“คงแถว ๆ นี้แหละ…”
เราพึมพำกันมาตลอดทาง เพราะยังคงขับวนไปวนมาไม่ถึงที่หมายเสียที กว่าจะพบว่าหลงจากหมุดไปเสียไกลเวลาก็ล่วงเลยนัดไปกว่าครึ่งชั่วโมง หวั่นใจว่าต้นเรื่องของเราวันนี้จะขุ่นเคือง เพราะเธอไม่เคยเปิดบ้านให้สื่อไหนเยี่ยมชมมาก่อน อีกทั้งวันที่นัดพบกัน ยังเป็นช่วงของการจัด BIG HUG นิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 2 ของเธออีกต่างหาก
เสียงจากปลายสายคอยบอกทางจนถึงที่หมาย ก่อน ออย-คนธรัตน์ เตชะไตรศร เจ้าของเสียง เจ้าของแบรนด์ give.me.museums และเจ้าของบ้าน จะปรากฏกายต้อนรับด้วยชุดเดรสสีแดงน่ารัก ยิ้มแย้ม จนอดรู้สึกผิดไม่ได้
เพียงเดินเข้ามาก็จะเจอกับสตูดิโอส่วนตัวของเธอ ขนาดกำลังพอดีให้เธอได้นอนกลิ้งเวลาคิดงานไม่ออก พร้อมกับผลงานหลายชิ้นที่เคยเห็นผ่านตามาแล้วบ้างบนอินเทอร์เน็ต แต่บริเวณชั้นสองต่างหากที่ความฝันของเธอถือกำเนิด และดอกไม้ดอกแรกในสวนได้ถูกวาดขึ้น
ออยเปิดกรุผลงานวัยเยาว์ของตัวเองตลอดการพูดคุย พร้อมความทรงจำมากมายที่พรั่งพรูออกมาจากลิ้นชัก ไม่แปลกใจว่าทำไมเธอถึงได้กลายเป็นศิลปินที่มีความสดใสเป็นเอกลักษณ์ เปี่ยมด้วยความกระตือรือร้น มั่นใจ พร้อมประกายในแววตาที่พาให้รู้สึกเต็มตื้นตามไปด้วย
“ออยวาดรูปเป็น ก่อนอ่านหนังสือเป็นซะอีก”
เรานั่งฟังติดขอบจอ ประหนึ่งฟังนิทานเรื่องการเดินทางของเด็กหญิงช่างฝัน


Blooming Home
“ตอนเด็ก ๆ อ่านหนังสือช้า ประถมก็ยังอ่านไม่ออก” เธอเล่าต่อ “เขาเริ่มเห็นเราเขียนกำแพง” ส่วนเขาที่ว่าคือพ่อและแม่
หากใครมีโอกาสได้เยี่ยมชม Blooming Home นิทรรศการแรกในชีวิตของเธอก็จะพบกับผนังโล่ง ๆ ให้ทุกคนวาดเล่นได้อย่างอิสระ เพราะเธอเองก็ใช้มือเล็็ก ๆ สร้างจิตรกรรมฝาผนังบ้าน โดยมีครอบครัวให้การสนับสนุนเช่นกัน
ห้องของออยประดับประดาไปด้วยผลงานหลากหลายช่วงวัย แบบที่ถ้าถามถึงวัยไหน เธอก็รื้อค้นจนเจอได้ ต่อไปนี้จึงเป็นช่วงของการเปิดกรุของเก่าที่เจ้าของเฝ้าเก็บมันเป็นอย่างดี ทั้งสมุดวาดรูปด้วยสีไม้ สีเทียน ปากกาเมจิก คนบ้าง ทิวทัศน์บ้าง เรื่องเล่าในจินตนาการบ้าง นอกจากลายเส้นพิลึกกึกกือและสีสันซีดเซียวที่เคยจัดจ้าน จะบอกได้ว่ามันถูกวาดมานานแค่ไหน อีกอย่างที่บอกได้คงเป็นลายเซ็นของท่านศิลปินใหญ่ที่เขียนชื่อตัวเองกลับหัวกลับหาง ตามประสาเด็กอ่านหนังสือไม่ออก
“ไม่แน่ใจแล้วว่าเล่มไหนเป็นเล่มไหน บางส่วนก็แตกสลายไปตามกาลเวลา จริง ๆ มีภาพที่เด็กมาก ๆ เลยแต่มันอยู่ในห้องเก็บของข้างล่าง” เธอยังคงเปิดลิ้นชักจนผลงานกองพะเนิน
ใครเป็นคนเก็บรูปวาดพวกนี้ให้ – เราถาม เพราะเห็นว่าหลายชิ้นถูกเขียนตอนเธอยังเด็กมาก
“เก็บไว้เอง” ออยหันมายิ้ม “เรารักงานตัวเองมาก เก็บทุกอย่าง อาจจะเพราะพ่อแม่เอางานเราตอนเด็กไปใส่กรอบเก็บไว้… เดี๋ยวหยิบมาให้ดู”


ระหว่างนั้น เราก็ได้ทราบว่าแม่ของออยเป็นคนชอบจัดดอกไม้ ส่วนพ่อชอบศิลปะและเป็นคนสอนให้เธอวาดรูปเป็น แม้จะวาดไม่เก่งมากมาย แต่ถ้าทั้งคู่เลือกกีดกันเธอในวันนั้น ก็คงไม่มีออยในวันนี้ ต่อให้สิ่งเดียวที่เธอได้จากการเรียนสายวิทย์คณิตตามเพื่อนจะเป็นการจดเลคเชอร์ยังไงให้สวยน่าอ่านก็ตาม
Give.me.museums
จบสายวิทย์ ติวสถาปัตย์ แต่เป็นบัณฑิตคณะศิลปกรรม ซึ่งถ้าไม่นับเรื่องติว ก็เรียกว่าเป็นการเรียนศิลปะครั้งแรก
“แต่มันไม่ใช่การวาดรูปอยู่ดี เพราะเราเรียนออกแบบ” เธอเองก็สับสน “รู้สึกว่ามันอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่ทำอยู่ในตอนนี้ แต่มันช่วยเชปเราเรื่องวิธีการคิดและกระบวนการต่าง ๆ ตอนพบว่ามีหลายอย่างที่เราชอบ เลยเป็นช่วงที่เราเลิกวาดรูปไปเลย”
พอชอบถ่ายรูปมาก ก็ไปถ่ายรูป ชอบทำกราฟิกมาก ก็ทำธีสิสจบเกี่ยวกับ Typography ถึงขนาดเข้าไปทำงานเป็น Art Director ที่ Ogilvy อยู่ 2 ปี
ออยบอกว่าช่วงเวลาเหล่านี้เธอแทบไม่ได้จับพู่กัน
“มันเริ่มเหนื่อย งานมันหนัก ใช้ทั้งพลังกายพลังใจ มีช่วงที่เรา Burn Out ก็เลยต้องหยุดแล้วหาอะไรทำ”
ไม่ถามเห็นจะไม่ได้ ว่าเด็กหญิงออยที่เขียนกำแพงสวยกว่าใครรู้สึกยังไงที่ได้กลับมาวาดรูปอีกครั้ง
“รู้สึกว่า อ้อ! คนนี้น่าจะเป็นเราที่หายไปนี่แหละ คนนั้นก็เป็นเราเหมือนกัน แต่เราชอบตัวเองในเวอร์ชันนี้มากกว่า มันรู้สึกมีชีวิต”
ใกล้จะถึงจุดเริ่มต้นของ Give.me.museums เข้ามาเต็มที ออยก็ขอคั่นการสนทนาด้วยการเอี้ยวไปหยิบคอมมาเปิดสไลด์ ใช่ อ่านไม่ผิด เธอทำสไลด์เรื่องราวของตัวเองไว้อย่างดี
“นี่คือไทม์ไลน์ (หัวเราะ) เรามีเป็นอินโฟกราฟิก” ออยพรีเซนต์ไปก็เขินไป เราขอสรุปรวบยอดได้ใจความว่า หลังจากหมดไฟ เธอก็ผลิตสินค้าขึ้นมาใช้เองและนำไปฝากขายตามร้านของกระจุกกระจิก ภายใต้ชื่อสุดเก๋ไม่ซ้ำใครว่า ‘คนธรัตน์’ ก่อนจะได้รับการติดต่อจากบรรดาลูกค้ามากมายจนต้องคลอดแบรนด์ Give.me.museums ขึ้นมาจากประโยคดังของปิกัสโซ่ว่า Give me a museum and I’ll fill’it อย่างที่พวกเรารู้ ๆ กัน
แต่เรื่องที่หลายคนอาจยังไม่รู้ คือนอกจากจะเป็นประโยคดังแล้ว มิวเซียมในความหมายของเธอคือพื้นที่แสดงออกทางศิลปะที่ไม่ใช่แค่พิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรี่ แต่รวมถึงโซฟา โคมไฟ นาฬิกา พัดลม กบเหลาดินสอ ฯลฯ สิ่งของในชีวิตประจำวันมากมายที่รายล้อมอยู่รอบตัวเรา แม้กระทั่งห้องน้ำในออฟฟิศ สาวเจ้าก็เพนต์ทั้งชักโครกจนถึงท่อน้ำทุกอัน
“มันเริ่มมาจากคำถามว่า เราเพนต์ผนังบ้านได้ ทำไมคนอื่นเพนต์ไม่ได้ ศิลปะไม่ควรเป็นของสูง มันควรเข้าถึงได้ง่าย ๆ นี่คือเหตุผลที่ทำให้เราทำสินค้าออกมาขาย เพราะทุกที่คือแคนวาส”


BIG HUG
อดีต ออยมีหน้าร้านครั้งแรกที่ตลาดนัดจตุจักร จากการเดินเสาะหาที่ด้วยตัวเอง
ปัจจุบัน หน้าร้านที่จตุจักรปิดตัวลง และเธอเพิ่งเปิดร้านใหม่ขนาดใหญ่กว่าเดิมที่เอ็มควอเทียร์ ครั้งนี้เธอเป็นฝ่ายได้รับการติดต่อมา
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ แค่ตัดสินใจจะจ้างพนักงานคนแรกยังเป็นเรื่องยากสำหรับเธอด้วยซ้ำ เพราะโลกของการทำธุรกิจนั้นแยกออกจากการเป็นศิลปินอย่างสิ้นเชิง
“ตอนแรกคิดว่าตัวเองเป็นคนไม่เครียด” ออยเว้นวรรค “แต่ว่ามันอาจจะลึก ๆ มั้ง เราเป็นคนเรื่องมาก มีความเป็น Professionist อยู่ในตัวเหมือนกัน แล้วพอไม่ได้ดั่งใจก็เครียด หลาย ๆ อย่างที่เราปล่อยให้คนอื่นทำแล้วบางทีเขาตอบช้านิดหน่อย เราก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ แค่ลูกค้าโทรมาบอกว่าได้ของผิดค่ะ ทำไมแพ็กมาอย่างงี้ เราก็เครียดมากเลย
“เราพยายามทำทุกอย่างเอง เรื่องสต็อก ฉันจะต้องเป็นคนเติมเอง ของมันจะต้องสั่งเท่านี้ พอถอยออกมาถึงรู้ว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ขนาดนั้น โอเค มันอาจจะไม่เหมือนที่เราทำ แต่ว่าทุกคนก็มีวิธีของตัวเอง”
น่าสนใจว่าเด็กหญิงช่างฝันที่มีภาพลักษณ์สดใสร่าเริงขนาดนี้ ก็มีช่วงที่ท้องฟ้าปกคลุมไปด้วยเมฆหน้าทึบด้วยเหมือนกัน ทำให้นิทานของเธอน่าติดตามมากยิ่งขึ้น
“จริง ๆ เราเป็นไมเกรน ไม่ได้เป็นคนสดใสขนาดนั้น อาจจะพลังงานเยอะเฉย ๆ” ออยแก้ข่าวพร้อมเสียงหัวเราะ
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ยืนยันได้ ก็คงเป็นตอนที่เธอได้รับการติดต่อจากเอ็มควอเทียร์ให้ไปเปิดร้านในห้าง ซึ่งเส้นทางไม่ได้สวยหรูเท่าที่ควร โดยเฉพาะการตบตีกับใจของตัวเอง “เราจำได้ว่านั่งร้องไห้อยู่ตรงฟู้ดคอร์ท ทะเลาะกับแฟน กับแม่” เธอยังคงเล่าพร้อมรอยยิ้ม
“ไม่มีใครแย้งเราเลย แต่ทุกคนบอกให้คิดดี ๆ ก่อน เพราะค่าที่มันแพงมาก แล้วก็ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่มองไม่เห็นอีก เราก็ โอ้ยคิดดีแล้ว ประสาทเสีย เราอยากได้มาก คิดว่าทำได้ ก็คงจะมีคนเห็นเพราะว่าเสียงดัง แล้วก็ร้องไห้อยู่”
เราถามเธอต่อทันทีว่าจุดที่ทำให้รู้สึกว่าต้องปล่อยวางแล้วคืออะไร แม้จะเคยหนักหน่วงกับชีวิต ออยก็พูดถึงจุดหักเหของเรื่องออกมาอย่างง่ายดาย เธอเปิดเผยให้เราฟังว่า เคยถูกจ่ายยาโรคซึมเศร้าให้ทานอยู่ช่วงสั้น ๆ จากการกดดันตัวเองมากเกินไปจนเครียดลงกระเพาะ
“เราว่ามันไม่ควรจะเป็น จะหาเงินมาเพื่อมารักษาตัวเองมันไม่ใช่ เราควรมีความสุขกับสิ่งที่ทำ คือจุดที่รู้สึกว่าเราต้องรักตัวเองให้มากกว่านี้”
ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังฝีแปรงอะคริลิกที่ปาดไปมาอย่างมั่นใจจะไม่เบิกบานเหมือนภาพวาด คงเป็นเพราะออยยืนยันกับเราว่า เรื่องเศร้ามากมายในใจเธอมักจะไม่สะท้อนออกมาในงานเท่าไรนัก
“เวลาวาดรูปจะไม่เศร้า มันเหมือนหลุดไปอีกในมิติ (หัวเราะ) ปล่อยสมองว่าง ๆ ไม่ได้คิดอะไร คิดแค่เรื่องปัจจุบันมาก ๆ เช่น เราจะใช้สีนี้ ๆ สีต่อไปคืออะไร เราคิดว่าทุกเรื่องผ่านไปแล้ว ไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้ มันคลีเช่มากนะ แต่ว่าก็ทำวันนี้ให้ดีที่สุด”


การอยู่กับปัจจุบันของเธอ ส่งผลให้ออยเป็นคนที่วาดรูปตอนไหนก็ได้ ไม่เคยรู้สึกเกร็งแม้จะมีคนจับจ้องก็ตาม เราเห็นจะจริงตามนั้น เมื่อขอให้เธอวาดประกอบการถ่ายภาพนิดหน่อย The Cloud จึงได้รูปก้อนเมฆกลับมาเป็นของขวัญ
ก่อน Mood & Tone ของเรื่องจะผิดแผกไปไกล เจ้าซัมเมอร์ โกลเดนรีทรีฟเวอร์ตัวโตก็กระโดดกระเด้งออกมาจากหลังม่าน ราวกับรอเวลาที่จะได้ขึ้นนั่งตักให้กำลังใจเจ้าของของมัน ช่วยสร้างบรรยากาศให้แสงแดดยามบ่ายไม่ร้อนอย่างเคย
แม้ระหว่างทางจะเต็มไปด้วยบททดสอบและขรุขระไปบ้าง แต่การได้เห็นเด็กหญิงช่างฝันคนนั้นยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความฝัน และมีเพื่อนรักสี่ขาอยู่เคียงข้างในบ้านอันอบอุ่น ก็น่าจะเป็นตอนจบของเรื่องที่มีความสุขนะ


Give.me.studio
เราย้ายตัวลงมาที่สตูดิโอชั้นล่าง หลังโยนคำถามไปว่า คุณมีอุปกรณ์สำหรับการวาดรูปเยอะขนาดไหน
ออยบอกว่าเท่าที่เห็นเป็นแค่บางส่วน เพราะเธอมีอีกสตูดิโอไว้สำหรับการแพ็กของ สต็อกของ และเก็บอุปกรณ์โดยเฉพาะ
“คนจะบอกว่างานของเราคือ Impressionism ส่วนตัวเราคิดว่ามันเป็น Commercial Art
“ถ้าจะถามว่า Give.me.museums คืออะไร เราจะบอกว่ามันคือแบรนด์ แล้วเราก็ไม่ใช่ศิลปิน เราทำแบรนด์ ถ้าไปดูตรงไบโอไอจี เขียนว่าเป็นแบรนด์ตั้งแต่แรก ไม่เคยเขียนว่า Artist”
รองจากสไตล์งาน เรื่องที่ออยถูกถามบ่อย ๆ คือทำไมต้องเป็นดอกไม้และทุ่งหญ้า เราเองก็ยังสงสัย ออยบอกว่าเกิดขึ้นช่วงโควิดพอดิบพอดี เป็นความต้องการลึก ๆ ของคนที่ชอบออกไปเที่ยวข้างนอก แต่ผลจากการล็อกดาวน์ทำให้เธอต้องอยู่แต่ในบ้าน หลายภาพจึงเป็นการดึงเอาความทรงจำเก่า ๆ มาปะติดปะต่อกัน
“หลายอันเป็นสถานที่จริง แต่ว่าไม่เป๊ะ เหมือนเราชอบฟ้าของวันนั้น แต่เราชอบดอกไม้ของวันนี้ ก็เอามาผสมกัน”
เทคนิคในงานก็ถูกผสมผสานด้วยเช่นกัน แต่ก่อนงานของเธอจะหนักไปทางสีไม้ สีชอล์ก สีเทียน ปัจจุบันออยถนัดใช้สีอะคริลิกบนเฟรมผ้าใบ แต่เทคนิคที่เธอโปรดปรานมากที่สุดคือสีน้ำมัน ด้วยเหตุผลที่ว่า “ชอบเท็กซ์เจอร์นูน ๆ แล้วมันเป็นสีที่แห้งช้า เราทำไปได้เรื่อย ๆ เลย”


สตูดิโอของเธอมีผนังด้านซ้ายเป็นผ้าม่านสีฟ้าคราม ผนังด้านขวาเป็นโซฟากับบรรดาภาพสเก็ตช์ ส่วนผนังใหญ่ ๆ ตรงหน้าเราแบ่งออกเป็น 2 โซน คือท้องฟ้ากว้างใหญ่และทุ่งหญ้าเขียวขจีดังที่เห็นในภาพ
ออยบอกตามตรงว่าเป็นเพราะช่วงนี้เธอจัดนิทรรศการ ภาพวาดบางส่วนจึงนำไปจัดแสดง ตัวเราที่เป็นแฟนคลับเธอตั้งแต่สมุดโน้ตยัน Griptok มือถือ แค่ได้เห็นผืนผ้าใบที่ยังวาดไม่เสร็จดีก็ดีแค่ไหน เลยถือโอกาสนี้เอ่ยถามออกไปว่าอะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการวาดรูป
“ตอนเริ่มวาด” ออยหัวเราะดังก่อนเข้าสู่โหมดจริงจัง “ถ้าเกิดเป็นกระบวนการ ยากที่สุดคือจะเสร็จตอนไหน จะจบงานหรือยัง เพราะถ้าทำไปเรื่อย ๆ มีจุดที่เราทำอยู่แล้ว เฮ้ย สวยจัง แล้วเริ่มจะไม่ใช่ เริ่มเละ จังหวะที่โอเคเนี่ยยากที่สุด ต้องใช้ความรู้สึกมาก ๆ”
มีคนเคยบอกว่าสวยแล้ว ให้คุณหยุดรึยัง
“คนที่บ้านเชื่อไม่ได้ ทำอะไรก็สวย เพิ่งจะมีแค่สีฟ้าบนเฟรมผ้าใบยังไม่ทันได้วาดอะไรเลย (หัวเราะ)”
แม้งานของเธอจะเยอะมากพอให้จัดนิทรรศการเดี่ยวได้ แต่ออยก็มีภาพที่วาดไม่เสร็จจำนวนมากเช่นกัน เหตุผลหลัก ๆ คือความรู้สึกไม่ต่อเนื่อง เพราะเธอมักวาดให้เสร็จในคราวเดียว ไม่ทิ้งระยะเวลานานมาก


“พอทิ้งระยะนาน เราจะรู้สึกกับภาพไม่เหมือนเดิม เหมือนตอนแรกคิดในหัวว่าอยากให้ออกมาเป็นสิ่งนี้ แต่ตอนนี้อยากทำแบบนี้มากเลย แล้วพอทิ้งไว้สักอาทิตย์ก็รู้สึกว่าอยากวาดอันใหม่มากกว่าแล้ว”
กว่า 4 ปี ที่เราเห็นแบรนด์ของเธอโลดแล่นอยู่ในคราบสิ่งของเครื่องใช้ โดยเฉพาะอุปกรณ์เครื่องเขียนที่เรามักจะโดนเธอตกง่าย ๆ ออยอยากฝากให้ทุกคนติดตามตอนต่อไปของนิทานเรื่องนี้ เพราะเธอมีแพลนจะเปลี่ยนจากสีสันจัดจ้านเป็นสีพาสเทลดูบ้างในปีหน้า
นอกจากนี้ น้องผมส้มฟูฟ่องก็เป็นอีกหนึ่งความฝันที่ออยยังอยากทำให้เป็นจริง ไม่เพียงแค่ปรากฏอยู่บนหน้าปกสมุดอย่างเคย แต่เธออยากเปิดอีกแบรนด์เพื่อสร้างน้องให้มีชีวิต เพราะร่างต้นแบบของน้องผมส้มเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเธอยังเด็ก สำคัญที่สุดคือเธอวาดตัวเอง
จากเด็กที่เขียนผนังห้องเพื่อความสนุก กลายเป็นหนึ่งคนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องพื้นที่แสดงออกทางศิลปะ ลงมือวาดรูปได้เสมอไม่ว่าที่ไหน และยังมีความสุขทุกวันที่ได้ทำอาชีพนี้ เราถามออยว่าเพราะอะไร
“มันเลยจุดชอบไปแล้ว เหมือนคนเราต้องกินข้าว” เธอตอบ
แล้วเคยวาดจนลืมกินข้าวรึเปล่า
“โอ๊ย ไม่ลืมหรอก แต่ว่าไม่อยากกิน เพราะยังอยากวาดอยู่” ออยไม่ลืมหัวเราะส่งท้าย
