15 พฤศจิกายน 2021
1 K

สิ้นหวัง หดหู่ เศร้าโศก เหนื่อยล้า ผิดหวัง เสียใจ เกรี้ยวโกรธ

คงเป็นมวลอารมณ์ของประชาชนที่ปกคลุมทั่วประเทศในช่วงปีที่ผ่านมา จากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเหตุการณ์บ้านเมืองที่มีข่าวร้ายต่อเนื่องในหลากหลายประเด็น บ้างเกิดเพราะตัวบุคคล บ้างเกิดเพราะปัญหานโยบายหรือการออกแบบเชิงโครงสร้าง วันใดที่คิดว่าคงไม่แย่ไปกว่านี้ วันต่อมามักมีเรื่องให้ปวดขมับ กลุ้มใจไปกว่าเดิม จะไปหาความหวังได้จากแห่งหนใด 

งาน Good Society Summit 2021 ขอเป็นคำตอบนั้น 

หลังจากนัดหมายรวมพลคนทำงานเพื่อสังคมผ่านอีเวนต์ประจำปีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2556 ปีนี้ Good Society หรือเครือข่ายสังคมดีกลับมาอีกครั้ง แม้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบงานยกใหญ่เป็นทางออนไลน์ แต่จุดมุ่งหมายของการรวมพลังคนที่แตกต่างหลากหลายมาร่วมสร้างสังคมที่ดีขึ้นยังคงเดิม

มองผิวเผิน อาจดูเป็นอีกหนึ่งอีเวนต์ที่ชวนคนมาแลกเปลี่ยนแล้วจบไปเฉยๆ แต่จริงๆ Good Society คือระบบนิเวศที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 100 กว่าองค์กรและ 120 โครงการ ไม่ว่าจะสนใจปัญหาสังคมเรื่องอะไร เครือข่ายนี้จะช่วยให้คุณพบเจอผู้คนและเครื่องมือที่ทำให้ขับเคลื่อนง่ายขึ้น Learn, Take Action และ Scale Impact ได้อย่างไม่โดดเดี่ยวอ้างว้าง

ธีมของงานปีนี้คือ ‘Hope in Crisis ในวิกฤตยังมีหวัง’ ที่ตั้งใจจุดประกายความหวังที่จับต้องได้ ไม่ล่องลอยไร้วี่แววจะเป็นจริง สื่อสารผ่านเวทีระดมความร่วมมือ 3 เวทีใหญ่ ที่ชวนคุณมาร่วมเรียนรู้ไปพร้อมวิทยากรกว่า 50 คน และอย่างน้อย 36 กิจกรรมที่เข้าร่วมและลงมือทำได้ตลอดทั้ง 3 วัน จัดขึ้นในวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายนนี้ที่เว็บไซต์ Good Society ส่วนตัวแพลตฟอร์มจะเปิดให้ใช้งานเพื่อสร้างความร่วมมือต่อไป

The Cloud มีโอกาสพูดคุยกับ 4 ตัวแทนสมาชิกที่ทำงานขับเคลื่อน Good Society เครือข่ายสังคมดี มาตั้งแต่ปีก่อนๆ เพื่อถอดรหัสการสร้างสรรค์งานรูปแบบใหม่ในปีนี้ ในวันที่คอนเทนต์ออนไลน์ล้นโลก และอนาคตของประเทศดูจะยังไม่ชัดเจนเสียเท่าไร 

ความหวังและการลงมือทำคือพลังที่ทำให้คนเรามีชีวิตอยู่ต่อ พร้อมรับมือกับวิกฤตที่รายล้อม

ขอชวนคุณร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความหวังพร้อมกับพันธมิตรอีกนับร้อยของ Good Society ไปด้วยกัน

สักวัน เราจะมีสังคมที่ดีขึ้นอย่างเท่าทวี

รวมพลคนทำเพื่อสังคมที่เชื่อว่าในวิกฤตมีความหวัง และทางแก้

Good Society คือผู้คน

ย้อนกลับไป 8 ปีก่อน Good Society หรือเดิมชื่องาน ‘คนไทยขอมือหน่อย’ เกิดขึ้นจากกลุ่มคนหลายภาคส่วนที่มีความฝันร่วมกัน

“สังคมที่อยู่ดีมีสุขเป็นสิ่งที่ผู้คนต่างพึงประสงค์ แต่เรายังมีวิกฤตและเรื่องท้าทายอยู่อีกเยอะ จะให้รอใครแก้เรื่อยๆ ก็คงไม่ได้ ต้องมีพื้นที่ที่ชวนคนที่มีประสบการณ์ในประเด็นสังคมต่างๆ มาตั้งเป้าหมาย แสวงหาต้นแบบ ลงมือทำและขยายผลเพื่อพัฒนาสังคม” วิเชียร พงศธร หนึ่งในคณะทำงานของ Good Society กล่าวถึงเจตนารมณ์ของทีมที่เน้นเรื่องความร่วมมือตั้งแต่แรก

“การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมีอัศวินขี่ม้าขาว สังคมเป็นเหมือนป่าที่จะสมบูรณ์ต่อเมื่อต้นไม้ที่หลากหลายเติบโตและเกื้อกูลกัน ไม่มีใครเป็นหัวหน้าหรือเจ้าของเพียงผู้เดียว Good Society จึงต้องการสร้างระบบนิเวศของการทำเพื่อสังคม” ธวัชชัย แสงธรรมชัย ผู้สร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมที่เข้ามาร่วมคิดงานนี้ตั้งแต่ครั้งแรกๆ เสริม

ที่ผ่านมา คนอาจติดภาพการมีใครสักคนเป็นเจ้าภาพงาน และแบ่งแยกการแก้ปัญหาแต่ละเรื่องออกจากกันอย่างชัดเจน แต่ Good Society ต้องการสื่อสารว่าทุกปัญหานั้นเชื่อมโยง ส่งผลกระทบถึงกันหมด บางอย่างเกิดจากต้นเหตุเดียวกัน ทำไมถึงต้องไปจัดวงเสวนาแยก มาคุยด้วยกันเลยดีกว่า

หนึ่งในตัวอย่างงานที่แจ้งเกิดเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และสะท้อนความเชื่อของเครือข่ายได้เป็นอย่างดีคือ Limited Education ที่เอเจนซี่นักเล่าเรื่องซึ่งนำโดย พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ต่อเนื่องติดต่อกัน 5 ปี ชวนแบรนด์มาสร้างสินค้าเวอร์ชันลิมิเต็ด นำรายได้ไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำทั้งการศึกษา ซึ่งมีหลากหลายผู้เล่นจนคนไม่รู้ว่าใครเป็นคนต้นคิด

แต่นั่นคือเป้าหมาย ไม่ใช่ว่าใครทำ แต่ร่วมมือกันแล้วเกิดผลกระทบอะไรบ้าง

รวมพลคนทำเพื่อสังคมที่เชื่อว่าในวิกฤตมีความหวัง และทางแก้

“เรายินดีกับสิ่งนี้มาก แนวคิดนี้ช่วยเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ และทำให้เห็นว่าจริงๆ คนอยากทำงานที่มีความหมายเยอะมาก มีคนที่ขายของแล้วช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในแบบที่เขาทำได้ ถ้าไม่มีพื้นที่และความเชื่อที่ว่ามา เราก็อาจไม่เห็นความร่วมมือแบบนี้” พิริยะเล่า 

และในงานปีนี้ คุณจะได้พบคนที่คิดแบบนี้เต็มไปหมด 

Hope in Crisis

เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความเสียหายและเปิดเผยฝุ่นใต้พรมที่ทับถมมานานนมของสังคม คณะทำงานรวมตัวกันอีกทบทวนโจทย์เพื่อจัดงานครั้งใหม่ ทั้งในแง่เนื้อหาและรูปแบบ

“ช่วงปีที่ผ่านมา คนสิ้นหวังกันเยอะมาก มีคนล้มตายข้างถนน เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ธุรกิจทรุด เกิดความขัดแย้งทางการเมืองและช่องว่างระหว่างวัย ปัญหาต่างๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ทำให้เรายังมีแรงทำงานอยู่ทุกวันนี้ คือพลังที่เกิดจากความเชื่อว่าสังคมนี้ยังมีหวัง เป็นที่มาของธีม Hope in Crisis ในวิกฤตยังมีหวัง

“แต่จะหวังลมๆ แล้งๆ ก็ไม่ได้เหมือนกัน ต้องทำให้ความหวังจับต้องได้จริง จากความเชื่อตรงนี้ เราทำงานกับหลายภาคี ชวนคนมาแบ่งปันประสบการณ์ สร้างกลไกการมีส่วนร่วมให้คนได้ลงมือทำ ไม่ว่าใครสนใจประเด็นอะไร บางคนอาจกระซิบ บางคนตะโกนดุ แต่ละคนมีวิธีการและน้ำเสียงของตัวเอง แต่เราอยากจะสื่อสารวลีนี้ให้แก่สังคม” พิริยะอธิบายคีย์เวิร์ดสำคัญ การลงมือทำมีหลายระดับ พื้นที่นี้จะเปิดต้อนรับให้คนเข้ามาร่วมสร้างความหวังให้ผู้อื่นในแบบของตัวเอง

ส่วนรูปแบบงานต้องปรับเป็นทางออนไลน์อย่างเลี่ยงไม่ได้ นับเป็นเรื่องท้าทาย แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดประตูให้เข้าถึงกลุ่มคนวงกว้าง สื่อสารได้ด้วยท่าทีที่แปลกใหม่ ไม่ถูกจำกัดด้วยพื้นที่กายภาพและพิธีรีตองแบบเดิม

รวมพลคนทำเพื่อสังคมที่เชื่อว่าในวิกฤตมีความหวัง และทางแก้

“จริงๆ ประเทศนี้มีคนทำงานเพื่อสังคมเยอะ แต่ขาดทรัพยากรที่จะขยายผลในสิ่งที่ทำ ในขณะเดียวกัน เรามีคนหรือเครือข่ายที่มีทรัพยากร ทั้งเงินทุน แรงงาน ทักษะ และพร้อมช่วยเหลือสังคม แต่คนสองกลุ่มนี้อาจหากันไม่เจอ 

“ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เราสร้างจะรวมข้อมูล ช่วยให้คนเห็นว่าใครกำลังทำงานอะไรอยู่ เขามีทรัพยากรอะไร ต้องการการสนับสนุนแบบไหน เชื่อมต่อกันได้ไหม เป็นเหมือนหน้าฟีดของโซเชียลมีเดียให้เราเลือกดู พอเป็นแบบนี้ แต่ละฝ่ายน่าจะเจอคนที่ใช่และร่วม Take Action ได้ง่ายขึ้น” พัดชา มหาทุมะรัตน์ จากมูลนิธิเพื่อคนไทย หนึ่งในสมาชิกเครือข่าย เล่าถึงข้อดีอีกประการของแพลตฟอร์มออนไลน์​ และแนวคิดของการจัดงานที่จะไม่เป็นเพียงการจัดแล้วจบเลย 

เมื่อเข้าไปที่เว็บไซต์ นอกจากการยกระดับการสร้างสังคมดี (Scale Impact) ผ่านการเชื่อมต่อเป็นคอมมูนิตี้ ยังมีกิจกรรมอีก 2 รูปแบบที่รอต้อนรับทุกภาคส่วนคือ เรียนรู้ (Learn) และลงมือทำ (Action) 

รวมพลคนทำเพื่อสังคมที่เชื่อว่าในวิกฤตมีความหวัง และทางแก้

ร่วมเรียนรู้

ในส่วน Learn จะชวนคนมาเรียนรู้ผ่าน 3 เวทีระดมความร่วมมือ (Forum) ใน 3 วัน ประกอบด้วย

หนึ่ง เวที Social Enterprise Thailand Forum 2021 (19 พ.ย.) รวมพลผู้ประกอบการเพื่อสังคมและหน่วยงานสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศไทยไว้ในที่เดียว แลกเปลี่ยนกันเพื่อผลักดันธุรกิจที่คิดคำนึงถึงสังคม ให้เติบโตและสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน พร้อมด้วยเวิร์กชอปที่คุณจะได้เรียนรู้การทำงานของ Social Enterprise อย่างครอบคลุม โดยภาคีของสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม (SE Thailand)

สอง แผนปฏิบัติการธรรมาภิบาลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Governance for Sustainable Development Forum หรือ GSDF จัดวันที่ 20 พ.ย.) ชวนระดมสมอง หารือเรื่องการสร้างเสริมธรรมาภิบาลใน 7 ภาคส่วน คือ ภาคการเงินการธนาคาร ภาคตลาดทุน (เน้นสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน) การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐและ Open Data ระบบรัฐสภา ภาคป่าไม้ ภาคสื่อมวลชน และสื่อบุคคล

คุณจะได้เรียนรู้ร่วมกับสมาชิกของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สถาบันพระปกเกล้า และมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา 

และสาม แผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาทางสังคมของประเทศไทย (Thailand Social Development Forum หรือ TSDF จัดวันที่ 21 พ.ย.) ร่วมหารือใน 5 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ สาธารณสุข การศึกษา ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาตัวชี้วัดความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคมไทย และการลงทุนทางสังคม ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่ภาคีหลากหลายฝ่ายร่วมกันจัดเพื่อหาทางออกให้สังคม

“ในแต่ละเวที เราพยายามจะไม่เอาผู้รู้คนใดคนหนึ่งมาบอกว่าสังคมต้องทำอย่างนี้ แต่ชวนคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมกันเป็นเจ้าของงาน” วิเชียรย้ำแนวคิดสำคัญที่จะช่วยให้เราพบทางออกใหม่ที่สร้างสรรค์และตอบโจทย์ประชาชน

รวมพลคนทำเพื่อสังคมที่เชื่อว่าในวิกฤตมีความหวัง และทางแก้

ร่วมลงมือทำ

ในส่วน Action จะมีกิจกรรมที่ให้ลงมือทำจริง จัดร่วมกับภาคีภาคสังคมกลุ่มต่างๆ และอินฟลูเอนเซอร์ผู้ช่วยกระจายความคิด แบ่งเป็น 4 ประเด็นทางสังคม (Pavillion)

“ทีมงานเริ่มจากปัญหาที่วิกฤตอย่างชัดเจน แล้วดูว่ามีความเป็นไปได้ใหม่จากทรัพยากรที่มี เข้าไปถามคนที่ทำประเด็นนั้นว่าช่วงนี้เขาเจออะไรบ้าง แล้วพยายามใช้ความสร้างสรรค์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยติดอาวุธและสื่อสารให้ทวีคูณขึ้น” พิริยะเล่ากระบวนการทำงานที่ภาคีหลายฝ่ายมาระดมกันช่วยออกแบบ พร้อมยกตัวอย่างกิจกรรมเด่นของแต่ละประเด็นให้เราเห็นภาพ (ยังมีกิจกรรมและเวิร์กชอปแยกย่อยอีกเพียบ)

ประเด็นแรกคือการศึกษาและเยาวชน

ทีมงานคุยกับเทใจดอทคอม และเห็นปัญหาเรื่องขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ เด็กนักเรียนขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษามากกว่า 270,000 คน หนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นจึงเป็นแคมเปญ Class Buddy  โดยเทใจดอทคอมร่วมกับเครือข่ายร้อยพลังการศึกษา ชวนผู้เชี่ยวชาญ 8 ศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงความรู้ของผู้คนในสังคม มาเป็นวิทยากรแบ่งปันวิชา ร่วมเข้าเรียนได้โดยการบริจาคเงินเริ่มต้นที่ 500 บาท เพื่อจัดหาอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ให้เยาวชน

สอง คือสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน สื่อสารร่วมกับประเด็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Eco Tourism) จากที่การท่องเที่ยวซบเซาถึงขีดสุด ชุมชนและธุรกิจล้มกันเป็นแถบ 

“คนไม่ได้เที่ยวกันมานานมาก พอเปิดประเทศเมื่อไรอาจทนกันไม่ไหว เราจะสื่อสารว่าถ้ากลับมาเที่ยวกันแล้ว เที่ยวอย่างไรให้ยั่งยืน หนึ่งในคนที่เราไปชวนคือ คุณโจโฉ-ทรงธรรม สิปปวัฒน์ ยูทูเบอร์สายสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว ลงพื้นที่ในภาคี พูดคุยเจาะลึกประเด็น และสื่อสารให้คนอยากรักษาธรรมชาติให้คงไว้อย่างงดงาม” 

กิจกรรมในส่วนนี้ยังชวนคนทำงานตัวจริงอย่างจากสายการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมอย่าง มูลนิธิเอ็นไลฟ ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) อุทยานแห่งชาติแม่วงก์, Local Alike และภาคี มาร่วมจุดประกายให้คนคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วยความเข้าใจ

สาม คือสุขภาพกายและใจ 

2 ปีที่ผ่านมามีคนสูญเสียคนใกล้ตัวแบบกะทันหันจำนวนมาก แต่ไม่สามารถร่วมงานศพตามปกติ เกิดเป็นความอัดอั้นเศร้าโศก Peaceful Death และ ชีวามิตร จึงจับมือกันมาชวนคุยเรื่องการเผชิญหน้ากับความสูญเสีย รับมือกับความตายที่อาจเกิดขึ้น ในงาน ‘เบาใจ Festival’ นำเสนอแนวคิดเรื่องมรณานุสติ เครื่องมือที่ชวนคุยบทสนทนาสุดท้าย และไลฟ์คุยร่วมกับช่องยูทูบเสือร้องไห้ 

รวมพลคนทำเพื่อสังคมที่เชื่อว่าในวิกฤตมีความหวัง และทางแก้

สุดท้ายคือประเด็นร้อนแรงอย่างสิทธิมนุษยชนและการต่อต้านคอร์รัปชัน 

“ปัญหาสังคมจะแก้ด้วยคนดีมีคุณธรรมอย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องแก้ที่โครงสร้างและระบบด้วย เรามีองค์กรอย่างองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT วิสาหกิจเพื่อสังคมโดยคนรุ่นใหม่อย่าง Hand Social Enterprise และสายเทคโนโลยีอย่าง Punch Up ที่เห็นพ้องกันว่า วิกฤตที่ผ่านมาคือรัฐบริหารจัดการงบประมาณได้ไม่ดี คำถามคือภาคประชาชนอย่างเราจะทำอะไรได้บ้าง ก็เจอว่ามีเครื่องมือที่เรียกว่า Participatory Budgeting

“ปกติเราต้องเลือก ส.ส. เป็นตัวแทนให้ไปตัดสินใจเรื่องงบในสภา ซึ่งเขาไปคุยอะไรกันข้างหลังบ้างเราไม่รู้ แต่ตอนนี้ต่างประเทศมีเครื่องมือนี้ให้คนโหวตได้ว่า ควรเอางบประมาณไปแก้เรื่องอะไร มีหลักฐานเป็นข้อมูลชัดเจน เราเลยคิดว่าสร้างแพลตฟอร์มนี้กันดีกว่า”

ทีมงานอาศัยจังหวะที่กำลังจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ในปีหน้า เป็นวาระดีที่จะใช้แพลตฟอร์มนี้อย่างเป็นรูปธรรม เปิดโหวตและชวนแคนดิเดตให้มาดูผล ถกกันว่าจะนำเสียงเหล่านี้ไปแปลงเป็นนโยบาย และจัดสรรงบประมาณของกรุงเทพมหานครใน พ.ศ. 2565 อย่างไรให้เห็นชัดๆ ไปเลย ก่อนจะนำโมเดลนี้ขยายไปใช้งานในต่างจังหวัดต่อ

4 ประเด็นนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมและหยิบยกนำมาพูดถึงเท่านั้น ใจความสำคัญของ Good Society Summit คือการสื่อสารให้คนเห็นพลังว่า ไม่ว่าจะปัญหาเรื่องใด เราพอมีเครื่องมือและเครือข่ายที่พร้อมช่วยแก้ไขปัญหานั้นอยู่ ก็ยังไม่น่าสิ้นหวังเสียทีเดียว

คุยกับเครือข่าย Good Society 2021 กับภารกิจสร้างความหวัง เชื่อมต่อคนทำงานเพื่อสังคม แก้ปัญหากลางวิกฤตร่วมกัน
คุยกับเครือข่าย Good Society 2021 กับภารกิจสร้างความหวัง เชื่อมต่อคนทำงานเพื่อสังคม แก้ปัญหากลางวิกฤตร่วมกัน

เพราะเราต่างอยากเห็นสังคมที่ดีขึ้นเหมือนกัน

“เนื่องจากประเด็น เนื้อหา และบุคคล มีหลากหลาย เราไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะต้องอยากรู้ทุกเรื่อง” วิเชียรกล่าวถึงความคาดหวังของงานที่จะเปิดตัวช่วงวันหยุดปลายปี 

“อยากให้คนเริ่มจากเรื่องที่ตัวเองสนใจ เห็นปัญหานี้แล้วทนไม่ไหว หรือมีทรัพยากรในด้านนั้นอยู่บ้างแล้ว เราจะไม่บีบบังคับหรือยัดเยียดทุกเรื่องให้เขา ทุกคนมีสิทธิ์เลือกสร้างการเปลี่ยนแปลงในแบบที่ทำได้ เมื่อเขาทำสักเรื่องหนึ่งสำเร็จ การขยายผลและเห็นความเชื่อมโยงต่อไปจะเกิดขึ้นเอง” 

เบื้องหลังการชักชวนภาคีต่างๆ นับร้อยที่ทำงานคนละเรื่อง มีทีมงานตั้งแต่วัยเรียนจนถึงวัยเกษียณ ให้มาร่วมมือ แสดงความคิดเห็น และจัดงานร่วมกัน ก็เกิดขึ้นจากแนวคิดนี้

“เราชักชวนคนโดยหาจุดเชื่อมต่อร่วมกัน หนึ่งในจุดสำคัญคือเป้าหมายที่อยากเห็นสังคมดีขึ้น ซึ่งกว้างพอจะเปิดให้ทุกคนทำสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ต่อ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร แค่มาเสริมหรือเชื่อมต่อกัน

“พอเชื่อมต่อกัน เขาก็รู้สึกว่ามีเพื่อน ไม่ได้คิดอยู่คนเดียว และพึ่งพากันจากความถนัดของตัวเอง ทำมาหลายปีก็เกิดการบอกต่อ ขายความฝันที่อยากเห็นเป็นความจริง จนวงเพื่อนกว้างขึ้นเรื่อยๆ” พัดชาเผยวิธีสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งมาอย่างยาวนาน และกำลังรอต้อนรับสมาชิกใหม่ในปีนี้อีกเพียบ

คุยกับเครือข่าย Good Society 2021 กับภารกิจสร้างความหวัง เชื่อมต่อคนทำงานเพื่อสังคม แก้ปัญหากลางวิกฤตร่วมกัน

ร่วมเป็น Active Citizen ที่ไม่สิ้นหวัง

ความสำเร็จของ Good Society คือการเห็นสังคมที่ดีขึ้นตามชื่อ 

แม้อาจวัดผลยากทางตัวเลข แต่ละประเด็นอาศัยเวลาสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดแตกต่างกัน แต่เข็มทิศนำทางสำคัญของพวกเขา คือการสร้าง Active Citizen หรือพลเมืองผู้มีส่วนร่วมและตื่นรู้

“ปกติเวลาทำงานการสื่อสาร เราอาจวัดผลกันที่ยอด Reach และ Engagement แต่จากที่ทำงานกับพี่ๆ หลายปีที่ผ่านมา ไม่มีใครมาตามจี้เราว่าแคมเปญนี้กี่ไลก์แล้ว แต่วัดในสิ่งที่สำคัญสำหรับเราหรือ Measure What Matters” พิริยะเล่าแนวคิดการวัดความสำเร็จที่คุยกันในทีม

“สิ่งที่เราย้ำกันตลอดคือ ปัญหาสังคมมีอยู่เรื่อยและต้องแก้กันต่อไป เรื่องสำคัญที่อยากวัดคือเราชวนคนมาร่วมลงมือทำอะไรบางอย่างได้มากน้อยแค่ไหน ใครที่แอคทีฟอยู่แล้ว เลือกจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับที่เข้มข้นขึ้นไปอีก ใครเพิ่งเริ่มต้นใหม่ เขาเข้ามาลองทีละก้าว จบงานแล้ว Connect กันได้ยิ่งดี”

“จริงๆ เรามีวัฒนธรรมของ Active citizen อยู่แล้วแหละ แค่เครื่องมืออาจไม่เอื้ออำนวย เครือข่ายนี้อยากจะยกระดับให้คนเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ง่ายขึ้น ขยายผลการทำดีให้ทำซ้ำได้เรื่อยๆ และเป็นรูปธรรม” ธวัชชัยกล่าว 

บางปัญหาอาจต้องรื้อถอนทั้งโครงสร้างเดิมที่ผุพังใหม่ ใช้เวลา 5 ปี 10 ปี หรือข้ามรุ่น ปวดหัวกับปัญหาและแรงต่อต้าน แต่หากเราร่วมกันขยายผลทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่ขับเคลื่อนประเด็นนั้นอย่างตั้งใจอยู่แล้ว ต่อเติมคอมมูนิตี้ที่หลากหลายให้เข้มแข็ง ไม่แบ่งแยกปัญหาฉันหรือเธอแยกขาดจากกัน การเปลี่ยนแปลงที่เราต่างเฝ้ารอมาโดยตลอด หมายมั่นให้เกิดขึ้นตั้งนานแล้ว คงไม่เป็นเพียงความหวังลมๆ แล้งๆ อีกต่อไป

ในวิกฤตยังมีหวัง

หวังว่าเราจะมีโอกาสพบกันที่ Good Society Summit 2021 นี้

คุยกับเครือข่าย Good Society 2021 กับภารกิจสร้างความหวัง เชื่อมต่อคนทำงานเพื่อสังคม แก้ปัญหากลางวิกฤตร่วมกัน

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Good Society Summit 2021 ‘Hope in Crisis ในวิกฤตยังมีหวัง’ ที่เว็บไซต์ Good Society เปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2564 

เวทีเสวนาและกิจกรรมจัดขึ้นในวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายน 2564 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่เฟซบุ๊กของ Good Society

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน