โคมล้านนาเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่พบเจอได้ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ไม่เว้นแม้แต่ลำปาง เมืองที่หลายคนอาจนึกถึงแค่งานเซรามิก หากจริง ๆ แล้วที่นี่มีสล่าโคมล้านนาฝีมือดีและโคมดั้งเดิมเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น อย่าง ‘โคมม่านแปดเหลี่ยม’ อยู่ด้วย
โคมม่านแปดเหลี่ยมลวดลายวิจิตรบรรจง คือมรดกภูมิปัญญาที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นยาวนานกว่า 9 ทศวรรษ กระทั่งถึงรุ่นของ พ่อครูมณฑล ปินตาสี สล่าโคมล้านนาแห่งบ้านวังหม้อ จังหวัดลำปาง และก่อนวายชนม์ ท่านได้ถ่ายทอดวิชาให้กับลูกศิษย์คนสุดท้าย อย่าง ป่าน-วีรศิษฎ์ ภู่สุวรรณ์ ลูกหลานชาวลำปางที่แหวกแนวทำวิทยานิพนธ์เรื่องโคม และนี่เองคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาค้นพบตัวตนกับความหลงใหล ต่อยอดสู่ความตั้งใจเผยแพร่ศิลปหัตถกรรมแขนงนี้ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางและเข้าถึงง่ายขึ้น ด้วยการดึงเสน่ห์วัสดุและโครงสร้างของโคมล้านนาโบราณรูปแบบต่าง ๆ มาสร้างสรรค์เป็นสารพัดเครื่องประดับดีไซน์ร่วมสมัย ประณีต เปี่ยมชีวิตชีวา ภายใต้แบรนด์ที่มีชื่อว่า ‘GHOM LANNA’
(โปรดออกเสียงว่า โกมล้านนา – ตามสำเนียงคนอู้จ๋าภาษาเหนือ เรียก ‘โคม’ ว่า ‘โกม’)

คลี่คลายตัวตน
หลายปีก่อนป่านเป็นเพียงเด็กที่ชื่นชอบศิลปะไทย หลายเดือนก่อนยังเป็นนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาศิลปะอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แต่ปัจจุบันไม่แน่ใจนักว่าควรนิยามตัวเขาแบบไหน นักออกแบบหรือสล่ารุ่นใหม่ เมื่อผลงานโคมล้านนาที่แขวนห้อยบนเพดาน ประดับผนัง ทั้ง โคมหูแมว โคมเงี้ยว โคมพับสามเหลี่ยม โคมเพชรดอกบัว โคมม่านแปดเหลี่ยม รวมถึงต่างหู สร้อยข้อมือ แหวน ปิ่นปักผม และสร้อยคอ ที่วางเรียงรายรอบ GHOM LANNA Craft Store ล้วนเป็นผลงานฝีมือป่านที่บรรเลงเองตั้งแต่กระบวนการเหลาไม้
“ครั้งแรกที่เจอกัน พ่อครูบอกเราว่า ถ้าอยากทำโคมล้านนาต้องเหลาไม้ให้ได้ก่อน ท่านเลยพาเราไปเลือกไม้ไผ่หน้าบ้าน ตัดแล้วให้แบกกลับมาลองทำ พร้อมสอนวิธีการวัดขนาดและดูอายุไม้ที่เหมาะสม เป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนมากครับ” ป่านว่าพลางเผยหลักฐานรอยแผลเป็นนูนหนาหลังนิ้วชี้

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น สิ่งที่นำทางเขาให้มาเจอกับพ่อครูมณฑล คือวิทยานิพนธ์ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เพื่อนร่วมชั้นส่วนใหญ่สนใจแนวบรรจุภัณฑ์ แต่เขากลับอยากลองทำผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับตัวตน แนวคิดดังกล่าวทำให้ป่านนึกถึงคำว่า ‘บ้าน’ ที่เขาจากมาเนิ่นนานและคิดถึงอยู่ทุกเวลา เมื่อได้กลับมาสำรวจบ้านเกิด สัมผัสบรรยากาศวัฒนธรรม ประเพณี แสงสีสว่างไสวจากโคม ก็พลันรับรู้ได้ถึงความรู้สึกอบอุ่น และผุดความทรงจำวันวานที่เคยเพลิดเพลินกับชั่วโมงประดิษฐ์โคมกระดาษสมัยเรียนชั้นมัธยมปลาย คำตอบของตัวตนจึงค่อย ๆ คลี่คลาย กลายเป็นโจทย์การพัฒนาของดีพื้นถิ่นโคมล้านนาให้มีความร่วมสมัย
“เราใช้เวลาประมาณ 1 เทอม เพื่อศึกษาการขึ้นโครงสร้างของโคมล้านนา 7 – 8 รูปแบบ การตัดลายกระดาษ และเรียนรู้ภูมิปัญญาการรักษาเนื้อไม้ไผ่ให้คงทนด้วยภูมิปัญญาโบราณ นอกจากนี้เรายังซึมซับแนวทางการทำงานและแรงบันดาลใจใหม่ ๆ จากพ่อครูเยอะมาก” ป่านเล่าอย่างยิ้มแย้ม
แม้ว่าวิทยานิพนธ์สำเร็จเสร็จสิ้น พร้อมผลิตภัณฑ์โคมล้านนาร่วมสมัย 3 รูปแบบ หากสิ่งที่ยังคงดำเนินต่ออยู่ภายใน คือความประทับใจในแง่งามของวัสดุ โครงสร้าง และเทคนิค ประจวบเหมาะกับหลังเรียนจบ ขวัญ-ต้นฝน ตั้งมหาสถิตกุล รุ่นพี่ร่วมคณะ แห่งแบรนด์ ‘Papacraft’ ชักชวนร่วมทีม ‘กองคร้าฟต์’ ป่านจึงสบจังหวะกลับมาใช้ความรู้ความสามารถผลักดันวงการงานฝีมือเมืองลำปาง ควบคู่ปลุกปั้นแบรนด์ GHOM LANNA ขึ้นมา


ตราตรึง เข้าถึงง่าย
“แนวคิดของแบรนด์ GHOM LANNA คือเราอยากต่อยอดภูมิปัญญาโคมล้านนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก ตราตรึงใจ และเข้าถึงง่าย จึงลองหยิบวัสดุและรูปแบบโครงสร้างบางอย่างมาย่อส่วนเป็นงานชิ้นเล็ก ๆ คล้ายของเล่น แล้วปรับโฉมใหม่ให้กลายเป็นเครื่องประดับดีไซน์ร่วมสมัย สวมใส่ดูดี และมีอัตลักษณ์เฉพาะของเมืองลำปาง”
ผลิตภัณฑ์ต่างหูชุดแรกของป่านประเดิมตลาดกองคร้าฟต์วันแรกก็ขายหมดเกลี้ยง แถมยังได้แรงสนับสนุนจากลูกค้าชาวไต้หวันที่ชื่นชอบผลงานช่วยไลฟ์กระตุ้นยอดขาย ทำให้ผู้ประกอบการน้องใหม่อิ่มเอมใจและมีความมั่นใจเต็มเปี่ยม จนปัจจุบันย่างเข้าสู่ปีที่ 2 ผลิตภัณฑ์หลายหลากของ GHOM LANNA อาทิ ต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน และปิ่นปักผม ครองใจกลุ่มลูกค้าชาวไต้หวัน ญี่ปุ่น และจีนอยู่หมัด โดยป่านเฉลยข้อสอบให้ฟังว่า สิ่งที่ทำให้ผลงานของเขาแตกต่างและสร้างความประทับใจไม่ใช่แค่เรื่องของดีไซน์หรือคุณค่าทางภูมิปัญญา หากยังพิถีพิถันในการเลือกใช้วัสดุ สร้างสรรค์งานด้วยความละเอียดลออ ให้ความสำคัญต่อคุณภาพและความทนทาน


“งานของเราทํามือทุกชิ้น และหลัก ๆ ทำมาจากไม้ป้างในท้องถิ่น ซึ่งเป็นคนละชนิดกับไม้ไผ่บงที่นิยมใช้ในงานหัตถกรรมจักสานทั่วไป ความพิเศษของไม้ชนิดนี้ คนโบราณว่าไว้ มอดและแมลงจะไม่กิน ส่วนไผ่อีกชนิดที่เรานำมาทำสร้อยข้อมือ คือไม้ไผ่บงหวานเพชรน้ำผึ้ง เราปลูกเอง จุดเด่นคือผิวสีเขียวนวลเคลือบออกมาแล้วดูคล้ายหยก แต่ถ้าปอกผิวออกก่อนเคลือบจะดูเหมือนหิน” ป่านอธิบาย พร้อมกับหยิบสร้อยข้อมือให้ชม ถ้าไม่ได้เห็นกับตาก็คงยากจะเชื่อ หากที่น่าทึ่งไปกว่านั้นคือต่างหูดัดรูปทรงอ่อนช้อยราวกลีบดอกที่มองเผิน ๆ เกือบทำเอาเข้าใจผิดคิดว่าเป็นชิ้นงานจากวัสดุทองเหลือง ถ้าไม่ติดว่าหยิบจับแล้วน้ำหนักเบากว่ามาก
ป่านขำ เมื่อเห็นเราตื่นเต้นจริงจัง “สีเหลือง ๆ ทอง ๆ ที่เห็นมาจากการเคลือบผิวชิ้นงานด้วยแล็กเกอร์ครับ” เขาว่าต่อ “แล็กเกอร์ที่เราใช้เป็นแล็กเกอร์ธรรมชาติ ทำมาจากครั่งลำปาง เป็นนวัตกรรมจากโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษา ลำปาง เคลือบแล้วช่วยป้องกันความชื้น เชื้อรา เวลามีแสงไฟสีเหลืองมาตกกระทบจะยิ่งขับชิ้นงานให้โดดเด่นจนดูเหมือนงานทองเหลืองเลย”
ถึงแม้ไม้ป้างมีคุณสมบัติป้องกันมอด แต่ป่านบอกว่าเขายังนำภูมิปัญญาการรักษาเนื้อไม้ ซึ่งร่ำเรียนจากพ่อครูมณฑลมาผสมผสาน เพื่อเพิ่มคุณภาพและความแข็งแรงทนทานให้ชิ้นงานใช้ได้ยาวนานสูงสุดถึง 1 ปี แถมสูตรลับนี้ปรุงจากสมุนไพรพื้นบ้าน ไร้สารเคมีตกค้าง จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้สวมใส่ 100 เปอร์เซ็นต์

สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง
จากแหย่งไม้สัก ป่านลุกนำเราไปยังชั้นวางผลงาน เมื่อเราเอ่ยว่าอยากรู้จัก GHOM LANNA ให้มากกว่านี้ ด้วยการขอให้เขาแนะนำคอลเลกชันที่ภูมิใจเสนอ
“เริ่มจากคอลเลกชันใหม่ล่าสุดก่อนเลย ‘ดอกกาญจน์เพลิง’ ได้แรงบันดาลจากความสนุกในการทดลองดัดเส้นไม้ไผ่ด้วยความร้อน ฟอร์มของกลีบดอกจึงดูพลิ้วไหวคล้ายเปลวไฟ ต่อมาคือ ‘ดอกก้านแก้ว’ ตัวนี้เรานำเทคนิคการเหลาไม้ไผ่ทำโคมล้านนามาประยุกต์ จึงได้เส้นไม้ไผ่ที่ม้วนตัวกลม แล้วยังนำ ‘แก้วโป่งข่าม’ หินแก้วของดีจากอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ที่เชื่อกันว่าช่วยเสริมความสุข ความเจริญ มาผสมผสานออกแบบด้วย ทั้ง 2 คอลเลกชันประกอบด้วยต่างหูและสร้อยคอ แต่ถ้าเป็นเอกลักษณ์หรือเรียกว่าเป็นผลงานออริจินัลของเราเลยคือตัวนี้ ‘ดอกสายลม’ ”
ดอกสายลมถอดแบบมาจากโคมสายลม หนึ่งในผลงานโคมร่วมสมัยจากวิทยานิพนธ์ของป่านที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโคมดาวกับโคมม่านแปดเหลี่ยม เขาถอดรหัสโครงสร้าง ลดทอนองค์ประกอบ จนออกมาเป็นคอลเลกชันเครื่องประดับที่สวยงามและมีเสน่ห์ในความเรียบง่าย


“ถึงรูปทรงของมันดูเรียบง่าย แต่ก็จัดเป็นงานที่ต้องใช้ฝีมืออยู่เหมือนกัน” ป่านเกริ่นก่อนเล่าให้ฟังต่อว่า ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีโอกาสรับเชิญไปเป็นวิทยากรตามงานด้านวัฒนธรรมหรือมหาวิทยาลัย เขาจึงมักติดดอกสายลมไปให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทดลองทำ เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสและรับรู้คุณค่าของหัตถกรรมภูมิปัญญา ผ่านงานฝีมือที่หลายคนอาจมองว่ามีรูปแบบไม่ซับซ้อนมาก หากก็ต้องอาศัยความประณีตและประสบการณ์ถึงจะทำออกมาได้สวย
“เราสังเกตว่าคนยุคนี้เข้าถึงและจับต้องงานฝีมือง่ายขึ้นนะ อาจเพราะว่าเราเคยผ่านยุคที่งานฝีมือเฟื่องฟูมาก ๆ มาแล้วช่วงก่อนโควิด ประกอบกับการมีสื่อออนไลน์ช่วยขยายคุณค่าและเรื่องราว ทำให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจในมุมของคนทำงานมากขึ้น การต่อราคาก็น้อยลง แล้วปัจจุบันรู้สึกว่ากระแสงานฝีมือก็กำลังจะกลับมาอีกครั้ง แม้อาจไม่คึกคักเท่าเมื่อก่อน แต่เรามองว่าจะมีความยั่งยืนเกิดขึ้น”
ฟังดูเป็นประเด็นน่าจับตา เราจึงชวนป่านแลกเปลี่ยนต่ออีกนิด ถึงแนวทางที่เขาคิดว่าจะช่วยให้การรักษาและต่อยอดภูมิปัญญาเกิดความยั่งยืน

“หัวใจหลักของความยั่งยืนสำหรับเราคือความเป็นตัวตน” ป่านพูด “ถ้าเราทำงานโดยรู้ตัวตน เข้าใจในราก เราจะสื่อสารและสร้างสรรค์ได้ไม่รู้จบ แล้วถ้ามันเป็นตัวตนของเราจริง ๆ เราก็จะมีความสุขและอยู่กับมันได้นาน
“ด้านผู้บริโภคก็ถือว่ามีส่วนด้วยเหมือนกัน เพราะถ้าเขาไม่เข้าใจในงานเรา อย่างแรกเลยคือเราจะขายงานยาก ถูกมองว่าราคาแพง ไม่คุ้มค่า ซึ่งสิ่งนี้ต้องอาศัยการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ ใกล้ตัวเลยคือใช้สื่อออนไลน์ถ่ายทอดเรื่องราว วิธีคิด หรือแม้แต่กระบวนการ ให้เขารับรู้ถึงคุณค่าและรู้สึกว่าน่าภูมิใจ”
นอกจากความตั้งใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยบนอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ป่านบอกว่าทุกวันนี้เขากำลังพยายามผลักดันหัตถกรรมโคมล้านนาออกสู่ตลาดที่กว้างขึ้น ด้วยการรับออกแบบโคมประดับตกแต่งงานอีเวนต์เฉพาะกิจ ห้างสรรพสินค้า รีสอร์ต หรือโรงแรม ซึ่งปัจจุบันมีโคมหลายใบออกเดินทางไปอวดโฉมบนห้างสรรพสินค้าชั้นนำ รีสอร์ตที่ชะอำและภูเก็ตแล้ว
เร็วนี้ ๆ GHOM LANNA ก็มีแผนทำงานร่วมกับชุมชนท่ามะโอ เปิดบ้านต้อนรับ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้แก่คนรุ่นใหม่ นักท่องเที่ยว หรือผู้ที่สนใจ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในพลังกระตุ้นการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนปลุกสีสันบรรยากาศใหม่ ๆ ของเมืองลำปางให้มีชีวิตชีวา เหมือนดัง ‘ดอกสายลม’ ที่ป่านบรรยายและหมายใจว่าจะนำมาซึ่งสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง

Facebook : GHOM LANNA