ธุรกิจ : บริษัท หยูฮวดเซี้ยง จำกัด

ประเภทธุรกิจ : ร้านอาหาร

ปีที่ก่อตั้ง : พ.ศ. 2503

อายุ : 61 ปี

ผู้ก่อตั้ง : คุณตินฮั่ว แซ่พัว 

ทายาทรุ่นสอง : คุณสมบัติ พฤกษ์ไพบูลย์

ทายาทรุ่นสาม : คุณเอกพล พฤกษ์ไพบูลย์

โจทย์หนึ่งที่ทายาทร้านอาหารทุกคนต้องเจอคล้ายๆ กันคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถสืบทอดสูตรอาหารอายุหลายสิบปีและส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น

‘โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ’ คือร้านข้าวมันไก่ของครอบครัวพฤกษ์ไพบูลย์ ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกประตูน้ำ

โก แทนคำว่า เฮีย 

ส่วน อ่าง เป็นชื่อของทายาทรุ่นสอง

แต่หลายต่อหลายคนจำสีชมพูของเสื้อพนักงานเสิร์ฟแทนชื่อร้าน 

ธุรกิจครอบครัวนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในหมู่นักท่องเที่ยวและคนท้องที่ จนภาพจำที่เห็นเกือบทุกครั้งเวลาขับรถผ่านสี่แยกนี้จะเป็นลูกค้าต่อคิวยาวเหยียดออกมาหน้าร้าน และยังเป็นอย่างนี้มาจนเมื่อ 3 – 4 ปีก่อนธุรกิจทั่วโลกจะเจอกับวิกฤตโควิด-19

กลยุทธ์รุ่นปู่ ตินฮั่ว แซ่พัว คือ ความหลากหลายของเมนูอาหาร ตั้งแต่ข้าวขาหมู หมูแดง ข้าวมันไก่ จนถึงราดหน้า 

ทายาทรุ่น 3 โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ สถาปนิกผู้ขยายสาขา สร้างระบบ และวัฒนธรรมในร้าน

รุ่น คุณพ่อสมบัติ พฤกษ์ไพบูลย์ เริ่มสังเกตเห็นว่าลูกค้าชอบสั่งข้าวมันไก่ จึงตัดเมนูอื่นๆ ออก แล้วลงแรงและใจไปที่เมนูเดียว

มาทายาทรุ่นสาม เกียร์-เอกพล พฤกษ์ไพบูลย์ สถาปนิกที่ตัดสินใจมารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว โดยตั้งมั่นว่า จะพัฒนาระบบภายในเพื่อควบคุมคุณภาพของสูตรอาหารอายุกว่า 60 ปีให้คงที่ นำการชั่ง วัด ตวง มาใช้ในครัวแทนการใช้ความคุ้นชิน เปลี่ยนระบบออเดอร์จากความจำมาเป็นคอมพิวเตอร์ ให้การตรวจสอบข้อผิดพลาดทำได้ง่ายยิ่งขึ้น และสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมาเพื่อให้พนักงานมองเห็นภาพเดียวกัน 

ทายาทรุ่น 3 โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ สถาปนิกผู้ขยายสาขา สร้างระบบ และวัฒนธรรมในร้าน

เคยมีคนบอกว่า สถาปนิกมักมองทุกอย่างแยกส่วนเหมือนเวลาต่อกันดั้ม แล้ววิเคราะห์แก้ไขไปทีละอย่าง

ผลคือในวันนี้ ธุรกิจขยายจนมี 6 สาขาในประเทศ และ 4 สาขาในสิงคโปร์ ภายในเวลา 6 ปี มีคู่มือขององค์กรเพื่อใช้สอนพนักงานใหม่ ระบบควบคุมคุณภาพในครัวที่แม่นยำ และเมนูข้าวมันไก่ทอดที่ไม่เคยมีมาก่อนในรุ่นคุณปู่และคุณพ่อ 

ร้านอาหารไหหลำ

ทายาทรุ่น 3 โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ สถาปนิกผู้ขยายสาขา สร้างระบบ และวัฒนธรรมในร้าน

คุณปู่เป็นคนไหหลำที่ย้ายมาเมืองไทยตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2500 ตั้งรกรากแถวย่านประตูน้ำแล้วก็เริ่มค้าขายอาหาร ขายทุกอย่างรวมถึงข้าวมันไก่ ถือคติว่าอะไรที่ทำได้ก็ทำหมด จากร้านรถเข็นก็ขยับขยายมาเช่าห้องแถวที่เป็นสาขา 1 ในปัจจุบัน 

มาถึงรุ่นคุณพ่อสมบัติที่เริ่มมีลูกค้าเยอะขึ้น สั่งอาหารหลากหลายขึ้น ขณะที่ครัวมีขนาดเล็กจนบางวันแทบรองรับไม่ไหว จึงตัดเหลือแค่ข้าวมันไก่ที่ขายดีที่สุด

ทายาทรุ่น 3 โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ สถาปนิกผู้ขยายสาขา สร้างระบบ และวัฒนธรรมในร้าน

ประตูน้ำกลายเป็นย่านที่ขึ้นชื่อเรื่องข้าวมันไก่ เพราะมีอยู่หลายร้าน ร้านคุณพ่อเล็กสุด เลยมีกลยุทธ์ธุรกิจว่าจะเปิดเร็วและปิดดึกกว่าร้านอื่น คือ ตี 5 ครึ่งถึงตี 2 ทุกวันไม่มีวันหยุด และเริ่มตั้งชื่อภาษาไทยเป็นร้านแรก เพื่อให้คนเรียกง่าย จำง่าย เพราะความอร่อยที่บอกต่อกัน จึงทำให้มีทั้งคนไทย ทัวร์ต่างชาติ หรือแม้แต่ดาราฮ่องกงชื่อดังอย่าง หลิว เต๋อหัว มาเป็นลูกค้าประจำ

ลองนึกภาพโกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำในคืนที่ขายดีสุดๆ ในร้านขนาด 2 ห้องแถวมีลูกค้าเต็ม 88 ที่นั่ง นอกร้านต่อแถวยาวไปอีก 20 – 30 คิว 

ในทางธุรกิจมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือรายได้เยอะ มีลูกค้าเข้าออกตลอดคืน ข้อเสียคือพนักงานอาจบริการได้ไม่ทั่วถึง

คุณพ่อสมบัติเห็นว่างานนี้มันไม่สบาย จึงบอกลูกชายคนเดียวให้เลือกเรียนอะไรก็ได้ที่อยากเรียน และไปทำอย่างอื่นที่สบายกว่า

เกียร์จบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท และโตมากับคำถามที่เจอประจำคือ ‘ถ้าพ่อเลิก จะทำต่อไหม’ ตัดสินใจอยู่ครึ่งปีก็กลับจากอเมริกามารับช่วงต่อ เพราะร้านนี้คือบ้านของเขา

หลักสูตรผู้ประกอบการขนาดย่อม

โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำเป็นเหมือนหลักสูตรผู้ประกอบการแรกในชีวิตของเกียร์

ปีหนึ่ง เรียนรู้ทุกอย่าง ทุกกระบวนการ ตั้งแต่หุงข้าว ต้มไก่ เก็บจาน คิดเงิน

ปีสอง เอาความรู้ที่ได้มาปรับปรุงพัฒนา และขยายร้านออกไปเป็นสาขาต่างๆ

ก่อนจะเข้ามารับช่วงต่ออย่างจริงจัง เกียร์มีภาพร้านรุ่นตัวเองในหัวว่าต้องตกแต่งแบบไหน ทำครัวแบบไหน มีพนักงานเท่าไหร่ ทั้งหมดเป็นการมองผ่านเลนส์ของสถาปนิกที่ดูเรื่องพื้นที่ใช้สอยและความสวยงามเป็นหลัก

ทายาทรุ่น 3 โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ สถาปนิกผู้ขยายสาขา สร้างระบบ และวัฒนธรรมในร้าน

พอได้เข้ามาทำงานจริง เขาเปลี่ยนมามองร้านผ่านเลนส์ผู้บริหาร จะบริหารธุรกิจอย่างไร บริหารคนอย่างไร ใช้พื้นที่ในร้านอย่างไรให้ตอบโจทย์ทั้งคนทำงานและลูกค้า ระบบการเงิน ระบบทอนเงิน ระบบการดูแลวัตถุดิบ ซึ่งมีผลต่อการออกแบบร้านทั้งหมด เขาได้เรียนรู้ว่าแค่ร้านสวยและมีเมนูเล่มหนา ไม่ได้แปลว่าร้านอาหารนั้นจะอยู่รอดเสมอ 

หลังจากจบหลักสูตรปีแรก เขาปักธงว่าจะขยายสาขา แต่จะทำอย่างนั้นได้ โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำต้องพัฒนา 2 เรื่อง คือ ระบบควบคุมคุณภาพ และ แบรนดิ้ง

เรื่องแบรนดิ้งไม่ซับซ้อน Pain Point ตลอดการทำธุรกิจ 60 ปีคือคนจำชื่อไม่ค่อยได้ เรียกแต่ ‘ข้าวมันไก่ประตูน้ำเสื้อชมพู’ ไม่ก็ ‘ร้านตีนสะพาน’ ซึ่งสีชมพูก็ได้มาเพราะความบังเอิญ รุ่นคุณพ่อช่วงแรกๆ ไม่มีเสื้อพนักงาน เลยเอาเสื้อสีเลือดหมูสมัยเรียนนายร้อยฯ มาให้ใส่ ใส่ไปนานเข้าเสื้อซีด ตอนจะซื้อใหม่เอาสีเสื้อเดิมไปเทียบที่ร้าน ใกล้เคียงสุดคือสีบานเย็น 

ทายาทรุ่น 3 โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ สถาปนิกผู้ขยายสาขา สร้างระบบ และวัฒนธรรมในร้าน

เกียร์เริ่มจากทำโลโก้ใหม่ ลืมคำว่าข้าวมันไก่ประตูน้ำ ลืมคำว่าเจ้าเก่า ลืมคำว่าสีชมพู แล้วโฟกัสที่ชื่อ ‘โกอ่าง’ เพราะเป็นเครื่องหมายการค้า พยายามสื่อสารออกไปในช่องทางต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

นอกจากนี้ เขายังฟังลูกค้ามากขึ้น พบว่าลูกค้ามองหาเมนูทานเล่นและเมนูผัก เห็นโอกาสในเมนูอาหารที่มีแต่ข้าวมันไก่ ทั้งๆ ที่ครัวใหญ่มาก จึงเพิ่มรายการอาหารเข้าไปในเมนู รวมถึงข้าวมันไก่ทอดที่ไม่เคยมีในรุ่นของคุณปู่และคุณพ่อ เขาบอกว่าไม่ได้ทำเพราะร้านอื่นทำ แต่เพราะเป็นสิ่งที่ลูกค้าถามหามากที่สุด เลยอยากลองทำไก่ทอดในแบบของโกอ่างที่วันนี้ก็ยังปรับสูตรทุกๆ 2 สัปดาห์ เพื่อหารสชาติที่ตรงใจที่สุด

เขาบอกว่า “ผมไม่ได้อยากให้ร้านมีเมนูครบทุกอย่าง แต่ขอให้แต่ละอย่างเป็นอะไรที่เราภูมิใจที่จะเสิร์ฟให้ลูกค้า” 

Disrupt ระบบควบคุมคุณภาพของธุรกิจอายุ 60 ปี

การยกระบบธุรกิจอายุครึ่งศตวรรษใหม่ทั้งหมดเป็นโจทย์หิน ทายาททุกคนรู้เรื่องนี้ดี

เกียร์เตรียมใจกับสิ่งนี้ เลยตั้งใจว่าจะปรับเปลี่ยนสาขาดั้งเดิมเท่าที่จำเป็น และนำไปใช้กับสาขาที่ขยายออกไปเต็มร้อย

โจทย์แรกคือระบบออเดอร์และทอนเงิน สมัยก่อนแยกเป็นถ้วย เหรียญห้า เหรียญสิบ เหรียญบาท และธนบัตร เวลาพนักงานเสิร์ฟยื่นเงินมา คนทำหน้าที่เก็บเงินจะคิดเลขในหัวแล้วทอนเลย

ทายาทรุ่น 3 โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ สถาปนิกผู้ขยายสาขา สร้างระบบ และวัฒนธรรมในร้าน

“ถูกบ้างผิดบ้าง ลูกค้ามานั่งยี่สิบโต๊ะพร้อมกัน เราก็ไม่มีระบบจดบิล แต่พนักงานที่ร้านเก่ง ทำงานด้วยความจำ รับออเดอร์แล้วจำมาบอกต่อ ข้าวมันไก่ธรรมดา เนื้อส่วนไหน เอาซุปอะไร เครื่องดื่มอะไรบ้าง สมัยก่อนไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์สั่งออเดอร์คิดเงิน ถ้าเดินไปดูร้านแรกจะเห็นรถเข็น มีเก้าอี้ มีจานวางอยู่ 

“สมมติลูกค้าสั่งว่า ข้าวมันไก่ราดข้าวเนื้อน่องไม่หนัง เราก็หยิบจานมาวาง แต่มีวิธีวางเป็นโค้ดเพื่อบอกคนทำว่าเขาต้องทำอะไร ถ้าวางตรงนี้แล้วหงายคืออะไร วางตรงนี้แล้วคว่ำคืออะไร”

ลองจินตนาการว่าข้างหน้ามีไก่ต้มหนึ่งตัว หัวอยู่ทางขวา อกอยู่ตรงกลาง น่องอยู่ทางซ้าย วางจานไว้ตรงไหนคือเอาเนื้อส่วนนั้น วางคว่ำมีหนัง หงายไม่ติดหนัง ถ้าเอาเครื่องในด้วยต้องวางหนังยางหนึ่งเส้น ถ้าเอาแต่ตับไม่เอากึ๋น จะมีชิ้นพลาสติกเล็กๆ วางแทน

ทายาทรุ่น 3 โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ สถาปนิกผู้ขยายสาขา สร้างระบบ และวัฒนธรรมในร้าน

“แต่ใครมาก่อนหลังต้องจำเอาเอง” เกียร์หัวเราะ “พวกผมทำกันจนชิน คล่อง รันออเดอร์ได้ แต่ลองคิดดูว่าถ้าวันหนึ่งผมไม่สบาย ให้คนอื่นที่ไม่คล่องมารันคือพังเลยนะ แม้จะเป็นวิธีที่ทำกันมาตั้งแต่แรก แต่มันทำงานลำบาก ก็เลยคิดว่าต้องเปลี่ยนแล้ว”

โกอ่างในมือทายาทรุ่นสามนำระบบ QoS (Quality of Service Standards) มาใช้ ทำให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

โจทย์หินข้อถัดมาคือการควบคุมคุณภาพในครัว 

“พนักงานในครัวที่อยู่มาสิบ ยี่สิบปี เขาใช้ระบบตาตัก ใช้ความรู้สึก สมมติต้องใส่วัตถุดิบห้าช้อนกระบวย วันหนึ่งกระบวยหักไปซื้อกระบวยรุ่นใหม่ ก็ยังใช้ห้าช้อนเหมือนเดิม รสชาติจะไม่เพี้ยนได้ยังไง ผมเลยเอาการชั่งตวงมาใช้ สอนทุกคนในครัวเพราะเขาไม่คุ้น

“หรืออย่างเรื่องอุณหภูมิก็เหมือนกัน น้ำร้อนน้ำเย็นแต่ละคนก็ไม่เท่ากันอีก เลยต้องใช้เครื่องวัดอุณหภูมิและเครื่องจับเวลา เข้าใจเลยว่าทำไมสมัยคุณพ่อเหนื่อยมาก เพราะแกต้องดูทุกรายละเอียด พอไม่มีระบบควบคุม วัดไม่ได้ ก็เลยต้องเช็กตลอดเวลา

“แต่บางอย่างเปลี่ยนไม่ได้จริงๆ ที่ร้านมีหม้อต้มอะลูมิเนียมใหญ่ๆ เก่าเร็ว ซื้อแล้วก็เสีย แล้วก็ซื้อใหม่ วนไปอย่างนี้ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ซื้อดีๆ ก็เลยไปซื้อหม้อสเตนเลสมาให้ จากใบละห้าพันเป็นสองหมื่น คิดเสียว่าจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ปรากฏว่าต้มแล้วไม่เวิร์ก เพราะเหล็กแต่ละชนิดให้ความร้อนไม่เท่ากัน”

ทายาทรุ่น 3 โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ สถาปนิกผู้ขยายสาขา สร้างระบบ และวัฒนธรรมในร้าน
ทายาทรุ่น 3 โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ สถาปนิกผู้ขยายสาขา สร้างระบบ และวัฒนธรรมในร้าน

ความเปลี่ยนแปลงกับองค์กรอายุหลายสิบปีไม่ใช่ของคู่กัน เกียร์อาศัยการทดลองทำเป็นตัวอย่าง เอาชนะความเคยชินด้วยการทำให้เห็น อะไรไม่ดี ปรับ อะไรดีกว่าก็คงไว้ เขาพยายามแก้ไขเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการนำเครื่องซอยพริกมาใช้แทนแรงงาน แล้วให้พนักงานทำงานที่จำเป็นจริงๆ ให้เขาเอาแรงกาย แรงใจ และเวลา ไปบริการลูกค้า

ระบบเหล่านี้ส่งผลใหญ่ๆ ให้โกอ่าง 3 เรื่อง

หนึ่ง เมื่อมีพนักงานใหม่เข้ามาจะเป็นงานเร็ว ไม่ต้องทดจำทุกอย่างไว้ในหัว และจดเป็นตัวเลขได้เลย 

สอง เวลาเกิดปัญหาก็ตรวจสอบง่าย จากที่เคยต้องนั่งสัมภาษณ์พนักงานทีละคนว่าผิดพลาดตรงไหน ตอนนี้รู้ได้เลยว่าตกหล่นอะไร เพราะมีการวัดผลและการจดบันทึกไว้ทุกขั้นตอน

สาม ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อความพึงพอใจลูกค้าโดยตรง การทอนเงินพลาดน้อยลง ลูกค้าได้อาหารเร็วขึ้น ถูกต้องตามลำดับมากขึ้น รสชาติเสถียรและแม่นยำ และได้รับบริการที่เอาใจใส่มากขึ้น

ทายาทรุ่น 3 โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ สถาปนิกผู้ขยายสาขา สร้างระบบ และวัฒนธรรมในร้าน

โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ ที่ไม่ได้มีแค่ที่ประตูน้ำ

สิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานระหว่างคุณพ่อและเกียร์คือ ความเห็นต่าง 

คุณพ่อสมบัติเป็นเถ้าแก่มาทั้งชีวิต ตัดสินใจด้วยตัวเองมาโดยตลอด ไม่เคยต้องฟังใคร และทำงานจากประสบการณ์จริง ส่วนเกียร์ แม้จะไม่เจนจัดในแวดวงธุรกิจร้านอาหารอย่างรุ่นพ่อ แต่ในหัวมีทฤษฎีสนับสนุนการตัดสินใจทุกอย่าง

ครั้งหนึ่งมีลูกค้าประจำชาวญี่ปุ่นมาขอซื้อแฟรนไซส์ไปเปิดที่ชิบูย่า กรุงโตเกียว หว่านล้อมกันอยู่นานจนกว่าจะตกลง

“คุณพ่อมองว่าร้านตัวเองเป็นร้านลูกกระจ๊อก แค่ร้านขายข้าวมันไก่ จะทำร้านดีๆ ทำโลโก้ ทำการตลาด ไปทำไม แต่พอคนญี่ปุ่นเอาไปทำใหม่ จัดร้านใหม่ คุมมาตรฐานในครัว พอแกไปดู แกก็ประทับใจ ภูมิใจว่ามันไปได้จริงๆ ก็ค่อยๆ เปิดใจ”

การขยายสาขาจึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อสมบัติสนับสนุนมาตั้งแต่เกียร์เข้ามารับช่วงต่อ เมื่อพัฒนาระบบภายในให้มีคุณภาพที่ควบคุมได้แล้ว โกอ่างจึงขยายธุรกิจออกไปเป็น 6 สาขาทั่วกรุงเทพฯ และ 4 สาขาที่ ViVoCity, JEM, NEX, และ Plaza Singapura ประเทศสิงคโปร์

สาขาที่สิงคโปร์เป็น Joint Venture ร่วมกับคนสิงคโปร์ที่เข้าใจความเป็น ‘โกอ่าง’ จิตใจของคนทำร้านอาหาร และมีความพร้อมเรื่องการบริหารร้าน เชฟต้องบินมาเรียนสูตรที่เมืองไทย วัตถุดิบบางอย่างส่งออกจากไทย บางอย่างใช้ของท้องที่ แต่พยายามรักษารสชาติให้ใกล้เคียงที่สุดด้วยระบบควบคุมคุณภาพที่เกียร์ออกแบบไว้ ส่วนการบริหารจัดการต้องตัดสินใจร่วมกันทั้งสองฝ่าย จากหนึ่งสาขาค่อยๆ ขยายเป็นสอง สาม และสี่ ภายในเวลา 2 ปี

ทายาทรุ่น 3 โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ สถาปนิกผู้ขยายสาขา สร้างระบบ และวัฒนธรรมในร้าน

“ถ้าอยู่ที่ประตูน้ำที่เดียวคงทำอะไรได้ไม่เต็มที่หรอก” คุณพ่อสมบัติบอกเขาแบบนั้น

“เปรียบเทียบสมัยที่ยังไม่เปิดสาขา ผมอยู่ที่ประตูน้ำ ศึกษางานไปด้วย คิดว่าจะพัฒนาร้านของพ่อยังไงให้ขยายไปเปิดของตัวเองได้ แต่มันคิดอยู่ในกรอบเล็กๆ เพราะมีที่เดียว ผมเข้าร้านมาก็เจอทุกคนแล้ว ระบบงานทุกอย่างอยู่ที่นี่ พอมีหลายสาขา เราตัวคนเดียวอยู่ทุกที่พร้อมกันไม่ได้ โหลดงานก็เยอะขึ้น ไหนจะสั่งของ ไหนจะทำบัญชี ไหนจะดูสถิติ และคิดแผนธุรกิจ”

ร้านยุคพ่อไม่เคยมีผู้จัดการ ลำดับขั้นเริ่มจากเถ้าแก่ ที่เหลือเป็นพนักงานทุกคน เวลารับพนักงานใหม่ไม่มีพิธีรีตองวุ่นวาย ถาม 2 เรื่องหลักๆ คือ อายุและเงินเดือน หากพร้อมก็เริ่มงานได้เลย ไปเรียนรู้กันเองหน้างาน ถ้าถูกก็โชคดี ถ้าผิดโทษใครไม่ได้เลย นอกจากตัวเองที่ไม่ได้สอนเขา

สาขาที่เพิ่มขึ้นจึงต้องการพนักงานมากขึ้นด้วย เกียร์ทำโกอ่างให้เป็นระบบองค์กรที่มีลำดับขั้น โดยเรียนรู้เทคนิคการอ่านคนมาจากพ่อ 

จากร้านที่อำนาจตัดสินใจอยู่ที่เถ้าแก่เพียงผู้เดียว โกอ่างวันนี้มีฝ่ายบุคคล ผู้จัดการสาขา หัวหน้าพ่อครัว เขาถึงกับสร้าง Roadmap จัดอบรมพนักงานใหม่ และเขียนคู่มือองค์กรขึ้นมาหนึ่งเล่ม เพื่อสอนให้คนทำงานเข้าใจวัฒนธรรมของโกอ่าง วิสัยทัศน์ ความเชื่อ และวิธีการทำงานร่วมกัน

ละเอียดไปถึงอุปกรณ์ในครัวต้องยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน ทุกสาขา เพื่ออำนวยความสะดวกให้พนักงาน โดยเฉพาะคนเก่าคนแก่ ถ้าวันหนึ่งต้องย้ายไปทำงานร้านอื่น จะได้คุ้นเคย

ทายาทรุ่น 3 ‘โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ’ ผู้ทิ้งอาชีพสถาปนิกมารับช่วงต่อร้านอาหารของพ่อ เข้ามาพัฒนาระบบ สร้างวัฒนธรรมในร้าน และขยาย 6 สาขาในเวลา 6 ปี

รสชาติที่สม่ำเสมอ

‘แล้วโกอ่างต่างจากเจ้าอื่นอย่างไร’ คำถามนี้คงตอบได้ยาก ข้าวมันไก่ก็เหมือนอาหารอื่นๆ เป็นเรื่องเฉพาะตัวที่แต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ร้านนี้อยู่ได้นาน 60 ปี คือความละเอียดของคุณพ่อสมบัติ ถ้าอะไรยังไม่ได้ดั่งใจจะไม่ยอมแพ้ไปทำอย่างอื่น

เลือกข้าวอย่างไร ข้าวสายพันธุ์ไหน หุงอย่างไร ข้าวแต่ละฤดูต่างกันไหม ข้าวแต่ละกระสอบต้องทดลองสังเกตอย่างไร ไฟแรงแค่ไหน ต้องใส่ข้าวลงในน้ำตอนไหน โดยมีคุณพ่อวัดความถูกต้องด้วยการชิม

เหล่านี้เป็น Know-how ที่ต้องใช้กาลเวลาในการเรียนรู้ อาศัยวินัย ความรัก และการเอาใจใส่ในการรักษามาตรฐานเอาไว้ เหตุผลที่โกอ่างไม่ต่อสัญญาแฟรนไชส์กับลูกค้าญี่ปุ่นคนนั้น เพราะเขาต้องการปรับคุณภาพวัตถุดิบเพื่อลดต้นทุน พ่อไม่ยอมเพราะขัดกับความตั้งใจที่ทำมาตลอด

สิ่งที่เกียร์ต้องการในวันนี้นั้นเรียบง่าย แต่ทำได้ยาก และเป็นเหตุผลที่เขาพยายามพัฒนาระบบภายในต่างๆ เพื่อสร้างคุณภาพที่ควบคุมได้ นำไปใช้แต่ละสาขาได้ เขาอยากให้โกอ่างเป็นร้านอาหารที่ลูกค้ามาทานแล้วรสชาติสม่ำเสมอ

ทายาทรุ่น 3 ‘โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ’ ผู้ทิ้งอาชีพสถาปนิกมารับช่วงต่อร้านอาหารของพ่อ เข้ามาพัฒนาระบบ สร้างวัฒนธรรมในร้าน และขยาย 6 สาขาในเวลา 6 ปี

“ผมไม่ได้อยากให้ร้านหรูหรา อาหารเรามาจากสตรีทฟู้ด ราคาต้องสบายๆ แต่ควรเป็นร้านที่สม่ำเสมอ ผมชอบเปรียบเทียบกับ Starbucks คนอาจไม่ได้มองว่าขายกาแฟที่อร่อยที่สุด แต่คนมั่นใจว่าซื้อที่ไหนก็จะเหมือนกัน ไว้ใจได้ ไปต่างประเทศก็เหมือนกัน เวลามีลูกค้ามาบอกว่าแต่ก่อนเคยกินร้านที่ประตูน้ำ ตอนนี้มากินอีกที่แล้ว รสชาติเดียวกันแแต่สะดวกกว่า ผมจะดีใจมาก”

ทายาทรุ่นสาม

รุ่นปู่… เน้นเมนูหลากหลาย ไม่ได้ให้ความสำคัญกับรสชาติเป็นอย่างแรก

รุ่นพ่อ… ตัดเมนูอื่นๆ ออกแล้วเหลือข้าวมันไก่เพียงอย่างเดียว พิถีพิถันปรับสูตรไก่ ข้าว และน้ำจิ้ม ให้อร่อยดั่งใจ และยังใช้สูตรเดิมมากว่า 40 ปีแล้ว

รุ่นเกียร์… มีหน้าที่รักษาสูตรเดิมไว้ ตามเงื่อนไขของวัตถุดิบที่ควบคุมไม่ได้

“ไก่สามสิบปีก่อนไม่ใช่แบบนี้ ข้าวสารก็ไม่ใช่แบบนี้ ยี่ห้อน้ำจิ้ม ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว ก็ไม่นิ่งเหมือนเดิม วัตถุดิบในไทยกับต่างประเทศก็ไม่เหมือนกัน เราต้องพยายามตามวัตถุดิบให้ทันว่าเปลี่ยนไปแค่ไหน เขาผลิตยังไง แล้วเราจะใช้ยังไงให้แน่ใจว่ารสชาติยังเหมือนกับเมื่อก่อนจริงๆ  

“เคยมีลูกค้าทักว่า ‘แต่ก่อนป้ามาทานกับพ่อ ตอนนี้มีลูกแล้ว สมัยก่อนมันอีกฟีลหนึ่งเลยเนอะ’ ผมว่าความรู้สึกที่ไม่เหมือนเดิมขึ้นอยู่กับทั้งเรื่องของความทรงจำและรสชาติของบางอย่างที่เปลี่ยนจริงๆ หน้าที่ของผมคือทำให้มันเปลี่ยนน้อยที่สุด จะด้วยวัตถุดิบ ด้วยกระบวนการ หรือระบบต่างๆ ที่เรามี”

ทายาทรุ่น 3 ‘โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ’ ผู้ทิ้งอาชีพสถาปนิกมารับช่วงต่อร้านอาหารของพ่อ เข้ามาพัฒนาระบบ สร้างวัฒนธรรมในร้าน และขยาย 6 สาขาในเวลา 6 ปี

เช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหารอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตโควิด-19 จำนวนคนสัญจรหน้าร้านประตูน้ำสาขา 2 ลดลงจากวันละ 250,000 เหลือไม่ถึง 10,000 คน ร้านอาหารที่เคยคนเต็มแน่นจนต่อคิวไปนอกร้าน เหลือเพียงห้องแถวเปล่าที่ไม่รู้จะเป็นแบบนี้ถึงเมื่อไหร่ โครงการขยายสาขาและครัวกลางที่วางแผนไว้ต้องหยุดชะงัก

โกอ่างยังไม่มีเป้าหมายปีหน้าชัดเจน เพราะวันนี้แทบจะเปลี่ยนไปทุกชั่วโมงอยู่แล้ว เกียร์พยายามแก้ปัญหาตรงหน้าไปทีละจุด ถ้าต้องเดลิเวอรี่ ก็คิดระบบเดลิเวอรี่ที่จะรักษารสชาติอาหารให้ดีที่สุด ถ้ารายได้จากการขายหน้าร้านไม่เพียงพอ ก็เพิ่มบริการ Catering เพื่อให้ธุรกิจอยู่ต่อไปได้

เขาบอกว่าการทำธุรกิจร้านอาหารเหนื่อยกว่าที่คิดไว้แต่แรกหลายเท่า 

“บางคนมาขอซื้อแฟรนไชส์เพราะเห็นว่าขายดี เงินดีแน่นอน ถ้าคุณมาด้วยเหตุผลนี้ เวลาต้องตัดสินใจ คุณตัดสินใจไม่ได้หรอก เพราะคุณจะตัดสินใจด้วยเงิน อย่างของผม เราตัดสินใจด้วยหลักการว่า ทำอะไรที่ดีต่อร้าน รักษาคุณภาพยังไง รักษาพนักงานยังไง”

เขาทิ้งท้ายว่า

“ในช่วงโควิด-19 วิธีรอดที่ง่ายที่สุดของร้านอาหารคือ เลิกจ้าง จนถึงทุกวันนี้เรายังไม่เลิกจ้างใครเลย ทุกคนอยู่ครบ น้องก็สบายใจที่เราพยายามเทคแคร์ เราซื้อใจเขา พอสถานการณ์ดีขึ้น เขาก็จะเลือกอยู่กับเราต่อ เรื่องคนสำคัญมาก ให้เราไปวิ่งเสิร์ฟในร้านคนเดียวยังไงไหว เราต้องพึ่งแรงเขา เขาก็พึ่งให้เราดูแล”

ทายาทรุ่น 3 ‘โกอ่างข้าวมันไก่ประตูน้ำ’ ผู้ทิ้งอาชีพสถาปนิกมารับช่วงต่อร้านอาหารของพ่อ เข้ามาพัฒนาระบบ สร้างวัฒนธรรมในร้าน และขยาย 6 สาขาในเวลา 6 ปี

Writer

พิมพ์อร นทกุล

พิมพ์อร นทกุล

บัญชีบัณฑิตที่พบว่าตัวเองรักหมามากกว่าคน

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน