ในงาน Amazing Green Fest 2024 ที่ผ่านมา เรามีโซน Green Learning เวทีเสวนาเรื่องการท่องเที่ยวยั่งยืนที่อัดแน่นทุกความรู้จากหลากหลายภาคส่วนตลอด 4 วัน เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้รับความรู้เรื่องการท่องเที่ยวยั่งยืนแบบเต็มอิ่ม
สำหรับใครที่พลาดฟังบางช่วงหรือผู้สนใจที่ไม่มีโอกาสมาร่วมงาน ไม่ต้องกังวลไป เพราะบทความนี้ได้รวมทุกองค์ความรู้เรื่องการท่องเที่ยวยั่งยืนจากทุกช่วงเสวนาของเวทีนี้มาให้อ่านกันครบถ้วน
มาเรียนรู้เรื่องการท่องเที่ยวยั่งยืนในหลากหลายมิติ จากหลากหลายวิทยากรน่าสนใจไปพร้อมกันได้เลย
Session
ไม่เห็นโลกร้อน ไม่หลั่งน้ำตา
ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยว การใช้ชีวิต
Speakers
คุณน้ำฝน บุณยะวัฒน์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน
คุณอรุษ นวราช นายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA)
คุณวสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA)
คุณช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท คลาวด์แอนด์กราวนด์ จำกัด
คุณเริ่มกลัวการตกหลุมอากาศบนเครื่องบินหรือยัง
ความรู้สึกกลัวแบบนี้ คือหลักฐานที่จับต้องได้ว่าภาวะโลกรวนมีผลกับการท่องเที่ยวอย่างไร นอกจากนี้ฤดูกาลที่ผิดเพี้ยนทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยววางแผนแบบเดิมไม่ได้ กำหนดฤดูกาลในการท่องเที่ยวลำบากมาก ที่อันตรายกว่านั้นคือไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นอีก
คุณน้ำฝน บุณยะวัฒน์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เล่าเพิ่มว่า การท่องเที่ยวในประเทศไทยใช้ต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมสูงมาก เมื่ออากาศแปรปรวน ส่งผลให้อาหารและสินค้าจากท้องถิ่นลดลง เมื่อผลิตได้น้อยหรือไม่ดีพอ ความภูมิใจก็น้อยลง นอกจากนี้ยังส่งผลให้คนเดินทางน้อยลงเพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย อย่างที่เรายกตัวอย่างในประโยคแรก
แล้วทางแก้มีแบบไหนบ้าง คุณอรุษ นวราช นายกสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA) เล่าว่าเกษตรอินทรีย์เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่หลายคนคาดไม่ถึง
บางคนคิดว่าเกษตรอินทรีย์ทำได้แค่เรื่องเกี่ยวกับอาหาร ความหมายของเกษตรอินทรีย์จริง ๆ แล้วคือการเกษตรที่รักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมีที่จะซึมไปในดินและน้ำ
ภาวะโลกรวนส่วนหนึ่งเกิดจากคนทำลายดินและน้ำ สารเคมีที่ใช้ในการเกษตรส่วนหนึ่งมาจากปิโตรเคมี หากเราพัฒนาเกษตรอินทรีย์จริงจัง จะส่งผลในแง่ดีกับโลกแน่นอน
ตอนนี้มีเกษตรกรที่ทำงานอินทรีย์ประมาณ 500,000 คน เกษตรกรทั้งหมดมี 20,000,000 คน พื้นที่เกษตรอินทรีย์มีไม่ถึง 1% ของประเทศ ไทยยังมีงานต้องทำอีกเยอะ แต่การจะพัฒนาทำแค่ฝั่งเกษตรกรอย่างเดียวไม่พอ เราต้องสร้างตลาดให้ด้วย ตลาดจะเกิดขึ้นได้ถ้าผู้บริโภคมีความต้องการหรือ Demand พูดง่าย ๆ คือเราต้องทำให้คนหันมากินสินค้าเกษตรอินทรีย์ก่อน
TOCA เคยทำโครงการร่วมกับ ททท. ชื่อว่า Organic Tourism ส่งเสริมชุมชนที่ทำเกษตรอินทรีย์โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ โครงการนี้ประสบความสำเร็จ พวกเขาเชื่อว่าอาหารเป็นตัวเชื่อมสังคมได้ หากเราทำให้เกิดสังคมอินทรีย์ในบ้านเราได้ สิ่งดี ๆ จึงจะค่อยตามมา
คุณวสุมน เนตรกิจเจริญ นายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) เป็นหนึ่งในผู้นำโครงการของ ททท. ออกไปโปรโมตในเวทีต่างชาติ โดยยึดหลักความสมดุล และมีเป้าหมายผลักดันการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
ตอนนี้เทรนด์ของการท่องเที่ยวยั่งยืนที่เหมาะกับประเทศไทยมี 2 รูปแบบ หนึ่ง คือ Gastronomy Tourism การท่องเที่ยวที่ใช้อาหารเป็นแกนหลักในการเล่าเรื่อง
สอง คือ Wellness Tourism หลายคนเข้าใจว่า Wellness หมายถึงการทำสปาหรือความงามอย่างเดียว ความจริงแล้วเรื่องนี้รวมถึงอาหาร จิตใจ และสิ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ประเทศไทยมีผู้ให้บริการและทรัพยากรด้านนี้เยอะมาก อยู่ที่เราว่าจะจับคู่ให้นักท่องเที่ยวได้เจอสิ่งเหล่านี้อย่างไร
การหาพาร์ตเนอร์ที่ทำธุรกิจท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญมากในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในภาคท่องเที่ยว เช่น สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (TCEB) ที่ผลักดันให้โรงแรมเป็นสถานที่จัดประชุมขนาดใหญ่ (MICE) การจับมือกันจะช่วยให้สเกลงานยั่งยืนขยายวงกว้างขึ้น
คุณช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา เล่าประสบการณ์การทำงาน Thailand Coffee Fest ว่าหัวใจความสำเร็จคือการใส่ใจ Supply Chain รวมถึงเข้าใจว่า ถ้าเราทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าทำไมต้องท่องเที่ยวแบบนี้ สินค้าเหล่านี้ดีอย่างไร เขาจะเกิดความต้องการหรือ Demand และจะนำไปสู่การสร้างตลาด เมื่อนั้นทั้งอุตสาหกรรมก็จะยกระดับขึ้นไปพร้อม ๆ กัน
คุณน้ำฝนพูดปิดท้ายว่า ททท. ไม่ได้เป็นเจ้าของสิ่งใดในการท่องเที่ยว พวกเขาคือนักเล่าเรื่อง ทำให้คนรู้ว่าจะใช้การท่องเที่ยวให้ดีกับประเทศอย่างไร ต้องรู้ว่าตัวจริงในวงการยั่งยืนคือใคร คนที่รักษาโลกก่อนกระแสจะเกิดคือใคร แล้วจับมือพวกเขามาต่อยอดในงานให้ได้
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวใช้ทรัพยากรเยอะมาก เอาเปรียบธรรมชาติมาเยอะ วันนี้ ททท. ต้องให้การท่องเที่ยวตอบแทนประเทศ อย่าให้ต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติถดถอย ต้องสร้างต้นทุนใหม่ด้วยการให้ปัญญาคนในการท่องเที่ยวครั้งต่อไป
Session
Global Trend
Speaker
คุณวิสุทธิ์ ตันตินันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านขยายความร่วมมือและพันธกิจ UNDP
การท่องเที่ยวยั่งยืนเป็นวาระระดับโลกที่มีการขับเคลื่อนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainablie Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ โดยหลังจากโลกมีภัยคุกคามหลากหลาย เช่น ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ คุณวิสุทธิ์ ตันตินันท์ ได้มาแบ่งปันเทรนด์การท่องเที่ยวยั่งยืนที่ตอบโจทย์โลกยุคปัจจุบันกับเรา
เทรนด์แรก คือ Climate-friendly Tourism หรือการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ โดยเทรนด์นี้จะเกิดขึ้นได้จริงเมื่อองค์กรในภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมมือกัน
เทรนด์ถัดมาคือ Biodiversity-based Tourism การท่องเที่ยวโดยอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยที่บุรีรัมย์ ซึ่งตั้งใจฟื้นฟูแล้วต่อยอดเป็นศูนย์การเรียนรู้ กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ชาวบ้านได้ประโยชน์ด้วย
เทรนด์ต่อมา คือ Community-based Tourism อย่างการท่องเที่ยวในชุมชนที่นักท่องเที่ยวพร้อมจ่ายเงินเพื่อไปสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ อาทิ การท่องเที่ยวที่สกลนครซึ่งผู้สูงอายุลงมือทำอาหารแล้วร่วมมือกับคนรุ่นใหม่ถ่ายภาพโปรโมต
เทรนด์สุดท้าย คือ Inclusive Tourism หรือการท่องเที่ยวสำหรับทุกคน ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการรับฟังความต้องการจากกลุ่มเป้าหมายเพื่อเข้าใจความต้องการแท้จริงด้วย อาทิ เช่น การที่ UNDP พาผู้พิการทางสายตาท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัย โดยมีกระบวนการรับฟังก่อนหน้า ทำให้จัดกิจกรรมได้ตอบโจทย์ เช่น กิจกรรมที่ผู้พิการสัมผัสพระพุทธรูปได้
Session
อยู่ยากหรืออยู่ง่าย
เมื่อแนวทางการทำงานกับ Partner เปลี่ยนไป
Speakers
คุณฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้
คุณศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป อเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หลายประเทศมีการปรับนโยบายที่จริงจังขึ้น ผู้ประกอบการภาคเอกชนต้องปรับตัวทั้งตลาดระยะใกล้ (Short Haul) และตลาดระยะไกล (Long Haul)
คำถามคือ แต่ละคนปรับตัวอย่างไร ตลาดกำลังไปในทิศทางไหน เนื้อหาของเสวนาช่วงนี้เชิญรองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 2 คือ คุณฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ และ คุณศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา มาให้คำตอบเรื่องตลาด รวมถึงแนวทางการทำงานที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
เรื่องหนึ่งที่นักท่องเที่ยวทุกประเทศเป็นเหมือนกัน คืออยากได้สิ่งอำนวยความสะดวกแบบ 360 องศา คุณฉัททันต์สันนิษฐานว่าหลังโควิด พอคนไม่ได้เที่ยวนาน ทุกคนเลยมีความต้องการสูงขึ้น เลือกได้หมดว่าอยากได้อะไร อย่างไร และเมื่อไหร่ ตลาดกลายเป็นภาวะ Buyer’s Market ผู้ซื้อมีอำนาจสูง
ในตลาดยุโรปสิ่งที่เราต้องเข้าใจมีอยู่ 3 ข้อ
หนึ่ง คือ Compliance กฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนซึ่งกำลังจะถูกบังคับใช้ใน 2 ปีข้างหน้า สอง Customer Insight พฤติกรรมเชิงลึกของนักท่องเที่ยวว่าเขาสนใจเรื่องไหน ใช้จ่ายกับอะไรบ้าง สุดท้ายคือ Customer Journey สิ่งที่เป็น Touch Point ของนักท่องเที่ยวคืออะไร ตั้งแต่ช่วงก่อน ระหว่าง และหลังมาเดินทางท่องเที่ยว
ในอีก 3 ปีข้างหน้า นักท่องเที่ยวจากฝั่งตะวันออกกลาง 83% ยินดีจ่ายแพงขึ้นถ้าบริการของเรายั่งยืนหรือลดคาร์บอนได้มากกว่า ประเทศในฝั่งยุโรปร่วมลดการปล่อยคาร์บอนจากการเดินทางท่องเที่ยว ด้วยการแบนเที่ยวบินระยะสั้น (Short-haul Flight Bans) ที่บินน้อยกว่า 2.5 ชั่วโมงหรือเก็บภาษีเพิ่ม รณรงค์ให้คนใช้รถไฟหรือขนส่งแบบอื่นมากขึ้น
นักท่องเที่ยวอายุ 24 – 36 ปีจะเป็นคนฐานใหญ่สุด และคนกลุ่มนี้ใส่ใจความยั่งยืนมาก ถ้าเขาไม่ทำเอง ก็สนับสนุนธุรกิจที่ทำเรื่องนี้
ในฝั่ง Long Haul เริ่มมีนักท่องเที่ยวเจนฯ ใหม่ที่เรียกว่า เจนฯ S ย่อมาจาก Sustainability คนกลุ่มนี้ชอบเรื่อง Reuse กลับมาใช้ซ้ำ Recycle เปลี่ยนรูปแบบของที่เคยใช้ให้กลับมามีคุณค่าด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ และ Reduce ลดการใช้ที่ไม่จำเป็น
นักท่องเที่ยวเจนฯ S จะไม่ใช้พลาสติกระหว่างเที่ยวเลย ถ้าเจ้าของธุรกิจอยากได้ใจพวกเขา การให้น้ำขวดพลาสติกดื่มหรือเรื่องเล็ก ๆ ระหว่างให้บริการ เช่น ชุด Amenity ในห้องน้ำโรงแรม เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด
ธุรกิจสายการบินเองก็เร่งปรับตัวอย่างหนัก แม้จะปล่อยคาร์บอนมากเป็นอันดับ 1 ในหมวดรูปแบบการเดินทาง แต่ธุรกิจเหล่านี้ก็ไม่อยู่เฉย เช่น หันมาใช้เชื้อเพลิงที่เรียกว่า SAF ลดการปล่อยคาร์บอนน้อยลง แม้ตั๋วจะแพงขึ้นแต่ถูกจองเต็มถี่ขึ้นเรื่อย ๆ หรือชุด Amenity ชั้น First Class ในสายการบิน Delta Air Lines สินค้าทำโดยชุมชนในประเทศเม็กซิโก มี QR Code ให้สแกนหากเราอยากไปรู้จักพวกเขาในพื้นที่
ในการปรับตัวเรื่องยั่งยืนไม่ได้มีแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมกับนักท่องเที่ยว วิธีการดูแลพนักงานโรงแรมก็เริ่มเปลี่ยนไป ใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น เช่น มีโรงแรมที่ปรับนโยบายให้ทำความสะอาดในวันอาทิตย์สายขึ้น หรือถ้าอยากทำค่อยโทรเรียก เพราะแขกอยากพักอยู่ในห้องนานขึ้น พนักงานก็ได้พักในวันอาทิตย์มากขึ้น ไม่ต้องรีบทำตามเวลาเหมือนเมื่อก่อน ปี 2025 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงาน Tourism Cares Meaningful Travel Global Summit 2025 ซึ่งเป็นการจัดประชุมครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างการรับรู้และความพร้อมของประเทศไทย ในการเป็น Sustainable Tourism Destination
เรื่องที่เราควรใส่ใจมากหน่อยคือ Customer Journey สมมติว่านักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงจังหวัดที่โรงแรมคุณตั้งอยู่ แต่ต้องเดินทางด้วยรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปอย่างเดียว ไม่มีทางเลือกอื่น จุดนี้จะกลายเป็นข้อด้อยในการท่องเที่ยวของเรา ต้องพยายามสร้างสาธารณูปโภคที่ปล่อยคาร์บอนน้อยหรือยั่งยืน เพื่อให้การเดินทางเป็นมิตรกับธรรมชาติมากที่สุด
บางธุรกิจในบ้านเราอาจเปลี่ยนบางสิ่งได้ยาก เช่น เราใช้น้ำขวดพลาสติกเยอะมาก การจะไม่ใช้เลยอาจทำได้ยากในบางธุรกิจ วิธีการคือเล่าเรื่องว่าขวดน้ำเหล่านี้กินเสร็จแล้วเราจัดการต่ออย่างไร หมุนเวียนนำกลับมาในระบบอย่างไร เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในการปรับตัว
กฎหมายกำหนดราคาสินค้าก่อนเข้าสู่ยุโรปหรือ CBAM ตอนนี้ใช้ในภาคอุตสาหกรรมหนัก และอีก 2 – 3 ปีข้างหน้าจะใช้ในอุตสาหกรรมบริการ ถ้าธุรกิจท่องเที่ยวไทยปรับตัวตอนนี้เลยก็จะรอด เพราะการปรับตัวต้องใช้เวลา ไม่ใช้ว่าจะทำได้เลย ถ้ารู้ตัวเร็วทำเร็วก็ยิ่งดี
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยวประเภทไหน เรื่องความยั่งยืนก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่การทำเพื่อหวังผลการตลาด แต่เพื่ออนาคตของลูกหลานเราจริง ๆ
Session
ความไม่แน่นอน ที่แน่นอน
ข้อคิดการดำเนินงาน การทำธุรกิจเพื่อปรับตัวสู่ความยั่งยืน ภายใต้สภาวะโลกรวน
Speakers
คุณโตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้
ชื่อหัวข้อเสวนาจาก OKMD ดูเหมือนจะเข้าใจยาก (ความไม่แน่นอน ที่แน่นอน ข้อคิดการดำเนินงาน / การทำธุรกิจเพื่อปรับตัวสู่ความยั่งยืน ภายใต้สภาวะโลกรวน) หลัก ๆ แล้วคือการบอกว่า เราควรคิดอย่างไร มองอย่างไร ทำอย่างไร หาโอกาสอย่างไรจากความรู้ในสภาวะนี้ เล่าโดย คุณโตมร ศุขปรีชา ที่วันนี้มาในฐานะผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้
ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและความยั่งยืนอย่างไร ก่อนอื่นคุณโตมรเกริ่นว่า OKMD คือองค์กรที่ทำงานจัดการความรู้ ผลงานที่เห็นจับต้องได้ที่สุดคือดูแลหน่วยงานอย่างมิวเซียมสยามและ TK Park
สิ่งที่พิพิธภัณฑ์สร้างได้มากที่สุดคือแรงบันดาลใจ เมื่อเราไปแล้วอยากรู้เพิ่ม ก็ควรต้องไปห้องสมุด
แต่ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ใน 2 พื้นที่นี้เท่านั้น แต่อยู่รอบตัวเรา ความยั่งยืนก็ถือว่าเป็นความรู้ เวลาเราพูดถึงการสร้างความรู้ให้เกิดในองค์กร จะมี 4 ขั้นตอนที่เราต้องผ่าน คือ Knowledge Creation การสร้างความรู้ให้เกิดขึ้น Knowledge Storage การจัดเก็บความรู้ Knowledge Sharing & Communication การกระจายความรู้และสื่อสารทั้งในและนอกองค์กร Knowledge Utilization การนำความรู้มาทำให้เกิดประโยชน์ที่จับต้องได้
คนไทยยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญกับ 4 ขั้นตอนนี้ คุณโตมรยกตัวอย่างในองค์กรหนึ่งอาจจะมีพนักงานที่มีความรู้เรื่องการเที่ยวทะเล พอคนนี้เกษียณ ความรู้ก็หายไป เรียกว่า Explicit Knowledge ซึ่งหากเรานำคนนี้มาถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบที่แชร์ต่อให้พนักงานคนอื่นได้ ความรู้ก็จะทำประโยชน์ต่อไปได้อีก
ในโรงแรมชั้นนำจะมีพนักงานรุ่นใหญ่ ๆ ที่มองออกว่าลูกค้าต้องการอะไร ผ่านการสังเกตภาษากาย นี่ก็เป็นความรู้เหมือนกัน โรงแรมที่เข้าใจเรื่องนี้จะไม่ได้พยายามเก็บพนักงานคนนี้ไว้อย่างเดียว แต่จะพยายามถ่ายทอดความรู้จากพนักงานคนนี้ส่งต่อให้คนอื่นหรือเขียนเป็นตำราให้เรียน
คนไทยมองว่าความรู้คือของสูง ต้องอยู่ในสถาบันวิจัย คนทั่วไปเลยไม่ได้เข้าถึง ความจริงมีบางงานวิจัยที่น่าสนใจและนำมาใช้กับการท่องเที่ยวได้ เช่น งานวิจัยเกี่ยวกับชีวิตบั้นปลายของคนในนครการค้าอย่างหาดใหญ่ว่าต่างจากเมืองอื่นอย่างไร
ในต่างประเทศเริ่มมีเทรนด์ที่เรียกว่า Knowledge-based Tourism คุณโตมรยกตัวอย่างการถ่ายเซลฟี่กับสถานที่ท่องเที่ยว เป็นเรื่องไม่ผิด แต่ถ้าถามว่าคนในภาพรู้จักสถานที่เหล่านั้นบ้างหรือเปล่า เทรนด์นี้พยายามคิดเรื่องการท่องเที่ยวโดยมีฐานความรู้รองรับ ให้นักท่องเที่ยวที่มาและกลับไปแล้วไม่ใช่คนเดิม ได้ความรู้กลับไป
เมื่อซีรีส์ Downton Abbey โด่งดัง บ้านที่ใช้ถ่ายทำในเมือง Hampshire ประเทศอังกฤษก็ดังไปด้วย มีการเก็บเงินนักท่องเที่ยวที่จะถ่ายรูปกับบ้านหลังนี้ นักท่องเที่ยวบางคนถามเรื่องบ้านจนเจ้าของบ้านตอบไม่ได้ นักท่องเที่ยวปัจจุบันมีลักษณะ Active Learner สูง อยากรู้ไปหมด นี่คือตัวอย่างว่าความรู้จะเสริมการท่องเที่ยวอย่างไร
คนบางย่านอาจรู้สึกว่าไม่มีอะไรน่าเที่ยวเลย ถ้าเราหาความรู้ในย่านเจอก็พลิกมาใช้เล่าเรื่องได้ เช่น ในย่านอารีย์ กรุงเทพฯ จะมีบ้านของคนมีฐานะอยู่เยอะ หากมองเข้าไปเจ้าของบ้านมักจะปลูกต้นไม้ที่บ้านปกติไม่ปลูกกัน เรื่องพวกนี้ถือเป็นความรู้ด้านการจัดสวน Landscape ของคนในยุค 80 เอามาเล่าต่อได้เหมือนกัน
อีกคนที่มีบทบาทมากคือปราชญ์ชาวบ้านหรือคนแก่ในพื้นที่ โจทย์คือทำยังไงให้พวกเขาอยู่ได้ด้วยการเล่าความรู้ให้นักท่องเที่ยวสนุก ความรู้บางประเภทก็ไม่ได้ถูกยกให้มีคุณค่า เพราะไม่มีสถาบันรองรับ เช่น คุณป้าบ้านหลังหนึ่งทำแกงเทโพเก่งมาก มีเคล็ดลับที่คนอื่นไม่มี แต่ไม่มีสถาบันอย่างมิชลินรองรับ คนเลยไม่รู้จัก เหล่านี้ก็เป็นโอกาสที่ทำอะไรต่อได้
เทรนด์ความรู้สำคัญที่น่าสนใจของวงการท่องเที่ยวคือ Regenerative Tourism ทำการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการฟื้นฟูธรรมชาติ และ Planetary Boundary ขีดจำกัดของโลกในการรับมือกับทรัพยากรที่เปลี่ยนแปลงไป หากเราศึกษาดี ๆ ก็จะป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากธรรมชาติที่จะมาส่งผลกับธุรกิจท่องเที่ยวได้อีกทางเช่นกัน
Session
ธุรกิจการบินกับสิ่งแวดล้อม เป็นเพื่อนกัน
Speaker
คุณนวรัตน์ วรรณตรง ผู้อำนวยการส่วนความยั่งยืนองค์กร (Bangkok Airways)
เราต่างรู้ว่าการบินเป็นธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก แล้วสายการบินเองมีการปรับตัวอย่างไร
สำหรับสายการบิน Bangkok Airways นั้น เจ้าของธุรกิจมีแนวคิดยั่งยืนมาตั้งแต่ต้น เห็นได้จากการสร้างสนามบินโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และมีการดำเนินงานโดยเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง
หลังจากนั้น เมื่อธุรกิจต้องปรับตัวรับวาระความยั่งยืน กลุ่มธุรกิจนี้ก็มีการปรับตัวด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้านสำคัญ คือการจัดการด้าน Climate Change การจัดการของเสีย และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ใช้องค์ความรู้ในเรื่องวิศวกรรมมาเป็นแนวทางเพื่อลดการใช้พลังงาน การคำนวณระดับความสูงของการบินและการลงจอดเพื่อให้ลดการใช้น้ำมันลงได้ การทำให้น้ำหนักของเครื่องบินเบาขึ้นเพราะลดการใช้เอกสารการบินที่เป็นกระดาษ เปลี่ยนมาใช้รูปแบบออนไลน์แทน นอกจากนี้ยังมีการจัดการขยะเศษอาหารบนเครื่องอีกด้วย
นอกจากนี้ เนื่องจากกลุ่มธุรกิจอยู่ในการกำกับดูแลของหน่วยงานอย่างตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ต้องมีเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนที่ชัดเจน นำไปสู่การตั้งเป้า Net Zero ภายในปี 2050 โดยองค์กรได้มีการทำ Carbon Footprint องค์กรเพื่อสำรวจว่ามีการปล่อยคาร์บอนในปล่อยจุดไหนมาก และจะได้หาวิธีจัดการต่อไป
Session
‘New Era Beyond’
Sea-Sand-Sun of Thai Islands
Speakers
คุณเนรมิตร สงแสง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง
คุณธีรพจน์ กษิรวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา
คุณธีระศักดิ์ สรวมชีพมาเสือ กรรมการสภาอุตสากรรมการท่องเที่ยว จังหวัดตราด (เกาะช้าง)
คุณรัฎดา ลาภหนุน กรรมการที่ปรึกษา สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตศักดิ์ พุฒจร อาจารย์จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตเพชรบุรี
นักเดินทางที่สนใจความยั่งยืน รู้ไหมว่าตอนนี้เรามีเครือข่ายเกาะยั่งยืน (ทุกคนกำลังเลือกชื่อกันอยู่) ที่ตอนนี้มี 30 กว่าเกาะแล้ว สอดคล้องรับเทรนด์การท่องเที่ยวยั่งยืนที่เป็นที่นิยมระดับโลก แต่เครือข่ายนี้ไม่ได้เน้นเรื่องการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่เป็นความยั่งยืนที่ครอบคลุมหลายมิติ อาทิ ทรัพยากรและคนในพื้นที่ และสมาชิกก็ไม่ได้ครอบคลุมแค่ภาคประชาชน แต่ยังรวมถึงหน่วยงานภาครัฐผู้ดูแลทรัพยากร เช่น อุทยานแห่งชาติต่าง ๆ
มีการจัดงานรวมตัวกันมาแล้ว 2 ครั้ง ในชื่อ Thailand Sustainable Island Tourism Symposium ที่เกาะเต่าและเกาะลันตา โดยในปีหน้าวางแผนแล้วว่าจะจัดที่เกาะช้าง งานนี้เป็นงานที่ทำให้ชาวเกาะจากหลากหลายพื้นที่ได้มาพบปะกัน และได้ร่วมขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน
โดยที่ผ่านมามีการทำงานในเชิงนโยบายมานานแล้วจนเกิดแผน Eco Tourism แห่งชาติ แต่ยังไม่ถึงเวลาเหมาะสมที่จะขับเคลื่อน จนเครือข่ายเกาะยั่งยืนเกิดขึ้น นับเป็นเวลาเหมาะสมในการสานต่อสิ่งที่เคยมีมาในอดีต นอกจากนี้ เครือข่ายเกาะยั่งยืนยังถือเป็น Safety Net ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างไร นโยบายความยั่งยืนก็จะยังขับเคลื่อนต่อได้อีกด้วย
Session
จากภูเขาถึงทะเล ความร้อยเรียงของชุมชน วัตถุดิบท้องถิ่น และการท่องเที่ยว
Speakers
คุณอภิศักดิ์ กำเพ็ญ ชุมชนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่
คุณประเสริฐ ฤทธิ์รักษา ชุมชนบ้านบางโรง จังหวัดภูเก็ต
ชุมชนแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ และชุมชนบ้านบางโรง จังหวัดภูเก็ต คือชุมชนที่โดดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวยั่งยืน
ชุมชนแม่ทาเป็นตัวแทนชุมชนจากภูเขาที่เริ่มต้นด้วยคนรุ่นพ่อแม่ช่วยกันฟื้นฟูผืนป่าที่ถูกทำลายจากสัมปทานป่าไม้และการทำเกษตรโดยใช้สารเคมี จนธรรมชาติกลับมาสวยงาม ก่อนส่งต่อให้คนรุ่นถัดไปเข้ามาพัฒนาต่อยอด ลงมือทำเกษตรอินทรีย์เพราะเห็นผลเสียจากการทำเกษตรเคมีในอดีต ปัจจุบัน ชุมชนแม่ทาดำเนินงานส่งต่อมาถึงรุ่นที่ 3 และกำลังสร้างคนรุ่นใหม่เพื่อเป็นรุ่นที่ 4 เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่นักท่องเที่ยวทั้งได้สัมผัสวิถีชีวิต ลิ้มรสอาหารจากวัตถุดิบพื้นบ้านตามฤดูกาล และเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยชุมชน
ขณะที่ชุมชนบ้านบางโรงเป็นตัวแทนชุมชนจากทะเล มีวิถีการทำเกษตรและประมงพื้นบ้านสืบต่อกันมายาวนาน ชุมชนแห่งนี้เริ่มด้วยการฟื้นฟูธรรมชาติที่ถูกทำลายจากสัมปทานป่าชายเลน ก่อนรุ่นที่ 2 จะเริ่มเข้ามาบุกเบิกเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน และในตอนนี้กำลังถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เยาวชนในท้องถิ่น โดยเน้นให้โอกาสแก่เยาวชนที่ขาดโอกาส เพื่อให้มาเป็นรุ่นที่ 3 ต่อไป นักท่องเที่ยวที่มาบ้านบางโรงจึงจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนเก่าแก่ของภูเก็ต ชิมอาหารอร่อย เช่น สับปะรดภูเก็ตที่เป็น GI ของจังหวัด และช่วยสนับสนุนชาวบ้านในพื้นที่ไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ ทั้ง 2 ชุมชนต่างต้องรับมือกับปัญหาโลกร้อน โดยมีการปรับตัวในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การดึงผู้บริโภคปลายน้ำไปเรียนรู้เข้าใจปัญหา และการจัดการเรื่องความยั่งยืนในชุมชน
Session
เกาะหมาก มากหรือน้อย ปฏิญญาเกาะหมาก : ความร่วมมือ / ความคิดเห็นของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว
Speakers
คุณนพดล สุทธิธนกูล ตัวแทนกลุ่มคนทำงานเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของเกาะ
เกาะหมาก จังหวัดตราด คือแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบของ Low Carbon Destination แห่งแรกของประเทศไทยที่บริหารจัดการโดยผู้คน 5 ตระกูล ซึ่งเห็นตรงกันว่าควรรักษาทรัพยากรของเกาะให้คงอยู่อย่างยั่งยืน นำไปสู่การจัดทำปฏิญญาท่องเที่ยวโลว์คาร์บอนบนเกาะหมาก และต่อมาได้จัดทำ ‘ธรรมนูญเกาะหมาก’ ที่ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นข้อตกลงร่วมกัน ตัวอย่างเช่นจำกัดจำนวนรถจักรยานยนต์ให้เช่าให้ไม่เกิน 70% ของจำนวนห้องพักบนเกาะ และไม่สนับสนุนการใช้วัสดุจากโฟมหรือวัสดุที่ก่อให้เกิดมลพิษเพื่อใส่อาหาร
นอกจากทำข้อตกลงร่วมกัน ทางเกาะยังดำเนินการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง อาทิ งานอนุรักษ์ปะการังที่ทำมายาวนาน โดยปะการังของเกาะหมากเองก็ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน ทำให้ต้องเร่งฟื้นฟูเพื่อรักษาทรัพยากรของเกาะไว้
Session
กาดเกรียงไกร มาหามิตร
ทำน้อย ๆ ได้มาก ๆ ที่ดีและยั่งยืน
Speakers
คุณเนรมิต สร้างเอี่ยม เจ้าของตลาดเกรียงไกรมาหามิตร
ในตอนแรกคุณเนรมิตเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากกรุงเทพฯ ที่ผูกพันกับเชียงใหม่ ทำให้เมื่อถึงจุดหนึ่ง คุณเนรมิตตัดสินใจกลับเชียงใหม่ และตั้งใจจะทำธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร แต่กลายเป็นเจ้าของโรงงานผลไม้ เพราะต้องซื้อของฝากลูกน้องที่กรุงเทพฯ เป็นปกติ จนเจ้าของเดิมชวนซื้อโรงงาน ซึ่งโรงงานแห่งนี้โดดเด่นคือทุกคนทำทุกอย่างด้วยใจ
โดยต่อมา คุณเนรมิตได้ปรับพื้นที่บางส่วนของโรงงานเป็นตลาด ชื่อว่าเกรียงไกรมาหามิตร มีแนวคิดว่า อยากให้เป็นพื้นที่พบปะกันของเพื่อน ๆ มีโซนทั้งร้านค้าและร้านอาหาร โดยเป็นการแบ่งพื้นที่ให้คนได้มาออกร้านขายของ เก็บค่าเช่าเป็นส่วนแบ่งเพียง 10% จากรายได้ของแต่ละคร้าน
คุณเนรมิตรทำธุรกิจด้วยวิธีทำน้อยได้มาก เช่น การรับซื้อผลผลิตภายในจังหวัดเชียงใหม่ การปรับบรรจุภัณฑ์ตามเสียงตอบรับจากลูกค้าให้เล็กลงเพื่อจะได้กินหมดและทำให้ราคาขายสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังแบ่งรายได้จากการขายกลับสู่ชุมชน เพื่อการศึกษา เพื่อผู้สูงอายุ และเพื่อการสาธารณสุข ถือได้ว่าเป็นการทำธุรกิจที่ปรับวิธีการเพื่อให้ได้ผลที่ดีขึ้นและยั่งยืน เพราะนึกถึงผู้คนโดยรอบด้วย
Session
คน-นา-ป่า-เขา
เรื่องเล่าระบบนิเวศ วิถีชีวิต การท่องเที่ยวยั่งยืน จากคนต่างพื้นที่ที่มีเป้าหมายเดียวกัน
Speakers
คุณอติคุณ ทองแตง สมดุล อาโกฟอเรสทรี่ โฮม จังหวัดสมุทรสงคราม
คุณกัมพล กิ่งแก้ว บ้านสวนผักกูดทอง จังหวัดภูเก็ต
คุณสุภเศรษฐ โอภิธากรณ์ มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย (TWF) / Wetland Camp / บ้านต้นลำพู จังหวัดพัทลุง
ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่แบบไหน จังหวัดอะไร เราต่างเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยวยั่งยืนได้ เหมือนวิทยากร 3 ท่านในช่วงเสวนานี้
คุณอติคุณ ทองแตง จากสมดุล อาโกฟอเรสทรี่ โฮม จังหวัดสมุทรสงคราม เล่าว่าพื้นที่แห่งนี้เริ่มต้นจากความชอบธรรมชาติ โดยเริ่มทำเป็นสวนวนเกษตรที่อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญกับระบบนิเวศ ต่อมาได้เจอพันธมิตรที่ทำเรื่องผึ้งพื้นเมืองซึ่งช่วยส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและทำให้ลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตรได้ จึงมีการทำเรื่องผึ้งเพิ่มเข้ามาด้วย
ขณะที่ คุณกัมพล กิ่งแก้ว บ้านสวนผักกูดทอง จังหวัดภูเก็ต เริ่มจากทำเกษตรเคมี ก่อนจะเปลี่ยนมาสู่เกษตรอินทรีย์ โดยบ้านสวนผักกูดทองของคุณกัมพลมีจุดเด่นคือภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา การเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ และองค์ความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ที่เกิดจากการศึกษาการพึ่งพากันของธรรมชาติ
ในส่วนของ คุณสุภเศรษฐ โอภิธากรณ์ มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย (TWF) / Wetland Camp / บ้านต้นลำพู จังหวัดพัทลุง เริ่มต้นจากการเป็นผู้ที่หลงใหลการดูนกและเที่ยวป่า รวมถึงเป็นช่างภาพถ่ายทอดความสวยงามของธรรมชาติเพื่อจุดประกายความรักสิ่งแวดล้อมให้ผู้ชม ก่อนจะมาปลูกบ้านใกล้ป่า แล้วขยับขยายทำเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว โดยมีการอนุรักษ์พื้นที่ควบคู่กัน ทั้งปล่อยบางพื้นที่ให้เป็นป่าธรรมชาติ ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำกับเพื่อน และให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวสม่ำเสมอ เพื่อสื่อสารให้นักท่องเที่ยวรู้ว่าคนและการท่องเที่ยวอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็น Lagoon ของไทย หรือระบบนิเวศที่มีน้ำเค็มไหลเข้าออกตามธรรมชาติ (ทำให้ต่างจาก Lake หรือทะเลสาบที่ไม่ได้เชื่อมกับมหาสมุทร) มีน้ำจืดจากภูเขาไหลลงมาเติม เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ของผู้คน และเชื่อมโยงแนบแน่นกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่
และนี่คือ 3 ตัวอย่างของผู้ส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนจาก 3 จังหวัดของไทยที่สะท้อนว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เรามีแนวทางขับเคลื่อนการท่องเที่ยวยั่งยืนของตนเองได้
Session
Good Travel Seal : Lift up Your Sustainable Tourism Business
ผู้ประกอบการระดับเล็ก สู่มาตรฐานระดับโลก
Speakers
ผศ.ดร.แก้วตา ม่วงเกษม อาจารย์ประจำสาขาการจัดการท่องเที่ยวและบริการ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ตัวแทน Good Travel Seal, Green Destinations Representative
คุณพิเชษฐ โตนิติวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด
ในตลาดการท่องเที่ยวระดับโลก การได้รับการยอมรับว่าเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป เพราะนั่นหมายถึงการจะได้รับการสนับสนุนจากทั้งนักท่องเที่ยวและธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากฝั่งทวีปยุโรป
ผศ.ดร.แก้วตา ชวน คุณพิเชษฐ มาเล่าให้ฟังว่าการจะได้รับเครื่องหมายรับรองความเป็นธุรกิจท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในระดับโลกนั้นทำได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กแค่ไหน
ผศ.ดร.แก้วตาเล่าว่ามี 3 องค์กรที่ทุกคนควรจะรู้จักเอาไว้ อันแรก คือ Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) เป็นสถาบันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของโลก ซึ่งมี Green Destinations เป็นองค์กรที่จะทำการรับรองธุรกิจต่าง ๆ ว่าผ่านข้อชี้วัดตามที่กำหนดไว้ไหม และสุดท้ายคือ Good Travel Guide เว็บไซต์ที่รวบรวมธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวที่ผ่านมาตรฐานที่เรียกว่า Good Travel Seal
ยักษ์กะโจน ธุรกิจร้านอาหารของหนาวเป็นธุรกิจร้านอาหารแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรอง Good Travel Seal ร่วมกับแหล่งท่องเที่ยวอีก 7 แห่งของไทย จึงได้รับการรวบรวมเอาไว้ในเว็บไซต์ Good Travel Guide แหล่งอ้างอิงแหล่งใหญ่สำหรับนักเดินทางจากทั่วโลกที่มองหาแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจที่ยั่งยืน
โดยทั่วไปแล้วคนมักคิดว่าการรับรองมาตรฐานด้านความยั่งยืนเป็นเรื่องยาก แถมยังต้องเสียเงินเสียทอง แต่บนเวทีนี้ ผศ.ดร.แก้วตา มาบอกข้อมูลดี ๆ ว่ามันเข้าถึงได้ง่ายกว่าที่คิด โดยเริ่มได้จากการประเมินตัวเอง ผ่าน Good Travel Scan โดยตัวชี้วัดมีเพียง 27 ข้อเพื่อวัดว่า ‘คุณพยายามทำสิ่งนี้อยู่หรือไม่’
ยักษ์กะโจนได้ Certify Level 1 ใน Good Travel Seal แล้ว โดยมี ผศ.ดร.แก้วตา เป็นผู้ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
สุดท้าย คุณพิเชษฐฝากกับธุรกิจที่อยากจะได้ตรารับรองจาก Good Travel Seal ว่า “สำหรับคนที่ทำเรื่องธุรกิจแนวคิดยั่งยืนอยู่แล้วการจะผ่านมาตรฐานเหล่านี้ไม่มีอะไรยากเลย เพราะหาลองเข้าไปดูตัวชี้วัดจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ทำกันปกติอยู่แล้ว แต่ไม่อยากให้มองว่าเป็นการทำเพื่อให้ตอบตัวชี้วัดเท่านั้น แต่อยากให้มองเป็นแนวทางในการทำธุรกิจที่ยั่งยืนด้วย”
Session
Nature Positive Tourism
ท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงบวกผ่านการกำหนดเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์
Speakers
คุณนิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น ผู้ก่อตั้ง trekkingTHAI อุปนายกสมาคมการค้าเครือข่ายท่องเที่ยวเชิงนิเวศเอเชีย
Nature Positive Tourism เป็นอีกหนึ่งศัพท์ที่กำลังได้รับความสนใจในหมู่ผู้ที่ขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน
คุณนิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น มาเล่าให้ฟังในบทบาท นักวิจัยภายใต้ทุนของ บพข. (หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ) เรื่องการจัดการก๊าซเรือนกระจกของภาคท่องเที่ยวว่า ปัจจุบันเรามีแนวทางในการจัดการหลายปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น การวัดและลดการใช้คาร์บอน การจัดการขยะ การลดการใช้พลาสติก แต่สิ่งที่เป็นปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ และยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการวัดผลกระทบเพื่อจะนำไปสู่การแก้ไข คือผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่มากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ
“การท่องเที่ยวเข้าไปที่ไหน ธรรมชาติก็มีสัดส่วนที่จะหายไปมากเท่านั้น” คุณนิพัทธ์พงษ์พูดเรื่องจริงที่ทำให้เหล่านักเดินทางที่นั่งฟังอยู่หน้าเวทียิ้มแห้งกันเล็กน้อย
Nature Possitive Initiative คือโครงการที่พยายามนำเสนอแนวคิดว่าให้เศรษฐกิจอยู่ในสังคมแล้วล้อมรอบด้วยโลกของเรา หมายถึงการสร้างเศรษฐกิจโดยลดผลกระทบ รักษาความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการปรับปรุงให้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นหนึ่งเดียวกัน และมีความยืดหยุ่นรับมือได้ ของชนิดพันธุ์ ระบบนิเวศ กระบวนการทางธรรมชาติ ผ่านการ วัด ประเมิน ควบคุม และจัดการ โดยมีเป้าหมายว่าธรรมชาติจะฟื้นคืนได้ทัน พ.ศ. 2573
คล้ายกับหลักการการซื้อ Carbon Credit เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Biodiversity Credits ก็เป็นวิธีที่จะชดเชยการใช้ทรัพยากรด้านความหลากหลาย แต่ด้วยความซับซ้อนของการวัดที่มีหลายปัจจัยและการให้มูลค่าการชดเชยที่มีมาตรวัดต่างกัน เรื่องนี้ยังไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมเท่าเรื่อง Carbon Credit อย่างไรก็ดี IUCN เป็นองค์กรที่กำลังพยายามกำหนดให้ทั้งโลกใช้ได้ตรงกัน ผ่านการออกเอกสาร Measuring Nature Positive ออกมาเป็นแนวทาง
Session
ข้าวยำ กับความมั่นคงทางอาหาร
สัมผัสความหมายที่แท้จริงของการกิน ดี มี สุข โดยเครือข่ายกินดีมีสุข
Speakers
คุณประไพ ทองเชิญ บ้านสวนสมรมนาพรุ จังหวัดพัทลุง
คุณประไพ ทองเชิญ เปิดเวทีด้วยการเล่าว่า “อยู่กรุงเทพฯ มาหลายวัน รู้สึกร่างกายเย็น เมื่อเช้าได้กินข้าวยำเข้าไป 1 ชามใหญ่ ๆ ทำให้อุ่นท้องและมีแรงขึ้นมา เย็นนี้น่าจะหลับสบาย”
เทียบกับคนที่ต้องใช้มือถือเปิดเพลงกล่อมนอนทุกคืนแล้ว ร่างกายคุณประไพช่างน่าอิจฉา การกินสด กินตามฤดูกาล กินอาหารเป็นยาดูเหมือนจะเป็นแค่เรื่องเลือกกิน แต่คุณประไพได้ขยายให้เห็นจากเวทีนี้ว่ามันเป็น การสร้างความหมายให้ชีวิต
Slow Life, Slow Food นี่แหละที่ชีวิตควรจะเป็น คุณประไพบอกกับเรา
ของสดที่เลือกกินได้ตามฤดูกาลแสดงถึงความมั่นคงทางอาหาร นัยว่าปลูกอะไรก็ขึ้นตามฤดูกาล และก็มีมากพอจะบริโภคกันในครัวเรือน และอาจจะมากพอจนเอาไปแบ่งขายได้ด้วย
คุณประไพพูดถึง หลาดใต้โหนด เป็นตลาดชุมชนที่คุณประไพเป็นตัวตั้งตัวตี ชวนชาวบ้านมารวมตัวเอาของที่บ้านมาขาย “ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่แบ่งปัน” พี่หยอยบอกแบบนี้
ตลาดชุมชนต่างจากซูเปอร์มาร์เก็ตตรงที่ไม่ได้เป็นแค่พื้นที่สำหรับค้าขาย แต่เป็นพื้นที่สำหรับสมาคมระหว่างกัน งานบวช งานแต่งก็จะได้ส่งข่าวแล้วก็รวมตัวกันไปช่วยงาน ส่วนคนนอกที่มาเยือนก็จะได้เห็นวัฒนธรรมของชุมชนนั้น ๆ จากตลาดนี้
ตลาดที่ดีในนิยามของคุณประไพคือตลาดในพื้นที่ที่มีความมั่นคง ไม่ใช่ทางการเงิน แต่เป็นความมั่นคงทางอาหาร คุณประไพบอกเราว่า ตลาดนั้นจะมีสีสันและผู้คนก็จะเป็นมิตร เพราะทุกบ้านมีของมาแลกเปลี่ยน แบบไม่ได้มองมันเป็นราคาค่างวดอะไร การเอาน้ำใจมาแลกน้ำใจแบบนี้ มิตรภาพก็แบ่งบานอย่างไม่ต้องสงสัย
“เป็นความสุขที่จับต้องได้” คุณประไพกล่าวพร้อมรอยยิ้ม
Session
เล่าเรื่องเมืองพริบพรี
เรื่องราวองค์ประกอบของสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญา และเอกลักษณ์แห่งเมืองสามรส ‘เพชรบุรี’ บอกเล่าผ่านปราชญ์ชาวบ้านของเมืองเพชรบุรี
Speakers
คุณสายัณต์ สิทธิโชคธรรม (นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรี) สวนเพชร เกาะอินทรีย์วิถีไทย จังหวัดเพชรบุรี
คุณจำลอง วิลัยเลิศ ร้านระเบียงริมน้ำ จังหวัดเพชรบุรี
พริบพรี คือชื่อเรียกเมืองเพรชบุรี เป็นชื่อที่เกิดจากคนฝรั่งเศสเขียนตามเสียงที่ตัวเองได้ยิน จาก เพชรบุรี เป็นพริบพรี
เพชรบุรีได้ชื่อว่าเป็นเมืองสามรส เพราะมีวัตถุดิบขึ้นชื่อ และเป็น GI ครบทั้ง 3 รส คือตาล มะนาวแป้นลำไพเปลือกบาง และเกลือบ้านแหลม
เมื่อ พ.ศ. 2564 เพชรบุรีได้เป็นเมืองอาหารสร้างสรรค์ของ UNESCO อาหารจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็นแกงคั่วหัวตาล ก๋วยเตี๋ยวเมืองเพชร ข้าวแช่ ขนมจีนทอดมัน ลอดช่องน้ำตาลข้น (โตนด) แตงโมหน้าปลาแห้ง ขนมหม้อแกงเมืองเพชร วัตถุดิบที่ได้จากทะเล อาหารอินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ยำใบชะคราม ยำปลาทูสมุนไพร ไก่ต้มจิ๋ว น้ำพริกตะลิงปลิงผักเคียง ยำสะเดากุ้งสด ชมพู่เพชรสายรุ้งที่เอามาทำเป็นส้มตำชมพู่เมืองเพชร
เหล่านี้ถูกนำมาใช้ในหลาย ๆ กิจกรรมการท่องเที่ยวของเพชรบุรี แล้วก็นำไปบริการลูกค้าในโรงแรมต่าง ๆ
“อาหารเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวได้” คุณสายัณต์เชื่ออย่างนั้น เขาเล่าต่อด้วยว่าในทุกการจัดงานของจังหวัดไม่ว่าจะเป็นงานแข่งกีฬา งานพระนครคีรี หรืออื่น ๆ ก็จะจัดให้มีตลาดวัฒนธรรม เรียกว่าตลาดอิ่มสุข แทรกเข้าไป เพื่อใช้อาหารดึงดูดให้คนมาที่งาน
ว่าแล้ว คุณจำลองจึงแจกสูตรทำทำขนมตาลให้อร่อย มีเคล็ดลับอยู่ที่ต้องยีตอนหัวค่ำ นึ่งตอนเช้ามืดเพราะตาลไม่ชอบความร้อน จะทำให้เปรี้ยว เรื่องนี้จำลองแสดงความกังวลว่าเดี๋ยวนี้มีการปลอมปนกันมาก ซึ่งน่าเป็นห่วง เพราะถ้ามันมีปลอมมากจะกระทบถึงการท่องเที่ยวด้วย
เขาเล่าต่อด้วยว่าการได้คุยกับนักท่องเที่ยวก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจได้มาก เช่น พอได้บอกว่าใช้วัตถุดิบจากสวนของเพื่อนบ้าน เป็นออร์แกนิก เขาก็มั่นใจ “แล้วก็ตามด้วยการพาไปเที่ยวสวน ไปเที่ยวท้องทุ่งเมืองตาล” จำลองกล่าว
พูดถึงเรื่องความมั่นใจ สายันต์ก็เสริมให้ผู้ที่สนใจจะทำสวนหรือการท่องเที่ยวแบบออร์แกนิกฟังว่า การได้รางวัลมาการันตีและการเข้ารับการทดสอบมาตรฐานต่าง ๆ จะช่วยเสริมความมั่นใจและเพิ่มมูลค่าให้กับแหล่งท่องเที่ยวได้ อย่างศูนย์การเรียนรู้สวนเพชร เกาะอินทรีย์ วิถีไทย ก็ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย พ.ศ. 2566 ได้ STAR ดาวแห่งความยั่งยืนมา 5 ดาว และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย
ก่อนจบพวกเขาช่วยกันบอกว่าเพชรบุรีมีวัดเยอะ มีแก่งกระจานเป็นมรดกโลก การทำให้การท่องเที่ยวเพชรบุรียั่งยืนต้องระมัดระวังเมื่อมีคนเข้าไปเที่ยวเยอะเกินไป ถ้าไม่รักษาสิ่งพวกนี้ไว้ การท่องเที่ยวก็ไม่ยั่งยืนหรอก ‘หมดฉิบ’
Session
เต่า สมุย พะงัน 3 เกาะ 3 บุคลิก
การดำเนินงานสู่ความยั่งยืน
Speakers
คุณศิราณี อนันตเมฆ ที่ปรึกษาสมาคมท่องเที่ยวเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า
หนึ่งในที่เที่ยวยอดฮิตของไทยคือเกาะต่าง ๆ ที่มีทั้งทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สวยงาม แต่คำถามที่น่าสนใจ คือเราจะสร้างอัตลักษณ์และสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวยั่งยืนกับเกาะของไทยได้อย่างไร
คุณศิราณีซึ่งทำงานกับเกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า อธิบายว่าเกาะแต่ละแห่งนั้นมีเสน่ห์ไม่เหมือนกัน รวมถึงมีวิถีชุมชนที่ยั่งยืนเป็นขุมทรัพย์อยู่แล้ว โจทย์สำหรับ 3 เกาะแห่งนี้หลังช่วงโควิด คือต้องโปรโมตให้เกิดการท่องเที่ยวทั้ง 3 เกาะไปด้วยกัน แต่ละเกาะจึงต้องมีภาพรวมที่เหมือนกัน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีความต่างเฉพาะตัวด้วย
ทีมงานขับเคลื่อนจึงทำการค้นหาอัตลักษณ์จนเกิดเป็นคอนเซปต์ The Great Wonder Tri-Islands โดยชูเกาะสมุยเป็น Lux-perience เพราะมีทั้งโรงแรมคุณภาพที่ยังได้สัมผัสความเป็นท้องถิ่น ร้านอาหาร Fine Dining แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีอัตลักษณ์ชุมชน พร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม
ขณะที่จุดเด่นของเกาะพะงันคือ The Island of Power Energized by the Moon และ Happy – Healthy Phangan เพราะนอกจาก Full Moon Party ที่โดดเด่น พะงันยังมีธรรมชาติ ความออร์แกนิก และวิถีชีวิตเนิบช้าโดดเด่น โดยเกาะพะงันจะแบ่งออกเป็นโซนต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ประสบการณ์หลากหลาย เช่น โซนไลฟ์สไตล์ที่เป็นเหมือนตลาด และโซนธรรมชาติ-วัฒนธรรม
สำหรับเกาะเต่าจะมีคอนเซปต์คือ The Island of Purity เพราะเกาะเต่าเป็นเกาะที่ยั่งยืนมาก โดยจะเน้นให้เกิดการท่องเที่ยวที่อนุรักษ์ทรัพยากรและสร้างรายได้ให้ชุมชนไปพร้อมกัน
โดยหลังจากนี้ คุณศิราณีกล่าวว่า ต้องการขยายขอบเขตงานไม่จำกัดอยู่แค่อ่าวไทย แต่อาจทำให้เกิดการเดินทางแบบ Combination ซึ่งอาจแยกเป็นหมวดหมู่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยว อาทิ นักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเพื่อน และนักท่องเที่ยวสายอาหารต่อไป
Session
Foundation of Forest
บทเรียนจากผืนป่า เพื่อผืนป่า
Speakers
คุณธำรงรัตน์ ธนภัคพลชัย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
คุณธัชรวี หาริกุล ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน Thailand Outdoor
เพราะวัฒนธรรมการเดินป่าของคนไทยยังไม่แข็งแรง เส้นทางเดินป่าหลายเส้นจึงถูกปิด ขณะที่เส้นทางที่เหลือก็มีคนไปจนล้น และเมื่อวัฒนธรรมยังไม่แข็งแรงก็เกิดปัญหาอย่างปัญหาขยะตามมา
คุณธำรงรัตน์ ธนภัคพลชัย และ คุณธัชรวี หาริกุล จึงตัดสินใจเปิดโรงเรียนนักเดินป่า เพื่อให้ความรู้เรื่องการเดินป่าที่ถูกต้องยั่งยืนกับคนไทย
คุณธำรงรัตน์อธิบายว่า เราเชื่อในการสร้างวัฒนธรรมการเดินป่าที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นในไทย มี 3 ส่วน คือหนึ่ง การพึ่งพาตัวเอง ตั้งแต่เตรียมข้อมูลเส้นทาง เตรียมตัวเดินป่า สอง เคารพธรรมชาติ คนที่เข้าไปมักเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่ที่จริงเราต้องตระหนักว่าจะสร้างผลกระทบให้น้อยที่สุด ตามหลัก Leave No Trace เก็บความทรงจำที่ดีออกมา สาม การให้เกียรติเพื่อนร่วมทาง คือการให้เกียรติว่าทุกคนมาเสพธรรมชาติด้วยกัน เช่น การเข้าห้องน้ำอย่างเรียบร้อย
โรงเรียนนักเดินป่าแบ่งการเรียนการสอนเป็น 2 รูปแบบ แบบแรก คือการเรียนออนไลน์ โดยผู้ต้องการสมัครเรียนต้องเรียนส่วนนี้และสอบให้ผ่านก่อนถึงจะสมัครเข้าเรียนได้ อีกรูปแบบ คือการเรียนภาคสนามที่ผู้เรียนจะได้เข้าป่าของจริง
โดยปัจจุบันมีโรงเรียนนักเดินป่าเปิดแล้วทั้งหมด 3 แห่ง คือที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน อุทยานแห่งชาติน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และอุทยานแห่งชาติภูเวียง จังหวัดขอนแก่น โดยตอนนี้โรงเรียนมีชั้นเรียนขั้นต้น ภายในปีนี้จะขยายสู่ขั้นกลาง และในอนาคตวางแผนจะเปิดชั้นเรียนขั้นสูงต่อไป
คุณธัชรวีกล่าวว่าโรงเรียนแห่งนี้ได้สร้างชุมชนนักเดินป่าที่ดีขึ้นมา โดยศิษย์เก่าก็กลับมาเป็นอาสาสมัครในชั้นเรียนครั้งถัด ๆ ไปด้วย
นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้ความรู้ โรงเรียนนักเดินป่ายังเป็นพื้นที่เพิ่มพลังให้กับเจ้าหน้าที่ผู้สอน เพราะเจ้าหน้าที่จะได้มาแบ่งปันเรื่องราวงานที่ทำกับผู้เรียน อีกทั้งยังช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนใกล้เคียง เรียกว่าตอบโจทย์ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายครบถ้วน
ในอนาคต หากคนไทยมีวัฒนธรรมการเดินป่าเข้มแข็ง เราคงได้เห็นการเปิดเส้นทางเดินป่าที่หลากหลายให้ผู้คนได้เข้าไปเรียนรู้ธรรมชาติ จุดประกายแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยผืนป่าเหล่านั้นไม่ถูกทำลายจากการท่องเที่ยวอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
Session
ผึ้ง พา อาศัย
ความพึ่งพาอาศัยระหว่าง คน-ป่า-ผึ้ง
Speakers
คุณสุธีร์ ปานขวัญ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้งโพรงบ้านไหนหนัง ชุมชนประมงพื้นบ้าน ตำบลเขาคราม จังหวัดกระบี่
การอนุรักษ์จะยั่งยืนก็ต่อเมื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วย
วิสาหกิจชุมชนบ้านไหนหนัง จังหวัดกระบี่ เริ่มต้นจากการท่องเที่ยวชุมชน หาเลี้ยงชีพด้วยการทำสวนยาง สวนปาล์ม รวมถึงการทำประมง นอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ก่อนจะมาเลี้ยงผึ้งเพื่อให้การทำงานอนุรักษ์ยั่งยืน นั่นคือชุมชนมีรายได้ และรายได้ส่วนหนึ่งนำกลับไปขับเคลื่อนงานอนุรักษ์
การเลือกเลี้ยงผึ้ง เพราะผึ้งและชันโรงเป็นกลไกหลักที่ช่วยผสมพันธุ์ให้พรรณไม้ในพื้นที่ป่าชายเลน และในตอนนั้น กระบี่ยังไม่มีผู้เลี้ยงผึ้งมาก่อน จึงอยากสร้างเป็นอาชีพใหม่ขึ้นมา
โดยวิธีการนำผึ้งและชันโรงมาเลี้ยงต้องมีการหาความรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ และนำมาทดลองหาประสบการณ์จริงก่อนต่อยอดสู่การท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวมองหาประสบการณ์แปลกใหม่อยู่แล้ว แต่ชุมชนก็ต้องดูแลให้นักท่องเที่ยวปลอดภัยด้วย โดยการให้นักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่เลี้ยงชันโรงซึ่งไม่ต่อยคนได้ และชิมน้ำผึ้งสดจากพื้นที่เลี้ยงผึ้งได้
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมปล่อยชันโรงคืนป่าเพื่อให้ไปช่วยขยายพื้นที่ป่าชายเลน แล้วเมื่อนักท่องเที่ยวประทับใจ แบ่งปันเรื่องราว ก็นับเป็นการประชาสัมพันธ์ไปในตัว ไม่หมดเท่านั้น การเลี้ยงผึ้งและชันโรงยังทำให้ชุมชนมีผลิตภัณฑ์คือน้ำผึ้งแบรนด์ 2 พนา ซึ่งเป็นน้ำผึ้งเดือน 5 จากป่าชายเลนและป่าบกอีกด้วย
การเลี้ยงผึ้งและชันโรงทั้งช่วยสร้างรายได้และขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ที่ชุมชนทำอยู่ เป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ชุมชนยังไปเชื่อมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวต่อไป ผสมผสานที่เที่ยวทางธรรมชาติและกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนเข้าด้วยกัน
ชุมชนบ้านไหนหนังจึงเป็นตัวแทนการอยู่ร่วมกันของคน ป่า และผึ้ง อย่างสมดุลยั่งยืน
Session
นราฯ พาใจสุข
การรักษาป่าต้นน้ำสายบุรี ป่าบาลา ฮาลา โดยนายพรานกลับใจ
Speakers
คุณอภิสิทธิ์ บินซา ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12
ชุมชนบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ตั้งอยู่ในบริเวณอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ที่เชื่อมโยงกับผืนป่าฮาลา-บาลาซึ่งเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำสายบุรีที่ไหลผ่านทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีชาวชุมชนช่วยกันดูแลพื้นที่ป่าชุมชนอยู่ ในอดีตผู้คนในพื้นที่นี้เคยอยู่กับป่า พอมีพื้นที่ทำกิน สภาพป่าก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ต้องคิดกระบวนการรักษาป่าเอาไว้
คนรุ่นพ่อแม่ของคุณอภิสิทธิ์จึงเริ่มรวมกลุ่มกันปกป้องป่า มีการกันพื้นที่ป่าไว้ไม่ให้มีการบุกรุก เป็นจุดเริ่มต้นของงานอนุรักษ์ หลังจากนั้น เมื่อป่าสมบูรณ์ขึ้น จึงต่อยอดงานอนุรักษ์สู่การท่องเที่ยวยั่งยืนในรูปแบบการท่องเที่ยวชุมชนที่มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติพร้อมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การท่องเที่ยวชุมชนนี้ยังช่วยดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นพรานมาก่อนได้หันมาทำงานนี้แทนด้วย
นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในชุมชนแห่งนี้จะได้เรียนรู้เรื่องป่าไปพร้อมกับวิถีชุมชน เช่น การกินอาหารจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนซึ่งคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในป่า และการอาศัยอยู่ในพื้นที่และพรรคคอมมิวนิสต์มาลายากรม 10 ในอดีต เป็นพื้นที่รวมของหลากหลายเชื้อชาติ ยังทำให้เกิดเซตเมนูกรม 10 ซึ่งเป็นเซตอาหารพลังงานสูง กินแล้วร่างกายอบอุ่น อิ่มนาน โดยตัวอย่างอาหารในเซต เช่น ซุปถั่วลิสงและปลาทอดขมิ้น นอกจากนี้ เมนูอาหารยังจัดเสิร์ฟในภาชนะจากวัสดุธรรมชาติที่ต่อยอดมาจากวิถีดั้งเดิมด้วย
Session
หลากหลายเรื่องเมืองนราฯ
ประวัติความเป็นมา ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เรื่องราวที่เราไม่เคยรู้
Speakers
ผศ.ประจักษ์ เทพคุณ อาจารย์ประจำวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส สาขาวิชาการการส่งเสริมการเกษตร อนุสาขาวิชาพัฒนาการเกษตร ประธานชุมชนท่องเที่ยววัดชลธาราสิงเห
นราธิวาสเป็นจังหวัดที่มีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมยาวนานตั้งแต่ยุคอาณาจักรลังกาสุกะ หรือประมาณ 1,300 ปีที่แล้ว มีการเข้ามาของศาสนาอิสลามทางเรือสินค้า มีภาษาพื้นถิ่นคือภาษาเจ๊ะเห ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ กระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงเห็นผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น จึงตั้งให้นราธิวาสซึ่งเดิมเป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ กลายเป็นเมืองบางนรา ก่อนจะกลายเป็นเมืองนราธิวาสในเวลาต่อมา
นราธิวาสเป็นเมืองที่ทำเลเหมาะกับการค้าขาย มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติแวะเวียนมา ทำให้เมืองกลายเป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรม มีประเพณีหลากหลาย เช่น ประเพณีบุญบั้งไฟ และประเพณีสารทเดือนสิบ อีกทั้งยังมีความหลากหลายทางสถาปัตยกรรมและอาหาร ซึ่งนราธิวาสมีภูมิประเทศหลายรูปแบบ ทำให้มีอาหารสารพัดชนิดจากวัตถุดิบในพื้นที่ อาทิ ข้าวยำขมิ้น ส่วนของดีเมืองนรานั้นมีทั้งอาหาร เช่น ลองกองและปลากุเลาเค็มตากใบ รวมถึงผลิตภัณฑ์สวย ๆ อย่างผ้าปาเต๊ะ นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฮาลา-บาลา และวัดชลธาราสิงเห หรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทยที่เป็นศิลปกรรมไทยและเป็นมรดกสำคัญทางพุทธศาสนา จนเป็นเหตุผลโต้แย้งการปักปันเขตแดนรุกล้ำประเทศไทย ทำให้แผ่นดินไทยส่วนนี้ไม่ต้องตกเป็นของมาเลเซียอีกด้วย
นราธิวาสจึงเป็นอีกจังหวัดที่นักท่องเที่ยวที่รักการท่องเที่ยวยั่งยืนไม่ควรพลาดไปเยี่ยมชม
Session
ใครว่าภูเก็ตไม่ยั่งยืน
Speaker
คุณธเนศ ตันติพิริยะกิจ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต
คุณธเนศ ตันติพิริยะกิจ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตเล่าว่า การท่องเที่ยวของภูเก็ตแบ่งออกเป็น 3 ยุค
ยุคแรก คือก่อนโควิด ในปี 2019 มีนักท่องเที่ยวในภูเก็ต 14 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 11 ล้านคน รายได้ปีนั้น 4,700,000 บาท ยุคที่ 2 คือช่วงโควิด ปี 2020 ภูเก็ตเป็นจังหวัดเดียวที่ถูกปิดในระดับตำบล ธุรกิจหยุด รายได้ 0 บาทครึ่งปี ต่ำกว่าเส้นความยากจนประเทศ
ยุคที่ 3 คือตอนนี้ โควิดคือจุดเปลี่ยนของการท่องเที่ยวในภูเก็ต จังหวัดจะเน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ ปี 2024 ช่วง 6 เดือนแรก จำนวนนักท่องเที่ยวในภูเก็ตน้อยกว่าเดิมมาก แต่กลับทำรายได้ 246,607 ล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด
40 ปีที่ผ่านมาการท่องเที่ยวภูเก็ตขายอยู่ 3 ข้อ คือ Sea, Sand, Sun เป็นธรรมชาติทั้งสิ้น อนาคตเราควรรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ ซึ่งสอดคล้องกับนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพที่ใส่ใจเรื่องธรรมชาติความยั่งยืนมาก สนใจประสบการณ์ ให้ความสำคัญกับวัตถุดิบท้องถิ่น 60% ของนักท่องเที่ยวในภูเก็ตเป็นคนที่เข้ามาใหม่ ไม่เคยมีภาพจำเดิม ๆ ธรรมชาติของภูเก็ตก็กลับมาดีขึ้นมาก เช่น เต่าทะเลกลับขึ้นมาไข่ที่หาดป่าตองอีกครั้งในรอบ 30 ปี นี่คือสิ่งที่ควรรักษาไว้
ภาคขนส่งเป็นอีกด้านที่ต้องปรับตัว ตอนนี้ภูเก็ตมีรถเมล์ EV ทั้งแบบฟรีและเสียเงิน เพื่อพานักท่องเที่ยวจากสนามบินเข้าตัวเมืองสะดวกขึ้น
อีก 2 ปีข้างหน้า โรงแรมที่ไม่มีตราสัญลักษณ์ความยั่งยืนจากองค์กรการท่องเที่ยว Global Sustainable Tourism Council (GSTC) จะถูกถอดจากระบบเอเจนต์ท่องเที่ยวใน EU ทั้งหมด คนจากยุโรปจะมาเที่ยวเมืองไทยไม่ได้ ภูเก็ตจึงกำลังเร่งปรับตัวให้โรงแรมอย่างน้อย 60% ผ่านมาตรฐานนี้ เร่งแก้ปัญหาขยะอาหาร Food Waste ในภูเก็ตที่มีมากกว่า 1 พันตันต่อวัน เป้าหมายคือให้ภูเก็ตเป็น Green Destination ก่อนปี 2026
แม้จะท้าทายแต่ก็เป็นไปได้และต้องทำ