เมื่อครั้ง The Cloud ให้เกียรติชวนมาร่วมสนุกในงานเขียนนั้น ก็ได้ขอคำปรึกษาบรรณาธิการผู้อ่อนโยนและเมตตาว่า จะเขียนถึงอิตาลีอย่างไรดี ท่านก็สรุปสั้นๆ ว่า ให้บีบเรื่องให้แคบที่สุด ไม่ควรพูดไปทั้งเมือง เดี๋ยวจะกลายเป็นหนังสือนำเที่ยวไปเสียฉิบ …แน่นอนประโยคหลังนี่เป็นสำนวนของข้าพเจ้าเอง

วันนี้ บ.ก. จะต้องรักมาก เพราะจะพูดถึงเวนิส แต่ในพื้นที่ที่แคบที่สุด แคบเท่าแมวดิ้นตายจริงๆ นั่นคือจะพูดถึง ‘เรือกอนโดลา’

เวนิสเป็นเมืองน้ำ เหมือนกรุงเทพฯ ดังมีผู้เปรียบเทียบสองเมืองนี้ไว้ว่า “เวนิสตะวันออก บางกอกตะวันตก” ผิดกันตรงที่เวนิสนั้นตั้งอยู่ริมทะเล จึงมีความเป็นหมู่เกาะ

ส่วนเรือกอนโดลาเป็นสัญลักษณ์คู่กับเวนิสอย่างแยกไม่ออก ใครๆ ไปเวนิสก็ใฝ่ฝันที่จะนั่งเรือแจวนี้ มิใยจะมีชาวท่าแซะที่ไม่ได้เป็นคนสงขลามาพูดจาหยามหยาบว่า “มันก็ไอ้เรือแจวแหละว้า” หรือ “มีเงินอย่างเดียวลงไม่ได้นะ ต้องเซ่อยอมให้เขาหลอกด้วย”

ใครเคยเจออย่างนี้ขอให้ยิ้มเย็นแล้วตอบไปว่า “อ้าว เห็นตอนพายตอนแจวก็เสียงดังจ๋อมแจ๋มดี ไม่ยักรู้ว่าไปแจวเรืออยู่บนหัวใครคนอื่นด้วย”

เรือกอนโดลานี้ สะกดว่า gondola ออกเสียงแบบใกล้เคียงเจ้าของภาษาที่สุดก็น่าจะราวๆ “ก้น-โดะ-หละ” แต่ขอเขียนกอนโดลาได้ไหม เอาที่คนส่วนใหญ่คุ้นกันนี่ล่ะ

กอนโดลาเป็นเรือแจว ไม่ใช่เรือพาย หากแยกกันไม่ออก ดูง่ายๆ “นั่ง-พาย, ยืน-แจว” เชื่อฉันเถอะ ฉันอยู่ริมคลองมาตลอดวัยเยาว์

สำหรับผู้ที่ไม่เคยเห็นเรือกอนโดลานั้นก็ขอให้ดูรูปเอา สิ่งที่จะเล่าให้ฟังนั้น คือสิ่งที่มากไปกว่าตาเห็น

เบื้องหลังสีดำของ เรือกอนโดลา สัญลักษณ์หมวกที่หัวเรือ และการแจวสไตล์อิตาเลียน

เรือกอนโดล่านั้นที่ชินตานั้น ส่วนใหญ่เป็นสีดำ อันเกิดมาจากการกฎหมายของเวนิสใน ค.ศ. 1562 ที่ท่านดยุกของเมืองประกาศฟันธงไปเลยว่าให้เป็นสีดำให้หมด เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้ดีมีตระกูลเมืองเวนิสต่างพากันประดับประดาเรือกันอย่างฟุ่มเฟือย วิลิศมาหรา ส่วนที่ว่าเป็นสีดำนั้นก็มีหลายทฤษฎี แต่อันที่ฟังขึ้นที่สุดก็คือ เพราะเรือทุกลำต้องเคลือบน้ำมันดินสีดำ ก็ให้หยุดอยู่แค่ตรงนั้น ไม่ต้องไปอะไรกับมันอีก จบนะขุนนาง

เรือหัวโด่งก้นโด่งนี้ มีขนาดยาว 11 เมตร กว้าง 1.40 เมตร หนักราว 500 กิโลกรัมนี้ ประกอบด้วยไม้ถึง 8 ชนิด อันได้แก่ เพื่อรองรับคุณสมบัติที่แตกต่างกันไปของเรือ

1. ไม้โอ๊คเดอมัสต์ ถ้าจะให้ดี ท่านว่าต้องมาจากฝรั่งเศส

2. ไม้เอ็ลม์ ของอิตาลีเอง

3. ไม้สนเฟอร์ จากออสเตรีย

4. ไม้วอลนัต จากแคว้นเวโนโตอันเป็นแคว้นของเมืองเวนิสเอง

5. ไม้มะฮอกกานี ไม้เมืองนอกจากแอฟริกา

6. ไม้เชอรี่ ใช้เป็นไม้เชื่อมเรือระหว่างด้านขวาด้านซ้าย มีทั้งหมด 8 ชิ้น

7. ไม้ลินเดนหรือไม้ไลม์ 2 ท่อนใหญ่ วางอยู่หน้า-หลังของเรือ

8. ไม้สนลาร์ช ใช้ตรงส่วนที่คนแจวยืนปฏิบัติการ

ที่ต้องใช้ไม้ต่างชนิดกันนั้น เพราะไม้แต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติต่างกัน ซึ่งก็ต้องแยกกันไปตามหน้าที่ที่ใช้ในเรือด้วย เช่น ไม้สนเฟอร์เป็นไม้เนื้อเบาและทนน้ำเค็มได้ดี ก็จะนำไปใช้เป็นท้องเรือ ส่วนไม้โอ๊คเดอมัสต์เป็นไม้ที่แข็งแรงมาก จึงนำมาให้เป็นด้านข้างของเรือ เพราะเป็นจุดต้องกระทบกระทั่งกับสิ่งต่าง ๆ มากมายตลอดเวลา เช่น เรือลำอื่น หรือ ตลิ่ง สิ่งก่อสร้างอื่นๆ เป็นต้น และชิ้นไม้เหล่านี้ รวมกันได้ราว 280 ชิ้น

ลำเรือนั้นเล่า หากเรือจอดอยู่เฉยๆ ไม่มีคนอยู่บนเรือแม้แต่คนเดียว เราจะเห็นได้ชัดว่าเรือเอียง หรือไม่สมมาตร กล่าวคือ เรือจะให้พื้นที่แก่คนยืนแจว เมื่อคนแจวลงไปยืนตรงที่ของตน เรือก็จะกลับมา (เกือบจะ) ตรงนั่นเอง

นอกจากส่วนประกอบต่างๆ ของลำเรือแล้ว ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ อันได้แก่

เบื้องหลังสีดำของ เรือกอนโดลา สัญลักษณ์หมวกที่หัวเรือ และการแจวสไตล์อิตาเลียน

‘เหล็กหัวเรือ’ ถ้าสังเกตให้ดี ก็จะเห็นว่ามีรูปทรงเป็นตัว S ที่มีส่วนหัวใหญ่หน่อยแล้วค่อยโค้งรับกลืนกับลำเรืออย่างอ่อนช้อย

เหล็กหัวเรือนี้มีซี่อยู่ 6 ซี่ อันหมายถึง 6 เขตของเมืองบนเกาะเวนิส ถ้าเพ่งไปอีก ก็จะเห็นว่า ระหว่างซี่เว้นซี่นั้น จะมีเหล็กบางๆ สลักเสลาอย่างอ่อนช้อยซ่อนอยู่อีก 3 นั่นก็คือ เกาะเล็กเกาะน้อยของเมืองเวนิส ได้แก่ บูราโน มูราโน และตอร์แชลโล (Burano, Murano, Torcello) ส่วนอีกเกาะคือจูเด็กกา (Giudecca) นั้น ปรากฏให้เห็นเป็นซี่ใหญ่อยู่อีกด้านของซี่ทั้ง 6

มีแค่นั้นหรือ ยังไม่หมด หัวเรือยังมีสัญลักษณ์อื่นซ่อนอยู่อีก ปลายหัวที่หนาๆ นั้น ว่ากันว่า เป็นรูปทรงของหมวกท่านดยุกผู้ครองเมืองในอดีต นอกจากนี้ ช่องว่างครึ่งวงกลมเล็กๆ ระหว่าง ‘หมวกท่านดยุค’ กับ ‘เขตทั้ง 6 ของเวนิส’ ยังหมายถึงสะพานรีอัลโตอีกด้วย

แต่ถ้าถามทางเชิงช่างแล้ว นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์แล้ว เหล็กหัวเรือนี้ยังมีหน้าที่สำคัญคือเป็นตัวกันชน และเป็นตัวถ่วงน้ำหนักของเรือ ค่าที่มันมีน้ำหนักถึง 10 กิโลกรัมทีเดียว

ส่วนประกอบอีกส่วนที่สำคัญมาก และเป็นเหมือนหัวใจของคนแจวเรือเลยก็คือ ‘หลักแจว’ หลักแจวคืออะไร คุณนึกออกไหม ถ้าคุณพายเรือ จุดพักพายหรือจุดที่เป็นคานงัดพายของคุณคือขอบเรือ แต่เวลาแจวนั้น เราก็ต้องใช้จุดวางแจวอันยาว และใช้เป็นจุดคานงัดเช่นกัน โดยหลักแจวนี้จะสูงขึ้นมาพ้นขอบเรือ

หลักแจวของเรือกอนโดลานี้มีรูปทรงสวยงาม รูปทรงเป็นส่วนโค้งเว้าราวกับศิลปะนามธรรม ซึ่งรูปทรงดังกล่าวล้วนมีผลในการบังคับเรือทั้งสิ้น และความสูงก็ไม่เท่ากันทั้งนี้ขึ้นอยู่กับส่วนสูงของผู้แจว หลักแจวจึงเป็นของส่วนตัวมากๆ ถ้าคนแจวเปลี่ยนเรือ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เขาจะถอดหลักแจวนี้ไปเสียบในเรือลำใหม่ ตามตัวไปด้วยเสมอ

ในสมัยฮิตสุดตัว ในเวนิสมีกอนโดลาอยู่ถึงเรือนหมื่น ได้มีผู้บันทึกไว้ว่า “คนเวนิสผูกเรือกอนโดลาไว้ที่คลองหน้าบ้านเหมือนคนบนบกผูกม้า” แต่ปัจจุบัน มีเรือกอนโดลาอยู่ 400 ลำเท่านั้น และอู่ต่อเรือก็เหลือมีอยู่ 5 แห่งเท่านั้น เจ้าดังที่สุดคือ Tramontin เพราะเรือสวยที่สุดและใช้งานได้นานที่สุด

เบื้องหลังสีดำของ เรือกอนโดลา สัญลักษณ์หมวกที่หัวเรือ และการแจวสไตล์อิตาเลียน

ทำไมไม่นั่งพาย

หาข้อมูลเรื่องนี้อยู่นาน หายังไงก็ไม่เจอ ก็เลยใช้สัญชาติญาณของคนริมคลองนี่ล่ะ

คนไทยมีเรือไว้พายไปไหนมาไหน บ้านสมัยก่อนอยู่ในเรือกในสวน แล้วก็ห่างกันค่อนข้างมากหากต้องเดิน เรือจึงเป็นการสัญจรที่สะดวก หากจะเปรียบก็คือจักรยานนี่ละ

แต่เรือแจวนั้น มีจุดประสงค์เพื่อการส่งของเป็นหลัก ทั้งนี้เพราะข้าวของที่บรรจุในเรือนั้นมักจะหนักกว่าที่บรรจุในเรือพาย เรือก็จะใหญ่ แล้วพอจะพาย ก็ต้องใช้พายอันใหญ่มากเพื่อดันน้ำให้เรือเดินไปข้างหน้า

สรุปคือ เรือแจวมีไว้ขนของ เรือพายมีไว้สัญจรส่วนตัว

คราวนี้ลองมาดูบ้านเรือนในเวนิสกันบ้าง

บ้านเรือนในเวนิสนั้น เป็นตึก สร้างติดๆ กันไปหมด และเต็มไปด้วยสะพาน จะไปไหนมาไหน คงใช้การเดินเป็นหลัก

จะมีก็แต่ขนของขนคนเท่านั้นที่ต้องใช้เรือ เรือแจวจึงมีบทบาทมาก

การแจว ต่างจากการพายอย่างไร

นอกเหนือจากการยืนกับการนั่งแล้ว การยืนแจวเรือนั้นช่วยได้มากในการขนของหนัก เพราะได้ใช้กำลังทั้งตัว โยกหน้า โยกหลัง เพื่อดันให้ใบพายอันใหญ่นั้นพุ้ยน้ำให้เรือขับเคลื่อนเดินไปข้างหน้า ในขณะที่การพายเรือนั้นเมื่อยกล้ามมากๆ

การแจวเรือ

จุดที่สังเกตเห็นได้จากการแจวของคนแจวอิตาเลียนกับไทยนั้น คือคนแจวที่เวนิสนั้น หากคุณหันไปดูเขาสักนิด คุณจะเห็นว่าเขาไม่ได้แจวอย่างเดียว แต่มีทั้งถีบทั้งดัน ที่ว่านี้ไม่ใช้กับผู้โดยสาร ไม่ต้องกลัวไป เขาทำกับตึกอาคารต่าง ๆ เพื่อให้เรือได้เร็วขึ้น

อีกอย่างที่คนแจวทำเวลาแจวมาตรงหัวมุมตึก ตรงคลองแยก คนแจวจะตะโกนว่า “โอ้-เอ่” ฟัง ๆ ดูก็เหมือน “โอ้ย” นี่ล่ะ ไม่ได้เจ็บไม่ปวดอะไร แต่เป็นการส่งเสียงให้ไม่ให้เรืออีกลำออกมาประสานงากับเรือของตัว

อ้อ ภาษาอิตาเลียนเรียกคนแจวว่า กน-โด-ยิ-แย-เร (gondoliere) นะ

ค่าเรือ

       กลางวัน 80 ยูโร กลางคืน 100 ยูโร ราคานี้ต่อลำนะ ลำละไม่เกิน 6 คน แต่แว่ว ๆ มาว่า ชาวเรือกำลังจะขอปรับเป็น 5 คนต่อลำ เธอบอกว่า เพราะโควิด ต้องนั่งห่างกัน แต่ข้าพเจ้าว่าไม่น่าจะใช่ ก็คนเขาเดินทางมาด้วยกัน ลงก็ลงด้วยกัน จะเจ็บจะป่วยก็คงเป็นมาก่อนแล้วมั้ง ไม่ใช่เป็นรถตู้นี่ ที่เต็มแล้วออก ตามมาด้วยการส่งกระจาดพลาสติกเรียกเก็บเงินด้วยระบบ Honour System แบบไทยๆ

อยากนั่งถูกๆ เหรอ ก็ได้ เราก็มีบริการเรือข้ามฟากให้ใช้ ราคาคนเวนิส 70 เซ็น คนนอก 2 ยูโร ถามว่าจะรู้ได้ยังไงว่าคนในคนนอก เขาจำคนของเขาได้แหละ

พร้อมไปนั่งเรือกอนโดลากันไหม ถามอย่างนี้อาจถูกตอกกลับมาว่า อำนาจตัดสินใจตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่เราแล้ว เอาน่า เมื่อไหร่พร้อมก็ค่อยไปกันนะ อ้อ แต่พ่อหนุ่มแจวเรือกอนโดลาคนหนึ่งฝากมาบอกว่า อย่ามาหน้าหนาวนะ

เพราะหน้าหนาวพวกเราจะอยู่ที่ภูเก็ต

ขอบคุณข้อมูลจาก

  • www.antiqua.mi.it/gondola.htm
  • www.compagniadeiviaggiatori.com/gondola-origini-storia-curiosita/#Caratteristiche%20della%20gondola
  • www.veniceingondola.com/

Writer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า