สมุดบันทึกเล่มเล็ก บันทึกไว้ว่า 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เราออกเดินทางโดยรถไฟขบวนรถด่วนพิเศษอุตราวิถี กรุงเทพฯ -เชียงใหม่ พร้อมกับเพื่อนบัณฑิตอาสาสมัครสายเหนืออีก 3 คน เป็นความรู้สึกหวิวไหวในใจไม่น้อยเมื่อถึงสถานีปลายทางของเพื่อน ส่วนปลายทางสุดท้ายของเราอยู่ที่เชียงใหม่ การเดินทางคนเดียวเริ่มต้นขึ้น ณ ตอนนั้น

เรื่องเล่าของบัณฑิตอาสาสมัคร ณ บ้านแม่ลามาน้อย หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาแม่ฮ่องสอน

เราเดินทางเข้าพื้นที่ครั้งแรกเมื่อ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เส้นทางขรุขระทุลักทุเล ตื่นเต้นและเหนื่อยมากกับการเดินทางขึ้นดอยครั้งแรก ในหัวคิดเยอะแยะไปหมด พยายามจดจำและบันทึกความรู้สึกแรกไว้ให้มากที่สุด

กลิ่นไอดิน กลิ่นป่า ให้ความรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก 

“มาเพื่อเรียนรู้” เป็นประโยคที่ท่องย้ำให้จำขึ้นใจ

เรื่องเล่าของบัณฑิตอาสาสมัคร ณ บ้านแม่ลามาน้อย หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาแม่ฮ่องสอน

หมู่บ้านที่เรามาชื่อ ‘บ้านแม่ลามาน้อย’ เป็นหย่อมบ้านของบ้านห้วยกระต่าย ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน คนที่นี่เป็นชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ มีทั้งโปว์และสะกออยู่รวมกันจนแยกไม่ออก มีประชากรราว 180 คน เป็นหมู่บ้านเล็กๆ กลางภูเขาสูง เมื่อธันวาคมที่ผ่านมาอากาศหนาวเย็น เป็นความหนาวที่ทนได้ หนาวกายแต่อุ่นใจ 

เรื่องเล่าของบัณฑิตอาสาสมัคร ณ บ้านแม่ลามาน้อย หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาแม่ฮ่องสอน

เราเป็นบัณฑิตอาสาสมัคร ทำงานกับศูนย์การเรียนหญ้าแพรกสาละวิน เป็นโรงเรียนของเด็กๆ ในหมู่บ้าน ด้วยกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป เด็กๆ ก็เติบโตขึ้น จึงเงียบเหงามากๆ ที่นี่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ของเครือข่ายที่เราใช้ 

ช่วงแรกอยู่โดยไม่ได้ติดต่อสื่อสารกับใคร สิ่งเดียวที่ช่วยบรรเทาความเหงาได้คงเป็นสมุดบันทึกและเพลงที่โหลดแบบออฟไลน์เอาไว้ เราชอบหลบมานั่งฟังเพลงที่ศูนย์การเรียนฯ เขียนบันทึก ฟังเสียงนกร้อง เสียงน้ำไหล เสียงลม เสียงป่า เป็นความรู้สึกเหงาและอ้างว้างมากๆ พออยู่ไปสักระยะ ก็ต้องปรับตัวให้ชินกับสิ่งใหม่ที่กำลังจะเผชิญ บางทีความมืด ความเงียบ ก็ทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง ทบทวนตัวเองมากขึ้น แต่ข้อเสียคือ มันดันมีช่วงอยู่กับตัวเองมากเกินไป 

มากจนเราฟุ้งและล่องลอย ไม่รู้จะจัดวางตัวเองไว้ตรงไหน เรียกว่าเป็นการปรับการใช้ชีวิตชุดใหญ่

เรียนรู้วิถีชีวิต

เรื่องเล่าของบัณฑิตอาสาสมัคร ณ บ้านแม่ลามาน้อย หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาแม่ฮ่องสอน

 ถึงจะชอบอยู่กับตัวเองแค่ไหน ก็ต้องท่องไว้ว่าเรามาเรียนรู้ มาอยู่ในที่ใหม่ ก็ต้องเป็นคนใหม่ 

ข้อดีของเราคือเป็นมนุษย์ที่ตื่นเต้นกับทุกอย่างที่เจอจริงๆ ทั้งภูเขา ทะเลหมอก ป่าไม้ สายน้ำ และผู้คน จำได้ว่ามาถึงครั้งแรกก็แทบไม่อยากอยู่นิ่ง ใครชวนไปไหนก็พร้อมเดินตามได้ทุกเมื่อ วันแรกที่มาถึงเป็นช่วงเกี่ยวข้าวพอดี เราเดินตามน้องในหมู่บ้านไปไร่ ระยะทางแสนไกล เดินเข้าป่า ผ่านลำธาร ขึ้นเขาไปเรื่อยๆ กว่าจะถึงก็เหนื่อยเอาเรื่อง 

ป่าที่นี่อุดมสมบูรณ์มากๆ ร่มรื่น น้ำใสเย็นฉ่ำ พอได้เห็น ได้สัมผัส ก็ช่วยให้เราหายเหนื่อย

เรื่องเล่าของบัณฑิตอาสาสมัคร ณ บ้านแม่ลามาน้อย หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาแม่ฮ่องสอน

วิถีชีวิตของคนที่นี่คือการทำไร่หมุนเวียน ช่วงที่เรามาเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตพอดี พอเข้าเดือนมกราคมก็เป็นช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน เก็บพืชพรรณต่างๆ ในไร่ เช่น พริก ฟักทอง งาขาว บุก เผือก มัน ฯลฯ และไม่ใช่เพียงแค่พืชพรรณ แต่ไร่หมุนเวียนยังมีดอกไม้หลากสีละลานตาให้เชยชม เรียกว่าเป็นสีสันแห่งไร่หมุนเวียนเลยก็ว่าได้ ชาวบ้านบอกกับเราว่า ดอกไม้ในไร่ปลูกไว้ดูสวยๆ เวลาเกี่ยวข้าวเสร็จก็มาเที่ยวชม แล้วก็ยังเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้ปลูกในปีถัดไปด้วย

เรื่องเล่าของบัณฑิตอาสาสมัคร ณ บ้านแม่ลามาน้อย หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาแม่ฮ่องสอน

ทุกครั้งที่มีโอกาสติดสอยห้อยตามชาวบ้านไปเที่ยวไร่ เรามักจะมองหาดอกไม้เป็นอันดับแรก และขอเก็บเมล็ดพันธุ์ดอกไม้แห้งใส่ถุงย่ามติดตัวกลับมาด้วย นอกเหนือจากการติดสอยห้อยตามชาวบ้านไปไร่แล้ว เราก็ชอบเข้าป่าหาปู ปลา กุ้ง บางทีก็ตามเด็กๆ ไปเก็บผักกูดไว้เป็นอาหารเที่ยง ซึ่งเส้นทางไปไร่ ไปนาของชาวบ้าน เราเดินแทบจะจำได้หมดแล้วเพราะไปบ่อย แม้วิถีชีวิตจะเรียบง่าย อาหารการกินง่ายๆ แต่คนต่างถิ่นอย่างเราก็ต้องปรับตัวอยู่มากโข

เรื่องเล่าของบัณฑิตอาสาสมัคร ณ บ้านแม่ลามาน้อย หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาแม่ฮ่องสอน
เรื่องเล่าของบัณฑิตอาสาสมัคร ณ บ้านแม่ลามาน้อย หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาแม่ฮ่องสอน

ระยะเวลาประมาณเดือนกว่าๆ เราเริ่มรู้สึกว่าตัวเองอยู่ได้ อาหารการกิน ที่หลับที่นอน หรือตอนกลางคืนที่แสนมืดมิด ไร้แสงอาทิตย์และไฟฟ้า ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ค่อยๆ ปรับตัวกันไป อย่างเรื่องอาหาร ก็กินเท่าที่มี อาศัยกินกับชาวบ้านบ้าง ซื้อจากในเมืองขึ้นไปเองบ้าง คนที่นี่กินอาหารง่ายๆ ปรุงด้วยเครื่องปรุงไม่กี่อย่าง ส่วนใหญ่เป็นแกงเนื้อสัตว์ ใส่ผักเผ็ด ใส่มัน ใส่เผือก ใส่ผักที่เก็บจากในไร่หรือเก็บตามริมน้ำ และน้ำพริกง่ายๆ เนื้อสัตว์ที่มีก็อย่างเช่น หนู ตุ่น กระรอก ไม่ได้แปลกสำหรับเราเท่าไหร่ ต่างกับคนเมืองที่จะกินอาหารหลากหลาย มีอาหารหวานตบท้ายหลังอาหารคาว

ถึงเราจะชินกับวิถีแบบนั้นแต่ก็ต้องปรับไปตามบริบท ถือคติที่ว่าชาวบ้านอยู่ได้เราก็อยู่ได้ 

รู้จักเด็กเอาไว้ มีชัยไปกว่าครึ่ง

พอเข้าเดือนที่สอง เราก็พาตัวเองไปหาชาวบ้านมากขึ้น แวะไปตามบ้าน ไปเที่ยวเล่น ไปชวนคุย รู้สึกท้าทายตัวเองไปอีกแบบ ภาษาที่ว่าเป็นอุปสรรคก็แทบจะมองข้ามไปเลย ทุกอย่างน่าสนใจและอยากเรียนรู้ให้มากที่สุด บ้านไหนเรียกทานข้าว เราไม่ค่อยลังเลที่จะเข้าไปร่วมวงตามคำชวน ถือเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีและรักษาน้ำใจ

เรื่องเล่าของบัณฑิตอาสาสมัคร ณ บ้านแม่ลามาน้อย หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาแม่ฮ่องสอน

ปกติแล้ววิถีชีวิตของบัณฑิตอาสาสมัครอย่างเรามักผูกติดกับเด็กๆ ทั้งเด็กเล็กวัยอนุบาล ประถม และมัธยม รูปแบบกิจกรรมจะแตกต่างกันตามวัย ครั้งแรกที่มาทุกคนก็เข้าใจว่าเราเป็นครูอาสามาสอนหนังสือด้วยซ้ำ รีบปฏิเสธแทบไม่ทัน ตอนเราอยู่กับเด็กๆ ชาวบ้านมักถามว่า “จะพาเด็กๆ ไปไหน” ความเป็นจริงแล้ว เด็กๆ มากกว่าที่พาเราไป

เรื่องเล่าของบัณฑิตอาสาสมัคร ณ บ้านแม่ลามาน้อย หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาแม่ฮ่องสอน
เรื่องเล่าของบัณฑิตอาสาสมัคร ณ บ้านแม่ลามาน้อย หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาแม่ฮ่องสอน

พวกเราทำกิจกรรมกันมากมาย เล่นน้ำ เก็บผักกูด เดินเล่น ทำกับข้าว วาดรูประบายสี ทำสีธรรมชาติจากก้อนหิน ย้อมผ้า รวมถึงสอนภาษาปกาเกอะญอ อยู่กับเด็กๆ สนุกสนาน มีสีสัน ปวดหัวบ้างเป็นบางครั้ง ทำให้เราพลอยได้รู้จักครอบครัวของพวกเขาด้วย พอมีกิจกรรมทำหลายๆ อย่างก็ทำให้วันๆ หนึ่งผ่านไปอย่างราบรื่นและมีความสุข

เรื่องเล่าของบัณฑิตอาสาสมัคร ณ บ้านแม่ลามาน้อย หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาแม่ฮ่องสอน

อย่างบ้านที่เราอาศัยก็เป็นบ้านของ ‘แกละ’ เด็กสาววัย 17 ปี ที่อยู่กับยายและพี่ชาย เป็นบ้านหลังเล็กๆ อบอุ่น เรียบง่าย เป็นจุดนัดพบของเหล่าเด็กๆ วัยรุ่นที่ดูจะซนไปตามประสาแต่น่ารัก พวกเขามักมารวมตัวกัน พูดคุย เล่นเกม ดูละคร และนอนรวมกันที่บ้านยายทุกคืน ทำให้เราได้เรียนรู้วิถีชีวิตของเด็กๆ ไปด้วย อีกอย่างเด็กๆ ก็เป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้การใช้ชีวิตในหมู่บ้านง่ายขึ้นอีกหนึ่งขั้น การผูกมิตรกับเด็กจึงเป็นเป้าหมายหลักของเรา 

บทบาทลูกหลานชาวบ้าน

เราชอบบทบาทของลูกหลานชาวบ้านที่สุด อยากทำทุกอย่างที่ชาวบ้านทำ อยากเข้าไปอยู่ในทุกกิจกรรม คงเป็นเพราะเราอยู่ห่างบ้าน การได้อยู่ใกล้ๆ ชาวบ้าน อยู่กับยาย เล่นกับเด็กเล็ก อยู่กับพ่อแม่น้องๆ ในหมู่บ้าน ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่กับคนที่บ้าน อีกอย่างเราอยากจะใช้ชีวิตให้เป็นธรรมชาติ เป็นตัวเอง เป็นเด็กผู้หญิงต่างถิ่นคนหนึ่งที่ชาวบ้านเมตตาปราณี ให้ที่หลับที่นอน ให้ข้าวกินสามมื้อ ให้ความช่วยเหลือ มองเราเป็นลูกเป็นหลานคนหนึ่ง

เรื่องเล่าของบัณฑิตอาสาสมัคร ณ บ้านแม่ลามาน้อย หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาแม่ฮ่องสอน

เวลาชาวบ้านเจอเราที่ไหน มักถามไถ่ด้วยประโยคซ้ำๆ เช่น “มาอยู่ที่นี่สนุกไหม” “คิดถึงบ้านไหม” เป็นการถามไถ่เล็กๆ น้อยๆ สัมผัสได้ถึงความห่วงใยที่ทำให้รู้สึกอุ่นใจขึ้นมา และเรามักตอบว่า “สนุกค่ะ เหงาบ้าง คิดถึงบ้านบ้าง แต่อยู่ได้” พอเวลาผ่านไป อะไรเริ่มเข้าที่เข้าทาง เราเริ่มชินกับความเป็นชาวบ้าน ความเรียบง่าย ความธรรมดา

เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ได้แบบเป็นตัวเองที่สุด

เรื่องเล่าของบัณฑิตอาสาสมัคร ณ บ้านแม่ลามาน้อย หมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขาแม่ฮ่องสอน

ทุกครั้งที่มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรื่องราวกับเพื่อน เรารู้สึกเสมอว่าตัวเอง ‘ผูกพัน’ กับพื้นที่และผู้คน รู้สึกทึ่งในตัวเองหลายอย่าง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ ไม่คิดว่าจะใช้ชีวิตอยู่กับคนอื่นได้ ได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำ ได้เห็นตัวเองในอีกแบบหนึ่ง

“ทำทุกอย่างให้เป็นธรรมชาติ เป็นวิถีชีวิต ใช้ชีวิตให้สนุก และเป็นตัวเอง”

ในระยะเวลาแค่ 3 เดือนกว่าๆ ถือว่าเดินมาถึงครึ่งทางแล้ว ดีใจที่ได้ออกมาดูว่าโลกเป็นยังไง พื้นที่ที่เราไม่เคยเจอมีอะไรบ้าง ได้พบผู้คนที่เราไม่รู้จัก ทุกอย่างคือ ‘การเรียนรู้’ เราใช้ชีวิตอยู่ได้เพราะคำว่า ‘เรียนรู้’ จริงๆ

มีประโยคหนึ่งจากพี่สาวผู้เป็นที่พึ่งทางจิตใจ (Life Coach ส่วนตัว) ที่เราจดจำได้ไม่เคยลืม

“ให้ระวังความสุข ความสุขจะทำให้เราหลง”

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ปณิชา ปานกลาง

หญิงสาวผู้อยู่ไม่ติดบ้าน เสาะแสวงหาตัวเองและเรียนรู้ไปเรื่อยๆ แค่มีสมุดบันทึกไร้เส้น ดินสอกดและโทรศัพท์ถ่ายรูปได้ ก็เพียงพอต่อการมีชีวิตอยู่