อยู่เมืองไทย ใครเลยจะไม่เคยเห็นครุฑ

สัตว์ใหญ่ในตำนาน อมนุษย์ครึ่งคนครึ่งนก พาหนะของพระนารายณ์ผู้ทรงเป็นหนึ่งในสามมหาเทพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู สัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์

คติความเชื่อที่ไล่เรียงมาข้างต้น ล้วนเป็นคำตอบว่าทำไมครุฑจึงมีความศักดิ์สิทธิ์และสำคัญยิ่งในสังคมไทย แม้ว่าเราทุกคนจะไม่เคยเห็นครุฑองค์เป็น ๆ แต่ศิลปะรูปครุฑกลับปรากฏอยู่ทั่วทุกแห่งหน ทั้งในจิตรกรรมฝาผนัง วัตถุมงคล ผืนธง ตราแผ่นดิน ไปจนกระทั่งประติมากรรมหน้าห้างร้านหรือธนาคารต่าง ๆ ที่เด็กทุกคนน่าจะเคยถูกผู้ใหญ่ชี้ชวนให้ดูกันทั้งนั้น

พิพิธภัณฑ์ครุฑ มิวเซียมเดียวในอาเซียนที่สร้างขึ้นเพื่อเล่าเรื่องครุฑโดยเฉพาะ

แต่จะมีสถานที่ใดในไทย (และในโลก) ที่มีครุฑให้เห็นมากเท่าที่นี่ไหม

ทดคำถามนี้ไว้ในใจ แล้วให้ตัวอักษรพาทุกท่านเยี่ยมยลพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไปพร้อม ๆ กัน

ครุฑหน้าธนาคาร

หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่า ตราครุฑที่ติดอยู่หน้าธนาคารเรียกว่า ‘ตราตั้งห้าง’ หรือ ‘ตราตั้ง’ เป็นรูปครุฑพ่าห์หรือครุฑซึ่งเป็นพาหนะ ตราครุฑพ่าห์ (พระครุฑพ่าห์) ถูกใช้ในส่วนราชการมาช้านาน ก่อนจะมีการออกแบบตราครุฑพ่าห์สำหรับใช้เป็นตราตั้งห้างของภาคเอกชนให้มีลักษณะต่างกันเล็กน้อย ธุรกิจเอกชนสามารถขอตราตั้งห้างประดับอาคารที่ทำการได้ ด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากสำนักพระราชวัง ซึ่งมีเงื่อนไขว่ากิจการนั้นจะต้องปลอดหนี้สิน ทำธุรกิจด้วยความสุจริต และทำคุณประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง เป็นต้น

ธนาคารเอกชนมากมายได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ติดตั้งตราครุฑ หลายแห่งยังดำเนินกิจการอยู่ ขณะที่บางแห่งก็สิ้นชื่อไปจากสารบบนานแล้ว ตัวอย่างเช่น ‘ธนาคารนครหลวงไทย’ ซึ่งควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาตไปเมื่อ พ.ศ. 2554

พิพิธภัณฑ์ครุฑ มิวเซียมเดียวในอาเซียนที่สร้างขึ้นเพื่อเล่าเรื่องครุฑโดยเฉพาะ

เนื่องจากนครหลวงไทยเป็นธนาคารเก่าแก่ ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 8 ประกอบธุรกิจการเงินนานกว่า 70 ปี ในวันที่ยุบรวมกับธนชาต ย่อมเป็นธรรมดาที่ธนาคารนี้จะได้รับพระราชทานครุฑ แต่เมื่อกิจการถูกโอนสู่มือเจ้าของใหม่อย่างธนาคารธนชาต องค์ครุฑที่เคยกางปีกเป็นสง่าอยู่หน้าสาขาธนาคารนครหลวงไทยทั่วประเทศจำต้องถอดลงตามกฎหมาย แต่แทนที่จะเก็บครุฑทั้งหมดไว้ให้เปล่าดาย ผู้บริหารธนาคารกลับเล็งเห็นคุณค่าของตราครุฑพระราชทานเหล่านี้

จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘พิพิธภัณฑ์ครุฑ’ ที่รวบรวมองค์ครุฑจากธนาคารนครหลวงไทยสาขาต่าง ๆ มาจัดแสดงไว้ที่บางปู

ในระยะแรก พิพิธภัณฑ์ครุฑสงวนไว้ให้เข้าชมได้เฉพาะผู้ติดต่อเข้ามาเป็นกรณีพิเศษ เช่น คณะนักเรียนที่เข้ามาทัศนศึกษา กระทั่งธนาคารธนชาตได้ควบรวมกิจการกับธนาคารทหารไทยใน พ.ศ. 2564 และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) ที่นี่จึงเปิดสู่สาธารณชนเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก

พิพิธภัณฑ์ครุฑ มิวเซียมเดียวในอาเซียนที่สร้างขึ้นเพื่อเล่าเรื่องครุฑโดยเฉพาะ

“พิพิธภัณฑ์ครุฑแห่งนี้ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืนของทีทีบี ที่เราได้วางแนวทางการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเยาวชน ชุมชน และการจุดประกายความเป็นไทย ซึ่งองค์ครุฑอยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน เป็นสัญลักษณ์แห่งความกตัญญู ความซื่อสัตย์ และความดีงาม ซึ่งไม่ว่าโลกจะทันสมัยไปอีกสักแค่ไหน แต่ 3 สิ่งนี้ยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่าที่เราควรรักษา”

คุณกาญจนา โรจวทัญญู ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการตลาดและประสบการณ์ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวกับพวกเราชาว The Cloud ไว้

“พิพิธภัณฑ์ครุฑแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความเฉพาะตัว ด้วยเรื่องราวของพญาครุฑ การอนุรักษ์และจัดแสดงครุฑพระราชทานกว่า 150 องค์ รวมถึงการถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทยที่จะส่งผ่านถึงคนรุ่นหลังให้ตระหนักถึงคุณค่าขององค์ครุฑ ในรูปแบบการจัดแสดงที่ทันสมัยทั้งแอนิเมชันและมัลติมีเดียที่เหมาะกับผู้ชมทุกวัย เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับทุกคนในครอบครัว ซึ่งการเปิดให้ชมสำหรับบุคคลทั่วไปครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี จึงนับเป็นโอกาสดีที่พิพิธภัณฑ์ครุฑแห่งนี้จะเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมที่คนไทยทุกคนจะได้ร่วมภาคภูมิใจ”

ครุฑองค์ใหญ่

พิพิธภัณฑ์ครุฑ มิวเซียมเดียวในอาเซียนที่สร้างขึ้นเพื่อเล่าเรื่องครุฑโดยเฉพาะ

สิ่งแรกที่ทุกคนจะได้เห็นเมื่อมุ่งหน้ามาถึงพิพิธภัณฑ์ครุฑในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ซอย 9A ก็คือประติมากรรมรูปครุฑองค์ใหญ่สูงกว่า 4 เมตร สยายปีกต้อนรับผู้มาเยือนอยู่เหนือป้ายชื่อพิพิธภัณฑ์ สีสันที่ลอกเลือนตามกาลเวลาบอกให้รู้ว่าครุฑองค์ใหญ่นี้มีอายุไม่ต่ำกว่าครึ่งศตวรรษ

ครุฑองค์นี้ได้รับการอัญเชิญมาจากหน้าสำนักงานใหญ่ของอดีตธนาคารนครหลวงไทยบนถนนเพชรบุรี ไม่นานหลังเกิดการรวมกิจการเมื่อ พ.ศ. 2554 พร้อมกับเสียงร่ำลือมากมายเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของพญาครุฑองค์นี้ จึงเกิดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่จะเชื้อเชิญให้ทุกคนที่มาเยี่ยมเยือนได้จุดธูปสักการะครุฑองค์ใหญ่ก่อนเข้าชมพิพิธภัณฑ์ 

ตึกทรงครุฑ

พิพิธภัณฑ์ครุฑ มิวเซียมเดียวในอาเซียนที่สร้างขึ้นเพื่อเล่าเรื่องครุฑโดยเฉพาะ

พิพิธภัณฑ์ครุฑแห่งนี้อยู่ในอาคารหลังเดียวกับศูนย์ฝึกอบรมธนาคารธนชาต บางปู

ตอนที่ถอดครุฑลงจากธนาคารนครหลวงไทยแต่ละสาขา องค์ครุฑพระราชทานเหล่านั้นก็ได้รับการอัญเชิญมาไว้ศูนย์ฝึกอบรม ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญมากที่อาคารนี้มีปีกยื่นออกไปสองข้าง แผนผังคล้ายกับพญาครุฑในอิริยาบถกางปีกอันคุ้นตา หากมองมาจากมุมสูง

สถานที่นี้จึงเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้ประดิษฐานองค์ครุฑซึ่งอัญเชิญมาจากทั่วสารทิศ โดยพื้นที่ที่ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์คืออาคารกลางและปีกขวาบางส่วน

ภายในพิพิธภัณฑ์มี 2 ชั้น แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 6 ส่วน มีเจ้าหน้าที่พาชมและคอยให้ความรู้เป็นรอบ ๆ เพื่อให้ผู้เข้าชมทุกชีวิตก้าวสู่โลกของพญาครุฑไปพร้อม ๆ กัน

โถงต้อนรับ

ประตูบานเลื่อนอัตโนมัติสองบานตั้งขนาบกลางป้ายประกาศสรรพคุณของที่นี่ว่า ‘พิพิธภัณฑ์ครุฑแห่งแรกและแห่งเดียวในอาเซียน’ เพราะแม้ว่าเรื่องเล่าความเชื่อเกี่ยวกับพญาปักษีจะมีอยู่ทั่วอุษาคเนย์ แต่ก็ไม่มีพิพิธภัณฑ์ใดในภูมิภาคนี้ที่มีครุฑเป็นธีมหลัก นอกจากที่นี่

พิพิธภัณฑ์ครุฑ มิวเซียมเดียวในอาเซียนที่สร้างขึ้นเพื่อเล่าเรื่องครุฑโดยเฉพาะ

เมื่อเราย่างเท้าผ่านประตูบานนี้ไป สายตาก็จะเผชิญกับผนังทรงโค้งวาดลวดลายธรรมชาติของป่าหิมพานต์ ความเจ๋งของฝาผนังนี้อยู่ที่ QR Code ซึ่งสแกนเพื่อใช้ฟิลเตอร์ใหม่ในอินสตาแกรมสตอรี่ได้ หากนำกล้องมือถือไปส่องกับผนัง ก็จะพบภาพกราฟิก AR (Augmented Reality) เล่าขานศึกสายเลือดระหว่างครุฑกับนาคโดยมีป่าหิมพานต์เป็นพื้นหลัง

พิพิธภัณฑ์ครุฑ มิวเซียมเดียวในอาเซียนที่สร้างขึ้นเพื่อเล่าเรื่องครุฑโดยเฉพาะ
พิพิธภัณฑ์ครุฑ มิวเซียมเดียวในอาเซียนที่สร้างขึ้นเพื่อเล่าเรื่องครุฑโดยเฉพาะ

ส่วนจัดแสดงนี้ยังมีห้องฉายภาพยนตร์สั้นที่จะพาผู้ชมไปรู้จักประวัติพิพิธภัณฑ์ และเรื่องราวเบื้องต้นของพญาครุฑ เริ่มตั้งแต่จุดกำเนิด ข้อแตกต่างระหว่างครุฑในศาสนาฮินดูกับพุทธ ธรรมชาติของครุฑ ฯลฯ เพื่อปูทางความรู้เรื่องครุฑก่อนไปชมส่วนจัดแสดงต่อไป

ครุฑพิมาน

เสร็จจากการเยี่ยมชมพื้นที่จัดแสดงชั้นล่าง เจ้าหน้าที่ก็จะพาเราทุกคนขึ้นไปชั้นบนโดยผ่านบันไดที่ตกแต่งด้วยก้อนหินและสุมทุมพุุ่มไม้หนาทึบประหนึ่งผืนป่าใจกลางตึก

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะชั้นบนของพิพิธภัณฑ์เป็นภาพจำลองของป่าหิมพานต์ตามคติความเชื่อของชาวไทยในอดีต ซึ่งภาพจำลองนั้นยิ่งดูแจ่มชัดขึ้นเมื่อเราไปถึงส่วนจัดแสดงที่สองอันมีชื่อว่า ‘ครุฑพิมาน’

พิพิธภัณฑ์ครุฑ มิวเซียมเดียวในอาเซียนที่สร้างขึ้นเพื่อเล่าเรื่องครุฑโดยเฉพาะ

โถงใหญ่กลางชั้นสองคือห้องเรียนจักรวาลไตรภูมิ และดินแดนในเทพนิยายอย่างป่าหิมพานต์ ป่าเชิงเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่อยู่ของสิงสาราสัตว์นานาชนิด

ช่องว่างกลางโถงถูกดัดแปลงเป็นสระอโนดาต สระน้ำหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตที่ไม่มีวันแห้งเหือดตราบเท่าที่กลียุคยังไม่มา มุมสระทั้ง 4 ทิศมีทางน้ำไหลระบายออกจากปากสัตว์มงคล 4 ชนิด ประกอบด้วยราชสีห์ ช้าง ม้า และโค รอบพื้นที่จัดแสดงเดียรดาษไปด้วยต้นไม้ สัตว์หิมพานต์ ฤๅษี คนธรรพ์ วิทยาธร รวมถึงต้นไม้ประหลาดอย่าง ‘นารีผล’ หรือ ‘มักกะลีผล’ ที่ออกผลเป็นหญิงสาววัยแรกรุ่น มีหน้าตาสะสวยราวนางอัปสร ดึงดูดให้เหล่าเทวดาเพศชายพากันหมายปองและแย่งชิงกันเด็ดไปเชยชม

นครนาคราช

พิพิธภัณฑ์โดยธนาคารทหารไทยธนชาตที่ให้คุณได้สักการะองค์ครุฑ ฟังเทพปกรณัมหิมพานต์ เที่ยวชมครุฑที่มีมากถึง 150 องค์

เมื่อพูดถึง ‘ครุฑ’ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะหลีกเลี่ยงการพูดถึง ‘นาค’ ซึ่งเป็นพี่น้องต่างมารดาและศัตรูตัวฉกาจของเจ้าแห่งนก

ส่วนจัดแสดงที่ 3 มีชื่อว่า ‘นครนาคราช’ ซึ่งมาในธีมโลกบาดาล ฉากพรรณไม้ในป่าหิมพานต์เมื่อห้องที่แล้วถูกแทนที่ด้วยสีน้ำเงินของเกลียวคลื่นและผืนสมุทร เมื่อมาถึงห้องนี้ ผู้เข้าชมจะได้รู้จักความเชื่อเรื่องโลกบาดาลในพุทธศาสนา บทบาทของพญานาคผู้ยิ่งใหญ่ในฐานะสัตว์พาหนะของพระนารายณ์ขณะบรรทมอยู่เหนือเกษียรสมุทร ปิดท้ายด้วยตำนานความบาดหมางระหว่างพญานาคกับพญาครุฑที่เป็นพี่น้องต่างมารดาของกัน แต่กลับต้องบาดหมางกันเพราะนางวินตา มารดาพญาครุฑตกเป็นทาสของนางกัทรุ มารดาแห่งนาค 1,000 ตน นานถึง 500 ปี พญาครุฑจึงใช้สติปัญญาของตนชิงเอาน้ำอมฤตไปไถ่ความเป็นทาสแก่ผู้ให้กำเนิดได้สำเร็จ เป็นเหตุให้นาคกับครุฑกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันสืบมา

อมตะเจ้าเวหา

ส่วนจัดแสดงที่ 4 มีลักษณะเป็นห้องทรงกลมโอบล้อมด้วยประติมากรรมครุฑพ่าห์ 

เมื่อสาวเท้าเข้าสู่ห้องนี้ รอบตัวเราจะมืดสนิท ก่อนที่แสงแรกจะฉายฉานขึ้นบนหน้าจอทรงโค้ง เพื่อสดุดีคุณธรรมอันสูงส่งขององค์ครุฑ อันได้แก่ความกล้าหาญ ความเสียสละ และความกตัญญูกตเวทิตา

พิพิธภัณฑ์โดยธนาคารทหารไทยธนชาตที่ให้คุณได้สักการะองค์ครุฑ ฟังเทพปกรณัมหิมพานต์ เที่ยวชมครุฑที่มีมากถึง 150 องค์

แอนิเมชันลายเส้นสวยในห้องนี้บรรยายเหตุการณ์ตอนที่พญานาคตั้งข้อแลกเปลี่ยนกับพญาครุฑให้ไปชิงน้ำอมฤตมาเพื่อปลดปล่อยนางวินตาสู่ความเป็นไทอีกครั้ง แม้ว่าพระนารายณ์จะเสด็จขึ้นมาจากการบรรทมหลับกลางทะเลน้ำนมเพื่อหยุดยั้งการชิงน้ำอมฤตของพญาครุฑ แต่พญาครุฑก็ยังดึงดันจะช่วยมารดาให้ได้ทั้งที่ต้องเสี่ยงถึงชีวิต ทั้งสองฝ่ายจึงประจัญบานกัน ผลลงเอยที่ไม่มีฝ่ายใดแพ้หรือชนะ พระนารายณ์จึงทรงแลกเปลี่ยนกับครุฑ ด้วยการขอใช้ครุฑเป็นพาหนะยามที่พระองค์เสด็จไปไหนต่อไหน และทรงยินยอมให้ครุฑอยู่ในตำแหน่งสูงกว่าพระองค์ พร้อมประทานความเป็นอมตะให้ เป็นที่มาของชื่อห้อง ‘อมตะเจ้าเวหา’

ล้นเกล้าจอมราชัน

แอนิเมชันอันน่าตื่นเต้นจบลงพร้อมกับความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้น ผู้เข้าชมอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ได้เข้าใจกันแล้วว่าเหตุใดพญาครุฑถึงมีความผูกพันกับพระนารายณ์อย่างแนบแน่น แต่ขณะเดียวกัน หลายคนก็อาจเกิดความฉงนใจก้อนใหม่ขึ้นมาแทนว่า ครุฑเกี่ยวข้องอย่างไรกับชาติไทย สัญลักษณ์รูปครุฑจึงโผล่มาอยู่ในเอกสารราชการให้เราเห็นได้แทบทุกวัน

‘ล้นเกล้าจอมราชัน’ ส่วนจัดแสดงที่ 5 ให้คำตอบเรื่องนี้ได้ดีเยี่ยม ด้วยสื่อผสมผสานทั้งวิดีโอและป้ายให้ข้อมูล ทำให้ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้รู้ว่าศิลปกรรมรูปครุฑนั้นพบในดินแดนไทยมาตั้งแต่ยุคทวารวดีแล้ว ก่อนจะทวีความสำคัญขึ้นในสมัยอยุธยา เมื่อตรา ‘ครุฑพ่าห์’ เริ่มได้รับการใช้เป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงกับพระมหากษัตริย์ เหตุเพราะคติเทวราชที่ไทยรับมาจากเขมรมีความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์เป็นอวตารของพระนารายณ์ ผู้ทรงครุฑเป็นพาหนะ

พิพิธภัณฑ์โดยธนาคารทหารไทยธนชาตที่ให้คุณได้สักการะองค์ครุฑ ฟังเทพปกรณัมหิมพานต์ เที่ยวชมครุฑที่มีมากถึง 150 องค์

สื่อจัดแสดงในห้องนี้เล่าย้อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่โบราณกาลมาจนถึงยุคปัจจุบัน อธิบายสาเหตุที่ธงตราครุฑบนพื้นเหลืองอันมีชื่อเรียกว่า ‘ธงมหาราช’ ต้องถูกเชิญขึ้นเหนือเสาพระราชวังเมื่อพระมหากษัตริย์ไทยประทับอยู่ การออกแบบตราครุฑพ่าห์โดยฝีพระหัตถ์เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือมูลเหตุที่ตราครุฑพ่าห์กลายเป็นตราแผ่นดินไทยสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 

นอกจากนี้ ด้วยความที่พิพิธภัณฑ์ครุฑเปิดทำการครั้งแรกใน พ.ศ. 2554 อันเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ พื้นที่หนึ่งในส่วนจัดแสดงนี้จึงถูกใช้บอกเล่าเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในรัชสมัย เพื่อเทิดพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินที่ครองสิริราชสมบัติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

พิพิธภัณฑ์โดยธนาคารทหารไทยธนชาตที่ให้คุณได้สักการะองค์ครุฑ ฟังเทพปกรณัมหิมพานต์ เที่ยวชมครุฑที่มีมากถึง 150 องค์

ห้องจัดแสดงครุฑ

ห้องที่เป็นทั้งไฮไลต์และจุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์ครุฑ ถือเป็นส่วนจัดแสดงสุดท้ายที่เราจะได้ชมกัน

ห้องโถงใหญ่ที่ผนังด้านหนึ่งเจาะหน้าต่างยาวตลอดแนว คือสถานที่ประดิษฐานครุฑตราตั้งห้างพระราชทานทั้ง 150 องค์ ซึ่งรับรองได้ว่าไม่มีที่ใดรวบรวมงานศิลปะเฉพาะตราครุฑไว้มากเท่าที่นี่มาก่อน

พิพิธภัณฑ์โดยธนาคารทหารไทยธนชาตที่ให้คุณได้สักการะองค์ครุฑ ฟังเทพปกรณัมหิมพานต์ เที่ยวชมครุฑที่มีมากถึง 150 องค์

องค์ครุฑที่เห็นอยู่นี้ส่วนใหญ่เป็นงานไม้ ย้ายมาจากธนาคารนครหลวงไทยกว่า 100 สาขา ต่างได้รับการดูแลรักษาให้คงอยู่ในสภาพเดิมวันที่อัญเชิญมาจากแหล่งเก่า โดยที่ไม่มีการซ่อมแซมแก้ไขเลยแม้แต่จุดเดียว เพื่อให้เห็นความเก่าแก่และสภาพจริงของครุฑองค์นั้นนั้น

การจะอัญเชิญองค์ครุฑมาจัดแสดงรวมกันที่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายเอาเสียเลย เพราะว่าครุฑเป็นของสูง เจ้าหน้าที่ผู้รับบทวิทยากรนำชมได้เล่าให้เราฟังว่า ก่อนจะเชิญแต่ละองค์ลงจากอาคารที่ติดตั้งไว้ ต้องมีการปิดตาครุฑเสียก่อน เพื่อไม่ให้สัตว์กึ่งเทพที่ปกติอยู่บนที่สูงเช่นครุฑมองในที่ต่ำ เมื่ออัญเชิญมาถึงพิพิธภัณฑ์ครุฑแล้วจึงต้องทำพิธีเบิกเนตรเพื่อความเป็นสิริมงคลอีกครั้งหนึ่ง

ทอดสายตาดูครุฑที่ประดับอยู่บนผนังและบนแท่นกลางห้อง แม้มองเพียงผ่าน ๆ ตาก็จะดูรู้ว่าครุฑแต่ละองค์มี ‘ครุฑลักษณะ’ แตกต่างกันทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพราะครุฑที่เห็นอยู่เป็นผลงานของนายช่างคนละคนกัน ต่างคนก็ต่างฝีมือ ต่างแนวคิด ต่างค่านิยมในการสร้าง ยังผลให้ครุฑเกือบทุกองค์ดูผิดแผกจากกันด้วยสรีระ ใบหน้า เครื่องทรง ไปจนถึงสีสันผ้านุ่งที่สวมใส่

อ้อ มาถึงห้องนี้แล้วอย่าลืมมองหาครุฑองค์แรกของธนาคารนครหลวงไทย กับครุฑจากสาขาเยาวราชด้วยนะ แล้วตอบตัวเองให้ได้ด้วยล่ะว่าครุฑสององค์นี้มีความพิเศษอย่างไรบ้าง

พิพิธภัณฑ์โดยธนาคารทหารไทยธนชาตที่ให้คุณได้สักการะองค์ครุฑ ฟังเทพปกรณัมหิมพานต์ เที่ยวชมครุฑที่มีมากถึง 150 องค์

พิพิธภัณฑ์ครุฑ โดยธนาคารทหารไทยธนชาต กำลังจะเปิดให้ชมอย่างเป็นทางการในวันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน 2565 โดยจะเปิดให้ชมเฉพาะวันศุกร์และเสาร์วันละ 3 รอบ ได้แก่ เวลา 10.00 น., 13.00 น. และ 15.00 น. มีผู้นำชมทุกรอบ และไม่มีค่าใช้จ่าย

เรื่องการเดินทาง ถึงแม้พิพิธภัณฑ์จะอยู่ไกลจากถนนใหญ่สักหน่อย แต่อย่าเพิ่งกังวลไป เพราะทางธนาคารได้จัดรถตู้คอยจอดรอรับ-ส่ง จากพิพิธภัณฑ์เคหะ วันละ 3 รอบ ตามเวลาเข้าชม

ส่วนใครที่อยากเข้าชม แต่ไปไม่ได้ด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ก็ไม่ต้องเสียใจอีกเช่นกัน เพราะพิพิธภัณฑ์ครุฑเปิดให้ชมทางออนไลน์ที่ Garuda Virtual Tour 

นี่คือพิพิธภัณฑ์ที่จะเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้กับพวกเราคนไทยว่า ครุฑนั้นมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากกว่าจะเป็นแค่ตราสัญลักษณ์ที่เห็นบ่อยจนชินชา

พิพิธภัณฑ์ครุฑ โดยธนาคารทหารไทยธนชาต

ที่ตั้ง : นิคมอุตสาหกรรมบางปู ซอย 9A ตำบลแพรกษาใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : วันศุกร์-เสาร์ เวลา 10.00 น., 13.00 น., 15.00 น.

โทรศัพท์ : 09 8882 3900

เว็บไซต์ : /www.ttbfoundation.org/th/garudamuseum/

หมายเหตุ

ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ครุฑจะได้รับของที่ระลึกเป็นแผ่นผ้าองค์ครุฑ พร้อมข้อความแสดงถึงคุณธรรมสำคัญที่องค์ครุฑทั้งสามข้อ เฉพาะผู้เข้าชม 500 ท่านแรกเท่านั้น

พิพิธภัณฑ์โดยธนาคารทหารไทยธนชาตที่ให้คุณได้สักการะองค์ครุฑ ฟังเทพปกรณัมหิมพานต์ เที่ยวชมครุฑที่มีมากถึง 150 องค์

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์