22 พฤศจิกายน 2022
2 K

“คงแถว ๆ นี้แหละ…”

เราพึมพำกันมาตลอดทาง เพราะยังคงขับวนไปวนมาไม่ถึงที่หมายเสียที กว่าจะพบว่าหลงจากหมุดไปเสียไกลเวลาก็ล่วงเลยนัดไปกว่าครึ่งชั่วโมง หวั่นใจว่าต้นเรื่องของเราวันนี้จะขุ่นเคือง เพราะเธอไม่เคยเปิดบ้านให้สื่อไหนเยี่ยมชมมาก่อน อีกทั้งวันที่นัดพบกัน ยังเป็นช่วงของการจัด BIG HUG นิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 2 ของเธออีกต่างหาก

เสียงจากปลายสายคอยบอกทางจนถึงที่หมาย ก่อน ออย-คนธรัตน์ เตชะไตรศร เจ้าของเสียง เจ้าของแบรนด์ give.me.museums และเจ้าของบ้าน จะปรากฏกายต้อนรับด้วยชุดเดรสสีแดงน่ารัก ยิ้มแย้ม จนอดรู้สึกผิดไม่ได้ 

เพียงเดินเข้ามาก็จะเจอกับสตูดิโอส่วนตัวของเธอ ขนาดกำลังพอดีให้เธอได้นอนกลิ้งเวลาคิดงานไม่ออก พร้อมกับผลงานหลายชิ้นที่เคยเห็นผ่านตามาแล้วบ้างบนอินเทอร์เน็ต แต่บริเวณชั้นสองต่างหากที่ความฝันของเธอถือกำเนิด และดอกไม้ดอกแรกในสวนได้ถูกวาดขึ้น

ออยเปิดกรุผลงานวัยเยาว์ของตัวเองตลอดการพูดคุย พร้อมความทรงจำมากมายที่พรั่งพรูออกมาจากลิ้นชัก ไม่แปลกใจว่าทำไมเธอถึงได้กลายเป็นศิลปินที่มีความสดใสเป็นเอกลักษณ์ เปี่ยมด้วยความกระตือรือร้น มั่นใจ พร้อมประกายในแววตาที่พาให้รู้สึกเต็มตื้นตามไปด้วย 

“ออยวาดรูปเป็น ก่อนอ่านหนังสือเป็นซะอีก”

เรานั่งฟังติดขอบจอ ประหนึ่งฟังนิทานเรื่องการเดินทางของเด็กหญิงช่างฝัน

เปิดสตูดิโออบอุ่นของ give.me.museums และผลงานวัยเด็กที่มีผนังบ้านเป็นแคนวาสผืนแรก
เปิดสตูดิโออบอุ่นของ give.me.museums และผลงานวัยเด็กที่มีผนังบ้านเป็นแคนวาสผืนแรก

Blooming Home

“ตอนเด็ก ๆ อ่านหนังสือช้า ประถมก็ยังอ่านไม่ออก” เธอเล่าต่อ “เขาเริ่มเห็นเราเขียนกำแพง” ส่วนเขาที่ว่าคือพ่อและแม่

หากใครมีโอกาสได้เยี่ยมชม Blooming Home นิทรรศการแรกในชีวิตของเธอก็จะพบกับผนังโล่ง ๆ ให้ทุกคนวาดเล่นได้อย่างอิสระ เพราะเธอเองก็ใช้มือเล็็ก ๆ สร้างจิตรกรรมฝาผนังบ้าน โดยมีครอบครัวให้การสนับสนุนเช่นกัน 

ห้องของออยประดับประดาไปด้วยผลงานหลากหลายช่วงวัย แบบที่ถ้าถามถึงวัยไหน เธอก็รื้อค้นจนเจอได้ ต่อไปนี้จึงเป็นช่วงของการเปิดกรุของเก่าที่เจ้าของเฝ้าเก็บมันเป็นอย่างดี ทั้งสมุดวาดรูปด้วยสีไม้ สีเทียน ปากกาเมจิก คนบ้าง ทิวทัศน์บ้าง เรื่องเล่าในจินตนาการบ้าง นอกจากลายเส้นพิลึกกึกกือและสีสันซีดเซียวที่เคยจัดจ้าน จะบอกได้ว่ามันถูกวาดมานานแค่ไหน อีกอย่างที่บอกได้คงเป็นลายเซ็นของท่านศิลปินใหญ่ที่เขียนชื่อตัวเองกลับหัวกลับหาง ตามประสาเด็กอ่านหนังสือไม่ออก

“ไม่แน่ใจแล้วว่าเล่มไหนเป็นเล่มไหน บางส่วนก็แตกสลายไปตามกาลเวลา จริง ๆ มีภาพที่เด็กมาก ๆ เลยแต่มันอยู่ในห้องเก็บของข้างล่าง” เธอยังคงเปิดลิ้นชักจนผลงานกองพะเนิน

ใครเป็นคนเก็บรูปวาดพวกนี้ให้ – เราถาม เพราะเห็นว่าหลายชิ้นถูกเขียนตอนเธอยังเด็กมาก

“เก็บไว้เอง” ออยหันมายิ้ม “เรารักงานตัวเองมาก เก็บทุกอย่าง อาจจะเพราะพ่อแม่เอางานเราตอนเด็กไปใส่กรอบเก็บไว้… เดี๋ยวหยิบมาให้ดู”

เปิดสตูดิโออบอุ่นของ give.me.museums และผลงานวัยเด็กที่มีผนังบ้านเป็นแคนวาสผืนแรก
เปิดสตูดิโออบอุ่นของ give.me.museums และผลงานวัยเด็กที่มีผนังบ้านเป็นแคนวาสผืนแรก

ระหว่างนั้น เราก็ได้ทราบว่าแม่ของออยเป็นคนชอบจัดดอกไม้ ส่วนพ่อชอบศิลปะและเป็นคนสอนให้เธอวาดรูปเป็น แม้จะวาดไม่เก่งมากมาย แต่ถ้าทั้งคู่เลือกกีดกันเธอในวันนั้น ก็คงไม่มีออยในวันนี้ ต่อให้สิ่งเดียวที่เธอได้จากการเรียนสายวิทย์คณิตตามเพื่อนจะเป็นการจดเลคเชอร์ยังไงให้สวยน่าอ่านก็ตาม

Give.me.museums

จบสายวิทย์ ติวสถาปัตย์ แต่เป็นบัณฑิตคณะศิลปกรรม ซึ่งถ้าไม่นับเรื่องติว ก็เรียกว่าเป็นการเรียนศิลปะครั้งแรก 

“แต่มันไม่ใช่การวาดรูปอยู่ดี เพราะเราเรียนออกแบบ” เธอเองก็สับสน “รู้สึกว่ามันอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่ทำอยู่ในตอนนี้ แต่มันช่วยเชปเราเรื่องวิธีการคิดและกระบวนการต่าง ๆ ตอนพบว่ามีหลายอย่างที่เราชอบ เลยเป็นช่วงที่เราเลิกวาดรูปไปเลย”

พอชอบถ่ายรูปมาก ก็ไปถ่ายรูป ชอบทำกราฟิกมาก ก็ทำธีสิสจบเกี่ยวกับ Typography ถึงขนาดเข้าไปทำงานเป็น Art Director ที่ Ogilvy อยู่ 2 ปี

ออยบอกว่าช่วงเวลาเหล่านี้เธอแทบไม่ได้จับพู่กัน

“มันเริ่มเหนื่อย งานมันหนัก ใช้ทั้งพลังกายพลังใจ มีช่วงที่เรา Burn Out ก็เลยต้องหยุดแล้วหาอะไรทำ”

ไม่ถามเห็นจะไม่ได้ ว่าเด็กหญิงออยที่เขียนกำแพงสวยกว่าใครรู้สึกยังไงที่ได้กลับมาวาดรูปอีกครั้ง

“รู้สึกว่า อ้อ! คนนี้น่าจะเป็นเราที่หายไปนี่แหละ คนนั้นก็เป็นเราเหมือนกัน แต่เราชอบตัวเองในเวอร์ชันนี้มากกว่า มันรู้สึกมีชีวิต”

ใกล้จะถึงจุดเริ่มต้นของ Give.me.museums เข้ามาเต็มที ออยก็ขอคั่นการสนทนาด้วยการเอี้ยวไปหยิบคอมมาเปิดสไลด์ ใช่ อ่านไม่ผิด เธอทำสไลด์เรื่องราวของตัวเองไว้อย่างดี

“นี่คือไทม์ไลน์ (หัวเราะ) เรามีเป็นอินโฟกราฟิก” ออยพรีเซนต์ไปก็เขินไป เราขอสรุปรวบยอดได้ใจความว่า หลังจากหมดไฟ เธอก็ผลิตสินค้าขึ้นมาใช้เองและนำไปฝากขายตามร้านของกระจุกกระจิก ภายใต้ชื่อสุดเก๋ไม่ซ้ำใครว่า ‘คนธรัตน์’ ก่อนจะได้รับการติดต่อจากบรรดาลูกค้ามากมายจนต้องคลอดแบรนด์ Give.me.museums ขึ้นมาจากประโยคดังของปิกัสโซ่ว่า Give me a museum and I’ll fill’it อย่างที่พวกเรารู้ ๆ กัน

แต่เรื่องที่หลายคนอาจยังไม่รู้ คือนอกจากจะเป็นประโยคดังแล้ว มิวเซียมในความหมายของเธอคือพื้นที่แสดงออกทางศิลปะที่ไม่ใช่แค่พิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรี่ แต่รวมถึงโซฟา โคมไฟ นาฬิกา พัดลม กบเหลาดินสอ ฯลฯ สิ่งของในชีวิตประจำวันมากมายที่รายล้อมอยู่รอบตัวเรา แม้กระทั่งห้องน้ำในออฟฟิศ สาวเจ้าก็เพนต์ทั้งชักโครกจนถึงท่อน้ำทุกอัน

“มันเริ่มมาจากคำถามว่า เราเพนต์ผนังบ้านได้ ทำไมคนอื่นเพนต์ไม่ได้ ศิลปะไม่ควรเป็นของสูง มันควรเข้าถึงได้ง่าย ๆ นี่คือเหตุผลที่ทำให้เราทำสินค้าออกมาขาย เพราะทุกที่คือแคนวาส”

เปิดสตูดิโออบอุ่นของ give.me.museums และผลงานวัยเด็กที่มีผนังบ้านเป็นแคนวาสผืนแรก
เปิดสตูดิโออบอุ่นของ give.me.museums และผลงานวัยเด็กที่มีผนังบ้านเป็นแคนวาสผืนแรก

BIG HUG

อดีต ออยมีหน้าร้านครั้งแรกที่ตลาดนัดจตุจักร จากการเดินเสาะหาที่ด้วยตัวเอง

ปัจจุบัน หน้าร้านที่จตุจักรปิดตัวลง และเธอเพิ่งเปิดร้านใหม่ขนาดใหญ่กว่าเดิมที่เอ็มควอเทียร์ ครั้งนี้เธอเป็นฝ่ายได้รับการติดต่อมา

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ แค่ตัดสินใจจะจ้างพนักงานคนแรกยังเป็นเรื่องยากสำหรับเธอด้วยซ้ำ เพราะโลกของการทำธุรกิจนั้นแยกออกจากการเป็นศิลปินอย่างสิ้นเชิง

“ตอนแรกคิดว่าตัวเองเป็นคนไม่เครียด” ออยเว้นวรรค “แต่ว่ามันอาจจะลึก ๆ มั้ง เราเป็นคนเรื่องมาก มีความเป็น Professionist อยู่ในตัวเหมือนกัน แล้วพอไม่ได้ดั่งใจก็เครียด หลาย ๆ อย่างที่เราปล่อยให้คนอื่นทำแล้วบางทีเขาตอบช้านิดหน่อย เราก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ แค่ลูกค้าโทรมาบอกว่าได้ของผิดค่ะ ทำไมแพ็กมาอย่างงี้ เราก็เครียดมากเลย

“เราพยายามทำทุกอย่างเอง เรื่องสต็อก ฉันจะต้องเป็นคนเติมเอง ของมันจะต้องสั่งเท่านี้ พอถอยออกมาถึงรู้ว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ขนาดนั้น โอเค มันอาจจะไม่เหมือนที่เราทำ แต่ว่าทุกคนก็มีวิธีของตัวเอง”

น่าสนใจว่าเด็กหญิงช่างฝันที่มีภาพลักษณ์สดใสร่าเริงขนาดนี้ ก็มีช่วงที่ท้องฟ้าปกคลุมไปด้วยเมฆหน้าทึบด้วยเหมือนกัน ทำให้นิทานของเธอน่าติดตามมากยิ่งขึ้น

“จริง ๆ เราเป็นไมเกรน ไม่ได้เป็นคนสดใสขนาดนั้น อาจจะพลังงานเยอะเฉย ๆ” ออยแก้ข่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ยืนยันได้ ก็คงเป็นตอนที่เธอได้รับการติดต่อจากเอ็มควอเทียร์ให้ไปเปิดร้านในห้าง ซึ่งเส้นทางไม่ได้สวยหรูเท่าที่ควร โดยเฉพาะการตบตีกับใจของตัวเอง “เราจำได้ว่านั่งร้องไห้อยู่ตรงฟู้ดคอร์ท ทะเลาะกับแฟน กับแม่” เธอยังคงเล่าพร้อมรอยยิ้ม

“ไม่มีใครแย้งเราเลย แต่ทุกคนบอกให้คิดดี ๆ ก่อน เพราะค่าที่มันแพงมาก แล้วก็ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่มองไม่เห็นอีก เราก็ โอ้ยคิดดีแล้ว ประสาทเสีย เราอยากได้มาก คิดว่าทำได้ ก็คงจะมีคนเห็นเพราะว่าเสียงดัง แล้วก็ร้องไห้อยู่” 

เราถามเธอต่อทันทีว่าจุดที่ทำให้รู้สึกว่าต้องปล่อยวางแล้วคืออะไร แม้จะเคยหนักหน่วงกับชีวิต ออยก็พูดถึงจุดหักเหของเรื่องออกมาอย่างง่ายดาย เธอเปิดเผยให้เราฟังว่า เคยถูกจ่ายยาโรคซึมเศร้าให้ทานอยู่ช่วงสั้น ๆ จากการกดดันตัวเองมากเกินไปจนเครียดลงกระเพาะ

“เราว่ามันไม่ควรจะเป็น จะหาเงินมาเพื่อมารักษาตัวเองมันไม่ใช่ เราควรมีความสุขกับสิ่งที่ทำ คือจุดที่รู้สึกว่าเราต้องรักตัวเองให้มากกว่านี้”

ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังฝีแปรงอะคริลิกที่ปาดไปมาอย่างมั่นใจจะไม่เบิกบานเหมือนภาพวาด คงเป็นเพราะออยยืนยันกับเราว่า เรื่องเศร้ามากมายในใจเธอมักจะไม่สะท้อนออกมาในงานเท่าไรนัก

“เวลาวาดรูปจะไม่เศร้า มันเหมือนหลุดไปอีกในมิติ (หัวเราะ) ปล่อยสมองว่าง ๆ ไม่ได้คิดอะไร คิดแค่เรื่องปัจจุบันมาก ๆ เช่น เราจะใช้สีนี้ ๆ สีต่อไปคืออะไร เราคิดว่าทุกเรื่องผ่านไปแล้ว ไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้ มันคลีเช่มากนะ แต่ว่าก็ทำวันนี้ให้ดีที่สุด”

เปิดสตูดิโออบอุ่นของ give.me.museums และผลงานวัยเด็กที่มีผนังบ้านเป็นแคนวาสผืนแรก

การอยู่กับปัจจุบันของเธอ ส่งผลให้ออยเป็นคนที่วาดรูปตอนไหนก็ได้ ไม่เคยรู้สึกเกร็งแม้จะมีคนจับจ้องก็ตาม เราเห็นจะจริงตามนั้น เมื่อขอให้เธอวาดประกอบการถ่ายภาพนิดหน่อย The Cloud จึงได้รูปก้อนเมฆกลับมาเป็นของขวัญ

ก่อน Mood & Tone ของเรื่องจะผิดแผกไปไกล เจ้าซัมเมอร์ โกลเดนรีทรีฟเวอร์ตัวโตก็กระโดดกระเด้งออกมาจากหลังม่าน ราวกับรอเวลาที่จะได้ขึ้นนั่งตักให้กำลังใจเจ้าของของมัน ช่วยสร้างบรรยากาศให้แสงแดดยามบ่ายไม่ร้อนอย่างเคย

แม้ระหว่างทางจะเต็มไปด้วยบททดสอบและขรุขระไปบ้าง แต่การได้เห็นเด็กหญิงช่างฝันคนนั้นยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความฝัน และมีเพื่อนรักสี่ขาอยู่เคียงข้างในบ้านอันอบอุ่น ก็น่าจะเป็นตอนจบของเรื่องที่มีความสุขนะ

เปิดสตูดิโออบอุ่นของ give.me.museums และผลงานวัยเด็กที่มีผนังบ้านเป็นแคนวาสผืนแรก
เปิดสตูดิโออบอุ่นของ give.me.museums และผลงานวัยเด็กที่มีผนังบ้านเป็นแคนวาสผืนแรก

Give.me.studio

เราย้ายตัวลงมาที่สตูดิโอชั้นล่าง หลังโยนคำถามไปว่า คุณมีอุปกรณ์สำหรับการวาดรูปเยอะขนาดไหน 

ออยบอกว่าเท่าที่เห็นเป็นแค่บางส่วน เพราะเธอมีอีกสตูดิโอไว้สำหรับการแพ็กของ สต็อกของ และเก็บอุปกรณ์โดยเฉพาะ 

“คนจะบอกว่างานของเราคือ Impressionism ส่วนตัวเราคิดว่ามันเป็น Commercial Art 

“ถ้าจะถามว่า Give.me.museums คืออะไร เราจะบอกว่ามันคือแบรนด์ แล้วเราก็ไม่ใช่ศิลปิน เราทำแบรนด์ ถ้าไปดูตรงไบโอไอจี เขียนว่าเป็นแบรนด์ตั้งแต่แรก ไม่เคยเขียนว่า Artist”

รองจากสไตล์งาน เรื่องที่ออยถูกถามบ่อย ๆ คือทำไมต้องเป็นดอกไม้และทุ่งหญ้า เราเองก็ยังสงสัย ออยบอกว่าเกิดขึ้นช่วงโควิดพอดิบพอดี เป็นความต้องการลึก ๆ ของคนที่ชอบออกไปเที่ยวข้างนอก แต่ผลจากการล็อกดาวน์ทำให้เธอต้องอยู่แต่ในบ้าน หลายภาพจึงเป็นการดึงเอาความทรงจำเก่า ๆ มาปะติดปะต่อกัน

“หลายอันเป็นสถานที่จริง แต่ว่าไม่เป๊ะ เหมือนเราชอบฟ้าของวันนั้น แต่เราชอบดอกไม้ของวันนี้ ก็เอามาผสมกัน”

เทคนิคในงานก็ถูกผสมผสานด้วยเช่นกัน แต่ก่อนงานของเธอจะหนักไปทางสีไม้ สีชอล์ก สีเทียน ปัจจุบันออยถนัดใช้สีอะคริลิกบนเฟรมผ้าใบ แต่เทคนิคที่เธอโปรดปรานมากที่สุดคือสีน้ำมัน ด้วยเหตุผลที่ว่า “ชอบเท็กซ์เจอร์นูน ๆ แล้วมันเป็นสีที่แห้งช้า เราทำไปได้เรื่อย ๆ เลย”

เปิดสตูดิโออบอุ่นของ give.me.museums และผลงานวัยเด็กที่มีผนังบ้านเป็นแคนวาสผืนแรก
การเปิดบ้านครั้งแรกของ give.me.museums ที่เป็นทั้งสตูดิโอส่วนตัว แคนวาสผืนแรก และจุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่เธอรัก

สตูดิโอของเธอมีผนังด้านซ้ายเป็นผ้าม่านสีฟ้าคราม ผนังด้านขวาเป็นโซฟากับบรรดาภาพสเก็ตช์ ส่วนผนังใหญ่ ๆ ตรงหน้าเราแบ่งออกเป็น 2 โซน คือท้องฟ้ากว้างใหญ่และทุ่งหญ้าเขียวขจีดังที่เห็นในภาพ 

ออยบอกตามตรงว่าเป็นเพราะช่วงนี้เธอจัดนิทรรศการ ภาพวาดบางส่วนจึงนำไปจัดแสดง ตัวเราที่เป็นแฟนคลับเธอตั้งแต่สมุดโน้ตยัน Griptok มือถือ แค่ได้เห็นผืนผ้าใบที่ยังวาดไม่เสร็จดีก็ดีแค่ไหน เลยถือโอกาสนี้เอ่ยถามออกไปว่าอะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการวาดรูป

ตอนเริ่มวาด” ออยหัวเราะดังก่อนเข้าสู่โหมดจริงจัง “ถ้าเกิดเป็นกระบวนการ ยากที่สุดคือจะเสร็จตอนไหน จะจบงานหรือยัง เพราะถ้าทำไปเรื่อย ๆ มีจุดที่เราทำอยู่แล้ว เฮ้ย สวยจัง แล้วเริ่มจะไม่ใช่ เริ่มเละ จังหวะที่โอเคเนี่ยยากที่สุด ต้องใช้ความรู้สึกมาก ๆ”

มีคนเคยบอกว่าสวยแล้ว ให้คุณหยุดรึยัง

“คนที่บ้านเชื่อไม่ได้ ทำอะไรก็สวย เพิ่งจะมีแค่สีฟ้าบนเฟรมผ้าใบยังไม่ทันได้วาดอะไรเลย (หัวเราะ)”

แม้งานของเธอจะเยอะมากพอให้จัดนิทรรศการเดี่ยวได้ แต่ออยก็มีภาพที่วาดไม่เสร็จจำนวนมากเช่นกัน เหตุผลหลัก ๆ คือความรู้สึกไม่ต่อเนื่อง เพราะเธอมักวาดให้เสร็จในคราวเดียว ไม่ทิ้งระยะเวลานานมาก 

การเปิดบ้านครั้งแรกของ give.me.museums ที่เป็นทั้งสตูดิโอส่วนตัว แคนวาสผืนแรก และจุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่เธอรัก
การเปิดบ้านครั้งแรกของ give.me.museums ที่เป็นทั้งสตูดิโอส่วนตัว แคนวาสผืนแรก และจุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่เธอรัก

“พอทิ้งระยะนาน เราจะรู้สึกกับภาพไม่เหมือนเดิม เหมือนตอนแรกคิดในหัวว่าอยากให้ออกมาเป็นสิ่งนี้ แต่ตอนนี้อยากทำแบบนี้มากเลย แล้วพอทิ้งไว้สักอาทิตย์ก็รู้สึกว่าอยากวาดอันใหม่มากกว่าแล้ว”

กว่า 4 ปี ที่เราเห็นแบรนด์ของเธอโลดแล่นอยู่ในคราบสิ่งของเครื่องใช้ โดยเฉพาะอุปกรณ์เครื่องเขียนที่เรามักจะโดนเธอตกง่าย ๆ ออยอยากฝากให้ทุกคนติดตามตอนต่อไปของนิทานเรื่องนี้ เพราะเธอมีแพลนจะเปลี่ยนจากสีสันจัดจ้านเป็นสีพาสเทลดูบ้างในปีหน้า 

นอกจากนี้ น้องผมส้มฟูฟ่องก็เป็นอีกหนึ่งความฝันที่ออยยังอยากทำให้เป็นจริง ไม่เพียงแค่ปรากฏอยู่บนหน้าปกสมุดอย่างเคย แต่เธออยากเปิดอีกแบรนด์เพื่อสร้างน้องให้มีชีวิต เพราะร่างต้นแบบของน้องผมส้มเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเธอยังเด็ก สำคัญที่สุดคือเธอวาดตัวเอง 

จากเด็กที่เขียนผนังห้องเพื่อความสนุก กลายเป็นหนึ่งคนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องพื้นที่แสดงออกทางศิลปะ ลงมือวาดรูปได้เสมอไม่ว่าที่ไหน และยังมีความสุขทุกวันที่ได้ทำอาชีพนี้ เราถามออยว่าเพราะอะไร

“มันเลยจุดชอบไปแล้ว เหมือนคนเราต้องกินข้าว” เธอตอบ

แล้วเคยวาดจนลืมกินข้าวรึเปล่า

“โอ๊ย ไม่ลืมหรอก แต่ว่าไม่อยากกิน เพราะยังอยากวาดอยู่” ออยไม่ลืมหัวเราะส่งท้าย

การเปิดบ้านครั้งแรกของ give.me.museums ที่เป็นทั้งสตูดิโอส่วนตัว แคนวาสผืนแรก และจุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่เธอรัก

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์