เบื่อคำว่า Green มากกกก แบบ ก ไก่ ล้านตัว

  คิดว่าแค่ใส่กรีนลงไปข้างหน้าอะไรก็ตาม แล้วอุณหภูมิโลกในจะลดลงไหม หรือขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

Green Economy

Green Politics

Green Energy  

Green Hospitality 

จะเห็นดีเห็นงามด้วยกับคำว่า กรีน น่าจะเป็น Green Washing การฟอกเขียวนี่แหละ เพราะอย่างน้อยมันก็ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา

เพียงแค่นำผลิตภัณฑ์ สินค้า วิสัยทัศน์ คอนเทนต์ มาใส่ตะกร้าสีเขียวล้างน้ำ บริษัทรักษ์โลกอย่างยั่งยืนและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็เกิดขึ้น 

ดีใช่ไหมล่ะ สะดวก ง่าย ได้กำไร เพราะตามคำจำกัดความแล้ว การฟอกเขียวคือการทำการตลาดลวงโลกแบบหนึ่ง ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณา เล่าเรื่อง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรและผลิตภัณฑ์ ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือดีต่อสุขภาพ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นหรือเกินจริง

เราได้ก้าวเข้าสู่สังคมกรีนวอชชิ่งอย่างเต็มตัว เป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ของระบบทุนนิยมที่เราเชิดชูนักหนา ดูได้จากการที่

เราในฐานะ ผู้บริโภค ยอมเชื่อเรื่องเล่าเหล่านี้อย่างศิโรราบ 

เราในฐานะ ผู้ผลิต ยินยอมขายผลิตภัณฑ์และบริการ  ทั้ง ๆ ที่รู้แก่ใจว่าไม่ใช่

เราในฐานะ นักการตลาด สร้างคำพูดสวยหรู เล่าเรื่องชวนฝัน สร้างภาพงดงาม ให้ผู้คนคล้อยตามอย่างสุดความสามารถ   

ใครรู้จัก Bill Hicks คงเคยได้ยินประโยคที่ว่า

By the way if anyone here is in advertising or marketing…kill yourself. It’s just a little thought; I’m just trying to plant seeds. Maybe one day they’ll take root – I don’t know. You try, you do what you can.” 

สังคมลวงตาที่เราอยู่กันทุกวันนี้ ดูมันเขียวแบบไม่ค่อยธรรมชาติเท่าไหร่นัก 

เรื่องการฟอกเขียวเกิดขึ้นกับทุกวงการ แต่บทความนี้ขอพูดเรื่องการฟอกเขียวแห่งวงการอาหารอุตสาหกรรม  

กระบวนการฟอกเขียวมีปัจจัย 7 อย่างในการเกื้อหนุน บางคนเรียกบาป 7 ประการ ส่วนผสมที่ทำให้ดูรักษ์โลกและดีต่อสุขภาพในงานประชาสัมพันธ์  เช่น บอกความจริงไม่หมด พูดลอย ๆ ไม่มีหลักฐาน เล่าว่าของเราเขียวกว่าของคนอื่นยังไง กล่าวอ้างเรื่องไม่จำเป็นต้องกล่าวอ้าง ให้ข้อมูลงง ๆ เบลอ ๆ ใช้องค์กรกำมะลอในการออกใบรับรอง อะไรประมาณนี้ 

Green Washing : รู้เท่าทันวิธีสร้างภาพความกรีน เพื่อเลือกกินอาหารให้ปลอดภัยจริง ๆ

  อย่างเวลาเดินซื้อผัก แม่ค้าพ่อค้าก็จะบอกว่าผักปลอดสาร ไปกินข้าวก็เขียนในเมนูว่าผักปลอดสาร เดินโมเดิร์นเทรดก็มีผักปลอดสาร แต่ที่ปลอดนะ สารอะไร (สารอาหารหรือเปล่า คิดในใจ)

ผักปลอดสาร เขาตั้งใจให้ละคำว่า ‘ภัย’ ไว้ ถ้าเขียนเต็ม ๆ จะได้ความว่า ผักปลอดภัยจากสารพิษ คือ ใช้สารพิษ (สารเคมีในการเกษตรแหละ ไปดูสิ บ้างเป็นวัตถุอันตราย บ้างมีรูปหัวกะโหลกกำกับ) ในการผลิต เช่น เมล็ดคลุกยากันเชื้อรา หรือมีการฉีดพ่นสารเคมีในการเกษตร ทั้งปุ๋ยและยา (ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืชที่นอกเหนือจากแมลง ยากันรา ฯลฯ) แต่ มีระยะการเก็บ ทิ้งไว้ 14 วัน 21 วัน แล้วแต่ผู้ผลิตเป็นผู้กำหนด และได้บอกไว้ว่า ยาจะสลายไปในธรรมชาติภายในระยะเวลาแบบนี้ 

เพราะฉะนั้น ผักปลอดสารไม่ได้แปลว่าไม่ใช้ยา

ผักไร้ดิน ปลูกด้วยน้ำสะอาด

ในบริบทนี้คำจำกัดความของคำว่าสะอาด คือ ไม่เลอะดิน ดูไม่เลอะเทอะ อันนี้ลืมคำว่า ‘ตา’ คือ ดูแล้วจะสะอาดตา แต่จะสะอาดจากสิ่งที่ตาเรามองไม่เห็นอย่างไนเตรทตกค้าง หรืออย่างสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และก็มาให้คนเราเข้าใจว่า ผักไฮโดรโปนิกส์เป็นผักที่ไม่ใช้สารเคมีในการปลูก (ไปอ่านรายงาน)

ส่วนผักที่มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในระดับที่ปลอดภัย แปลว่ามีสารเคมีตกค้าง แต่กิน ๆ ไปเถอะ เพราะนักวิชาการชำนาญการ หน่วยงานทบวงกรมที่เกี่ยวข้อง ออกมารับรองปริมาณตกค้างที่ปลอดภัยไว้แล้ว  บ้างอ้าง FDA ประเทศเรา บ้างอ้าง FDA อเมริกา บ้างอ้างมาตรฐานผู้ผลิต แล้วแต่ เอาที่สบายใจ

เคยได้ยินข่าวเห็นเกษตรกรฟ้องบริษัทแล้วชนะ ก็เพราะใช้อย่างปลอดภัยนี้แหละ แต่เป็นมะเร็งนะ  ตกค้างในระดับที่ปลอดภัยกับอนุญาตให้ใช้ คือสุดยอดแห่ง Green Washing เพราะใช้อำนาจรัฐมาเห็นดีเห็นงามด้วย

เมื่อใดมีคำว่า Zero หรือ Neutral ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน Zero Waste, Zero Carbon, Neutral Carbon 

สั้น ๆ ง่าย ๆ เพราะ Zero เป็นไปไม่ได้ในระดับอุตสาหกรรม ในคำจำกัดความที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกใด ๆ ทั้งสิ้นจากการผลิต จัดเก็บ ขนส่ง และแจกจ่าย จนไปถึงการจัดการหลังการใช้สินค้าไปแล้ว (อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ )

Green Washing : รู้เท่าทันวิธีสร้างภาพความกรีน เพื่อเลือกกินอาหารให้ปลอดภัยจริง ๆ

ถาม :  เรากินแล้วเราขี้ไหม 

ตอบ : ขี้ 

ถาม :  เราทำอาหาร เราก่อให้เกิดขยะไหม 

ตอบ: ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ 

เมื่อเราขยับตัวเมื่อใด เราสร้างขยะเมื่อนั้น ความกรีนอยู่ตรงที่เขาเอาขยะไปทำอะไร จัดการมันอย่างไร อย่ามาพูดลอยว่า Zero Waste เฉย ๆ มันจะกลายเป็นตัวบ่งชี้ ว่าจะโดนหลอกฟอกเขียวแน่นอน 

บริษัทผลิตแล้วก็ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ถาม : ไม่ปล่อยเลยเป็นไปได้ไหม

ตอบ : ไม่ได้ (เรายังหายใจออกยังเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ) คือยังไง เราต้องถึงขนาด Upcycling ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของคนที่ทำงานในบริษัทนี้ ให้เป็น Zero Carbon เลยรึเปล่า 

ถ้าบริษัทต้องการจะเป็น Zero Carbon ก็ต้องซื้อ Credit Carbon ถ้าปล่อยออก 80 ตัน ก็ต้องซื้อ 80 ตัน คาร์บอนเป็นศูนย์ในเชิงตรรกะแบบมโนของจริงก็คือ คาร์บอนถูกปล่อยออกไปแล้วอยู่ในชั้นบรรยากาศแล้ว เราแค่ไปซื้อเครดิตในที่ป่าชุ่มน้ำ เพราะเชื่อและหวังว่าผืนป่านี้จะช่วยดูดซับคาร์บอนที่เราปล่อยออกไปได้ 

แปลซื่อ ๆ ได้ว่าตะบี้ตะบันปล่อย แล้วค่อยเอาเงินมาซื้อ Carbon Credit เพื่อทำให้เป็นศูนย์ก็ทำได้

มันถึงสำคัญมากที่เราจะรับรู้ข้อมูลให้ดีก่อนสนับสนุนสินค้าและผลิตภัณฑ์ใด ๆ

สโลแกนแบบ ‘ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ’ อันนี้เป็น Green Washing ยุคคลาสสิก

Green Washing : รู้เท่าทันวิธีสร้างภาพความกรีน เพื่อเลือกกินอาหารให้ปลอดภัยจริง ๆ
Green Washing : รู้เท่าทันวิธีสร้างภาพความกรีน เพื่อเลือกกินอาหารให้ปลอดภัยจริง ๆ

ถาม : อะไรไม่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติบ้าง

ตอบ : ไม่มี 

เพราะจะสังเคราะห์อะไรสักอย่างก็ต้องมีสารตั้งต้น 

ใช่ว่าผลิตจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ จะรักษ์โลกและดีเสมอไป

ตัวอย่าง

เกลือหิมาลายัน  เป็นเกลือธรรมชาติที่มาจากเหมืองเกลือซึ่งหมดไปได้ 

รู้จักภูเก็ตไหม เคยเป็นเมืองเหมือง ขุดได้แร่ดีบุกได้เยอะมาก

หมดไหม หมด 

แล้วเกลือจะหมดไหม ก็หมด 

รักษ์ธรรมชาติไหม รัก 

กินไหม กิน 

Green Washing ไหม ชัวร์  

แถมยังมีเรื่องเกี่ยวกับการใช้แรงงานที่ไม่ค่อย Green เท่าไหร่ในเมืองด้วย 

ของธรรมชาติที่ไม่ดีต่อสุขภาพต่อโลกใบนี้ก็มีเยอะแยะไปหมด อย่างเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ธรรมชาติมากกกกก 

สารธรรมชาติที่เป็นพิษก็มากมาย ยางต้นบอนพิษ แสงแดดเป็นธรรมชาติ ดี 

แต่อาบแดดเกินเลยก็มะเร็งผิวหนัง 

รู้เท่าทันวิธีสร้างภาพความกรีน เพื่อเลือกกินอาหารให้ปลอดภัยจริง ๆ
Green Washing : รู้เท่าทันวิธีสร้างภาพความกรีน เพื่อเลือกกินอาหารให้ปลอดภัยจริง ๆ

คำที่มาช่วยแคมเปญ Green Washing อย่าง Natural, Organic, Eco, Bio, Green, 100% Eco-friendly, Sustainability อะไรอย่างนี้ ระวังโดนฟอกเขียวแบบไม่รู้ตัว 

เขียน Organic บนหน้ากล่องตัวเบ้อเริ่ม พอพลิกอ่านฉลาก มีสารปรุงแต่งกลิ่น รส สี ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมครบ มีส่วนผสมเดียวที่มาจากระบบอินทรีย์เป็นสัดส่วน ร้อยละ 2 ของส่วนผสมทั้งหมด

Bio-degrable นี่ไง คำว่า Bio มาแล้ว 

Bio แปลว่า ชีวะ  Bio-degradable จึงแปลว่าพลาสติกจะแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ได้ในเชิงชีวภาพ และทำให้เรามี Microplastic เพิ่มขึ้นในน้ำ ดิน ทราย จนไปถึงอากาศ ก็เพราะเราลุยใช้หลอดพลาสติก Bio-degradable กล่องพลาสติก Bio-degradable  กันอยู่นี้แหละค่า 

Green Packing บรรจุภัณฑ์​รักษ์โลก รักษ์มากเพราะบรรจุมาในถุงพลาสติกอย่างดี มันโคตร Oxymoron เป็นความย้อนแย้งที่จับต้องได้

ในขณะที่ Bio Compostable คือความสามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ แปลว่าวันหนึ่งมันจะ กลายไปเป็นดินอีกครั้งหนึ่ง

Green Washing : รู้เท่าทันวิธีสร้างภาพความกรีน เพื่อเลือกกินอาหารให้ปลอดภัยจริง ๆ

Green Washing ของปลาแซลมอนก็หนีไม่พ้น โอเมก้าจากปลาน้ำลึก เลี้ยงอย่างดีข้างภูเขาน้ำแข็ง อากาศหนาวเย็น บางประเทศผลิตได้ 1.3 ล้านตันต่อปี แต่หนึ่งกระชังเลี้ยงได้เพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ เมื่อบวกลบคูณหารแล้วกระชังปลาต้องเต็มทะเลเป็นแน่แท้ และยังบอกอีกว่าอาหารที่เอาไว้ใช้เลี้ยงปลาแซลมอนมีส่วนผสมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันปลา ปลาป่น โดยส่วนประกอบหลักมาจากน้ำมันพืช และเรื่องก็เล่าไปเรื่อย ๆ ว่า ความเชื่อในการทำประมงของคนชนชาตินี้ดี มีกฎหมายรองรับอะไรอย่างไร 

คืออยากจะร้องไห้ ปลาป่น กับ น้ำมันพืช ดูสารคดีเกี่ยวกับท้องทะเลสักเรื่องสองเรื่อง (หนังอย่าง Troubled water – The end of the line และ Sumatra burning) ให้เข้าใจอุตสาหกรรมปลาป่น และดูต่ออีกเรื่องว่าทำไมประเทศอินโดนีเซียถึงมีศูนย์พักพิงอุรังอุตังมากมาย จะได้เข้าใจการบุกรุกพื้นที่ทำสวนปาล์ม

อันนี้ก็ศาสตร์แห่ง Green Washing แบบใช้สำนักข่าวที่มีความเชื่อสูงรับรองบทความ        

เราจะเป็นส่วนหนึ่งของการฟอกเขียวแบบไหน เราจะใช้สไตล์แบบอีโค่อย่างไร 

ขอให้มันขึ้นอยู่กับคุณ  

ไม่ใช่นักการตลาด…

Writer

Avatar

ดวงพร ทรงวิศวะ

ดวงพร ทรงวิศวะ เกิดและโตที่กรุงเทพฯ จบการศึกษาทางด้านโภชนศาสตร์จากประเทศออสเตรเลีย อาหาร ประวัติศาสตร์ นโยบายการเมือง วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำเกษตร และเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่เชฟโบสนใจและนำมาประยุกต์ใช้กับการปรุงอาหารที่โบ.ลาน เชฟโบได้รับเกียรติเป็นเชฟหญิงที่ดีที่สุดของเอเชีย เมื่อปีพุทธศักราช 2556 หลังจากเปิดโบ.ลานได้ 4 ปี ทุกวันนี้เชฟยังมีความสุขกับการค้นหาสูตรอาหารที่คนหลงลืม ชิมรสชาติของพืชผักพื้นบ้าน และตีความอาหารไทยไปในทิศทางต่างกันตามแต่ละกรณี

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล