เสียงนกกู่ร้อง เสียงลมเอื่อยเฉื่อย เสียงเด็กเจื้อยแจ้ว 

ไก่จิกหาอาหาร ห่านเดินไปมา และเป็ดเรียงรายในคลอง 

Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก

เหล่านี้คือสรรพเสียงและบรรยากาศที่เราจำได้ถนัดเมื่อเดินทางถึง Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นและฟาร์มขนาดย่อมย่านบางกะเจ้าของ รศ.นพ.นพดล สโรบล สูตินรีแพทย์และเจ้าของฟาร์มหมอปออันเลื่องชื่อที่เขาใหญ่ ผู้ตั้งใจให้สถานที่นี้เป็นพื้นที่ให้เด็กๆ ได้เติบโตกับธรรมชาติ และให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างแท้จริงในยุคสมัยที่ป่าคอนกรีตครองเมือง และห้างสรรพสินค้าขึ้นแทนพื้นที่สาธารณะ

“ก่อนเด็กจะเติบโตไปเจอสิ่งต่างๆ ในเมือง พวกเขาควรได้สัมผัสกับธรรมชาติ” 

Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก

นี่คือสิ่งที่สูตินรีแพทย์ตั้งใจและถ่ายทอดผ่าน ปัน-นิธิศ สโรบล ลูกชายคนเล็กผู้รักธรรมชาติจนเรียนจบจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเป็นผู้ดูแล Get Growing Community Farm ในปัจจุบัน

ในพื้นที่ขนาด 6 ไร่ใกล้ท่าเรือคลองเตยเเห่งนี้ ประกอบด้วยเครื่องเล่นทั้งหมด 16 เครื่อง พร้อมฟาร์มสัตว์ขนาดย่อมและแปลงผักขนาดเล็ก เพื่อให้เด็กได้พัฒนาทักษะทางกาย ใจ และสมอง อย่างเต็มที่ 

ยิ่งได้ยินเสียงเด็กๆ หัวเราะดังขึ้นเท่าไร ยิ่งอยากเข้าไปสัมผัสความสนุกท่ามกลางธรรมชาติให้เร็วเท่านั้น

แนวคิดที่ว่าแปรรูปเป็นพื้นที่สุดสนุกอย่างไร เตรียมเสื้อผ้าให้พร้อม แล้วไปลุยกัน!

Get Ready Together

ก่อนสนุกกับเครื่องเล่น ปันพาเราเดินรอบพื้นที่แล้วเริ่มย้อนเวลาหาอดีตให้ฟังว่า หมอนพดลเป็นคนที่รักธรรมชาติมาก ตั้งแต่จำความได้ การไปเที่ยวตามธรรมชาติ การถอดรองเท้าวิ่งเล่นกับญาติๆ บนพื้นดินและบนผืนหญ้าท่ามกลางสัตว์หลายพันธุ์คือเรื่องปกติที่เขาคุ้นชิน

“ตอนเด็กๆ พ่อชอบพาเราไปเที่ยวตามธรรมชาติ ทั้งเขาใหญ่ หัวหิน บ้านเราแถวๆ สุขุมวิทก็เลี้ยงสัตว์ไว้เยอะมาก ไก่ฟ้า ไก่แจ้ ห่าน ประมาณสามสิบตัวได้ ห่านที่ฟาร์มตอนนี้ก็เป็นลูกๆ จากห่านที่เลี้ยงที่บ้านนั่นแหละ” ปันพูดพลางชวนให้เราดูห่านสามสี่ตัวที่กำลังเดินทัวร์รอบพื้นที่ 

Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก

แต่ความรักธรรมชาติคงไม่เพียงพอที่จะก่อร่างสร้างเป็นพื้นที่สำหรับเด็กและครอบครัวถึง 2 แห่ง เพราะหมอนพดลยังเป็นสูตินรีแพทย์ที่รักเด็ก จึงหลอมรวมเป็นฟาร์มหมอปอที่เขาใหญ่เมื่อหลายปีก่อน

“ด้วยความที่พ่อเป็นสูตินรีแพทย์ เขาคลุกคลีกับเด็กและชอบทำกิจกรรมให้เด็กๆ จนเกิดเป็นฟาร์มหมอปอ ฟาร์มสัตว์ที่ให้เด็กๆ และผู้ปกครองไปทำกิจกรรมและใช้ชีวิตในฟาร์ม ขี่ม้า อาบน้ำม้า เก็บไข่ไก่ ป้อนอาหารสัตว์ และมีที่พักไว้บริการ” ลูกชายเริ่มเล่าถึงที่มาที่ไปของพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กโดยพ่อของเขา แล้วเล่าต่อถึงฟาร์มเล็กๆ ในเมืองอย่าง Get Growing Community Farm ว่าเกิดขึ้นเพราะหุ้นส่วนอยากเปิดพื้นที่แบบฟาร์มหมอปอใกล้เมืองกรุง 

“เดิมที พ่อจะสนับสนุนแค่ให้ม้ามาไว้ในฟาร์ม แต่ด้วยเขาเป็นคนที่มีไอเดียเยอะมาก และคิดเร็วทำเร็ว เลยกลายเป็นว่าพ่อริเริ่มที่นี่ไปโดยปริยาย Get Growing Community Farm เลยใช้เวลาก่อสร้างประมาณหนึ่งปี เพราะคุณพ่ออยากให้มีสนามเด็กเล่นธรรมชาติที่เด็กๆ จะเติบโตอย่างมีความสุข และครอบครัวจะได้มาใช้เวลาด้วยกัน” 

ชายตรงหน้าเล่าถึงพ่อของเขาด้วยรอยยิ้มก่อนจะพาเราเข้าไปดูเด็กๆ เล่นสนุกกัน

Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก
Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก

Get to the Point

ขณะเด็กๆ ในฟาร์มกำลังเล่นเครื่องเล่นกันอย่างสนุกสนาน เราก็ได้ยินเสียงเด็กๆ นอกฟาร์มกำลังปั่นจักรยานสวนผ่านไปมา 

เด็กๆ ที่บางกะเจ้ามีชีวิตที่ดีมาก เราเห็นว่าตกเย็นเขาปั่นจักรยานไปตกปลา บางทีก็เข้ามาขอเล่นที่นี่ เราก็ให้ ส่วนอีกฝั่งน้ำนั่นคือคลองเตย พระรามสี่ และสุขุมวิท เป็นที่ตั้งคอนโดฯ และชุมชนที่ไม่มีสถานที่วิ่งเล่นให้เด็กๆ เขาไปโรงเรียนเสร็จก็กลับมาอยู่ในห้องเล็กๆ”

การพาเด็กๆ กลับสู่อ้อมอกของธรรมชาติจึงเป็นหัวใจสำคัญของ Get Growing Community Farm แต่ก่อนปั้นแต่งแนวคิดเป็นฟาร์มผืนน้อย พ่อลูกคู่นี้ก็ค่อยๆ คราฟต์แนวคิดผ่านการไปชมสวนสนุกธรรมชาติของต่างประเทศ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจก่อนนำมาปรับใช้กับที่นี่ 

Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก

“ส่วนมากเราได้แรงบันดาลใจจากเมืองนอก เพราะเขามีพื้นที่แบบนี้ให้ประชาชนใช้ฟรีๆ เยอะมาก ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป อย่างแปลงผักของเราก็ได้แรงบันดาลใจจาก Allotment หรือแปลงปลูกผักของรัฐบาลเพื่อคนที่อยู่ในแฟลตโดยเฉพาะ 

เวลาลูกค้าต่างชาติมา เขามักจะสงสัยว่าทำไมเขาต้องจ่ายเงินด้วย เพราะบ้านเขามีให้เล่นฟรี แต่พอได้มาหนึ่งครั้ง เขาก็เข้าใจ เพราะไม่มีสถานที่แบบนี้ในเมืองกรุงแล้ว”

จากความชอบส่วนตัวและแรงบันดาลใจเหล่านั้น พ่อลูกจึงออกแบบพื้นที่เป็น 3 ส่วนหลัก คือแปลงผักออร์แกนิก ฟาร์มสัตว์เล็กๆ ซึ่งมีไฮไลต์คือเล้าไก่ Free Range และสนามเด็กเล่นธรรมชาติ

Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก

“แค่นั่งเรือจากท่าเรือคลองเตยแล้วเดินมาอีกสามร้อยเมตร เขาก็จะเจอโลกอีกใบหนึ่งที่เป็นธรรมชาติจริงๆ มีแต่สีเขียว ใช้เวลาเก็บไข่หรือปลูกผัก ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงด้วยซ้ำ” ปันทิ้งท้ายก่อนอธิบายถึงการเข้าทำกิจกรรมของฟาร์ม

การเข้ามาทำกิจกรรมในฟาร์มแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการทำกิจกรรมแบบ One Day Camp มีกิจกรรมให้ทำ 6 อย่าง โดยมีเจ้าหน้าที่นำ ได้แก่ Get Doing, Get Learning, Get Planting, Get Feeding, Get Eating, และ Get Playing หรือ Free Play ที่ให้เด็กๆ มีอิสระในการเลือกเล่นเครื่องเล่น โดย One Day Camp จะเปิดรับเมื่อจับกลุ่มมา 10 คน ในวันธรรมดาเท่านั้น ส่วนแบบที่สองคือการทำกิจกรรมแยกนั่นเอง

พร้อมแล้ว ไปลุยแต่ละฐานกันเถอะ

Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก
Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก

Get Doing 

ปันเริ่มพาเราทัวร์กิจกรรมของ Get Growing Community Farm คล้ายเราเป็นเด็กตัวน้อยที่สมัครมาทำกิจกรรมแบบ One Day Camp ต่างตรงที่ไม่มีพ่อแม่และมากันแค่ 2 คนเท่านั้น 

เขาเริ่มจาก Get Doing หรือเวิร์กช็อปสอนงานช่างที่มีอุปกรณ์งานช่างวางเรียงรายให้เลือกทำ หากมาแบบ One Day Camp ปันเล่าว่าเขาจะเป็นคนนำกิจกรรมเพื่อสอนทักษะต่างๆ เอง โดยประเมินจากอายุของเด็กๆ หากเป็นเด็กเล็กเขาจะสอนทำเป็นสัตว์ต่างๆ เช่น เม่นน้อยที่ใช้ไขควงแทนหนาม แต่หากเป็นเด็กโต เขาจะสอนการใช้เครื่องมือช่าง

“ตรงนี้ไม่ใช่กิจกรรมของเด็กแต่เป็นกิจกรรมครอบครัวที่เราอยากให้พ่อแม่ลูกได้ใช้เวลาร่วมกัน ถ้าไม่ได้มาแบบ One Day Camp เราจะมีอุปกรณ์ให้ แต่พ่อแม่ต้องสอนเด็กๆ เอง ซึ่งพ่อแม่คนไทยส่วนใหญ่จะทำไม่เป็น แต่หากเป็นพ่อแม่ต่างชาติ เขาจะทำงานช่างเป็นอยู่แล้ว เพราะงานช่างที่ต่างประเทศแพงมาก เขาจึงต้องมีทักษะเหล่านี้ติดตัว ครั้งหนึ่งมีครอบครัวต่างชาติมาทำกิจกรรมนี้ พ่อก็นั่งสอนลูกทำเป็นรถแบบมีล้อเลย” ปันเล่าถึงกิจกรรมแรกให้เราฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

Get Learning and Get Planting

ยังไม่ต้องรีบปีนป่ายยักย้ายกายที่สนามเด็กเล่นธรรมชาติ เพราะปันพาเรามาชมแปลงผักออร์แกนิกที่ทั้งพ่อและเขาตั้งใจให้เด็กๆ ได้มาปลูกผักสวนครัวกับครอบครัว 

เขาเริ่มจาก Get Learning ที่จะสอนการทำปุ๋ยตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน อย่างการเอาแกลบมาผสมกับดินและขี้ม้าตากแห้งไร้กลิ่นส่งตรงจากฟาร์มเขาใหญ่ พร้อมอธิบายว่าการทำเช่นนี้จะได้ปุ๋ยชั้นดีได้อย่างไร 

Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก

“เราสอนเขาเอาแกลบผสมดินและขี้มาตากแห้งจากฟาร์มที่เขาใหญ่ เขาจะสนุกกันมากจนเราเฉลยว่านี่คือขี้ม้า เขาจะร้องอี๋กันทุกคนแต่เขาก็ทำต่อ” หลังจากนั้นเขาจะเชื่อมกิจกรรมนี้ไปยัง Get Planting ที่จะสอนให้เด็กๆ ปลูกผักสวนครัวบนแปลงผักขนาดย่อม ทั้งสอนว่าผักก็เหมือนกับคนที่ต้องมีน้ำ อาหาร และอากาศ เพื่อดำรงชีวิตอยู่ เติบโต และเป็นอาหารที่มีประโยชน์ให้กับเราต่อไป

ปันจะเลี่ยงการใช้พลั่ว ที่ตักดิน ถุงมือ และสารพัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกทั้งปวง เพื่อให้เด็กๆ ได้สัมผัสผืนดินและรู้จักเลอะให้มากที่สุด

“ไม่ใช่ว่าจับขี้ม้าหรือจับดินทรายแล้วไม่ให้ล้างมือก่อนกินข้าว เพราะเราต้องรักษาความสะอาดอยู่แล้ว แต่เราอยากสอนให้เขารู้ว่าทุกอย่างมันล้างได้ ไม่อยากให้เขาอี๋ไว้ก่อนแล้วไม่ทำเพราะเราคิดว่าเด็กต้องลุย ต้องลองเละ แล้วชีวิตวัยเด็กจะสนุกขึ้น” ปันบอกเราทันทีเมื่อเราทำหน้าสงสัยว่าเหตุใดถึงอยากให้เลอะมากที่สุด

นอกจากให้หัดปลูก ที่นี่ยังมีแปลงผักให้เช่าในราคา 80 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ที่ทางฟาร์มจะหมั่นดูแลรดน้ำให้ระหว่างที่เด็กๆ ไม่อยู่ แต่ก็ต้องหาเวลาเข้ามาดูแลเเละเก็บผลผลิตที่ได้ไปทำเป็นกับข้าวทานบ่อยๆ เช่นกัน 

Get Feeding and Get Eating

Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก

กิจกรรมของ Get Feeding คือการให้อาหารแพะ หมู และไก่ ทั้งยังได้เก็บไข่ไก่สดๆ จากเล้าทางด้านขวาของแปลงผักออร์แกนิก 

เราจะเห็นเหล่าไก่ไข่กุ๊กๆ ในเล้าไก่ Free Range กำลังหาอาหารอย่างสบายใจและสบายกาย เพราะที่นี่เลี้ยงไก่แบบ Free Range ให้ได้จิกหาอาหารและเดินเล่นอย่างอิสระ พวกมันจึงมีชีวิตที่ดีกว่าไก่ในโรงงานใหญ่ๆ ที่มีหน้าที่แค่กินและออกไข่อยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมขนาดเท่าตัว ทำให้ไข่ของที่นี่มีวิตามินมากกว่าไข่เลี้ยงในกล่อง แต่อาจมีขนาดเล็กกว่าเพราะไม่ได้ใช้สารกระตุ้นใดๆ 

Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก

 และหากมาแบบ One Day camp เด็กๆ จะได้ทานเมนูไข่จากไข่ที่เก็บมาเองในกิจกรรม Get Eating ด้วย

“เราจะบิวต์ว่าเรากำลังจะได้กินไข่ที่เขาเก็บแล้วนะ เขาจะรู้สึกอยากกินไข่ที่รู้ว่ามาจากไหน” ปันเล่าแถมยังบอกอีกว่า หากอยากทานไข่ Free Range จากแม่ไก่อารมณ์ดีบ่อยๆ ที่นี่ยังเปิดให้เด็กเป็นเจ้าของไก่ไข่หนึ่งปี ปีละสองพันห้าร้อยบาท เก็บไข่ได้สองร้อยสี่สิบฟองต่อปี หรือยี่สิบฟองต่อเดือน โดยไข่ที่ได้จะเป็นไข่รวมๆ ของแม่ไก่ทุกตัว 

“ตอนนี้มีเด็กประมาณสิบคนเป็นเจ้าของไก่ไข่ ทั้งเด็กฝรั่งและเด็กไทย เราจะให้เขาเดินเข้าไปในเล้าแล้วเลือกว่าอยากเป็นเจ้าของตัวไหน เราจะให้สายรัดข้อเท้าไก่เป็นสีๆ ให้เขียนชื่อติดป้าย ทุกครั้งที่มา เขาจะไม่ได้มาแค่เก็บไข่ แต่มาเดินหาไก่ของเขาด้วย

Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก

“ครั้งหนึ่ง เด็กมาหาไก่อยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงแต่หาไม่เจอ เราเลยให้ไปเก็บไข่ก่อน ปรากฏว่าไก่เขากำลังไข่พอดี เขาเลยดีใจมากว่า ได้ไข่จากไก่ตัวเองสดๆ ที่ยังเปียกอยู่เลย” ปันเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยน้ำเสียงสนุกสนานจนเราอยากลองเก็บไข่ไก่เองบ้าง

การให้เด็กๆ รู้จักการเป็นเจ้าของดียังไง เราสงสัย

“เราให้เขาเป็นเจ้าของบางสิ่งเพราะอยากสอนให้เขามีความรับผิดชอบ ไม่ใช่มาเล่นสนามเด็กเล่นเพื่อความสนุกอย่างเดียวเท่านั้น” เขาตอบคลายความสงสัย

It’s time to play! Go ‘Get Playing’

ถึงเวลาสนุกแล้วสิ!

หลังพาทัวร์กิจกรรมตลอดช่วงเช้า ปันเล่าว่า ช่วงบ่ายของ One Day Camp จะเป็นการปล่อยให้เด็กๆ เล่นสนามเด็กเล่นธรรมชาติอย่างอิสระ คล้ายเป็นการให้รางวัลที่ทำงานหนักมาตลอดวัน เขาเดินนำเราไปยังเครื่องเล่นแต่ละชิ้นที่สร้างจากไม้รียูสจากเรือบ้าง รั้วบ้านบ้าง พร้อมเล่าถึงหลักสำคัญในการออกแบบเครื่องเล่นทั้ง 16 ชิ้นให้เราฟัง

1. Active Play 

“Active Play คือการให้เด็กได้เล่นแบบไม่อยู่นิ่งทั้งกายและสมอง เพราะความแข็งแรงของทั้งสองส่วนต้องไปด้วยกัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยเรื่องความกลัวของเด็ก เด็กที่เล่น Active Play เยอะๆ จะรู้จักประเมินสถานการณ์ว่าเขาไหวหรือเปล่า” ปันยกตัวอย่างเครื่องเล่นล่าสุดที่เขาคิดค้นขึ้นในช่วง COVID-19 กำลังระบาดใหม่ๆ เขาใช้ทุ่นลอยน้ำที่ซื้อเก็บไว้มาออกแบบให้เด็กๆ ยืนเพื่อทรงตัวบนทุ่นนั้น ขณะที่ร่างกายยักย้ายเพื่อให้ไม่ตกน้ำ สมองของเด็กๆ ก็ต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะย้ายร่างไปซ้าย ขวา หน้า หรือหลัง

“บางคนไม่ประเมินเลย เห็นแล้วร้องกรี๊ด เราก็ต้องปล่อยให้เขาเห็นคนอื่นเล่นแล้วเขาก็จะเล่นเอง เพราะบางทีเขาแค่ไม่เคยเจออะไรแบบนี้” ปันเสริม 

Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก

2. Children must take risk.

“Children must take risk. เรามีความคิดว่าเด็กควรเจอกับความเสี่ยงบ้างเพื่อรู้จักประเมินและวิเคราะห์ ยากเกินไปหรือเปล่า เล่นแล้วจะเจ็บไหม ถ้าเขาเจ็บจริง ได้แผลถลอกกลับไปก็ได้เรียนรู้ว่าครั้งหน้าเขาจะต้องเล่นอีกแบบ

“เราบอกเจ็บได้แต่ไม่ใช่เจ็บอย่างไม่จำเป็นนะ เพราะเราตรวจเช็กเครื่องเล่นทุกสัปดาห์ หรือถ้าเครื่องเล่นไหนเด็กเล่นบ่อยเราก็เช็กบ่อยขึ้น เรามีทีมงานที่เรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นคอยช่วยเหลือ อย่างวันนี้มายี่สิบคน ไม่มีเด็กต้องใช้พลาสเตอร์เลย” ขณะที่ปันเล่า มีเด็กคนหนึ่งสไลด์เดอร์โคลนลงมาแต่แผ่นสไลด์จมลงไปในโคลนจนโคลนเข้าตาและเเล่นได้ไม่ถึงไหน เราสังเกตว่าน้องไม่ร้องไห้ เพียงแต่ขอความช่วยเหลือจากแม่ เเละเมื่อรู้ว่าควรต้องเชิดแผ่นสไลด์ขึ้นเพื่อให้ฉิวไปไกล น้องก็ไม่ปักแผ่นนั้นลงไปอีกในการเล่นครั้งต่อไป

Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก
Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก

3. Designed for versatility.

“เราออกแบบเครื่องเล่นทุกอย่างให้เล่นได้หลายแบบตามแต่จินตนาการ เพราะเราอยากให้เขาคิดเองว่าเขาจะเล่นแบบไหนได้บ้าง อย่างตัวเงินตัวทองนี้ เด็กๆ จะเริ่มเข้าจากทางปากแล้วสไลด์ลงไปที่ท้อง จะปีนต่อไปทางตาข่ายลำไส้หรือจะปีนไม้แล้วออกที่หางก็ได้ ครั้งแรกๆ เด็กเล็กบางคนจะเล่นแบบสูงๆ ไว้ก่อน แต่พอประเมินได้แล้วว่าไม่เหมาะกับตัวเอง เขาก็จะเปลี่ยนวิธีการเล่นในครั้งต่อไป

Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก
Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก
Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก

“หรืออย่างม้าตัวนี้ เป็นเครื่องเล่นแรกที่เราคิดกันขึ้นมา เราได้แรงบันดาลใจจากหนังสงครามเรื่อง Troy ที่เราชอบ ในหนังมีคนเข้าไปอยู่ในตัวม้าได้ เราเลยหยิบมาออกแบบเป็นม้าที่มีทางเข้าสองทาง คือทางปกติและบันไดลิง ข้างในยังมีอุโมงค์ที่เชื่อมถึงกัน ถ้าเขาจะออกจากตัวม้า ก็มีให้ออกทั้ง Zip Line สไลเดอร์โคลน และรถถัง”

หลักการเหล่านี้ดีต่อเด็กยังไง เราถาม

“เท่าที่เราสังเกตได้ เด็กจะมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น เขาจะมีร่างกายที่แข็งแรงกว่า เขาจะไม่ค่อยกลัวสิ่งใหม่ๆ และมั่นใจในความคิดของตัวเองมากกว่าเด็กที่ไม่เคยออกจากบ้านไปเล่นข้างนอกหรือเด็กที่ไปแต่ห้างฯ เพราะแม้ในห้างฯ จะมีสนามเด็กเล่น แต่ยังเป็นสนามเด็กเล่นในร่มที่มีเบาะป้องกันทุกอย่าง กลับกัน ที่ Get Growing Community Farm เราไม่อยากเอาอะไรมาป้องกันตรงนั้นเลย อย่างเวลาเด็กลงไปเล่นในบ่อน้ำ เขาก็จะว่ายไปพร้อมๆ กับฝูงเป็ดที่เราเลี้ยงไว้”

เสียงหัวเราะของเด็กๆ และคำว่า “เล่นอีก เอาอีก” คงการันตีสิ่งที่พ่อลูกผู้รักธรรมชาติบอกไว้ไม่ผิดเพี้ยน

Get Parenting Going

ตลอดเวลาที่เราอยู่ที่นี่ เราเห็นพ่อแม่คอยช่วยเหลือลูกๆ อยู่เสมอ ทั้งช่วยพาออกจากโคลนเหนียว พาเดินบนพื้นลื่น และที่สำคัญ บางคนก็ยอมลงไปเล่นเลอะโคลนกับลูกๆ โดยไม่เกี่ยง-นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นสิ่งที่ Get Growing Community Farm ตั้งใจ

Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก
Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก

“เรามีกฎว่าพ่อแม่ต้องเข้าอย่างน้อยหนึ่งคน เพราะทีมงานของเราไม่ได้เป็นคนนำเล่นสนามเด็กเล่นแต่คอยอำนวยความสะดวก เขาต้องเข้ามาดูแลลูกๆ เอง ครั้งแรกๆ ที่เราเปิด เกือบทุกคนเข้าใจว่าลูกเข้าไปเล่นโดยมีทีมงานนำ แต่เราบอกเขาไปว่าที่นี่คือสถานที่ที่ครอบครัวต้องใช้เวลาร่วมกัน พ่อแม่ต้องช่วยลูก หรือพี่น้องก็ต้องช่วยกันได้ 

“ช่วงหลังมานี้เขาคงเห็นรูปในโซเชียลมีเดียว่ามีพ่อลงไปเล่นโคลนกับลูกด้วย เลยเริ่มอินขึ้น เริ่มเอาชุดมาเปลี่ยนเอง อย่างวันนี้มีคุณพ่อสามคนลงไปเล่นกับลูก นี่คือสิ่งที่เราต้องการ” หลังปันพูดจบ คุณพ่อคนหนึ่งก็รีบเดินไปหาลูกเพื่อดึงมือน้อยๆ ขึ้นจากโคลนเหนียวเหนอหนะ

Get Growing Community Farm

ตะวันสายบ่ายคล้อย ปันพาเราเดินดูบรรยากาศก่อนลากลับ เป็นเวลา 16.00 น. ที่แดดเริ่มอ่อนลง แต่พ่อ แม่ และลูก ที่มาที่ฟาร์มแห่งนี้ยังคงเล่นเครื่องเล่นกันอย่างสนุกสนาน 

Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก

“ธรรมะเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตของทุกคน เราจึงคิดว่าเด็กทุกคนควรได้สัมผัสธรรมชาติก่อนจะเติบโตไปเจออย่างอื่น เพราะธรรมชาติคือระบบนิเวศของเรา การจะทำลายป่าแล้วสร้างเป็นห้างสรรพสินค้าอย่างเดียวคงไม่ได้ มันต้องมีที่ที่เราเก็บความเขียว เก็บดิน เก็บต้นไม้ใบหญ้าไว้มากที่สุด เพื่อให้เด็กได้สัมผัสกับธรรมชาติ” ปันสรุปถึงสิ่งที่เขาและพ่อตั้งใจให้เราฟัง เป็นข้อสรุปที่เคล้าเสียงหัวเราะและรอยยิ้มของเด็กๆ ไปด้วย

คุณรู้สึกยังไงบ้างที่ได้สร้างพื้นที่แบบนี้ขึ้น เราถามทิ้งท้าย

“เราดีใจมากที่ได้มาอยู่กับธรรมชาติ และที่สำคัญที่สุดคือดีใจที่ได้เห็นเด็กๆ เติบโตอย่างมีความสุขท่ามกลางธรรมชาติ มีโพสต์หนึ่งที่เราชอบมาก คุณแม่บอกว่า วันนี้เป็นวันที่มีความสุขมาก แม่ได้เห็นพ่อกับลูกมีความสุขด้วยกัน พ่อก็ได้เห็นแม่กับลูกมีความสุขด้วยกัน ส่วนลูกก็ได้เห็นพ่อกับแม่มาเล่นโคลนสนุกสนาน เป็นประสบการณ์ใหม่ที่เราคิดว่าไม่มีที่ไหนที่พ่อแม่ต้องลงทุนมาเลอะเทอะเพื่อให้ลูกมีความสุข แล้วเราก็รู้เลยว่าเขามีความสุขจริงๆ เพราะเวลาจะกลับ เป็นเวลาที่ยากที่สุด อย่างตอนนี้”

“กลับได้แล้วลูก” เสียงคุณแม่ท่านหนึ่งดังขึ้น

“ขออีกสิบนาที” เด็กน้อยอ้อนวอนพร้อมรอยยิ้ม

Get Growing Community Farm สนามเด็กเล่นกลางบางกะเจ้า ที่ให้เด็กเลอะโคลน เลี้ยงไก่ และปลูกผัก

Writer

Avatar

ฉัตรชนก ชัยวงค์

เด็กเอกไทยที่สนใจประวัติศาสตร์ งานคราฟต์ และเรื่องท้องถิ่น เวลาว่างชอบกิน เล่นแมว และชิมโกโก้

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ