The Cloud x ไทยประกันชีวิต
แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

“ออร์แกนิกจะไม่ใช่เทรนด์ที่ฉาบฉวยอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นวิถีการกินอย่างยั่งยืน” 

นั่นคือสิ่งที่สุภาพสตรีเบื้องหน้าในชุดพื้นเมืองและคู่ชีวิตของเธอในชุดม่อฮ่อมพยายามสื่อสารกับฉัน

ธง-ธงชัย ปริเตนัง และ ปุ้ย-ศิริลักษณ์ ปริเตนัง สามีภรรยาเจ้าของ ‘Ginger Farm Chiangmai’ ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่ทั้งปลูกพืชผลทางการเกษตรและทำโรงเลี้ยงสัตว์เพื่อนำผลผลิตจากการดูแลตามธรรมชาติ ไม่เจือปนสารอันตรายใดๆ มาแปรรูปเป็นอาหารพื้นเมืองแบบท้องถิ่นล้านนาหอมๆ อุ่นๆ และได้คุณค่าจากวัตถุดิบปลอดสารเคมี 

ธง-ธงชัย ปริเตนัง และ ปุ้ย-ศิริลักษณ์ ปริเตนัง สามีภรรยาเจ้าของ 'Ginger Farm Chiangmai'

เพราะวัตถุดิบในจานอาหารของ Ginger Farm Kitchen ที่จังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพมหานครมาจากทั้ง Ginger Farm และรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรรายย่อยในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ทำให้ลูกค้าทั้งหลายติดอกติดใจคุณประโยชน์ในจานอาหารที่ทำให้คิดถึงบ้านผ่านเมนูแบบดั้งเดิม

นอกจากนี้ Ginger Farm Chiangmai ยังเปิดพื้นที่ทางการเกษตรกว่า 20 ไร่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นดีทั้งในด้านเกษตรกรรมและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของไทย เพราะมีกิจกรรมที่แฝงองค์ความรู้การทำเกษตรกรรมแบบชาวเหนือดั้งเดิมแต๊ๆ และการดำรงชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติอย่างครบถ้วน รวมถึงบรรยากาศดีๆ ที่นักเรียนในชุดม่อฮ่อมได้รับจากพลังงานจากธรรมชาติบนพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกค้าทุกเพศ ทุกวัย และทุกเชื้อชาติ

Ginger Farm Chiangmai

ตลอดบทสนทนา แววตาของธงและปุ้ยซึ่งเล่าเรื่อง Ginger Farm Chiangmai ให้ฉันฟังเต็มไปด้วยความสุขและอิ่มใจ ที่สองนักธุรกิจได้ลงมือทำบางสิ่งคืนให้โลก ให้สังคม และให้ผู้คน ทั้งการช่วยเหลือทางอาชีพและตระหนักถึงความสำคัญของโลกใบนี้

01

แรงบันดาลใจจากการทำนา

ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2540 ธงและปุ้ยทำธุรกิจผลิตสินค้าแบบ OEM และส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์ทั้งของตกแต่งบ้าน ของใช้ในครัวเรือน ของใช้สำหรับเด็ก ให้แบรนด์ดังระดับโลกทั้ง ZARA, Habitat และอีกหลายแบรนด์ จนเริ่มสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองในชื่อ Ginger ในปี 2546

ความสำเร็จของธุรกิจนี้ยิ่งใหญ่ขนาดไหน ปุ้ยบอกฉันว่า ธุรกิจส่งออกของเธอไปไกลทุกประเทศ ในระดับงานแฟร์ งานเอ็กซ์โปไหน ที่ว่าใหญ่ Ginger ก็ไปมาหมดแล้ว

ในพื้นที่บ้านซึ่งเป็นที่ตั้ง Ginger Farm Kitchen ปัจจุบันมีโรงงานผลิตสินค้าที่ตั้งอยู่ไม่ไกล ธงซึ่งดูแลระบบโลจิสติกส์หลังบ้านของ Ginger มักหลบมาทำกิจกรรมยามว่างอย่างหนึ่งหลังเสร็จสิ้นภาระงาน นั่นคือ

การทำนา

Ginger Farm Chiangmai

เพราะธงเป็น 1 ในพี่น้อง 5 คนที่พ่อเป็นชาวนา ชีวิตส่วนหนึ่งในวัยเด็กของธงอาจไม่ต่างอะไรกับลูกชาวนาทั่วไป ที่นอกจากต้องไปเรียนหนังสือในเวลาทำการ เมื่อกลับบ้านหรือมีเวลาว่างธงเป็นหนึ่งในเรี่ยวแรงของพ่อที่จะช่วยทำนาในแทบทุกกรรมวิธี ดังนั้น ธงจึงมีองค์ความรู้และประสบการณ์ในการปลูกข้าว รวมทั้งรับรู้ปัญหาที่ชาวนาประสบพบเจอมาตลอดหลายสิบปี

“สมัยเด็กๆ ตอนผมทำนามีความลำบาก 2 เรื่อง ก็คือเรื่องน้ำ ถ้าไม่มีน้ำมันก็ปลูกก็ทำนาไม่ได้ ถ้าน้ำเยอะไปก็ไม่ได้ น้ำน้อยก็ไม่ได้ แล้วก็มีเรื่องวัชพืชที่มากัดต้นข้าว ทั้งปูนา ทั้งหอยเชอรี่ ที่มากัดต้นข้าว สมมติว่าเราดำนาวันนี้ ถ้าเราไม่กำจัดหอย พรุ่งนี้เช้าจะไม่เหลือข้าวสักต้นเลย เพราะว่าหอยกินหมด เพราะฉะนั้น ชาวนาก็จะใช้สารเคมีในการฆ่าหอย พอดำนาเสร็จก็ฉีดยา ไม่ใช่หอยตายอย่างเดียว ปู ปลาไหล ในนาก็ตายหมดเลย” ธงเล่าถึงความลำบากในการทำนา

ยิ่งเมื่อต้องนำผลผลิตที่ตรากตรำลำบากทั้งปลูก เกี่ยวไปขายโรงสี ยิ่งเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก เพราะหลายครั้งผลผลิตถูกกดราคารับซื้อในราคาที่ต่ำมากจากราคาที่เคยประกันหรือตกลงกันไว้ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่ตกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ธงที่ยังทำนาเป็นงานอดิเรกก็ยังได้รับผลกระทบนี้

งานอดิเรกที่ควรจะต้องสนุกกลับกลายเป็นเรื่องที่ต้องคิดหน้าคิดหลังอย่างรอบคอบ ปุ้ยที่เห็นธงเผชิญปัญหาราคาข้าวตกต่ำ จึงใช้แว่นตาของการเป็นนักธุรกิจเข้ามาแก้ปัญหา จึงเริ่มนำผลผลิตขายในชื่อแบรนด์ Ginger ของตัวเอง ซึ่งข้าวกล้องออร์แกนิกล็อตแรกขายหมดภายใน 2 อาทิตย์

Ginger Farm Chiangmai

“เราประกาศในโซเชียลของ Ginger ว่าเรามีข้าวกล้องมาขาย เราซื้อเครื่องสีข้าวขนาดเล็กกับเครื่องซีลพลาสติกมาทำกันเอง ตอนนั้นเราขายที่กิโลละ 40 – 50 บาท ซึ่งถ้าเทียบกับตอนเราเอาไปขายหน้าโรงสีจะได้แค่กิโลกรัมละสิบกว่าบาท”

เมื่อข้าวที่เป็นผลผลิตแรกเริ่มทำกำไร ประกอบกับกิจการอีกหนึ่งอย่างของทั้งสองคือร้าน The House ร้านอาหารสไตล์เอเชียนทวิสต์บนถนนศรีภูมิ อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงใหม่ ต้องการวัตถุดิบหมุนเวียนในร้านอาหาร จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ธงและปุ้ยตัดสินใจใช้พื้นที่หลังบ้านปลูกผลผลิตทางการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ

แต่เพราะประสบการณ์ทางด้านเกษตรกรรมยังน้อยนิด การทดลองปลูกพืชต่างๆ จึงเกิดปัญหาตามมามากมาย ทั้งการควบคุมปริมาณน้ำ ปุ๋ย หรือดินเพาะปลูก ที่ไม่สมดุล ทำให้ผลผลิตช่วงแรกเสียหาย ธงและปุ้ยจึงต้องทำการบ้าน ทั้งหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตและแลกเปลี่ยนความรู้กับเกษตรกรตัวจริงที่พบในงานเสวนาต่างๆ

“ช่วงแรกเราปลูกผักอะไรก็ตามที่เราชอบหรือกินในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นแตงกวา มะละกอ แครอท ผักกาด มะเขือยาว พืชผักสวนครัวหรือสมุนไพร เช่น ผักชี ตะไคร้ หรือพืชที่เด็ดกินได้สดๆ จากต้น ส่วนปัญหาที่มี เพราะพี่ธงยังไม่มีองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์จริงๆ ที่ต้องต่อสู้ทั้งสภาพอากาศหรือศัตรูพืช และแมลงต่างๆ ผักบางชนิดก็ปลูกไม่ขึ้น จึงเป็นการแก้ปัญหาที่อาจเสียเวลาปลูกใหม่หลายๆ ครั้ง แต่เราก็ได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา” ปุ้ยกล่าว

02

พันธมิตรร่วมอุดมการณ์

หลังจากลองผิดลองถูกอยู่นานสองนาน ปี 2558 ธงและปุ้ยจึงตัดสินใจทำเกษตรกรรมอย่างจริงจัง จนกระทั่งต่อยอดเป็นร้าน Ginger Farm Kitchen ที่โครงการ One Nimman ในปี 2559

ถึงแม้ว่าหลังบ้านของ Ginger Farm Kitchen จะมีวัตถุดิบบางอย่างที่ผลิตได้เอง แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะยังขาดวัตถุดิบอีกจำนวนมากเพื่อรังสรรค์เมนูที่หลากหลาย ธงและปุ้ยจึงเริ่มเปิดรับซื้อพืชผลทางการเกษตรจากชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ก่อน เลือกจากเกษตรกรรายย่อยที่เพาะปลูกพืชผักพื้นบ้านที่ร้านอาหารต้องใช้เป็นวัตถุดิบหลัก ทั้งผักกูด ผักปั๋ง ผักเชียงดา ทั้งในพื้นที่อำเภอพร้าว อำเภอเชียงดาว อำเภอสารภี และกลุ่มชาวเขาเผ่าปกาเกอะเญอบนดอยอินทนนท์ โดยมีเงื่อนไขในการรับซื้อผลผลิตคือ ผลผลิตทั้งหมดต้องไม่ใช้สารเคมีในกระบวนการปลูกอย่างเด็ดขาด

แต่วัตถุดิบบางอย่างก็ไม่มีในพื้นที่รับซื้อ โชคดีที่ธงได้รับเชิญจากกลุ่มสามพรานโมเดลเพื่อเข้าร่วมสัมมนาเกษตรอินทรีย์ หรือการนัดพบของกลุ่ม Organic Tourism จึงได้พบเกษตรกรรายย่อยหลายๆ กลุ่มที่มีความแตกต่างในการเพาะปลูก ทั้งแง่องค์ความรู้และความหลากหลายของวัตถุดิบ

Ginger Farm Chiangmai

“ช่วงแรกเราเจอสมาชิกเครือข่ายไม่กี่ราย หลังจากนั้นเป็นการบอกต่อว่าคนนี้รู้จักคนนี้ นอกจากตัวเขาปลูกเอง ก็มีเพื่อนบ้าน มีฟาร์มที่ทำ แล้วพอรู้ว่าเอามาขายให้เรา เขาได้เงิน เขาก็จะเริ่มตามๆ กันมา เหมือนเรามีเครือข่ายย่อมๆ อยู่ตลอด มีการซื้อขายผลผลิตทั้งปี ไม่ใช่เป็นฤดูกาล ทำให้กลุ่มขยายเยอะขึ้นๆ ก็เริ่มจัดให้มันมีการบริหารจัดการไม่ให้เหมือนกัน เพื่อจะได้ซื้อของทุกๆ คนทั้งปี

“เราเข้าไปคุยกับเกษตรกรเลย ไม่ผ่านคนกลาง เราเปิดแผนเลยว่าเราใช้ของอะไร เดือนละเท่าไหร่บ้าง ก็ให้เขาปลูกไปตามสิ่งที่เราใช้ ฉะนั้น มันก็เจอกันพอดีเลย ความต้องการก็จะพอดี ก็จะไม่มีเหตุการณ์ผลผลิตล้นตลาดแล้วขายไม่ได้อีก เช่นเราแจ้งว่าเราใช้ข้าวโพดหวานวันละ 30 กิโลกรัม เกษตรกรก็จะเปลี่ยนวิถีใหม่ ใช้การบริหารจัดการใหม่ให้มีของสดสำหรับวันต่อวัน เพราะข้าวโพดหวานถ้าทิ้งไว้เกิน 1 วัน ความหวานก็จะหายไป” ปุ้ยกล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตใหม่

03

From Farm to City

คอนเซปต์หลักของ Ginger Farm คือ From Farm to City

เป็นแนวคิดเรียบง่ายที่อยากนำเสนอความสมบูรณ์จากฟาร์มผ่านอาหารในจานที่ทุกคนในเมืองทานได้ อีกทั้ง Ginger Farm เสิร์ฟอาหารท้องถิ่นล้านนา จึงเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่นำเสนอวัฒนธรรมภาคเหนือผ่านจานอาหารให้ใครหลายๆ คนได้คิดถึงบ้านเกิดของตน

“การพัฒนาเมนูอาหารมีตัวตั้งหลักๆ คือวัตถุดิบ ก่อนที่เราจะเน้นวัตถุดิบตามฤดูกาลและความเป็นพื้นบ้าน ต้องทำยังไงก็ได้ให้ผักเชียงดาหรือผักปั๋งที่เรายี้กัน มันขึ้นไปบนโต๊ะอาหารแล้วกลายเป็นเมนูที่น่ากิน หรือเมนูพื้นบ้านอย่างแกงขนุนที่ขึ้นไปอยู่บนโต๊ะแล้วทำให้คนรุ่นใหม่หรือคนในเมืองได้สัมผัสอาหารแบบนี้ เหมือนพวกเราทุกคนที่อยู่ที่บ้าน ได้กินวัตถุดิบคุณภาพดีๆ จึงเป็นคอนเซปต์ From Farm to City”

Ginger Farm Chiangmai

ความออร์แกนิกเต็มร้อยอาจเป็นจุดขายที่ดีในแง่การตลาด แต่ในทางปฏิบัติ ธงและปุ้ยต้องปรับความเข้าใจกับลูกค้าในบางครั้ง เพราะผลผลิตทางการเกษตรที่ปราศจากสารเคมีหรือการตัดแต่งทางพันธุกรรมใดๆ อาจไม่สวยงามตามภาพประกอบในเมนูอาหาร

นั่นคือความพยายามสื่อสารผ่านอาหารทุกจานว่า เมนูที่มีคุณประโยชน์ อาจอยู่ในวัตถุดิบที่ไม่สมบูรณ์

Ginger Farm Chiangmai
Ginger Farm Chiangmai
Ginger Farm Chiangmai

“เราอยากสร้างความเข้าใจก่อนว่า บางครั้งผลผลิตที่ออกมาให้เรากินหรือนำไปประกอบอาหารมันไม่สวยงามอย่างที่คาดหวังไว้ เราต้องไปปรับความเข้าใจกับเชฟ เพราะเชฟจะมีมาตรฐานวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหาร อย่างเช่นมะเขือที่เราปลูกเองจะมีลักษณะที่ไม่ปกติตามที่เชฟต้องการ หรือเราต้องบอกลูกค้าให้เข้าใจธรรมชาติของพืชบางชนิด ที่ไม่สามารถออกผลให้เขากินได้ เพราะเราปลูกพืชตามฤดูกาล หรือหน้าตาอาจไม่สวยงาม แต่นั่นหมายความว่าวัตถุดิบเหล่านั้นจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคเมื่อเขาได้รับประทานเข้าไป” 

หน้าร้าน Ginger Farm ทั้งสองสาขาในจังหวัดเชียงใหม่มีลูกค้ามาอุดหนุนอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายตลอดทั้งปี ซึ่งประชากรกรุงเทพมหานครที่แวะเวียนมายังนครพิงค์เชียงใหม่ต่างติดใจรสชาติอาหารพื้นเมืองจากวัตถุดิบสดๆ จนเรียกร้องให้ Ginger Farm เข้าสู่เมืองหลวงสักที หลังจากตัดสินใจอยู่นาน ธงและปุ้ยจึงเปิดหน้าร้านสาขาแรกในกรุงเทพฯ ที่ 101 The Third Place at True Digital Park เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 

Ginger Farm Chiangmai
Ginger Farm Chiangmai

ทั้งสองคงคอนเซปต์ From Farm To City ไว้เหนียวแน่นด้วยการใช้วัตถุดิบจากแหล่งเดิม แต่ปัญหาที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งที่สูงมากเพราะต้องรักษาอุณหภูมิให้คงที่ ทั้งสองจึงหาแหล่งวัตถุดิบทั้งในกรุงเทพฯ ไข่และหมูออร์แกนิกจากจังหวัดนครปฐม ฟาร์มผักจากจังหวัดสระบุรี เป็นต้น

ถึงแม้ Ginger Farm จะเข้าสู่มหานคร แต่พันธกิจที่อยากส่งเสริมตลาดสินค้าออร์แกนิกให้เติบโตเป็นเรื่องสำคัญของทั้งสอง Ginger Farm’s Market จึงเกิดขึ้น โดยเป็นตลาดให้เกษตรกรทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดได้มีพื้นที่การขายสินค้า และมี Ginger Farm เป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเกษตรกร ซึ่งงานทดลองจัดครั้งแรกที่ 101 The Third Place at True Digital Park ช่วงต้นปีที่ผ่านมา 

Ginger Farm Chiangmai

Ginger Farm’s Market ได้รับการตอบรับที่ดีมากทั้งการซื้อขายของผู้ประกอบการ และโอกาสที่จะเปิดพื้นที่เพื่อต่อยอดธุรกิจของตน อีกทั้งลูกค้าที่ได้สินค้าสดส่งตรงจากแหล่งผลิตในราคาที่สมเหตุสมผล

ปุ้ยบอกฉันว่า Ginger Farm’s Market กำลังจะเกิดขึ้นในซีซั่นต่อไปเร็วๆ นี้

04

ห้องเรียนธรรมชาติ

นอกจากร้านอาหารแล้ว Ginger Farm Chiangmai มีพื้นที่สำหรับเรียนรู้กิจกรรมให้ทดลองทำมากมาย ซึ่งดูๆ แล้วอาจแปลกสำหรับความเป็นร้านอาหารไปสักนิด แต่จุดเริ่มต้นมาจากธงที่อยากให้ลูกๆ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่เรียบง่ายผ่านการดำนา

“ตอนแรกมันก็เกิดจากที่เราจะทำบ้านหลังนี้เป็นบ้านพักตากอากาศ แต่มันก็ยังไม่เสร็จดี เราก็ชวนเพื่อนๆ แม่ๆ ที่มีลูกในวัยเดียวกันมาดำนา แล้วเราก็สั่งปิ่นโตมากิน เล็กๆ ง่ายๆ ทีนี้พอแม่ๆ อัพโหลดรูปลงโซเชียล 1 อาทิตย์ต่อมามีคนมาถามพี่ว่า มาดำนาเสียเงินกี่บาท พี่ก็ตกใจ แต่ก็เริ่มคิดแล้วว่าจะต่อยอดยังไง” พี่ปุ้ยเล่าถึงความบังเอิญที่เรียบง่ายนั้น

Organic Tourism

อีกหนึ่งเหตุการณ์สู่การจุดประกายคือ เมื่อนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกงได้มาทานอาหารที่ร้าน แล้วถามว่า “ต้นมะละกอคือต้นไหน” “ต้นลำไยเป็นยังไง” คำถามเหล่านี้ทำให้ทั้งสองเห็นว่าผู้คนไม่มีแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติที่เข้าถึงได้ง่าย สุดท้ายแล้วเป็นแนวคิดของร่วมกันที่อยากเก็บพื้นที่สีเขียวนี้ไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติหรือเดินชมความเขียวขจีของทุ่งนาโดยไม่เก็บค่าเข้าชมใดๆ 

“ตั้งแต่วันแรกที่เปิดฟาร์ม สิ่งแรกที่ต้องการสื่อให้เห็นคือวิถีชีวิตของเกษตรกรในภาคเหนือนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ชุดแต่งกายที่เป็นชุดม่อฮ่อม รวมถึงอุปกรณ์และกรรมวิธีการเกษตรกรรมที่คนรุ่นเก่าทำจริงๆ จึงแสดงออกตั้งแต่กิจกรรมดำนา ปักต้นกล้า ไถนาโดยใช้ควาย อาบน้ำควาย เพราะเรานำเสนอคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนนี้ให้ผู้ที่มาเยี่ยมได้สัมผัสภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่มีเรื่องราวหรือเหตุและผลของมัน” พี่ปุ้ยกล่าวถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของการเปิดฟาร์มหลังบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรกรรม

Organic Tourism
Organic Tourism

การเรียนรู้วัฒนธรรมหรือขั้นตอนเกษตรกรรมคือกิจกรรมที่ได้รับความสนใจมากที่สุดกิจกรรมหนึ่ง โดยเฉพาะน้องๆ หนูๆ นักเรียนตัวเล็ก ที่สนุกกับการเป็นชาวนารุ่นจิ๋วด้วยการเดินย่ำดินโคลน เรียนรู้ระบบนิเวศทางธรรมชาติย่อมๆ ผ่านเจ้าปูนาที่เดินขาเกในโคลน หรือปลาไหลที่แหวกว่ายจนไล่จับกันแทบไม่ทัน แต่กิจกรรมที่เจ้าตัวน้อยส่วนมากชอบที่สุดคือ การเล่นสไลด์โคลนที่ไม่ว่าหนูๆ คนไหนก็ต้องขอเล่นอีกรอบ จนน้องๆ บางคนร้องไห้งอแงไม่อยากกลับบ้าน

เพราะพวกเขาน่าจะติดอกติดใจการเล่นสนุกในทุ่งนาแห่งนี้

แหล่งเรียนรู้ของ Ginger Farm มีกิจกรรมอีกมากมาย เช่น ปลูกผัก ทำงานศิลปะ ปลูกต้นไม้ ทำอาหารโดยเก็บวัตถุดิบจากฟาร์มเป็นส่วนประกอบ และเพิ่มเติมอีกมากมายในอนาคต โดยมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 290 บาทเท่านั้น

Ginger Farm Chiangmai

นอกจากนักท่องเที่ยว โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ มักพานักเรียนมาเรียนรู้ธรรมชาติที่ Ginger Farm นอกจากความรู้ที่นักเรียนได้รับ ความสนุกสนานจากธรรมชาติที่แสนเรียบง่าย การปลูกฝังให้เห็นถึงความสำคัญของ Zero Waste หรือการเห็นคุณค่าของวัตถุดิบอาหารต่างๆ ไม่ให้เหลือทิ้ง ก็เป็นสิ่งที่นักเรียนตัวน้อยๆ ได้รับผ่านการดำนาหรือวิ่งเล่นในทุ่งนา รวมถึงอาหารเหลือทิ้งจากส่วนร้านอาหาร Ginger Farm ก็มีการจัดการทั้งนำไปเป็นอาหารให้สัตว์ในฟาร์มและหมักทำปุ๋ยชีวภาพปลอดสารเคมีอีกด้วย

05

ความสุขที่แสนเรียบง่าย

จากนักธุรกิจที่เคยมีผลกำไรสูง ปุ้ยบอกฉันว่า เมื่อลงหลักปักฐานทำธุรกิจ Ginger Farm อย่างจริงจัง เธอกลับค้นพบว่าความสุขมันเรียบง่ายกว่าที่คิด เมื่อมองย้อนกลับไปในวันที่เธอทำธุรกิจส่งออกที่ต้องติดต่อสื่อสารกับผู้คนตลอดเวลา

“เชื่อไหมว่าพี่ต้องกินยานอนหลับในวันที่มีส่งออกถี่มากๆ พี่เครียดมากที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา แต่ในวันนี้ธรรมชาติช่วยบำบัดและทำให้พี่ก้าวผ่านเรื่องเหล่านั้น วิธีคิดในหลายๆ เรื่องของพี่เปลี่ยนไป เราปรับสมดุลในชีวิตให้เจอจุดของความสุขได้ง่ายขึ้น จนไปการทำธุรกิจที่จะไม่เอาเปรียบใคร มีความโปร่งใส ซื่อสัตย์ และจริงใจ กับทุกคน แล้วเงินจะตามมาทีหลังเอง” ปุ้ยกล่าวถึงจุดเปลี่ยนหลังจากเจอสมดุลในชีวิต

ส่วนธงที่ใช้ความพยายามเพื่อสื่อสารแนวความคิดผ่านการทำธุรกิจนี้ ฉันถามเขาว่า ที่เขาอยากสื่อสารให้ทุกคนรู้และเข้าใจถึงประโยชน์ ความสำคัญ ของเกษตรกรรมแบบออร์แกนิกนั้น เขาทำสำเร็จหรือยัง

ธงตอบว่า ยังไม่สำเร็จ

ฉันสงสัยว่าเพราะอะไร

“ผมมองว่าเป็นแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้น จากที่ผมทำเกษตรอินทรีย์มาหลายปี ชาวบ้านหรือเพื่อนบ้านบางส่วนก็ยังไม่เห็นด้วยกับเราอยู่ดี เพราะชาวบ้านเห็นว่ามันยากและใช้เวลานาน และการบริหารจัดการต่างๆ ที่ต้องสร้างความเข้าใจให้เกิดองค์ความรู้จริง” ธงกล่าว

ก่อนจากกัน ธงและปุ้ยย้ำกับฉันอีกครั้งว่า อาหารออร์แกนิกไม่ใช่กระแสทานอาหารที่ฉาบฉวย เพราะเมื่อมองย้อนไปยังชีวิตประจำวันสมัยอดีต คนไทยยังปลูกพืชผักสวนครัวหรือผักบางชนิดสำหรับรับประทานเอง นั่นถือได้ว่าเป็นออร์แกนิกแล้ว หากแต่ความรวดเร็วของเทคโนโลยีหรือกรรมวิธีการเพาะปลูกอาจทำให้เราเพิกเฉยต่อการลงมือปลูกผักสักชนิด แต่ทั้งสองเชื่อว่า เราจะได้กลับมาทานผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดสารเคมีในราคาที่สมเหตุสมผล เพราะเทรนด์สุขภาพเหล่านี้กำลังกลับมาขยายตัวมากขึ้น

ฉันเห็นด้วยทุกประการ

Writer

Avatar

สุรพันธ์ แสงสุวรรณ์

เขียนหนังสือบนก้อนเมฆในวันหนึ่งตรงหางแถว และทำเว็บไซต์เล็กๆ ชื่อ ARTSvisual.co

Photographer

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย