Green Book

ประเภท Biography, Road Trip, Drama
ประเทศ USA.
ผู้กำกับ Peter Farrelly
ผู้เขียนบท Nick Vallelonga, Brian Hayes Currie, Peter Farrelly
นักแสดงนำ Viggo Mortensen, Mahershala Ali
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์*

Green Book หรือชื่อเต็มว่า The Negro Motorist Green Book คือคู่มือเดินทางของคนผิวดำ ใช้งานกันในสหรัฐอเมริกาช่วง 1936 – 1966 สมัยที่การแบ่งแยกทางสีผิวยังเป็นที่รับรองทางกฎหมายอยู่ ทำให้มีหลายร้านอาหารและโรงแรมที่ห้ามคนดำเข้าใช้บริการ เพื่อความปลอดภัย หากคนดำคนไหนมีเหตุให้ต้องเดินทางไปยังรัฐที่มีการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ พวกเขาก็จะใช้คู่มือนี้ช่วยวางแผนการเดินทาง

นี่คือเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริง ที่คนจำนวนมาก-แม้แต่คนอเมริกันเอง-ไม่เคยรู้

ในปี 2018 หนังสือปกเขียวเล่มนี้ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง ผ่านหนัง Road Trip ย้อนยุค เล่าด้วยน้ำเสียงตลกแบบผิดฝาผิดตัว ผสมกลิ่นอายของดนตรีแจ๊สที่จะทำให้หัวใจของคุณพองโต พร้อมโอบรับผู้อื่นอีกมากมาย

เรื่องราวใน Green Book มีที่มาจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ว่าด้วยชีวิตของโทนี่่ ลิป (Tony Lip) ชนชั้นแรงงานชาวอิตาเลียนอเมริกันที่ทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยตามผับในนิวยอร์ก หรือที่เรียกกันว่า Bouncer และ ดร.ดอน เชอร์ลีย์ (Don Shirley) นักเปียโนชื่อดังชาวแอฟริกันอเมริกัน ผู้ร่ำรวยขนาดที่มีอพาร์ตเมนต์อยู่เหนือคาร์เนกีฮอลล์ โรงละครขนาดยักษ์ใจกลางนิวยอร์ก

ใช่ นี่คือเรื่องของคนขาวที่จบการศึกษาแค่ ป.6 กับคนดำที่เรียนเปียโนตั้งแต่ 2 ขวบและพูดได้ 8 ภาษา

ทั้งสองคนนี้ได้มาเจอกันเมื่อโทนี่กำลังตามหางานและดอนกำลังตามหาคนขับรถพาเขาออกทัวร์ไปตามทางใต้ของสหรัฐอเมริกา บริเวณที่ยังมีการเหยียดผิวอย่างรุนแรงในยุคนั้น (และก็ยังเหลืออยู่ไม่น้อยในยุคนี้) เพื่อให้ตัวเองปลอดภัย ดอนต้องการมากกว่าแค่หนังสือปกเขียว แต่เขาต้องการคนขับรถที่จะคอยสะสางปัญหาต่างๆ ให้เขาด้วย ซึ่งโทนี่ผู้ทำงานในผับมาก็เหมาะกับงานนี้อย่างที่สุด

โทนี่่ ลิป แสดงโดย วิกโก้ มอร์เทนเซน (Viggo Mortensen) ที่หลายคนอาจรู้จักจากบทอารากอร์นใน Lord of the Rings: Return of the King ไม่ต้องตกใจหากคุณจำเขาไม่ได้ ในเรื่องนี้เขาเป็นชายแก่พุงพลุ้ยที่ซกมกและใช้ภาษาไม่เก่งเอาเสียเลย เมื่อดูเผินๆ แล้วอาจคล้ายว่ามอร์เทนเซนกำลังสร้างตัวละครที่คนจะเกลียด แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็แต่งแต้มมุมที่น่าเห็นใจ น่าเอาใจช่วย ให้กับโทนี่่ด้วย จนตัวละครนี้กลับเป็นเหมือนเด็กไม่รู้จักโตที่รับรู้อะไรง่ายๆ ตรงๆ จนน่าเอ็นดู

ส่วน ดร.ดอน เชอร์ลีย์ แสดงโดย มาเฮอร์ชาลา อาลี (Mahershala Ali) นักแสดงมุสลิมผิวดำ ที่เพิ่งชนะรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบยอดเยี่ยมไปจาก Moonlight หากใครเคยดูการแสดงของเขา จะรู้ว่าการวางตัวอันสุขุมเยือกเย็นแต่ก็นุ่มนวลใจดีของเขาแสนจะมีสเน่ห์อย่างที่สุด จนทำให้ไม่มีใครเหมาะกับบทบาทดอนมากกว่าเขาอีกแล้ว เพราะเป็นตัวละครที่มีความพิเศษ ทำให้เขาโดดเด่นจากทั้งคนผิวขาวที่อยู่รอบตัว และคนผิวดำที่ร่วมชาติพันธุ์กัน

ความยากอีกอย่างของการเล่นเป็น ดร.ดอน เชอร์ลีย์ คือเขาเป็นนักเปียโนมือฉมังที่เก่งแบบหาตัวจับยาก วิธีการคือแม้อาลีจะเป็นคนนั่งอยู่ที่เปียโน แต่ผู้เล่นจริงคือ คริส บาวเวอร์ส (Kris Bowers) ผู้อัดเสียงให้กับหนังใหม่ทั้งหมด โดยการฟังเทปเก่าๆ แล้วแกะโน้ตออกมาเพื่อเล่นอัดเสียงใหม่ เพราะในสมัยนั้นไม่ได้มีการบันทึกโน้ตไว้ ถือว่าเป็นอีกคนที่ต้องคำนับ หากไม่มีเขา หนังเพลงเรื่องนี้ก็คงออกมาไม่สมบูรณ์

หากถามว่า ระหว่างโทนี่่กับดอนใครเป็นตัวเอก ฉันจะตอบว่า ทั้งสองคน

สิ่งที่สำคัญมากกว่าเวลาหรือความละเอียดของภูมิหลังตัวละครคือสมดุลทางพลัง นี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากในวงการหนังฮอลลีวูด โดยเฉพาะเมื่อมีเรื่องเพศหรือชาติพันธุ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่หนังฮอลลีวูดที่มีตัวละครผิวดำ จะให้ตัวละครนั้นเป็นแค่ผู้ช่วยเหลือคนขาว หรือผู้ที่รอรับความช่วยเหลือของคนขาว ไม่ได้เป็นพระเอกของเรื่อง ซึ่งก็มีนักวิจารณ์หลายคนที่มองว่าหนังเรื่องนี้ก็ติดกับดักเหล่านั้น

แต่ในความเห็นของฉัน แม้โทนี่่จะเป็นผู้ช่วยให้ดอนปลอดภัยตลอดการเดินทาง แต่ในทางกลับกัน ดอนก็ช่วยสอนโทนี่ให้กลายเป็นคนที่ดีขึ้น ทั้งความละเอียดอ่อนในการเขียนจดหมายถึงภรรยา ไปจนถึงการเรียนรู้ที่จะไม่รีบตัดสินผู้อื่น พวกเขาทั้งมอบและได้รับบางสิ่งจากความสัมพันธ์นี้ด้วยกันทั้งคู่

หลังจากหนังเรื่องนี้ออกมา กระแสตอกกลับที่รุนแรงที่สุด มาจากครอบครัวของดอน เชอร์ลีย์ เอง

พวกเขาไม่พอใจและโต้แย้งว่า นี่ไม่ใช่ตัวตนจริงของดอน เชอร์ลีย์ ซึ่งแม้ผู้กำกับจะยืนยันว่า หนังไม่ได้เล่าความจริงทั้งหมด แต่ทำเพื่อส่งสาร หลายคนก็อาจยังยอมรับไม่ได้ เพราะมันอาจหมายถึงการบิดเบือนตัวตนของคนผิวดำ ให้กลายเป็นตามที่คนผิวขาวต้องการ

ฉันกลับมองว่า หนังได้มอบหนังสือปกเขียวให้โทนี่่อ่าน ไม่ใช่ให้ดอน เพราะนี่คือโอกาสที่โทนี่จะได้รับรู้ถึงปัญหาการแบ่งแยกโดยตรง ในขณะที่ดอนมองเห็นปัญหานี้อยู่แล้ว อาจคล้ายกับหนังเรื่องนี้ ที่ตั้งใจสร้างให้คนผิวขาวดู เพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจไปพร้อมกับโทนี่ ไม่ใช่หนังที่สร้างเพื่อคนผิวดำ อย่าง 12 Years a Slave หรือ Moonlight

นี่คือการใช้หนังสื่อสารว่า คนผิวดำไม่ได้เป็นอย่างที่คุณคาดหวังเสมอไป เพื่อทำลายกรอบที่กำหนดว่า คนผิวสีนี้ต้องมีคุณสมบัติเช่นนี้ และคนเพศนั้นจะต้องประพฤติตัวแบบนั้น

ฉีกหนังสือปกสีเขียวเล่มนี้ทิ้งไป เพื่อที่ใครจะเป็นอะไร จะทำอะไรก็ได้ ตามใจจะอยากเป็น

หนังเรื่องนี้อาจไม่ได้เต็มไปด้วยอารมณ์ หรือมีงานภาพที่งดงามหวือหวาเหมือนหนังเรื่องอื่นๆ ที่กำลังมาแรงในช่วงเทศกาลหนัง อาจเรียกได้ว่าเป็นหนังสนุกตามสูตรด้วยซ้ำ แต่ก็ยังควรค่าที่จะดู เพราะนอกจากความสนุกและซาบซึ้งที่ได้แล้ว หนังยังพูดถึงความฝันที่กลายเป็นจริง นั่นคือโลกที่ไม่มีการแบ่งแยกทางสีผิว ไม่ว่าใครก็มีอิสระจะเป็นอะไรก็ได้

ฉันเลยอยากเรียกหนังเรื่องนี้ว่าเป็นหนังคริสต์มาส เพราะนี่คือช่วงเวลาที่กรุ่นไปด้วยเวทมนตร์แห่งความหวังและความเป็นไปได้ เหมาะกับการดูหนังที่ช่วยให้เราเรียนรู้อดีต เพื่อเลือกทางเดินสู่อนาคตให้ถูกต้อง

ในโลกที่เต็มไปด้วยความแบ่งแยก เรายิ่งต้องเปิดใจและยอมรับทุกสีอย่างไม่มีเงื่อนไข

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ