เราจะพาย้อนอดีตกลับไปนานโข นานขนาดลืมเวลาบิน 1 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ สู่เชียงใหม่

เชียงใหม่ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 พื้นที่ริมแม่น้ำปิงพ่วงไปถึงถนนเส้นท่าเเพคล้ายคลึงกับถนนเจริญกรุงในกรุงเทพฯ เป็นเหมือนประตูเมือง มีทั้งท่าเรือ แหล่งค้าขาย สถานกงสุล และห้างร้านต่างๆ ของชาวต่างชาติ ส่วนตรงกลางเวียงที่มีคูน้ำล้อมรอบเป็นพื้นที่วัดและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมไปถึงศาลากลางและพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการปกครองราชการ 

บันทึกตอนหนึ่งของ หลวงอนุสารสุนทร เล่าว่า ชาวเชียงใหม่หน้าซื่อตาใส ไร้พิษภัย และที่สำคัญ มีคำกล่าวว่าแผ่นดินนี้ ทำมาหากินสิบจะงอกเงยได้ถึงร้อย มีอยู่ร้อยจะงอกเงยได้ถึงล้าน คงหมายความว่าแผ่นดินนี้อุดมสุขสมบูรณ์ทำมาค้าขึ้นนั่นแหละ

ร้อยกว่าปีที่แล้ว หลวงอนุสารสุนทร หรือ สุ่นฮี้ ชัวย่งเสง (สุ่นฮี้ ชุติมา) เป็นผู้บุกเบิกการถ่ายภาพในล้านนา และถ่ายภาพบันทึกประวัติศาสตร์ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ชม ในเฟรมของเขามีชาวบ้าน ผู้คนธรรมดา พ่อค้าแม่ค้าที่เหมือนเดินอยู่บนพรมแดงถูกฉายด้วยสปอตไลต์ หากหลวงอนุสารสุนทรยังมีชีวิตอยู่ เขาคงเป็นช่างภาพบุคคลเบอร์ต้นๆ ของประเทศ

เมื่ออายุ 16 ปี หลังจากมารดาเสีย สุ่นฮี้ได้ย้ายจากลำพูนมาอาศัยอยู่เชียงใหม่กับพ่อและพี่น้อง ด้วยความขยัน สมองดี ซื่อสัตย์ และสู้ชีวิต เริ่มเเรกเขาได้ช่วยบิดาค้าขาย ต่อมาหลังจากพ่อเสียชีวิตลงอีก ก็ขยับขยายตั้งกิจการของตนเองร่วมกับพ่อค้าชาวจีนอีก 2 คนที่ถนนท่าแพ ถัดมาอีก 6 – 7 ปี เขาเปิดร้านขายของขนาดใหญ่ชื่อว่า ‘ชัวย่งเสง’ บนถนนวิชยานนท์ และเปิดกิจการเดินเรือหางแมงป่อง ล่องเรือจากเชียงใหม่ไปยังกรุงเทพฯ โดยเส้นทางแม่น้ำปิง การเดินทางค้าขายใช้เวลาราว 2 เดือนต่อครั้ง ขาล่องเขานำสินค้าที่มีมากทางเหนือ เช่น ครั่งและยางรักลงไปขายในกรุงเทพฯ ส่วนขาขึ้นก็ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคนำสมัยอย่างอาหารกระป๋อง นาฬิกา ตลอดจนอุปกรณ์ก่อสร้างจากต่างประเทศกลับมาขาย ต่อมาหลวงอนุสารสุนทรขยายกิจการเปิดโรงจำนำ ค้าเพชรพลอย สร้างขนส่งสาธารณะเป็นคนเเรกๆ

ในแง่คุณงามความดีคงไม่ต้องกล่าวถึง หากเขาไม่ได้ส่งเสริมเกื้อกูลศาสนาหรือสร้างประโยชน์เพื่อชาวเชียงใหม่ คำนำหน้าว่า ‘หลวง’ คงไม่ได้มาแน่ นอกจากเป็นนักธุรกิจคนสำคัญของเชียงใหม่ ใน พ.ศ.2467 เมื่อสุ่นฮี้อายุได้ 25 ปี เขามักเเวะไปหาความรู้เรื่องอุปกรณ์ถ่ายภาพในกรุงเทพฯ ยามเมื่อเดินทางไปค้าขายอยู่เนืองๆ 

ต่อมาได้หลวงอนุสารเรียนถ่ายภาพเพิ่มเติมจากเจ้าคุณเจริญราชไมตรี ผู้พิพากษาศาลต่างประเทศ ที่เชียงใหม่  

หลวงอนุสารสุนทรชอบถ่ายภาพ ล้างอัดภาพด้วยตนเอง พร้อมทั้งศึกษาเพิ่มเติมจนเชี่ยวชาญ เขาหลงรักการถ่ายภาพจนเปิดสตูดิโอ ‘ชัวย่งเสง’ ที่รับถ่ายภาพเล็กๆ ภายในห้างของเขาเอง โดยรับถ่ายภาพตั้งเเต่บุคคลเดี่ยวไปจนถึงภาพครอบครัว ทั้งในและนอกสถานที่ ราคาภาพละ 50 สตางค์ เป็นสตูดิโอถ่ายภาพแห่งแรกในเชียงใหม่

การถ่ายภาพในยุคที่กล้องไม่มีชัตเตอร์และเครื่องวัดแสง ฟิล์มเป็นม้วนๆ ยังไม่มีขายในไทย การล้างภาพต้องล้างจากกระจกที่เคลือบน้ำยาเคมีเพื่อสร้างภาพเนกาทีฟและโพสิทีฟขึ้นมา ด้วยระบบ Dry Plate ซึ่งฉาบสารไวแสงลงกระจก การอัดขยายต้องอาศัยแดดหรือตะเกียงน้ำมันช่วย ซึ่งเทคนิคนี้พัฒนามาจากเทคนิคถ่ายภาพระบบ Wet Plate และ ดาแกโรไทป์ (Daguerreotype) ที่ใช้เเผ่นโลหะ (ทองแดง) เคลือบน้ำยาเคมีแทนฟิล์ม ทั้งสองเทคนิคนี้ต่างกับสมัยสมาร์ทโฟนถ่ายรูปมาก ตอนนั้นคนที่ถ่ายภาพได้ไม่ใช่คนมีเงินอย่างเดียว ถ้าไม่มีใจรัก วินัย และความอดทน ก็คงทำอาชีพช่างภาพไม่ได้ คนอะไรจะแบกกล้องกล้อง Large Format ตัวใหญ่ได้ตลอด พกเหมือนโทรศัพท์มือถือ ถ่ายภาพตั้งแต่เหตุการณ์สำคัญจนถึงชีวิตประจำวัน

ภาพถ่ายของช่างภาพฟิล์มกระจกชื่อหลวงอนุสารสุนทรกิจเป็นบันทึกความทรงจำล้ำค่า งานของเขาบันทึกทั้งความจริงและความเชื่อในเหตุการณ์สำคัญของเชียงใหม่ เช่น ภาพขบวนเเห่พระศพเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงองค์ที่ 7 พระบิดาของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ภาพการเสด็จเยือนเชียงใหม่ของเจ้านายฝั่งสยาม และที่ขาดไม่ได้เลยคือภาพวิถีชีวิตของชาวบ้านในเมืองเชียงใหม่ ภาพทั้งหมดเเสดงมุมมองที่โดดเด่นและจัดวางองค์ประกอบภาพได้อย่างมืออาชีพ

ความนิยมถ่ายภาพยุคนั้นส่วนมากเป็นการถ่ายทิวทัศน์และสถานที่ เพราะความนิ่งทำให้ได้ภาพที่คมชัด การถ่ายคนเป็นเรื่องท้าทายมาก การถ่ายภาพเเต่ละภาพต้องเตรียมเครื่องมือ (กล้องถ่ายภาพ ตลับฟิล์ม ขาตั้ง) ประกอบกับฟิล์มถ่ายรูปสมัยนั้นมีความไวต่อเเสง ISO ต่ำมาก ดังนั้นการกดชัตเตอร์เเต่ละครั้งต้องใช้การตัดสินใจที่เเม่นยำ และเลือกองค์ประกอบที่ดีที่สุด

การถ่ายภาพบุคคลของหลวงอนุสารสุนทรจึงโดดเด่น น่าสนใจ มีเสน่ห์ และดึงดูดคนทั่วไปเป็นอย่างมาก ภาพของเขาเน้นอารมณ์ของผู้ถูกถ่ายเป็นส่วนสำคัญ ผู้พบเห็นรับรู้ได้ในทันทีเมื่อดูภาพ ทั้งการจัดท่าทางการนั่ง สีหน้า และสิ่งของประกอบฉากก็สำคัญไม่น้อย ช่วยให้อนุมานได้ว่าคนในภาพมีรสนิยมและฐานะทางสังคมอย่างไร 

คนมีฐานะมักสวมแหวน มีถ้วยชาบนโต๊ะ ส่วนคนที่มีการศึกษามักมีหนังสือวางประกอบฉาก สื่อถึงความรู้ ผู้ทรงศีลที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา มักสวมเสื้อผ้ามิดชิดพาดสะไบ วางสีหน้าสงบ ของที่วางบนโต๊ะมักเป็นพระพุทธรูป พานดอกไม้ และขันน้ำ ส่วนใครที่อยากแสดงสถานะเก๋เหนือชั้นกว่าคนอื่นๆ ก็มักแต่งกายและเลือกเฟอร์นิเจอร์ฝั่งตะวันตกมาประกอบฉาก เช่น หีบเสียง กระจก โคมไฟ ซึ่งบ่งบอกสถานะทางสังคม เพราะน้อยคนมากที่จะมีของพวกนี้ได้ บางทีก็ใช้ต้นไม้มาประกอบฉาก เช่น ต้นจั๋ง ต้นโกสน เพราะชนชั้นสูงนิยมสะสม

ถ้าในอดีตไม่มีใครบันทึกภาพเรื่องราววิถีชีวิตเชียงใหม่ ตอนนี้เราคงนึกจินตนาการไม่ออกว่าเมืองและผู้คนสมัยนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับเชียงใหม่ในปัจจุบันที่คาเฟ่ตั้งอยู่ใกล้กันไม่เกินสิบก้าว รถโดยสารขนส่งทั่วเมือง เดินไปทางไหนก็เจอแต่นักท่องเที่ยว ทั้งชาวเชียงใหม่แท้ๆ และคนที่เข้ามาตั้งรกรากในเชียงใหม่ก็คล้ายกันจนเเทบเเยกไม่ออกว่าคนไหนคนเมือง (เหนือ) หรือคนไหนคนเมือง (กรุง)

ในยุคที่ใครๆ ก็เป็นช่างภาพได้ อนาคตคงมีภาพถ่ายบันทึกประวัติศาสตร์เชียงใหม่ในคริสตศตวรรษ์ที่ 21 เป็นล้านๆ ภาพ แต่คุณค่าและความหมายของภาพมหาศาลเหล่านั้น ย่อมแตกต่างจากภาพถ่ายของหลวงอนุสารสุนทร ช่างภาพหนึ่งเดียวผู้เอาชนะกาลเวลา บันทึกล้านนาเมื่อศตวรรษที่แล้วมาให้พวกเราได้ชม

ภาพ : หนังสือฟิล์มกระจกเมืองเชียงใหม่ โดยหลวงอนุสารสุนทรกิจ

 ภาพทั้งหมดมาจากหนังสือ ภาพถ่ายฟิล์มกระจก เมืองเชียงใหม่ ถ้าใครอยากดูภาพและอ่านเรื่องราวทั้งหมด สามารถซื้อได้แล้วที่ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ และเอเชียบุ๊คทุกสาขา

Write on The Cloud

Photo Essay

ถ้าคุณมีเซ็ตภาพถ่ายที่อยากมาอวดในคอลัมน์นี้ ช่วยส่งเซ็ตภาพพร้อมคำบรรยาย(แบบไม่ยาวมาก) รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Photo Essay

ถ้าเซ็ตรูปของคุณได้รับการตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล