20 พฤษภาคม 2024
2 K

“เราทำอะไรได้บ้างเพื่อให้พนักงานที่ทำงานกับเรามานานมีชีวิตที่ดีหลังเกษียณ” 

เป็นคำถามที่ แบม-วัชรพงษ์ เหล่าประภัสสร ผู้บริหารรุ่นที่ 2 ของ บริษัท แกรนด์ นิตแวร์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง จำกัด ถามกับตัวเอง จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลใส่ใจการเงินของพนักงาน

ผูกพันมานาน อยากให้เขาเกษียณสบาย ยิ้มได้ และมีความสุข นี่คือคำตอบของแบม

สำหรับแบม การเงินอยู่ในชีวิตของทุกคนแต่เรากลับมองข้ามไป สำหรับคนรากหญ้าแทบไม่มีใครสอนวิธีใช้เงิน ทายาทบริษัทสิ่งทอสนใจเรื่องการเงินและการออมอยู่แล้ว จึงอยากให้พนักงานทุกคนของ Grand Knitwear ได้เรียนรู้เรื่องนี้

แบมเริ่มทำงานที่โรงงานประมาณ พ.ศ. 2552 มีพนักงานอยู่ 400 กว่าคน “ผมสอนพนักงานทั้งโรงงานเรื่องการบริหารเงิน สอนทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย สมัยนั้นยังไม่มี YouTube ยังไม่มี Money Coach หรือกูรูทางการเงิน ความรู้ที่สอนหาจากเอกสาร สื่อการสอน คู่มือต่าง ๆ จากทางเว็บไซต์ขององค์กรรัฐ สอนแล้วมีการบ้านให้ลงบัญชีรายจ่ายแยกตามหมวดหมู่ ให้ส่งการบ้าน ตรวจการบ้านให้ด้วย เพื่อที่ผมจะได้ให้คำแนะนำได้ 

“ทำอย่างนี้อยู่พักใหญ่แล้วเลิกไป เพราะตรวจการบ้านไม่ทัน พอตรวจไม่ทันพนักงานก็เลิกส่งการบ้าน และพนักงานส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจ จึงกลายเป็นว่าเหนื่อยมากกับความพยายามให้ความรู้ให้พนักงานจำนวนมาก และไม่ได้ผลอย่างที่ตั้งใจไว้ สอนแบบนี้อยู่หลายรอบ ทำ ๆ หยุด ๆ สักพักก็เลิกไป” แบมเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของการดูแลการเงินของพนักงาน 

แม้จะหยุดสอน แต่ความตั้งใจเดิมยังอยู่ ทุกปีเมื่อมีพนักงานเกษียณ เขาจะเรียกพนักงานที่เกษียณทุกคนมาคุยถึงแผนการใช้ชีวิตหลังจากนี้ พบว่ามีพนักงานอยู่ 2 กลุ่มที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

กลุ่มแรกยังมีภาระหนี้สินที่ยังใช้ไม่หมด เงินก้อนหลักแสนที่บริษัทมอบให้ใช้หลังเกษียณบางคนยังไม่พอใช้หนี้ ชีวิตหลังจากนั้นก็ไม่มีรายได้ ถึงแม้บริษัทจะมีนโยบายให้ต่อสัญญาจ้างแบบปีต่อปีสำหรับพนักงานที่ยังทำงานต่อได้ แต่ภาระเรื่องเงินที่พนักงานกลุ่มนี้แบกรับไว้ก็ยังดูสาหัส 

หลาย ๆ กรณี ภาระเหล่านี้เกิดจากความจำเป็น เช่น มีลูกช้า เป็นสมาชิกคนเดียวที่หาเลี้ยงครอบครัว บางกรณีเป็นหนี้สินที่เกิดจากของครอบครัว ญาติพี่น้องต่างจังหวัด ทุกปีพนักงานกลุ่มนี้มีสัดส่วนที่มากพอสมควร

อัตราส่วนของพนักงานที่เกษียณแล้วยิ้มได้ มีแผนชีวิตที่ดีมีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ วางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณร่วมกับครอบครัว เช่น กลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัด บางคนมีบ้านและที่ดินเป็นของตัวเอง มีเงินทุนเปิดร้านขายของ ลงจักรเย็บผ้าเองที่บ้านได้เพื่อหารายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ กลุ่มนี้จะมาขอบคุณบริษัทที่ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น 

แบมคุ้นเคยกับพี่ ๆ พนักงานที่อยู่ด้วยกันตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ Grand Knitwear เป็นโรงงานรับจ้างผลิตเสื้อผ้าย่านบางขุนเทียนเมื่อ 40 กว่าปีก่อน อายุของโรงงานที่อยู่ในวัยที่ไล่เลี่ยกับแบมที่เกิดก่อนโรงงานเพียง 3 ปี พนักงานที่คุ้นหน้าคุ้นตาในวัยเด็กที่เคยเข้ามาที่โรงงานก็เปรียบเสมือนญาติผู้ใหญ่

วันที่กลับมาทำงาน พนักงานหลายคนอยู่ในวัยเกษียณแล้ว การเห็นญาติผู้ใหญ่ลำบากจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้กลับมาเริ่มทำกิจกรรมให้ความรู้เรื่องการเงินกับพนักงานอีกครั้ง ครั้งนี้เจาะกลุ่มพนักงานใกล้เกษียณตั้งแต่อายุ 50 ปีเป็นหลัก เริ่มเรียกพนักงานคุยทีละคน บางคนมีหนี้ เก็บเงินใช้หนี้ บางคนไม่มีหนี้ ก็เริ่มต้นเก็บออมเงิน ที่ Grand Knitwear พนักงานเกษียณตอนอายุ 55 ปีเท่ากันทุกคน มีเวลา 5 ปีก่อนเกษียณ 

“เราชวนคุยด้วยตัวเลขว่าหลังเกษียณคิดว่าต้องใช้เงินวันละเท่าไหร่ คำนวณเป็นรายเดือน รายปีเป็นตัวเลขให้พนักงานเห็นชัด ๆ ว่าเงินแสนที่ได้ไปจะใช้เลี้ยงชีพอยู่ได้กี่ปี ถ้าอายุยืน เงินก้อนที่บริษัทให้แม้จะอยู่ในหลักแสนที่เหมือนดูเยอะก็อาจจะไม่พอใช้ก็ได้” เป็นการจุดประกายการออมเงินให้กลับพนักงานกลุ่มใกล้เกษียณให้หันมาเริ่มออมเงิน 

นอกจากนี้ บริษัทยังสนันสนุนให้พนักงานออมเงินผ่านบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษีระยะ 2 ปี เป็นการออมเงินเท่า ๆ กันทุกเดือนตามความสมัครใจ บริษัทจะหักเงินเดือนส่งให้ธนาคารก่อนโอนเงินให้พนักงานและเก็บสมุดบัญชีเงินฝากนี้ไว้ ซึ่งมาขอดูได้ตลอดที่ฝ่าย HR วงเงินขั้นต่ำของการฝากอยู่ที่เดือนละ 500 บาท 

ทุกปีพนักงานจะสมัครเข้าร่วมโครงการปีละประมาณ 40 คน แม้ว่าตอนจบโครงการจะมีเหลืออยู่ในโครงการประมาณ 30 กว่าคน คนที่ตกหล่นไประหว่างทางเป็นเพราะมีความจำเป็นต้องใช้เงินก้อนจึงต้องยุติกลางคัน ถึงแม้จะเป็นแบบนั้น แบมก็จะลงไปชวนคุยในทุกเคสว่าถึงสาเหตุความจำเป็น สำรวจทางเลือกอื่น ๆ ก่อนการถอนเงินฝากก่อนสิ้นสุดโครงการ 

ตลอด 7 ปีที่ทำโครงการนี้ แม้พนักงานที่เข้าร่วมโครงการจะไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่จำนวนพนักงานที่ฝากเงินจนสิ้นสุดโครงการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน คนที่ต้องหยุดออมไปในปีก่อนก็หันมาเริ่มใหม่ในปีถัดมา พนักงานบางคนที่ไม่ได้มีภาระทางการเงินมากนักก็ฝากเงินในหลักพัน บางคนฝาก 1 ใน 3 ของเงินเดือน ค่าเฉลี่ยการฝากเงินจะอยู่ที่เดือนละ 800 บาทต่อคน ตัวเลขที่ว่ามาถือว่าเป็นความสำเร็จของการปรับวินัยทางการออมเงินก่อนใช้จ่ายที่เห็นผลชัดเจน 

พ.ศ.2561 เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกช่วงหนึ่งของการให้ความรู้ด้านการเงินกับพนักงานที่ทำให้พนักงานตื่นตัวมากขึ้น ช่วงนั้นธนาคารรัฐแห่งหนึ่งปล่อยกู้สินเชื่อในรูปแบบที่ให้มีผู้ค้ำประกันไขว้กัน 3 คนต่อ 1 สัญญาเงินกู้ ซึ่งเป็นเรื่องเสี่ยงหากมีเพียง 1 คนมีปัญหาเบี้ยวหนี้ พนักงานอีก 2 คนต้องแบกภาระหนี้ที่เกิดขึ้น บางคนที่ยื่นกู้ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้เงิน แต่เมื่อเพื่อนชวนก็พร้อมเป็นหนี้เพื่อให้ได้เงินมาก่อนส่วนจะใช้จ่ายอะไรค่อยว่ากันอีกที 

เมื่อพนักงานติดต่อขอให้ออกหนังสือรับรองเงินเดือนเพื่อยื่นขอสินเชื่อ แบมจึงใช้เป็นเงื่อนไขจัดสอนให้ความรู้การเงินเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ให้กับพนักงานเพื่อแลกกับหนังสือรับรองเงินเดือน สอนช่วงพักเที่ยงแบบสั้น ๆ วันละ 20 – 30 นาที เป็นระยะเวลา 1 เดือน ปูพื้นฐานความรู้ทางการเงินให้ก่อนไปยื่นขอกู้เงินกับธนาคาร เนื้อหาเน้นการบริหารเงินไม่ให้กระแสเงินสดติดลบ ครั้งนี้เป็นการให้ความรู้ที่ตรงกับสิ่งที่พนักงานต้องการ สอนให้รู้จักแก้ปัญหาการเงิน และเป็นการสอนจากความเข้าใจในตัวพนักงานจริง ๆ ไม่เหมือนก่อนหน้านี้ที่สอนพนักงานกลุ่มใหญ่ ซึ่งมีทั้งคนที่สนใจ ไม่สนใจ และแต่ละคนก็มีปัญหาทางการเงินที่ไม่เหมือนกัน

ความใส่ใจพนักงานรายบุคคลเป็นเวลาหลายปีพบหลายเรื่องที่สะเทือนใจ เช่น พนักงานนำเงินก้อนหลังเกษียณไปปล่อยกู้เพราะต้องการให้เงินงอกเงย ปรากฏว่าโดนโกงสูญเงินไปทั้งหมดในพริบตา ตัวพนักงานเองไม่มีเงินสำหรับอาหารกลางวัน แต่ลูกกลับขอเงินไปซื้ออาหารให้แมว เป็นต้น

หนี้สินส่วนใหญ่ของพนักงานที่แบมพบเกิดจากสาเหตุที่ควบคุมได้ยาก เช่น มีความจำเป็นต้องใช้เงินด่วน เงินก้อน และไม่มีเงินเก็บ จึงต้องใช้บริการบัตรกดเงินสด เมื่อวงเงินเต็มก็หันไปใช้เงินกู้นอกระบบ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการวงจรหนี้สิน

หลังจากนั้นปัญหาเริ่มต่อเนื่องตามมาด้วยความไม่รู้เรื่องการจัดการหนี้ เช่น จ่ายหนี้บัตรเครดิตด้วยวงเงินขั้นต่ำเพราะไม่รู้ว่าจ่ายมากกว่านั้นได้ และไม่รู้ว่ายอดที่ค้างจ่ายนั้นถูกคิดดอกเบี้ย หลายคนที่เรียนพากันหายสงสัยว่าจ่ายหนี้บัตรเครดิตมาเกือบ 10 ปีแล้ว ทำไมหนี้ยังไม่หมดสักที ที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือพนักงานไม่รู้ว่าเงินกู้นอกระบบที่โฆษณาดอกเบี้ยร้อยละ 20 เป็นการคิดดอกเบี้ยต่อเดือน ถ้าคิดเป็นดอกเบี้ยต่อปีจะสูงถึง 240% ต่อปี ในขณะที่เงินกู้ในระบบคิดดอกเบี้ยต่อปี เช่น ดอกเบี้ยร้อยละ 25 ต่อปี 

เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะตัวเลขจึงเข้าใจผิดคิดว่าเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยต่ำกว่าจึงเลือกกู้นอกระบบ เงินที่ผ่อนใช้หนี้จึงเป็นการจ่ายแค่ดอกเบี้ย พวกเขาจึงใช้หนี้ได้ไม่หมด กลายเป็นวงจรหนี้ที่ไม่สิ้นสุด 

คนส่วนใหญ่มักคิดว่าหนี้สินเกิดจากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยซึ่งบางส่วนเกิดจากสาเหตุนี้จริง แต่จากการลงไปพูดคุยกับพนักงานด้วยตัวเอง ทำให้แบมพบว่าภาระครอบครัวเป็นสาเหตุของปัญหาหนี้สินที่ทุกคนมีคล้ายกัน

พนักงานโรงงานซึ่งเป็นผู้หญิงเกือบทั้งหมดมีค่าใช้จ่ายดูแลทั้งครอบครัวตัวเองและส่งเงินกลับบ้านต่างจังหวัดเพื่อดูแลพ่อแม่ รวมไปถึงหลาน ๆ โดยที่คนในครอบครัวไม่รู้ว่าตัวเองมีรายได้ หนี้สินที่ต้องแบกรับอยู่เท่าไหร่ เรื่องนี้นำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยการให้พนักงานรวบรวมตัวเลขหนี้สิน รายได้ รายจ่าย เพื่อกลับไปคุยกับครอบครัวให้รับรู้ภาระเหล่านี้ร่วมกัน ก่อนเริ่มเข้าสู่การบริหารจัดการหนี้ พนักงานที่มีหนี้เงินกู้ผ่านบัตรเครดิตหลายใบมักปิดหนี้บัตรที่มีวงเงินน้อยก่อน แต่ที่ถูกคือต้องปิดหนี้ที่คิดดอกเบี้ยสูงก่อนเพื่อไม่ให้ยอดหนี้สูงขึ้นจากดอกเบี้ยทบต้น เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องใหม่ที่แบมได้รู้จากพนักงาน เมื่อลงไปสอนให้ความรู้เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในครั้งนี้ 

นอกจากสนับสนุนเรื่องการออมแล้ว บริษัทยังมีสวัสดิการเรื่องหอพักพนักงาน ช่วยให้พนักงานประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไปได้หลายพันบาทต่อเดือน และยังมีแปลงผักสวนครัวบริเวณหน้าโรงงาน การทำปุ๋ยหมักใช้ในแปลงเกษตรเพื่อให้พนักงานเก็บผลผลิตไปใช้ทำอาหาร ซึ่งนอกจากประหยัดแล้ว ยังพบว่าพวกเขาสนิทสนมกันผ่านแปลงผักสวนครัวแลกผลผลิตกันเอง

หลายคนอาจสงสัยว่าการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเงินพนักงานนั้นเป็นการก้าวก่ายชีวิตส่วนตัวพนักงานมากเกินไปหรือเปล่า แบมเชื่อมั่นว่า

“ชีวิตพนักงานดีขึ้น มีความสุข มีความมั่นคงในชีวิต ก็หมายถึงความมั่นคงของบริษัท พนักงานที่มีความกังวลเรื่องหนี้สิน ไม่มีความสุขในการทำงาน ไม่มีทางทำงานออกมาได้ดี 

“ตัวอย่างง่าย ๆ บ่ายวันหวยออกทุกเดือน บรรยากาศในการทำงานเปลี่ยน คนที่ถูกหวยกินไม่มีอารมณ์ทำงาน ทำงานผิดพลาด คนที่มีปัญหาทางการเงินหนัก ๆ ก็เหมือนกัน ไม่มีอารมณ์ทำงาน งานไม่ออก หลาย ๆ กรณีนำสู่ปัญหาการลาออกหนีหนี้ ทำให้ต้องหาคนทำงานใหม่ ต้องเรียนรู้ฝึกฝนทักษะพนักงานใหม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นต้นทุนของธุรกิจ สู้เราดูแลใส่ใจพนักงานในเรื่องเงินที่เป็นเรื่องสำคัญต่อชีวิตเขาทั้งวันนี้และอนาคต เป็นการจัดการเชิงป้องกัน เขามีความสุข เราก็มีความสุขไปด้วย ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร”

ทายาทโรงงานสิ่งทอใช้เวลา 10 ปีให้พนักงานเชื่อใจ ปัจจุบันภาพรวมพนักงานหันมาใส่ใจให้ความสำคัญเรื่องเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะใกล้เกษียณหรือไม่ มีหนี้หรือเปล่า โดยแยกความสนใจออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีหนี้และกลุ่มที่ไม่มีหนี้ ทั้ง 2 กลุ่มต้องการความรู้ด้านการเงินที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องใช้บริการบริษัทภายนอกมาช่วยให้บริการความรู้เรื่องเงิน การจัดการหนี้ พร้อมทั้งมีแหล่งเงินทุนฉุกเฉินให้พนักงานกู้ยืมได้ หากเรียนรู้และทำการบ้าน ทำภารกิจผ่านแอปพลิเคชันครบถ้วน พนักงานหลายคนให้ลูก ๆ ช่วยทำภารกิจ การบ้านซึ่งกลายเป็นข้อดีทางอ้อมให้ลูก ๆ เรียนรู้การเงินและช่วยออมเงินไปพร้อมกัน 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีหลายคนที่เกษียณไปพร้อมกับเงินเก็บหลักแสนซึ่งเป็นความภูมิใจของแบมที่ทุ่มเทให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ ปรับเปลี่ยนนิสัยทางการเงิน ส่งเสริมการออม มองหาทางแก้ไขปัญหาหนี้สินพนักงานอย่างยั่งยืนตลอดหลายปีที่ผ่านมา เพื่ออยากให้พนักงานทุกคนของ Grand Knitwear เกษียณสบายและยิ้มได้ในวัยเกษียณ

Writer

เพชร ทิพย์สุวรรณ

เพชร ทิพย์สุวรรณ

อดีต Corporate HR ที่ชอบอ่านหนังสือ ดื่มกาแฟกับเค้กอร่อยๆ พอๆ กับเล่า Tips and Techniques การทำงานผ่านงานเขียน ปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการคัดเลือก พัฒนาบุคคลากรของ ALERT Learning and Consultant

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)