The death and life of the great Gotham Metropolis
จุดจบ-จุดเริ่มต้น ของมหานครก็อตแธม

เงามืดดำของตึกสูงระฟ้าซ้อนทับกันอย่างคลุ้มคลั่ง ทอดยาวลงตามตรอกซอกซอย เรียงตัวกันตามเส้นตะแกรงกริดของผังเมือง เมื่อมองจากยอดตึก ซอกซอยเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับการทางเดินในเขาวงกต ที่ไม่รู้ว่าหากเดินตามความมืดลึกเข้าไปเรื่อย ๆ จะมีสิ่งเลวร้ายอะไรเกิดขึ้นบ้าง 

ตำนานเมืองแห่งเงามืดของอาชญากรรมและแก๊งอาชญากรสุดบ้าคลั่ง คือฝันร้ายที่กัดกินความหวังของผู้คนในเมือง

มหานครก็อตแธม (Gotham) เมืองในจักรวาลของดีซีคอมมิค (DC Comics) เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว ในหนังสือการ์ตูน Batman No.4 ปี 1940 โดยนักเขียนชื่อ Bill Finger ผู้หวังว่ามันจะช่วยให้ผู้อ่านสร้างภาพในจินตนาการของเมืองร่วมกันได้ โดยเป็นที่รู้กันว่าจุดกำเนิดของอัศวินรัตติกาล เริ่มต้นขึ้นจากโศกนาฏกรรมในตรอกอาชญากรรม การสูญเสียพ่อแม่กระตุ้นให้บรูซ เวย์น ตั้งตัวเป็นศาลเตี้ยต่อกรกับอาชญากรในเมือง

ตลอดเวลาที่ผ่านมา รูปลักษณ์เมืองก็อตแธมเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ผ่านมือนักเขียน ผู้กำกับ นักออกแบบ และนักวาดภาพประกอบฉาก ซึ่งแต่ละยุคสมัย ต่างเสกสรรภูมิทัศน์ของเมืองก็อตแธมขึ้นมาในบริบทและอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมในช่วงนั้น กลิ่นอายของเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์กซิตี้ ลอสแอนเจลิส เวสต์ลอนดอน ชิคาโก พิตต์สเบิร์ก โตเกียว ไปจนถึงฮ่องกง คือรากฐานที่นำมาใช้เชื่อมโยงการออกแบบเมืองก็อตแธม

บทความนี้อยากชวนผู้อ่านมาแกะรอยวิวัฒนาการของเมืองนี้ จากกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมาในยุคของผู้กำกับ Tim Burton (ค.ศ. 1989 – 1992), Joel Schumacher (ค.ศ. 1995 – 1997) และ Christopher Nolan (ค.ศ. 2005 – 2012) จนมาถึงในเวอร์ชันล่าสุดของ Matt Reeves (ค.ศ. 2022) ที่ไม่ว่ารูปลักษณ์ของเมืองจะเปลี่ยนไปมากน้อยเท่าไร สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่คืออาชญากรรมและความโกลาหล ซึ่งคอยหลอกหลอนชาวเมืองกว่า 12 ล้านคนที่อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้

Gotham City สถาปัตยกรรมเมืองของแบทแมน ที่เปลี่ยนไปตามความตั้งใจของผู้สร้าง

The City

ผังเมืองก็อตแธมออกแบบขึ้นโดย Eliot R. Brown ในปี 1998 อ้างอิงจากเขตเมืองแมนแฮตตันของนิวยอร์กซิตี้ ลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นเกาะที่มีแม่น้ำ 4 สายล้อมรอบ ตัวเมืองแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 

Uptown โซนที่ไม่ปรากฏในฉากภาพยนตร์เท่าไหร่

Midtown ใจกลางเมืองที่รายล้อมด้วยตึกสูงมากมาย และเป็นที่ตั้งของธุรกิจในเมืองนี้เกือบทั้งหมด 

และ Downtown ย่านที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นศูนย์กลางการเงินของเมือง และมีพื้นที่จำนวนมากที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 

ส่วนตัวเมืองเชื่อมต่อกับเมืองอื่น ๆ ด้วยสะพานและอุโมงค์ ซึ่งถ้าระเบิดจุดเชื่อมเหล่านั้นออก Gotham ก็จะถูกตัดขาดจากโลกภายนอกไปโดยปริยาย

Gotham City สถาปัตยกรรมเมืองของแบทแมน ที่เปลี่ยนไปตามความตั้งใจของผู้สร้าง
Gotham City สถาปัตยกรรมเมืองของแบทแมน ที่เปลี่ยนไปตามความตั้งใจของผู้สร้าง

01
Tim Burton‘s Gotham City (1989 – 1992)

เมืองก็อตแธมเริ่มเผยให้เห็นถึงเค้าโครงเส้นขอบฟ้า ที่เป็นเอกลักษณ์ของตึกสูงระฟ้าครั้งแรกในภาพวาดของ แฟรงค์ มิลเลอร์ (Frank Miller) ในหนังสือการ์ตูนจากปี 1986 และต่อมา 3 ปีให้หลัง ในช่วงระหว่างปี 1989 – 1992 ในภาพยนตร์ Batman เวอร์ชันผู้กำกับ Tim Burton เอกลักษณ์ของเมืองถูกถ่ายทอดผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมอาร์ตเดโค อาร์ตนูโว และโกธิก โดดเด่นด้วยผนังกำแพงอิฐหนาทึบ ยอดแหลมอันวิจิตรของตัวอาคาร โค้งโครงสร้างและการตกแต่งลวดลายประตูหน้าต่าง องค์ประกอบเหล่านี้บอกเล่าความอันตรายและความน่าสะพรึงกลัวของเมืองได้เป็นอย่างดี

Burton ต้องการสร้างก็อตแธมให้เหมือนกับว่า นรกปะทุขึ้นมาตามท้องถนน และผู้คนต่างใช้ชีวิตกันต่อมาหลังจากนั้น 

จากภาพสเก็ตช์ของ Anton Furst ผู้ออกแบบงานสร้างใน Batman ของ Burton สะท้อนให้เมืองก็อตแธมปกคลุมไปด้วยความมืด รูปทรงสถาปัตยกรรมของตึกอาคารเต็มไปด้วยยอดแหลมและซุ้มประตูแบบโกธิก ตระหง่านอยู่เหนือถนนที่มืดมิด ความดิบของรูปทรงยิ่งถูกขับให้เด่นชัดขึ้นบนเส้นขอบฟ้าในเวลากลางคืน การไม่มีแสงอุปมาอุปมัยถึงเมืองที่ขาดการบำรุงรักษา หรืออาจจะสื่อถึงสภาวะเมืองที่อยู่ภายใต้การบริหารขององค์กรอาชญากรมาเป็นเวลานาน เป็นเมืองที่ปราศจากการวางผังเมือง โดยมีรูปปั้นการ์กอยล์ ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของผู้พิทักษ์ คอยเฝ้ามองและปกป้องชาวเมืองจากยอดตึก

ก็อตแธม สถาปัตยกรรมเมืองของ Batman โดย 4 ผู้กำกับ Tim Burton, Joel Schumacher, Christopher Nolan และ Matt Reeves
ก็อตแธม สถาปัตยกรรมเมืองของ Batman โดย 4 ผู้กำกับ Tim Burton, Joel Schumacher, Christopher Nolan และ Matt Reeves

02
Joel Schumacher’s Gotham City (1995 – 1997)

ต่อมา ความมืด ฟิลเตอร์ดำ ๆ และความขมุกขมัวของเมือง ได้ถูกลดทอนลงไปในเวอร์ชันของ Joel Schumacher ที่ทำร่วมกับนักออกแบบงานสร้างอย่าง Barbara Ling ในช่วง ปี 1995 – 1997 

ในภาคนี้ มีการผสมผสานสไตล์ต่าง ๆ ทางสถาปัตยกรรมและเฉดสีนีออนเหนือจริงสว่างไสวไปทั่วเมือง ทำให้ก็อตแธมมีกลิ่นอายของความแฟนตาซีล้ำยุค แตกต่างจากภาคที่ผ่านมา สถาปัตยกรรมโกธิกถูกทับซ้อนด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมอันบ้าบิ่นแบบ Modern Expressionism เพื่อสื่อสารวิธีคิด ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกประหนึ่งประติมากรรม เช่น ใช้รูปทรงที่บิดเบี้ยว เพื่อสื่อเชิงสัญลักษณ์ถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับนวัตกรรมการก่อสร้างแบบใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นใน Claw Island ภาค Batman Forever และตรงกันข้ามกับเวอร์ชันของ Burton โดยสิ้นเชิง 

ก็อตแธม สถาปัตยกรรมเมืองของ Batman โดย 4 ผู้กำกับ Tim Burton, Joel Schumacher, Christopher Nolan และ Matt Reeves

03
Christopher Nolan‘s Gotham City (2005-2012)

เกือบ 1 ทศวรรษต่อมา กว่าไตรภาคของหนัง The Dark Knight โดยผู้กับกำกับชื่อดังอย่าง Christopher Nolan เข้าฉายในช่วงปี 2005 – 2012 ฉากเมืองก็อตแธมในแบบฉบับของเขา ก้าวข้ามรูปลักษณ์ของ 2 เวอร์ชันก่อน ก้าวออกจากสถาปัตยกรรมแฟนตาซีฉูดฉาดในภาคของ Schumacher และความมืดมนของสถาปัตยกรรมโกธิกแบบ Burton มาสู่ความธรรมดาสมจริง โดยใช้สถานที่จริงในเมืองใหญ่ อย่างชิคาโกและมหานครนิวยอร์กในการถ่ายทำ ถือเป็นก้าวสำคัญของเมืองก็อตแธมที่เข้ามาเชื่อมกับโลกภายนอกเป็นครั้งแรก ราวกับว่าก็อตแธมซิตี้นั้น เป็นเมืองที่คุณก็อาศัยอยู่ได้ ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นว่าอาชญากรรมซ่อนอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

มากไปกว่านั้น เหตุการณ์จริงในแต่ละยุคก็เหมือนจะถูกสะท้อนเข้าไปอยู่ในฉากภาพยนตร์ของเมืองก็อตแธม สภาพแวดล้อมในเมืองที่ผู้คนหวาดกลัวกับการก่อการร้าย ซึ่งภาพยนตร์ Batman ฉบับของ Nolan นั้นถ่ายทำหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ที่ตึก World Trade ถล่มจากการก่อการร้ายในปี 2001 

ความธรรมดาของเมืองก็อตแธมในแบบฉบับ Nolan สร้างความหวาดกลัวและเงามืดให้กับเมืองได้ โดยไม่จำเป็นต้องปรับรูปแบบสถาปัตยกรรมใด ๆ เข้าไป เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงทรงโมเดิร์นร่วมสมัย เรียงตัวกันเป็นเส้นตรง และต่างชี้ขึ้นบนท้องฟ้าอย่างเป็นระเบียบ เป็นก็อตแธมในอุดมคติ ก่อนที่โจ๊กเกอร์จะก่อความโกลาหล 

ความสะอาดสะอ้านและความเจริญของเมืองไม่แตกต่างกับเมืองที่เราใช้ชีวิตปกติทั่วไป แต่ในขณะเดียวกันก็แอบซุกซ่อนความยุ่งเหยิงไว้ในตรอกซอกซอยและชั้นใต้ดินที่เสื่อมโทรม เป็นเมืองดิสโทเปียที่ซ่อนรูปและซับซ้อนอยู่บนความแตกต่างชนชั้น ความสูงของระดับชั้นที่อยู่อาศัย ความมืดและความสว่าง ความชั่วและความดี

ก็อตแธม สถาปัตยกรรมเมืองของ Batman โดย 4 ผู้กำกับ Tim Burton, Joel Schumacher, Christopher Nolan และ Matt Reeves
ก็อตแธม สถาปัตยกรรมเมืองของ Batman โดย 4 ผู้กำกับ Tim Burton, Joel Schumacher, Christopher Nolan และ Matt Reeves

04
Matt Reeves ‘s Gotham City (2022)

ใครจะเชื่อว่าอีกทศวรรษต่อมา ในเดือนมีนาคมปี 2022 เมืองก็อตแธมจะได้เติบโตขึ้นอีกครั้ง ในฉบับของผู้กำกับ Matt Reeves และผู้ออกแบบงานสร้าง James Chinlund ที่นำประวัติศาสตร์ของเมืองอายุกว่า 80 ปี มาประสานกันได้อย่างแปลกประหลาดและสมจริงในคราวเดียวกัน 

เขานำสถาปัตยกรรมโกธิกในเวอร์ชันของ Burton กลับมาใช้ถ่ายทอดสภาพแวดล้อมบ้านเมืองที่ใกล้จะล่มสลาย ถูกความมืดครอบงำ ถนนตรอกซอกซอยเต็มไปด้วยขยะ สิ่งสกปรก และสุสาน มีการผสมผสานสถาปัตยกรรมโมเดิร์นร่วมสมัยในโลกความเป็นจริง อย่างแลนด์มาร์กของเมืองนิวยอร์ก เพื่อสร้างเมืองที่มีกลิ่นอายความเสมือนจริงในรูปแบบเดียวกันกับ Nolan 

ยิ่งไปกว่านั้น ก็อตแธมของ Reeves ยังขับเน้นความขัดแย้งที่น่ามหัศจรรย์ของสถาปัตยกรรม โดยนำรางรถไฟยกระดับ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งจากภาพร่างในแบบฉบับของ Burton เมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาเป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบของเมืองด้วย ทำให้ในภาคนี้ ผู้ชมมีโอกาสได้เห็นองค์ประกอบสถาปัตยกรรมยุคโกธิกกลมกลืนไปกับสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น ซึ่งยากที่จะเห็นในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะตึกจากช่วงยุคโกธิกส่วนมากถูกทำลายไปในช่วงสงครามโลก

Chinlund ต้องการให้ฉากของเมืองบอกเล่าเรื่องราวทั้งขาขึ้นและขาลง ทั้งช่วงเวลายากลำบากและช่วงเวลารุ่งโรจน์ เมืองที่ผ่านเหตุการณ์ความวุ่นวายมามากมาย โดยมีตึกระฟ้าที่ยังสร้างไม่เสร็จและถูกปล่อยให้รกร้างเป็นจำนวนมาก สลับกับมีโครงการก่อสร้างที่เสร็จสมบูรณ์ ฉากของเมืองบางส่วนเสื่อมโทรม แต่ขณะเดียวกันก็มีตึกสูงระฟ้าเบียดเสียดแออัด ความไร้ระเบียบแบบแผนขององค์ประกอบต่าง ๆ ทำให้รู้ว่าความไม่ปลอดภัยนั้นแทรกซึมอย่างลึกซึ้งในเมืองนี้

ก็อตแธม สถาปัตยกรรมเมืองของ Batman โดย 4 ผู้กำกับ Tim Burton, Joel Schumacher, Christopher Nolan และ Matt Reeves

“ตราบใดที่เขายังทำให้คนเลวรวยต่อไป และทำให้คนดีหวาดกลัว คนดีเช่นพ่อแม่ของคุณที่จะลุกขึ้นต่อต้านกับความอยุติธรรมนั้น พวกเขาจากไปโลกนี้ไปแล้ว ก็อตแธมยังมีความหวังเหลืออยู่ไหม เมื่อคนดีต่างนิ่งเฉยไม่ทำอะไร”

คำคมจากภาพยนตร์ Batman Begins สะท้อนให้เห็นถึงเอฟเฟกต์ลูกโซ่ของเมือง ที่ส่งผลต่อความคิดของชาวเมืองกับคำถามว่า แล้วอะไรเกิดก่อนกัน เมืองหรืออาชญากรรม พระเอกหรือคนร้าย สถาปนิกหรือเมือง

สถาปนิกผู้คลั่งไคล้ศาสนาต้องการวางผังเมืองในอุดมคติ เพื่อวางรากฐานเมืองที่จะสร้างพลเมืองที่มีศีลธรรม ในขณะเดียวกัน ด้วยรูปแบบที่บิดเบี้ยวของเมืองและความเหลื่อมล้ำ ก็ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม และปัญหานั้นเป็นจุดกำเนิดของ Batman ผู้พิทักษ์เมือง ซึ่งการคงอยู่ของเขาเป็นตัวดึงดูดและสร้างสุดยอดวายร้ายที่เป็นอันตรายขึ้นมาด้วย

Gotham City จะยังคงเป็นเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา เป็นเมืองที่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบวนลูปไปเรื่อย ๆ ในแต่ละเวอร์ชันของภาพยนตร์ล้วนถ่ายทอดรูปแบบของฝันร้าย ความอันตราย ความไม่ปลอดภัย ผ่านองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างออกไปในแต่ละฉบับ 

ท้ายที่สุดแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่ Gotham City จะเป็นเหมือนกระจกเงาถ่ายทอดความล้มเหลว ความฝัน ความสุข และความโหดร้ายของเมืองในโลกแห่งความเป็นจริง 

เป็นดิสโทเปียที่เราไม่ควรได้สัมผัส 

ข้อมูลอ้างอิง

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ