บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘Reporting on the development of megacities in Southeast Asia’ ของสำนักข่าว DW Akademie

ทุกวันนี้คนพูดเรื่อง Gender กันโดยทั่วไป แม้แต่ประเด็นแห่งยุคอย่างการพัฒนาเมืองเองก็มีเรื่อง Gender-inclusive City เช่นกัน จนหลายคนสงสัยว่า นี่จะ Woke เกินไปไหม 

ทำไมต้องนำเรื่องเพศไปจับกับทุกประเด็น ทุกการกระทำของชีวิต จนเกลื่อนกลาดไปหมด แต่ละเพศใช้ชีวิตในเมืองต่างกันตรงไหน มันมีความจำเป็นจริงรึเปล่า

จริง ๆ แล้ว ประเด็น Gender กับเมือง สอดแทรกอยู่กับชีวิตของคนตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน ตั้งแต่อยู่ในบ้าน ก้าวเท้าออกจากบ้าน จนกลับเข้ามาอีกครั้ง แม้ว่าที่ผ่านมา เรื่องเพศจะได้รับความสำคัญไม่มากและโลกก็ยังดำเนินต่อไปได้โดยไร้ปัญหา (คุณอาจคิดอย่างนั้น) แต่เรื่องที่ว่ามีคนได้รับความเดือดร้อน ความไม่ปลอดภัยทั้งทางกายทางใจจากการละเลยประเด็นแห่งเพศก็เป็นความจริงอยู่วันยันค่ำ และคนเหล่านั้นมีไม่น้อยเลยทีเดียว หากลองไตร่ตรองดูอีกสักนิด อาจพบว่าคุณเป็นหนึ่งในผู้เดือดร้อนด้วยเช่นกัน

จะดีกว่าไหม ถ้าเราจะทำความเข้าใจเรื่องนี้กันให้มากขึ้น เพื่อสร้างสังคมที่รองรับผู้คนที่หลากหลายกว่าเดิม และออกแบบเมืองให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนทุกแบบ ทุกเพศ ทุกวัย

เมียงเมือง คราวนี้ จะพาคุณไปฝันถึง Gender-inclusive City ร่วมกันกับเรา รวมถึง รศ.ดร.สันต์ สุวัจฉราภินันท์ และ ดร.บุญวรา สุมะโน เจนพึ่งพร สองผู้รู้เรื่องเมืองที่มาร่วมแสดงความเห็นกันในวันนี้

ว่าด้วยฟังก์ชันแมน ๆ ของพื้นที่สาธารณะ

ก่อนจะไปถึง Gender-inclusive City เราคงต้องเริ่มที่ความหมายของคำว่า ‘Inclusiveness’ ก่อน

Inclusiveness ไม่มีคำแปลภาษาไทยตรงตัว แต่ด้วยไอเดียของคำ หมายถึง ‘การนับรวม’ ที่ครอบคลุมทุกความหลากหลาย ไม่ว่าจะเพศ วัย สภาพร่างกาย หรือความเชื่อความศรัทธาต่าง ๆ ซึ่ง Gender Inclusiveness เป็นประเด็นย่อยที่สำคัญในความครอบคลุมนั้น

แล้วทำไมเราต้องพูดถึงสิ่งนี้ ทำไมต้องนำเรื่องเพศมาพิจารณาในการพัฒนาเมืองด้วย

“ตามทฤษฎีแล้ว ประเด็นเรื่องเพศมันย้อนกลับไปถึงในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเลย ตอนนั้นเป็นจุดที่ก่อให้เกิดคำว่า Gender Exclusiveness” อาจารย์สันต์กล่าว

สันต์ เป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาสนใจประวัติศาสตร์ทฤษฎีที่เน้นเรื่อง Social Space หรือพื้นที่ทางสังคม โดยอาศัยมุมมองทางสถาปัตยกรรมพิจารณาร่วมกันกับความสัมพันธ์ทางสังคม

เมื่อตั้งใจว่าจะเขียนบทความนี้ เราตัดสินใจติดต่ออาจารย์สันต์ เพราะเห็นเขาทำวิจัยมากมายที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์เรื่องเพศในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองของเขา

Woke ไปไหม? : ทำไมแม้แต่การออกแบบเมืองยังเกี่ยวกับประเด็นทางเพศและพูดเรื่องผู้หญิง

“ยุคนั้นให้ความสำคัญกับการผลิตงาน บูชา Productivity ดังนั้น วิธีคิดก็คือ ใครก็ตามที่ทำงานให้ฉันได้เยอะกว่าในค่าจ้างเท่ากัน ฉันจะเลือกคนนั้น ซึ่งเขาก็ดูแต่ในเรื่องของกำลังและความอึด เขาจึงเลือกจ้างผู้ชายมากกว่าผู้หญิง”

สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการวางผังเมืองที่เน้นกระบวนการผลิต มีบริเวณที่เป็นศูนย์กลางของการทำงาน มีบริเวณบ้าน และเมื่อสังคมการทำงานเป็นของผู้ชาย พื้นที่สาธารณะในยุคนั้นก็เป็นของผู้ชายไปโดยปริยาย มีผับรองรับการใช้เวลาหลังเลิกงานของผู้ชาย ส่วนผู้หญิง ถ้าไม่อยู่บ้านเข้าครัว ก็มีหน้าที่ไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต เรียกได้ว่าความหมายของ Public Space กับ Private Space ถูกสร้างขึ้นและตอกย้ำเรื่องการจ้างงาน

หลายคนอาจคิดว่า การออกแบบเมืองไม่เกี่ยวกับเพศเท่าไหร่นัก แต่เมื่อวิเคราะห์จากสิ่งที่สันต์เล่า อาจสรุปได้ว่า รากเหง้าวิธีคิดของการวางผังเมืองนั้น มาจากการแบ่งแยกเพศมาตั้งแต่ต้น

ทุกวันนี้สภาพสังคมได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย บทบาททางเพศเดิม ๆ ที่เคยกำหนดไว้ก็ได้จางลงไป ผู้ชายไม่ได้เป็นผู้ทำงานหาเงินฝ่ายเดียว ส่วนผู้หญิงก็ออกไปทำงานข้างนอกกันมากมาย ไม่ได้รับหน้าที่ทำงานบ้านงานครัวอยู่ฝ่ายเดียวอีกแล้ว แต่พื้นที่สาธารณะกลับยังคงเป็นพื้นที่ของผู้ชายอยู่อย่างไรอย่างนั้น

เรานึกถึงบทสนทนาระหว่างเรากับ ยศพล บุญสม แห่ง we!park ไม่นานมานี้ เขาเล่าถึง Pain Point หนึ่งที่เจอหลังจากได้ลงพื้นที่โรงเรียนกุหลาบวิทยา โบสถ์กาลหว่าร์ ว่ามีเด็กผู้หญิงหลายคนมาบอกว่า ‘ไม่มีที่เล่น’ เนื่องจากลานคอนกรีตรองรับแต่กิจกรรมกีฬาของเด็กผู้ชาย นี่เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ที่อาจทำให้เห็นภาพความเป็นชายของพื้นที่สาธารณะได้

ซึ่งสิ่งที่ we!park ทำ คือชวนเด็ก ๆ มาร่วมแสดงความคิดเห็น และใส่กิจกรรมที่ขาดไปของเด็กผู้หญิง เด็กโต รวมไปถึงผู้ปกครองที่มานั่งรอลูกด้วย

Woke ไปไหม? : ทำไมแม้แต่การออกแบบเมืองยังเกี่ยวกับประเด็นทางเพศและพูดเรื่องผู้หญิง
Woke ไปไหม? : ทำไมแม้แต่การออกแบบเมืองยังเกี่ยวกับประเด็นทางเพศและพูดเรื่องผู้หญิง
ลานคอนกรีต โรงเรียนกุหลาบวิทยา

เท่าไหร่ถึงจะพอ

นอกจากเรื่องฟังก์ชันใช้งานของพื้นที่ ความปลอดภัยในการอาศัยอยู่ในเมืองของผู้หญิงก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน 

ที่จริงแล้ว หากพูดว่า ‘ความปลอดภัยของทุกคน’ อาจจะครอบคลุมกว่า แต่ด้วยวันนี้เราจะพูดเรื่อง Gender-inclusive จึงจำเป็นต้องเน้นไปที่ความปลอดภัยของผู้หญิง ด้วยพละกำลังและอำนาจที่น้อยกว่า

คำถามคือ การพัฒนา ‘พื้นที่ทางกายภาพ’ ทำให้เมืองปลอดภัยสำหรับผู้หญิงมากขึ้นได้ไหม

“เวลาที่พูดถึง Gender ในประเด็นพื้นที่สาธารณะ มันไม่ได้มีอะไรที่โดดเด่นเท่ากับการพิจารณาเครื่องเพศ วิธีการที่เราพิจารณาจึงตกไปอยู่ที่ห้องน้ำ แต่อย่างอื่นเราใช้คล้ายกัน เรานั่ง เรายืน เราเดิน คล้ายกัน ความสูงเราก็คล้ายกัน” สันต์ช่วยตอบ

“เพราะฉะนั้นเลยเกิดคำถามเสมอ เฮ้ย มึงจะเอาความเป็นเพศเข้าไปออกแบบหรือปรับปรุงพื้นที่ทำไม ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างตกอยู่ในร่มของความเท่าเทียม แล้วความเท่าเทียมก็ไปปรากฏใน Universal Design แล้ว”

Woke ไปไหม? : ทำไมแม้แต่การออกแบบเมืองยังเกี่ยวกับประเด็นทางเพศและพูดเรื่องผู้หญิง

Universal Design ที่กลายเป็นร่มใหญ่ของหลักการออกแบบเพื่อความเท่าเทียมจะคิดถึงความสามารถของร่างกายเป็นหลักและเน้นไปที่คนแก่หรือคนพิการ แต่มักไม่ได้พิจารณาเรื่องเพศเข้าไปด้วย สำหรับประเด็น Gender Inclusiveness นอกเหนือจากเรื่องห้องน้ำ จึงไปปรากฏอยู่ในรูปแบบของ Service Design อย่างเรื่องที่จอดรถหรือยิมเฉพาะผู้หญิง

“ถามว่า Service Design เหล่านั้นเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุไหม ใช่ แต่เป็นทางออกหนึ่งที่สำคัญซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้คนมีทางเลือกมากกว่าเดิม ให้คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสถานที่ สบายใจที่จะเข้าไปใช้ และอาศัยอยู่ในเมืองได้อย่างมีความสุข”

Woke ไปไหม? : ทำไมแม้แต่การออกแบบเมืองยังเกี่ยวกับประเด็นทางเพศและพูดเรื่องผู้หญิง

อย่างไรก็ตาม สำหรับเราแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้นำเรื่องเพศมาคิดโดยตรง แต่การทำเมืองให้ปลอดภัย ออกแบบให้เมืองปลอดจุดอับ ลดความเปลี่ยวด้วยการวางผังเมืองให้เหมาะสม ปรับปรุงบริเวณให้ไม่ทรุดโทรม หรือแม้แต่การติดกล้องวงจรปิดให้ครอบคลุมทุกบริเวณ (แน่นอน กล้องต้องไม่เสียด้วย) ก็เป็นการลดอาชญากรรมที่เกิดกับผู้หญิงได้มากมาย

รถไฟ / เรือเมล์ / ลิเก / ผู้หญิง

Fun Fact : ผู้พัฒนาเมือง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ-วางผัง การก่อสร้าง และโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนมากเป็นผู้ชาย World Bank ระบุว่า มีผู้หญิงเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ในตําแหน่งสูงสุดของบริษัทสถาปัตยกรรมชั้นนําและสํานักงานวางแผนผังเมือง

ด้วยค่านิยมทางสังคมตั้งแต่อดีต มีน้อยมากที่เหล่าสตรีและเพศอื่น ๆ จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารเมือง ซึ่งเมื่อไม่มีเสียงแห่งความหลากหลายนั้น การพัฒนาเมืองจึงเป็นมุมมองของผู้ชายโดยอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อเราพูดถึง ‘คน’ หรือ ‘ประชากร’ เราก็จะมองว่าเป็นผู้ชายโดยอัตโนมัติเช่นกัน

“พูดถึงเรื่องการเดินทาง” บุญวราเริ่ม เมื่อเราถามเธอเกี่ยวกับมุมมองที่จำกัดของการบริหารเมือง

บุญวรา เป็นนักวิชาการอาวุโส ทีมนโยบายเพื่อการพัฒนาสังคม จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งดูด้านนโยบายเพื่อการพัฒนาสังคมของประเทศเป็นหลัก ตั้งแต่เรื่องเด็ก Gender ผู้สูงอายุ ไปจนถึงแรงงานข้ามชาติ

Woke ไปไหม? : ทำไมแม้แต่การออกแบบเมืองยังเกี่ยวกับประเด็นทางเพศและพูดเรื่องผู้หญิง

“ถ้าเข้าไปดูสถิติ สัดส่วนของผู้หญิงที่มีใบขับขี่มีน้อยกว่าผู้ชายเยอะเลย แสดงว่าถนนทั้งหมดที่พัฒนาเร่งสร้างกันมาตลอดคือการทำให้ผู้ชาย เพราะผู้ชายใช้รถเป็นหลัก ในขณะที่ผู้หญิงมีแนวโน้มจะใช้รถโดยสารสาธารณะมากกว่า” นี่ก็คืออีกหนึ่ง Fun Fact

การที่ผู้หญิงขับรถน้อยกว่าผู้ชายนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้หญิงมีค่าเฉลี่ยของรายได้น้อยกว่าผู้ชายมาตลอด ซึ่งนำไปสู่การไม่มีรถเป็นของตัวเองได้และไม่มีกำลังทรัพย์ในการเติมน้ำมันหรือดูแลรักษารถ

“การพัฒนาถนนหนทางสำหรับรถโดยสารสาธารณะก็น้อยมาก มันสะท้อนให้เห็นความสำคัญในการพัฒนาเมืองว่า คุณให้ความสำคัญกับรูปแบบการเดินทางที่คนใช้เป็นผู้ชายซะเยอะ ซึ่งก็คือรถยนต์ส่วนตัว” 

นอกจากนี้ บทบาททางเพศที่สังคมมองว่าผู้หญิงต้องเป็นคนดูแลครอบครัว ยังทำให้ผู้หญิงมีแนวโน้มจะต้องพาคนอื่นเดินทางไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการไปส่งลูกที่โรงเรียน พาพ่อแม่สูงวัยไปโรงพยาบาล ซึ่งการที่ระบบขนส่งสาธารณะในเมืองยังไม่ได้รับการพัฒนามากพอ ก็ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ในความดูแลของผู้หญิงด้วย

“ที่ผ่านมา เมืองตอบโจทย์แต่ผู้ชายที่มีความมั่นคงในระดับหนึ่ง เช่น เป็นข้าราชการหรืออยู่ในชนชั้นนำ” นักวิชาการกล่าวกับเรา

Woke ไปไหม? : ทำไมแม้แต่การออกแบบเมืองยังเกี่ยวกับประเด็นทางเพศและพูดเรื่องผู้หญิง

ถัดจากประเด็นขนส่งสาธารณะ บุญวรายังพูดถึงเรื่องการออกแบบผังเมือง-การกำหนดโซนนิ่งที่ไม่เอื้อต่อเดินทางของผู้หญิง ความเจริญที่กระจายตัวอย่างไม่ทั่วถึง ทำให้ผู้หญิงซึ่งต้องแวะหลายจุดเพราะมีหน้าที่ดูแลผู้อื่นเดินทางลำบาก บ้านอยู่ย่านหนึ่ง ไปทำงานอีกย่านหนึ่ง ไปรับส่งลูกก็อีกย่านหนึ่ง ก่อนเข้าบ้านต้องแวะจ่ายตลาดซื้อของให้ครอบครัว จะเห็นว่าผู้หญิงไม่สามารถใช้ชีวิตครบวงจรได้ในระยะไม่ไกล

มองเผิน ๆ การเดินทางอาจเป็นปัญหาทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะสำหรับกรุงเทพฯ เมืองรถติด แต่หากลองสวมแว่นมองบทบาททางเพศเข้าไปก็จะเห็นชัดขึ้นมาว่า ที่เขาพูดกันว่ากรุงเทพฯ ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้หญิงนั้นหมายถึงอะไร

Woke ไปไหม? : ทำไมแม้แต่การออกแบบเมืองยังเกี่ยวกับประเด็นทางเพศและพูดเรื่องผู้หญิง
Woke ไปไหม? : ทำไมแม้แต่การออกแบบเมืองยังเกี่ยวกับประเด็นทางเพศและพูดเรื่องผู้หญิง

ฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า

เมื่อปัญหาคือมุมมองที่จำกัดของคนบริหารเมือง หนทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง คงเป็นการเพิ่มความหลากหลายให้กับทีม

แม้สัดส่วนคนทำงานในแต่ละเพศในตอนนี้ยังห่างไกลคำว่าเท่ากัน แต่ในช่วงหลัง หลายคนคงได้เห็นว่าเริ่มมี ส.ส. ผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศเพิ่มขึ้น

ผู้บริหาร กทม. ชุดใหม่เองก็มีผู้หญิง อย่าง ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ หรือ ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษา และออกนโยบายที่มีความ Gender Sensitive มากขึ้น อย่าง ‘นโยบายเมืองน่าอยู่เพื่อผู้หญิง’ เน้นย้ำเรื่องความปลอดภัย ดูแลเรื่องการงานอาชีพ และออกนโยบายลดค่าใช้จ่ายขนส่งสาธารณะ

สำหรับประเทศไทย ถึงทั้งหมดทั้งมวลจะอยู่ในช่วงตั้งไข่และยังไม่เห็นผลลัพธ์ออกมาเป็นรูปเป็นร่างนัก แต่เราในฐานะที่เป็นผู้หญิงคนหนึ่งในประเทศ รู้สีกดีใจเล็ก ๆ ทุกครั้งที่ผู้มีอำนาจออกนโยบายแบบนี้ขึ้นมา เหมือนกับว่าเรื่องเหล่านี้ถูกยอมรับอย่างเป็นทางการว่ามัน ‘เป็นประเด็น’ จริง ๆ 

หวังว่าในอนาคตจะมีการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง จนกรุงเทพฯ รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ เรียกได้ว่าเป็น Gender-inclusive City อย่างเต็มปาก

หากพูดถึงในระดับสากล Gender-inclusive City ก็เป็น Term ที่ค่อนข้างใหม่ และมีน้อยที่เมืองไหนจะชูเรื่องนี้เป็นพิเศษ แต่เมืองหนึ่งที่โดดเด่นเห็นได้ชัดเลยก็คือ ‘เวียนนา’ ประเทศออสเตรีย

คุยเรื่อง Gender-inclusive City หรือเมืองที่นับรวมคนทุกเพศ อีกประเด็นของการพัฒนาเมืองที่สำคัญและน่านำมาคิดต่อไม่แพ้ประเด็นไหน
คุยเรื่อง Gender-inclusive City หรือเมืองที่นับรวมคนทุกเพศ อีกประเด็นของการพัฒนาเมืองที่สำคัญและน่านำมาคิดต่อไม่แพ้ประเด็นไหน

BBC ให้ข้อมูลไว้ว่า เวียนนาตั้งแผนกหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า ‘Gender Mainstreaming’ เพื่อให้เมืองมีความเท่าเทียมทางเพศในทุก ๆ แง่มุมของการใช้ชีวิต ตั้งแต่พื้นฐานโครงสร้าง สภาพแวดล้อม การเดินทาง ขนส่งสาธารณะ

แผนกนี้มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ แล้วนำไปกำหนดแนวทางการพัฒนา เพื่อที่จะมั่นใจว่าการให้บริการของรัฐในทุกภาคส่วนนั้นมีความละเอียดอ่อนทางเพศ แต่ละหน่วยงานต้องผ่านการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญและเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายทำงานเรื่อง Gender ที่แข็งแรงด้วย

จากเคสโรงเรียนกุหลาบวิทยาที่เด็กผู้หญิงไม่มีพื้นที่ซึ่งเราเล่าไปแต่แรก เวียนนาเองก็มีปัญหานี้เช่นกัน และสร้าง Mädchenbühne (เวทีการแสดงสำหรับเด็กผู้หญิง) ขึ้นมาที่กลาง Reumannplatz หนึ่งในจัตุรัสที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมือง

คุยเรื่อง Gender-inclusive City หรือเมืองที่นับรวมคนทุกเพศ อีกประเด็นของการพัฒนาเมืองที่สำคัญและน่านำมาคิดต่อไม่แพ้ประเด็นไหน
Mädchenbühne เวทีการแสดงสำหรับเด็กผู้หญิง

ในพื้นที่สาธารณะบางแห่ง สนามฟุตบอลซึ่งมีพื้นที่มากเพียงก็แบ่งออกมาเป็นพื้นที่เล็ก ๆ เพื่อให้หลายกลุ่มใช้งานได้ และผูกเปลญวน สร้างพื้นที่พักผ่อนขึ้นมา ผลคือมีเด็กผู้หญิงมาใช้พื้นที่ในสวนสาธารณะมากขึ้นจากเดิมที่มีน้อยมาก

พูดถึงออสเตรีย บุญวรายกตัวอย่างการออกแบบอาคารหนึ่งที่ทำให้เห็นภาพการพัฒนาโดยฟังเสียงของผู้หญิงได้ชัดเจน

“มี Complex ที่อยู่อาศัยในออสเตรียที่ให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบ ผลที่ออกมาคือกลายเป็นอาคารที่ทุกยูนิต แม่ที่ทำงานบ้านอยู่ก้มมองลูกเล่นกับเพื่อนที่ส่วนกลางได้ และแทนที่จะให้ความสำคัญกับบันได ก็ทำทางสโลปแบบรถเข็นสำหรับทั้งคนแก่ รถเข็นเด็ก หรือรถเข็นของที่ไปจ่ายตลาดมา” 

นอกจากนี้ เวียนนายังเป็นเมืองที่ให้การสนับสนุนชุมชน LGBTQ+ ทั้งแสดงความเป็นมิตร มี QueerCityPass โดยเฉพาะ และมีหน่วยงานที่มุ่งเน้นการต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้จะเห็นว่ามีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากมายเกิดขึ้นในเวียนนา

‘บาร์เซโลนา’ ก็เป็นอีกเมืองที่มีความ Gender Sensitive ด้วย Ada Colau ได้เป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกในปี 2015 เธอใช้แนวทางสตรีนิยมในการพัฒนาเมือง โดยผังเมืองและบริการสาธารณะจะต้องพิจารณาผลกระทบที่รวมมุมมองของทุกเพศ

คุยเรื่อง Gender-inclusive City หรือเมืองที่นับรวมคนทุกเพศ อีกประเด็นของการพัฒนาเมืองที่สำคัญและน่านำมาคิดต่อไม่แพ้ประเด็นไหน

จากข้อมูลที่ว่า ร้อยละ 80 ของการเดินทางในบาร์เซโลนาใช้การเดินเท้าหรือการขนส่งสาธารณะ แต่พื้นที่สาธารณะกว่าร้อยละ 60 ของเมืองมีไว้สำหรับรถยนต์โดยเฉพาะ และเนื่องจากผู้หญิงมีความถนัดในการเดินมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงจึงได้รับผลกระทบมากจากการที่เมืองนี้มีพื้นที่ทางเท้าไม่เพียงพอ เธอจึงมีนโยบายสร้าง Superblock เรียกคืนทางเดินเท้าให้ผู้หญิง ปัจจุบันบาร์เซโลน่าสร้างไปแล้ว 6 บล็อก และมีแผนจะสร้างมากกว่า 500 บล็อก

อีกนโยบายที่โดดเด่นคือ Street Eye ที่พยายามออกแบบให้บาร์เซโลนาปลอดมุมอับ ผู้คนบนท้องถนนรู้สึกปลอดภัยเพราะมองเห็นกันได้ตลอดและยังช่วยเหลือกันได้ทันเวลาหากเกิดอะไรขึ้น โดยนโยบายนี้กำหนดรายละเอียดการออกแบบมาหลายอย่าง เช่น การปลูกพืชริมทางที่ไม่สูงกว่า 1 เมตร และไม่ปิดกั้นแสง รวมถึงมีกำหนดว่าทางเข้าอาคารสร้างใหม่ต้องออกแบบไม่ให้อยู่ในมุมอับ

สุดท้ายคือนโยบาย Anti-sexist ที่ผู้เชี่ยวชาญจะให้ความรู้ประชาชนและอธิบายว่า หากถูกคุกคามทางเพศ เมืองมีบริการความปลอดภัยอย่างไรบ้าง

คุยเรื่อง Gender-inclusive City หรือเมืองที่นับรวมคนทุกเพศ อีกประเด็นของการพัฒนาเมืองที่สำคัญและน่านำมาคิดต่อไม่แพ้ประเด็นไหน

ด้วยบริบทที่ต่างกันไป แต่ละเมืองมีความต้องการที่แตกต่างกันในรายละเอียด หากผู้มีอำนาจและผู้ออกแบบเมืองใส่ใจ ก็จะยิ่งเข้าใจ Pain Point และนำไปพัฒนาเมืองได้เท่านั้น

ถามว่า Woke ไปไหม? ไม่มากไปหรอก

ไม่มีคำว่ามากไปสำหรับการพัฒนาที่จะนับรวมคนทุกคนในสังคมให้มากขี้น โดยเฉพาะเมื่อเมืองกลายเป็น Gender-inclusive City ขึ้นมาจริง ๆ ก็ไม่มีใครต้องเสียประโยชน์เลย แม้แต่ผู้ชาย

ภาพ : we!park

ข้อมูลอ้างอิงและที่มาภาพประกอบ
  • www.thaipost.net/public-relations-news/99795/
  • www.bbc.com/travel/article/20210524-how-vienna-built-a-gender-equal-city
  • www.theguardian.com/cities/2019/may/14
  • streets.mn/2020/05/22/how-can-cities-be-designed-for-women
  • www.la21wien.at/blog-detail-la21

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล