแฟชั่นโชว์คอลเลกชัน Autumn Winter 2019 “Street Of Bangkok” ของ Greyhound Original ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากถนนของกรุงเทพฯ เขาจึงไม่รีรอที่จะติดต่อเข้าไปหา Greyhound ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจทันทีเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อชักชวนให้มาทำอะไรสักอย่างร่วมกัน

“ผมมองว่าบริบทของเด็กที่ The Hub Saidek น่าจะตรงกับเสื้อผ้าของ Greyhound เพราะเด็กที่นี่ก็เป็นเด็กสตรีท” เต๋าเล่าจุดเริ่มต้น

Greyhound X The Hub Saidek ที่ใช้แฟชั่นไฟฉายขยายส่วนให้เห็นความฝันของเด็กไร้บ้านชัดขึ้น
Greyhound X The Hub Saidek ที่ใช้แฟชั่นไฟฉายขยายส่วนให้เห็นความฝันของเด็กไร้บ้านชัดขึ้น

ทางฝั่ง Greyhound เอง ในโอกาสที่อายุครบ 40 ปี ทางแบรนด์ก็มีวาระในใจว่าอยากจะทำให้แฟชั่นกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตจริงของผู้คนให้มากขึ้น ผ่านคอนเซปต์ #FromFashionToLife ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดการสอดแทรกประสบการณ์พิเศษเข้าไปในการรับประทานอาหารของ Greyhound Cafe หรือการร่วมมือกับ IKEA ซึ่งเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์เฟอร์นิเจอร์

ในฝั่งของการทำเพื่อสังคม ช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็มีแคมเปญที่เกิดขึ้นภายใต้คอนเซปต์นี้แล้ว เช่น Smileyhound แบรนด์ลูกของ Greyhound จัดงานวิ่งแบบ Virtual Run ระดมทุนไปช่วยเหลือเด็กโรคหัวใจ 

นั่นทำให้การติดต่อเข้ามาของ The Hub Saidek นั้นช่างเข้ากันดีกับความตั้งใจของ Greyhound

“ตอนที่เต๋าติดต่อเข้ามาทางเฟซบุ๊กเพจ ผมไปนั่งอ่านเองเลย คิดในใจว่า เฮ้ย มาแล้วว่ะ ตอนแรกผมคิดโปรเจกต์ไว้ในหัวก่อนด้วยว่าอยากทำอะไรประมาณนี้ แล้วเขาก็เข้ามา” บีเล่า

ที่ไม่น่าเชื่อก็คือ บีเองก็เพิ่งจะเข้ามาอยู่ในตำแหน่ง Creative Director ของทาง Greyhound เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เหมือนกัน ความประจวบเหมาะของจังหวะเวลานี้จึงไม่น่าเป็นแค่ความบังเอิญ แต่น่าจะเรียกว่าเหมือนฝันเลยก็ได้

เมื่อคนที่มีฝันเดียวกันได้มาพบกัน ความมันก็บังเกิด

Greyhound X The Hub Saidek ที่ใช้แฟชั่นไฟฉายขยายส่วนให้เห็นความฝันของเด็กไร้บ้านชัดขึ้น

ฝันให้ไกล

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Greyhound ทำแคมเปญเพื่อสังคม ก่อนหน้านี้เราได้เห็นทางแบรนด์ร่วมแจมกับโปรเจกต์ Limited Education ที่รณรงค์เรื่องการศึกษามาแล้ว แต่นี่เป็นโปรเจกต์แรกที่บีเข้ามาทำงานเป็นครีเอทีฟเองเต็มตัว งานแรกของบีในฐานะครีเอทีฟจึงเป็นการทำความเข้าใจว่า ทางมูลนิธิกำลังทำงานอะไรอยู่ มีความท้าทายอะไร

เนื้อหาหลักในการประชุมครั้งแรกของแคมเปญ จึงเป็นการรับฟังประสบการณ์จากเต๋า กานต์ และแจม ในการทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน ซึ่งมีตั้งแต่การดูแลเรื่องพื้นฐาน สอนให้เด็กรู้จักรักษาความสะอาดของร่างกาย การเยียวยาทางจิตใจ สำหรับเคสที่เด็กเคยผ่านประสบการณ์ที่ไม่ดีมา ไปจนถึงการสนับสนุนทักษะอาชีพ

ความท้าทายหนึ่งในการทำงานของ The Hub Saidek ย่อมหนีไม่พ้นประเด็นละเอียดอ่อนในการสื่อสารกับบุคคลภายนอก เพราะเรื่องราวเบื้องหลังและประสบการณ์ของเด็กเร่ร่อนนั้นมักถูกมองว่า ‘น่าสงสาร’

หลังจากได้รับฟังเรื่องราวอันซับซ้อนของเด็กๆ จากทีมงานแล้ว บีก็ตระหนักถึงข้อจำกัดของตัวเองและ Greyhound ในฐานะแบรนด์แฟชั่นที่จะยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ แต่เขาก็เลือกที่จะทำในสิ่งที่ Greyhound ทำได้ดีที่สุด จากความสามารถ ผู้คน และสื่อที่มีอยู่ในมือ นั่นคือ การสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ให้สังคมได้รับรู้

โดยมีโจทย์ที่สำคัญ อย่างการทำให้คนอยากสนับสนุนมูลนิธิและเด็กไร้บ้านเหล่านี้ ด้วยความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นคนที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่เพราะความรู้สึกสงสารอย่างที่คนส่วนใหญ่ติดภาพกัน

Greyhound X The Hub Saidek ที่ใช้แฟชั่นไฟฉายขยายส่วนให้เห็นความฝันของเด็กไร้บ้านชัดขึ้น
Greyhound X The Hub Saidek ที่ใช้แฟชั่นไฟฉายขยายส่วนให้เห็นความฝันของเด็กไร้บ้านชัดขึ้น

“เด็กๆ เหล่านี้ไม่ได้ต่างจากคนอื่นในสังคม เป้าหมายของทุกคนคือการอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ” บีเล่า พร้อมบอกเราว่าเขาต้องการเน้นย้ำเรื่องความเท่าเทียมกันมากแค่ไหน

“เราต้องการทำให้เด็กกล้าแสดงออก มีความฝันในตัวเอง และโชว์ออกมาได้อย่างเต็มที่” เต๋าเสริม

ฟังแล้วก็รู้สึกได้ว่า การตั้งโจทย์แบบนี้เป็นการฝันไกลไม่ใช่เล่น จะทำอย่างไรให้คนอยากช่วยโดยไม่รู้สึกสงสาร และนี่คือความท้าทายที่ทั้งสองฝ่ายเผชิญทั้งแต่จุดสตาร์ท

แฟชั่น ก็ไม่ต่างจากฝันของคนที่อยากมีตัวตน

เราถามต่อไปถึงที่มาของเป็นการเล่าเรื่องนี้ผ่านแฟชั่นเซ็ต ซึ่งก็ได้รับคำตอบที่เรียบง่ายแต่กินใจกลับมาว่า แฟชั่นเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างคน ตัวตน และความฝัน

บีเปรียบเทียบให้ฟังง่ายๆ ว่า การที่เราทุกคนแต่งตัว สนใจเรื่องเสื้อผ้าหรือแฟชั่น ก็เป็นเพราะเราต้องการแสดงออกถึงตัวตนให้โลกรับรู้ เราล้วนมีตัวตนที่อยากเป็น เราล้วนฝันอยากเป็นสิ่งที่ดีขึ้นในสายตาของเราเอง และความฝันนี้ย่อมมีอยู่ในทุกคน รวมถึงเด็กไร้บ้านด้วย 

นอกจากนี้การให้เด็กได้ลองมาอยู่หน้ากล้อง อาจจะเป็นการทำให้พวกเขาเห็นตัวตนของตัวเองชัดเจนมากขึ้น และน่าจะช่วยสร้างความมั่นใจ ความภูมิใจในตัวเองให้เกิดขึ้นได้

“การใช้เสื้อผ้าคอลเลกชันสี่สิบปี Greyhound มาให้น้องๆ ใส่ถ่ายแฟชั่นเซ็ต แทนที่จะทำเสื้อยืดสกรีนลายแคมเปญเฉยๆ มันตอบโจทย์ Meaningful Life ของ Greyhound เอง ให้น้องแต่งเต็มกันไปเลย ครบทุกไอเท็ม น่าจะดูสนุกขึ้น รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากการซื้อคอลเลกชันนี้ ก็เอาไปบริจาคให้กับ The Hub Saidek นี่แหละ” บีเชื่อมโยงกลับไปถึงเป้าหมายของแบรนด์

บีเล่าต่อไปว่า ตอนแรกสุดที่ตัดสินใจว่าจะถ่ายแฟชั่นเซ็ต เขารู้สึกหนักใจกับกระบวนการคัดตัว เพราะที่ The Hub Saidek มีเด็กที่เข้ามาพักอาศัยอยู่มากถึง 30 – 50 คน แต่โชคดีที่เต๋า กานต์ และแจม รับหน้าที่นั้นไป

Greyhound X The Hub Saidek ที่ใช้แฟชั่นไฟฉายขยายส่วนให้เห็นความฝันของเด็กไร้บ้านชัดขึ้น
Greyhound X The Hub Saidek ที่ใช้แฟชั่นไฟฉายขยายส่วนให้เห็นความฝันของเด็กไร้บ้านชัดขึ้น

กานต์เล่าย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาที่ทำกิจกรรมว่า เขาเริ่มจากการจัดเวิร์กช็อปให้เด็กๆ ย้อนคิดถึงชีวิตที่ผ่านมา และคิดไปถึงอนาคตว่าอยากเป็นและอยากทำอะไร แล้วให้เด็กๆ ลองวาดภาพออกมาเพื่อเล่าเรื่องนั้น ก่อนจะนำไปบอกเล่าเรื่องความฝันต่อให้ทีม Greyhound ฟัง

เด็กๆ หลายคนตื่นเต้นเมื่อได้ยินว่าจะได้ถ่ายแบบ แต่ก็ยังมีเด็กบางส่วนที่เขินอายและรู้สึกไม่มั่นใจ แจมเล่าให้เราฟังว่า น้องๆ ส่วนใหญ่มีความสามารถ แต่ขาดทักษะการเข้าสังคมหรือเคยโดยกลั่นแกล้งมาก่อน ดังนั้นกระบวนการคัดเลือกจึงต้องเน้นความสมัครใจเป็นหลัก ไม่มีการบังคับกันเกิดขึ้น 

Greyhound X The Hub Saidek ที่ใช้แฟชั่นไฟฉายขยายส่วนให้เห็นความฝันของเด็กไร้บ้านชัดขึ้น

“พอได้เจอหน้าเด็กทั้งเก้าคนที่จะมาเป็นโมเดล เรารู้สึกตื่นเต้นเลย ถ้าทำอะไรแล้วเรารู้สึกตื่นเต้น อยากเห็น เรารู้สึกว่ามันจะดี ทุกคนมีคาแรกเตอร์ แววตาร้ายๆ แบบเด็กที่ใช้ชีวิตเต็มที่ หน้าตาแบบไม่กลัวคน มีพลังกว่าพวกเราเยอะ” บีเล่าถึงความประทับใจแรกต่อโมเดลของโปรเจกต์นี้

นี่คือตัวตนของเด็กทั้ง 9 คนที่ได้กระโจนเข้ามาสู่โลกแฟชั่นผ่านทาง Greyhound

เข้าใกล้ความฝัน

เมื่อได้ตัวโมเดลทั้ง 9 เรียบร้อยแล้ว สถานีต่อไปก็คือการฟิตติ้งและถ่ายจริง

กระบวนการเลือกทีมงานที่จะเข้ามาทำงานกับเด็กๆ ก็มีความละเอียดอ่อนไม่แพ้ขั้นตอนการคิดไอเดีย ซึ่งโปรเจกต์นี้ได้ โดม ทรงประโคน บรรณาธิการนิตยสาร Looker มาทำสไตล์ลิ่ง และ กรกฤช เจียรพินิจนันท์ ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพแนวสตรีทเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว มาเป็นช่างภาพ บีเสริมว่า ทั้งสองท่านมีความเข้าใจประเด็นของความเท่าเทียมเป็นทุนเดิม จึงถ่ายทอดเด็กๆ ออกมาในแบบที่พวกเขาเป็นได้ดี 

เต๋าและกานต์เล่าถึงความตื่นเต้นของเด็กๆ เมื่อถึงวันถ่ายจริงว่า “ปกติเด็กจะตื่นสาย แต่วันนั้นผมมาถึงก่อนแปดโมง เด็กแทบทุกคนอาบน้ำแต่งตัว พร้อมที่จะไปแล้ว” 

Greyhound X The Hub Saidek ที่ใช้แฟชั่นไฟฉายขยายส่วนให้เห็นความฝันของเด็กไร้บ้านชัดขึ้น
Greyhound X The Hub Saidek ที่ใช้แฟชั่นไฟฉายขยายส่วนให้เห็นความฝันของเด็กไร้บ้านชัดขึ้น

วันฟิตติ้งที่ทางทีมงานขอให้เด็กเข้าไปให้สตูดิโอทีละคน เพราะกลัวว่าจะเขินอายกัน ทำให้เด็กคนอื่นๆ ต้องนั่งรออยู่ด้านนอก แต่ความตื่นเต้นนั้นก็ไม่ได้หายไป เมื่อเด็กคนก่อนหน้าเดินออกมา คนอื่นก็จะรุมถามว่าด้านในเป็นอย่างไรบ้าง 

บีเล่าว่า การถ่ายทำเป็นไปอย่างราบรื่น แม้จะมีภาพความอาย ความซนบ้างตามประสาเด็ก แต่ก็ไม่อึดอัดเลย เป็นบรรยากาศที่ดีมาก ทั้งสีหน้า แววตาของเด็กๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการถ่ายแบบนั้นมีพลังจนไม่น่าเชื่อ แม้กระทั่งทีมงานและช่างภาพก็ยังอดคิดไม่ได้ว่า นี่มันดีกว่าการทำงานกับโมเดลมืออาชีพเสียอีก

ระหว่างที่พูดคุยกัน บีซึ่งนั่งฟังอยู่ก็ช่วยเราถามทีมงานฝั่ง The Hub Saidek ว่า หลังจากผ่านวันถ่ายทำไปแล้ว น้องๆ มีท่าทีอย่างไรกันบ้าง เพราะเกรงว่าเด็กจะรู้สึกว่าถ่ายแบบแล้วยังไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลง

Greyhound X The Hub Saidek ที่ใช้แฟชั่นไฟฉายขยายส่วนให้เห็นความฝันของเด็กไร้บ้านชัดขึ้น

“เราบอกเด็กเสมอครับว่า การทำกิจกรรมแบบนี้มันจะนำองค์กรไปสู่สังคมภายนอก เขารับทราบและเข้าใจ” กานต์ตอบ

“หลังจากถ่ายแบบ มีน้องมาบอกว่า เขาอยากออกจากพื้นที่บริเวณ The Hub Saidek ที่เขาอยู่มาหลายปี ไปทำงานและใช้ชีวิตที่อื่น ซึ่งเรารู้สึกว่า เราประสบความสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่งที่เด็กอยากจะออกไปเอง เราไม่ได้บังคับให้เด็กออกไปทำงานด้วยซ้ำ มันอาจจะเป็นผลพลอยได้จากการที่เราพาเด็กไปถ่ายแบบ และย้ำกับเขาว่าเขามีความฝันอยู่นะ” เต๋าแชร์เรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจากการถ่ายแบบสิ้นสุดลง เพื่อเป็นการเสริมคำตอบของกานต์

ดูเหมือนว่าอย่างน้อยที่สุด โปรเจกต์นี้ก็ได้ผลักใครคนหนึ่งให้เข้าใกล้ความฝันของตัวเองไปอีกก้าว

ฝันที่ (อยากให้) เป็นจริง

หลังจากที่เราได้พูดคุยกันไปทุกแง่มุมของแคมเปญ I HAVE A DREAM ไปแล้ว เราก็อดไม่ได้ที่จะวกมาถามถึงความฝันของผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ว่าอยากให้ผู้ชมได้เห็นอะไรจากภาพถ่ายแฟชั่นเซ็ตชุดนี้ 

ฝั่ง The Hub Saidek ได้เน้นย้ำถึงความตั้งใจแรกเริ่มว่า แค่อยากใช้พื้นที่สื่อเล็กๆ สะกิดให้สังคมหันมามองเห็นตัวตนของเด็กไร้บ้าน มองว่าเขามีความเป็นมนุษย์เท่ากันกับเราทุกคน และให้การสนับสนุนพวกเขาเท่าที่จะทำได้

บีให้ความเห็นเสริมขึ้นมาว่า ทาง Greyhound เองแค่หวังจะเป็นพื้นที่สื่อให้กับมูลนิธิสายเด็ก 1387 และ The Hub Saidek “เราต้องให้พื้นที่กับคนที่เป็น ‘คน’ จริงๆ ด้วย นี่คือชีวิตจริง แคมเปญก็หวังง่ายๆ ว่า คนจะกลับมาที่ The Hub โทรมาเลย 1387 ไม่ต้องซื้อเสื้อก็ได้ คุณมาดูแล มาสนับสนุนเขาได้ เขาทำสิ่งนี้อยู่แล้วและดีด้วย”

“อีกเรื่องที่ผมฝันก็คือ อยากเปลี่ยนภาพการมองคน ให้เรามองคนด้วยความเป็นคนที่เท่ากัน ถ้าแคมเปญนี้ทำให้คนฉุกคิดได้ขนาดนั้นก็น่าจะดี”

และนี่ก็คือฝันที่ทั้ง Greyhound และ The Hub Saidek รวมถึงเราด้วย อยากเห็นและให้เป็นจริง ซึ่งคุณก็เป็นส่วนหนึ่งของการบอกเล่าความฝันของน้องๆ ได้ โดยการเข้าไปซื้อสินค้าคอลเลกชัน Greyhound 40 ปี โดยรายได้หลักจากหักค่าใช้จ่ายบริจาคให้มูลนิธิสายเด็ก 1387 หรือติดต่อเพื่อสมทบทุนกับทางมูลนิธิได้ที่สายด่วน 1387 และ childlinethailand.org

Greyhound X The Hub Saidek ที่ใช้แฟชั่นไฟฉายขยายส่วนให้เห็นความฝันของเด็กไร้บ้านชัดขึ้น

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan