ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีผี

“ผีมีจริงหรือไม่” – “ความรักมีจริงหรือไม่” 

คือ 2 หัวข้อหลักของคอลัมน์วัตถุปลายตาในครั้งนี้ที่ผม ผู้เขียน เถียงกับตัวเองในหัวมานาน ว่าจะเล่าเรื่องไหนดี จนได้ข้อสรุปว่า เล่ามันทั้งสองเรื่องในบทความเดียวนี่แหละ

วันที่ 19 สิงหาคม ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 คือ 301 คน

ผมตัดสินใจเดินทางไปยังเกาะแห่งหนึ่ง เพื่อเยียวยาตัวเองจากความรู้สึกหดหู่ ท้อแท้ เสียใจ กับเหตุการณ์บ้านเมือง รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ยิ่งเครียดขึ้นทุกวันๆ แต่คราวนี้ ต่างจากปกตินิดหน่อย ตรงที่ผมไม่ได้เดินทางมาคนเดียว แต่มากับ ‘แฟน’ 

ใช่ครับ แฟน ที่เพิ่งจะคบกันได้ไม่นาน ซึ่งยังเป็นคำที่คนจิตใจหยาบกระด้างอย่างผมนั้น ยังรู้สึกกระดากปากที่จะพูดจนถึงทุกวันนี้

แฟนที่กำลังจะหนีออกจากประเทศนี้ ไปตามความฝันเอาดาบหน้า แบบไม่มีกำหนดกลับ

ไม่ต้องห่วงครับ บทความนี้ไม่ใช่บทความคนอวดผัว แต่ยังคงบอกเล่าเรื่องราวของสิ่งของและความคิดที่ถูกเมิน ถูกวางไว้ปลายตาเช่นเดิม

แต่คราวนี้ วัตถุชิ้นนั้น คือ ‘ผี’

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อทริปปลีกวิเวกหลีกหนีจากโควิด และทริปสุดท้ายในความทรงจำของคนสองคน ก่อนจะต้องลาจากกัน กลับรู้สึกเหมือนมีใครตามมาด้วยทุกที่ อะไรคือความจริงของผี วิทยาศาสตร์แห่งสิ่งลี้ลับ สำหรับคนจิตแข็งอย่างผม ที่ไม่เชื่อทั้งเรื่องผีและผัว

ผีมีจริงไหม : ค้นคว้าวิทยาศาสตร์ว่าด้วยสิ่งลี้ลับ ในทริปเที่ยวทะเลอันแสนหลอนกับแฟน เพื่อหาคำตอบเรื่องการจากลา
เมื่อผีกับผัว เป็นเรื่องเดียวกัน

ผมขออนุญาตเรียนเชิญผู้อ่าน ออกไปสำรวจดินแดนแห่งความเชื่อที่คนมักบอกว่า “ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ ก็อย่าลบหลู่” แต่ผมนี่แหละ ที่กำลังจะขุดคุ้ยประวัติศาสตร์ทางจิตวิทยาทั้งมวล เพื่อพิสูจน์ให้ท่านผู้อ่านช่วยกันหาคำตอบกับผมว่า ผี และ ความรัก แท้แล้วมีอยู่จริงหรือไม่

ความจริงที่ไม่มีเธอ

“จำนวนคนตาย ไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่เป็นชีวิต และเป็นคนในครอบครัวของใครสักคน”

ผมขอมอบมงกุฎให้กับใครก็ตามที่คิดประโยคเบิกเนตรประโยคนี้ขึ้นมา และมันใช้อธิบายความรู้สึกในการต้องอ่านอินโฟกราฟิกรายงานสถานการณ์โควิด-19 รายวันของผมและอีกหลายๆ คนได้เป็นอย่างดี

ผมคิดเรื่องความตายบ่อยขึ้น ไม่คิดก็บ้าแล้ว ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ แต่ถึงแม้ผมจะซื้อประกันไว้ 5 – 6 ฉบับ และเตรียมความพร้อมในวันที่ต้องจากโลกนี้ไปอย่างดีแค่ไหน-วันนี้ผมก็ยังไม่อยากให้ชีวิตตัวเองถึงจุดจบตอนนี้อยู่ดี

แต่ถ้าความตายไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้น อย่างที่เขาบอกกันจริงๆ ล่ะ

เกาะที่ผมเดินทางมาในวันนี้กับแฟน ครั้งหนึ่งเคยเป็นเกาะที่สนุกสนานซาบซ่านที่สุดในเมืองไทย วันนี้แทบจะเป็นเหมือนเกาะร้าง บรรยากาศกลางคืนของร้านอาหารริมทะเลที่ไม่มีผู้คน ก็กลายเป็นวังเวง ชวนให้ขนหัวลุก

ผมกับแฟนไม่ใช่คนขี้กลัวผีทั้งคู่ และหนึ่งในกิจวัตรก่อนนอนของเรา ที่แฟนผมเป็นคนแนะนำให้ทำคือการฟังรายการผีทางวิทยุออนไลน์ต่างๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นคว้าเรื่องวัฒนธรรมความเชื่อผีของผมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

คืนนั้น เรากูเกิลคีย์เวิร์ด ‘เกาะ + ผี’ และเราก็เลือกฟังเรื่องผีในวิทยุออนไลน์เรื่องหนึ่งที่ดูจะมีมูลเหตุสมจริง เช็กข้อมูลในข่าวต่างๆ ได้ แน่นอนว่าพล็อตเรื่องมันก็หนีไม่พ้นคนจมน้ำตาย แล้ววิญญาณก็มาหลอกหลอนคนที่ชายหาด บังกะโล ไม่ไปผุดไปเกิด

หญิงสาวที่โทรมาเล่าเรื่อง บอกชื่อหาดไว้ชื่อหนึ่ง แต่หาดนี้น่าจะถูกเปลี่ยนชื่อไปแล้ว จะได้ไม่เป็นผลเสียต่อการท่องเที่ยว และบังกะโลเจ้ากรรมนั้น ก็คือมองไปเห็นโขดหินที่ผู้เคราะห์ร้ายคนนั้น จมน้ำตายพอดี

ผมนึกในใจ บอกกับตัวเองก่อนนอนว่า เออ ดีเทลของการเล่าดีแฮะ ใกล้เคียงกับห้องพักริมทะเลและหาดที่นอนอยู่ตอนนี้มากเลย ยิ่งฟังเห็นภาพตาม สนุกพิกล

คืนนั้นคือคืนที่ผมตัดสินใจว่าจะเขียนเรื่องราวประวัติศาสตร์ของผีให้ผู้อ่าน The Cloud ได้ช่วยหาคำตอบร่วมกัน

ผีมีจริงหรือไม่ ความรักมีจริงหรือเปล่า หาคำตอบได้ในทริปเที่ยวทะเลสุดหลอน
แคสเปอร์ ผีน้อยน่ารัก

ผีของเธอมีจริงหรือเปล่า

ถ้าหากคนคือธาตุคาร์บอนเดินได้ ผีตามความเชื่อของคนโบราณ ก็คือจิตวิญญาณที่ไหลเวียนอยู่ข้างในร่างกาย และอาจจะยังคงไหลเวียนต่อไปนอกร่างกายได้ หลังจากร่างกายนั้นเสื่อมสลายแล้ว ซึ่งเป็นที่มาของการจัดงานศพ เพื่อส่งและอำลาจิตวิญญาณให้ไปสู่ภพภูมิที่สวยงามดีกว่า และไม่มาหลอกหลอนมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลก

ผีมีจริงหรือไม่ ความรักมีจริงหรือเปล่า หาคำตอบได้ในทริปเที่ยวทะเลสุดหลอน
ภาพวาดผีที่ดีที่สุดตลอดกาลในความคิดของผม โดยอาจารย์เหม เวชกร

หลักฐานความเชื่อต่อการมีอยู่ของผีในตะวันตก ย้อนกลับไปไกลถึงสมัยโรมัน มีนักเขียนคนหนึ่งเขียนเรื่องการพบเห็นสิ่งลี้ลับไว้ในจดหมาย หลังจากนั้นความเชื่อเหล่านี้ก็ค่อยๆ สืบทอดมาจนถึงยุคปัจจุบันในหลากหลายรูปแบบ ต่างวัฒนธรรม

คำถามว่า “ผีมีจริงหรือไม่” อาจไม่สำคัญเท่ากับคำถามว่า “ทำไมคนเราถึงเชื่อว่ามีผี”

การตั้งคำถามข้อหลัง อาจจะให้คำตอบหลายๆ อย่างมากกว่าการพยายามพิสูจน์ สิ่งที่เป็นข้อถกเถียงกันมานาน และเหตุผลที่คนเราเชื่อในผี อาจทำให้ทุกคนแปลกใจกว่าที่คิดก็เป็นได้

เชื่อในสิ่งที่ไม่เห็น

ประชากรอเมริกันเกือบครึ่งเชื่อว่าผีมีจริง และก็ไอ้ความเชื่อความจริงเหล่านั้นแหละที่ทำให้พวกเขาเห็นผี หรืออยากเห็นผีโดยไม่รู้ตัว เพราะว่าพวกเขาอยากเชื่อ ง่ายๆ แค่นั้น

ไม่ใช่เรื่องผิดปกติใดๆ เพราะว่าการเรียนรู้ที่จะเชื่อนั้น เป็นส่วนหนึ่งของสัญชาตญาณมนุษย์ สมองของมนุษย์นั้นชวนเชื่อได้ง่ายมาก เราพร้อมที่จะหลีกหนีสิ่งอันตราย เหมือนกับที่สัตว์นั้นรู้ว่า ศัตรูของมันอยู่ตรงไหน

ช่วง ค.ศ. 1990 นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ พาคนสองกลุ่มไปทัวร์โรงหนังลินคอล์น อายุหนึ่งร้อยปี โดยแบ่งกลุ่มคนเป็นกลุ่มที่ให้ข้อมูลเรื่องประวัติศาสตร์ที่น่ากลัวของสถานที่ กับอีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มที่ไม่เล่าอะไรเลย แน่นอนว่ากลุ่มที่ได้ยินเรื่องราวมาก่อนนั้น มีรายงานเรื่องการพบเห็นสิ่งลี้ลับ มากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็เป็นหลักฐานประจักษ์ให้เราอนุมานได้ว่า ‘มนุษย์เมื่อเชื่อแล้ว ก็พร้อมที่จะยึดติดกับความเชื่อของตัวเองต่อไป’ และถ้าคนข้างๆ บอกว่าเห็นเหมือนกัน ความเชื่อนั้นก็จะยิ่งเพิ่มทวีคูณขึ้นอีก

ชาวฝรั่งเศสเรียกปรากฏการณ์การสะกดจิตหมู่ว่าพบเห็นภาพหลอนหรือเสียงรบกวนนี้ว่า Pareidolia เป็นการหารูปแบบซ้ำของสมองมนุษย์ เช่น การมองเห็นหน้าในรูปถ่ายในโขดหิน หรือเสียงคุ้นตา ชนิดที่ว่าถ้าพ่อมดหมอผี ยื่นเสียงอะไรบางอย่างให้ฟัง สมองของมนุษย์เราก็จะพยายามทำความเข้าใจ โดยการดึงรูปแบบซ้ำๆ ที่เราเคยเรียนรู้มาใช้ประมวลผล จนเราคิดว่าเราเข้าใจมันไปเองในที่สุด

ความรักก็เช่นกัน

ผีมีจริงหรือไม่ ความรักมีจริงหรือเปล่า หาคำตอบได้ในทริปเที่ยวทะเลสุดหลอน
Pareidolia หรืออาการมองไปทางไหน ก็เห็นแต่หน้าเธอ

รู้ว่าเสี่ยงแต่คงต้องขอลอง

“ได้เกิดมาเจอเธอทั้งที ไม่ว่ายังไงจะลองดีสักวัน อยากรักก็ต้องเสี่ยง ไม่อยากให้เธอเป็นเพียงภาพในความฝัน”

Big Ass เคยพร่ำสอนไว้ ว่าการลงทุนในความรักย่อมมีความเสี่ยง เรื่องผีๆ ก็เช่นกัน

ตัวผมเอง นอกจากไม่เชื่อในเรื่องผีแล้ว ยังไม่เชื่อในความรัก หรืออย่างน้อยก็นิยามความรักตามครรลองปกติของสังคมเสียเท่าไหร่

“แกรักตัวเองมากไป มากจนรักคนอื่นไม่ได้” -คือคำบอกเลิกของแฟนคนเก่าที่คบมายาวนานที่สุดเกือบ 4 ปีของผม ทุกวันนี้ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน และสิ่งที่เขาพูดไว้ในตอนนั้นก็จริงแท้ทรูไม่มีผิดเพี้ยน

ผมใช้ชีวิตกับงานและโลกส่วนตัวมานานหลายปี หลังจากความสัมพันธ์ครั้งนั้น โดยบอกตัวเองว่า โลกของผมไม่จำเป็นต้องมีคนรัก (หรือผี) เพราะเช่นเดียวกับที่ผมไม่รู้ว่า ผีคืออะไรกันแน่ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ความรักคืออะไรกันแน่

หรือทั้งคู่เป็นแค่ผลผลิตของวัฒนธรรมฮอลลีวูดร่วมสมัย ที่บอกเราว่าผีต้องมาในชุดขาว และความรักต้องมาใน… เอ่อ อะไรก็ไม่รู้ ให้ผมเติมคำในช่องว่าง ผมยังตอบไม่ได้เลย

กลับมาเรื่องผีๆ ก็คล้ายกับความรัก ตรงที่มนุษย์เรานั้นไม่อยากเสี่ยง แต่ก็ต้องเสี่ยง

เรามักไม่กลัวผีในเวลากลางวัน เพราะทุกสิ่งนั้นเรามองเห็น รับรู้ จับต้องได้ แต่ความรู้สึกนั้นมักเปลี่ยนไปเมื่อเราต้องเริ่มเดินลงไปในห้องใต้ดินหรือใต้ถุนบ้าน หรือห้องเก็บของมืดๆ -นั่นก็เพราะว่าเราไม่อยากเสี่ยง

ผีมีจริงหรือไม่ ความรักมีจริงหรือเปล่า หาคำตอบได้ในทริปเที่ยวทะเลสุดหลอน
ภาพวาดผีที่ดีที่สุดตลอดกาลในความคิดของผม โดยอาจารย์เหม เวชกร

“หากคุณเดินไปในป่าคนเดียวมืดๆ แล้วสัมผัสได้ถึงการเคลื่อนไหวบางอย่าง ความผิดพลาดเพียงแค่สองทางที่จะเกิดขึ้นก็คือ หนึ่ง คุณคิดว่ามันไม่มีอะไร แต่กลับกลายเป็นว่าคุณตกเป็นเหยื่อ หรือ สอง คุณคิดว่ามีผู้ล่าอยู่ แต่มันน่าจะไม่เป็นอะไร” 

นี่แหละ ทัศนคติแบบ ‘กันไว้ก่อนแก้’ ถูกปลูกฝังอยู่ในดีเอ็นเอของมนุษย์มาช้านาน

การเดินทางไปในดินแดนหรือพื้นที่ที่เราไม่คุ้นชิน จึงเปรียบเสมือนการเอาความคลุมเครือมายกแบกไว้แทนลูกตุ้มออกกำลังกาย เราต้องยกน้ำหนักแห่งความไม่รู้ ไม่แน่ใจอยู่ตลอด ซึ่งเป็นเหตุผลที่อธิบายได้ว่า ทำไมบ้านผีสิงที่ไม่รู้ว่าผีจะโผล่มามุมไหน จึงน่ากลัวกว่าเสมอ

ผีมีจริงหรือไม่ ความรักมีจริงหรือเปล่า หาคำตอบได้ในทริปเที่ยวทะเลสุดหลอน
บ้านผีสิง พล็อตเรื่องหนังผียอดนิยมตลอดกาล โดยอาจารย์ เหม เวชกร

ใน ค.ศ. 1975 ช่างภาพชาวอังกฤษ ชื่อ เจย์ แอปเปิลตัน (Jay Appleton) ค้นพบว่า เมื่อมนุษย์ต้องเลือกสถานที่พักอาศัยหรือบ้าน เรามักจะใช้ 2 ปัจจัยในการตัดสินใจเสมอ นั่นคือ หนึ่ง ความสามารถในการมองเห็นภาพกว้างข้างนอกบ้าน และ สอง ความสามารถในการแอบซ่อน หลบหนีจากภัยอันตราย

แล้วเมื่อ ‘บ้าน’ ไม่สามารถหยิบยื่นสองอย่างนี้ ซึ่งก็คือภาพกว้างภายนอก และพื้นที่หลบจากภยันอันตรายแล้ว มนุษย์จึงมองว่าบ้านหลังนี้ไม่น่าอยู่

ใครสักคนที่เกิดมาเพื่อผูกพัน

แฟนคนปัจจุบันของผม เขาคือคนที่เดินออกจากรั้วมหาลัยชั้นนำในปีสุดท้าย ไปสร้างเนื้อสร้างตัว ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ

จากวันที่เริ่มทำธุรกิจของตัวเองมาเจ็ดแปดปี วันนี้เขาเลือกจะไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอื่น ด้วยเหตุผลเดียว คือบ้านหลังนี้มันไม่น่าอยู่สำหรับเขา คนรุ่นใหม่ อีกต่อไป

มนุษย์ที่คิดว่าตัวเองอยู่คนเดียวได้อย่างผม ก็ยังแอบชื่นชมพลังงานความรักอิสระ ความคิดสร้างสรรค์ ความใจกว้างของแฟนคนนี้ไม่ได้

จนวันนี้ วันที่การจัดการของภาครัฐไร้เสถียรภาพ ตัวของเขาเองเลือกเดินจากประเทศนี้ไป ทิ้งผมไว้กับความกังขาเรื่องผีๆ และ ผัวๆ แต่เพียงผู้เดียว

ที่น่าแปลกคือตั้งแต่รู้จักกัน ผมเริ่มรู้สึกว่าเหมือนมี ‘พลังงานอะไรบางอย่าง’ ติดตามผมอยู่ในบ้าน และตามไปทุกหนทุกแห่งเสมอ รวมถึงทริปในเกาะครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

มือถือกระเด็น ประตูเปิด ฝันประหลาดๆ เสียงกระซิบแปลก กลายเป็นเรื่องปกติของเราทั้งสองคนที่มักหันมาถามกันเสมอว่าได้ยินเหมือนกันใช่หรือไม่

กลับมาที่เรื่องผีๆ มันก็ไม่พ้นเหตุผลว่ามนุษย์ต้องการผูกพันกับใครสักคนเสมอ-ไม่สิ มนุษย์ต้องการผูกพันกับบางสิ่งบางอย่างเสมอ ถึงแม้จะไม่ใช่คนก็ตาม

นักวิจัยและนักจิตวิทยาค้นพบว่า มนุษย์บางคนอาจคิดค้น สร้างเรื่องผีขึ้นมาในหัวสมองของตัวเอง เพื่อใช้รับมือกับความทุกข์แสนสาหัสที่เคยได้ประสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต้องสูญเสียคนที่ตัวเองรักไป เช่นเดียวกับที่แบบสำรวจใน ค.ศ. 1971 ของ British Medical Journal ได้สำรวจไว้ว่าคู่สมรสที่สูญเสียคนที่ตัวเองรักและผูกพันไปนั้นเกือบครึ่ง รู้สึกว่าได้เจอกับผีหรือติดต่อกับจิตวิญญาณของคนที่เสียไปแล้วได้ ซึ่งเป็นรูปแบบการพบเจอสิ่งลี้ลับที่เกิดบ่อยที่สุด

บทวิจัยใน ค.ศ. 2011 ชื่อว่า Death Studies หรือการศึกษาความตายก็ระบุว่า การเห็นผีช่วยทำให้สมองของเรารับมือกับความสูญเสียได้ และปลดปล่อยเราจากความเศร้าระทม ในขณะเดียวกัน ความตาย ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่เป็นการจุดชนวนการใช้ผีเป็นเครื่องมือทำใจ บางครั้งการถูกรังแกในวัยเด็ก หรือการประสบอันตรายขั้นรุนแรง ก็ทำให้มนุษย์เราสร้างผีขึ้นมาอยู่เป็นเพื่อนรับมือได้ด้วยเช่นกัน

เกือบร้อยทั้งร้อยของผู้ที่ถูกวิจัยบอกว่า บางครั้งการติดต่อสื่อสารกับคนที่ตายไปแล้วได้ก็มีข้อดีอย่างหนึ่ง คือพวกเขาเหล่านั้นยังรู้สึกไม่ถูกทอดทิ้งนั่นเอง

อยู่ๆ ก็มีเรื่องราวให้นอนไม่หลับ

สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ล้วนแต่นำพามาซึ่งความเครียด

นอกจากต้องดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ไม่ตายแล้ว เราหลายๆ คนก็ยังต้องต่อสู้กับความเครียดในมิติอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ การทำมาหากิน รวมไปถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้างที่ต้องยอมห่างกันอีกด้วย

ผีก็อาจจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากสุขภาพของสมองที่มีปัญหาได้เช่นกัน เช่น การได้ยินเสียงแว่ว อาจจะเป็นสัญญาณของโรควิตกกังวล และคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับคลื่นสมอง หรือผู้ใช้ยาเสพติดจำพวก LSD หรือเห็ดเมา ก็มีรายงานการพบเจอสิ่งลี้ลับมากกว่าคนปกติด้วย

อาการถูกผีอำหรือ Sleep Paralysis นั้นแสดงผลในรูปแบบเดียวกัน คือความรู้สึกกึ่งหลับกึ่งตื่น โดยไม่สามารถขยับตัวได้ สมัย ค.ศ. 1781 นั้น ศิลปินอย่าง เฮนรี ฟูเซลี (Henry Fuseli) ก็เคยวาดภาพสีน้ำมัน ชื่อว่า The Nightmare ที่เป็นรูปปีศาจตนหนึ่ง นั่งทับอกหญิงสาวอยู่ในความมืด ภายหลังสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นภาพที่แสดงถึงอาการถูกผีอำหรือ Sleep Paralysis ภาพแรกๆ ในประวัติศาสตร์ อาการนี้เองมีชื่อเรียกในหลายๆ วัฒนธรรมไม่เหมือนกัน เช่น ในภาษาเขมร แปลตรงตัวได้ว่า ‘ผีที่ผลักให้จมลง’ หรือในไนจีเรียที่แปลได้ว่า ‘ผีที่ขี่หลัง’ อยู่

ผีมีจริงไหม : ค้นคว้าวิทยาศาสตร์ว่าด้วยสิ่งลี้ลับ ในทริปเที่ยวทะเลอันแสนหลอนกับแฟน เพื่อหาคำตอบเรื่องการจากลา
ภาพวาดสีน้ำมัน ชื่อว่า The Nightmare โดย Henry Fuseli

ย้อนกลับมาที่เกาะซึ่งผมและแฟนหนีโควิดมาพักสมองกัน บรรยากาศของเกาะที่ไร้นักท่องเที่ยว ร้านอาหารที่เปิดไม่ได้ รวมถึงฝนที่ตกทั้งวัน ทำให้ทางเลือกในการออกไปพักผ่อนข้างนอกนั้นแทบเป็นศูนย์

ผมนึกครึ้ม กูเกิลหาข้อมูลว่าเกาะที่หญิงสาวในเรื่องผีที่นอนฟังกันเมื่อคืนในรายการวิทยุนั้นเสียชีวิตที่หาดไหน และได้ชื่ออ่าวชื่อเหมือนผลไม้มาหนึ่งชื่อ

ผมลองพิมพ์ชื่อหาดนั้นลงไปใน Google Maps ในโทรศัพท์ หมุดที่โผล่ขึ้นมาคือสถานที่ที่ผมพักอยู่เป๊ะๆ ไม่ผิดเพี้ยน

ผมถึงได้รู้ตอนนั้นว่า หาดที่ถูกเปลี่ยนชื่อไปเพราะผีเฮี้ยนมาก ก็คือหาดที่ผมพำนักอยู่ตอนนี้นั่นแล และเมื่อมองออกไปริมทะเลจากห้องที่เราอยู่ ก็พบเจอโขดหิน ใกล้เคียงกับคำบรรยายของเรื่องราวในวิทยุอย่างน่าบังเอิญ

คลื่นเหงาสาวข้างบ้าน

บางครั้ง ผีก็เป็นผลพวงมาจากการที่เราเอาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกต้อง เช่น พื้นที่ที่ส่งคลื่นเสียง หรือคลื่นความถี่ที่ส่งผลต่อปฏิกิริยาของร่างกายมนุษย์

ในช่วงต้นของ ค.ศ. 1980 วิศวกรชาวอังกฤษ วิก แทนดี้ (Vic Tandy) ทำงานอยู่ในห้องทดลองเพียงคนเดียว และจู่ๆ ก็สัมผัสได้ถึงพลังงานบางอย่างในห้อง เขารีบวิ่งออกมาจากห้องนั้น เพื่อพบกับกลุ่มควันสีขมุกขมัวที่ค่อยๆ หายวับไปกับตา และเมื่อเขาเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนๆ ของเขาฟัง ทุกคนเตือนว่าเขาอาจจะถูกผีหลอก

Vic ผู้ซึ่งเป็นวิศวกรเกิดคลางแคลงใจ จึงกลับเข้าไปสำรวจห้องนั้นอีกครั้ง สุดท้ายเขาจึงค้นพบว่า ตัวเองนั่งอยู่ติดกับพัดลมที่หมุนด้วยความถี่ 18.9 Hz. ซึ่งมีผลต่อการกะพริบตาและการมองเห็นของลูกตา ทำให้คนรู้สึกแปลกๆ รวมถึงมองเห็นภาพแปลกไป

คลื่นความถี่ซึ่งอยู่ในระดับนี้หรือต่ำกว่า เรียกว่า Infrasound ซึ่งหูของมนุษย์เราสัมผัสแยกแยะไม่ได้ และเมื่อเราได้ยินเสียงคลื่นระดับนี้นานๆ จะทำให้มีผลข้างเคียงที่น่ากลัว หลังจาก Vic ได้ตีพิมพ์ผลวิจัยนี้ออกไป เขาก็ได้สมญานามว่า เจ้าพ่อ ‘คลื่นหลอน’ หรือ Fear Frequency

ผีมีจริงไหม : ค้นคว้าวิทยาศาสตร์ว่าด้วยสิ่งลี้ลับ ในทริปเที่ยวทะเลอันแสนหลอนกับแฟน เพื่อหาคำตอบเรื่องการจากลา
Vic Tandy-Ghostbuster แบบออริจินัล

“ถ้าเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติแล้วล่ะก็ ผมเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง” ตัว Vic Tandy ผู้ค้นพบคลื่นหลอนเอง กล่าวไว้บางครั้ง ผีก็เป็นผลมาจากการที่เราอยู่ผิดที่ผิดทาง แต่ไม่ใช่นัยยะที่พิสูจน์ไม่ได้โดยวิทยาศาสตร์

ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Clarkson ในนิวยอร์ก ทำการศึกษาตึกร้างหลอนๆ ทั่วอเมริกา และค้นพบว่าความรู้สึกขนหัวลุกหรือสัมผัสลี้ลับนั้น อาจเป็นผลมาจากสปอร์ของเชื้อราที่มีคุณสมบัติคล้ายกับเห็ดเมา หรือ LSD ซึ่งพื้นที่ที่ไม่สะอาด เต็มไปด้วยเชื้อราและสปอร์เหล่านี้ ส่งผลต่อร่างกายมนุษย์ให้มีความรู้สึกกังวล หดหู่ หรือแม้กระทั่งเห็นภาพหลอนได้

นักวิจัยหลายคนก็ศึกษาย้อนไปจนถึงยุคการล่าแม่มดใน Salem ช่วง ค.ศ. 1800 ที่โด่งดังว่า ขนมปัง Rye เองนั้นก็มีคุณสมบัติคล้ายกับเชื้อราชนิดเดียวกัน และอาจจะเป็นเหตุผลที่คนยุคนั้นเชื่อในศาสตร์มืดหรือแม่มดก็เป็นได้-ว่าซ่าน

ด้วยคำที่บอกว่าเราจะมาพบกันใหม่-มักจะไม่พบกันอีก

วันนี้เป็นวันสารทจีน ตามความเชื่อแล้วคือแห่งการเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ และวิญญาณเร่ร่อนที่หลุดรอดผ่านประตูแห่งความตายออกมา แต่ผมกำลังเขียนบทความที่ค้านความเชื่อเหล่านี้อยู่ลำพังในห้องทำงาน ในขณะที่แฟนซึ่งกำลังจะเริ่มต้นการย้ายถิ่นฐาน ก็เตรียมความพร้อมของเอกสาร การเดินทางต่างๆ ในยุคโควิดเป็นตั้งใหญ่อย่างน่าปวดหัว

อะไรทำให้คนรุ่นใหม่เก่งๆ อย่างเขาตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้านอกประเทศบ้านเกิด กับเงินเก็บหอมรอมริบที่มาจากการทำงานสุจริตแรมปี ในขณะที่แขนของเขาก็ยังไม่มีวัคซีนปักแม้แต่เข็มเดียว

ผีมีจริงไหม : ค้นคว้าวิทยาศาสตร์ว่าด้วยสิ่งลี้ลับ ในทริปเที่ยวทะเลอันแสนหลอนกับแฟน เพื่อหาคำตอบเรื่องการจากลา
ผีลุงบุญมี รางวัลคานส์ ที่อาจจะหมายความถึงประชากรชายขอบที่ถูกลืมของพี่เจ้ย

“เป็นประชากรชั้นสามของประเทศอื่น ก็ยังไม่เจ็บใจเท่ากับเป็นประชากรชั้นที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้ของประเทศตัวเอง” นั่นคือคำตอบที่สำหรับผม น่าเศร้าและชวนให้สิ้นหวังในหลายมิติ รวมถึงความจริงที่ว่า Long Distance Relationship นั้นส่วนมากจะจบด้วยการแยกทาง ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ใน ค.ศ. 2014 นักวิทยาศาสตร์ชาวสวิตเซอร์แลนด์ เอาผ้าปิดตากลุ่มผู้ร่วมทดลอง โดยเชื่อมต่อพวกเขาไว้กับเครื่องมือที่เลียนแบบ และตรวจจับการเคลื่อนไหวของตัวผู้ทดลองเอง

เมื่อกลุ่มผู้ทดลองเหล่านั้นเคลื่อนไหวมือ แขนจักรกลจากด้านหลังก็จะเคลื่อนไหวเลียนแบบเป๊ะๆ ต่างกันแค่ “การเคลื่อนไหวที่ช้ากว่า คลาดเคลื่อนเป็นหน่วยเสี้ยววินาที” ผลก็คือผู้ร่วมทดลองแทบจะทุกคน รู้สึกเหมือนว่ากำลังมีสัตว์หรือผีจิ้มหลัง เล่นกับหลังของตัวเองอยู่ ทั้งๆ ที่การเคลื่อนไหวนี้เป็นของตัวเองแท้ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการประมวลผลของสมองส่วนหน้าล้วนๆ

‘ผี’ บางทีอาจจะเป็นส่วนหนึ่งตัวเราเอง ที่คลาดเคลื่อนกันเพียงเสี้ยวนาทีก็ได้

ให้รักเป็นสายลมผ่าน

ทุกเช้าที่ตื่นมา ในช่วงเวลาที่ความตายแวดล้อมอยู่ทั่วหัวระแหงแบบนี้ ผมเชื่อว่าการจากลาจากคนที่เรารัก วนเวียนอยู่ในหัวของเราทุกคน

“จำนวนคนตาย ไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่เป็นชีวิต และเป็นคนในครอบครัวของใครสักคน”

มันไม่แฟร์แน่นอน ทุกชีวิตที่ต้องเสียไปก่อนวันเวลาอันควรจากโควิด-19 และความจริงที่โหดร้ายก็คือ โรคนี้เป็นโรคที่แสนจะโดดเดี่ยว เพราะแม้แต่การจากลา อ้อมกอดที่เราจะมอบให้พวกเขาตามปกติ เราก็ยังทำไม่ได้

ถ้าหากว่า ‘ผี’ คือการรับมือกับการจากลา สมองของเราอาจจะสร้าง ‘ผี’ ขึ้นมาเพราะความรักและความคิดถึง เพราะเราไม่อยากจะเชื่อว่ามนุษย์ประกอบมาขึ้นแค่คาร์บอนและอะตอม และคนที่เรารักนั้น อาจจะไม่ได้จากเราไปจริงๆ ก็ได้ บางทีมันอาจจะคล้ายกับ Long Distance Relationship แบบหนึ่ง เพียงแต่ห่างกันคนละภพภูมิ

ผีมีจริงไหม : ค้นคว้าวิทยาศาสตร์ว่าด้วยสิ่งลี้ลับ ในทริปเที่ยวทะเลอันแสนหลอนกับแฟน เพื่อหาคำตอบเรื่องการจากลา
การรอคอยและการจากลาระหว่างผีนากกับพี่มากสุดคลาสสิก

ผี ที่หลอกหลอนเรา อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ ‘บ้าน’ ของเรา ไม่สามารถมอบภาพใหญ่ในโลกกว้างข้างนอก หรือให้เราได้แม้กระทั่งที่หลบพักจากภัยอันตราย 

ผี ที่ขับไล่ความฝัน ความหวัง ให้เหือดแห้งจึงวนเวียนเป็นภาพซ้ำ แบบที่ไม่มีพ่อมด หมอผี หรือนักวิทยาศาสตร์คนไหนจะให้ข้อสรุปได้

จนบัดนี้ ผมก็ยังไม่สามารถให้คำตอบท่านผู้อ่านได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ผี และ ความรัก มีอยู่จริงหรือไม่ แล้วผีที่เฝ้าหลอกหลอนทุกคนในเวลาที่แสนหดหู่เยี่ยงนี้ คือภูติผีตนไหนกันแน่

ที่แน่ๆ ภาพของคนรุ่นใหม่เก่งๆ อย่างแฟนผมที่ต้องเก็บกระเป๋าไปตายเอาดาบหน้า ทั้งที่ตัวเขาเองก็ไม่ได้อยากจากลาครอบครัวและคนที่รักและผูกพันในประเทศบ้านเกิด รวมถึงช่วงเวลาที่เราฟังรายการผีร่วมกันก่อนนอน หัวเราะ ร้องไห้ ทะเลาะ ช่วยกัน Swap Test ปั่นน้ำกระชายให้กันดื่ม จะเป็นภาพที่หลอกหลอนผมไปอีกนานแสนนาน

การจากลาไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่เราผูกพัน

แต่ไม่ว่าชีวิตหลังความตายหรือผีจะมีอยู่จริงหรือไม่ ที่แน่ๆ ความรัก อาจจะเป็นเพียง ‘สายลม’ ผ่านจริงๆ และ ‘ที่ว่าง’ ที่เราเว้นว่างไว้ บางทีก็อาจจะเพื่อให้คนที่เรารัก ได้ตามหาความฝันของพวกเขาจริงๆ อย่างที่พี่โจ้ วง Pause เคยสอนผมไว้

“ก่อนเคยคิดว่ารักต้องอยู่ด้วยกันตลอด-เติบโตจึงได้รู้ความจริง”

ผมขออุทิศบทความนี้ให้กับทุกการจากลาครับ

ข้อมูลอ้างอิง 

www.popsci.com/story/science/ghosts-real-science/

www.history.com/topics/halloween/historical-ghost-stories

Writer

Avatar

ศรัณย์ เย็นปัญญา

นักเล่าเรื่อง ผู้ร่วมก่อตั้ง 56thStudio ที่รักในความเป็นคนชายขอบ หมารองบ่อน และใช้ชีวิตอยู่ตรงตะเข็บชายแดนของรสนิยมที่ดีและไม่ดีอย่างภาคภูมิมาตลอด 35 ปี ชอบสะสมเก้าอี้ ของเล่นพลาสติก และเชื่อในพลังการสื่อสารของงานออกแบบและงานศิลปะ