ประวัติศาสตร์ [ประหฺวัดติสาด, ประหฺวัดสาด] น. วิชาว่าด้วยเหตุการณ์ที่เป็นมา หรือเรื่องราวของประเทศชาติ เป็นต้น ตามที่บันทึกไว้เป็นหลักฐาน

มีคนบอกว่า ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นเพื่อให้เราจดจำและเรียนรู้จากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต คำพูดเหล่านี้โผล่เข้ามาในหัวของฉันอีกครั้ง เมื่อฉันได้มายืนอยู่หน้า Prisoner of War Camp ที่เกาะคอเจ

Geoje POW Camp เรื่องเล่าจากค่ายกักกันเชลยสงครามที่เกาะคอเจ เกาหลีใต้

อนุสาวรีย์บริเวณทางเข้าของแหล่งเรียนรู้ค่ายกักกันนักโทษสงครามคอเจ

เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตบางเรื่องคิดแล้วก็อดรู้สึกหดหู่ไม่ได้ หนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ตัวเราอ่านแล้วรู้สึกเศร้าอยู่ลึกๆ คือ สงครามเกาหลี ผลผลิตหนึ่งจากช่วงสงครามเย็น สงครามที่คนร่วมชาติหันมาจับอาวุธรบราฆ่ากันเองด้วยเหตุผลเรื่องความแตกต่างทางอุดมการณ์ ผสมกับการแทรกแซงจากต่างชาติ ผลลัพธ์ในการต่อสู้คราวนั้น นำมาสู่การแบ่งคาบสมุทรเกาหลีออกเป็นฝั่งเหนือและฝั่งใต้ และจนทุกวันนี้ ความสัมพันธ์ของชาวโสมแดงและโสมขาวยังเป็นความสัมพันธ์ที่ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่มีความชัดเจนแน่นอนอะไรให้เราเห็น

พูดถึงเกาหลีเหนือเกาหลีใต้กับใคร บรรดาเพื่อนนักเดินทางของเราก็ต้องเอ่ยเป็นเสียงเดียวกันถึงเขตปลอดทหาร (DMZ) และปันมุนจอม คงเพราะบริเวณเส้นขนานที่ 38 เป็นเส้นขีดแบ่งชายแดนชัดเจน ทำให้คนที่อยากมีโอกาสแอบส่องชาวโสมแดงเลือกไปเยือนชายแดนฝั่งเหนือกันเป็นส่วนใหญ่ 

ฉันเองก็เป็นหนึ่งในนั้น จนวันหนึ่งบังเอิญไปได้ยินจากเพื่อนต่างชาติที่ลงคอร์สเรียนภาษาเกาหลีด้วยกันว่า มีค่ายเชลยศึกช่วงสงครามเกาหลีแห่งหนึ่งตั้งอยู่ฝั่งทะเลใต้ของประเทศ พอมีโอกาสได้มาเยือนเมืองคอเจ เราเลยถือโอกาสมาดูเรื่องราวอีกส่วนเสี้ยวหนึ่งจากหน้าประวัติศาสตร์สงครามครั้งนี้กันสักหน่อย

ค่ายนี้ท่านได้แต่ใดมา

ค่ายกักกันเชลยศึกสงคราม หรือ Geoje POW Camp ตั้งอยู่ที่เมืองคอเจ เมืองท่าสำคัญในภูมิภาคคยองนัม-โด ซึ่งอยู่ทางใต้ของสาธารณรัฐเกาหลี โดยนั่งรถบัสจากเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศอย่างปูซานเพียง 30 นาที

เมื่อกองทัพฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้เจรจาสงบศึกกันใน ค.ศ. 1953 ค่ายแห่งนี้ก็หมดหน้าที่ลงและถูกปิดไปในปีเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้คนรุ่นหลังหลงลืมเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับค่ายแห่งนี้จึงสร้างขึ้นบนพื้นที่เดิมของค่ายและเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ ค.ศ. 1997

นอกจากเรื่องราวการสู้รบในช่วงสงครามเกาหลี แหล่งเรียนรู้แห่งนี้ยังเล่าให้เราฟังถึงที่มาของการตั้งค่ายกักกันเชลยบนเกาะคอเจอีกด้วย ในช่วงที่กองทัพจีนเข้าร่วมกับกองทัพฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้เองก็ได้รับความช่วยเหลือจากโลกเสรีเช่นกัน หลังกองทัพจากสหประชาชาติ (United Nations) ยกทัพขึ้นบกที่อินชอน กองทัพฝั่งใต้จึงเริ่มรุกกลับไป และนี่เองที่ทำให้เชลยศึกเพิ่มจำนวนขึ้น จนต้องมองหาสถานที่พำนักใหม่สำหรับเชลยศึกชาวเกาหลีเหนือและชาวจีนที่จับมา เนื่องจากพื้นที่ทางเหนือคับแคบและควบคุมได้ยาก

Geoje POW Camp เรื่องเล่าจากค่ายกักกันเชลยสงครามที่เกาะคอเจ เกาหลีใต้

ทางเข้าส่วนนิทรรศการที่จัดแสดงในแหล่งเรียนรู้

Geoje POW Camp เรื่องเล่าจากค่ายกักกันเชลยสงครามที่เกาะคอเจ เกาหลีใต้

รูปจำลองการต่อสู้ที่สะพานแม่น้ำนักดงช่วงสงครามเกาหลีเหนือ

Geoje POW Camp เรื่องเล่าจากค่ายกักกันเชลยสงครามที่เกาะคอเจ เกาหลีใต้

จำลองบรรยากาศในค่ายกักกันนักโทษสงครามเกาหลีเหนือ

เกาะคอเจถูกเลือกเป็นทำเลใหม่สำหรับตั้งค่ายกักกันเชลยจากฝั่งเหนือ เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากเมืองปูซาน เมืองที่ตั้งฐานทัพกองหนุนของ UN จึงช่วยลดปัญหาเรื่องความมั่นคงที่เกิดจากการก่อความวุ่นวายและการต่อต้านของนักโทษที่รวมตัวกันในค่ายได้ ค่ายกักกันเชลยสงครามคอเจสร้างเสร็จในเดือนมกราคม ค.ศ. 1951 มีการแบ่งเขตแดนออกเป็น 8 เขต แต่ละเขตกั้นด้วยรั้วลวดหนามและสายไฟฟ้า มียามจากกองทัพฝั่งใต้และกองทัพ UN คอยตรวจตราและเฝ้าประจำบริเวณทางเข้า-ออกมีเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้เก็บน้ำฝนเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นของตัวเอง และช่วงปลายเดือนมกราคมในปีเดียวกัน ค่ายแห่งนี้ก็กลายเป็นที่พำนักของเชลยศึกชาวเกาหลีเหนือและชาวจีนกว่า 170,000 ชีวิต

ความเป็นอยู่ในค่าย

จุดมุ่งหมายของกองทัพฝั่งใต้และสหประชาชาติในการตั้งค่ายกักกันเชลยสงครามคอเจไม่ใช่เพียงเพื่อคุมขังนักโทษสงคราม แต่เพื่อเผยแพร่และให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย เสรีนิยม รวมไปถึงความรู้ทางสายอาชีพอื่นๆ เพื่อเชลยจะได้นำเอาความรู้ไปใช้ประโยชน์หลังสงครามจบลง โดยกำหนดข้อตกลงกันไว้ด้วยว่า หลังสงครามสิ้นสุด นักโทษแต่ละคนมีสิทธิตัดสินใจได้ตามความสมัครใจว่า จะกลับไปอยู่ฝั่งเหนือหรือจะพำนักอยู่ที่ฝั่งใต้ต่อไป

จุดมุ่งหมายด้านบน ร่วมกับอนุสัญญาเจนีวาใน ค.ศ. 1949 ที่ให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของนักโทษสงครามทำให้นักโทษในค่ายคอเจได้มีส่วนในการปกครองตนเอง แม้จะมีข้อจำกัดว่าทำได้เฉพาะในเขตแดนที่สังกัดอยู่

แหล่งเรียนรู้แห่งนี้บอกเล่ากิจวัตรประจำวันของเชลยในค่ายให้เราเห็นผ่านหุ่นจำลองหลากหลายรูปแบบ หลายจุดหลายมุมมีภาพให้เราเห็นชัดเจน ภาพของนักโทษที่ทำงานแบกหามในค่าย การหุงหาอาหาร การอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย รวมไปถึงกิจกรรมจำเป็นอื่นๆ เช่น การตัดผม ส่วนของนิทรรศการที่เราสนใจเป็นพิเศษ คือส่วนที่บอกเล่าชีวิตประจำวันของเหล่าเชลยศึกผู้หญิง ทำให้เราได้รู้ว่าภาพสงคราม (ที่ส่วนใหญ่มักอ้างอิงมาจากภาพยนตร์เกี่ยวกับสงครามเกาหลีฝั่งเหนือ-ใต้) ฉายภาพแต่ทหารราบเพศชายในสนามรบนั้น อาจจะไม่ได้แสดงให้เราเห็นภาพความจริงทั้งหมด มองไปแล้ว สุดท้ายสงครามต้องส่งผลต่อทุกคนในทิศทางใดทิศทางหนึ่งเสมอ

Geoje POW Camp เรื่องเล่าจากค่ายกักกันเชลยสงครามที่เกาะคอเจ เกาหลีใต้
Geoje POW Camp เรื่องเล่าจากค่ายกักกันเชลยสงครามที่เกาะคอเจ เกาหลีใต้

ตัวอย่างกิจวัตรประจำวันของนักโทษในค่ายกักกัน

เรื่องราวหลังรั้วลวดหนาม

แม้ค่ายคอเจจะพยายามทำงานบนพื้นฐานที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของนักโทษให้มากที่สุด แต่ในความเป็นจริง สถานการณ์ในค่ายค่อนข้างห่างไกลจากภาพที่วางไว้พอสมควร การให้ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยและเสรีนิยมสร้างความขุ่นเคืองในหมู่นักโทษ ความขัดแย้งทางความคิดก่อให้เกิดความระหองระแหงระหว่างผู้คุมจากฝั่งใต้และนักโทษจากฝั่งเหนือ ความรุนแรงหลายรูปแบบตั้งแต่ทะเลาะ ข่มขู่ทางวาจา ไปจนกระทั่งการต่อต้าน การลักพาตัวผู้นำฝ่ายตรงข้ามและการก่อจราจล ทำให้เกิดความเสียหายทั้งสองฝั่ง ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ ความขัดแย้งขยายตัวเป็นการใช้กำลัง จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและถึงขั้นเสียชีวิต

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้นักโทษฝั่งเหนือก่อการจลาจลได้ง่ายขึ้น เกิดจากกองกำลังฝ่ายเหนือส่งสายลับข้ามมาแนวหน้าและยอมให้ตัวเองถูกจับ เพื่อจะได้เข้ามาในค่ายคอเจอย่างสะดวก จากนั้นจึงมาจัดการวางแผนสร้างความวุ่นวายในค่ายร่วมกับผู้อพยพที่มาอยู่ก่อน การให้ความรู้ด้านอาชีวศึกษาที่มุ่งสร้างอาชีพให้นักโทษอย่างการตีเหล็ก กลับเป็นตัวเสริมให้การก่อจราจลทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะนักโทษใช้อาวุธที่ประดิษฐ์ขึ้นมาจากห้องเรียนในการต่อสู้

Geoje POW Camp เรื่องเล่าจากค่ายกักกันเชลยสงครามที่เกาะคอเจ เกาหลีใต้

ภาพวาดนักโทษในค่ายกักกันนักโทษสงคราม

ซ้ำร้าย ผู้คุมค่ายฝั่งใต้เองก็ตอบกลับความไม่สงบเหล่านี้ด้วยความรุนแรงไม่ต่างกัน นอกเหนือไปจากการออกคำสั่งใช้งานนักโทษอย่างหนัก รวมไปถึงการข่มขู่ด้วยอาวุธ ประเด็นที่สร้างความไม่พอใจให้กับนักโทษจากฝั่งเหนือ คือวิธีการที่ทหารฝั่งใต้ใช้คัดแยกนักโทษที่ต้องการพำนักอยู่ในเกาหลีใต้และนักโทษที่ต้องการเดินทางกลับไปอยู่เกาหลีเหนือ กองทัพฝ่ายใต้และกองทัพสหประชาชาติรับหน้าที่ในการคัดแยกนักโทษ โดยการตัดสินใจขึ้นอยู่กับความสมัครใจของนักโทษแต่ละคน แต่กลับมีข้อร้องเรียนจากนักโทษฝ่ายเหนือเรื่องวิธีการคัดแยกที่ใช้การข่มขู่และความรุนแรง

Geoje POW Camp เรื่องเล่าจากค่ายกักกันเชลยสงครามที่เกาะคอเจ เกาหลีใต้

ภาพจำลองกองทัพฝ่ายใต้ในค่ายกักกันนักโทษ

เมื่อทั้งสองฝ่ายยังคงโหมไฟแห่งความรุนแรงใส่กันอย่างต่อเนื่อง ข้อขัดแย้ง การปะทะ และความสูญเสียจึงเกิดขึ้นในค่ายกักกันแห่งนี้ การคัดแยกนักโทษเป็นไปด้วยความยากลำบากและเกิดข้อกังขาในเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งวิธีการปฏิบัติต่อนักโทษสงครามของกองทัพสหประชาชาติจวบจนปัจจุบัน

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…

สุดท้ายแล้ว เราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในค่ายแห่งนี้

ตัวฉันเองก็ยังหาคำตอบที่แน่นอนให้กับตัวเองไม่ได้ รู้แต่เพียงว่ารัฐบาลเกาหลีใต้เลือกสร้างแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจ ไม่ให้คนเกาหลีหลงลืมอดีตที่เคยผ่านมา ย้ำเตือนไม่ให้พวกเขาลืมว่าอะไรบ้างที่ต้องสูญเสียไป และอะไรบ้างที่ได้กลับคืนมาจากสงครามในคราวนั้น

และหากเป็นไปได้ การย้ำเตือนถึงเรื่องราวในอดีตก็อาจช่วยสร้างประวัติศาสตร์บทใหม่ที่ไม่ซ้ำรอยเดิมที่เคยเป็น…

Geoje POW Camp เรื่องเล่าจากค่ายกักกันเชลยสงครามที่เกาะคอเจ เกาหลีใต้
Geoje POW Camp เรื่องเล่าจากค่ายกักกันเชลยสงครามที่เกาะคอเจ เกาหลีใต้

ข้อมูลอ้างอิง

www.pow.or.kr/_main/main.html

https://web.archive.org/web/20110722140828/

http://www.geojeimc.or.kr/_sub03/sub03_e01.html

www.sweetsharing.com/historical-park-geoje-pow-camp/

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ณัฐมน เกตุแก้ว

ตอนนี้เรียนปริญญาโทสาขาสังคมวิทยาอยู่ในมหาวิทยาลัยบนเขาที่เกาหลี