ผู้เขียนกำลังปั่นต้นฉบับอยู่ในโรงแรมเล็กๆ แห่งหนึ่งย่านเยาวราช โรงแรมแห่งนี้ดีไซน์สวยงาม โมเดิร์น สะอาดสะอ้าน แต่มีแขกในโรงแรมมาพักเพียงแค่ 6 ห้อง จาก 200 ห้อง

เมื่อเดินไปซื้อกาแฟที่ร้านดังตรงหัวมุมตึก “ลูกค้าเยอะมั้ยครับ” ผมเอ่ยถามน้องพนักงานแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย

“อย่าเรียกว่าเยอะเลยค่ะ เรียกว่าไม่มีเลยดีกว่า” น้องพนักงานตอบ พร้อมกับยกเก้าอี้มาคว่ำ ตั้งขวางไว้ เพื่อไม่ให้ลูกค้านั่งในร้าน ตามกฎที่รัฐบาลเราได้ขอร้องไว้

ถนนเส้นเยาวราชที่ผู้หลงรักย่านนี้อย่างผม มองว่าเปรียบเสมือน Times Square ที่ไม่น่ามีวันหลับใหล แต่วันนี้ มันถูกวางยาสลบเรียบร้อย ด้วยผลกระทบจาก COVID-19 จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ทราบว่า อนาคตของธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม บาร์ หรือธุรกิจที่พัก ซึ่งเคยมีลูกค้าต่างชาติเป็นหลักจะกลับมาฟื้นตัววันไหน

ผู้เขียนแบกเหล้า จิน ขวดเล็กๆ จากบ้านติดมาด้วย พร้อมกับโทนิก เพื่อดื่มขณะปั่นต้นฉบับที่ท่านกำลังอ่านอยู่

ใช่ครับ ผมดื่มสุราบ้างเป็นครั้งคราว และในอดีต ผมก็เคยผ่านช่วง Black Out หรือ Auto Pilot กลับบ้านบ้าง หลายครั้งหลายครา และผมเองก็เคยถูกผู้ใหญ่หลายท่านตราหน้าว่าเป็น ‘คนบาป’ เพราะดื่มสุรา แต่วันคอทองแดงของผม เป็นอดีตไปแล้ว ปัจจุบันผมดื่มอย่างมีสติ และชื่นชมศาสตร์ของค็อกเทลในฐานะงานสร้างสรรค์ศาสตร์หนึ่ง มากกว่าจะดื่มให้เมา ดื่มให้ลืม หรือดื่มหนีปัญหาใดๆ

‘จน เครียด กินเหล้า’ หรือ ‘ให้เหล้า เท่ากับ แช่ง’ – ถึงแม้ผมจะ ‘เข้าใจ’ ที่มาของวาทกรรมนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผมเห็นด้วยเสียทั้งหมด

วันนี้คอลัมน์ ‘วัตถุปลายตา’ จึงขอหยิบยกเอาประวัติศาสตร์ของ ‘เหล้าจิน’ เหล้าที่เกิดในช่วงโรคระบาด เช่นเดียวกับที่เราเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ เหล้าที่ครั้งหนึ่งถือเป็นยารักษาโรค เหล้าที่วันนี้เป็นหนึ่งในค็อกเทลยอดนิยมที่สุดในโลก และที่สำคัญ บทความนี้จะปล่อยให้ท่านผู้อ่านตัดสิน ทั้งตัวผม ตัวบทความ และตัวเหล้ากันเอง ว่าในสเปกตรัมความขาว เทา ดำ นั้น มันตกอยู่ที่สเกลไหน

น้ำปลุกใจชายชาติทหาร

ย้อนไปในอดีต เหล้าจินถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงศตวรรษที่ 13 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ สมัยนั้น รสชาติเหล้าจินห่างไกลจากที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้มากมาย

จิน หรือ Genever ในภาษาดัตช์เกิดจากการกลั่นมอลต์ไวน์ให้งวดลง แน่นอนว่ามันขมและดื่มยาก ชาวดัตช์จึงเติมสมุนไพรต่างๆ เข้าไปในกระบวนการด้วย หนึ่งในสมุนไพรหลักที่ทำให้จินเป็นจินก็คือจูนิเปอร์ ผลไม้ลูกเล็กๆ ที่มีกลิ่นเฉพาะตัว

สมัยนั้นเหล้าจินขายในร้านขายยาเท่านั้น เพราะมันถือว่าเป็นยาจริงๆ มีสรรพคุณของการรักษาโรค เช่น โรคเกาต์และโรคไตต่างๆ (ที่เป็นความเชื่อของคนในสมัยนั้น)

‘จิน’ เหล้าที่เกิดในช่วงโรคระบาด เคยถูกดื่มเป็นยา ไม่ต่างจากฟ้าทะลายโจรในยุคนี้
เครื่องกลั่นของชาวดัตช์ ในสมัยโบราณ

จิน ถูกค้นพบในเวทีโลกช่วงสงครามโดยทหารอังกฤษ เมื่อมีชาวดัตช์เป็นพันธมิตรระหว่างการต่อสู้กับชาวสเปน

ทหารชาวอังกฤษแอบสังเกตว่า ทำไมทหารดัตช์ มันดูกล้าๆ ดูไม่กลัว ดูชิลล์ๆ ยังไงพิกล สุดท้ายก็ค้นพบว่า ทหารดัตช์แอบจิบจินก่อนเข้าสนามรบ เนื่องจากสรรพคุณที่นอกจากเป็นยาแล้ว ยังช่วยให้อารมณ์ผ่อนคลายลง และนี่เป็นที่มาของวลี Dutch Courage หรือ ความกล้าอย่างชาวดัทช์ เลยทีเดียว

‘จิน’ เหล้าที่เกิดในช่วงโรคระบาด เคยถูกดื่มเป็นยา ไม่ต่างจากฟ้าทะลายโจรในยุคนี้
ทหารดัตช์ไม่กลัวเหล้าจ้า

หลังจากนั้นชาวอังกฤษก็เริ่มผลิตและคิดค้น Genever ของตัวเอง ซึ่งก็กลายมาเป็นคำว่า Gin หรือ เหล้าจิน ในที่สุด

สุราสูตรพระ

หากย้อนไทม์แมชชีนไปนานกว่านั้น เราสืบย้อนสูตรของการผลิตเหล้าจินไปได้ไกลถึง ค.ศ. 1055 เลยทีเดียว

ครั้งหนึ่งจินเคยถูกเข้าใจว่ามีสรรพคุณเหมือนยา

มีหลักฐานว่า พระในอิตาลีช่วงยุคกลางนำผลจูนิเปอร์มาหมักไว้เพื่อรักษาอาการเจ็บในหน้าอก แน่นอนว่าสูตรนี้ถือเป็นรากของการหมักเหล้าจินของชาวดัตช์ในที่สุด และเหล้าชนิดนี้ก็ได้รับสมญานามในสมัยนั้นว่าเป็น Water of Life หรือ น้ำแห่งชีวิต ด้วยเช่นกัน

ก่อนมีฟ้าทะลายโจร

ในช่วงการระบาดของกาฬโรค ค.ศ. 1349 ซึ่งถือเป็นหายนะครั้งยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ เปรียบกับทุกวันนี้ จินหรือเหล้าจากจูนิเปอร์นั้นทำหน้าที่เยียวยา (ใจ) เพื่อนมนุษย์ ไม่ต่างอะไรกับฟ้าทะลายโจร ที่เรากินเข้าไปวันละ 2 ครั้ง โดยเชื่อว่าจะช่วยป้องกัน Epidemic หรือการระบาดของเชื้อได้

ในช่วงเวลานั้น คุณหมอต้องใส่หน้ากาก แต่หน้ากากป้องกันกาฬโรคของคุณหมอหรือ Plague Doctor ในสมัยนั้นออกแบบได้ร้ายกาจมาก เพราะส่วนมากเป็นรูปนกกามีจะงอยปากยาว และในหน้ากากนั้นก็มีผลจูนิเปอร์และสมุนไพรอื่นๆ ที่ขยำอัดไว้ในส่วนจงอยปาก เพื่อป้องกันโรค ไม่ต่างอะไรกับการที่เราใส่หน้ากาก N95 ทุกวันนี้

‘จิน’ เหล้าที่เกิดในช่วงโรคระบาด เคยถูกดื่มเป็นยา ไม่ต่างจากฟ้าทะลายโจรในยุคนี้
Plague Doctor กับชุดและหน้ากากสุดเท่

แน่นอนว่าในภายหลัง ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ทำให้เราค้นพบว่ามันเป็นเพียงแค่ความเชื่อ และไม่ได้ช่วยป้องกันกาฬโรคแต่อย่างใด

แต่ยังไม่ทันที่วิทยาศาสตร์จะช่วยมอบข้อมูลที่ถูกต้องให้กับมนุษย์ในยุคนั้น เหล้าจินหรือเหล้าจูนิเปอร์ก็ได้แพร่ขยายความนิยมและความเชื่อไปทั่วยุโรป เช่นเดียวกันกับการที่กาฬโรคได้คร่าชีวิตชาวยุโรปไปกว่า 60 เปอร์เซ็นต์

เรียกว่าจิน ถือเป็นเครื่องดื่มที่ครั้งหนึ่งเคยถูกคิดว่าเป็นยา และถูกขับเคลื่อนความนิยมด้วยการตลาดแห่งความกลัวล้วนๆ

(ขาประจำ)

ตัดภาพมาที่ผม ผู้ซึ่งกำลังปั่นต้นฉบับมาได้ครึ่งทาง และกำลังเติมเหล้าออนซ์ที่ 2 พร้อมกับน้ำแข็งที่รีบวิ่งไปซื้อก่อนร้านสะดวกซื้อจะปิด

เมื่อกลับมาค้นคว้าประวัติศาสตร์ของเหล้าตัวนี้อีกครั้ง หลังจากที่เลิกดื่มอย่างไม่ลืมหูลืมตามานานหลายปี ก็อดนึกถึงพี่ๆ น้องๆ ในอุตสาหกรรม Food and Beverage ไม่ได้

ครั้งหนึ่ง ผมค้นพบว่า ผม Bar Hopping ในหนึ่งคืนไป 3 – 4 บาร์ และทุกที่บาร์เทนเดอร์ทราบว่าผมจะสั่งอะไรในฐานะ ‘ขาประจำของร้าน’ จนแอบเป็นห่วงตัวเองไม่ได้ว่า คนเราจะเป็นขาประจำอะไรได้ทุกร้าน โดยไม่ห่วงตับไตไส้พุง และสุขภาพของตัวเองบ้างเลย

วันนี้แรงสั่นสะเทือนจากการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้ผู้คนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า และถึงแม้เราทุกคนจะทราบดีว่า การ Social Distancing อาจเป็นมาตรการหนึ่งในการช่วยบรรเทาการระบาด แต่นั่นหมายถึงเศรษฐกิจที่ต้องสะดุด และอีกหลายปากท้องของทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง ในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้าน

อะไรคือเส้นบางๆ ของการรักษาสมดุลระหว่างการแพร่ระบาดของโรค และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้หมุนต่อไปข้างหน้าได้ คำถามนี้ผมยอมรับว่าอดีตคนเคยติดเหล้าอย่างผม ไม่เฉลียวฉลาดพอให้คำตอบได้

รู้แต่ว่าวันนี้ห้องพักในโรงแรมที่มีพนักงานมากกว่าแขกนั้น จะได้เงินผมไปอย่างน้อยสองสามคืน

นายส้ม VS คุณลำไย

ย้อนกลับมาที่เรื่องของเหล้าจิน

ในช่วง ค.ศ. 1600 ความนิยมของเหล้าจินพุ่งสูงลิบ ด้วยการเชียร์เหล้าของวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษ ผู้มีสมญานามว่า William of Orange หรือ นายส้ม (คล้ายๆ คุณลำไยบ้านเรา) ซึ่งสุดท้ายนายส้มก็ได้ปกครองอังกฤษ ไอร์แลนด์ และสกอตแลนด์ ในที่สุด

‘จิน’ เหล้าที่เกิดในช่วงโรคระบาด เคยถูกดื่มเป็นยา ไม่ต่างจากฟ้าทะลายโจรในยุคนี้
William of Orange หรือ นายส้ม

นายส้มมีนโยบายการสร้างชาติที่แยบยลมาก เพราะเขาเริ่มสงครามการค้า ด้วยการคว่ำบาตรสินค้าจากต่างประเทศ และขึ้นภาษีนำเข้าของสุราต่างประเทศอย่างคอนยัคและไวน์จากฝรั่งเศสแบบแพงลิบ ซึ่งเป็นแผนของนายส้มที่จะทำให้เศรษฐกิจของเพื่อนบ้านอ่อนแอลง

ขณะเดียวกัน นายส้มก็ยกเว้นภาษีการกลั่นสุราในประเทศ จนแทบจะเรียกว่ากลั่นเหล้าฟรีสำหรับทุกคน ทำให้ยุคหนึ่งในอังกฤษ เหล้าจินถูกกว่าเบียร์ เรียกยุคนี้ว่า Gin Craze หรือยุคคลั่งจินเลย

แต่ Spice Girls เองยังเคยร้องเพลงไว้ว่า “Too much of Something is Bad enough.” การคลั่งอะไรมากๆ ย่อมนำมาซึ่งผลเสียในที่สุดด้วยเช่นกัน

เกินทน

ลองนึกภาพถนนหนทางที่เต็มไปด้วยคนเมา นอนอีเหละเขละขละอยู่ตามตรอกซอกซอย นั่นแหละคือ 5 ปีให้หลัง ซึ่งเป็นผลของ Gin Craze ในประเทศอังกฤษ ที่ประชาชนตบะแตก ออกมาดื่มเหล้ากับขนมปังจินเจอร์เบรดแต่หัววัน หรือมีศัพท์เรียกว่ายุค Gin and Gingerbread

‘จิน’ เหล้าที่เกิดในช่วงโรคระบาด เคยถูกดื่มเป็นยา ไม่ต่างจากฟ้าทะลายโจรในยุคนี้
เมื่อทั้งประเทศกลายเป็นคอทองแดง

หลังจากนั้นรัฐบาลอังกฤษจึงรู้ว่าประเทศดำเนินต่อไปไม่ได้ด้วยคอทองแดง จึงเริ่มนำกฎหมายการกลั่นสุราและการเก็บภาษีนำมาใช้กับโรงกลั่น เพื่อควบคุมปริมาณสินค้าในตลาด ราคา และยัยคุณลำไย คุณจูนิเปอร์ ทั้งหลายบนถนน ให้กลับมามีสติและสตางค์กันอีกครั้ง

ยุคของคนบาป คอทองแดง เต็มไปด้วยอาชญากรรม และมีภาพที่ชวนให้อดสู บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์มากมาย โดยเฉพาะ Gin Lane หรือถนนสายจิน ที่คุณจะเห็นภาพคุณแม่ลูกอ่อนเมาเหล้า ละทิ้งหน้าที่มารดา การลักขโมย การทะเลาะเบาะแว้ง เกิดขึ้นมากมาย

หลังจากนั้น รัฐบาลอังกฤษก็ขึ้นราคาภาษีสุราอีก และรณรงค์ให้หันมาดื่มชา (ที่ถูกกว่าและดีต่อสุขภาพกว่า) จนกลายเป็นวัฒนธรรมและภาพจำของประเทศในที่สุด

เขย่าแต่ไม่คน

ตั้งแต่ ค.ศ. 1830 เป็นต้นมา หลังจากที่ยุคคอทองแดงหมดไปแล้ว เทคโนโลยีการกลั่นค่อยๆ พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ และแน่นอน โลกของจินก็เริ่มละเมียดละไมมากขึ้น ทำให้เหล้าที่ได้มีความบริสุทธิ์และสะอาดมากขึ้น

นักท่องเรือชาวอังกฤษที่ได้เริ่มต้นค้าขายทางเรือในสมัยนั้น เริ่มนำเหล้าจินมาผสมกับวัตถุดิบตัวอื่นๆ โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางไปในทวีปที่มีโรคมาลาเรีย จะนำจินมาผสมกับควินิน ซึ่งเป็นสมุนไพรจากต้นซิงโคนา มีถิ่นกำเนิดบริเวณเทือกเขาแอนดีส และแพร่หลายในประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย และศรีลังกา มาใช้ป้องกันโรคมาลาเรีย (อีกแล้ว)

‘จิน’ เหล้าที่เกิดในช่วงโรคระบาด เคยถูกดื่มเป็นยา ไม่ต่างจากฟ้าทะลายโจรในยุคนี้
โทนิกเป็นอีกหนึ่งผลพลอยได้ของการ Colonization ของอังกฤษ

ตัวควินินมีรสชาติขมไม่เอาอ่าว จึงถูกดัดแปลงให้เกิดเป็น Indian Tonic Water มีความหวานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังมีส่วนผสมของควินิน หรือที่เราเรียกว่า โทนิก ในทุกวันนี้

เมื่อเรานำเหล้าจินและโทนิกที่ทั้งสองเคยถูกเข้าใจว่าเป็นยารักษาโรคมาผสมเข้าด้วยกัน เราก็จะได้ค็อกเทลคลาสสิก แบบที่ถ้าคิดอะไรไม่ออกก็ให้สั่งเมนูนี้ไว้ก่อน โอกาสพลาดมีน้อย เพราะมันเรียบง่ายมากๆ

ที่เหลือก็คือประวัติศาสตร์ จินค่อยเดินทางไปในสายค็อกเทลด้วยตัวของมันเอง ในสูตรกลั่นและหมักที่แตกต่างกันออกไป และแน่นอนว่า ถ้าใครคุ้นเคยกับหนัง เจมส์ บอนด์ เครื่องดื่มที่สั่งปุ๊บ หล่อปั๊บ อย่าง Vesper นั้น ก็มีเหล้าจินเป็นส่วนผสมหลักเช่นเดียวกัน

‘จิน’ เหล้าที่เกิดในช่วงโรคระบาด เคยถูกดื่มเป็นยา ไม่ต่างจากฟ้าทะลายโจรในยุคนี้
ผัวทิพย์ของผู้เขียน แดเนียล เครก กำลังจิบ Vesper อยู่

แน่นอนว่า ถ้าจะสั่งให้ดูเซ็กซี่ขึ้นอีก ต้องบอกบาร์เทนเดอร์ด้วยว่า “เขย่าแต่ไม่คน” หรือ “Shaken but not Stir” นะจ๊ะ

ขนาด Queen Elizabeth ของอังกฤษยังหันมาขายเหล้า ‘จินเจ้า’ สูตรประจำพระราชวังบัคกิ้งแฮมเลย
ขนาด Queen Elizabeth ของอังกฤษยังหันมาขายเหล้า ‘จินเจ้า’ สูตรประจำพระราชวังบัคกิ้งแฮมเลย

สายศีล

ผมผู้ซึ่งเขียนต้นฉบับมาถึงย่อหน้าสุดท้ายแล้ว ตัดสินใจโทรลงไปถามพนักงานต้อนรับของโรงแรม ว่าสั่งไวน์ขึ้นมากิน (ฉลองการปิดต้นฉบับทัน) สักขวดได้หรือไม่ – ผมพักคนเดียว ไม่มีเด็กเอน และแน่นอนว่าการดื่มของผมไม่น่าจะสร้างความเดือดร้อนให้ใครแน่นอน

ที่สำคัญ อย่างน้อยโรงแรมนี้ก็จะมีรายได้จากแขก 1 ใน 6 ห้อง เพิ่มอีกพันสองพันก็ยังดี

รีเซ็ปชันโทรไปหาห้องอาหาร หายไปนานเกือบ 10 นาที พร้อมกับโทรกลับมาเสียงอ่อยๆ ว่า

“พี่ขา หนูก็อยากขายให้จริงๆ นะคะ แต่ตอนนี้ทางการมีกฎห้ามขายสุราจริงๆ ค่ะ” น้องพนักงานต้อนรับพูดด้วยความสุภาพ

“ถึงแม้จะดื่มคนเดียวในห้องน่ะหรอครับ” ผมถามด้วยความสงสัยในตรรกะ ไม่ใช่ของน้องรีเซ็ปชัน แต่ใครก็ตามที่ออกกฎนี้

“ฮ่าๆๆ เห็นใจเนอะ เข้าใจครับ ไม่เป็นไรครับ ไม่มีปัญหา” ผมหัวเราะพร้อมให้กำลังใจน้องรีเซ็ปชัน เพราะตัวผมเองก็ทำร้านอาหารอยู่เช่นกัน ความรู้สึกนี้คุ้นเคยดีมากๆ

“จน เครียด กินเหล้า” ใครก็ตามที่คิดวาทกรรมนี้ขึ้นมา สำหรับผม ไม่ได้มองโลกด้วยเลนส์แห่งความเข้าอกเข้าใจ และตัดสินคนด้วยมุมมองที่แบนราบเกินไป วันนี้ความเครียดแผ่ซ่านไปในทุกหย่อมหญ้า ทุกชนชั้น แต่แน่นอนว่าคนที่โลกโดนเขย่าก่อน คือคนข้างล่างและคนจนเสมอ

ผมเชื่อว่าทุกคนมีวิธีรับมือกับปัญหาต่างกัน ยาก ดี มี จน เครียดหรือไม่เครียด จะกินเหล้าหรือถือศีล คงไม่ใช่หน้าที่อะไรของเราที่จะไปตัดสินชีวิตและการดำเนินชีวิตของพวกเขา ในทางกลับกัน ทุกคนล้วนมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสุขภาพของตัวเองและสังคมเท่าเทียมกัน

สิ่งที่ไม่เท่ากัน คืออาจไม่ใช่ทุกคนที่สามารถนอนดู Netflix ประชุมผ่าน Zoom สั่งอาหารผ่าน Food Delivery Platform โดยรู้แน่นอนว่ายังมีเงินหมุนเวียนเข้ามาในบัญชีทุกวัน ทุกเดือนได้

ยาใจคนจน — มันจะเป็นอะไร จะจินหรือเหล้าขาว เซี่ยงชุนหรือคอนยัคชั้นดี ใครมีหน้าที่ตัดสิน

“Too much of something is Bad Enough.” Spice Girls กล่าวไว้ถูกจริงๆ เหล้ามากเกินไปก็ไม่ดี ล็อกดาวน์มากเกินไปก็ไม่ดี ตัดสินคนอื่นมากเกินไปก็ไม่ดี

Spice Girls บอกมานานแล้วว่าให้เดินทางสายกลาง
Spice Girls บอกมานานแล้วว่าให้เดินทางสายกลาง

ถึงแม้ผมจะคิดถึงน้องๆ บาร์เทนเดอร์ น้องๆ ในอุตสาหกรรม Food and Beverage และคนกลางคืน แต่แน่นอน วันนี้เราทำได้แต่อดทนเฝ้าคอยยาที่ไม่ใช่แค่ จูนิเปอร์ ควินิน หรือฟ้าทะลายโจรอย่างเดียว

“Shaken but not Stir” – ประโยคนี้ของเจมส์ บอนด์ น่าจะอธิบายเส้นบางๆ ของโลกวันนี้ได้เป็นอย่างดี หากวันนี้ โลกของคุณเหมือนโดนเขย่า อย่าปล่อยให้ใครมาก่อกวน หรือทำลายความหวัง หรือ Thai Courage ของคุณได้

ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้ว่า วันที่เราออกไปดื่ม (หรือไม่ดื่ม) กับเพื่อนฝูง หรือคนที่เรารักจะมาวันไหน

ผู้เขียนคนบาปคนนี้ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน ทั้งที่รักและไม่รักในการดื่ม ให้อดทนรอวันนั้นด้วยกัน และสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น เท่าที่กำลังกาย ใจ ทรัพย์ จะอำนวยครับ

ส่วนผมขอเรียกรถไปเอาไวน์ที่ตุนไว้ที่บ้าน มาดื่มที่โรงแรมนี้เงียบๆ คนเดียวก่อนนะครับ

ป.ล. บทความนี้ใช้จินโทนิกไป 2 แก้ว และไวน์แดง 1 ขวด ผมก็เครียดเหมือนกันครับ

ข้อมูลอ้างอิง

www.verdict.co.uk

Vinepair.com

Autographgin.com

www.drinkingcup.net

Writer

Avatar

ศรัณย์ เย็นปัญญา

นักเล่าเรื่อง ผู้ร่วมก่อตั้ง 56thStudio ที่รักในความเป็นคนชายขอบ หมารองบ่อน และใช้ชีวิตอยู่ตรงตะเข็บชายแดนของรสนิยมที่ดีและไม่ดีอย่างภาคภูมิมาตลอด 35 ปี ชอบสะสมเก้าอี้ ของเล่นพลาสติก และเชื่อในพลังการสื่อสารของงานออกแบบและงานศิลปะ