เข้าพรรษาแล้ว ลองหาดอกเข้าพรรษามาปักไว้ในแจกันในบ้านดู อาจจะพบพลังงานอันสงบร่มเย็นก็ได้

เพราะปีหนึ่งจะออกดอกเพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา คนก็เลยเรียกว่าดอกเข้าพรรษา ว่ากันว่าแต่ก่อนพบมากแถบอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี แต่ตอนนี้ได้นำมาปลูกกันในภาคอื่นๆ ด้วย และเพราะว่าออกดอกมาประจวบเหมาะในช่วงเวลาเข้าพรรษาพอดีนี่แหละ จึงนิยมเก็บมาถวายพระ หรือที่รู้จักกันดีว่าตักบาตรดอกเข้าพรรษา อย่างที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทอันศักดิ์สิทธิ์

ดอกเข้าพรรษา ดอก ‘บะเด่งมะหน่าย’ ในนิทานพม่าที่ทำให้ช่างทองร้องไห้
ภาพ : ธนภัทร ลิ้มหัสนัยกุล 

ข้อมูลทางพฤกษศาสตร์รายงานว่า ดอกเข้าพรรษาที่เรียกกันนั้นอยู่ในสกุลข่าลิง (Globba) วงศ์ขิง (Zingiberaceae) นักพฤกษศาสตร์พบว่าดอกเข้าพรรษาและพืชอื่นๆ ในสกุลเดียวกันนี้เป็นพืชที่ไม่เป็นพิษ แต่ก็ไม่มีคนพื้นถิ่นไหนใช้ประกอบอาหารหรือนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรกันอย่างจริงจัง เห็นจะมีเพียงคนอินเดียบางที่เท่านั้นที่คั้นเอาน้ำจากหัวข่าลิงมารักษาแผลในปาก และมีการศึกษาพบว่าหัวข่าลิงมีนํ้ามันหอมระเหย ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย และต้านอนุมูลอิสระ 

ดอกเข้าพรรษา ดอก ‘บะเด่งมะหน่าย’ ในนิทานพม่าที่ทำให้ช่างทองร้องไห้
ดอกเข้าพรรษา ดอก ‘บะเด่งมะหน่าย’ ในนิทานพม่าที่ทำให้ช่างทองร้องไห้

พืชในสกุลข่าลิง (Globba) มีอยู่ราว 100 ชนิดทั่วโลก กระจายพันธุ์อยู่ในจีน อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดอกเข้าพรรษา หงส์เหิน กล้วยจะก่าหลวง กล้วยเครือคำ หรือกลางคาน มีชื่อต่างกันไปตามพื้นที่ต่างๆ สุดแล้วแต่พื้นที่ไหนปลูก ลักษณะเป็นไม้ล้มลุก โตขึ้นมาจากเหง้าใต้ดิน ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี เหง้าของดอกเข้าพรรษาที่ฝังอยู่ใต้ดินจะแทงใบขึ้นมารอรับน้ำฝนแรกที่เริ่มโปรยลงมาจากฟากฟ้า และใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน หลังฝนหยาดฟ้าชโลมดิน จนถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปีหรือวันเข้าพรรษา ดอกเข้าพรรษาจะออกดอกสีขาว ม่วง ชมพู เหลือง พร้อมรัศมีอันเปล่งปลั่ง 

พระพุทธศาสนามีคติเกี่ยวข้องกับดอกไม้ปรากฏอยู่ในพระสูตรต่างๆ ซึ่งได้ยกย่องเชิดชูให้ดอกไม้นานาชนิดเป็นของสูงส่ง ควรค่าแก่การนำมาบูชา เช่นนั้นแล้ว ดอกไม้จึงเป็นวัตถุบูชาทางพุทธศาสนามาตั้งแต่โบราณกาล แต่จริงๆ แล้ว พบว่ามีการใช้ดอกไม้เป็นเครื่องสักการะเซ่นสรวงวิญญาณและสิ่งเหนือธรรมชาติมาอยู่ก่อนหน้านี้นานแล้ว 

ไม่มีใครรู้อย่างแน่ชัดหรอกว่าดอกไม้ได้เริ่มเข้ามาเบ่งบานในชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เมื่อไหร่กันแน่ มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์รายงานว่า ชนเผ่าแอซเท็ก (Aztec) ที่ขึ้นชื่อว่าค่อนข้างดุร้าย แต่พวกเขาก็ปลูกดอกไม้ไว้เรียงรายตามถนนหนทาง ดูเจริญหูเจริญตา ชาวเขมรโบราณปลูกดอกบัวเพื่อเอามาใช้ทำอาหาร บรรดาแม่บ้านยุโรปสมัยกลางนิยมนำดอกไวโอเล็ตที่อุดมไปด้วยวิตามินมาปรุงเป็นอาหาร มีรายงานว่านักโบราณคดีขุดพบดอกบัวสีคราม ซึ่งอยู่ในสภาพแห้งกรอบ ภายในหลุมศพของฟาโรห์ตุตันคาเมนแห่งอียิปต์ หลายวัฒนธรรมเชื่อกันว่าเวลาที่ดอกไม้บานสะพรั่งคือเหตุการณ์มหัศจรรย์ที่ต้องเฉลิมฉลอง เช่น เวลาที่ดอกซากุระบาน 

ดอกเข้าพรรษาเบ่งบานขึ้นพร้อมกับเหตุการณ์สำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ขณะนั้น พราหมณ์โกณฑัญญะ หนึ่งในห้าปัญจวัคคีย์ ได้เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนเกิดดวงตาเห็นธรรมและขออุปสมบท พระอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นพระสาวกและภิกษุองค์แรกในโลก และทำให้เกิดมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นเหตุให้ชาวพุทธในอุษาคเนย์นำดอกไม้ดังกล่าวมาใช้บูชาเนื่องในเหตุการณ์สำคัญนั้น 

ดอกเข้าพรรษา ดอก ‘บะเด่งมะหน่าย’ ในนิทานพม่าที่ทำให้ช่างทองร้องไห้
เมฆฝนฤดูเดือนเข้าพรรษาเหนือฟ้าชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง
ดอกเข้าพรรษา ดอก ‘บะเด่งมะหน่าย’ ในนิทานพม่าที่ทำให้ช่างทองร้องไห้
วันเข้าพรรษาเมียนมา มุมหนึ่งที่พระเจดีย์ชเวดากอง
ดอกเข้าพรรษา ดอก ‘บะเด่งมะหน่าย’ ในนิทานพม่าที่ทำให้ช่างทองร้องไห้
วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ณ วัดโกทัตจีจอง เมืองย่างกุ้ง

ไม่เพียงแต่ในภาษาไทยเท่านั้นที่เราพบชื่อเรียกดอกเข้าพรรษาอย่างหลากหลาย ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา เราก็พบชื่อเรียกดอกเข้าพรรษาที่หลากหลายเช่นเดียวกัน แต่ชื่อที่มีเหมือนกับภาษาไทย คือคำเรียกว่า หว่าโส่ปาน (ဝါဆိုပန်း) แปลว่าดอกเข้าพรรษาเหมือนกัน

ชาวเมียนมาเรียกฤดูเดือนเข้าพรรษาว่า ဝါဆို ออกเสียงว่า ‘หว่าโส่’ เดือนนี้ ถ้านับตามปฏิทินจันทรคติเมียนมาจะตกราวเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม พระอรรถกถาจารย์เมียนมาอธิบายว่า ‘หว่าโส่’ มาจากภาษาบาลี ท่านอภิปรายว่าเป็นคำบาลีผสมกับคำเมียนมา 

คำว่า ‘หว่า’ มาจากบาลี คือ ‘วาส’ (นามเพศชาย) สร้างมาจาก วสฺ ธาตุ แปลว่า อยู่ อาศัย (ลง ณ ปัจจัยในราคาทิตัทธิต ทำให้ วสฺ ธาตุ กลายเป็นคำนาม แปลว่า ที่อยู่, การอยู่, เครื่องนุ่งห่ม, น้ำหอม, ผ้า) เมื่อเอาคำบาลี ‘วาส’ มาผสมกับคำเมียนมา คือ ‘โส่’ (กริยาภาษาเมียนมา) แปลว่า กล่าว โดยที่ ‘วาส’ ตัด ส ท้ายคำทิ้ง เป็น หว่าโส่ แปลว่า กล่าวในที่อยู่หรือที่พำนัก 

ท่านอธิบายต่อว่า เป็นฤดูเดือนที่พระสงฆ์องค์เจ้าทั้งหลายสาธยาย เทศน์ หรือสวดพระธรรมคัมภีร์อยู่ในอาวาสตลอดช่วงจำพรรษา ในวรรณคดีโบราณและจารึกมีชื่อเรียกเดือนนี้อีกชื่อหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับคำบาลี เรียกว่า မြေတာ ออกเสียงว่า มเหย่ ต่า

มเหย่ (မြေ) เป็นคำนาม แปลว่าดิน แผ่นดิน ส่วน ต่า (တာ) เป็นคำกริยา แปลว่า วัด รังวัด รวมกันมีความหมายว่า เดือนที่ชาวไร่ชาวนาทั้งหลายวัดที่นาของตัวเอง เพื่อกำหนดว่าปีนี้จะไถหว่านกี่แปลง มากน้อยขนาดไหน ถ้าปีนี้ได้แต่งลูกเขยหรือลูกสะใภ้เพิ่มเข้ามาเป็นแรงงาน ก็จะขยายเนื้อที่ไถหว่านออกไปให้มากหน่อย

 มเหย่ ต่า ไม่เกี่ยวอะไรกับพระสงฆ์เลย เป็นเรื่องของชาวไร่ชาวนา สัมพันธ์กับวิถีชีวิตไพร่บ้านพลเมืองโดยทั่วไป ปัจจุบัน ภาษาเมียนมามาตรฐานกำหนดให้เรียกเดือนนี้ว่า เดือนหว่าโส่ คนรุ่นใหม่แทบไม่รู้เลยว่ามีชื่อเรียกแต่โบราณอีกชื่อหนึ่งเป็นคำเมียนมาแท้ ที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับวิถีของสงฆ์ 

ดอกเข้าพรรษา ดอก ‘บะเด่งมะหน่าย’ ในนิทานพม่าที่ทำให้ช่างทองร้องไห้
ดอกเข้าพรรษา ดอก ‘บะเด่งมะหน่าย’ ในนิทานพม่าที่ทำให้ช่างทองร้องไห้

ส่วนภาษาไทย นอกจากเรียกชื่อดอกเข้าพรรษาตามฤดูเดือนและเทศกาลแล้ว ยังมีชื่อที่เป็นที่รู้จักกันดีว่าดอกหงส์เหิน สาเหตุที่เรียกแบบนี้ เพราะลักษณะของดอกและเกสรคล้ายคลึงกับตัวหงส์ที่เหินบินอย่างสง่างาม และด้วยความงดงามชดช้อยของดอกไม้นี้ ทำให้มีชื่อภาษาเมียนมาหลายชื่อด้วย นอกจากจะเรียกว่าหว่าโส่ปาน ยังนิยมเรียกกันว่า บะเด่งโหง่ปาน (ပန်းထိမ်ငိုပန်း) แปลว่า ดอกช่างทองร้องไห้ และ บะเด่งมะหน่าย (ပန်းထိမ််မနိုင်) แปลว่า ช่างทองต้องยกมือขอยอมแพ้แต่โดยดี 

เหตุที่พวกเขาถึงต้องร้องไห้และยอมแพ้ มีนิทานเล่าว่าครั้งหนึ่งมีคนเอาดอกเข้าพรรษาไปให้ช่างตีทอง เขาอยากให้ช่างทองตีทองเป็นลวดลายเหมือนดอกเข้าพรรษา แต่เมื่อช่างทองพิจารณาดูแล้ว หมดปัญญาที่จะตีทองให้เหมือน ความสวยงามชดช้อยของดอกเข้าพรรษา ทำให้พวกเขาถึงกับต้องยกมือยอมแพ้ นั่งร้องไห้กันเลยทีเดียว 

ดอกเข้าพรรษา ดอก ‘บะเด่งมะหน่าย’ ในนิทานพม่าที่ทำให้ช่างทองร้องไห้
ภาพ : The Myanmar Times
ดอกเข้าพรรษา ดอก ‘บะเด่งมะหน่าย’ ในนิทานพม่าที่ทำให้ช่างทองร้องไห้
ดอกเข้าพรรษา ดอก ‘บะเด่งมะหน่าย’ ในนิทานพม่าที่ทำให้ช่างทองร้องไห้
ภาพ : www.independent.co.uk

จริงๆ แล้ว ถ้าดอกเข้าพรรษาที่ว่านี้อยู่กับต้นก็ดูธรรมดา ไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไหร่ แต่เมื่อมีคนคิดสร้างสรรค์นำเอาไม้นี้มาจัดรวมกันเป็นช่อและชั้น มีลักษณะคล้ายบายศรี ก็ทำให้ดูสวยงามแปลกตา ถึงกับต้องไถ่ถามกันว่า นั่นดอกอะไร แปลกดีนะ 

ความงดงามของมันเคยทำให้ผู้คนแถบนี้ต้องสยบยอม ทำนองเดียวกับกล้วยไม้ไทยชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่าฟ้ามุ่ย แปลว่าฟ้าหม่นหมอง เนื่องจากความงามจากกลีบดอกสีฟ้าของฟ้ามุ่ย ทำให้สีของท้องฟ้าแลดูหม่นหมองไปเลย

นั่นก็สวยจนฟ้าหมอง นี่ก็สวยอย่างกับหงส์เหินลีลา สวยจนต้องยกมือ ขอยอมแพ้ แสดงว่าสวยชดช้อยจริงๆ ยอมแล้วจ้า

Writer

Avatar

วทัญญู ฟักทอง

มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็นช่างเรียงคำ แปลความ ล่ามภาษาไทย-พม่า พม่า-ไทย