สมัยนี้เวลาพูดถึง ฟิล์มกระจก คนส่วนใหญ่จะนึกถึงฟิล์มกระจกที่ติดกล้องมือถือกันรอยขีดข่วน น้อยคนนักที่จะคิดว่ามันคือฟิล์มรุ่นแรกๆ ในอดีตเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ไม่ได้ทำจากเซลลูโลสที่เรารู้จักกันมานาน ก่อนที่กล้องดิจิตอลจะมายึดครอง แต่เป็นฟิล์มที่ทำมาจากแผ่นกระจกเคลือบสารเคมี

ฟิล์มกระจก คือการนำแผ่นกระจกมาใช้รองรับการบันทึกภาพ เป็นการพัฒนาจากการถ่ายภาพระบบดาแกโรไทป์ (Daguerreotype) ที่ใช้แผ่นโลหะเคลือบสารเคมีเป็นวัสดุในการรองรับการถ่ายภาพ มาเป็นการใช้แผ่นกระจกเคลือบสารเคมีแทน ขนาดของฟิล์มกระจกประกอบด้วยหลากหลายขนาด ตั้งแต่ 4 นิ้ว ถึง 12 นิ้ว

เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสนามว่า หลุยส์ เจ.เอ็ม. ดาแกร์ (Louis J.M. Daguerre) ได้ถ่ายรูปได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ใน พ.ศ. 2382 เพียงแค่ 6 ปีต่อมา การถ่ายรูปก็เดินทางมาถึงสยามประเทศในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเข้ามากับคณะเผยแผ่ศาสนาคริสต์ โดยบาทหลวงลาร์นอดี (L’ Abbé Larnaudie) ได้นำกล้องถ่ายรูปเข้ามากรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2388 ตามคำสั่งของพระสังฆราช ฌ็อง บาติสต์ ปาลเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) ชาวฝรั่งเศสที่ได้ประจำอยู่ในกรุงเทพฯ มาก่อนแล้ว บาทหลวงลาร์นอดี จึงถือว่าเป็นช่างถ่ายรูปคนแรกของประเทศ และได้ถ่ายทอดวิชาการถ่ายภาพให้แก่พระยากรสาปน์กิจโกศล (โหมด อมาตยกุล), หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี หรือ ฟรานซิสจิตร) และพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ซึ่งเป็นช่างภาพรุ่นแรกของไทย

ราษฎรพายเรือมารอรับเสด็จ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วัดไลย์ เมืองลพบุรี พ.ศ. 2449
ราษฎรพายเรือมารอรับเสด็จ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วัดไลย์ เมืองลพบุรี พ.ศ. 2449
แม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำเมืองสมุทรปราการ ราษฎรเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จนิวัตพระนครจากทวีปยุโรป ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2450
แม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำเมืองสมุทรปราการ ราษฎรเฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จนิวัตพระนครจากทวีปยุโรป ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2450

การถ่ายรูปในช่วงแรกๆ ไม่ค่อยได้รับความนิยมมาก คนไทยยังไม่กล้าถ่ายรูป เพราะเกรงกลัวว่าจะอายุสั้น หรือเชื่อว่าภาพถ่ายจะดูดเอาวิญญาณของคนถูกถ่ายไปด้วย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเป็นกษัตริย์ที่สนพระราชหฤทัยในความรู้และความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการจากต่างประเทศอย่างจริงจัง เป็นพระองค์แรกที่ได้ฉายพระรูป และทรงใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์พระองค์และสยามประเทศ ด้วยการส่งพระบรมฉายาลักษณ์ไปให้ประมุขประเทศต่าง เช่น ประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา

การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกจึงเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในยุคแรกนิยมในหมู่ชนชั้นสูง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง

หญิงสาวเมืองเรณูนคร นั่งบนหอหรือเกยหอ สำหรับเทียบช้างให้คนขึ้นลงช้างได้สะดวก พ.ศ. 2449
หญิงสาวเมืองเรณูนคร นั่งบนหอหรือเกยหอ สำหรับเทียบช้างให้คนขึ้นลงช้างได้สะดวก พ.ศ. 2449
ร้านและโรงแรมของจีนสมบุญที่ตลาดน้ำปากน้ำโพ เมืองนครสวรรค์ หน้าร้านตั้งโต๊ะเครื่องบูชาและตกแต่งสถานที่ด้วยธงช้างเผือก รับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2449
ร้านและโรงแรมของจีนสมบุญที่ตลาดน้ำปากน้ำโพ เมืองนครสวรรค์ หน้าร้านตั้งโต๊ะเครื่องบูชาและตกแต่งสถานที่ด้วยธงช้างเผือก รับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2449

การถ่ายรูปในสยามประเทศได้พุ่งขึ้นสูง ในช่วงสมัยปลายรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงเล่นกล้องถ่ายรูปด้วยฟิล์มกระจกอย่างจริงจัง เวลาเสด็จประพาส ณ ที่ใด จะทรงมีกล้องถ่ายรูปติดพระองค์ไปด้วยแทบทุกครั้ง ทรงถ่ายรูปเองมากมาย ทำให้เจ้านาย ขุนนาง พ่อค้า ข้าราชการ นิยมเล่นกล้องถ่ายรูปกันแพร่หลาย เกิดรูปถ่ายมากมาย

จนถึงช่วง พ.ศ. 2488 เริ่มมีการถ่ายรูปด้วยฟิล์มชนิดเซลลูลอยด์ ที่ทันสมัยและล้างอัดได้ง่ายกว่า ทำให้การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกได้รับความนิยมลดลงและเลิกใช้ในการบันทึกภาพทั่วไป หลงเหลือแต่เพียงกลุ่มเล็กๆ ก่อนจะค่อยๆ หมดความนิยมไป

แต่เป็นโชคดีที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ ทรงริเริ่มในการจัดตั้งแผนกจดหมายเหตุรวมถึงหอรูปขึ้น ได้ทรงขอพระราชทานฟิล์มกระจกส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงของพระองค์ที่ทรงถ่ายไว้ และบางส่วนจากร้านถ่ายรูปฉายานรสิงห์ ห้างถ่ายรูปในราชสำนักรัชกาลที่ 6 มารวบรวมไว้ในหอรูป

ในเวลาต่อมา ฟิล์มกระจกในหอพระสมุดวชิรญาณจึงถูกส่งมอบให้สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เป็นผู้ดูแล ฟิล์มกระจกชุดนี้จึงถูกเรียกตามแหล่งที่มาเดิม คือหอพระสมุดวชิรญาณ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตรวัดมงคลบพิตร พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2467
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จทอดพระเนตรวัดมงคลบพิตร พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2467
บริเวณภายนอกพระระเบียงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ภาพโดยฟรานซิสจิตร สมัยรัชกาลที่ 4
บริเวณภายนอกพระระเบียงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ภาพโดยฟรานซิสจิตร สมัยรัชกาลที่ 4
วัดพระศรีรัตนศาสดารามขณะบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อราว พ.ศ. 2422 - 2424 ในคราวสมโภชพระนครครบ 100 ปี เห็นการใช้ตับจากล้อมพระเจดีย์และพระปรางค์ไว้เพื่อป้องกันฝนขณะปฏิสังขรณ์
วัดพระศรีรัตนศาสดารามขณะบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อราว พ.ศ. 2422 – 2424 ในคราวสมโภชพระนครครบ 100 ปี เห็นการใช้ตับจากล้อมพระเจดีย์และพระปรางค์ไว้เพื่อป้องกันฝนขณะปฏิสังขรณ์
เด็กชายกับตุ๊กตาจีน ในลานพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร
เด็กชายกับตุ๊กตาจีน ในลานพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

ปัจจุบันฟิล์มกระจกหอพระสมุดวชิรญาณจัดเก็บในกล่องไม้สักที่มีร่องสำหรับป้องกันการกระแทกของกระจก และมีกระดาษพิมพ์คำอธิบายภาพด้วยหมึกสีน้ำเงิน อันเป็นภูมิปัญญาการจัดเก็บฟิล์มกระจกให้คงสภาพเดิม ป้องกันความเสียหายได้เป็นอย่างดี ประกอบด้วยหลากหลายขนาด ตั้งแต่ 4 นิ้ว ถึง 12 นิ้ว รวมจำนวนทั้งสิ้น 35,427 แผ่น 

แบ่งเป็นภาพบุคคล ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ ภิกษุ ชาวบ้าน และชาวต่างประเทศ

ภาพสถานที่ เช่น พระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังเจ้านาย สถานที่ราชการ ร้านค้า สถานีรถไฟ ไปรษณีย์ โรงพยาบาล

ถนน สะพาน คลอง วัด โบราณสถาน เป็นต้น

ภาพเหตุการณ์สำคัญ ภาพพระราชพิธีและพิธีสำคัญ และภาพเบ็ดเตล็ด เช่น พระพุทธรูป นาฏศิลป์ การละคร เครื่องประกอบพิธีสำหรับงานต่างๆ เป็นต้น

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปเขาพระวิหาร เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2472
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปเขาพระวิหาร เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2472
เรือเบอร์มาของบริษัทอีสต์เอเชียติก เป็นเรือกลไฟสี่เสา ใช้เดินเรือโดยสารและขนส่งสินค้าระหว่างสยามกับทวีปยุโรป ราว พ.ศ. 2462
เรือเบอร์มาของบริษัทอีสต์เอเชียติก เป็นเรือกลไฟสี่เสา ใช้เดินเรือโดยสารและขนส่งสินค้าระหว่างสยามกับทวีปยุโรป ราว พ.ศ. 2462

ใน พ.ศ. 2535 องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ก่อตั้งแผนงานมรดกความทรงจำแห่งโลกขึ้น (The Memory of the World Programme of UNESCO) เพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์มรดกเอกสาร และเผยแผ่มรดกภูมิปัญญาของโลกที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือสื่อผสม เช่น หนังสือตัวเขียน สิ่งพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ ซึ่งเก็บอยู่ ณ ห้องสมุด และหอจดหมายเหตุทั่วโลก งานเหล่านี้ต้องมีคุณค่ามากในระดับโลก จนสมควรพิทักษ์รักษาไว้ไม่ให้สูญสลาย

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ที่ประชุม UNESCO ได้ประกาศให้ฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับจากฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก นับเป็นเอกสารลำดับที่ 5 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก อันแสดงถึงคุณค่ามหาศาลของฟิล์มกระจกเหล่านี้ เป็นมรดกความทรงจำแห่งสยาม ที่มีคุณค่าต่อการเป็นมรดกความทรงจำของโลก

ไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสไปชมนิทรรศการ ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยภาพถ่ายฟิล์มกระจกจำนวน 102 ภาพ จากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ย้อนรอยอดีตเรื่องราวชีวิตของผู้คนในสมัยรัชกาลที่ 5 – 7

ไม่บ่อยนักที่ฟิล์มกระจกเหล่านี้จะได้รับการอัดเป็นภาพขยายใหญ่ และนำมาให้ประชาชนทั่วไปได้ชม

ผู้เขียนเดินดูภาพถ่ายบางภาพเป็นฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 5

พระราชวังพญาไท สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ ต่อมาในรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ พระราชทานปรับปรุงเป็นโรงแรมสำหรับชาวต่างประเทศ
พระราชวังพญาไท สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ ต่อมาในรัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ พระราชทานปรับปรุงเป็นโรงแรมสำหรับชาวต่างประเทศ
การขนส่งพัสดุไปรษณีย์ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เห็นรถไฟสายใต้สิ้นสุดที่เมืองปีนัง
การขนส่งพัสดุไปรษณีย์ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เห็นรถไฟสายใต้สิ้นสุดที่เมืองปีนัง
นักเรียนพยาบาล โรงเรียนนางพยาบาล สภากาชาดสยาม รับประกาศนียบัตรเมื่อสำเร็จการศึกษา
นักเรียนพยาบาล โรงเรียนนางพยาบาล สภากาชาดสยาม รับประกาศนียบัตรเมื่อสำเร็จการศึกษา

ไฮไลต์ของนิทรรศการคือ ภาพถ่ายเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นไปยังหัวเมืองต่างๆ พร้อมด้วยเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ ไม่ว่าจะเป็นที่วังฤดูร้อนเกาะสีชัง หรือที่เมืองกำแพงเพชร ซึ่งพระองค์ได้เสด็จทอดพระเนตรแหล่งโบราณคดีหลายแห่ง รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงละคร โดยให้เจ้านายรับบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ

  ภาพชีวิตของผู้คนต่างๆ ตั้งแต่ชาวบ้าน ขุนนาง ชาวต่างประเทศ ไปจนถึงสถานที่ต่างๆ วัด วัง โรงพยาบาล โรงแรม อาคารต่างๆ และภาพบันทึกการเข้ามาของเทคโนโลยีตะวันตก คือ เรือกลไฟ รถไฟ ถูกบันทึกด้วยสายตาของช่างภาพไทย อาทิ โหมด อมาตยกุล, ฟรานซิสจิตร ฯลฯ

ผู้เขียนสะดุดตากับหลายภาพ อาทิ ผู้คนในโรงพยาบาลบ้า ที่ปัจจุบันไม่อาจถ่ายได้แล้ว เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ผู้ป่วย ภาพหญิงสาวในอดีต ภาพเรือกลไฟที่เพิ่งเข้ามาพร้อมกับความเจริญแบบตะวันตก ภาพเหล่านี้ล้วนทำให้เราช่วยต่อจิ๊กซอว์ความทรงจำของประวัติศาสตร์ไทยในอดีตได้สมบูรณ์ขึ้น

คุณค่าของภาพถ่าย แม้ว่าจะผ่านไปนานเท่าใด นับวันคุณค่ายิ่งสูงมากขึ้น

ภาพหนึ่งภาพเล่าเรื่องได้มากกว่าร้อยคำพูด และอยู่เหนือกาลเวลาจริงๆ

ห้าง ย.ร.อันเดร บนสี่กั๊กพระยาศรี ใน พ.ศ. 2447 นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รวมถึงรถยนต์ยี่ห้อ Opel
ห้าง ย.ร.อันเดร บนสี่กั๊กพระยาศรี ใน พ.ศ. 2447 นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รวมถึงรถยนต์ยี่ห้อ Opel
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมาชิกเริ่มแรกกองเสือป่า
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมาชิกเริ่มแรกกองเสือป่า

หนังสือประกอบการเขียน

เอนก นาวิกมูล. ประวัติการถ่ายรูปยุคแรกของไทย. กรุงเทพฯ : สารคดี. 2548 ฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร. 2563

นิทรรศการ ‘ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา’ จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2563 สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ www.nat.go.th หรือ Facebook ของกรมศิลปากร และสํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือโทรศัพท์ หมายเลข 0 2281 1599

 

Writer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว