หากพูดถึงนกยูงไทย ทุกคนคงคุ้นเคยกับภาพนกขนาดใหญ่ ลำตัวสีเขียวสด บริเวณปีกสีน้ำเงิน เวลามันแสดงกริยา ‘รำแพน’ หรือที่เรียกว่าการโปรยเสน่ห์ใส่ตัวเมีย มันจะแผ่หางออกมาเพื่ออวดแววมยุรา มองแล้วเหมือนถูกสะกดให้หลงเสน่ห์ไปตาม ๆ กัน  

นกยูงไทยจัดเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ เพราะมีจำนวนประชากรถดถอยลงทุกวัน ทว่าในภาคเหนือของไทย พวกมันกลับมีปริมาณหนาแน่นจนสร้างความเดือดร้อนให้หลายชุมชน

โจทย์ยากจึงบังเกิดว่า เราจะทำอย่างไรให้นกยูงไทยกับคนในชุมชน อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ 

โครงการรำแพนจึงถูกคิดค้นขึ้น โดยมีการพัฒนาวิธีแก้ปัญหาระหว่างคนกับนกอย่างตรงไปตรงมา อาทิ มีการเปิดให้เช่าที่นาเพื่อให้อาหารนกและคน สร้างแหล่งท่องเที่ยวส่องนก สร้างผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษจากอาหารนกยูง เพื่อให้นกได้กินอิ่ม และคนในชุมชนได้รายได้

เราได้คุยกับ อาจารย์กุ้ง-ดร.ฤทัยภัทร พิมลศรี รองผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยพะเยา ตัวแทนของโครงการรำแพน โครงการที่ช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างนกกับคนให้ยั่งยืน

รำแพน ข้าวหอมนกยูง ข้าวปลอดสารพิษที่ช่วยให้ทั้งนกยูงไทยและชาวบ้านอยู่รอด

รู้หรือไม่ นกยูงไทย หรือ นกยูงเขียว (Green Peafowl) เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดหนึ่งของประเทศไทย และถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ของ IUCN Red List 

รู้หรือไม่ ชาวบ้าน 4 จังหวัดทางภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากฝูงนกยูงไทย สัตว์ป่าพันธุ์หายากที่ออกมาแอบกินผลผลิตทางการเกษตร ทั้งข้าว ผัก และผลไม้ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน-มีนาคมของทุกปี จนทำให้มีนกยูงถูกฆ่าและผลผลิตทางการเกษตรเองก็ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

วาระนี้ใหญ่ระดับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องช่วยกันแก้ นกยูงกลายเป็นนกที่อยู่ในระดับนโยบาย และมีแผนแม่บทในการจัดการ โดยทางกระทรวงพยายามสร้างอาหาร สร้างแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมให้นกอยู่ เพื่อที่นกจะได้ไม่ต้องออกจากป่า แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ

เมื่อ 6 ปีก่อน นักวิชาการสำรวจพบนกยูงในหมู่บ้านของชาวบ้านเฉลี่ยแค่ 30 ตัว แต่ปีก่อนกลับพบว่ามีประชากรนกยูงในจุดเดิมมากขึ้นถึง 200-300 ตัว

โจทย์ใหญ่ที่ชาวบ้านและนักวิชาการกำลังเผชิญตอนนี้คือ ในเมื่อเราไม่สามารถควบคุมนกยูงให้หยุดกินผลผลิตทางการเกษตรได้ เราจะทำอย่างไรให้นกและคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข 

รำแพน ข้าวหอมนกยูง ข้าวปลอดสารพิษที่ช่วยให้ทั้งนกยูงไทยและชาวบ้านอยู่รอด

ช่วง พ.ศ. 2557-2558 จังหวัดพะเยาประสบปัญหานกยูงจำนวนมากลงมาทำลายผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน นักวิชาการในโครงการได้รับแจ้งถึงเรื่องดังกล่าวก็ตัดสินใจลงสำรวจพื้นที่ และพบกับความเดือดร้อนของชุมชน 

“ชุมชนพาไปดูพื้นที่นา พื้นที่สวนที่นกยูงลงมากินข้าว เขาลงมาทีเป็นร้อย ๆ ตัว แล้วก็กินข้าวพรึบ แบบหายไปในพริบตา เลยเป็นที่มาของการของบทำวิจัยเรื่องนี้” อาจารย์กุ้งเริ่มเรื่อง

พ.ศ. 2559 จากงานวิจัยชิ้นเล็กของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยพะเยาสู่ ‘โครงการรำแพน’ โครงการที่จะช่วยให้คนและนกอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ 

เริ่มแรกที่บ้านกิ่วแก้ว ตำบลห้วยข้าวก่ำ จังหวัดพะเยา โครงการรำแพนได้ทดลองทำ Buffer Zone (พื้นที่กันชน) สร้างพื้นที่จำเป็นให้นกยูง เพื่อที่ว่าพวกมันจะได้ไม่ไปกินที่จุดอื่น ๆ ให้กินจนอิ่ม นอกจากนั้นยังเปลี่ยนพันธุ์พืชที่ปลูก อาทิ สลับไปปลูกมันสำปะหลังเพราะอยู่ใต้ดิน เพื่อที่จะไม่ให้นกยูงลง

ทว่าก้าวแรกนั้นไม่ง่าย เหมือนยิ่งกั้นยิ่งยุ เพราะนกยูงดันรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่หมู่บ้านมากขึ้น ๆ “บางหมู่บ้านถ่ายรูปมาให้ดูว่า นกเข้ามากินข้าวกับไก่” อาจารย์กุ้งกล่าว

นอกจากนั้นทางโครงการพบอุปสรรคในเรื่องงบประมาณและความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ 

“ตอนทำโครงการแรก ๆ ตัวแทนชาวบ้านที่เดือดร้อนไปคุยในเวทีต่าง ๆ แม้แต่คุยกับทางเทศบาล อบต. เวทีอำเภอ เวทีจังหวัด ทุกคนจะมองว่ามันเป็นปัญหาเล็ก ไม่ได้คิดที่จะหาทางออกร่วมกัน คนมักมองว่านกมันกินไปตามธรรมชาติ แต่คนเดือดร้อนเขาไม่ได้คิดแบบนั้น

“ทาง อบต. หรือแม้แต่ภาครัฐเองเขาไม่ได้มีงบในการช่วยเหลือ เนื่องจากว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้จัดอยู่ในขั้นภัยพิบัติ ฉะนั้นจึงไม่มีค่าชดเชย ไม่ได้มีอะไร เลยกลายเป็นที่มาว่า เราจะยืนได้ด้วยตนเองและแก้ไขวิกฤตนี้ยังไง แล้วเราจะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้ไหม เลยเป็นจุดเริ่มต้นช่วงประมาณ พ.ศ. 2559-2560 จากงานวิจัยเล็ก ๆ และความร่วมมือของชุมชนและกรมป่าไม้”

รำแพน ข้าวหอมนกยูง ข้าวปลอดสารพิษที่ช่วยให้ทั้งนกยูงไทยและชาวบ้านอยู่รอด

เหตุผลหลักที่นกยูงจะออกจากป่ามี 2 ประการ หนึ่ง หาอาหาร สอง รำแพนเพื่อผสมพันธุ์ กระบวนการการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงเกิดขึ้น

มิติแรก คือ การท่องเที่ยวเพื่อช่วยอนุรักษ์นกยูงไทย

“เราใช้พื้นที่นาของชาวบ้านจุดที่นกลงมากินปรับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้คนมาดูนกในฤดูกาลรำแพน ซึ่งเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวของภาคเหนือ ประมาณช่วงพฤศจิกายนถึงมีนาคม เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว มิตินี้ของรำแพนก็เลยเป็นผลิตภัณฑ์ที่เราอยากสื่อถึงความมีเสน่ห์ของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่นกยูง มันจะมีผลิตภัณฑ์ที่ออกมาทั้งการเป็นแหล่งท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ มาดูนก มากินอาหารในพื้นที่ของชุมชน ตอนนี้เราก็มีทำอยู่บ้าง เป็นช่วงกำลังเริ่ม ก็อยากเชิญชวนให้คนที่สนใจมาทำมิตินี้ด้วยกัน” 

รำแพน ข้าวหอมนกยูง ข้าวปลอดสารพิษที่ช่วยให้ทั้งนกยูงไทยและชาวบ้านอยู่รอด

มิติที่สอง คือ การให้เช่าที่นาเพื่ออนุรักษ์นกยูง 

“คล้าย ๆ กับการทำ Smart Farm เราจะเอาผืนนาแปลงใหญ่ ๆ ที่นกลงมากิน แล้วเปลี่ยนวิกฤตนั้นเป็นโอกาส เพราะการที่นกยูงมากินแล้วไม่ตาย นั่นหมายถึงผลผลิตของเราไร้สารพิษตกค้าง เพราะนกจะค่อนข้างไวต่อสารเคมีมาก ฉะนั้น จุดนี้จะเป็นจุดขายหลักของนา แนวคิดตอนนี้ก็คือจะตั้งกล้องเลยให้ตั้งแต่กระบวนการ ปลูก ผลิต ข้าวออกรวง นกมากินข้าวในนาของเรา

“มันเจ๋งนะว่าข้าวของเราเนี่ย มีนกลงมากิน ผลผลิตจากนาของเราหลังนกยูงลงมากินแล้วจะเหลือเท่าไหร่ไม่รู้ แต่จุดสำคัญคือเรามาแบ่งปันผลผลิตทางการเกษตรกัน หารเฉลี่ยต่อไร่ไป มี 5 ไร่ อาจจะได้กี่กิโลก็ว่าไปแล้วเอาไปขาย ส่วนทางเจ้าของนาก็มาดูนกยูงได้ มาเที่ยว มาเกี่ยวข้าวได้” 

ตอนนี้ถึงแม้ว่ายังเป็นช่วงทดลอง แต่แนวคิดการเช่าที่นานั้นก็ทำให้ชาวบ้านขายข้าวได้ราคา ได้ผลผลิต ได้ส่วนแบ่งจากการเช่าที่นา ได้แก้ปัญหาความเดือดร้อนอย่างตรงจุด ชาวบ้านได้เงินไปเลี้ยงดูปากท้อง ส่วนนกยูงก็ได้อาหารกิน ทว่าผู้คนที่สนใจที่จะลงทุนกับโครงการนี้นั้นยังน้อยนัก 

“ที่ทำมาก็มีแค่ 1-2 ราย เป็นเจ้าของโรงงาน แล้วเขาก็อยากเอาข้าวไปให้คนงานเขากิน อันนี้เลยเป็นแปลงใหญ่ที่เขาอยากเช่า” อาจารย์กุ้งกล่าว 

รำแพน ข้าวหอมนกยูง ข้าวปลอดสารพิษที่ช่วยให้ทั้งนกยูงไทยและชาวบ้านอยู่รอด

นอกจากความพยายามในการอนุรักษ์นกยูง สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือปากท้องของชาวบ้านที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสานต่อโครงการรำแพนให้เกิดขึ้นต่อไป ความพยายามในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่เหมาะกับแต่ละชุมชนจึงบังเกิด 

ผลิตภัณฑ์รำแพน เป็นตัวแทนของโครงการที่ต้องการบอกให้คนทั้งโลกรู้ว่า รำแพนคือผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยยกระดับชีวิตของผู้บริโภคจากรากฐานของธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนเครือข่าย 

ล่าสุดรำแพนได้วางขายข้าวหอมนกยูง สาโท มะตูมผง ชาขิง น้ำผึ้งโพรงห้วยยางขาม ลำไยอบแห้ง เป็นที่เรียบร้อย

“เราไปขายข้าวเป็นแพ็กที่ Chiang Mai Design Week เราพยายามไปทุกช่องทางเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ สุดท้ายเราก็ตั้งเป้าไว้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ทำอยู่ในตอนนี้และจะนำเสนอในอนาคตน่าจะมีเป็นร้อยอย่างเลย แต่ตอนนี้อยู่ในช่วงที่เข้าไปเรียนรู้กับในชุมชน ว่าชุมชนมีอะไรบ้าง ถนัดอะไร เพื่อที่จะทำให้เขามีผลิตภัณฑ์ขายตลอดปีได้ 

 “อย่างแถบจังหวัดแพร่ ในตัวของชุมชนสะเอียบมีภูมิปัญญาที่โดดเด่นเรื่องของการทำสุราหมัก คือการหมักสาโท หรือเหล้าข้าวเป็นภูมิปัญญาของหมู่บ้านสะเอียบ โดยใช้น้ำจากภูเขาไฟหล่มด้ง อันนี้เราก็มีสาโทรำแพนที่เป็นสูตรเฉพาะของหมู่บ้าน”

นอกจากนั้นยังมีน้ำผึ้งโพรงห้วยยางขาม น้ำผึ้งคัดพิเศษที่ส่งตรงตำบลห้วยยางขาม อำเภอจุน จังหวัดพะเยา 

ผลิตภัณฑ์ข้าวหอมนกยูง ที่การันตีว่าปลอดสารพิษร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะข้าวในนาที่นกยูงกิน ถ้านกรอดแปลว่าคนรอด นกยูงเป็นสัตว์ที่ไวต่อสารเคมีเป็นพิเศษ หากพวกมันตาย นั่นหมายความว่าพืชผลทางการเกษตรมีสารพิษตกค้าง 

“ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มาจากเครือข่ายชุมชนนกยูงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ ถ้าได้บริโภคหรือว่าเอาไปใช้แล้วรับรองว่าไม่มีสารพิษเลย” 

หากสนใจก็สั่งซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการของโครงการรำแพนได้ทางเว็บไซต์ gpeafowlcons.up.ac.th 

โครงการรำแพนได้กลายเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่าง วัฒนธรรม ธรรมชาติ และเศรษฐกิจของชุมชน ผ่านการช่วยกันอนุรักษ์นกยูงไทยและช่วยชาวบ้านท้องถิ่นให้มีรายได้ อาจารย์กุ้งเล่าว่า

เราได้ไปนำเสนอโครงการและผลิตภัณฑ์ที่ประเทศจีน ลาว และพม่า มาแล้ว อย่างจีน ในป่าของเขาแทบไม่มีนกแล้ว แต่ความเชื่อว่านกยูงเป็นนกศักดิ์สิทธิ์ในไทใหญ่ ไทลื้อ ค่อนข้างแน่นหนามาก ปัจจุบันวัฒนธรรมของเขายังมีการเอาขนนกยูงมาปักบนศีรษะ วันปกติก็ยังใส่ชุดพื้นเมือง เราจึงอยากใช้มิตินี้เชื่อมโยงการค้ากับพี่น้องไทยที่อยู่ต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์มิติที่เอาวัฒนธรรมนำการค้าโดยมีนกยูงนำพาไป

“สายสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากความเชื่อในนกยูงที่เรามีร่วมกันนี้มันอบอุ่นมาก ๆ ดินแดนไกลโพ้นอย่างจีนที่เราไปนำเสนอโครงการผ่านสมาคมไทลื้อ ไทเต๋อหง ไทเหนือ ซึ่งเขาพูดภาษาไทยแต่เราไม่เคยเจอกันเลย เหมือนกับญาติพี่น้องที่ไม่ได้เจอกันมานาน เพราะเรามีวัฒนธรรมรากที่คล้าย ๆ กัน เขาร้องไห้ เราก็ร้องไห้ เพราะดีใจที่ได้เจอคนต่างถิ่นที่พูดภาษาเดียวกัน โครงการนี้เลยมีความลุ่มลึกและมีเสน่ห์ที่เรากำลังจะเดินทางไปมาหาสู่กันโดยใช้นกยูงและวัฒนธรรมนำทาง” อาจารย์กุ้งเล่าถึงการขยายโครงการสู่ต่างประเทศ

ด้วยความมุ่งหวังที่อยากให้โครงการรำแพนเป็นตัวอย่างในระดับสากลที่สามารถส่งไปเวทีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และบอกกับโลกได้ว่า การอนุรักษ์นกยูงที่ทำมา ทำให้คนในชุมชนและนกยูงอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน  

หนทางสู่ความยั่งยืนที่ว่านั้นอาจไม่ได้มีเพียงแบบเดียว ทั้งนักวิชาการ หน่วยงานราชการ และชุมชน ต้องช่วยกันเรียนรู้และพัฒนาไปเรื่อย ๆ เพื่อหาหนทางให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข 

“ปลายทางของโครงการก็เป็นสโลแกนของเราเนี่ยแหละ ให้คนอยู่ได้ นกยูงอยู่ได้”

รำแพน ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นโกอินเตอร์ ทั้งข้าว สาโท น้ำผึ้ง ลำไยแห้ง ที่ช่วยให้ชาวบ้านในภาคเหนืออยู่ร่วมกับนกยูงได้
รำแพน
  • www.upili.up.ac.th และ ps://gpeafowlcons.up.ac.th
  • สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ (ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมและอนุรักษ์นกยูงไทย) มหาวิทยาลัยพะเยา
  • 09 1796 3136, 08 7661 9298 และ 06 4593 9680

Writer

Avatar

ญาณินท์ ศรีอุดมพงษ์

อดีตนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ในวงการแฟชั่นผู้เชื่อว่าจังหวะชีวิตมีจริง และมีวง safeplanet เป็นเครื่องชุบชูใจ

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ