ในช่วงสิ้นปีเช่นนี้ ร้านรวงต่างๆ คงประดับประดาไฟระยิบระยับหรือประดับต้นคริสต์มาสรับเทศกาลแห่งความสุขที่กำลังใกล้เข้ามา แต่ปีนี้ Greyhound Cafe กลับดูแปลกตา คล้ายว่าคาเฟ่ทุกสาขาเนรมิตป่าขึ้นมาราวกับร่ายมนตร์ ภายใต้คอนเซปต์ ‘Everyday is Magic’ ที่จับมือกับ The Forestias by MQDC โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเชื่อสอดคล้องกันว่า หนึ่งในความสุขของคนเราเกิดขึ้นจากการกลับมาสัมผัสกับธรรมชาติอย่างแท้จริง

วิธีออกแบบป่าและอาหารในบรรยากาศดินแดนเหนือจริงของ Greyhound Cafe
วิธีออกแบบป่าและอาหารในบรรยากาศดินแดนเหนือจริงของ Greyhound Cafe

แค่ยกป่ามาไว้ในร้านคงธรรมดาเกินไป ทีมงานสร้างสรรค์จึงขอสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้ลูกค้าได้รับทั้งสุนทรียภาพในการรับประทานมื้ออาหาร พร้อมรับประสบการณ์ของป่าเหนือจินตนาการให้เกิดขึ้นจริงครบทุกโสตสัมผัส 

เบื้องหลังการทำงานของทีมสร้างสรรค์ทีมใหญ่รังสรรค์งานออกมาได้ราวกับมีเวทมนตร์เช่นกัน เพราะความท้าทายในการทำงานที่ต่างฝ่ายเคยคิดฝัน แต่ไม่คิดว่าจะเกิดได้จริง

วิธีออกแบบป่าและอาหารในบรรยากาศดินแดนเหนือจริงของ Greyhound Cafe

ความท้าทายแรกคือนับเป็นโปรเจกต์ใหญ่ที่สุดของการ Collaboration ระหว่าง 2 แบรนด์ ที่มาจากแวดวงที่แตกต่างกัน แต่กลับร่วมมือกันไปได้ไกลกว่ามื้ออาหาร 

ความท้าทายต่อมาคือมีเวลาทำงานทุกกระบวนการเพียง 1 เดือน 15 วัน

และความท้าทายที่สามคือทีมสร้างสรรค์แต่ละทีมทำงานชนิดแทบไม่เคยได้เจอหน้ากัน ทุกอย่างต้องเดาใจและวางใจกันล้วนๆ แต่ในที่สุดพวกเขาก็เนรมิตป่าเหนือจริงที่วาดฝันไว้ได้สำเร็จ 

ทีมงานเกือบฟูลทีมจึงมานั่งล้อมโต๊ะอาหารเพื่อเล่าความคิดเบื้องหลัง ความรู้สึกเมื่อได้เห็นผลงานในเบื้องหน้า และร่วมสัมผัสประสบการณ์ที่บรรจงสร้างสรรค์กันมาอย่างสุดฝีมือ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ลูกค้าคนสำคัญในช่วงเทศกาลแห่งความสุขนี้

เวทมนตร์ที่ 1

การโคจรมาพบกัน

เพียงก้าวเข้ามาใน Greyhound Cafe สาขาเมกาบางนา เราก็ได้สัมผัสบรรยากาศสดชื่นร่มรื่นของธรรมชาติ พร้อมกับความรู้สึกตื่นตาตื่นใจ

การเนรมิตป่ามาไว้ในคาเฟ่ทุกสาขามีที่มาและแรงบันดาลใจจากโครงการ The Forestias by MQDC บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีอุดมการณ์ในการสร้างเมืองสีเขียวในอุดมคติ อันมีระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ขนาดใหญ่ไว้ในกรุงเทพมหานคร เพราะเชื่อว่าธรรมชาติจะเชื่อมโยง เอื้ออาศัย และมอบความสุขให้กับผู้คนที่อยู่ร่วมอาศัยได้

วิธีออกแบบป่าและอาหารในบรรยากาศดินแดนเหนือจริงของ Greyhound Cafe

เมื่อทาง The Forestias มองหาพาร์ตเนอร์ร่วมรังสรรค์ความสดชื่นของเมืองสีเขียวเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้ชาวเมืองกรุงได้ลองสัมผัส ก่อนที่โครงการจะเกิดขึ้นอีกในไม่ช้า

แอนเดรส รักตะสิริ ผู้อำนวยการบริหารด้านการสร้างแบรนด์และการสื่อสาร และที่ปรึกษาบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด นึกถึง Greyhound เป็นอันดับแรก เพราะมองเห็นจุดร่วมของแบรนด์ที่สอดคล้องต้องกัน

แอนเดรส รักตะสิริ ผู้อำนวยการบริหารด้านการสร้างแบรนด์และการสื่อสาร,  เกศินี คุณทรัพย์ ผู้จัดการด้านกลยุทธ์การสื่อสาร

“ผมเติบโตคุ้นเคยกับ Greyhound มานาน และเชื่อว่าเรามีวิสัยทัศน์ที่เหมือนและเข้าใจกัน เขาเป็นแบรนด์ที่ละเอียดในเรื่องดีเทลและให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน เหมือนกับที่โครงการของเราให้ความสำคัญ และเราต้องการมอบ Total Experience ที่ดีให้กับลูกค้าเช่นกัน”

แวดวงธุรกิจที่ต่างกันไม่เป็นปัญหา เพราะเมื่อได้มาร่วมโต๊ะพูดคุยกัน ทั้งสองฝั่งเห็นถึงความลงตัวในการทำงานที่มีหมุดหมายในการสร้างช่วงเวลาแห่งความสุขและอิ่มเอมใจ โดยพาผู้คนไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่จากธรรมชาติที่อาจโหยหา แต่ห่างหาย และจากจุดร่วมเล็กๆ จึงกลายเป็นงานสเกลใหญ่ที่ไปได้ไกลเกินคาดหมายแต่แรก

เวทมนตร์ที่ 2

โจทย์ใหญ่ที่ไปได้ไกล

หลังจากได้แรงบันดาลใจจากคอนเซปต์ที่เน้นความเป็นธรรมชาติจาก The Forestias ทีมงานสร้างสรรค์ของ Greyhound Cafe เริ่มตีโจทย์ใหญ่จากความเชื่อมโยงของอุดมการณ์ของ 2 แบรนด์ที่มีร่วมกัน

“ตอนแรกที่ได้คุยกันก็หลังติดเบาะไปพักหนึ่งเหมือนกันนะ” เกศินี คุณทรัพย์ ผู้จัดการด้านกลยุทธ์การสื่อสาร จากทีม Greyhound ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ในโปรเจกต์นี้ เล่าพลางหัวเราะ 

 โจ๋น-อนุภาพ พงษ์นะเมตตา อดีตผู้กำกับหนังโฆษณาที่ผันตัวมาเป็นนักจัดต้นไม้ อีกทีมหนึ่งคือทีมของ บ๊วย-ศิรินทร์ทิพย์ ศัพทศรีครินทร์ และ บุ๋น-ตติยะ อุดมสวัสดิ์ ดีไซเนอร์ที่รับงานออกแบบกราฟิก

“แต่เราเห็นความเชื่อมโยงกันได้จากคอนเซปต์ของโครงการที่ว่า The Land of Everlasting Happiness ที่สื่อว่าความสุขยั่งยืนคือการได้อยู่กับครอบครัว อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติและผืนป่าอันสมบูรณ์ ทั้งในภาพยนตร์โฆษณาของโครงการก็มีความเป็น Magic หรือดินแดนเหนือจริง เราจึงฝันว่าอยากจะจำลองป่าที่เหนือจริงมาไว้ในร้านของเราบ้าง

“ถ้าความสุขจากโมเมนต์เล็กๆ ที่เกิดจากการรับประทานอาหารดีๆ หรืออยู่กับคนที่รักพร้อมหน้ากัน สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นทุกวันในร้านของเราได้ นั่นก็เท่ากับเป็น Magic แล้ว”

วิธีออกแบบป่าและอาหารในบรรยากาศดินแดนเหนือจริงของ Greyhound Cafe

‘Everyday is Magic’ จึงกลายเป็นคอนเซปต์ใหญ่ที่ไปได้ไกลกว่าเพียงความพิเศษบนโต๊ะอาหาร เพราะเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่โดยการรังสรรค์ผืนป่าให้เต็มพื้นที่คาเฟ่ โอบรับไปกับดิสเพลย์ดอกไม้สุดอลังการ ทั้งยังมี Projection Mapping มอบประสบการณ์เหนือจินตนาการเพื่อเนรมิตป่าให้มีชีวิต น่าประทับใจ อีกสิ่งสำคัญที่จะมอบความสุขท่ามกลางพื้นที่สีเขียวได้อย่างแท้จริงคือ เมนูอาหารจากธรรมชาติที่รังสรรค์มาเป็นพิเศษ

“โปรเจกต์นี้คืองาน Collaboration ที่ใหญ่ที่สุดของ Greyhound Cafe เพราะไปไกลกว่าการตกแต่งร้านหรือเมนูอาหารพิเศษ แต่ยังรวมนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยนำมาใช้สร้างบรรยากาศในร้านอาหารเอาไว้” อังสนา พวงมะลิต ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนาธุรกิจ ย้ำถึงการทำงานโปรเจกต์ใหญ่ที่พร้อมมอบประสบการณ์สุดพิเศษให้ทุกคนได้เข้ามาสัมผัสในช่วงเวลา 1 เดือนครึ่ง ซึ่งยาวถึงปลายเดือนมกราคมปีหน้า

เวทมนตร์ที่ 3

เนรมิตผืนป่าชั่วข้ามคืน

สิ่งสำคัญอันดับแรกที่จะเปลี่ยนโฉมร้านคาเฟ่ให้กลายเป็นพื้นที่โอบล้อมด้วยผืนป่าได้ คือการจัดประดับประดาต้นไม้ ซึ่งหลังผ่านการเฟ้นหาก็ได้ทีมเนรมิตผืนป่าในคาเฟ่ทั้ง 12 สาขา 2 ทีม ทีมแรกคือทีมของ โจ๋น-อนุภาพ พงษ์นะเมตตา อดีตผู้กำกับหนังโฆษณาที่ผันตัวมาเป็นนักจัดต้นไม้ อีกทีมหนึ่งคือทีมของ บ๊วย-ศิรินทร์ทิพย์ ศัพทศรีครินทร์ และ บุ๋น-ตติยะ อุดมสวัสดิ์ ดีไซเนอร์ที่รับงานออกแบบกราฟิก พร้อมกับตกแต่งภายในและแลนด์สเคป มาช่วยกัน

 โจ๋น-อนุภาพ พงษ์นะเมตตา อดีตผู้กำกับหนังโฆษณาที่ผันตัวมาเป็นนักจัดต้นไม้ อีกทีมหนึ่งคือทีมของ บ๊วย-ศิรินทร์ทิพย์ ศัพทศรีครินทร์ และ บุ๋น-ตติยะ อุดมสวัสดิ์ ดีไซเนอร์ที่รับงานออกแบบกราฟิก

ความท้าทายของงานนี้คือพื้นที่ทั้ง 12 สาขามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งตำแหน่งที่ตั้ง การจัดร้าน รวมไปถึงแสงสว่างที่มีความสำคัญต่อพรรณไม้ทุกชนิด

“สิ่งเหล่านี้เป็นตัวกำหนดดิสเพลย์ของต้นไม้ที่แตกต่างไปในแต่ละสาขา เราต้องคัดเลือกต้นไม้ที่อยู่ได้ยืนยงและสวยงามตลอดเวลาเกือบสองเดือน” บุ๋นเริ่มเล่าก่อน

วิธีออกแบบป่าและอาหารในบรรยากาศดินแดนเหนือจริงของ Greyhound Cafe
วิธีออกแบบป่าและอาหารในบรรยากาศดินแดนเหนือจริงของ Greyhound Cafe

“พันธุ์ไม้ที่เลือกมาส่วนมากจึงมีพื้นฐานที่เกิดในป่า แต่เลี้ยงในระบบฟาร์มจนเป็นไม้ประดับที่เพาะเลี้ยงได้จริงและเหมาะกับสถานที่ ถ้าต้นไหนสวยจริง แต่ไม่เหมาะกับอยู่ในคาเฟ่ก็ไม่เอามา เพราะสงสารต้นไม้ บางสาขาก็ไม่มีแสงสว่างเลย เราจึงจำใจตัดต้นไม้ออกไปเยอะมาก”

นอกจากการคัดเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมแล้ว บ๊วยในฐานะกราฟิกดีไซเนอร์ควบคู่กับการทำงานเป็นอินทีเรียดีไซเนอร์ อธิบายเสริมว่าการจัดวางจะต้องไม่เป็นอุปสรรคกับการใช้งานพื้นที่ร้านด้วย

วิธีออกแบบป่าและอาหารในบรรยากาศดินแดนเหนือจริงของ Greyhound Cafe

 “เราเคยทำคาเฟ่มาก่อน จึงคิดถึงเรื่องการใช้งานพื้นที่ของพนักงานและลูกค้าในร้านด้วย ว่าจะไม่ไปเปลี่ยนแปลงเขา แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องดึงความรู้สึกแปลกใจพร้อมกับตื่นใจว่าทำไม Greyhound มีป่าอยู่ในร้านได้”

ความตื่นใจที่ว่าคือต้องเป็นป่าที่สมจริง แต่แฝงด้วยความเหนือจริง รายละเอียดเล็กๆ ในการประดับประดาที่พิเศษกว่าเพียงการประดับตกแต่งทั่วไป เราจึงได้เห็นทั้งไม้ต้น ไม้ประดับ ไม้เลื้อย ห้อยระย้าตกแต่งไว้รอบตัว 

“การจัดต้นไม้ที่ให้ความรู้สึกเหมือนป่าคือความไม่เป็นระเบียบ ความไม่เป็นระเบียบนี้บ่งบอกได้ถึงความเป็นธรรมชาติ รวมไปถึงความหลากหลายของสายพันธุ์เช่นกัน ต้องมีไม้อิงอาศัย ไม้ที่อยู่ด้านล่าง มีกาฝากมาเกาะ มีเห็ดเล็กๆ ที่แสดงความสมบูรณ์ของผืนป่าได้

วิธีออกแบบป่าและอาหารในบรรยากาศดินแดนเหนือจริงของ Greyhound Cafe

“แต่เพียงต้นไม้มีชีวิตก็ยังไม่พอ กิ่งไม้ที่ตายแล้วเราก็เอามาใช้ในการประดับด้วย เพื่อให้ไม้อื่นพึ่งพา แสดงถึงการหมุนเวียนในระบบนิเวศแท้จริง” บุ๋นเล่าถึงความคิดเบื้องหลังและเทคนิคพิเศษในการจัด Setting ของป่าให้ออกมาดังที่วาดไว้

ทั้งสองพาเราเดินดูต้นไม้หลากพันธุ์ที่นำมาจัดไว้ ทั้งต้นยางอินเดียขนาดย่อม ไทรใบสักชูก้านสูง โอบล้อมด้วยมอนสเตอร่าใบใหญ่ให้อารมณ์ความเป็นป่า รวมไปถึงพันธุ์ไม้ที่อิงอาศัยไปกับผนัง ทั้งเคราฤาษี กะเรกะร่อน เฟินสาย ช้องบลู ที่ดูอย่างไรก็ไม่น่าเชื่อว่าจะยกมาอยู่ในร้านได้มากมายขนาดนี้

ขณะที่กำลังเพลิดเพลินนั้น ต๋อมแอบสะกิดให้สังเกตลูกเล่นสนุกๆ ของใบไม้ที่งอกทะลุมาจากผนังหรือกระจกร้านราวกับร่ายเวทมนตร์ จนต้องขอหยิบมือถือมาถ่ายเก็บไว้สักภาพ

วิธีออกแบบป่าและอาหารในบรรยากาศดินแดนเหนือจริงของ Greyhound Cafe

เวทมนตร์ที่ 4

ดอกไม้ตระการตา

นอกเหนือจากผืนป่าสุดตระการตา ดอกไม้ที่เป็นนางเอกของร้านก็อลังการไม่น้อยหน้า จากที่เคยประดับสร้างความรื่นรมย์ในมุมต่างๆ ของร้าน ครั้งนี้ บรื๋อ-บรรลือศักดิ์ หิรัญรัตน์ นักจัดดอกไม้ ผู้ดูแลการจัดดอกไม้และงานคอนเซปต์ต่างๆ ของ Greyhound Cafe มาตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน รับหน้าที่จัดดิสเพลย์สุดอลังการที่ละสายตาไม่ได้จริงๆ 

“ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการจัดดอกไม้ประดับ แต่เป็นการจัดดิสเพลย์ที่เน้นความเป็นธรรมชาติ ดูเหนือจริงด้วยกิ่งไม้ที่แช่น้ำแล้วงอกแตกเป็นใบออกมาได้ ใช้มอสและรองเท้านารีแสดงถึงความเป็นป่า และใช้ลูกสนประดับเพื่อแสดงถึงเทศกาล แต่เป็นลูกสนยักษ์เพื่อให้ดูเหนือจินตนาการขึ้นไป”

วิธีออกแบบป่าและอาหารในบรรยากาศดินแดนเหนือจริงของ Greyhound Cafe

ดิสเพลย์ดอกไม้อวดโฉมอยู่บนโต๊ะขนาดใหญ่กลางร้าน คล้ายเป็นสวนดอกไม้เล็กๆ ที่แข่งกันอวดความสวยงามกลางผืนป่าอันร่มรื่นใต้แสงสีส้มสลัวให้ความรู้สึกเหมือนอยู่กลางสวนลึกลับในจินตนาการ

ดอกไม้ใบไม้สวยแปลกตาเหล่านี้ล้วนคัดสรรมาเป็นพิเศษ กิ่งซาลิกชูยอดสูงตระหง่าน ข้างกันนั้นเป็นดอกอีรินเจียมสีฟ้ารูปทรงแปลกตาดูลึกลับ แซมด้วยช่อแว็กซ์สีขาวสบายตาคล้ายดอกหญ้า ใกล้กับกิ่งไม้สีเขียวเข้มรูปทรงไม่คุ้นตา ลูกสนยักษ์ตกอยู่บนผืนมอสเขียวชุ่มน้ำ ช่อดอกไม้สีขาวดูคล้ายกุหลาบคือดอกไลเซนทัสแสนอ่อนโยน ขณะเดินชมโต๊ะหมู่มวลดอกไม้ก็ได้กลิ่นหอมหวานของช่อลิลลี่สีขาวโชยอ่อนสดชื่น

วิธีออกแบบป่าและอาหารในบรรยากาศดินแดนเหนือจริงของ Greyhound Cafe

“ดอกไม้ใบไม้ส่วนมากจะมีการเปลี่ยนทุกสัปดาห์ แล้วแต่ชนิด เพื่อให้คงความสวยงาม เราอยากให้คนเห็นในวินาทีแรกแล้วอึ้ง พร้อมกับสัมผัสความร่มรื่นสวยงาม และงามขนาดนี้ก็ต้องเป็น Magic แล้วล่ะ” บรื๋อเล่าอย่างอารมณ์ดี และเรายอมรับว่าเขาทำได้จริง

เวทมนตร์ที่ 5

ชุบชีวิตให้น่าตื่นใจ

ความเหนือจริงของป่าจะเกิดขึ้นจริงไม่ได้หากขาดเทคนิคการนำเสนอด้วยนวัตกรรมอย่าง Projection Mapping ที่สร้างมิติในการเล่าเรื่องราวของเหล่าสรรพสิ่งและสัตว์เหนือจินตนาการให้เหมือนมีชีวิตอยู่จริงท่ามกลางป่า 5 แห่ง ใน 5 สาขา ของ Greyhound Cafe 

“ตั้งแต่ได้รับโจทย์มา หลังจากนั้น Everyday is magic จริงๆ ครับ” ป้อง-ปานปอง วงศ์สิรสวัสดิ์ ดีไซน์ไดเรกเตอร์ของ Another Day Another Render ผู้รับผิดชอบหน้าที่นี้เล่าอย่างอารมณ์ดี พาเอาทีมงานทุกคนหัวเราะชอบใจไปด้วย

นี่เป็นครั้งแรกในการทำ Projection Mapping ในร้านอาหาร ซึ่งป้องเน้นว่าเป็นพื้นที่ที่ควบคุมแสงไม่ได้ ที่ยากกว่านั้นคือได้รับโจทย์ว่าต้องฉายใน 5 สาขา ที่มี Floor Plan ที่แตกต่างกัน

Projection Mapping ในร้านอาหาร

“ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นการ Mapping ในพื้นที่ปิดและมืด มีคนเปิด-ปิดระบบ ได้เทสต์ทุกอย่างเรียบร้อย แต่พอได้รับโจทย์เป็นห้าสาขา เราไม่สามารถควบคุมพื้นที่หรือแสงต่างๆ ได้ ทางทีมต้นไม้อาจจะแฮปปี้กับสาขาที่มีแสงสว่าง แต่ผมจะชอบร้านมืดๆ เพราะถ้าสว่าง โปรเจกเตอร์จะเอาไม่อยู่”

ลำดับต่อมาคือความท้าทายในการสร้างสรรค์เนื้อเรื่อง เพื่อเสริมบรรยากาศความเหนือจินตนาการให้เด่นชัด ซึ่งสุดท้ายลงตัวด้วยเนื้อเรื่อง ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องป่า เริ่มจากจุดเล็กไปใหญ่ เน้นการเปลี่ยนรูปของสิ่งมีชีวิต และใส่สัตว์ในจินตนาการเข้าไป ป้องบอกว่าหากวิดีโอนี้เล่นวนไปเรื่อยๆ ไม่หยุด ก็จะได้เห็นถึง Circle of Life ของสรรพสิ่งมีชีวิตที่หมุนวนไม่รู้จบในป่าแห่งนี้

“เทคนิคที่ใส่ใจมากเป็นพิเศษคือเราต้องการสร้างประสบการณ์ให้กับคนที่มานั่งกินอาหารในร้าน จึงไม่เหมือนโชว์หรือภาพยนตร์ที่คนมีจุดประสงค์เพื่อมาดู การวางเสียงต้องไม่โอ่อ่าจนกลายเป็นการรบกวน ต้องมีช่วงเร้าและเบาลง และเบลนด์ไปกับสิ่งแวดล้อมในร้าน”

สุดท้าย เมื่อภาพจากเรื่องราวทาบฉายไปบนผนังที่ประดับประดาด้วยเหล่าพันธุ์ไม้ เรื่องราวที่ป้องตั้งใจเล่าก็เหมือนเป็นจริงขึ้นมาได้สมใจ ตรงนี้บ๊วยเล่าความประทับใจเสริมว่า เมื่อได้เห็นแสงสีจากเทคนิคบางอย่างของ Projection Mapping ที่ฉาบลงบนต้นไม้ ทำให้รู้สึกตื่นตาและรู้สึกได้ว่านี่คือความสวยงามเหนือจริงที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นมาก่อน

ดังนั้นทุกครั้งที่ได้ยินเสียงนกร้องจิ๊บ จิ๊บ ในร้าน อยากให้คุณลองหันมาสัมผัสกับจินตนาการที่ทีมงานบรรจงสร้างโมเมนต์ในความฝันที่เหมือนเกิดขึ้นจริง

เวทมนตร์ที่ 5

อรรถรสจากธรรมชาติ

ความพิเศษโดดเด่นที่ขาดไม่ได้คือเมนูอาหารพิเศษ

ทีม Greyhound Cafe ต้องการเน้นเรื่องการสร้างความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหรือคนที่รัก โดยจัดทำเป็นจานใหญ่พร้อมให้ทุกคนบนโต๊ะได้แชร์กัน พร้อมกับตั้งใจปรุงและสร้างสรรค์เมนูในแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน 

วิธีออกแบบป่าและอาหารในบรรยากาศดินแดนเหนือจริงของ Greyhound Cafe

“ในเมื่อบรรยากาศทุกอย่างในร้านเป็นป่าแล้ว เราจึงมีเมนูอาหารพิเศษห้ารายการ เพื่อย้ำคอนเซปต์ของการเป็นของขวัญจากธรรมชาติ ปรุงเป็นเมนูอาหารไทยที่ลูกค้าปัจจุบันสนใจ แต่ใส่ความพิเศษด้วยการคัดสรรวัตถุดิบระดับพรีเมียม และพรีเซนต์แบบอลังการโดยใช้กุ้งแม่น้ำเผา ขาปูอะแลสกา ประดับประดาด้วยผักร็อกเก็ต ของหวานก็โรยด้วยดอกไม้ที่กินได้ให้เข้าถึงรสสัมผัสของธรรมชาติอย่างแท้จริง” 

วิธีออกแบบป่าและอาหารในบรรยากาศดินแดนเหนือจริงของ Greyhound Cafe

อังสนาเล่าให้ฟัง พลางชวนดูเมนูพิเศษทั้ง 5 จานบนโต๊ะที่ประกอบด้วยน้ำพริกไข่ปูม้า เสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียงและผักสดหลายชนิด กุ้งสะดุ้งป่า กุ้งแม่น้ำตัวโตหอมมันเยิ้มราดน้ำยำรสจัดจ้าน ปูอะแลสกาอบวุ้นเส้น โดดเด่นด่วยส่วนผสมสมุนไพร พร้อมเพิ่มความสดชื่นด้วยเมนูของหวานสามรส Best of Rainforests โรยด้วยกลีบดอกไม้สวยละมุน และสุดท้ายคือเครื่องดื่ม Once upon an Espresso จากกาแฟมีวนาที่เพาะปลูกพร้อมการดูแลผืนป่า ผสมผสานด้วยความเปรี้ยวหวานสดชื่นจากผลไม้หลายชนิด

เวทมนตร์ที่ 6

ประสบการณ์ใหม่อย่างแท้จริง

นอกเหนือจากการมอบ Total Dining Experience ให้กับลูกค้าแล้ว ทีมงานทุกคนก็ได้รับประสบการณ์ใหม่เอี่ยมที่ไม่เคยได้รับจากงานไหนเช่นกัน บรรยากาศอันสวยงามที่ทุกส่วนประกอบสอดประสานลงตัวกันดังที่เล่ามานั้น เบื้องหลังคือทีมงานแยกทำงานกัน ชนิดแทบไม่เคยเจอหน้ากันเลย

ในช่วงที่ลงมือทำงาน แต่ละทีมมีตารางการทำงานที่ต้องสลับคิวกันเข้ามาในร้าน เพราะพื้นที่และความต้องการของแต่ละงานไม่สามารถทำพร้อมกันได้ 

“ทีมเทคโนโลยีคงไม่เหมาะจะเจอดินกับน้ำ ทีมจัดต้นไม้ไม่ควรเจอสายไฟ และทีมดอกไม้คงไม่อยากเจอความวุ่นวายอื่นๆ ในร้าน ดังนั้นบางครั้งป้องต้องทำ Mapping กับผนังโล้นๆ ไปก่อน จากนั้นทีมต้นไม้มาประดับ สุดท้ายก็ค้นพบว่าตรงนี้ไม่ได้ต้องเปิดพื้นที่ให้ฉายภาพ พอดอกไม้จะมาลง อ้าว โต๊ะที่แพลนไว้หายไปแล้ว เราต้องแก้ปัญหากันตลอดเวลา” ป่าน-นิตตา ประภัสภักดี ผู้จัดการอาวุโสด้านสื่อสารและสร้างสรรค์ฝั่ง Greyhound เล่าถึงกระบวนการทำงาน ขณะที่คนอื่นๆ พยักหน้าและยิ้มเห็นด้วย

“นี่คงเป็น Magic ในการทำงานคือสามสี่ทีมไม่เคยเจอกันมาก่อน เหมือนเราต้องเดาใจกันตลอดว่าเราจัดตรงนี้ไปจะบังงานเขาไหม เราต้องไว้ใจกัน แต่ผลงานออกมาก็สวยงามดังใจ” บรื๋อเสริมขึ้นพร้อมรอยยิ้มประทับใจ

นอกเหนือจากฝั่งสร้างสรรค์แล้ว ทีมงานหลังบ้านก็ร่วมทำงานหนักไม่แพ้กัน เพราะหลังจากมีผืนป่าเกิดขึ้นในร้านแล้ว หน้าที่รับผิดชอบหลักจะตกอยู่ที่ทีมงานในแต่ละสาขา เท่ากับว่าพวกเขามีความรับผิดชอบขึ้นมามากขึ้นกว่าการทำงานปกติ เพราะต้องคอยดูแลต้นไม้ตามคู่มือที่ทีมต้นไม้จัดทำให้ เมื่อถึงเวลาฉาย Projection Mapping ต้องไม่ลืมไปดิมไฟเพื่อให้ภาพชัดสมจริง 

Projection Mapping ในร้านอาหาร

 “ทีมงานที่โชว์ความเป็นทีมเวิร์กไม่ได้อยู่เพียงแค่โต๊ะนี้” อังสนาสรุปย้ำอีกที

“ทุกฝ่าย ตั้งแต่ทีมบัญชี เด็กที่คอยดูแลร้านระหว่างเซ็ตติ้งจนถึงเช้า มีทีมแอดมินที่ต้องจัดสรรคิวทำงาน ทีมน้องๆ ที่ดูแลภายในร้าน ทีมดิจิทัลและพีอาร์ที่ต้องทำโปรโมต และทีมพาร์ตเนอร์ของเรา ทุกฝ่ายตั้งใจทำงานให้ดีที่สุดเพื่อให้ประสบการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจริง”

“ดังนั้นงานนี้ไม่ได้เป็นเพียงการมอบประสบการณ์แห่งความสุขแก่ลูกค้าเท่านั้น แต่ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ เป็นก้าวใหม่ของเราทุกคนด้วย” 

ถึงตรงนี้ เสียงนกร้องจิ๊บ จิ๊บ ดังขึ้นเหมือนส่งท้าย ทีมงานทุกคนยิ้มรับและหันไปดูภาพเรื่องราวที่โปรเจกเตอร์ฉายทาบแผ่นผนังอย่างตั้งใจ ราวกับดื่มด่ำไปกับ Magic Moment ที่พวกเขาทุ่มเทแรงกายแรงใจสร้าง เพื่อมอบความสุขรับปีใหม่ให้กับทุกคน

 โจ๋น-อนุภาพ พงษ์นะเมตตา อดีตผู้กำกับหนังโฆษณาที่ผันตัวมาเป็นนักจัดต้นไม้ อีกทีมหนึ่งคือทีมของ บ๊วย-ศิรินทร์ทิพย์ ศัพทศรีครินทร์ และ บุ๋น-ตติยะ อุดมสวัสดิ์ ดีไซเนอร์ที่รับงานออกแบบกราฟิก

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ