เครื่องบินใบพัดขนาดเล็กกำลังพาเราแทรกตัวผ่านเทือกเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ ใกล้ราวกับเป็นผนังขนาดใหญ่ที่แทบจะสัมผัสได้ จุดมุ่งหมายของเราคือ ‘Gilgit-Baltistan’ ทางตอนเหนือของปากีสถาน ซึ่งกล่าวขานกันว่า ธรรมชาติที่น้อยคนจะได้สัมผัสแห่งนี้ สวยงามเป็นที่ปรารถนาของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

ที่สนามบินเมือง Gilgit ลมพัดอากาศเย็นผ่านใบหน้า ทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นจากความเหนื่อยล้าและความลุ้น เพราะเส้นทางนี้ขึ้นชื่อว่ามีการยกเลิกเที่ยวบินรัว ๆ หากอากาศแปรปรวนเล็กน้อย ก็มีความอันตรายจากการบินผ่านช่องเขาแคบและคดเคี้ยว

จากสนามบินเรานั่งรถผ่านเมือง Gilgit ซึ่งมีแม่น้ำสีเขียวน้ำเงินไหลเชี่ยวขนาบไปกับเมือง ที่น่าสนใจคือ ในแม่น้ำมีปลาเทราต์ ซึ่งเป็นปลาจากยุโรปและอเมริกาเหนืออยู่มากมาย ปลาพวกนี้ถูกนำมาปากีสถานโดยเจ้าหน้าที่ชาวยุโรปเมื่อร้อยปีก่อน และแพร่พันธ์ุอย่างรวดเร็วในแม่น้ำที่เย็นเฉียบ กลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญอีกอย่างของคนแถบนี้ นอกจากเนื้อวัว แพะ แกะ และจามรี



Gilgit-Baltistan เป็นจุดตัดทางการค้าบนเส้นทางสายไหม เกิดแหล่งชุมนุมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งจากจีนที่มีพรมแดนติดกัน อินเดีย ทิเบต เปอร์เซีย นอกจากนั้น พุทธศาสนายังเคยรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้ มีศิลปะทางพุทธศาสนาจำนวนมาก ไม่ไกลจากกลางเมืองกิลกิตมีพระพุทธรูปคาร์กาห์ (Kargah) มีอายุตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 สูงตระหง่านสลักอยู่บนชะง่อนผา ต้องปีนบันไดชันหลายขั้นไปชม ต่อมาเราได้รู้ว่า การไปยังที่ต่าง ๆ แถบนี้คือ ‘การปีนและปีน’ ดังนั้น ขอให้บริหารข้อเข่าให้ดี นี่ถือว่าซ้อม

อากาศในช่วงเดือนตุลาคมที่เราไปเยือนเริ่มหนาวเย็น ใบไม้เปลี่ยนสีสวยงาม เราปีนภูเขาหลายลูก ไปถึงธารน้ำแข็ง (Glacier) ที่ไหลจากภูเขา ยอดเขาที่นี่เป็นหินหยักคม ขอบภูเขาตัดชัดกับท้องฟ้า เกิดจากการไหลชนกันของแผ่นทวีประหว่างผืนแผ่นอินเดียกับยูเรเชียเมื่อกว่า 50 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นรอยต่อของภูเขาคาราโครัม ฮินดูกูช และหิมาลัย มาบรรจบกันในบริเวณนี้ บนยอดเขาปกคลุมด้วยหิมะ
ใช่ครับ หิมะ หลายคนคิดว่าปากีสถานเป็นทะเลทราย ตั้งอยู่ในตะวันออกกลาง ซึ่งตามจริงแล้วปากีสถานตั้งอยู่ในเอเชียใต้ มีภูมิประเทศหลากหลาย การเดินขึ้นภูเขานั้นไม่ง่าย เดินไม่ดีคงได้ไปชื่นชมแม่น้ำที่ก้นเหวแน่ ๆ


เมื่อทดสอบความแข็งแกร่งทางร่างกายแล้ว เราก็ทดสอบความแข็งแกร่งทางจิตด้วยการเดินข้ามสะพานฮุนซา เป็นสะพานเชือกยาวประมาณ 1 กิโลเมตร มีแผ่นไม้ห่าง ๆ กันให้เดิน เจ้าไม้ที่ห่าง ๆ นั้นบางแผ่นยังหลุดหายไปด้วย ทำให้ต้องก้าวยาวไปอีก ซึ่งนักเดินทางถือว่าเป็นสะพานที่อันตรายที่สุดในโลก เคยได้ขึ้นปกนิตยสาร National Geographic มาแล้ว
นอกจากความสูงของสะพานและการแกว่งไกวเหนือแม่น้ำที่เชี่ยวกราก ในบางครั้งสะพานก็ขาด หลังจากที่เราไปไม่นานก็มีข่าวว่าสะพานขาดและต้องปิด แต่เมื่อเห็นวิวแล้ว ขอบอกว่าคุ้มจริง ๆ

เส้นทางหลักที่เราใช้เดินทางบริเวณ Gilgit-Baltistan เรียกว่า Karakoram Highway สร้างโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลปากีสถานกับจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CPEC (China-Pakistan Economic Corridor) เชื่อมท่าเรือทางใต้ของปากีสถานไปสู่จีนทางมณฑลซินเจียง

เส้นทางที่ยากลำบากสำหรับเรานั้น สำหรับคนท้องถิ่นทั้งหนุ่มสาวและผู้เฒ่าผู้แก่แล้ว พวกเขาเดินกันได้อย่างชิลล์ ๆ และพวกเขาดูแข็งแรงมาก การศึกษาหลายแห่งระบุว่า ชาวฮุนซา กิลกิต มีสุขภาพดี มีความสุข และมีชีวิตยืนยาว
พูดถึงผู้คน ขอบอกว่าผู้คนที่นี่มีมิตรไมตรีดีมาก ๆ เห็นเรามาจากต่างถิ่นก็ถามว่ามาจากไหน บอกว่ามาจากไทย คนก็รู้จักกัน คนที่นี่หลายคนหน้าตาแนวฝรั่ง บางคนผมสีทอง ตาสีฟ้า กลุ่มคนที่อยู่บนภูเขาสูงแต่งกายสีสันสดใส บางคนเชื่อว่าตัวเองสืบเชื้อสายมาจากทหารมาซิโดเนียที่ติดตามอเล็กซานเดอร์มหาราชมาถึงดินแดนแถบนี้เมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน

อาหารการกินที่นี่มาจากผลิตภัณฑ์เกษตรในพื้นที่ ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สารเคมีหรือสารเร่งโตอื่น ๆ มากนักเพราะราคาสูง และไม่ได้ทำเพื่อส่งออกในลักษณะอุตสาหกรรมที่ต้องผลิตให้ได้มาก ๆ อากาศหนาว ๆ เราได้กินเนื้อแพะตุ๋นจากหม้อหินอายุ 200 ปี หัวหอม เครื่องเทศ ดอกไม้ มีมีรสหวาน อุ่นท้องอร่อยมาก แถมมีแพนเค้กราดน้ำมันแอปริคอตซึ่งมีชื่อของที่นี่ ยิ่งสุดยอดมาก
อาหารอีกอย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะได้กินคือจามรี (Yak) เป็นวัวป่าจากทิเบต ขนฟู แต่เดิมเราเห็นวิ่งไปมาน่ารักดี แต่พอได้ลองทานเบอร์เกอร์ยัคจากคนขายสุดหล่อแล้ว พอเห็นยัควิ่งมาอีก รู้สึกอยากไปขม้ำเสียนี่




Baltit Fort เป็นป้อมอายุกว่า 900 ปีตั้งอยู่บนภูเขาสูง เดิมเป็นที่อยู่ของผู้ครองนครฮุนซา ซึ่งแต่งงานกับเจ้าหญิงใน Baltistan ปัจจุบันได้รับการบูรณะและจัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์ แสดงถึงความเป็นอยู่ในอดีตที่น่าสนใจ สิ่งที่ Baltit Fort แตกต่างจากป้อมอื่น ๆ ในปากีสถาน คือที่นี่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมจากลาดัก/ทิเบต ผ่านมาเส้นทางสายไหม

เราได้ลงไปนั่งเรือชาวบ้านล่องในทะเลสาบ Attabad ขนาดใหญ่ มีน้ำใสสีเทอร์ควอยซ์ ทะเลสาบนี้เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดเมื่อราวสิบกว่าปีก่อน จากแผ่นดินถล่มในช่วงการเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีการปรับเส้นทางถนนให้อ้อมทะเลสาบ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวปากีสถาน


ล่าช้างที่ Fairy Meadows ถือว่าสุด ๆ ของความสวยงามดังเทพนิยาย ตามที่นักปีนเขาชาวเยอรมันตั้งชื่อไว้ การขึ้นไปยัง Fairy Meadows ต้องอาศัยความอึดแกร่งไม่น้อย เพราะต้องขึ้นรถจี๊ป 4X4 โขยกเขยกไปตามทางที่เป็นก้อนขึ้นกว่า 2 ชั่วโมง ต่อด้วยเดินเท้าหรือขี่ม้าไปอีก 2 ชั่วโมง ซึ่งน้องม้าทุกตัวชอบเดินชิดฝั่งเหวมากกว่าฝั่งหน้าผา ทราบจากคนในพื้นที่ว่า ที่เขาไม่อยากให้ปรับปรุงทางเพราะไม่อยากให้มีนักท่องเที่ยวขึ้นไปเยอะ และอยากให้คนพื้นที่ได้รายได้จากการบริการรถจี๊ปและม้า ซึ่งเป็นอีกมุมที่เราไม่ได้คิด


แต่ถ้าคุณฝ่าฟันอุปสรรคไปถึง Fairy Meadows ได้ ก็จะได้พบกับสวรรค์บนดินที่มีทุ่งหญ้าเขียวสดชื่น มีแอ่งน้ำใสราวกับกระจก สะท้อนวิวภูเขาหิมะที่อยู่เบื้องหน้า จนลืมทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ข้างล่างไปได้เลย แต่ถึงไม่อยากลืมก็ต้องตัดใจลืม เพราะบนนั้นไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ใครอยากเลิกส่องแฟนเก่าขอแนะนำ แถมมีวิวสวย ๆ ไม่ต่างจากในยุโรปให้ชมด้วย

ตกกลางคืนอากาศหนาว ต้องซุกตัวใต้ผ้าห่มเพราะไม่มีเครื่องทำความอุ่น แต่มีห้องผิงไฟรวมที่นักเดินทางจากหลายมุมโลกมานั่งพบปะแลกเปลี่ยนเรื่องราวของกันและกัน มองออกไปในท้องฟ้าท่ามกลางคืนที่มืดมิดจากแสงจันทร์ แต่กลับมีดาวระยิบระยับนับล้านดวงเต็มท้องฟ้า พร้อมกับทางช้างเผือกที่พาดผ่านท้องฟ้า เป็นเสมือนรางวัลให้กับชีวิตในคืนที่หนาวเหน็บ
ท้องฟ้าเวิ้งว้างเบื้องหน้าเตือนให้รู้ว่า เราเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล และภาพดวงดาวที่เห็นนั้นหาเป็นจริงในปัจจุบันไม่ แต่เป็นการสะท้อนเรื่องราวในอดีตของดวงดาวที่เดินทางผ่านเวลาหลายปีแสงกว่าจะปรากฏภาพในดวงตาของเรา นักเดินทางหลายคนจึงมีความอ่อนอ้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติ เข้าใจถึงความไม่จีรังแห่งสรรพสิ่ง
จุดหมายของการเดินทางนั้นบางครั้งไม่เพียงเป็นสถานที่ แต่เป็นการค้นพบมุมมองใหม่ ๆ ต่อสิ่งรอบตัว หรือเป็นการนำมาซึ่งการทำความเข้าใจต่อชีวิตของเรามากขึ้น


Write on The Cloud
Trevlogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ