ดูมั้ยดู ดูมั้ยดู ดูไม่เสียตังค์.. ดูมั้ยดู ดูมั้ยดู ดูมั้ยดู ดูมั้ยดู 

.

ก็ใจมันหายละลายละลายละลายละไหลไปกับเธอ เฮ้อ เจออย่างเนี้ยคนอ่อนไหวอะวุ่นวาย

.

อยากอธิษฐานให้ปาฏิหาริย์วันนั้นกลับมาได้ไหม มีเธอมีฉันไม่ว่าเรานั้นจะอยู่ที่ใด

ถ้าคุณจำเพลงบรรทัดแรกและต่อเนื้อเพลงบรรทัดสุดท้ายจนจบได้ เราขอแสดงความยินดีด้วยนั่นแปลว่าคุณเป็นแฟน (เพลง) ตัวยงของ ก๊อป โปสการ์ด หรือ ก๊อป-ธานี วงศ์นิวัติขจร ชายเบื้องหลังเพลงฮิตรุ่นคุณพ่อคุณแม่ยังสาวยันรุ่นลูกรุ่นหลานสุดเปิ๊ดสะก๊าด ศิลปินที่ขับร้องผ่านลายมือของเขามีมากมาย ถ้าเอ่ยชื่อมารับรองคุณต้องร้องอ๋อ! 

แกะสูตรเขียนเพลงด้วยหลักสถาปัตย์ของ ก๊อป โปสการ์ด ผู้ปั้นศิลปิน RS ยุค 90 Kamikaze และรักติดไซเรน, ก๊อป-ธานี วงศ์นิวัติขจร

ลิฟท์-ออย, ปาน ธนพร, D2B, นรีกระจ่าง คันธมาส, ทีโบน, ศิลปิลจาก Kamikaze ฯลฯ และขบวนเพลงดังอย่าง แน่นอก, รักติดไซเรน (My Ambulance) ที่เปิดกันทั่วบ้านทั่วเมืองจนคุณเผลอฮัมเพลงออกมาด้วยความอารมณ์ดี

สูตรการเขียนเพลงของนักประพันธ์คนนี้ก็สนุกมาก กว่าเขาจะเจอวิธีการแต่งเพลงที่เป็นตัวเองก็เดินทางสายดนตรีกว่า 15 ปี ซึ่งดันเป็นหลักการเดียวกับที่เด็กสถาปัตย์อย่างเขายึดมั่นถือมั่นด้วยหลักคิด Form Follows Function จนทำให้เขากลายเป็นหนึ่งในนักแต่งเพลงที่ทำเพลงตอบโจทย์ความต้องการอย่างทันท่วงทีของธุรกิจเพลงประเทศไทย

ก๊อป โปสการ์ด ในวันที่ยังไม่วางปากกาเขียนเพลงและเริ่มต้นขีดเขียนเพลงบทใหม่ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งและรองกรรมการผู้จัดการสายงานมิวสิกค่ายเพลง BH BrickHouse ค่ายเพลงที่เปิดกว้างต้อนรับศิลปินที่มีแพสชันและตัวตน ซึ่งเป็นหนึ่งในความตั้งใจที่เขาอยาก ‘สร้างคน’ 

หยิบคาสเซ็ตว่าด้วยเรื่องราวของเด็กชายที่เป็นนักฟังเพลงมาตลอดชีวิต เขียนเพลงมากว่าค่อนชีวิต และกำลังสร้างคนทำเพลงที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ใส่เครื่องเล่นแล้วสดับรับฟังด้วยความตั้งใจทั้งหน้าเอและหน้าบี

เราหวังว่าเพลงชีวิตม้วนนี้จะสร้างความสุขและแต้มรอยยิ้มเหมือนวันที่คุณฟังเพลงของ ก๊อป โปสการ์ด

เพลงล่าสุดที่คุณฟังคือเพลงอะไร

ฟังเพลงของ Serious Bacon เพราะเด็กในค่ายเขาฟัง

แล้วเด็กชายธานีตอนเป็นเด็กฟังเพลงอะไร

เราฟัง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ตอนนั้นปอสาม ปอสี่ ถูกส่งไปอยู่สัตหีบคนเดียวทุกปิดเทอม เพราะพ่อเป็นทหาร เราอยู่กับทะเล อยู่กับบ้านที่ยื่นเข้าไปในทะเล มีเครื่องเล่นเทปหนึ่งเครื่อง ฟังดูโรแมนติกนะ แต่ตอนนั้นเป็นเด็ก

แสดงว่า ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ดังมากในยุคนั้น

ก็เป็นวงดนตรีคอมโบยุคโบราณ เพลงพูดถึงทะเลเป็นส่วนใหญ่ พวกทหารเรือชอบฟัง เราก็ฟังเพราะไม่มีอะไรทำ แต่พอฟังเรื่อยๆ เหมือนถูกฝัง เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่เริ่มสนใจเนื้อหาของเพลง เขาพูดเรื่องทะเลแต่ทำไมพูดแบบเปรียบเทียบ พอกลับกรุงเทพฯ ก็เริ่มฟังเพลง มาจับความได้ทีหลังว่ามันคือสื่อ 

หลังจบปอหก เริ่มเป็นวัยรุ่นก็ยังไม่มีเพลงสำหรับวัยรุ่นให้ฟัง เราต้องฟังเพลงผู้ใหญ่ อย่างเศรษฐา (เศรษฐา ศิระฉายา) ดิ อิมพอสซิเบิ้ล มันก็ย้อนกลับไปที่เราเคยฟังตอนเด็ก ช่วงนั้นชอบฟังเพลงมาก พอแอบปิ๊งผู้หญิง ก็จะฟังเพลงที่มีชื่อเขาอยู่ในนั้น

แกะสูตรเขียนเพลงด้วยหลักสถาปัตย์ของ ก๊อป โปสการ์ด ผู้ปั้นศิลปิน RS ยุค 90 Kamikaze และรักติดไซเรน, ก๊อป-ธานี วงศ์นิวัติขจร

เช่น

มันหลายอันนะ (หัวเราะ) สมมติชื่อนก ก็ “แสนสุขสมนั่งชมวิหค อยากเป็นนกเหลือเกิน” (วิหคเหิรลม-สวลี ผกาพันธุ์) ความจริงไม่เกี่ยวกันเลย เราแค่รู้สึกว่าเพลงนั้นมันพิเศษ สำหรับเราเพลงคือสิ่งเชื่อมความรู้สึกที่มากกว่าคำพูด

แล้วคนยุคนั้นเขาฟังเพลงกันแบบไหน

วันนั้นวิทยุเป็นสื่อมีเดียหลัก เพลงยุคนั้นเปิดไม่ต่างกัน วิทยุจะเปิดอยู่สองวงคือคาราบาวกับแมคอินทอช เพลงไทยพัฒนามาถึงจุดที่มีอุตสาหกรรมเพลงและมีธุรกิจเพลง วงสำคัญตอนนั้นคือแกรนด์เอ็กซ์ มีการจัดคอนเสิร์ตและเป็นวงแรกที่มีการยื่นไมค์ให้คนดูร้องตาม ปกติคนจะนั่งตบมือ ไม่ค่อยลุกขึ้นเต้น เราถือว่าเราโตมากับการเกิดของอุตสาหกรรมเพลงไทย 

เรามารู้ตัวว่าชอบฟังเพลงมากกว่าคนอื่นก็ตอนที่เจอแผงขายเทป สมัยนั้นตามป้ายรถเมล์ต้องมีแผงเทป มีเยอะกว่าแผงหนังสือ เราหยุดดูนานมาก เพื่อนรอจนรำคาญ พอดูแผงนี้จบเจออีกแผงเราก็หยุดดูอีก ยิ่งแผงไหนแกะเทปให้ลอง เราต้องเปิดอ่าน อ่านเครดิต ดูปก ดูเนื้อเพลงว่าใครเป็นคนแต่ง ดูทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของเพลงไทย รู้ตัวอีกทีเพื่อนหนีไปหมดแล้ว เหลือเราคนเดียว ยอมรับนะว่าเราฟังเพลงเยอะ เสนอตัวเป็นดีเจทุกครั้งที่ห้องเรียนมีกิจกรรม จัดเพลย์ลิสต์เอง ชอบอัดเพลงแจกเพื่อน ถ้าประมวลกลับไปมันเป็นสิ่งที่คุณพ่อเคยทำให้เรา ตอนนั้นเขาต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ คนอื่นเขียนจดหมายแต่พ่อเราอัดคาสเซ็ตส่งมาให้ พ่อจะพูดก่อน พอถึงช่วงที่เป็นอารมณ์เขาจะร้องเป็นเพลงขึ้นมา เช่น ทุกคนสบายดีมั้ย แล้วก็ร้องเพลง ความรักไม่รู้จบ ของสุนทราภรณ์ พ่อเราโรแมนติกมั้ย (มาก) มันเลยเป็นสิ่งที่ทำให้เพลงเข้ามาอยู่ในใจเราโดยธรรมชาติ

ถ้าอินกับการฟังเพลงขนาดนั้นเท่ากับว่าคุณเจอตัวเองแล้วหรือเปล่า

เจอตัวเองช้า เพราะยุคนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีอะไรที่จะบอกได้เลยว่าเราคือใคร เราชอบอันนี้แล้วควรจะทำอะไรต่อ ขนาดจะเอนทรานซ์ อาจารย์แนะแนวเอาคณะมาให้เลือก เราไม่อยากเรียนสักคณะเลย พอดีคืนก่อนนั้นมีรายการ เพชฌฆาตความเครียด มาฉายทางทีวีแล้วดังมาก ก่อนจบเขามีสัมภาษณ์ถึงรู้ว่าเป็นกลุ่มเด็กสถาปัตย์ จุฬาฯ หมดเลย เราก็เอาวะ เลือกคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ถือว่าโชคดีมาก เขาสอนวิธีคิดบางอย่างซึ่งเราเอาแกนนั้นมาทำงานจนถึงทุกวันนี้ 

เรียนจบแล้วคุณได้ทำงานเป็นสถาปนิกหรือเปล่า

ทำอยู่หนึ่งปี ไม่สิ ทำไม่ถึงปี ประมาณแปดเดือน จริงๆ ทำแค่สามวัน 

ทำไมจำนวนลดลงเรื่อยๆ

ต้องย้อนไปวันแรกที่เรียนสถาปัตย์ เราจำได้ว่าออกจากห้องสเก็ตช์ดีไซน์ทุกคนนั่งคุยกันเรื่องงานออกแบบ สิ่งแรกที่เราทำคือนั่งเปิดปฏิทินคำนวณว่าเราต้องเรียนอีกกี่วัน (หัวเราะ) เรียนวันแรกเราก็ไม่เข้าใจแล้วว่าเขาเรียนอะไรกัน พอต้องทำงานจริงก็เหมือนเดิม ประชุมงานวันแรก เขาถามเราว่า “คุณธานี งานออกแบบรั้วของคุณเป็นยังไงบ้าง” เราพูดไม่ออก เลยบอกไปว่ายังไม่เสร็จครับ เราไม่อิน เลยพยายามดิ้นรนหาทางลาออกด้วยการทำตามสูตรของคนสมัยนู้น คือการเรียนต่อ

จริงๆ คุณได้เรียนต่อมั้ย

ไม่ จังหวะนั้นโชคดีมากได้เขียนเพลงโดยบังเอิญ 

มีอยู่วันหนึ่งไปกินข้าวกลางวันกับเพื่อนแถวสยาม แล้วเพื่อนดันรู้จักกับโต๊ะข้างๆ แล้วโต๊ะนั้นก็รู้จักกับอีกโต๊ะหนึ่ง เราได้ยินเขาคุยกันเรื่องเพลงของคาราบาว คาแรกเตอร์เพลงแบบนี้ ถ้าเป็นศิลปินจะร้องออกมายังไง ต้องพูดอะไร ทำไมเราฟังเขาพูดแล้วเราเข้าใจทุกอย่างทันที 

แสดงว่าคุณนั่งตอบคำถามพวกนั้นอยู่ในใจ

เราตอบอยู่ตลอด ทำแบบนี้สิ เพลงนี้ ตำแหน่งนี้ ต้องพูดแบบนี้ เรานั่งฟังเขาจนกินข้าวเสร็จ จะต้องเดินออกจากร้าน มีแวบหนึ่งต้องเดินผ่านประตูที่เขานั่ง เราเดินออกจากประตูไปแล้วนะ ถ้าเป็นซีนหนังคือแสงต้องพุ่งออกมาแล้ว เราคิดอะไรไม่รู้ ปิดประตูแล้วเดินกลับมาถามเขาว่า “ขอโทษนะครับ แจกเพลงเขียนกันอยู่หรือครับ” ตัดสินใจรวบรวมทุกอย่างในชีวิตแล้วบอกไปว่า “ผมขอเขียนด้วยได้มั้ย” เขาดูงงนะ แต่บอกเราว่าได้ แล้วจดเบอร์แฟ็กซ์ใส่กระดาษให้ ในความคิดเราคือเขาให้ไปอย่างนั้นแหละ บรีฟก็ไม่บรีฟ เราเลยแกล้งถามว่าเพลงของใคร เขาก็บอกนะแต่เรารู้ชื่ออยู่แล้ว 

แกะสูตรเขียนเพลงด้วยหลักสถาปัตย์ของ ก๊อป โปสการ์ด ผู้ปั้นศิลปิน RS ยุค 90 Kamikaze และรักติดไซเรน, ก๊อป-ธานี วงศ์นิวัติขจร

นี่มันเส้นทางแจ้งเกิดชัดๆ 

จำได้ว่าวันนั้นเราขึ้นรถเมล์ ป.1 ขนาดสี่สิบปีแล้วยังจำวันนั้นได้ (ยิ้ม) พอขึ้นรถเมล์ปุ๊บ เรารู้สึกเจอชีวิตของเราแล้ว เราเปิดซาวด์อะเบาต์เอาเดโม่คาสเซ็ตใส่แล้วเปิดฟัง เขียนเนื้อบนรถเมล์ เขียนเป็นได้ยังไงก็ไม่รู้ พอถึงบ้านปั๊บเราส่งแฟ็กซ์ให้เขาทันที เขาโทรกลับมาบอกว่าจะดูให้ แล้วเขาหายไปเลย เรื่องนี้ก็หายจากความทรงจำเราด้วยเหมือนกัน

อ้าว 

มีอยู่วันหนึ่งเขาโทรมาเชิญไปงานเปิดตัวอัลบั้มพี่เขียว คาราบาว อยากไปมาก ถามเขาแบบแฟนคลับว่า เจอพี่แอ๊ดหรือเปล่าครับ (หัวเราะ) พอถึงวันงานก็พาเพื่อนไปด้วยหนึ่งคน ตอนเดินเข้างาน แวบแรกที่เห็นเรายืนอึ้งอยู่นานมาก 

คุณเจอแอ๊ด คาราบาวหรอ

เปล่า แต่เพลงที่เราเขียนมันคือชื่องาน คือชื่ออัลบั้มเลย 

เพลงนั้นชื่อว่า

หัวใจและเวลา เป็นเพลงแรกที่เราเขียนในชีวิต เป็นการเปิดตัวที่เรารู้สึกทันทีว่าตรงนี้คือที่ของเรา 

พอคุณเจอที่ทางของตัวเอง เลือกเดินทางนี้เลยหรือเปล่า

จากวันนั้นก็ไม่ได้ตั้งใจเป็นนักแต่งเพลงนะ เพราะเราไม่รู้จักว่าอาชีพนี้คืออะไร ไม่เชื่อว่าแต่งเพลงจะเป็นอาชีพได้ ยังคิดอยากจะเรียนต่อ แต่กลายเป็นว่าทุกอย่างไม่ให้เราไป ไม่ว่าจะทำอะไรก็มีคนชวนทำเพลงอยู่ตลอด ทำเพลงอินดี้อยู่สามปี หนังสือวิจารณ์ชอบชมว่าเราเป็นดาวรุ่งนักแต่งเพลง ตอนนั้นแต่งเพลงให้นรีกระจ่าง ทีโบน เราแต่งเพลงได้เร็ว ตอบโจทย์ จนเรารู้สึกว่าอยากมีเพลงฮิต ค่ายเพลงอินดี้ให้เราไม่ได้ ตอนนั้นเห็นแล้วว่าแต่งเพลงมันมีรายได้ เลยย้าย

เราตั้งใจย้ายไปแกรมมี่ คุยไม่ลงตัวนิดหน่อย บ่ายนั้นเดินออกจากแกรมมี่ อาร์เอสโทรมาหาเรา เฮีย (เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์) เขาเชิญมา เพราะเขาจะพัฒนาทีมเพลงและสร้างคอมมูนิตี้วัยรุ่น ช่วงนั้นประมาณปี 97 เพื่อนก็เชียร์ให้ไป เราก็ลองสักตั้ง แล้วตั้งหนึ่งเนี่ยนานมาก (หัวเราะ) ยุคนั้นธุรกิจเพลงเฟื่องฟูมาก แต่ในใจเรายังอยากมีเพลงฮิตของตัวเอง

ทำไมถึงอยากมีเพลงฮิตเป็นของตัวเอง

เราแต่งเพลงผ่านแต่เพลงเราไม่ค่อยดัง ไม่พีก มันเลยเป็นคำถามในใจ คิดดูสิ เป็นนักแต่งเพลงรับเงินอยู่หลายปี ได้เขียนแต่เพลงท้ายอัลบั้ม ไม่มีโอกาสได้เขียนเพลงฮิต เวลาคนถามว่าแต่งเพลงอะไร เรากดดันมาก มันเลยเป็นแพสชันให้เราตะเกียกตะกาย ผ่านไปเจ็ดปีเราถึงได้เขียนเพลงฮิตเพลงแรก เพราะวันนั้นคนเขียนเพลงฮิตไม่อยู่ เราเลยได้เขียน

เพลง ดูมั้ย เป็นเพลงแรกที่ฮิตจริงๆ เดินไปไหนคนก็ฟัง ซึ่งมันตอบโจทย์ที่หนึ่งของเราได้

คุณรู้สึกยังไงในวันที่คนทั่วบ้านทั่วเมืองร้อง ดูมั้ยดู ดูมั้ยดู ดูไม่เสียตังค์… 

ปลื้ม (ตอบทันที) ครั้งแรกที่เพลงดังจำได้เลยว่าเดินเดอะมอลล์ กำลังขึ้นบันไดเลื่อนแล้วได้ยินเพลง ดูมั้ย เราขึ้นแล้วก็ลง ขึ้นแล้วก็ลง เพื่อจะได้ฟังเพลงตัวเอง

เพลงฮิตยุคนั้นกับเพลงฮิตยุคนี้ต่างกันมั้ย

ไม่ต่าง เพลงฮิตก็คือเพลงฮิต ฮิตก็มีความอุปทานหมู่อยู่แล้ว แต่สื่อต่าง วันนั้นเป็นสื่อที่ถูกสร้างโดยค่าย อัดเข้าไปเรื่อยๆ ก็เลยฮิต สมมติแค่พูดว่า ฉันเจ็บและฉันจะรักเธอตลอดไป ก็มีอารมณ์ร่วมของคน คำว่าสูตรก็มีจริงแต่ไม่ได้เสมอไป ความใหม่ ความครีเอทีฟก็ต้องมี ส่วนวันนี้สื่อเป็นของคนฟัง ไปยัดเยียดไม่ได้ มันค่อนข้างเรียล

ถ้าเมื่อไหร่ที่เพลงฮิต เราจะถือว่าเป็นเพลงดีทันที มันฮิตแสดงว่ามีคนจำนวนมากฟัง เราต้องหาข้อดีให้ได้ แล้วก็เรียนรู้ ซึ่งองค์ประกอบของเพลงฮิตมีอยู่สามส่วน คนแต่ง คือเรา คิดอะไร สร้างสรรค์อะไร สอง ศิลปิน คือตัวตน ทำให้ศิลปินพูดแล้วไม่เขินเพราะเป็นตัวเขา แต่สิ่งที่ทำให้เพลงฮิตคือคนฟังเท่านั้น สองคนแรกไม่มีอิทธิพลอะไรเลย หลักการมีแค่นี้

ซึ่งเพลงฮิตกับเพลงดีแยกกันนะ เพลงฮิตเป็นเพลงที่ต้องทำให้เป็นที่นิยม

แล้วเพลงดีเป็นยังไง

เพลงดีก็คือเพลงฮิต (หัวเราะ) 

เนื้อหาของเพลงเปลี่ยนหรือเปล่า

เนื้อหาของเพลงยังเคลื่อนไหวตามยุคนะ เมื่อปีสองปีที่แล้วฮิปฮอปเป็นตัวนำ วิธีพูดจะดาร์กหน่อย อย่างยังโอม ไม่ได้ขายหน้าตา แต่เขาทำงาน เขาจริงใจ เขาสร้างตัว เขาเลี้ยงแม่ เลี้ยงครอบครัว เขาก็พร้อมจะพูดเรื่องตัวเอง คนฟังก็สนับสนุน เราก็ชอบ จะพูดหยาบก็ไม่เป็นไร ในความหยาบมีความจริงใจอยู่ โลกมันก็เป็นแบบนั้น สักพักคนจะเริ่มเบื่อแล้วเปลี่ยนมาเป็นสายวาย คั่นกู ซึ่งเพลงก็ปรับไปตามเวลา เป็นเรื่องปกติมาก ค่ายบังคับได้บางเรื่อง เขาควบคุมสื่อ แต่วิถีของการฟัง เขาควบคุมไม่ได้

แกะสูตรเขียนเพลงด้วยหลักสถาปัตย์ของ ก๊อป โปสการ์ด ผู้ปั้นศิลปิน RS ยุค 90 Kamikaze และรักติดไซเรน, ก๊อป-ธานี วงศ์นิวัติขจร
แกะสูตรเขียนเพลงด้วยหลักสถาปัตย์ของ ก๊อป โปสการ์ด ผู้ปั้นศิลปิน RS ยุค 90 Kamikaze และรักติดไซเรน, ก๊อป-ธานี วงศ์นิวัติขจร

งั้นเทรนด์ก็มาจากคนฟัง

ใช่ ถามว่านานแค่ไหนไม่มีใครตอบได้ ช่วงนี้เปลี่ยนเร็วมาก มันก็เหมือนธรรมชาติ บางช่วงไม่มีอะไรก็แช่อยู่อย่างนั้นนานๆ เป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องหาคำตอบแค่เรียนรู้มันไปตลอด สนุกกับมัน ซึ่งเราก็ยังเป็นอยู่นะ ไม่ยอมแก่

หลังจาก ดูมั้ย ดังเป็นพลุแตก คุณยังเขียนเพลงฮิตอยู่หรือเปล่า

เราขยับมาเป็น Lyrics Producer คล้ายเป็นขั้นแรกของผู้บริหาร เราดูคอนเซปต์เพื่อเชื่อมกับครีเอทีฟ ดูตัวตนของศิลปิน มีชุดหนึ่งเราทำแล้วโดนด่าเละ เป็นหนึ่งปีที่เราไม่กล้ารับงานเลยนะ แต่ทุกความล้มเหลวคือแรงผลักดันที่ทำให้เราหันกลับมามองตัวเอง ความไม่สำเร็จค่อนข้างสำคัญมาก จนมันถึงจุดระเบิดที่เราได้ทำงานที่ไม่ต้องคาดหวัง เราดูแลงานให้ ปาน ธนพร (ธนพร แวกประยูร) เราสร้างอิมแพคให้กับเขา ได้มีโอกาสคิดแบบที่เราอยากคิด ทำให้เราเจออีกจุดหนึ่งของการสร้างงาน

คุณสร้างคาแรกเตอร์ปาน ธนพร แบบไหน

มันจะขำนะ (อมยิ้ม) ทีมเราเป็นทีมที่เอาคนพิลึกมารวมตัวกัน เราเป็นแกนนำของทีม จะเขียนเพลงประหลาด แหวก แต่มันขาดการเชื่อมกับตัวตนของศิลปิน พอเรารู้แบบนี้เลยเปลี่ยนมุมมอง แล้วปานมีคาแรกเตอร์ชัดมาก พูดจาโผงผาง เขาเหมือนเดอะเมีย ไม่ใช่แฟนนะ ต้องใช้คำว่าเมีย เมียเป็นคนที่พูดแรงกับเราแค่ไหนก็ได้แต่จริงใจ ปากร้ายแต่หวังดี

สิ่งที่เราจะนำเสนอมันมาจากตัวตนของเขา คาแรกเตอร์ ท่าทาง ผสมผสานกับการเล่าเรื่องของผู้หญิงในมุมที่ผู้ชายไม่เข้าใจ เพราะว่าเมียกับผัวทะเลาะกันตลอดเวลาทั้งที่รักกัน แต่เราไม่ได้แต่งเพลงให้นะ จะแจกให้คนอื่นแต่ง อย่าง พี่บั๋ง (สุทธิพงษ์ สมบัติจินดา) เก่งมาก เขาตอบในสิ่งที่เราอยากให้เป็นได้ ชุดต่อมาเราทำ D2B ก็ประสบความสำเร็จ

ฟังดูชีวิตนักแต่งเพลงกำลังไปได้สวย

มันมีจุดเปลี่ยน เราทำงานให้ศิลปินหญิงอยู่สองปีแล้วไม่ประสบความสำเร็จ จนถึงขั้นอยากเลิกทำเพลง เพราะเราทำเพลงจนถึงจุดที่ตอบโจทย์ตัวเองได้หลายข้อแล้ว สำหรับเรามันหมดแล้ว มองไม่เห็นทางที่จะไปต่อได้

แต่ ชีวิตคนเราชอบมีแต่ 

อย่างที่เคยบอกมันออกไม่ได้ (หัวเราะ) มันมีอะไรดึงกลับมาตลอด บังเอิญมีเด็กเข้าอาร์เอสมาสร้างงานใหม่ เขาชอบเรา ก็เลยช่วยเขาทำอยู่งานหนึ่ง คือ โฟร์-มด (ศกลรัตน์ วรอุไร และ ณปภัช วัฒนากมลวุฒิ) งานนั้นเราได้ลองเขียนเพลงกับเด็ก ได้เห็นมุมมองใหม่ เราเลยเขียนเพลงด้วยความเป็นเด็กสถาปัตย์ ปรากฏว่ามันประสบความสำเร็จ มีเพลงเลิฟ เลิฟ หายใจเป็นเธอ และอีกหลายเพลงในนั้น เหมือนเราเจอทิศทางการเขียนเพลงของเรา นักแต่งเพลงหลายคนโทรมาคุยกับเราเพราะเขาบอกว่ามันใหม่มาก 

เป็นจังหวะที่จะเลิกทำเพลงก็ไม่ได้เลิก เพราะ พี่ชมพู (สุทธิพงษ์ วัฒนจัง) ชวนมาดูแลค่ายใหม่ที่กำลังจะเปิด

แกะสูตรเขียนเพลงด้วยหลักสถาปัตย์ของ ก๊อป โปสการ์ด ผู้ปั้นศิลปิน RS ยุค 90 Kamikaze และรักติดไซเรน, ก๊อป-ธานี วงศ์นิวัติขจร

ค่ายนั้นคือ Kamikaze 

เฮียบอกว่าเพลงจะไม่มากับสื่อทีวีอีกต่อไป เด็กจะนั่งฟังเพลงในคอมพิวเตอร์ เฮียผิดนิดเดียวเอง ความจริงเป็นโทรศัพท์ ตอนเริ่มเปิด Kamikaze เรามาช่วยดูเรื่องเนื้อเพลงทั้งหมด มีเวลาสามเดือนก่อนเปิดค่าย มีศิลปินประมาณสิบเบอร์ โฟร์-มด, หวาย, เฟย์ ฟาง แก้ว, K-OTIC, ขนมจีน, มิล่า, Siska, Chilli White Choc เราต้องทำมินิอัลบั้ลสิบอัลบั้ม อัลบั้มละห้าเพลง ข้อเสียคือเราล่กมาก ข้อดีคือเราไม่ต้องคิดมาก เพราะงานทุกอย่างถูกคุมโดยเราทั้งหมด สิ่งที่เราได้จากการทำ Kamikaze คือเราจับงานถูก เรารู้ว่าเราจะสร้างงานยังไงให้ตอบโจทย์ โดยไม่ต้องนั่งนอยด์ว่าเพลงจะฮิตมั้ย เพลงจะดังมั้ย 

การนอยด์เป็นพิษร้ายที่สุดของนักแต่งเพลง ถ้าเรามีคำถามกับตัวเองว่ามันจะดีมั้ยวะ คำนี้น่ากลัวมาก แล้วใครจะตอบเราได้ ถ้าเพลงมันยังไม่ออก พอเราหาวิธีคิดเจอเราก็ไม่นอยด์ ดีมั้ยวะ ดีสิ, ฮิตมั้ยวะ ไม่รู้ ไม่สน

วิธีนั้นคืออะไร

ตอนนั้นเราตัดคำว่าเพลงฮิตออกจากหัวทันที ไม่มีจริงสำหรับเรา 

แต่ก่อนเราจะเขียนเพลงด้วยการตั้งให้มันเป็นเพลงฮิต ทำยังไงคนถึงจะชอบ เขียนเพลงยังไงให้คนชมว่าเราเก่ง พอเราผ่านทุกอย่างมามันเปลี่ยนหมดเลย กลายเป็นว่าเราทำเพลงยังไงให้ตอบโจทย์ในเวลาอันเหมาะสม เรารู้ว่าบริษัทเพลง ค่ายเพลง ธุรกิจเพลงต้องการอะไรแล้วเราต้องทำอะไร ไม่ใช่ทำจากความฝัน หน้าที่ของเราคือเขียนเพลงให้ตรงโจทย์มากที่สุด มันเป็นวิธีคิดแบบสถาปัตย์หมดเลย Form Follows Function แปลนคืออะไร วางให้ตรงที่สุด หลังจากนั้นการออกแบบจะสวยหรือไม่สวยขึ้นอยู่กับผสมผสานระหว่างศิลปิน เทรนด์ จังหวะ เมโลดี้ ดนตรี ทุกอย่างมันจะส่งเอง เราไม่ต้องแบก

สิ่งที่เราทำไม่อยากใช้คำว่าแต่งเพลง เราอยากเรียกว่ามันคือการแก้ปัญหาให้กับเพลงทุกเพลง ซึ่งเราใช้เวลาโคตรนาน นานมากในการเดินทางมาเจอสิ่งนี้

นานที่ว่า กี่ปี

เราใช้เวลาเดินทางสิบห้าปีถึงจะกลับมาอยู่ที่จุดที่เราควรจะเริ่มต้น นานมาก ด่าตัวเองนะ โง่อยู่ตั้งนาน ทั้งที่มันอยู่กับเราตั้งแต่วันแรก เรานึกถึงวันที่เราเป็นเด็กสถาปัตย์ เรารู้อยู่แล้วว่าวิธีคิดเป็นแบบนี้ การเขียนเนื้อเพลงมันคืออันนั้นเลย 

เขียนเพลงแบบ Form Follows Function ตอบได้ทุกข้อสงสัยเลยหรอ

ทุกอย่าง แต่เวลาเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความเร็จ แต่อย่างน้อยตรรกะมันถูก เราให้ความสำคัญกับอันนี้ เมื่อไหร่ที่ต้องใช้ศิลปะมากกว่ามาร์เก็ตติ้ง ก็ใช้ เมื่อไหร่ต้องใช้มาร์เก็ตติ้งนำ ก็ใช้ 

วันก่อนลูกสาวเราโพสต์ทวิตเตอร์ ปกติเรากับลูกสาวจะเก๊ก ไม่ค่อยคุยกัน เป็นครั้งแรกที่เขาพูดถึงเพลงที่เราทำ เราเข้าไปดูนะ คนชมก็ปกติ แต่มีคนหนึ่งพูดว่า รู้มั้ยคะว่าเพลงของคุณเป็นแกนในการดำเนินชีวิตของหนูตอนเป็นวัยรุ่น อ่านแล้วขนลุกมาก น้ำตาจะไหล นี่คือสิ่งที่เราคิดเมื่อสิบปีที่แล้ว เด็ก Pre-Teen คือทาร์เก็ต เขาจะรู้มั้ยว่าเพลง Kamikaze ที่เราเขียนไม่มีเนื้อเพลงเด็กเลยนะ ไม่บอกว่าความรักคืออะไร เราซัดความรักจริงจัง เป็นรูปธรรม แต่ไม่โตเกินไปเท่านั้นเอง แล้วเด็กคนนั้นรับรู้ แต่ที่ตื่นเต้นที่สุดคือเขารู้ว่านั้นคือแกนวิธีคิด เราใส่ศิลปะในการคิดให้เขาต่อยอด ถ้าเขาจับทางได้มันจะพาไปสู่ความคิดอื่นได้ มันคือวิธีคิดแบบสถาปนิก สร้างจากสิ่งของ รีเสิร์ชมาเป็นเนื้อหา เป็นแปลน จนเป็นรูปร่าง 

แล้วปกติคุณเขียนเพลงที่ไหน 

ในรถ จากปากซอยถึงบ้านระยะทางประมาณสองสามกิโลฯ เราใช้เวลาตรงนั้นครึ่งชั่วโมง

จอด

ขับบ้าง จอดบ้าง ในรถมันดีเพราะเป็นพื้นที่ปิด มีเครื่องเสียง มีพื้นที่ให้เราอยู่กับมันแล้วเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ไม่มีพื้นที่แบบไหนที่เป็นแบบนี้ได้อีกแล้วในโลก เรามีลูกสาวสามคน เวลารับส่งลูกไปโรงเรียนเราก็แต่งเพลงบนรถกับเขา หลายเพลงเขาก็มีส่วนร่วมนะ อย่าง รักติดไซเรน เขาก็ช่วยคิด ช่วยด้วยความรำคาญ เปิดเดโม่อยู่นั่นแหละ (หัวเราะ) 

แกะสูตรเขียนเพลงด้วยหลักสถาปัตย์ของ ก๊อป โปสการ์ด ผู้ปั้นศิลปิน RS ยุค 90 Kamikaze และรักติดไซเรน, ก๊อป-ธานี วงศ์นิวัติขจร

คุณใช้เวลาเขียนเพลง รักติดไซเรน นานแค่ไหน

ยี่สิบนาที ไม่ได้บอกว่าเราเก่งนะ แต่มันเป็นงานที่เราชำนาญอยู่แล้ว ต้องชมการวางโปรดักชัน เมโลดี้เขาสร้างมาดี ด้วยความที่เป็นเพลงประกอบซีรีส์ เขาให้โจทย์ทุกอย่างมาหมดแล้ว เราใช้แค่ทักษะการเขียน ยิ่งตอนหลังเขาบอกว่าอยากได้เพลงแบบ Kamikaze อืม เขียนยังไงมันก็เป็น

ลายเซ็นในการเขียนเพลงของก๊อป โปสการ์ด เป็นแบบไหน

หลักการเขียนเพลงของเราจะไม่สร้างพิษร้ายให้กับสังคมเด็ดขาด เราตั้งทัศนคติว่าต้องเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ยุยงให้เขาทำอะไรที่ไม่ดี อย่างท่อน “ห่างกันสักพัก ห่างกันสักพัก เพื่อจะไปรักคนอื่นมากกว่า” มีความพลิกแพลงแบบที่เด็กวัยรุ่นชอบ เป็นศิลปะในการเขียน เป็นการเหลาหัวให้เด็ก ให้เขาได้ลองคิดพลิกแพลง ส่วนใหญ่เด็กฟังเพลง Kamikaze เพราะฉลาด ไม่ใช่ผู้หญิงที่ยอมเธอทุกอย่าง ถ้าไม่ได้ก็สวนเลย เสียใจแต่ไม่แคร์ ก็เป็นเพลงที่มีศิลปะในการพูด

ทัศนคติในการสร้างเพลงของเราไม่เคยต่างกันเลย เราไม่ปิดกั้น เราชอบฟังเด็กคุยกัน ไม่ได้ตั้งใจไม่แก่หรือไม่โตนะ เราคุยกับเขาแล้วรู้สึกเป็นเขา เราต้องปรับตัวเข้าไปหาจุดนั้นให้ได้ ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการทำงานของเรา

ก๊อป โปสการ์ด เดินไปทางไหนหลังหมดยุค Kamikaze

เราทำ Kamikaze อยู่เจ็ดถึงแปดปี มาอยู่แกรมมี่อีกสองปี เหมือนเดิม เหมือนทุกครั้งที่เราเปลี่ยน เราจะเลิกทุกครั้ง ตอนนั้นเป็นการเลิกที่เรามั่นใจในทุกสิ่งทุกอย่าง จนวันหนึ่ง ต่อ (ธรรศ จันทกูล – หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการสายงานดูแลพัฒนาศิลปินค่ายเพลง BH BrickHouse) เขาเป็นคนสำคัญที่ทำงานกับเรามาตลอด เข้าใจความคิดเราทั้งหมด หลายงานของเราเขามีส่วนช่วยเยอะมาก เขามีหัวก้าวหน้ากว่าเรา ต่อบอกเราว่า วันนี้วงการเป็นแบบนี้ เราทำเพลงเองได้ โอกาสมันมี เราสร้างเองได้ เขามองเห็นศักยภาพในตัวเรา 

เลยชวนกันทำค่ายเพลง

แนวทางของเราหมุนไปกับโลกอยู่แล้ว พอถึงวันที่เราทำค่าย BH BrickHouse นาทีแรกเราก็คิดแบบนั้น เราไม่ได้คิดเหมือนตอนที่เราอยู่ในค่าย วันนี้เด็กทำเพลงเองได้เพราะโซเชียลสอนให้พวกเขามีความรู้มากกว่าสมัยเรา จะไปวัดว่าเด็กสิบสองทำได้เท่านี้ไม่ได้แล้ว เด็กมีแพสชันกันเยอะมาก เขารู้เส้นทางของตัวเองว่าอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร ไม่เหมือนตอนเราเป็นเด็กที่มีแต่ความอยาก เราจะเป็นโปรดิวเซอร์ที่เอาเขามาใส่ในกรอบแล้วให้เดินตาม ไม่ได้ คุณจะเป็นศิลปินต้องหน้าดี ไม่ใช่ สำหรับเราทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันหมด ถ้าคุณมีแพสชัน มีความตั้งใจ มันจะมีทางของคุณ โลกทำให้ทุกคนเป็นไปได้

จากเด็กที่เติบโตมากับอุตสาหกรรมเพลงไทยจนเป็นผู้ร่วมก่อตั้งค่ายเพลง คุณมองเห็นอะไรบ้าง 

ทุกอย่างเหมือนเดิม อยู่ที่เดิม 

ไม่แตกต่างเลยหรอ

มันคือเรื่องเดิม คนฟังเพลงด้วยความสุข เนื้อหาตอบสนองอะไรบางอย่าง จากเครื่องเล่นแผ่นเสียงเป็นซีดีเป็นสตรีมมิ่ง โลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน แต่สิ่งที่สื่อสารยังเหมือนเดิม เพลงรักยังพูดเหมือนเดิม จะพูดเรื่องแอบรักเพื่อนของเพื่อนของเพื่อน มันไม่มี ความรักอยู่แค่ฉันแอบรักเธอ ฉันรักเธอแต่เธอไม่รักฉัน ฉันไม่รักเธอแต่เธอดันมารักฉัน มันวนอยู่แค่นี้ พูดยังไงดี เหมือนนักบินอวกาศที่ไปดวงจันทร์กลับมาบนโลกเขาก็เป็นคนเหมือนเดิม

แกะสูตรเขียนเพลงด้วยหลักสถาปัตย์ของ ก๊อป โปสการ์ด ผู้ปั้นศิลปิน RS ยุค 90 Kamikaze และรักติดไซเรน, ก๊อป-ธานี วงศ์นิวัติขจร

แล้ว BH BrickHouse เป็นค่ายเพลงสำหรับใคร

สำหรับทุกคน เรารับทุกอย่างที่เป็นไปได้มาพัฒนา เราเป็นค่ายที่ไม่กั๊กศิลปินเก็บไว้ เราช่วยส่งเสริมศิลปิน สร้างอะไรก็ได้ที่เป็นประโยชน์กับงานและศิลปินให้ได้มากที่สุด ศิลปินค่ายเราไม่จำกัดรูปแบบ แต่ต้องมาจากตัวศิลปิน เขาเป็นใคร อยากทำอะไร ต้องชัดเจนในตัวเขา หรือบางคนเป็นศิลปินมีชื่ออยู่แล้วก็มีอย่าง Gliss ดังเลยนะ เพลง ถอย ยอดวิวเขาเยอะมาก แต่เราไม่ได้มองเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่การที่เขาประสบความสำเร็จมาจากการที่เราวางทุกอย่างถูก 

เป็นค่ายที่พยายามพาเด็กไปถึงฝัน

ใช่ ทุกอย่างมีการเติบโต มีความผิด มีความสำเร็จ เป็นเรื่องปกติ เราไม่กลัวถ้าเขาจะต้องผิด เพราะเราผิดมามากกว่าถูก แต่เรารู้ว่าความผิดในวันที่มันถูก มันจะมีค่ามากๆ มีค่าจริงๆ 

ความผิดสอนอะไรคุณบ้าง

อะไรไม่ควรทำ อะไรที่มันเสียเวลา มันช้า มันอ้อม อย่าทำ แต่บางทีความผิดมันก็ดี ต้องลองผิดดู จะได้แข็งแรง

ด้วยความแก่และอยู่มานานเลยเข้าใจ (หัวเราะ) เราว่า Key Success ของเราคือความล้มเหลว ความเจ็บปวดตลอดห้าปีที่นั่งมองเขาเขียนเพลงฮิตกัน แต่เราไม่มีโอกาส กลายเป็นว่าเราได้ศึกษา ได้เข้าใจการเปลี่ยนแปลง 

ทำไม BH BrickHouse ถึงสอนให้เด็กทำทุกอย่างเป็นตั้งแต่ขั้นตอนแรก

โลกทุกวันนี้มันเป็นแบบนี้ ศิลปินที่จะประสบความสำเร็จได้ต้องยืนด้วยความแข็งแรง รู้ก็ต้องรู้รอบทิศ เราสร้างจากเมล็ดพันธุ์ เน้นให้เขาคิด ให้เขาสนุกกับการคิด หน้าที่ของเราแค่ทำตามสิ่งที่เขาเป็นและให้โอกาสเขาทำ ค่ายเราสร้างศิลปินให้มีส่วนร่วมกับงาน ปั้นให้เขาเป็นคนที่เข้าใจงานเบื้องหลัง จะทำงานกับใครขอให้มีวิธีการทำงานที่ตรงเป้าหมาย ศิลปะมีได้ บางเพลงติสท์แตกแล้วมันฮิต คุณก็ต้องรู้วิธีที่จะทำมันด้วย และต้องไม่ลืมว่าคุณสร้างอะไรให้กับสังคมบ้าง ทางตรงคือเพลงทำให้คนมีความสุข ทางอ้อมคือการสร้างคน สร้างศิลปิน 

การมีตัวตนสำคัญกับเด็กยุคนี้ขนาดไหน

สำคัญมาก เขาต้องสร้างตัวเอง ถ้าไม่มีตัวตนเขาจะรู้สึกแปลกแยก อย่าง RedSpin เป็นเกิร์ลกรุ๊ปที่เราไม่ได้คัดเลือกเด็กจากการชนะประกวด แต่เราคัดเลือกจากเด็กที่มีตัวตน เราเห็นแล้วนึกออกว่าคนนี้เป็นใคร ไม่ถามด้วยซ้ำว่าเขาร้องเพลงเป็นหรือเปล่า แต่เขามองหน้าเราแล้วตอบคำถามได้ทุกข้อ เขารู้จักตัวเอง รู้จักวิธีหันเสน่ห์ของตัวเองออกมา ซึ่งมันสำคัญสำหรับเราและค่ายในการที่จะสร้างเกิร์ลกรุ๊ปขึ้นมา มาถึงวันนี้เราถือว่าเขาประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก มีฐานแฟนคลับ ตัวตนแต่ละคนชัด เป็นที่พูดถึง เป็นที่รู้จัก มีคนเอาเพลงไปคัฟเวอร์ เพราะมันมีกำแพงอยู่ว่าต้อง K-pop เราว่าในใจลึกๆ ทุกคนก็อยากได้เพลงไทย บางครั้งเราแค่ยังจูนกันไม่ตรง เราเลยพยายามจูนให้ตรงกับคนฟัง คำตอบมันไม่ใช่เพลงที่เลิศเลอด้วยซ้ำ แต่เป็นเพลงที่มันพอดี มีความเป็นไทย แต่ยังอินเตอร์ ซึ่ง RedSpin เป็นตัวแทนของเด็กวันนี้

คุณทำค่ายเพลงในยุคที่เด็กเป็นศิลปินได้เองจากบ้าน

เป็นมาตั้งนานแล้ว แต่คนไม่เชื่อว่าเป็นไปได้ วันนี้โลกเปิดโอกาสให้คนทำเพลงเอง แค่ต้องเริ่มจากตัวเขาว่ามีอะไร สมมติตอนบ่ายสามจุติความคิดว่าอยากเป็นศิลปิน สี่ทุ่มลงเพลง เกิดเหวี่ยงถูก ห้าทุ่มดังแล้ว เช้ามาเป็นศิลปิน อีกสามวันคนติดต่อไปเล่นคอนเสิร์ต แบบนี้มีข้อดีนะ งานเกิดเร็ว เด็กปล่อยของได้เยอะ ส่วนข้อเสียคือควบคุมไม่ได้ บางคนดังแล้วหาย ทั้งที่เขาโตกว่านั้นได้อีก ถ้ามีคนมาดูแล ซึ่งก็คือค่าย เราจะพาไปได้ไกลกว่านั้น จะรีดศักยภาพออกได้มากกว่านั้น 

ทำค่ายเพลงมาสามปี มองอนาคตไว้แบบไหน

เราพยายามจะยืนอยู่ในที่ที่เป็นประโยชน์ที่สุด เสถียรที่สุด และทำประโยชน์ให้กับประเทศ ใหญ่ไปหรือเปล่านะ แต่เราคิดใหญ่แบบนี้ตลอดเวลาจะทำอะไร ตอนนี้เราสร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง ให้กับค่าย ให้กับศิลปิน เราอยากสร้างประโยชน์ให้กับวงการมากกว่านี้ เหมือนที่ The Rapper, Rap is Now สร้างฮิปฮอป เราเห็นเด็กซ้อมเต้นตามโรงเรียน ตามบันได แล้วเด็กพวกนั้นเขาจะไปไหน เขาจะทำอะไร เราช่วยเขาไม่ได้เลย อยากให้มีแนวทางสักอย่างที่เขาเดินไปได้ เราว่าวันหนึ่ง BH BrickHouse จะทำได้ เราจะเป็นที่ที่ดีที่สุด เป็นที่พึ่งของวงการ พูดแบบนี้อย่าหมั่นไส้กันนะ (ยิ้ม)

เราไม่ได้อยากจะใหญ่ แต่เราอยากเป็นประโยชน์กับทุกคน เราไม่เคยมองใครเป็นคู่แข่งเลย มันอยู่ในความคิดเรามานานแล้ว เพลงไม่ใช่การแข่งขัน ถ้ามองกลับไปที่เกาหลี เขาแข่งกันมั้ย ถ้าได้ก็ได้กันทั้งหมด ภาพรวมก็เป็น K-pop อยู่ดี 

จากคนฟังเพลงสู่คนเขียนเพลงและวันนี้ วันที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งค่ายเพลง ความสุขของคุณคืออะไร

ทั้งหมดที่พูดมา (หัวเราะ) 

คนฟังมีความสุขกับการฟังเพลงเราก็มีความสุขแล้ว จริงนะ ไม่ได้พูดเอาหล่อ ความฮิตมันแค่ปลายทาง แต่เมื่อไหร่ที่คนฟังเขาตอบรับ แค่นั้นเรารู้สึกดีแล้ว เหมือนกับการทำค่ายเพลง ความสุขของเราคือการสร้างคน

ก๊อป โปสการ์ด เรียกตัวเองว่าเป็นนักแต่งเพลงแล้วหรือยัง 

ไม่เคยคิดว่าเป็นนักแต่งเพลง 

แล้วคุณเป็นใคร 

เป็นคนที่ทำอะไรตามใจตัวเอง (หัวเราะ)

แกะสูตรเขียนเพลงด้วยหลักสถาปัตย์ของ ก๊อป โปสการ์ด ผู้ปั้นศิลปิน RS ยุค 90 Kamikaze และรักติดไซเรน, ก๊อป-ธานี วงศ์นิวัติขจร

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)