วันนี้เมื่อ 153 ปีที่แล้ว เด็กชายชาวอเมริกันคนหนึ่งนามว่า ยอร์ช แมคฟาร์แลนด์ (George McFarland) ได้ถือกำเนิดขึ้นบนแผ่นดินสยาม ในวันนั้นคงไม่มีใครคาดคิดว่าทารกน้อยคนนี้จะสร้างประโยชน์มากมายไว้บนแผ่นดินสยามอันเป็นสถานที่เกิดและตายของเขา
ย้อนกลับไปก่อนหน้าทารกน้อยคนนี้จะเกิดราวๆ 6 ปี คู่รักแซมมูเอลและเจน แมคฟาร์แลนด์ คุณพ่อและคุณแม่ของยอร์ช เดินทางมาถึงประเทศสยามใน พ.ศ. 2403 ซึ่งตรงกับช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังฤดูร้อนขึ้นบนยอดเขาที่เพชรบุรี
โดย เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ข้าหลวงประจำจังหวัด เป็นพระสหายใกล้ชิดกับรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่สมัยที่พระองค์ยังทรงเป็นพระภิกษุ และได้ร่วมเรียนภาษาอังกฤษจากมิชชันนารี ท่านประสงค์ให้ลูกชายได้รับโอกาสนี้บ้าง จึงทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดตั้งหน่วยมิชชันนารีที่เพชรบุรี
เมื่อแซมมูเอลและเจน แมคฟาร์แลนด์ เดินทางข้ามโลกจากสหรัฐอเมริกามาถึงบางกอก ก็เหมือนจะยังไกลไม่พอสำหรับพวกเขา ทันทีที่ได้ทราบถึงโอกาสนี้ แซมมูเอลและเจนก็ตอบตกลงที่จะเดินทางไกลขึ้นอีกหน่อยจากความตั้งใจแรก เพื่อสร้างหน่วยมิชชันนารีที่เพชรบุรีด้วยความยินดีในทันที
เมื่อผ่านไป 6 ปี แซมมูเอลและเจนก็ได้มีลูกชายน้อยๆ 2 คน คนโตชื่อวิลลี่อายุ 4 ขวบ ส่วนคนเล็กชื่อว่าเอ็ดวิน อายุ 2 ขวบ และมีสมาชิกใหม่ที่ยังอยู่ในท้องของเจน ซึ่งจะถือกำเนิดในอีกไม่นาน เนื่องจากในขณะนั้นจังหวัดเพชรบุรีไม่มีแพทย์แผนตะวันตก มีแต่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น เมื่อถึงใกล้กำหนดคลอด ครอบครัวแมคฟาร์แลนด์จึงต้องนั่งเรือจากเพชรบุรีเพื่อมาทำคลอดที่กรุงเทพฯ โดยใช้เวลาถึง 3 วัน 2 คืน ในการเดินทาง
ในที่สุดทารกน้อยสมาชิกคนที่ 5 ของครอบครัวก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2409 โดยมี นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในนามคุณหมอบรัดเลย์ เป็นผู้ทำคลอดให้ ทารกน้อยมีชื่อเต็มว่า ยอร์ช บรัดเลย์ แมคฟาร์แลนด์ โดยชื่อกลางมาจากชื่อของคุณหมอบรัดเลย์ นายแพทย์มิชชันนารีผู้ทำคลอดและเป็นเจ้าของบ้านหลังจากที่คุณหมอยอร์ชถือกำเนิด เขาก็เป็นผู้ที่ผูกพันกับสยามตั้งแต่วินาทีแรกของชีวิต
นับจากวินาทีนั้นมาเป็นเวลา 75 ปี ที่คุณหมอได้สร้างประโยชน์มากมายให้กับคนไทย แม้คุณหมอจะจากโลกนี้ไปถึง 77 ปีแล้ว แต่ยังคงมีร่องรอยของสิ่งที่คุณหมอสร้างไว้ให้เราได้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน และคนไทยทุกคนต่างเคยได้รับประโยชน์จากสิ่งที่คุณหมอยอร์ชและครอบครัวแมคฟาร์แลนด์มอบไว้ให้คนไทย
หลังจากก่อตั้งหน่วยมิชชันนารีและใช้ชีวิตในการประกาศศาสนาด้วยความตั้งใจ ควบคู่ไปกับการเปิดโรงเรียนให้ความรู้และช่วยรักษาชาวบ้านในเบื้องต้นอยู่หลายปี ทั้งคู่ก็ได้รับพระบรมราชโองการจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือที่ชาวต่างชาติคุ้นเคยกันในพระนาม King Chulalongkorn ให้มาจัดตั้งโรงเรียนนำร่องสำหรับก่อร่างสร้างระบบการศึกษาในประเทศไทย เพื่อให้ชาวสยามหันมานิยมชมชอบการศึกษาอย่างแท้จริง
หากจะเล่าย้อนให้เห็นภาพ ในขณะนั้นสยามประเทศมีแต่โรงเรียนที่เปิดทำการโดยมิชชันนารี คือโรงเรียนสำเหร่บอยส์สกูลและโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง หรือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนและโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน ซึ่งส่วนมากเข้าถึงเฉพาะประชาชนคนทั่วไป โรงเรียนนำร่องนี้จึงเป็นความตั้งใจที่จะเปิดขึ้นสำหรับพระราชโอรสของเหล่าราชวงศ์และบุตรชายของขุนนางในชื่อ ‘โรงเรียนนันทอุทยาน’ หรือที่เรียกทั่วไปว่าโรงเรียนสวนอนันต์ เพื่อให้การศึกษาไทยพัฒนาและวางรากฐานอย่างเป็นระบบ
ส่วนคุณแม่เจนผู้ใจดีของลูกๆ ทั้งสี่ก็ได้ก่อตั้งโรงเรียนฝึกการฝีมือสำหรับสตรีและเด็กขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศสยามเมื่อครั้งที่อยู่เพชรบุรี และยังเป็นผู้นำจักรเย็บผ้าไปใช้ในจังหวัดเพชรบุรีเป็นคนแรก
มรดกอีกอย่างจากครอบครัวแมคฟาร์แลนด์ที่น่าจะกว้างขวางที่สุด คือแป้นพิมพ์ภาษาไทยที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเครื่องแรกเมื่อ พ.ศ. 2435 โดยผู้พัฒนาคือเอ็ดวิน พี่ชายคนรองของคุณหมอยอร์ช ที่พัฒนาแป้นพิมพ์ภาษาไทยนี้ร่วมกับ Smith Premier โรงงานผลิตเครื่องพิมพ์ดีดของอเมริกาในระหว่างที่ลาพักงานกลับไปที่อเมริกา และได้นำเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยนั้นกลับมาเมืองไทย หลังจากนั้นเครื่องพิมพ์ดีดนี้ถูกสั่งมาใช้ในพระราชสำนักและงานราชการจนเป็นที่แพร่หลายในเวลาต่อมา
ส่วนวิลลี่ พี่ชายคนโต ได้รับราชการในกระทรวงกลาโหมอยู่ 7 ปี นอกจากได้เขียนคู่มือสำหรับเรียนภาษาอังกฤษและภาษาไทยขึ้นแล้ว อีกหนึ่งผลงานสำคัญของวิลลี่คือเป็นผู้คิดค้นคำภาษาไทยทางทหารขึ้น และยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน เช่น คำว่า กลับหลังหัน และวันทยาวุธ
และสำหรับคุณหมอยอร์ชเองก็ได้สร้างสิ่งต่างๆ ไว้มากมาย โดยเฉพาะการวางรากฐานโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทย คือโรงเรียนแพทย์ศิริราช ดังที่ ศ. นพ.อวย เกตุสิงห์ สรรเสริญท่านว่าเป็น ‘อิฐก้อนแรกของศิริราช’ วันนี้จึงขอเล่าเรื่องชีวิตของคุณหมอยอร์ชผ่านอนุสาวรีย์ที่ยังมีชีวิตด้วยสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับคุณหมอทั้งหมด 7 สถานที่
01
โบสถ์ศรีพิมลธรรม จังหวัดเพชรบุรี
ในวัยเด็กของคุณหมอยอร์ชเติบโตและผูกพันกับเมืองเพชรบุรีเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสถานที่ที่คุณหมอยอร์ชใช้เวลา 12 ปีแรกของชีวิต และเนื่องจากมีคุณพ่อเป็นมิชชันนารี จึงใช้เวลาส่วนมากในการเผยแผ่ศาสนาตามหมู่บ้านต่างๆ ทั้งยังสร้างโบสถ์และรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานให้กับชาวบ้านอีกด้วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กๆ บ้านแมคฟาร์แลนด์จะเป็นเด็ก Bilingual หรือเด็กสองภาษาอย่างเต็มตัว ไม่เพียงพูดภาษาไทยได้คล่อง แต่พูดไทยสำเนียงเมืองเพชรเลยทีเดียว
แต่ถึงอย่างนั้นเด็กๆ ครอบครัวแมคฟาร์แลนด์ก็รับรู้ถึงความไม่กลมกลืนของพวกเขาอยู่บ้าง เนื่องจากเด็กชาวสยามจะมีชีวิตที่สบายๆ และมีอิสระมากกว่าพวกเขาซึ่งเป็นครอบครัวชาวอเมริกัน
ด้วยความที่เป็นครอบครัวมิชชันนารี โบสถ์สำหรับเผยแผ่และสอนศาสนาจึงเป็นสิ่งสำคัญ แซมมูเอลได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งและลงมือสร้างโบสถ์แห่งนี้ขึ้นจากอิฐที่ทำเองกับมือ โดยไปเรียนกระบวนการทำอิฐจากกรุงเทพฯ แล้วกลับมาสร้างเตาเผาอิฐเองโดยมีชาวสยามเป็นลูกมือ ใช้เวลากว่า 4 ปีจึงแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2415 นับเป็นโบสถ์คริสเตียนหลังที่ 3 แห่งสยามประเทศ
เมื่อวันเวลาผ่านไป 64 ปี ใน พ.ศ. 2479 โบสถ์หลังนี้ทรุดโทรมตามกาลเวลา คุณหมอยอร์ชซึ่งในขณะนั้นมีอายุ 70 ปี จึงได้จัดการสร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้นทดแทน แม้ว่าค่าใช้จ่ายจะสูงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็สร้างจนเสร็จเรียบร้อย โดยมีแผ่นป้ายจารึกติดไว้ว่า “ที่ระลึกถึง แซมมูเอล แกมเบิล แมคฟาร์แลนด์” ผู้ก่อสร้างโบสถ์หลังแรก ผู้ที่ชาวเพชรบุรีเรียกท่านว่า คุณหมอฟ้าลั่น
และหากใครได้มีโอกาสแวะไปโบสถ์ศรีพิมลธรรม บริเวณไม่ไกลจากนั้นจะพบบ้านไม้อายุเกินร้อยปี ปัจจุบันใช้เป็นสำนักงานคริสตจักรภาคที่ 8 ซึ่งในอดีตเป็นเหมือนศูนย์กลางการทำงานของเหล่ามิชชันนารีในเมืองเพชรบุรี
02
โรงเรียนราชแพทยาลัย (ศิริราช)
หลังจากเรียนจบด้านการแพทย์กลับมาจากอเมริกาใน พ.ศ. 2434 คุณหมอหนุ่มวัย 26 ปีในขณะนั้นก็พร้อมที่จะรับภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการสานต่อการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์สำหรับคนไทยซึ่งได้รับปากกับ คุณหมอโธมัส เฮย์วาร์ด เฮส์ (Dr. Thomas Heyward Hays) เอาไว้
เนื่องจากคุณหมอเฮส์เคยพยายามจัดตั้งโรงเรียนแพทย์มาก่อนแล้วใน พ.ศ. 2433 แต่เพราะเขาเพิ่งมาอยู่สยามได้เพียง 2 ปีและยังมีอุปสรรคด้านภาษา จึงทำให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างยากลำบาก จนนักเรียนทยอยลาออกกันไป
คุณหมอเฮส์ยอมรับข้อจำกัดของตัวเอง แต่ยังไม่หมดหวังกับการก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ในสยาม จึงตัดสินใจตั้งหลักใหม่โดยหานายแพทย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อก่อร่างสร้างระบบการศึกษาแพทย์ในไทย ท่านเล็งเห็นว่าคุณหมอยอร์ชที่กำลังจะสำเร็จการศึกษานั้นเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง และคุณหมอยอร์ชก็ไม่ทำให้คุณหมอเฮส์ผิดหวัง เขาตอบรับตำแหน่งครูใหญ่ของโรงเรียนแพทย์ โดยโรงเรียนแพทย์ในช่วงแรกใช้ชื่อว่า ‘โรงเรียนราชแพทยาลัย’ ส่วนคุณหมอเฮส์ก็ได้เป็นที่ปรึกษาคนสำคัญ และทุ่มเทให้กับการรักษาผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศิริราชอย่างเต็มที่
คุณหมอยอร์ชสอนนักศึกษารุ่นแล้วรุ่นเล่าเป็นเวลากว่า 35 ปีจนเกษียณอายุราชการ โรงเรียนราชแพทยาลัยได้ขยายเติบใหญ่ขึ้นตามลำดับจนกลายเป็น ‘คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล’ ในปัจจุบัน
หากสนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรงเรียนราชแพทยาลัย เที่ยวชมเพิ่มเติมได้ที่พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00 – 17.00 น. เด็กที่มีส่วนสูงไม่เกิน 120 ซม. เข้าชมฟรี นักเรียนอายุไม่เกิน 18 ปีเสียค่าเข้าชม 25 บาท ผู้ใหญ่เสียค่าเข้าชม 80 บาท
เมื่อครั้งวิทยาการการผ่าตัดยังไม่แพร่หลาย วิธีที่จะให้นักเรียนแพทย์ได้เรียนผ่าตัดก็ต้องเรียนตอนที่อาจารย์ผ่าตัดจริง โดยนักเรียนต้องมาล้อมกันดูเป็นจำนวนมาก เพราะการผ่าตัดไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ภายในพิพิธภัณฑ์จึงจำลองห้องเรียนผ่าตัดที่คุณหมอยอร์ชใช้สอนนักศึกษาแพทย์ในยุคนั้นจริงๆ ให้ชม
และเนื่องจากภาษาเป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียนวิชาแพทย์ คุณหมอยอร์ชผู้ซึ่งคุ้นเคยกับภาษาไทย เห็นว่าการที่มีศัพท์แพทย์เป็นภาษาไทยจะช่วยลดอุปสรรคตรงนี้ได้ จึงบัญญัติศัพท์ทางการแพทย์ต่างๆ เป็นภาษาไทยขึ้นมา รวมทั้งเขียนตำราแพทย์เป็นภาษาไทย เพื่อให้นักเรียนชาวไทยเข้าใจเนื้อหาและบทเรียนได้ถูกต้องมากที่สุด
หลังคุณหมอยอร์ชเกษียณอายุราชการได้ 10 ปี เหล่าลูกศิษย์หารือกันว่าจะจัดงานฉลองวันเกิดครบรอบ 70 ปีให้คุณครู และเนื่องจากคุณหมอยอร์ชเป็นผู้ที่ปฏิเสธเครื่องดื่มมึนเมามาโดยตลอด จึงจัดเป็นงานเลี้ยงน้ำชายามบ่าย หนึ่งในของที่ระลึกที่ลูกศิษย์จัดทำให้คือประติมากรรมปูนปั้นภาพเหมือนของคุณหมอยอร์ช โดยภาพปูนปั้นนี้ถูกนำไปประดับที่ฝาผนังตึกอำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ก่อนถูกย้ายมาที่หอสมุดศิริราช และได้มาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถานในปัจจุบัน
ซึ่งในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ที่จะถึงนี้ จะครบรอบ 128 ปีของการทำงานวันแรกของคุณหมอยอร์ชที่ศิริราชในฐานะครูใหญ่โรงเรียนแพทย์
03
โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย
ถึงแม้ว่าโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยจะไม่ใช่ผลงานของคุณหมอยอร์ชโดยตรง แต่ก็นับว่าคุณหมอยอร์ชมีส่วนสำคัญมากต่อสถานที่ตั้งปัจจุบันของโรงเรียน โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยซึ่งในขณะนั้นคือ ‘โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง’ เดิมตั้งอยู่ที่บริเวณพระราชวังหลัง (บริเวณใกล้โรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน) ได้ย้ายมายังที่ตั้งในปัจจุบันคือสุขุมวิท 19 เมื่อ พ.ศ. 2464 โดยมีคุณหมอยอร์ชเป็นผู้มีส่วนสำคัญ เพราะเดิมเจ้าของที่ดินผืนนี้ก็คือคุณหมอยอร์ชนั่นเอง
ในช่วงเวลาที่ศูนย์กลางเมืองยังอยู่แถวพระบรมหาราชวังและถนนเจริญกรุง คุณหมอยอร์ชก็เล็งเห็นว่าในอนาคต กรุงเทพฯ จะต้องขยายตัวมาทางย่านสุขุมวิท จึงได้ซื้อที่ดินบริเวณนี้เก็บไว้ทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งในตอนแรก แหม่มโคล (มิสเอ็ดน่า เซระห์ โคล) ครูใหญ่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในขณะนั้น ไม่ได้สนใจที่ดินตรงนี้มากนักเนื่องจากยังไม่มีถนนตัดผ่าน
แต่ภายหลังทางการได้ขยายเมืองมาทางนี้ตามที่คุณหมอยอร์ชคาดไว้ และจะมีการตัดถนนผ่านไปทางปากน้ำ แหม่มโคลจึงเห็นด้วยกับคุณหมอยอร์ชในการย้ายโรงเรียนมาที่นี่ ครั้งแรกแหม่มโคลซื้อที่ดิน 25 ไร่ต่อจากคุณหมอยอร์ชด้วยราคาเท่าทุนและขยับขยายเพิ่มเติม รวมถึงได้รับบริจาคจากคุณหมอยอร์ชและมารี ภรรยาคนแรกของคุณหมอ จนมีที่ดินมีขนาด 51 ไร่ 1 งาน 16 ตารางวา
หากใครเคยไปโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ถัดเข้าไปบริเวณทางเข้าประตูด้านฝั่งขวามือจะพบสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งนอกจากจะร่มรื่นแล้ว ยังเป็นเสมือนปอดน้อยๆ ให้ผู้คนแถวนั้น ที่ดินบริเวณนี้เองที่คุณหมอยอร์ชบริจาคให้ทางโรงเรียนเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ภรรยาคนแรกของคุณหมอ
“ข้าพเจ้าได้ซื้อที่ดินเสมือนเตรียมไว้ให้ พอภรรยาของข้าพเจ้าถึงแก่กรรม ข้าพเจ้าก็ยกที่ดินทางตะวันออกของโรงเรียนเดี๋ยวนี้ให้แก่องค์กรศาสนาเพรสไบทีเรียนอเมริกันเป็นจำนวน 16 ไร่ ให้เป็นอนุสรณ์ของภรรยาผู้มีความสนใจอย่างลึกซึ้งในกิจการของกุลสตรีวังหลัง”
04
YWCA กรุงเทพฯ
คุณหมอยอร์ชและมารีพักอาศัยอยู่ที่บ้านพักในบริเวณโรงพยาบาลศิริราชมากว่า 20 ปี แต่ขณะนั้นโรงเรียนราชแพทยาลัยกำลังขยับขยายและต้องการห้องเรียนเพิ่มขึ้น วิธีที่ง่ายและเร็วที่สุดคือขอคืนบ้านพักของคุณหมอยอร์ชเพื่อใช้เป็นห้องเรียน
หลังจากใช้เวลาหาที่พักใหม่อยู่ระยะหนึ่ง ก็พบบ้านโฮลี่รู้ด (Holyrood) ซึ่งเจ้าของเดิมคือนายแพทย์ชาวอังกฤษที่เกษียณอายุและกำลังจะกลับประเทศ โดยชื่อโฮลี่รู้ดนั้นได้มาจากชื่อพระราชวัง The Palace of Holyrood House ในเอดินบะระ สกอตแลนด์ คุณหมอยอร์ชและมารีจึงได้บ้านโฮลี่รู้ดเป็นที่พักใหม่ บนพื้นที่ 5 ไร่ 92 ตารางวา ซึ่งกลายเป็นบ้านที่คุณหมอพักอาศัยอยู่จนสิ้นชีวิต
ภายหลังจากคุณหมอเสียชีวิต บ้านหลังนี้ก็ถูกขายให้กับสมาคม YWCA ประเทศไทยในราคา 3,000 เหรียญฯ เพื่อใช้ดำเนินกิจการของสมาคม รวมทั้งจัดสร้างอาคารที่พักสำหรับสมาชิกสมาคม YWCA นานาชาติที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยคิดในราคาถูกและเน้นความปลอดภัย
ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ของ YWCA กรุงเทพฯ ยังคงตั้งอยู่ที่บริเวณบ้านโฮลี่รู้ดเดิมภายใต้ชื่อใหม่ว่า แมคฟาร์แลนด์ เม็มโมเรียล (McFarland Memorial) และดำเนินกิจกรรมตามจุดประสงค์ของสมาคม มีสถานศึกษาปฐมวัยที่เน้นสอนตามแนวทางมอนเตสซอรี่ รวมทั้งมีบริการห้องประชุมและที่พักที่สะอาด เดินทางสะดวก ในราคาเป็นมิตร
05
McFarland House จังหวัดเพชรบุรี
เปลี่ยนบรรยากาศจากกรุงเทพฯ ไปที่จังหวัดเพชรบุรี สถานที่ที่คุณหมอยอร์ชเติบโตและใช้ชีวิต 12 ปีแรกกันบ้าง
หลังจากที่คุณหมอยอร์ชได้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ในสยามสำเร็จ ส่งผลให้การแพทย์แผนตะวันตกในประเทศไทยเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว รวมทั้งผลิตคุณหมอชาวไทยเก่งๆ จำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้คุณหมอยอร์ชเป็น ‘พระอาจวิทยาคม’ รวมทั้งพระราชทานที่ดินจำนวน 4.5 เอเคอร์ (ราวๆ 11 ไร่กว่า) ที่หัวหินให้อีกด้วย
คุณหมอยอร์ชสร้างบ้านพักตากอากาศขึ้นบนที่ดินนี้ ซึ่งปัจจุบันเราไปเที่ยวชมได้ที่ McFarland House ตั้งอยู่ในโครงการ THE BARAI บริเวณเดียวกับ Hyatt Regency Hua Hin โดยเปิดเป็นร้านอาหารและมีบริการ Afternoon Tea
บ้านหลังที่ตั้งอยู่ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนรูปโฉมและโครงสร้างใหม่ ไม่ใช่หลังเดิมที่คุณหมอยอร์ชเคยสร้างไว้ แต่ใช้ไม้เดิมของบ้านมาสร้างใหม่เป็นหลังปัจจุบัน
06
โบสถ์วัฒนา
หากคุณเป็นคริสเตียนก็อาจจะรู้จักโบสถ์ขนาดกำลังดีแห่งนี้ แต่ถ้าหากคุณเป็นชาวพุทธที่ติดตามข่าวบันเทิงอยู่บ้างก็อาจจะคุ้นเคยโบสถ์หลังนี้ผ่านข่าวงานแต่งงานของดาราหลายๆ คู่ โดยโบสถ์เรียบง่ายหลังงามนี้คือคริสตจักรวัฒนา ตั้งอยู่บริเวณหน้าทางเข้าโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย สุดซอยสุขุมวิท 19
โบสถ์หลังนี้แต่เดิมมีชื่อว่า McFarland Memorial Chapel ซึ่งศิษย์เก่าวัฒนาวิทยาลัยได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุน เพื่อสร้างโบสถ์แห่งนี้ขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงคุณหมอยอร์ช ผู้มีบทบาทสำคัญในการย้ายสถานที่ตั้งของโรงเรียนมายังสถานที่แห่งนี้ รวมทั้งยังได้เงินบริจาคจาก คุณหมอโธมัส เฮย์วาร์ด เฮส์ รวมกับเงินส่วนที่เหลือจากการปลูกสร้างอาคารโรงเรียน สมทบกับเงินถวายสุทธิทานและอื่นๆ โบสถ์หลังนี้จึงสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2501
บนที่ดินผืนเดียวกันถัดจากโบสถ์วัฒนาไปเพียงเล็กน้อย จะพบอาคารพระอาจวิทยาคมที่สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2556 เพื่อใช้ทำกิจกรรมของโบสถ์และเปิดเป็นที่พัก
07
สุสานฝรั่ง เจริญกรุง
ตลอดชีวิตของคุณหมอผู้ซึ่งต้องเผชิญความรู้สึกไม่เข้าพวกอยู่เสมอ ทั้งในช่วงวัยเด็กที่เป็นเด็กต่างชาติท่ามกลางเด็กๆ ท้องถิ่นชาวเพชรบุรี หรือเมื่อครั้งที่ย้ายจากเพชรบุรีตามพ่อแม่มาอยู่กรุงเทพฯ เพื่อรับภารกิจเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสวนอนันต์ ซึ่งเป็นโรงเรียนนำร่องในพระบรมมหาราชวัง
จากเด็กที่เติบโตมากับเด็กชาวบ้านเพชรบุรี ต้องมาร่วมชั้นเรียนกับนักเรียนที่เป็นบุตรหลานในแวดวงราชสำนักและได้รับการอมรมกิริยามารยาทมาอย่างดี การเล่นแบบเด็กๆ นั้นเป็นเรื่องไม่เหมาะสม อีกทั้งยอร์ชยังพ่วงความเป็นลูกผู้อำนวยการโรงเรียน ยังไม่รวมสำเนียงภาษาไทยเมืองเพชรซึ่งยอร์ชใช้มาตั้งแต่เกิด ทำให้มีเส้นบางๆ กั้นระหว่างยอร์ชกับเด็กๆ คนอื่น
เมื่อครั้งเติบโตไปเรียนต่อที่อเมริกา ถึงแม้รูปลักษณ์ภายนอกจะกลมกลืนกับคนอื่นๆ แต่วิถีชีวิตและสังคมที่หล่อหลอมยอร์ชนั้นต่างจากเพื่อนๆ รวมทั้งเสื้อผ้าใหม่สำหรับใช้ที่อเมริกาก็ซื้อระหว่างแวะพักที่ลอนดอน จากการที่ได้รู้จักคนอังกฤษในสยามและเชื่อว่าลอนดอนคือดินแดนแฟชั่นที่ทรงอิทธิพล โดยไม่รู้เลยว่าสไตล์ของอังกฤษนั้นต่างจากอเมริกันโดยสิ้นเชิง ก็ทำให้ยอร์ชต่างจากเพื่อนๆ คนอื่นอยู่ดี
เมื่อได้กลับมายังกรุงเทพฯ คุณหมอเฮส์ผู้คอยอุปถัมภ์ค้ำจุนในทุกๆ เรื่องย้ำเสมอว่า อนาคตของเขาจะไม่มีทางเจริญก้าวหน้าแน่นอนหากเข้าสังคมกับชาวตะวันตกในสยามไม่ได้ ซึ่งยอร์ชก็เคารพในความคิดเห็นของคุณหมอเฮส์เสมอ คุณหมอยอร์ชจึงตั้งใจเต็มที่ที่จะเข้าสังคมกับชาวตะวันตก เพื่อให้รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ตัวเองอยู่อย่างสมบูรณ์ แต่ลึกๆ แล้วคุณหมอยอร์ชรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจกับการใช้ชีวิตสำเริงสำราญในสโมสรแห่งนี้
จนคืนหนึ่งหลังจากดื่มกับเพื่อนๆ จนเมา คุณหมออยู่ในสภาพที่ไม่อาจบังคับรถม้าได้ดีนัก โชคดีที่เวลานั้นรถม้ายังไม่เยอะเท่าไหร่ ถนนโล่งและม้าพาคุณหมอไปยังท่าพระจันทร์เพื่อขึ้นเรือข้ามฟากกลับไปยังศิริราชได้อย่างปลอดภัย
แต่นั่นก็เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้คุณหมอยอร์ชกลับมาคิดทบทวนอย่างหนักว่าต้องการอะไรในชีวิต และจากวันนั้นเอง คุณหมอยอร์ชก็ตัดสินใจเลิกดื่มอย่างเด็ดขาดและถอยห่างจากการไปสโมสร ซึ่งนั่นต้องแลกมาด้วยต้นทุนอันแสนแพง คือการต้องกลายเป็นคนขาดสังคมและเผชิญกับความรู้สึกโดดเดี่ยวในหลายๆ ครั้ง
จวบจนในช่วงบั้นปลายของชีวิต คุณหมอยอร์ชสุขภาพทรุดโทรมและล้มป่วยลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้จะทำงานอุทิศให้ประเทศมาทั้งชีวิต แต่ด้วยเชื้อชาติอเมริกันที่ติดตัวม ทำให้ทั้งคุณหมอยอร์ชและเบอร์ธ่า ภรรยาคนที่ 2 ของคุณหมอ ถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านโฮลี่รู้ดในฐานะเชลยศึกสงครามหลังจากกองกำลังญี่ปุ่นบุกไทยได้ไม่กี่วัน
หลายเดือนผ่านไปกับชีวิตที่ถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ภายในบ้าน วันหนึ่งอาการไส้เลื่อนของคุณหมอยอร์ชเกิดกำเริบขึ้นอย่างรุนแรงและจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างด่วนที่สุด แม้จะได้รับความช่วยเหลือเต็มที่จากเพื่อนๆ และข้าราชการสยามหลายคน แต่ในฐานะคนของชาติเชลยศึก กว่าคุณหมอยอร์ชจะถูกเคลื่อนย้ายออกจากบ้านไปยังเตียงผ่าตัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งห่างจากบ้านโฮลี่รู้ดไม่ไกล ก็กินเวลาถึง 12 ชั่วโมง
แม้จะต้องรอคอยด้วยอาการเจ็บปวดแสนสาหัส คุณหมอยอร์ชผู้ซึ่งผ่านความท้าทาย ความเปลี่ยนแปลง และความยากลำบาก ในชีวิตมานับครั้งไม่ถ้วน กลับรอคอยด้วยความสงบ และในอีก 5 วันถัดมา วาระสุดท้ายของคุณหมอยอร์ชก็มาถึง
คุณหมอยอร์ชจากไปอย่างสงบในวัย 75 ปีในประเทศสยาม ตามความปรารถนาของคุณหมอที่จะได้ตายในประเทศสยามที่คุณหมอถือเป็นบ้านเกิดของตนเอง ที่ที่ซึ่งคุณหมอผู้เผชิญกับความรู้สึกแตกต่างและไม่เข้าพวกมาในทุกช่วงของชีวิตได้ทุ่มเททำงานหนักและทำกิจอันเป็นประโยชน์ไว้มากมายไว้จนช่วงสุดท้ายของชีวิต สมดังชื่อหนังสือชีวประวัติของคุณหมอว่า ชีวิต อุทิศเพื่อสยาม
ปัจจุบันร่างของคุณหมอได้ถูกบรรจุร่วมกับร่างของมารี ภรรยาคนแรกของคุณหมอ ที่สุสานโปรเตสแตนท์ กรุงเทพฯ ณ ถนนเจริญกรุง ซอย 72/5 ถนนซึ่งครั้งหนึ่งคุณหมอได้ขี่รถม้าไปกลับทุกเช้าค่ำไปทำงานที่ศิริราชเพื่อสร้างแพทย์จำนวนมากมายให้แก่ประเทศไทย
“คนเราจะรู้คุณค่าของการงานใดๆ ได้ก็ต่อเมื่อตนเองได้หยิบจับงานนั้นตลอดไป ได้เจอกับอุปสรรคความผิดหวัง ความไม่แยแสนำพาของใครๆ อื่น ตลอดจนกระทั่งความเหนื่อยยากแทบสายตัวขาด ข้าพเจ้าได้ลิ้มรสสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา 35 ปี ลิ้มแล้วลิ้มเล่าไม่ทราบว่ากี่ครั้งต่อกี่ครั้ง…สิ่งตอบแทนที่ข้าพเจ้าได้รับก็คือ ได้เป็นผู้เริ่มงานให้คนอื่นเขาต่อ ข้าพเจ้าพอใจแล้ว”
ยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์
อ้างอิง
หนังสือ ชีวิตอุทิศเพื่อสยาม อำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคม นพ.จอร์จ บี. แม็คฟาร์แลนด์
หนังสือ ประวัติของสกุลแมคฟาร์แลนด์ในสยาม
www.wattana.ac.th/history/Type.htm
www.wattanachurch.org/index.php/about-us/church-history
www.ywcabangkok.com/th/site/history.php?m=about
www.facebook.com/wattanabuild/photos/a.239801029384184/239801032717517/?type=3&theater