“เราเชื่อว่าไม่มีอะไรที่เป็นอาหารเหนือแท้ กับข้าวทุกอย่างมีไดนามิกในตัวเองและมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ไม่มีอะไรตายตัวและผ่านกาลเวลามานาน อาหารเหนือเองก็ผ่านการผสมผสานมาเยอะ

“เราคิดว่าอาหารเหนือเปรียบเสมือน Melting Pot เพราะแถวนี้มีทั้งคนไทลื้อ ไทยอง ลั้ว ลาว มาตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกัน ทำให้วัฒนธรรมกลืนกลาย มีการหยิบยืมกันไปมา ไม่รู้ว่าอะไรเป็นของใคร อย่างข้าวซอยก็มาจากคนจีนฮ่อ”

นี่คือความเห็นของ แอน-นฤมล ชมดอก เจ้าของเพจ Go2AskAnne ที่มีต่ออาหารเหนือ เธอเอ่ยขึ้นมาในวงสนทนา ขณะบี้ข้าวเหนียวกินกับลาบขมิ้น อ่อมกบ แกงผักกาดแม้ว และเมนูอาหารเหนือที่หลายคนอาจไม่คุ้นหูอีกหลายรายการ ณ ร้านอาหารเหนือแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ 

Go2AskAnne เพจแนะนำร้านอาหารเหนือสายลึก ใครๆ ก็ถามแอนเรื่องจานเด็ดมาตลอด 10 ปี

แอนเริ่มต้นสร้างเพจด้วยความตั้งใจส่งข้อมูลร้านอร่อยให้เพื่อน ๆ ที่มักโทรมาถามไถ่ร้านกินดื่มขณะมาเที่ยวเชียงใหม่ โดยเฉพาะในช่วงหน้าไฮซีซั่นที่แอนบอกว่าต้องรับโทรศัพท์ทั้งวัน 

แล้วทำไมใคร ๆ ต้องถามแอน (Go 2 Ask Anne) มายาวนานนานนับ 1 ทศวรรษ 

“เมื่อก่อนเราทำงานนิตยสาร มีโอกาสได้กินอาหารหลายร้าน หลากหลายประเภท และได้ลองอาหารทุกชาติที่เชียงใหม่ เพจของเราจึงเหมือนเพื่อนที่บอกต่อและเชื่อถือได้” 

แต่สิ่งที่ทำให้เพจเป็นฟู้ดบล็อกที่มีอายุยืนยาวถึง 10 ปี คือความหลงใหลในอาหารเหนือหลากหลายแง่มุม ทั้งประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ผสมผสานความรักการอ่าน การเขียน ความอยากเล่าเรื่องของแอน รวมทั้งความตั้งใจส่งต่อความรู้ 

ส่วนผสมทั้งหมดนี้ ทำให้คอนเทนต์ของเพจมีรสชาติกลมกล่อมไม่แพ้อาหารเหนือรสเด็ดเมนูใด ๆ และไม่ได้เป็นแค่เพจรีวิวธรรมดา แต่ยังเป็นคอมมูนิตี้ที่ผู้คนเข้ามาคุยกัน แลกเปลี่ยนความรู้และความเห็นเรื่องอาหารเหนือด้วย 

Go2AskAnne เพจแนะนำร้านอาหารเหนือสายลึก ใครๆ ก็ถามแอนเรื่องจานเด็ดมาตลอด 10 ปี

แอนสั่งสมความรู้เรื่องอาหารเหนือจากการค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ การพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้คนในชุมชนเกี่ยวกับอาหารเหนือในระดับเข้มข้น แต่สิ่งที่ทำให้เธอได้ทำความรู้จักอาหารเหนือแบบเชิงลึก คือการเติบโตมาในครอบครัวคนเหนือและใช้ชีวิตมากับพ่อ ผู้ที่เธอนิยามว่า ‘กินยาก’ และ ‘กินเหมือนชาววัง’

“พ่อของเราไม่ซื้ออาหารที่ตลาดหรือกินอาหารถุงเลย ต้องทำเองทุกอย่าง และพ่อบังคับให้เราเป็นคนทำ ซึ่งเราก็ได้เรียนรู้กรรมวิธีการปรุงอาหารเหนือไปในตัว บางเมนูมีขั้นตอนที่โหดร้ายพอสมควร (หัวเราะ) และเวลาเสิร์ฟก็ต้องมีอุปกรณ์แบบร้านอาหาร เช่นหม้อดิน ดังนั้นที่บ้านจะมีอุปกรณ์ทุกอย่างที่ร้านอาหารมี (หัวเราะ)” 

จากประสบการณ์วัยเด็กจนถึงวันนี้ แอนมองว่าเสน่ห์ของอาหารเหนือ คือ ‘การปรุงน้อย’

Go2AskAnne เพจแนะนำร้านอาหารเหนือสายลึก ใครๆ ก็ถามแอนเรื่องจานเด็ดมาตลอด 10 ปี
Go2AskAnne เพจแนะนำร้านอาหารเหนือสายลึก ใครๆ ก็ถามแอนเรื่องจานเด็ดมาตลอด 10 ปี

“จริง ๆ แล้วอาหารเหนือมีกรรมวิธีการทำที่ค่อนข้างน้อยมาก บางเมนูเช่นยำดอกดิน ใส่เห็ดหน้าตาเหมือนเห็ดหูหนูที่ขึ้นตามก้อนหิน ใส่พริก น้ำปลาปรุงรส ใส่ถั่วนิดหน่อย ก็กินได้แล้ว กับข้าวเหนือแท้ ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เพราะคนเหนือตามบ้านนอกกินง่ายมาก ๆ อาหารเหนือเริ่มซับซ้อนในยุคที่เริ่มมีแกงกะทิเข้ามา

 “นอกจากนี้ คนเหนือกินทุกอย่าง ทุกส่วน ตั้งแต่ปลายไม้จนถึงในรู เรียกได้ว่ากินแบบ Zero Waste ส่วนตีนควายยังเอามาใส่แกง รกควายเราก็กิน แถมยังถือเป็นอาหารหรูหราหากินยากอีกด้วย”

ในฐานะคนเหนือแต้ ๆ แอนมองว่าทุกวันนี้อาหารเหนือในเมืองเปลี่ยนไปเยอะ หลายร้านปรับรสชาติให้เข้ากับนักท่องเที่ยวและเติมน้ำตาลเพิ่มเข้าไป จนหลายเมนูมีรสหวานแตกต่างไปจากเดิม

“รสชาติของคนเหนือจริง ๆ คือ เผ็ด เปรี้ยว เค็ม ขม ไม่กินหวาน แต่ถ้าเด็กยุคใหม่ไปซื้อน้ำพริกอ่อง หลายร้านอาจมีรสหวาน เขาก็จะคิดกันว่าน้ำพริกอ่องรสหวานแบบนี้คืออาหารเหนือแท้ ๆ ซึ่งมันไม่ใช่ ในขณะเดียวกันอาหารเหนือแท้ ๆ แบบที่เรากิน เช่น ลาบควายดิบ ใส่มะแขว่นเยอะมาก บางคนก็อาจจะกินไม่ได้เลย”

Go2AskAnne เพจแนะนำร้านอาหารเหนือสายลึก ใครๆ ก็ถามแอนเรื่องจานเด็ดมาตลอด 10 ปี

แอนมองว่าการที่หลายร้านปรับรสชาติอาหารเหนือให้กินง่ายมากขึ้น หรือปรุงให้เข้ากับเทสต์ของคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะทำให้คนภาคกลางรับรู้ถึงอาหารเหนือได้ 

“อย่าไปมองว่าบางร้านไม่ใช่อาหารเหนือแท้ ๆ เพราะไม่มีอะไรแท้หรอก มันคือการปรับรสชาติเพื่อให้ทุกคนมีโอกาสได้กินและได้สัมผัสอาหารเหนือ หลายร้านที่คนบอกกันว่าเป็นอาหารเหนือรสชาติคนกรุงเทพฯ เราถือว่าเป็นเรื่องดีที่บอกกันก่อน ไม่ใช่ว่าคนกรุงเทพฯ ไปถึงร้านแล้วกินไม่ได้เลย กลายเป็นบ่นว่าอาหารเหนือไม่อร่อย” 

ตอนนี้บรรยากาศอาหารเหนือที่เชียงใหม่ มองไปทางไหนก็เจอ ‘ลาบ’ แอนบอกว่าเมนูนี้กำลังมา

“ที่เชียงใหม่กำลังฮิตลาบ เจอกูรูลาบเยอะมาก อย่างในเพจ Go2AskAnne ถ้าเราพูดเรื่องลาบ ทุกคนจะแห่เข้ามาคอมเมนต์ บางคนอาจจะบอกว่าลาบร้านนี้จริง ร้านนี้ไม่จริง ร้านนี้เป็นลาบแบบแมส หรือมีการเหยียดกัน จริง ๆ แล้วเรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเลย เราไม่ควรมาทะเลาะกันด้วยเรื่องแบบนี้ เพราะเรื่องของอาหารไม่มีจริงหรือไม่จริง อยู่ที่สูตรของใครของมันเท่านั้นเอง เช่นลาบของแต่ละบ้านก็มีสูตรไม่เหมือนกัน ไม่อยากให้คิดตายตัวว่าอะไรคืออาหารเหนือแท้หรือไม่แท้ ทุกอย่างมีเหตุผลว่าทำไมคนเขาปรุงกันแบบนี้”

นอกจากรีวิวร้านอาหารและแนะนำที่กิน ดื่ม เที่ยว แอนตั้งใจอยากให้เพจเป็นกระบอกเสียงทำความเข้าใจเรื่องอาหารเหนือและการกินอย่างปลอดภัย รวมทั้งความยั่งยืน

เพจพากินและเล่าเรื่องอาหารเหนือสายลึก รสชาติกลมกล่อมด้วยความรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และความยั่งยืน
เพจพากินและเล่าเรื่องอาหารเหนือสายลึก รสชาติกลมกล่อมด้วยความรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และความยั่งยืน

“จริง ๆ คอนเซ็ปต์ของเพจคือเน้นเรื่องความยั่งยืน ผลผลิตทางการเกษตร และการกินอาหารให้ปลอดภัย คนเดี๋ยวนี้ลิ้นด้าน เพราะกินผงชูรสกันเยอะ อาหารไม่ว่าจะต้ม ผัด แกง ทอด ก็รสเดียวกันหมด ไม่มีความหลากหลายของรสชาติ แถมกินหวานจัด เค็มจัด โซเดียมสูง และช่วงหลังเรามีโอกาสได้เข้าชุมชนบ่อย ๆ เพื่อทำหนังสือ ทำให้เรารู้ว่าการเขียนเพจให้ความรู้น่าจะดีกว่า

“เพจของแอนมีผู้ทรงคุณวุฒิและทรงภูมิหลายคนเข้ามาคุยกันเรื่องอาหาร (หัวเราะ) เช่นครั้งหนึ่งเราโพสต์เรื่องฮังเลเชียงแสน เขาก็มาถกเถียงกันใต้คอมเมนต์ เอาข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์มายิงใส่กัน ถ้าตัวเราเองไม่มีองค์ความรู้ เราก็จะพ่ายแพ้ต่อแฟนเพจของเรา เพราะเขาฉลาดกันมาก (หัวเราะ) 

“เคยมีเพื่อนต่างชาติเคยบอกว่า ยูอย่าไปรีวิวขายร้านอาหารหรือไปคิดเงิน เพราะถ้าต้องเขียนถึงร้านที่ไม่อร่อยจะเป็นการดิสเครดิตตัวเอง ให้เราขายอะไรที่เป็นเรื่องรอบตัวดีกว่า แล้วตัวเราเองก็พบว่าถ้าไปร้านไม่อร่อย เราก็จะเขียนไม่สนุก”

เพจพากินและเล่าเรื่องอาหารเหนือสายลึก รสชาติกลมกล่อมด้วยความรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และความยั่งยืน

จากประสบการณ์ 10 ปีในการทำเพจ แอนพบการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่เธอสังเกตเห็นได้ชัด นั่นคือ กลุ่มคนอ่านหลักย้ายจากกลุ่มผู้ใหญ่ยุคเบบี้บูมมาเป็นคนรุ่นใหม่ช่วงอายุราว ๆ 21 – 35 ปี 

“ตอนนี้เท่าที่เห็นเทรนด์ในเพจ คนหันมากินและสนใจอาหารเหนือกันมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ มีหลายโรงเรียนใช้เพจของเราอ้างอิงในการสอนเรื่องอาหารเหนือให้นักเรียน คนกรุงเทพฯ บางกลุ่มนั่งเครื่องบินมาตะลุยกินลาบ หลายคนแสวงหาอาหารเหนือที่ลึกขึ้นและเปิดใจลองมากขึ้น” 

วันนี้เพจ เดินทางมาครบรอบ 10 ปี อย่างเรียบง่าย แอนบอกว่าเพจของเธอไม่หวือหวาอะไร แถมยังมีคนบอกว่า เขียนมานานขนาดนี้ มีแฟนเพจตามแค่ 6 หมื่นกว่าคน 

“เราก็ไม่ต้องการคนมากนะ ถึงจะอยากได้เงิน แต่ถ้าต้องฝืนทำอะไรเพื่อเขียนแล้วอัปขึ้นเพจ มันก็ไม่ใช่เรา ถ้าเราเขียนเรื่องที่ชอบแล้วมีคนกดไลค์แค่คนเดียว เราก็ดีใจแล้ว”

เพจพากินและเล่าเรื่องอาหารเหนือสายลึก รสชาติกลมกล่อมด้วยความรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และความยั่งยืน

Go2AskAnne

Facebook : Go2AskAnne

Instagram : go2askanne

Website : www.go2askanne.co

Writer

Avatar

นันทรัตน์ สันติมณีรัตน์

นักเขียนฟรีแลนซ์ที่ชอบทดลองทำหลายอาชีพ

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย