นับตั้งแต่ ‘ภาวะโลกร้อน’ เริ่มเป็นที่กล่าวขวัญโดยนักสิ่งแวดล้อม ‘ความยั่งยืน’ ก็เป็นอีกหนึ่งคำที่ดังคู่กันมาในฐานะหนทางที่จะช่วยให้รอดจากวิกฤตคำแรก
ยิ่งเมื่อโลกใบเดิมถูกซ้ำเติมด้วยมหันตภัยไวรัสโคโรนา แนวคิดเรื่องความยั่งยืนจึงฝังรากลงในความตระหนักรู้ของคนทั่วไป กลายเป็นวาระระดับสากลที่ทุก ๆ วงการยึดถือเป็นหลักใหญ่ในการขับดันไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ภาคธุรกิจจึงตกผลึกแนวคิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาลที่ดี (Governance) หรือ ‘ESG’ ซึ่งกำลังผงาดขึ้นมาเป็นมาตรฐานสากลในการดำเนินกิจการของนานาอารยประเทศ
เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน ไม่เฉพาะผู้ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม และการทำธุรกิจยุคนี้ก็ไม่ใช่แค่วัดผลกำไรหรือขาดทุน การรักษาทรัพยากรคน สังคม และสิ่งแวดล้อมไปสู่คนรุ่นหลังก็เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ทำการค้าควรพิจารณาถึง เพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจของตนในวันหน้า
เมื่อความยั่งยืนทางสังคมและธุรกิจโคจรมาบรรจบกัน จึงเป็นที่มาของเวทีสัมมนา ‘ทายาทรุ่นสอง : ESG’ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ ESG มากหน้าหลายตา มาร่วมให้ความรู้เรื่องความยั่งยืน แนวโน้มธุรกิจยุคใหม่ ตลอดจนเคล็ดวิธีการปรับตัวของนักธุรกิจรุ่นลูกหลานที่จะขึ้นมารั้งบังเหียนต่อไปในวันที่โลกเปลี่ยนแปลง
เห็นได้จากประโยคเด็ดแฝงแง่คิดทั้ง 10 ประโยคที่ The Cloud คัดเอามาเล่าสู่กันฟังในบทความนี้

บทเรียนข้อที่ 1
“เราไม่ได้อยู่ในยุค Climate Change แต่อยู่ในยุค Climate Crisis”
คุณอนันตชัย ยูรประถม

คำพูดที่ฟังน่าหวั่นใจของผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (SBDi) มาพร้อมกับสถิติต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า โลกกำลังเผชิญความท้าทายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาไม่สมดุล เมื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงมาก ทุกอย่างก็ส่งผลต่อธุรกิจ ในยามปกติการบริหารงานเป็นเรื่องเฉพาะของบริษัท แต่ในยามวิกฤตเช่นนี้ ธุรกิจอื่นก็ให้ความสนใจต่อคู่ค้าว่าจะฝ่าฟันปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไปได้อย่างไร ผู้ทำการค้ายุคนี้จึงควรใส่ใจเรื่องเหล่านี้ นอกเหนือจากผลการค้าด้วย
บทเรียนข้อที่ 2
“แค่เปลี่ยนหลอดไฟแล้วไม่ระวังเรื่องความปลอดภัย ก็ไม่ผ่านหลักสิทธิมนุษยชน”
คุณอนันตชัย ยูรประถม
“คนทุกคนควรมีโอกาสเข้าถึงสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และควรมีสิทธิที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและจิตใจ แค่บริษัทให้ลูกจ้างใช้เก้าอี้ขาพิการต่อขึ้นไปเปลี่ยนหลอดไฟ ก็ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว”
หัวใจของ ESG โดยเฉพาะ S และ G นั้นผูกพันกับหลักสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติอย่างแยกกันไม่ออก ผู้อำนวยการอนันตชัยได้ยกตัวอย่างนโยบายและการทำ CSR ที่ขัดต่อหลักการนี้หลายกรณี พร้อมทั้งชี้ให้เห็นกันชัด ๆ ว่าเหตุใดจึงประสบความล้มเหลวและได้รับกระแสตอบรับด้านลบเอามาก
บทเรียนข้อที่ 3
“ถ้าเรามองด้วยแว่นของความรอบคอบบวกกับวิสัยทัศน์ ทุกอย่างเป็นโอกาสได้หมด”
คุณสฤณี อาชวานันทกุล

ท่ามกลางความกังวลต่อการเทรนด์ธุรกิจโลกที่ ESG กำลังมาแรง นักวิชาการอิสระและผู้ก่อตั้งบริษัท ป่าสาละ จำกัด ได้แนะนำวิธีการปรับตัวในยุคนี้ว่าเจ้าของธุรกิจต้องประเมินปัจจัยเสี่ยง ESG อย่างรอบด้าน มองให้ชัดว่ากิจการสร้างผลกระทบต่อสังคมอย่างไร และมีปัจจัยภายนอกใดที่กระทบต่อบริษัทของเราบ้าง การฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า หรือชุมชน ก็เป็นประโยชน์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หากเจ้าของกิจการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนมาประกอบกัน ก็จะมองเห็นโอกาสในทางธุรกิจได้อย่างแน่นอน
บทเรียนข้อที่ 4
“E-S-G ต้องมีเป้าหมาย ถ้ามีเป้าหมาย จะทำได้ชัดเจนมากขึ้น”
คุณอนัฆ นวราช

ทายาทรุ่นสามของโรงแรมและสถานที่พักผ่อนเก่าแก่ในจังหวัดนครปฐมอย่าง สวนสามพราน เป็นคนรุ่นแรกของครอบครัวที่ได้นำวิธีการแบบ ESG มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจดั้งเดิมของคุณตาคุณยายได้อย่างเห็นผล คุณอนัฆเล่าจากประสบการณ์ตรงของตนว่าการแยกแยะเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลออกจากกันจะช่วยให้เห็นผลชัดยิ่งขึ้น พลางเทียบให้เห็นว่าอะไรคือ E, S และ G ที่เขาได้ปลูกฝังให้กับสามพรานโมเดลของตนเอง เช่น การทำเกษตรอินทรีย์ให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี และการทำให้ลูกค้าได้ทราบข้อเท็จจริงของสินค้า เพื่อให้แบรนด์เขามีความโปร่งใส จับต้องได้
บทเรียนข้อที่ 5
“ผมมองเป็นเรื่องต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ”
คุณอนัฆ นวราช
นอกจากสวนสามพรานที่คุณอนัฆกลับมาสานต่อกิจการที่ครอบครัวได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อกว่า 60 ปีก่อนแล้ว ทายาทสวนสามพรานรุ่นหลานคนนี้ยังแตกหน่อธุรกิจของตระกูลออกเป็นแบรนด์ Patom Organic Living เมื่อปี 2558 ซึ่งมีทั้งฟาร์ม โรงงาน ตลาดขายผลิตภัณฑ์ และคาเฟ่ที่วางอยู่บนฐานความยั่งยืนด้วย
“ถ้ามองเป็นเรื่องต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ทุกอย่างจะง่ายขึ้น” ผู้ให้กำเนิดชื่อยี่ห้อ Patom ขยายว่าต้นน้ำของเขาคือการเพาะปลูกที่ดี สามารถทำให้ผู้บริโภครู้จักและไว้ใจผู้ปลูกได้ กลางน้ำนั้นคือโรงงานที่ผลิตได้มาตรฐานสากล ส่วนปลายน้ำคือผู้บริโภคที่จะซื้อสินค้าได้ในราคาเป็นธรรม ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่ตัวเขาได้หมักบ่มจากการลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน
บทเรียนข้อที่ 6
“Small Step Makes Big Differences”
คุณพิมภัทรา ทันด่วน

Practika โรงงานออกแบบและผลิตเฟอร์นิเจอร์ชื่อดัง ถือกำเนิดขึ้นและดำเนินกิจการมาหลายสิบปีด้วยแนวคิดที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีใครรณรงค์เรื่อง ESG ในฐานะผู้มาก่อนกาล คุณพิมภัทรา เจ้าของโรงงานรุ่นที่สองได้แนะนำเคล็ดลับการทำ ESG ในองค์กรด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน อย่างเช่นการรียูสกระดาษ ก่อนขยับขยายสู่ขั้นตอนที่ยากกว่า เช่นหาผู้เป็นแบบอย่างในบริษัท ลำพังคำพูดแค่คนเดียวอาจไม่มีผลต่อส่วนรวมมากนัก แต่ถ้าทุกคนได้เริ่มลงมือทำ และมีการสื่อสารที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ความแตกต่างก็จะเกิดขึ้น สมดังคติ “Small step makes big differences”
บทเรียนข้อที่ 7
“ทุกอย่างที่เราทำ เราต้องกลับคืนสู่พนักงาน”
คุณพิมภัทรา ทันด่วน
ไม่ว่าฝุ่น เหล็ก ไม้ กระดาษ หรือใด ๆ ก็ตามที่ขึ้นชื่อว่าเป็นขยะของเหลือทิ้ง Practika จะนำไปแปรรูปหรือขายต่อให้ได้เม็ดเงินกลับมาเสมอ ก่อนแปรเปลี่ยนเป็นคุณประโยชน์ต่อพนักงานนับร้อย ๆ คน สิ่งนี้คุณพิมภัทราได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่ยุคคุณพ่อที่ได้ซื้อไซโลดูดฝุ่นขนาดใหญ่มาตั้งแต่ 33 ปีก่อน เพราะไม่ต้องการให้พนักงานซึ่งเป็นเสมือนคนในครอบครัวต้องทนสูดดมมลภาวะ เมื่อมาถึงรุ่นลูก เงินที่ได้รับจากการรีไซเคิลขยะก็ถูกนำกลับมาทำกิจกรรมสร้างความสุขแก่คนในองค์กร อาทิ การทำปุ๋ยอินทรีย์ให้ต้นไม้รอบโรงงาน เป็นผักผลไม้ที่สามารถเก็บกินได้ทุกชนิด
คงเพราะหลักธรรมาภิบาลเช่นนี้ พนักงานในรั้ว Practika หลายคนจึงสมัครใจทำงานอยู่กับโรงงานเฟอร์นิเจอร์แห่งนี้ตั้งแต่สมัยเจ้าของเก่า จวบจนวันนี้ที่หลายคนมีอายุเป็นปู่เป็นตา
บทเรียนข้อที่ 8
“การช่วยเหลือสังคมเป็นสิ่งยากมาก ถ้าเราเห็นแต่ตัวเราเพียงอย่างเดียว”
คุณปิติ ภิรมย์ภักดี

กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เริ่มประเด็นได้น่าสนใจตั้งแต่ประโยคแรก เนื่องจากการลงทุนทุกอย่างมีค่าใช้จ่ายและค่าเสียโอกาสไม่น้อย ผู้บริหารหลายคนคงมีความคิดว่ากำไรของบริษัทควรนำไปปันผลเป็นเงินโบนัสให้พนักงานหรือลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ จะเป็นประโยชน์กว่า แต่คุณปิติเชื่อว่าหากความคิดอย่างนี้ยังคงมีอยู่ ESG ก็คงไม่เกิดขึ้น ผู้ทำธุรกิจจึงควรมองถึงผู้ได้รับผลประโยชน์ตัวจริง มิใช่ยึดความต้องการของผู้กระทำเป็นที่ตั้ง อย่างโจทย์ใหญ่ของบุญรอดฯ คือ จะเป็นองค์กรที่อยู่ร่วมกับชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างมีความสุขแบบยั่งยืน
บทเรียนข้อที่ 9
“ESG เริ่มต้นจากความจริงใจ”
คุณปิติ ภิรมย์ภักดี
ในอดีต กิจกรรมการทำ CSR อาจถูกมองเป็นเครื่องมือทำการตลาด หรือสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ผู้ทำ แต่ ณ วันนี้ สภาพแวดล้อมและสังคมผันแปรไปด้วยผลกระทบจากหลาย ๆ ส่วน การจะทำ ESG หรือ CSR จำเป็นต้องมีความจริงใจก่อนเป็นอันดับแรก ตามด้วยความสม่ำเสมอที่จะช่วยให้แผนการดังกล่าวบรรลุเป้าประสงค์ คุณปิติ ผู้ก่อตั้งโครงการ‘สิงห์อาสา’ โดยมูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ที่ดำเนินงานมาร่วม 11 ปี ย้ำว่าการช่วยเหลือสังคมบางด้านอาจไม่มีคนเห็น แต่ถ้าคิดว่าดีก็ต้องเดินหน้าทำต่อไป ต้องมองให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาว่าคืออะไร และช่วยเหลือให้ครบทุกมิติ ที่สำคัญที่สุดคือต้องทำอย่างต่อเนื่อง จึงจะเรียกว่ามีความจริงใจ และสังคมได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
บทเรียนข้อที่ 10
“รุ่นลูกจงมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่รุ่นพ่อทำ”
คุณปิติ ภิรมย์ภักดี
ปิดท้ายด้วยคำถามที่มีหลายคนสงสัย ว่าทายาทรุ่นที่สี่ของผู้ผลิตเบียร์สิงห์เคยพบปัญหาระหว่างวัยกับคนรุ่นพ่อแม่บ้างหรือไม่? คุณปิติตอบชัดว่าสำหรับตัวเขา สถานะไม่ใช่ปัญหา แต่คือมุมมองที่ต่างกันด้วยวัยและประสบการณ์ชีวิต
คนรุ่นลูกต้องขอบคุณสิ่งที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่สร้างมาให้จนถึงวันที่ส่งไม้ต่อ การทำงานกับคนรุ่นก่อน มีทั้งบทบาทของสมาชิกครอบครัว และบทบาทของเพื่อนร่วมงาน ต้องแยกแยะ 2 บทบาทนี้ให้ชัดเจน อยู่ที่ทำงานก็สื่อสารกันแบบเพื่อนร่วมงาน อยู่ที่บ้านก็คุยแบบคนในครอบครัว ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การทำธุรกิจต้องการความคิดเห็นหรือมุมมองที่แตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้จะสามารถนำมาประสานต่อยอดเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายร่วมกันได้
