เป็นเวลากว่า 1 ศตวรรษที่อาคารแบบตะวันตกแสนสง่างามนาม ‘ตึกไทยคู่ฟ้า’ แห่งทำเนียบรัฐบาลยืนหยัดคู่ฟ้า ผ่านกาลเวลา ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านสงบสุขและจลาจล จนมาถึงปัจจุบัน

ด้วยขนาดโอฬารและรูปแบบสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้อาคารแห่งนี้เป็นที่จดจำมาทุกยุคทุกสมัย หนังสือนำชมทำเนียบรัฐบาลโดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีให้ข้อมูลว่า ทำเนียบรัฐบาลสร้างขึ้นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมโกธิคแบบเวนิส (Venetian Gothic) อันเป็นสถาปัตยกรรมเฉพาะของเมืองเวนิส (Venice) ประเทศอิตาลี

บทความนี้จึงขอเชิญผู้อ่านล่องลอยไปตาม Grand Canal ของนครแห่งลำคลอง ย้อนสู่สมัยรัชกาลที่ 6 ยุคทองแห่งศิลปวัฒนธรรมอันศิวิไลซ์และดำดิ่งลงในบทละครอมตะของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) เพื่อสืบหานัยสำคัญและที่มาที่ไปในรูปแบบสถาปัตยกรรมของทำเนียบรัฐบาลไทย

ทำเนียบรัฐบาล
ภาพ : หนังสือทำเนียบรัฐบาล โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

“ทรามสวาทเชิญยาตรสู่เรือนใหญ่ คอยต้อนรับเขาไซร้ให้เต็มที่”

(เวนิสวาณิช องก์ 5)

ทำเนียบรัฐบาล
ภาพ : หนังสือทำเนียบรัฐบาล โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ตึกไทยคู่ฟ้ามิได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ทำการรัฐบาลมาแต่เดิม แรกเริ่มเดิมทีอาคารหลังนี้เป็นตึกประธานของคฤหาสน์สุดอลังการที่ครอบครองโดยข้าราชสำนักคนสำคัญที่สุดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อปี 2460 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างบ้านพระราชทานพระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้ที่ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์สูงสุดเป็นเจ้าพระยารามราฆพ

ท่านเจ้าพระยาเป็นลูกชายของพระนมทัด พระนมของรัชกาลที่ 6 และถวายตัวเป็นมหาดเล็กตั้งแต่อายุ 13 ปี ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงให้ความสนิทสนมและไว้วางพระราชหฤหัยให้ท่านเจ้าพระยารับใช้ใกล้ชิดทั้งในราชการแผ่นดินและกิจธุระส่วนพระองค์ตั้งแต่ยังไม่ทรงขึ้นครองราชสมบัติ จวบจนวันสุดท้ายในพระชนม์ชีพ

เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ภาพลงสีโดย S. Phormma's Colorizations
เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ภาพลงสีโดย S. Phormma’s Colorizations

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกถึงฐานะของเจ้าพระยารามราฆพไว้ว่าเป็น “ผู้มีบุญมีอำนาจในรัชกาลนี้อย่างไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน” และเรียกบ้านของเจ้าพระยาว่า ‘บ้านชนิดวัง’ ท่านหญิงพูนพิศมัยยังทรงอธิบายความหมายของราชทินนาม ‘รามราฆพ’ ไว้ว่า “เป็นชื่อผู้นั่งกลางช้างชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของเรา และเป็นผู้ส่งศาตราอาวุธถวายตามพระราชประสงค์ จนทรงชนช้างชนะในยุทธหัตถีเมื่อ 300 ปีเศษมาแล้ว” แสดงถึงความสำคัญใกล้ชิดของตัวผู้รับราชทินนามดังกล่าวกับองค์พระมหากษัตริย์ได้เป็นอย่างดี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าพระยารามราฆพ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าพระยารามราฆพ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าพระยารามราฆพ

หน้าที่ราชการอย่างหนึ่งของเจ้าพระยาราฆพคือบัญชาการกรมมหรสพ หน่วยงานซึ่งมี ‘นรสิงห์’ เป็นตราประจำกรม ตามตำนานพราหมณ์เล่าว่า นรสิงห์เป็นปางหนึ่งที่พระนารายณ์อวตารลงมาปราบอสูรร้าย นรสิงห์มีเศียรเป็นสิงห์ ร่างกายเป็นมนุษย์ จึงสันนิษฐานว่านี่คือที่มาชื่อเดิมของบ้านที่เรียกขานกันว่า ‘บ้านนรสิงห์’ ในเอกสารของเหล่าสถาปนิกอิตาลีเรียกบ้านหลังนี้อย่างเก๋ว่า ‘วิลล่านรสิงห์’ (Villa Norasingh) ประกอบกับต้นตระกูลของเจ้าพระยาคือ หม่อมไกรสร (อดีตพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 ที่ถูกถอดยศและสำเร็จโทษในรัชกาลที่ 3) นาม ‘ไกรสร’ แปลว่า สิงโต และไกรสรราชสีห์เป็นชื่อ 1 ใน 4 เผ่าพันธุ์ราชสีห์แห่งป่าหิมพานต์ ตึกประธานของเคหสถานแห่งนี้จึงมีชื่อว่า ‘ตึกไกรสร’

ทำเนียบรัฐบาล
ภาพ : หนังสือทำเนียบรัฐบาล โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

แน่นอนว่าการเป็นคนโปรดย่อมต้องมีทั้งมิตรและศัตรู สุนทรภู่เคยรำพันถึงสถานการณ์ของตนหลังรัชกาลที่ 2 เจ้าเหนือหัวผู้อุปถัมภ์กวีสววรคตไว้ในนิราศภูเขาทอง ว่า

“เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ

ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา 

สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา

วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์”

เช่นเดียวกับชะตาชีวิตของเจ้าพระยารามราฆพ เมื่อสิ้นแผ่นดินพระมหาธีรราชเจ้า ยศถาบรรดาศักดิ์ของท่านก็เสื่อมลงไปตามโลกธรรม ล่วงมาถึงปี 2484 เจ้าพระยาเสนอขายบ้านนรสิงห์ให้กับรัฐบาลเพราะค่าใช้จ่ายในการทำนุบำรุงคฤหาสน์หลังมีนี้มากเหลือเกิน ราคาที่เจ้าพระยารามราฆพเสนอให้กับรัฐบาลคือ 2 ล้านบาท แต่ถูกต่อรองและปิดการขายไปในราคา 1 ล้านบาทเท่านั้น

หลังจากการปฏิวัติในปี 2475 คณะราษฎรใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นรัฐสภาควบคู่กับเป็นสถานที่ปฏิบัติราชการของนายกรัฐมนตรี ต่อมาได้ย้ายสถานที่ทำงานของนายกฯ ไปอีก 2 ที่ คือวังปารุสกวันและวังสวนกุหลาบตามลำดับ แต่ละที่ล้วนเป็นอาคารที่งดงามและมีเกียรติ เมื่อซื้อบ้านนรสิงห์แล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงให้ใช้บ้านนรสิงห์เป็นที่ทำการรัฐบาลในชื่อ ‘ทำเนียบสามัคคีชัย’ ต่อมาจึงเรียกว่า ‘ทำเนียบรัฐบาล’ เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

ทำเนียบรัฐบาล
ภาพ : หนังสือทำเนียบรัฐบาล โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

“โลกนี้เหมือนละครโรงนิดๆ คิดว่าเราเป็นละครอยู่ทั่วกัน”

(เวนิสวาณิช องก์ที่ 1 ตอน 1)

ผู้เขียนสงสัยอยู่เสมอว่าสถาปัตยกรรมโกธิคแบบเวนิส (Venetian gothic) อันเป็นเอกลักษณ์ของทำเนียบรัฐบาลมีนัยสำคัญอะไรอยู่เบื้องหลัง หนังสือทำเนียบรัฐบาล โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอว่าที่สร้างแบบเวนิสเพราะในสมัยแรกสร้างบ้านนรสิงห์มีคลองรอบล้อมถึง 4 ด้าน

ข้อเขียนของหม่อมเจ้าพูนพิศมัยกล่าวว่าที่ดินของบ้านนรสิงห์นั้น “เป็นที่พระราชทานทั้งผืนดินและทรงคิดแปลนเรือนพระราชทานด้วย” น่าสนใจว่าคำว่า ‘แปลนเรือน’ ในประโยคดังกล่าวจะกล่าวรวมถึงรูปแบบของสถาปัตยกรรมด้วยหรือไม่  

ทำเนียบรัฐบาล
ภาพ : หนังสือทำเนียบรัฐบาล โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ในปี 2459 ก่อนการก่อสร้างบ้านนรสิงห์ 1 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์แปลวรรณกรรมอมตะ The Merchant of Venice ของวิลเลียม เชกสเปียร์ เป็นภาษาไทยในชื่อ เวนิสวาณิช หลักใหญ่ใจความของเรื่องนี้กล่าวถึงมิตรภาพอันลึกซึ้งของอันโตนิโย (Antonio) และบัสสานิโย (Bassanio) สองเพื่อนซี้ชาวเวนิส เรื่องย่อมีอยู่ว่า บัสสานิโยไปกู้เงินจากยิวคู่แค้นนามไชล็อก โดยมีอันโตนิโยเป็นผู้ค้ำประกัน อันโตนิโยประกันว่าหากหาเงินมาคืนไม่ได้จะยอมเชือดเนื้อของตนเป็นการจ่ายหนี้ให้ไชล็อกจำนวน 1 ปอนด์

อันโตนิโยและบัสสานิโย ภาพ : Mary Evans Picture Library

บัสสานิโยได้เงินแล้วก็ล่องเรือไปเลือกคู่ที่เมืองอื่น ระหว่างนั้นเรือค้าขายของอันโตนิโยอับปางลง กิจการทั้งหมดของอันโตนิโยล่มจม จึงหมดทางที่จะจ่ายหนี้แก่ไชล็อก คดีหนี้นี้เป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล อันโตนิโยพ่ายแพ้และยินยอมให้ไชล็อกเชือดเนื้อ หวังเพียงให้บัสสานิโยเพื่อนรักกลับมาดูใจตนเท่านั้น ขณะเดียวกันบัสสานิโยก็ได้แต่งานกับหญิงสาวเปอร์เชียที่ตนหมายปอง ทันทีที่ทราบชะตากรรมของเพื่อน บัสสานิโยก็รีบกลับมาเวนิสเพื่อหาทางช่วยเหลืออันโตนิโอ เรื่องจะจบลงอย่างไรขอเชิญไปตามอ่านได้ในวรรณกรรมฉบับเต็ม

บทประพันธ์ดั้งเดิมของเรื่องนี้แต่งไว้เป็นบทละคร เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยและสนับสนุนการละครมากเพียงใด หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล บันทึกไว้ว่า เมื่อคราวที่รัชกาลที่ 6 ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เคยเสด็จฯ ไปยังนครปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในเวลา 7 วันพระองค์ทอดพระเนตรละครเวทีถึง 9 เรื่อง สำหรับละครเรื่อง The Merchant of Venice ได้ทอดพระเนตรที่ลอนดอนเมื่อปี 2445

หลังจากทรงพระราชนิพนธ์แปล เวนิสวาณิช เสร็จเรียบร้อย ได้ทรงบันทึก คำอธิบายว่าด้วยการจัดเรื่องละครเวนิสวาณิช สำหรับเล่นจริงๆ เตรียมไว้เพื่อการแสดงด้วย ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือทรงกำหนดตัวละครไว้ดังต่อไปนี้

ศรีอยุธยา คือพระนามแฝงของรัชกาลที่ 6 มีที่มาจากพระราชอิสริยยศเดิมของพระองค์ คือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเทพทวารวดี มีที่มาจาก ‘กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา’ ราชธานีเก่าแก่ของสยาม พระองค์ทรงวางบทบาทของพระองค์เองไว้เป็นอันโตนิโย และมีพระราชประสงค์ให้พระยาประสิทธ์ศุภการ ซึ่งต่อมาได้เลื่อนยศเป็นเจ้าพระยารามราฆพ แสดงเป็นบัสสานิโย เพื่อนรักของอันโตนิโอ

เมื่อกลับมาสำรวจหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้วจะพบว่า หลายครั้งรัชกาลที่ 6 ทรงพระเมตตานับว่าเจ้าพระยารามราฆพเป็น ‘เพื่อน’ ของพระองค์ท่าน

ก่อนพระองค์สวรรคตไม่กี่ปี ได้พระราชทานต้นฉบับหนังสือที่ทรงเล่าเรื่องราวต้นรัชสมัยของพระองค์เองในชื่อ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 เอกสารดังกล่าวเป็นความลับเฉพาะและความเป็นส่วนพระองค์สูงมาก หน้าปกมีข้อความว่า จัดไว้ให้แด่ เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้เป็นศุภมิตร

และในคำนำยังทรงกล่าวถึงเจ้าพระยาผู้นี้ว่าเป็น “ผู้ที่ได้เคยเป็นผู้รับใช้สอยและเป็นมิตรที่ไว้วางใจของฉัน” (สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในหนังสือ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน) อาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ของรัชกาลที่ 6 กับท่านเจ้าพระยาคนสนิทสอดคล้องกับความสัมพันธ์ของสองเวนิสวาณิชในเรื่อง

ภาพ : หนังสือพระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6)

ตอนหนึ่งใน เวนิสวาณิช ปัสสานิโยกล่าวว่า

“อันโตนิโยเธอนี้สิมีคุณ

ทั้งให้ทุนให้รักไม่เว้นว่าง

เพราะความรักเพื่อนไซร้ไม่จืดจาง

จึงเปนทางที่หวั่งหยั่งเมตตา”

น้ำพระราชหฤทัยที่พระมหาธีรราชเจ้าพระราชทานแก่เจ้าพระยาก็ไม่ต่างไปจากที่อันโตนิโยมีให้เพื่อนคู่ชีวิตของเขา การให้ทุนสร้างบ้านแบบเวนิสเปรียบเสมือนอนุสรณ์แห่งพระเมตตาที่พระราชทานแก่ผู้รับใช้ใกล้ชิด และเป็นเครื่องหมายแห่งมิตรภาพที่พระราชทานแด่ศุภมิตรของพระองค์

ที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่งคือลูกศรในลายพระหัตถ์ น่าจะหมายความว่าผู้แสดงเป็นอันโตนิโยและไชล็อกอาจสลับกันได้ อย่างไรก็ดี ตามท้องเรื่องก็สามารถกล่าวได้ว่าไชล็อกก็เป็นผู้ให้ทุนบัสสานิโยเช่นกัน ด้วยเป็นผู้ปล่อยเงินกู้ให้บัสสานิโยถึง 3,000 เหรียญ เป็นทุนรอนให้บัสสานิโยล่องเรือออกไปแต่งงานสร้างครอบครัวได้

พระเมตตาที่มีพระองค์มีให้กับเจ้าพระยาผู้ภักดีทำให้นึกถึงวรรคทองที่ปรากฏใน เวนิสวาณิช

“อันว่าความกรุณาปรานี

จะมีใครบังคับก็หาไม่

หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ

จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน  

เป็นสิ่งดีสองชั้นพลันปลื้มใจ

แห่งผู้ให้และผู้รับสมถวิล  

เป็นกำลังเลิศพลังอื่นทั้งสิ้น

เจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระกรุณา”

อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่ามีการแสดงละครเรื่อง เวนิสวาณิช จวบจนสิ้นรัชกาลของพระองค์

ภาพ : หนังสือทำเนียบรัฐบาล โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

“แล้วจงรีบไปเวนิสด้วยฉับพลัน ช่วยมิตรคู่ชีวันให้พ้นภัย”

(เวนิสวาณิช องก์ 3 ตอน 2)

จากเวนิสตะวันออกขอข้ามกลับไปยังเมืองเวนิสอีกครั้ง นอกจากแลนด์มาร์กอย่างพระราชวังของเจ้าผู้ครองเมืองเวนิส (Doge’s Palace) และมหาวิหารซานมาโค (Basilica San Marco) แล้ว คาโดโร (Cà d’Oro) ริมแกรนด์คาแนลก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นมาสเตอร์พีซของสถาปัตยกรรมโกธิคแบบเวนิส และเคหาสน์ทองหลังนี้เองที่เป็นต้นแบบของตึกไทยคู่ฟ้า

Cà d’Oro ในอดีต ภาพ : www.periodpaper.com

  ด้วยความที่เวนิสเป็นเมืองท่าสำคัญที่ติดต่อค้าขายกับอาณาจักรตะวันออกมาเนิ่นนาน จึงได้รับอิทธิพลด้านสถาปัตยกรรมมาจากอาณาจักรไบแซนไทน์และโลกอาหรับ โกธิคแบบเวนิสจึงมิได้แห้งแล้งหดหู่สูงเสียดฟ้า แต่รุ่มรวยไปด้วยโค้งแหลม ช่องฉลุ และโมเสกทองคำตระการตา กลายเป็นความแตกต่างที่ผสานกันจนกลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์

คาโดโรสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 15 โดยตระกูลคอนทารินี (Contarini) สายสกุลที่เป็นหนึ่งในวงศ์วานอันทรงเกียรติและเก่าแก่ที่สุดในอิตาลี คนจากตระกูลนี้ได้เป็นเจ้าเมืองเวนิสถึง 8 ท่าน คฤหาสน์แห่งนี้ออกแบบโดยสถาปนิกพ่อลูกตระกูล Bon ด้วยความที่ครั้งหนึ่งตามผนังของอาคารเคยประดับไปด้วยทองคำสุกสกาวอวดความสวยและรวยมากของเจ้าของ ชาวเวนิสจึงเรียกบ้านหลังนี้ว่าคาโดโร (Cà d’Oro)  ซึ่งแปลว่า ‘บ้านทอง’ มาจนถึงทุกวันนี้

Cà d’Oro ในปัจจุบัน ภาพ : www.flickr.com

  เมื่อเปรียบเทียบหน้าตาของคาโดโรกับตึกไทยคู่ฟ้าจะพบว่ามีองค์ประกอบสำคัญถอดแบบกันมาเป๊ะๆ เพราะเหล่าสถาปนิกและนายช่างที่ออกแบบและสร้างบ้านนรสิงห์คือชาวอิตาลีคณะเดียวกับที่สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม มี มาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno) และ อันนิบาเล ริก็อตตี (Annibale Rigotti) การก่อสร้างบ้านนรสิงห์ยังไม่ทันเสร็จสมบูรณ์ดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็สววรคตเสียก่อน เหล่าช่างอิตาลีจึงทยอยกลับบ้านเมืองของตน ล่วงเลยมาถึงช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะใช้บ้านหลังนี้เป็นทำเนียบรัฐบาล จึงมอบหมายให้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มาดำเนินการปรับปรุงตกแต่งจนสำเร็จสมบูรณ์แบบ จึงอาจเรียกได้ว่าทำเนียบรัฐบาลไทยเป็นผลงานโดยชาวอิตาลีแท้ๆ เลยทีเดียว

ทำเนียบรัฐบาล
ภาพ : หนังสือทำเนียบรัฐบาล โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

เมื่อก่อสร้างต่อเติมในยุคถัดๆ มา ก็ใช้แนวทางของสถาปัตยกรรมโกธิคแบบเวนิส เช่นตึกสันติไมตรีที่สร้างขึ้นในปี 2487 มีการจำลองประติมากรรมสิงโตของประติมากรเอก อันโตนิโอ คาโนวา (Antonio Canova) ไว้บริเวณบันไดหน้าตึก ประติมากรผู้นี้สร้างผลงานชิ้นใหญ่และเสียชีวิตที่เวนิส ต้นแบบของรูปปั้นสิงโตหมอบ ตัวหนึ่งตื่นตัวหนึ่งหลับ มาจากอนุสาวรีย์ของพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 8 (Clement XIII) ในมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ส บาซิลิกา (St. Peter’s Basilica)

หนังสือนำชมมหาวิหารแห่งนี้อย่างเป็นทางการของนครรัฐวาติกันอธิบายว่า สิงโตที่ตื่นอยู่เป็นตัวแทนของพระกรณียกิจอันทรงพลังของพระองค์ ส่วนสิงโตที่หลับอยู่เป็นตัวแทนของความเสงี่ยมงามประมาณตน พระสันตะปาปาพระองค์นี้ทรงเป็นชาวเวนิส จึงใช้สิงโตเป็นตัวแทน เพราะสิงโตมีปีกที่เป็นสัญลักษณ์ของนักบุญมาร์คที่ชาวเวนิสยกย่องให้เป็นนักบุญผู้อุปถัมภ์ของเมือง ทุกวันนี้ก็ยังพบประดับประดาธงหรือสัญลักษณ์สิงโตมีปีกให้เห็นในทุกหนแห่งของเมือง

ทำเนียบรัฐบาล
สิงโตคู่หน้าตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภาพ : หนังสือทำเนียบรัฐบาล โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
Monument to Clement XIII ใน St Peter’s Basilica ฝีมือ Canova ภาพ : www.flickr.com

ตึกไทยคู่ฟ้ามิได้เป็นแรงบันดาลใจแรกจากเวนิสที่สยามรับเข้ามา ในปี 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ทอดพระเนตร ‘นิทรรศการศิลปะเวนิส เบียนนาเล่’ (The Venice Biennale) เทศกาลศิลปะอันมีชื่อเสียงของโลกที่จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการถึง 2 ครั้งในวันเดียว พระองค์ทอดพระเนตรผลงานของ กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) ศิลปินชาวอิตาลีที่นี่ จึงเป็นที่มาของข้อความที่คีนีบันทึกไว้ว่า “พระองค์มีพระราชประสงค์ให้เรียกข้าพเจ้าเข้ามาตกแต่งพระราชวัง ซึ่งขณะนั้นกำลังก่อสร้างอยู่ที่กรุงเทพฯ” พระราชวังที่คินีกล่าวถึงคือพระที่นั่งอนันตสมาคม ที่ซึ่งศิลปินผู้นี้จะได้ฝากผลงานชิ้นใหญ่ที่สุดของตนไว้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการเวนิส เบียนนาเล่ ปี 2450 ภาพ : หนังสือกาลิเลโอ คีนิ : จิตรกรสองแผ่นดิน ผู้รังสรรค์งานศิลป์ ในพระที่นั่งอนันตสมาคม
ห้องจัดแสดงในงานเวนิสเบียนนาเล่ ที่มีผลงานของคินีจัดแสดงในปี 2450 ภาพ : หนังสือจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก

ณ วันนี้ทำเนียบรัฐบาลแบบเวนิสยังตั้งเด่นเป็นสง่าแห่งเวนิสตะวันออก หวังแต่เพียงผู้ทำงานในตึกอันทรงเกียรติแห่งนี้จะสง่างามให้สมศักดิ์สมศรีกับที่ประชาชนได้วาดหวังไว้

ทำเนียบรัฐบาล
ภาพ : หนังสือทำเนียบรัฐบาล โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

บรรณานุกรม

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ไกลบ้าน. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540.

ชัตสุณี สินธุสิงห์ และ ปณิธิ หุ่นแสวง, บรรณาธิการ. กาลิเลโอ คีนิ : จิตรกรสองแผ่นดิน ผู้รังสรรค์งานศิลป์ ในพระที่นั่งอนันตสมาคม. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2551.

พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้าหญิง. พระราชวศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น
สมัยรัชกาลที่ 6). กรุงเทพฯ : มติชน, 2561.

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. เรื่องเวนิสวาณิช พระราชนิพนธ์แปลใน พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชูปถัมภ์, ธนาคารออมสิน, 2558

ราม วชิราวุธ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว). ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559.

สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ. ทำเนียบรัฐบาล. กรุงเทพฯ : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, 2539.

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. ทำเนียบรัฐบาล. กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, 2550.

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พลเรือเอก กองเรือใหญ่ เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2510. กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์พระจันทร์, 2510

อภินันท์ โปษยานนท์. จิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :
อมรินทร์พริ้นติ้ง, 2537.

Paolo Piazzardi and others. Italians at the court of Siam. Bangkok : Amarin Printing and Publishing, 1996.

Writer

Avatar

นักรบ มูลมานัส

นักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านการสร้างภาพ (ประกอบ) ที่อยากจะลองเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรดูบ้าง