10 กรกฎาคม 2020
50 K

ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เราต่างได้ยินเรื่องราวของภาพถ่ายโบราณจากฟิล์มกระจกมากขึ้นเรื่อยๆ

จุดเริ่มต้นมาจาก ภาพถ่ายชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ที่องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกความทรงจําแห่งโลกเมื่อ พ.ศ. 2560

ฟิล์มกระจกเหล่านี้เก็บรักษาอยู่ในกล่องอย่างดีที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กล่องที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกคือ กล่องที่ 1 – 24 และ 50 – 52 จำนวน 1,000 ภาพ บอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทยในอดีต รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7

เมื่อมีการเปิดกล่องใหม่ จะมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วมกันจัดทำคำบรรยาย

ภาพถ่ายส่วนหนึ่งกลายเป็นนิทรรศการ ‘เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก’ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลป์เจ้าฟ้า) เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561
และจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์

ปีนี้ ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ คัดเลือกภาพถ่ายจำนวน 102 ภาพ มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการ ‘ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา’ ระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม – 20 กันยายน พ.ศ. 2563 ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

รายละเอียดแบบเต็มๆ The Cloud บันทึกไว้ในวิดีโอสารคดีเรื่องนี้แล้ว

ทีแรก ในวันเกิด The Cloud ท่านผู้หญิงสิริกิติยาจะพาผู้อ่านชมนิทรรศการแบบ Live แต่เนื่องจากท่านติดภารกิจด่วน จึงขอเปลี่ยนเป็นการหยิบยกภาพถ่ายที่น่าสนใจ 10 ชุดมาบอกเล่าถึงที่ไปที่มา ผ่านคอลัมน์นี้แทน

เรื่องราวเหนือกาลเวลาที่ท่านผู้หญิงใหม่จะพาเราย้อนอดีตกลับไปชม มีดังนี้

01

ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
พลับพลาที่เกาะสีชัง เมืองชลบุรี ภาพถ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
ทหารลำเลียงสัมภาระในกระบวนเสด็จประพาสชายทะเลตะวันตก ภาพถ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
ทัศนียภาพจากยอดเนินเหนือพระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง ภาพถ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นิทรรศการส่วนที่ 1 : ปฐมบรรพ การเสด็จประพาสหัวเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เป็นภาพการเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์และการเสด็จประพาสต้น คือการเสด็จพระราชดําเนินส่วนพระองค์ เพื่อได้ทรงใกล้ชิดและทรงทราบทุกข์สุขของประชาชน ทําให้ราษฎรได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระองค์อย่างใกล้ชิด

ท่านผู้หญิงใหม่ตั้งใจจัดภาพชุดแรกต้อนรับผู้ชมเพื่อให้เกิดความรู้สึกสบายๆ ไม่ได้เล่าเรื่องมากนัก แต่สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย ให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ภาพชุดแรกเป็นภาพเกาะสีชัง ซึ่งสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของทะเล ถ้าจินตนาการเพิ่มอีกนิดก็อาจจะได้กลิ่นลมทะเล บางภาพมีความเบลอเล็กน้อยจนให้ความรู้สึกเหมือนภาพวาด แล้วก็มีภาพของกลุ่มเจ้านายบนหาดทรายซึ่งเราไม่ได้เห็นกันบ่อยนัก

02

ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
กระบวนเรือเสด็จประพาสต้นในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หยุดพักที่หาดใต้แสนตอ เมืองขาณุวรลักษณบุรี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2449
ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
เรือพระที่นั่งสุวรรณวิจิก เรือพระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเสด็จประพาสต้น ขณะจอดพักอยู่ริมหาดใต้แสนตอ เมืองขาณุวรลักษณบุรี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2449

ภาพถ่ายคู่นี้ให้ความรู้สึกสบาย จนเหมือนสัมผัสได้ว่าสายลมกำลังพัด เพอร์สเปกทีฟของภาพก็สวยมาก ดูแล้วเหมือนได้ทะลุสายตาเข้าไปในเรือ เป็นการนำสองภาพมาต่อกันที่ค่อนข้างลงตัว บรรยากาศของผู้คนในเรือก็ดูผ่อนคลาย เป็นการเดินทางบนแม่น้ำปิงในยุครัชกาลที่ 5 ซึ่งดูได้จากธงชาติบนเรือ เป็นภาพที่ดูแล้วรู้สึกเหมือนได้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง

03

ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
ตำหนักพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ที่พระราชวังบางปะอิน ภาพถ่ายเมื่อพุทธศักราช 2447
ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
บันไดทางขึ้นสู่เฉลียงด้านหน้าตำหนักพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ที่พระราชวังบางปะอิน ภาพถ่ายเมื่อพุทธศักราช 2447
ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
ศาลาโถง 5 ยอด ที่สวนข้างอนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ พระราชวังบางปะอิน ภาพถ่ายเมื่อพุทธศักราช 2447

ภาพชุดนี้เป็นการเสด็จประพาสบางปะอิน ในภาพคือส่วนหนึ่งของพระราชวังบางปะอินที่เป็นฝ่ายใน จัดเรียงภาพจากมุมไกลไปหาใกล้ ได้เห็นผู้หญิงที่นั่งบนบันได เห็นชีวิตประจำวันของคนที่ตามเสด็จฯ ดูแล้วอาจจะชวนให้จินตนาการต่อว่า คนเหล่านี้กำลังคิดอะไร คุยอะไรกัน พยายามเล่าถึงการเสด็จประพาสในอีกมุมซึ่งมีความเป็นส่วนตัวและอบอุ่น

04

ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
พระยาโบราณบุรานุรักษ์ (พร เดชะคุปต์) กำลังสนทนากับนางอิ่ม ภรรยานายพัน บริเวณใต้ต้นไม้ริมตลิ่ง หน้าบ้านนางอิ่ม มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (ขวาสุด) พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช (ประทับนอนคว่ำ) และหลวงศักดิ์นายเวร (อ้น นรพัลลภ) แกล้งแสดงเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยนั่งเฝ้าอยู่ข้างๆ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถ่ายภาพอยู่ห่างๆ เสร็จแล้วประทับเสวยพระกระยาหารกลางวันที่บ้านพังม่วง เมืองนครสวรรค์นี้
ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
บ้านหูกวาง เป็นสถานที่ตรงกับพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเรื่อง เจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าพร สั่งให้นายผลมหาดเล็กไปเชิญเสด็จเจ้าแม่ผู้เฒ่ามาขอพระราชทานอภัยโทษจากสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ เรื่องทำสะพานข้ามบึงหูกวางไม่สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมทรงแสดงเป็นเจ้าฟ้าเพชร (กลาง) พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสรรพศาสตรศุภกิจ เป็นเจ้าฟ้าพร และพระยาโบราณบุรานุรักษ์ (พร เดชะคุปต์) เป็นนายผลมหาดเล็ก (หน้า) เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พุทธศักราช 2449

สองภาพนี้แสดงให้เห็นว่า ในระหว่างที่รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ท่านก็มีช่วงเวลาผ่อนคลาย ด้วยการนำวรรณคดีต่างๆ มาเล่นเป็นละคร ให้ข้าราชบริพารมารับบทบาทต่างๆ เป็นภาพที่ได้เห็นความเป็นส่วนพระองค์ของท่าน

05 

ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ภาพถ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
พระเมรุงานพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ที่สวนมิสกวัน ระหว่างถนนราชดำเนินนอกกับวัดเบญจมบพิตร ระหว่างวันที่ 19 – 22  มีนาคม พุทธศักราช 2452

นิทรรศการช่วงแรกเริ่มต้นด้วยอารมณ์ผ่อนคลาย แล้วปิดท้ายด้วยอารมณ์เศร้า เพราะรัชกาลที่ 5 ทรงสูญเสียพระราชโอรสธิดาหลายพระองค์ และพระองค์ทรงรักพระองค์เจ้าอุรุพงษ์ฯ มาก ตอนเสด็จฯ ประพาสยุโรปก็ได้เสด็จฯ ไปด้วย หลังจากกลับมาไม่ถึงปีก็สิ้นพระชนม์ พระองค์จึงทรงเสียพระทัยจนอยู่กรุงเทพฯ ไม่ได้ 

งานนี้จึงนำภาพพระองค์เจ้าอุรุพงษ์ฯ ขณะที่เสด็จไปโบราณสถานแห่งหนึ่ง ซึ่งจัดองค์ประกอบภาพและแสงเงาสวยมาก มาวางคู่กับภาพพระเมรุของพระองค์เจ้าอุรุพงษ์ฯ

06

ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
ผู้ป่วยชายในบริเวณโรงพยาบาลคนเสียจริต ภาพถ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
ผู้ป่วยสตรีในโรงพยาบาลคนเสียจริต (ปัจจุบันคือ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา) ภาพถ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

นิทรรศการส่วนที่ 2 : ทุติยบรรพ สยามอันสุขสงบในรอยต่อของกาลเวลา 

เป็นภาพวิถีชีวิตที่ธรรมดา เป็นกิจวัตรของผู้คนในกรุงเทพฯ ให้บรรยากาศของความสุขสงบ ความเรียบง่ายของผู้คนและบ้านเมือง เป็นพื้นที่เล็กๆ ซึ่งเปรียบได้กับช่วงพักครึ่งของการแสดง เราเลยขอข้ามมาที่ส่วนที่ 3 เลย

นิทรรศการส่วนที่ 3 : ตติยบรรพ ตะวันออกบรรจบตะวันตก 

เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นบทบาทของชาวตะวันตกที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7

ภาพคู่นี้สวยและมีพลังมาก ทั้งในแง่ขององค์ประกอบภาพและอารมณ์ของคนในภาพ การถ่ายภาพฟิล์มกระจกในยุคนั้นใช้เวลาบันทึกภาพ 8 วินาที การกำกับผู้ป่วยเสียจริตให้จริตในตำแหน่งที่ลงตัวนิ่งๆ เป็นเวลา 8 วินาทีนั้นถือว่าไม่ใช่งานที่ง่ายเลย

07

ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
ชาวยุโรปถ่ายภาพกับรถยนต์เฟียต 509 ซึ่งผลิตที่อิตาลี ระหว่างพุทธศักราช 2468 – 2472
ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
ชาวยุโรปถ่ายภาพกับรถยนต์เฟียต 509 ซึ่งผลิตที่อิตาลี ระหว่างพุทธศักราช 2468 – 2472
ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
บ้านไม้ช่วงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีกอาคารด้านหนึ่งสูงสองชั้น ส่วนที่เหลือสูงชั้นเดียว หลังคาปั้นหยาผสมหลังคาจั่ว มุงกระเบื้องซีเมนต์ที่เรียกว่ากระเบื้องว่าว ฝาเรือนแบบสมัยเก่า คือแสดงโครงสร้างเสาและคร่าวผนังให้เห็นได้จากภายนอก

สามภาพนี้อยู่ในกล่องเดียวกัน ภาพฝรั่งสามคนในรถเก๋งถูกหยิบขึ้นมาก่อน ไม่มีใครทราบว่าทั้งสามคนนี้เป็นใคร หรือถ่ายที่ไหน จนหยิบภาพบ้านไม้ขึ้นมา ท่านผู้หญิงก็สังเกตเห็นว่า มุมเล็กๆ ในภาพคือฝรั่งสามคนและรถยนต์คันนั้น ถึงจะยังไม่ทราบว่าเป็นใครและที่ไหน แต่ก็ได้ความเชื่อมโยงของภาพเพิ่มขึ้น

08

ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
สระว่ายน้ำที่ราชกรีฑาสโมสร ถนนสนามม้า (ถนนอังรีดูนังต์) เปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2475

ท่านผู้หญิงสิริกิติยาชอบองค์ประกอบของภาพนี้มาก โดยเฉพาะการยืนของฝรั่งในภาพ ทำให้ภาพนี้มีความลงตัวในเชิงศิลปะสูงมาก ในขณะเดียวกันก็เป็นภาพประวัติศาสตร์ของสระว่ายน้ำที่ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบันที่ราชกรีฑาสโมสร

09

ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
ภาพหมู่นักเรียนโรงเรียนเซนต์คาเบรียลและคณาจารย์ (จากซ้ายไปขวา) คือ ภราดาหลุยส์แชนแนล ภราดาออกุสต์ ภราดาอัลเบรอน ถ่ายที่หน้าตึกมาร์ติน เดอ ตูร์ส หรือตึกแดง ซึ่งสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2464 ภาพถ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
นักเรียนโรงเรียนบาลีไวยากรณ์ วัดเบญจมบพิตร พระภิกษุในภาพคือพระราชเวที (หรุ่ม พรหมโชติโก) พระราชาคณะรูปแรกของวัดเบญจมบพิตร ภาพถ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
โรงเรียนสวนนอกตั้งอยู่ทางทิศเหนือนอกกำแพงพระราชวังดุสิต สำหรับเป็นที่ศึกษาของหม่อมเจ้าและบุตรข้าราชบริพาร ในสำนักพระอัครชายาเธอกรมขุนสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา ภาพถ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

มีกล่องหนึ่งที่เต็มไปด้วยภาพหมู่รวมรุ่น ซึ่งมีความเป็นส่วนตัวสูงมาก ท่านผู้หญิงสนใจเรื่องราวในภาพ ทั้งเรื่องการเดินทางมาเผยแผ่ศาสนาของมิชชันนารีด้วยการเปิดโรงเรียน ภาพของนักเรียนซึ่งมีหน้าตาคล้ายลูกครึ่งอยู่หลายคน ในขณะที่โรงเรียนวัดแบบไทยก็มีพระมาสอน เป็นช่วงเวลาที่เห็นถึงการผสมผสานของวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตก

10

ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
หุ่นจำลองศาลาเฉลิมกรุง ศาลาเฉลิมกรุงสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสฉลองพระนคร 150 ปี พุทธศักราช 2476 แล้วเสร็จและเปิดฉายภาพยนตร์เป็นครั้งแรกวันที่ 2 กรกฎาคม
ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
ศาลาเฉลิมกรุง ด้านแยกถนนตรีเพชรตัดกับถนนเจริญกรุง ระหว่างการก่อสร้าง ภาพถ่ายเมื่อพุทธศักราช 2475 – 2476
ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
ศาลาเฉลิมกรุง ด้านแยกถนนตรีเพชรตัดกับถนนเจริญกรุง เปิดให้บริการแล้ว ภาพถ่ายเมื่อพุทธศักราช 2476
ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นิทรรศการภาพถ่ายมรดกโลกที่เล่าเรื่องอีกมุมของสยาม
บริเวณโถงทางเข้าชั้นล่าง ศาลาเฉลิมกรุง มีป้ายโฆษณาภาพยนตร์เรื่อง ทาร์ซาน ภาพถ่ายเมื่อพุทธศักราช 2476

นิทรรศการส่วนที่ 4 : จตุตถบรรพ เร่งรุดไปข้างหน้า 

เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงการรับอิทธิพลของชาติตะวันตกที่ทําให้สยามประเทศขณะนั้นเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการสร้างและเชื่อมโยงระบบเส้นทางรถไฟ ซึ่งนําไปสู่การเติบโตทางการปกครอง เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว

ตัวแทนภาพชุดนี้ที่ท่านผู้หญิงใหม่เลือกมาคือภาพของศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของกรุงเทพฯ ในเวลานั้น ภาพชุดนี้เริ่มต้นด้วยภาพโมเดลของเฉลิมกรุง เมื่อก่อนเวลาที่จะสร้างตำหนักหรือพระราชวัง จะมีการทำแบบจำลองขึ้นมาให้พระมหากษัตริย์เลือก 

จากนั้นก็เป็นภาพช่วงก่อสร้าง ช่วงที่สร้างเสร็จแล้ว และภาพด้านในเมื่อเปิดให้บริการ เป็นประวัติศาสตร์ในยุคโมเดิร์น หรือประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของกรุงเทพฯ ที่หลายคนก็ซึ่งมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์นั้นก็ยังมีชีวิตอยู่

นิทรรศการ ‘ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา’ กําหนดจัดพิธีเปิดนิทรรศการในวันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 และเปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม – 20 กันยายน พ.ศ. 2563 นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการเสวนาวิชาการ จํานวน 2 ครั้ง ณ สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในวันเสาร์ ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 หัวข้อ เบื้องหลังการอ่านภาพฟิล์มกระจก และในวันเสาร์ ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563 หัวข้อ เล่าเรื่องการเก็บรักษาฟิล์มกระจกและภาพเก่า 

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์สํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ www.nat.go.th หรือ Facebook ของกรมศิลปากร และสํานักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

หรือโทรศัพท์ หมายเลข 0 2281 1599

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป