ตามปกติ ช่วงเวลานี้ของปี คือเวลาเปิดภาคการศึกษาใหม่ที่เด็กๆ ทั่วประเทศจะได้กลับเข้าโรงเรียน หลังปิดเทอมภาคฤดูร้อนกันแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ปีนี้วันเปิดเทอมเลื่อนไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม เท่ากับเด็กๆ ต้องอยู่บ้านนานขึ้นอีกนับเดือน แม้จะมีการเรียนออนไลน์เข้ามาทดแทน แต่แน่นอนว่าสมาธิและการจดจ่อของเด็กๆ ย่อมไม่เท่าการเรียนอย่างมีปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียน 

“ยิ่งเด็กห่างหายไปจากการเรียนนานเท่าไหร่ อัตราการเรียนรู้ของเขาจะช้าลงโดยธรรมชาติ” 

ครูบุรีรัมย์กับโปรเจกต์ส่งนิทานให้เด็กทั่วไทยที่เชื่อว่าหัวใจของการเรียนรู้อยู่ที่การอ่าน, ครูวิเชียร ไชยบัง, โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

ครูวิเชียร ไชยบัง ครูใหญ่และผู้ก่อตั้งลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนทางเลือกต้นแบบแห่งจังหวัดบุรีรัมย์ จึงก่อตั้ง ‘โครงการของขวัญจากนิทานของโลก’ ขึ้น เพื่อหล่อเลี้ยงความใคร่รู้และสร้างทักษะในการทำความเข้าใจตัวเองและโลกรอบตัวของเด็กๆ ระหว่างปิดเทอมอันยาวนาน ผ่านหนังสือนิทานและวรรณกรรม

โดยทีมคุณครูโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจะส่งพัสดุของขวัญ ซึ่งประกอบไปด้วยหนังสือนิทานและคู่มือการทำกิจกรรมที่ทั้งครอบครัวทำร่วมกันได้ไปให้เด็กๆ ถึงบ้าน จนถึงตอนนี้ พัสดุของขวัญหลายหมื่นกล่องส่งออกไปให้เด็กๆ ทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ห่างไกลที่สุด พัสดุของขวัญก็ส่งไปถึง 

ครูบุรีรัมย์กับโปรเจกต์ส่งนิทานให้เด็กทั่วไทยที่เชื่อว่าหัวใจของการเรียนรู้อยู่ที่การอ่าน, ครูวิเชียร ไชยบัง, โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา
ครูบุรีรัมย์กับโปรเจกต์ส่งนิทานให้เด็กทั่วไทยที่เชื่อว่าหัวใจของการเรียนรู้อยู่ที่การอ่าน, ครูวิเชียร ไชยบัง, โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงตั้งคำถามในใจว่า ในยุคดิจิทัลที่เด็กรุ่นใหม่เรียนรู้การสไลด์หน้าจอโทรศัพท์ก่อนจับดินสอ การมอบหนังสือเป็นของขวัญ จะยังน่าเชื้อชวนพอสำหรับเด็กๆ อยู่หรือ

“หนังสือคือเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุด สำหรับสร้างทักษะที่สำคัญที่สุดในการเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ สิ่งนี้ สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตก็ให้ไม่ได้” 

เราจะไปคุยกับครูวิเชียรถึงทิศทางการศึกษาไทยหลัง COVID-19 และโครงการของขวัญจากนิทานของโลก เมื่อการอ่านนิทานและวรรณกรรมเปลี่ยนโลกทั้งใบของเด็กได้อย่างสิ้นเชิง

01

ปิดเทอมที่ยาวนานเป็นพิเศษ

“จากการศึกษาเรื่องนี้มานานพอสมควร เราพบว่าเด็กที่ครอบครัวยังส่งเสริมการเรียนรู้ให้ในช่วงปิดเทอม เมื่อเปิดเทอม เขาจะยังมีสมรรถนะที่ดีในการเรียนรู้อยู่ ต่างจากครอบครัวที่ไม่ได้ส่งเสริม อาจด้วยข้อจำกัดของผู้ปกครอง โดยเฉพาะครอบครัวในชนบทที่พ่อแม่ไม่ได้มีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้ลูกมากนัก เมื่อเปิดเทอมกลับมาก็ต้องเริ่มต้นกันใหม่ทุกครั้ง” ครูวิเชียรเริ่มอธิบาย

ดังนั้น โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจึงมีโปรแกรมกิจกรรมช่วงปิดเทอมให้เด็กๆ และผู้ปกครองที่บ้านได้ทำร่วมกันเสมอ เพื่อจุดมุ่งหมาย 2 อย่าง คือหนึ่ง เพื่อรักษาทักษะที่จำเป็นบางอย่างของเด็กเอาไว้ และสอง เพื่อหาทางจุดประกายบางเรื่องให้เด็กๆ 

เพราะโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาสอนด้วยกระบวนการ Problem Based Learning (PBL) ซึ่งจะกำหนดประเด็นเอาไว้แล้วว่าหัวข้อในแต่ละสัปดาห์ เดือน และภาคการศึกษา คืออะไร ดังนั้น ระหว่างปิดเทอมครูจะพยายามจุดประกายให้เด็กๆ ไปดูสิ่งนั้นหรือทำสิ่งนี้มา เมื่อเปิดเทอมก็เอาสิ่งเหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนกัน จากนั้นก็เรียนเรื่องนั้นต่อได้เลย

ครูบุรีรัมย์กับโปรเจกต์ส่งนิทานให้เด็กทั่วไทยที่เชื่อว่าหัวใจของการเรียนรู้อยู่ที่การอ่าน, ครูวิเชียร ไชยบัง, โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

“เรียกว่า Inspired ให้เด็กๆ เกิดประกายกระตือรือร้นเอาไว้ก่อน เมื่อถึงวันเปิดเทอม เราก็เรียนกันได้เลย ไม่ต้องอารัมภบทอะไรทั้งสิ้น” 

 เมื่อสถานการณ์ COVID-19 ไม่มีทีท่าว่าจะจบง่ายๆ เด็กๆ ต้องเลื่อนการเปิดเทอมไปอีกนับเดือน ทางโรงเรียนจึงต้องเตรียมการทำอะไรบางอย่าง เพื่อไม่ให้เด็กต้องอยู่บ้านโดยไม่ได้เรียนรู้อะไร 

“อีกอย่างที่เราตระหนักคือ พ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กส่วนใหญ่ต้องหยุดงาน กลับมาอยู่บ้าน รายได้ที่หาเลี้ยงครอบครัวก็พลอยหายไป ไหนจะปู่ย่าตายายอีก สภาพการ แรงกดดันของผู้ปกครองจากปัจจัยภายนอก ทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในบ้านได้

“การที่คนหลายคนต้องมาอยู่ในบ้านหลังเดียวกันโดยไม่มีกิจกรรมอะไร โดยเฉพาะเด็กเล็ก จะทำให้การอยู่ด้วยกันยิ่งลำบาก ทางโรงเรียนจึงคิดโครงการที่จะหากิจกรรมสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว เพื่อให้เด็กได้อยู่ในกิจกรรมการเรียนรู้ กลายเป็นโครงการของขวัญจากนิทานของโลก ที่จะส่งหนังสือนิทานไปให้เด็กเล็ก และส่งหนังสือวรรณกรรมไปให้เด็กโตเป็นของขวัญถึงบ้าน”

ครูบุรีรัมย์กับโปรเจกต์ส่งนิทานให้เด็กทั่วไทยที่เชื่อว่าหัวใจของการเรียนรู้อยู่ที่การอ่าน, ครูวิเชียร ไชยบัง, โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

02

ของขวัญชิ้นพิเศษจากที่แสนไกล

ครูวิเชียรอธิบายว่า “สำหรับเด็กเล็ก การอ่านออกเสียงให้ฟัง เด็กๆ จะได้ฟังอย่างมีความสุข ช่วยเร่งให้เขาอยากอ่านเอง ส่งเสริมให้มีพัฒนาการการฟังจับใจความ การมีสมาธิจดจ่อ การเพิ่มพูนคลังคำศัพท์ ที่สำคัญช่วยสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้อ่านและผู้ฟัง สายสัมพันธ์ที่ดีนั้นจะเป็นรากฐานที่แข็งแรงให้กับเด็กๆ ไปตลอดชีวิต”

เมื่อเปิดพัสดุของขวัญ นอกจากหนังสือนิทานแล้ว ยังมีคู่มือการจัดกิจกรรมที่ระบุว่าผู้ปกครองจะชวนเด็กๆ ทำกิจกรรมอะไรได้บ้างเป็นรายสัปดาห์ เพื่อเพิ่มพูนทักษะสมอง Executive Function (EF) เช่น การตั้งคำถามจากเรื่องที่อ่านแล้วชวนสนทนา การเล่นบทบาทสมมติตามเรื่องที่อ่าน การเล่นสี ปั้นดิน ประดิษฐ์ พับตามเรื่องที่อ่าน หรือแม้กระทั่งเชื่อมโยงเรื่องที่อ่านมาสู่งานบ้าน งานสวน งานครัว เป็นวิธีแยบคายที่เด็กได้เรียนรู้ ไม่น่าเบื่อ 

ครูบุรีรัมย์กับโปรเจกต์ส่งนิทานให้เด็กทั่วไทยที่เชื่อว่าหัวใจของการเรียนรู้อยู่ที่การอ่าน, ครูวิเชียร ไชยบัง, โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

“เด็กเล็กๆ ไม่เหมาะอย่างยิ่งกับการอยู่กับหน้าจอหรือการเรียนผ่านออนไลน์ แต่ทุกวันนี้ เด็กส่วนใหญ่อยู่กับหน้าจอมานาน ช่วงเวลาสำคัญอย่างนี้ ถ้าเขาได้รับหนังสือนิทาน มีพัสดุของขวัญไปถึงเขา เป็นครั้งแรกของเด็กหลายคนที่ได้รับของทางไปรษณีย์ เปิดมาเป็นนิทานที่น่าสนใจ มันตราตรึงและจะช่วยดึงเขากลับมาอยู่กับหนังสือแทนที่จะอยู่หน้าจอเพียงอย่างเดียว”

และทางโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาก็ไม่ลืมที่จะแนบแบบตรวจสอบคร่าวๆ ไปด้วย เพื่อผู้ปกครองจะได้ตรวจเช็กว่า สิ่งที่ตัวเองทำนั้นยังอยู่ในเส้นทางการพัฒนาผู้เรียนหรือไม่ ทำกิจกรรมครบหรือเปล่า ถ้าทำครบถ้วน เด็กๆ จะได้ทักษะสมองอะไรจากกิจกรรมนั้นๆ บ้าง 

ครูบุรีรัมย์กับโปรเจกต์ส่งนิทานให้เด็กทั่วไทยที่เชื่อว่าหัวใจของการเรียนรู้อยู่ที่การอ่าน, ครูวิเชียร ไชยบัง, โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

“การทำกระบวนการแบบนี้ ผู้ปกครองจะได้มีส่วนร่วมและรับรู้ว่า ครูกำลังพาเด็กให้บรรลุสมรรถนะอะไรบ้าง กิจกรรมที่ทำพัฒนาทักษะสมองของเด็กอย่างไร พูดง่ายๆ คือมีแผนการสอนที่ผู้ปกครองกลายเป็นส่วนหนึ่งและรู้ปลายทางด้วย แม้จะเป็นการปิดเทอมที่ยาวนานกว่าปกติ แต่เด็กๆ ก็ยังสนใจการเรียนรู้ และมีการคงอยู่ของสมรรถนะต่างๆ”

ครูบุรีรัมย์กับโปรเจกต์ส่งนิทานให้เด็กทั่วไทยที่เชื่อว่าหัวใจของการเรียนรู้อยู่ที่การอ่าน, ครูวิเชียร ไชยบัง, โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

แรกเริ่มโครงการของขวัญจากนิทานของโลกทำอยู่ในโรงเรียนเครือข่ายลำปลายมาศพัฒนา 240 โรงเรียนเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทีมคุณครูเห็นพ้องกันว่าในช่วงเวลาแบบนี้ เด็กทุกคนควรได้รับโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง จึงเปิดโครงการเป็นสาธารณะ ให้ครูหรือผู้ปกครองจากทั่วประเทศที่สนใจส่งชื่อและที่อยู่ของเด็กๆ มาให้โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาส่งพัสดุของขวัญไปให้ได้

“ตอนนี้เราส่งหนังสือนิทานไปให้เด็กแล้วหลายหมื่นคน และยังมีคิวรออยู่หลายพันคน เมื่อสัปดาห์ก่อนเราเพิ่งส่งหนังสือไปให้เด็กๆ ที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ครูลำปลายมาศพัฒนายังไม่ได้หยุดพักเลยแม้แต่วันเดียว (ยิ้ม) เราทำงานที่มีคุณค่า ให้เด็กๆ พัฒนาเติบโตและช่วยบรรเทาความเครียดจากสถานการณ์ในครอบครัว”

ครูวิเชียรบอกว่า หน้าที่ของครูไม่ได้จบแค่ในชั้นเรียน ครูคือผู้ใกล้ชิดเด็กและครอบครัวที่สุดคนหนึ่ง ในช่วงเวลาแบบนี้ อะไรที่ช่วยกันได้ก็ต้องช่วยกัน โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนายังทำ ‘โครงการครอบครัวเปราะบาง’ จากการสำรวจพบว่ามีพ่อแม่หลายคนขาดรายได้ ไม่มีอาหารให้ลูกๆ กิน ทางโรงเรียนจึงจัดหาถุงยังชีพและระดมเงินสนับสนุน เพื่อเป็นค่าครองชีพให้ครอบครัวและเด็กๆ ผ่านวิกฤตนี้ไปได้

ครูบุรีรัมย์กับโปรเจกต์ส่งนิทานให้เด็กทั่วไทยที่เชื่อว่าหัวใจของการเรียนรู้อยู่ที่การอ่าน, ครูวิเชียร ไชยบัง, โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

03

นิทานและวรรณกรรมคือสิ่งพิเศษ

หนังสือนิทานและวรรณกรรมที่ส่งไปให้เด็กๆ ทั่วประเทศนี้ เป็นหนังสือที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาทดลองใช้ในการเรียนมาแล้วหลายปี โดยส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่ครูวิเชียรเขียนขึ้นสำหรับกระบวนการสอนภาษาไทยผ่านวรรณกรรมโดยเฉพาะ 

ครูบุรีรัมย์กับโปรเจกต์ส่งนิทานให้เด็กทั่วไทยที่เชื่อว่าหัวใจของการเรียนรู้อยู่ที่การอ่าน, ครูวิเชียร ไชยบัง, โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

“เราไม่เคยใช้แบบเรียนภาษาไทยเลย เราใช้นิทานและวรรณกรรมตลอด เพื่อให้เด็กรักการอ่าน ได้ฝึกฝนการตีความ และดึงเด็กให้ตราตรึงอยู่กับการอ่านได้ดีกว่า และที่สำคัญ มันปลูกฝังคุณลักษณะอะไรบางอย่างให้เด็กๆ ไว้อย่างแนบเนียน 

“ผมมองว่ามนุษย์เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ด้วยกระบวนการสองรูปแบบ หนึ่ง คือกระบวนการทางการศึกษาที่คนอื่นจัดให้ กับสอง คือกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งการเรียนรู้ผ่านหนังสือคือการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง เพราะหนังสือที่ดี สะท้อนถึงสิ่งแท้จริงที่มนุษย์มี

“นิทานคือสิ่งที่พิเศษที่สุดสำหรับเด็กเล็ก มนุษย์ดำรงอยู่ได้ด้วยจินตนาการและการสร้างเรื่องเล่า เพราะมนุษย์เล่าเรื่องราวได้ เราจึงแตกต่างจากสัตว์อื่นและรวมกลุ่มเป็นอารยธรรมได้ เรื่องราวจากนิทานดีๆ จะสะท้อนอยู่ในตัวเด็กนานมาก และปลูกฝังเป็นแนวคิดในจิตของเขา ไม่ว่าจะเป็นการปลูกฝังเรื่องความรักต่อธรรมชาติ ความเอื้ออารี การเผชิญกับความโดดเดี่ยว และการเยียวยาตัวเอง 

ครูบุรีรัมย์กับโปรเจกต์ส่งนิทานให้เด็กทั่วไทยที่เชื่อว่าหัวใจของการเรียนรู้อยู่ที่การอ่าน, ครูวิเชียร ไชยบัง, โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

“ในขณะเดียวกัน วรรณกรรมสำหรับเด็กโต คือเรื่องราวที่สะท้อนความจริงของมนุษย์ทุกแง่มุม เราไม่สามารถใช้ชีวิตในทุกรูปแบบ เพราะเวลาของเรามีน้อยและมีข้อจำกัดต่างๆ แต่เราเรียนรู้ที่จะจำลองชีวิตผ่านตัวละครในเรื่องได้หลายรูปแบบ เราเป็นอะไรก็ได้ โจร โสเภณี พระราชา เศรษฐี ยาจก ตัวละครในวรรณกรรมสะท้อนหมด และเราก็เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ผ่านเรื่องเหล่านั้น”

ครูวิเชียรยกตัวอย่างหนังสือนิทานเรื่อง เต่าภูมิใจ ที่เล่าเรื่องเต่าน้อยผู้ต้องแข่งขันกับสิ่งต่างๆ มากมาย สุดท้ายค้นพบว่าความภาคภูมิใจที่แท้จริงคือการไม่ต้องชนะใคร เรื่องนี้ตั้งใจพูดเรื่อง Self Esteem หรือความภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก มันคือคุณค่าที่เกิดขึ้นและไหลเวียนอยู่ในจิตของเด็ก ต้องสร้างตอนที่ยังเล็ก

ครูบุรีรัมย์กับโปรเจกต์ส่งนิทานให้เด็กทั่วไทยที่เชื่อว่าหัวใจของการเรียนรู้อยู่ที่การอ่าน, ครูวิเชียร ไชยบัง, โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

พอเด็กโตขึ้น การปลูกฝังความเข้าใจโลกก็ต้องลึกซึ้งขึ้น อย่างหนังสือวรรณกรรมสำหรับเด็กมัธยมเล่มหนึ่ง ของครูวิเชียรเรื่อง รักในเอเดน เป็นเรื่องราวความรักที่มีอยู่ 35 รูปแบบ ที่ครูวิเชียรตั้งใจปลูกฝังเรื่องนี้ เพราะสำหรับเด็กมัธยมต้น สิ่งที่หลั่งออกมาคือฮอร์โมน ซึ่งขับเคลื่อนอารมณ์ความรักอย่างรุนแรง ในอุดมคติของเด็กวัยรุ่น ความรักของเขาจบด้วยแฮปปี้เอนดิ้งเสมอ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่

“ความรักทั้งสามสิบห้ารูปแบบที่บอกเล่าอยู่ในวรรณกรรมเรื่องนั้นมันสะท้อนว่า ความรักมันไม่ใช่ความหวานแหววอย่างเดียว แต่ยังมีความรักอีกหลายรูปแบบที่ไม่ได้จบงดงามเสมอไป เด็กๆ จะได้ตีความและครุ่นคำนึงจากเรื่องที่เขาอ่าน และพลอยเข้าใจว่าแท้จริงแล้ว รักเป็นแบบนี้เอง

ครูบุรีรัมย์กับโปรเจกต์ส่งนิทานให้เด็กทั่วไทยที่เชื่อว่าหัวใจของการเรียนรู้อยู่ที่การอ่าน, ครูวิเชียร ไชยบัง, โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

“เด็กที่โตขึ้นไปอีก อาจจะเป็นเรื่องที่รุนแรงหน่อย เช่น ผมรวบรวมบทความที่เขียนลงหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ และนิตยสาร แพรว สมัยก่อนเป็นเล่ม บทความเหล่านั้นสะท้อนความจริงของชีวิต เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เป็นความจริงที่ไม่ได้สุขหรือทุกข์ เขาจะได้เรียนรู้และเข้าใจปรัชญาแห่งชีวิตเหล่านั้นลึกขึ้นเรื่อยๆ ตามวัยที่เพิ่มขึ้น

“การอ่านสำคัญมากที่จะทำให้มนุษย์ ซึ่งในที่นี้คือเด็กๆ จดจ่ออยู่กับสิ่งนี้ได้นาน ความสามารถในการจดจ่อจะสร้างความครุ่นคำนึงในจิต ไม่เหมือนสมาร์ทโฟนที่มีสิ่งดึงดูดใจเยอะมาก เด็กสมัยนี้จึงติดนิสัยดูหรือพินิจอะไรแค่แวบเดียว เพราะเขาสูญเสียการจดจ่อ สูญเสียการครุ่นคำนึง ซึ่งเป็นทักษะที่ใหญ่ที่สุดในชีวิต”

04

สิ่งพิเศษในตัวทุกคน

เมื่อถอยออกมามองระบบการศึกษาในภาพกว้าง ครูวิเชียรอธิบายว่า เด็กรุ่นใหม่มีวิถีการเรียนรู้แบบใหม่จากหลากหลายช่องทาง แต่โครงสร้างการเรียนการสอนของโรงเรียนส่วนใหญ่ยังยึดติดอยู่ที่เดิม นั่นคือพยายามอัดเนื้อหามากมาย ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันได้พิสูจน์แล้วว่า ทักษะหลายๆ อย่างที่สมควรถูกดึงมาใช้เพื่อแก้ปัญหาในยามคับขัน ไม่ได้ถูกสอนในโรงเรียน

ครูวิเชียรอธิบายทิ้งท้ายว่า “ปกติโรงเรียนของเราเรียนด้วยกระบวนการ Problem Based Learning อยู่แล้ว เด็กถูกฝึกฝนให้เผชิญหน้าและแก้ปัญหา เพราะเรากำลังปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 แต่อย่างไรก็ตามในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า วันเปิดภาคเรียน เราจะเปลี่ยนหลักสูตรทั้งหมดเช่นกัน

“โดยหลักสูตรใหม่จะเน้นที่การพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน หน่วยการเรียนและแผนการสอนทุกอย่าง จะนำไปสู่การสร้าง Outcome ที่ไม่ใช่แค่ทักษะหรือความรู้ แต่เป็นสมรรถนะ โดยผู้จัดกระบวนการสอนจะหาสถานการณ์หรือปัญหามาล่อหลอกให้เด็กได้ดึงสมรรถนะในการเอาชนะสิ่งนั้น ไม่ใช่แค่สร้างความรู้ให้เท่านั้นจึงจะยั่งยืน”

ครูบุรีรัมย์กับโปรเจกต์ส่งนิทานให้เด็กทั่วไทยที่เชื่อว่าหัวใจของการเรียนรู้อยู่ที่การอ่าน, ครูวิเชียร ไชยบัง, โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน