“ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา มีแมลงหายไปจากระบบนิเวศกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนที่เคยมี ด้วยสารเคมีที่เราใช้ ระบบเกษตรสมัยใหม่ และการพัฒนาถิ่นฐานของมนุษย์ที่ขยายตัวอย่างไม่หยุดหย่อน สิ่งเหล่านี้ทำให้มันสูญเสียถิ่นที่อยู่ และสูญพันธุ์ไปแบบที่เราไม่ทันได้รู้สึกตัว”

บทบรรยายท่อนนี้ในสารคดีธรรมชาติที่บังเอิญเปิดเจอในทีวี ทำให้เรานึกถึงภาพความทรงจำเกี่ยวกับแมลงต่าง ๆ สมัยยังเป็นเด็ก ช่วงหัวค่ำแมลงจะบินมาเล่นไฟเต็มบ้าน สำหรับผู้ใหญ่มันน่ารำคาญจนต้องเปิดไฟนอกบ้านเพื่อล่อแมลงออกไป แต่สำหรับเด็ก ๆ มันสนุกที่จะได้ออกไปดูว่ามีตัวอะไรบ้าง แมลงและแมงในความทรงจำที่ยังพอจำภาพได้ คือ แมงกะชอนที่มีปากคม ชีปะขาวตัวบางใสที่บินกันมาเป็นฝูงนับพัน แมงแคงที่เหม็นติดมือ ล้างเท่าไหร่ก็ไม่ยอมออก หรือผีเสื้อกลางคืนหลากหลายชนิด ที่ถ้าไปจับโดนปีกของมัน ผงขนสีฝุ่นจะติดอยู่ตรงปลายนิ้วมือ และถ้าเป็นช่วงปลายฝนอย่างนี้ ถ้าโชคดีจะได้ด้วงกว่างมาเล่นสักตัว 

เรายังจำได้ดีที่ตอนกลางคืนเวลาซ้อนมอเตอร์ไซค์ ผู้ใหญ่ต้องบอกให้หุบปากและหรี่ตาเพราะแมงจะเข้าตาและปาก หรือถ้าขับรถยนต์ตอนกลางคืนไปไหนกับพ่อ เช้ามาจะพบซากแมลงตายเต็มหน้ากระจกและไฟหน้ารถ ซึ่งตอนนี้เราแทบไม่เห็นแมลงที่หลากหลายแบบนี้แล้ว ในเมืองของเราแทบไม่มีแมลงเหมือนเมื่อก่อน ไม่มีสิ่งที่น่ารำคาญใจให้ต้องจัดการ แต่การหายไปครั้งใหญ่ของเหล่าแมลงนี้ กลับเป็นโจทย์สำคัญของการอยู่ได้ของโลกในอนาคต ซึ่งความหลากหลายและสายใยที่เกี่ยวร้อยของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ คือลมหายใจของโลกและเรา

6 วิธีเปลี่ยนสนามหญ้าหน้าบ้านให้กลายเป็นอุทยานจิ๋วของผีเสื้อและแมลง

พลังของสวนขนาดจิ๋ว

เดฟ กูลสัน (Dave Goulson) เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสวนขนาดเล็กหน้าบ้านในหนังสือที่ชื่อว่า The Garden Jungle or Gardening to Save the Planet ให้ภาพเชื่อมโยงสิ่งเล็ก ๆ ในสวนที่เราทำทุกวัน กับสิ่งที่ใหญ่ขึ้นเพื่อปกป้องความหลากหลายของโลก และที่สำคัญคือ พอเราได้เริ่มลงมือ ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ วัน เพื่อเป็นพลังและความหวังท่ามกลางสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่น่าหดหู่และชวนสิ้นหวัง 

เดฟยกเรื่องราวที่บันดาลใจของ เจนนิเฟอร์ โอเวิน (Jennifer Owen) คุณป้านักสัตววิทยา เธอปลูกดอกไม้และพืชพรรณต่าง ๆ ในสวนขนาด 0.07 เอเคอร์ หรือ ประมาณ 280 ตารางเมตร และใช้เวลากว่า 30 ปี ในการบันทึกว่า ในสวนของเธอที่มีพรรณไม้กว่า 400 ชนิด มีสัตว์และแมลงอะไรเข้ามาอยู่และใช้ประโยชน์จากต้นไม้ที่เธอปลูกบ้าง เธอพบแมลงกว่า 2,204 ชนิดในสวนหน้าบ้าน และ 91 ชนิดที่พบเป็นแมลงวันดอกไม้ที่สำคัญจากทั้งหมด 256 ชนิดที่พบในสหราชอาณาจักร มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน และพืชรวมกันมากกว่า 2,673 ชนิด สิ่งมีชีวิตเหล่านี้อยู่ร่วมอาศัยในพื้นที่ขนาดย่อม ๆ แห่งนี้ 

งานแห่งชีวิตของคุณป้าเจนนิเฟอร์ โอเวิน ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนและมีส่วนสำคัญในการวางรากฐาน ให้สังคมเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูพื้นที่นิเวศในเมืองยุคต่อมา และที่สำคัญคือ คนทั่วไปก็มีส่วนร่วมในงานฟื้นฟูนี้ได้ ด้วยการลงมือที่หน้าบ้านของตัวเอง

6 วิธีเปลี่ยนสนามหญ้าหน้าบ้านให้กลายเป็นอุทยานจิ๋วของผีเสื้อและแมลง
6 วิธีเปลี่ยนสนามหญ้าหน้าบ้านให้กลายเป็นอุทยานจิ๋วของผีเสื้อและแมลง

จะเป็นไปได้ไหมนะ ที่เราจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงโลกทัศน์และวัฒนธรรมการ ‘จัดสวน’ ของเรา ให้มีพื้นที่แบ่งปันสำหรับเพื่อนสิ่งมีชีวิตรอบตัว เปลี่ยนจากสวนที่มนุษย์เป็นผู้ควบคุมธรรมชาติ ให้เป็นพื้นที่เพื่อการฟื้นคืนธรรมชาติ (Rewilding) เพื่อให้เรากลับมาเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับชีวิตอื่นอย่างเคารพ ด้วยความงามและความรู้สึกสัมพันธ์ที่ค่อย ๆ ฟื้นคืนกลับมา เพราะในโลกธรรมชาติ อาจไม่ได้มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ศัตรูพืช’ หรือ ‘วัชพืช’ ให้กำจัดเสียทั้งหมด ด้วยเพราะมันไม่ได้ให้ประโยชน์ระยะสั้นโดยตรงกับเรา

คอลัมน์ตอนนี้ เราอยากเชิญชวนทุกคนเดินออกไปสำรวจสนามหญ้าหน้าบ้าน ที่ว่างรอบ ๆ บ้าน นอกรั้วบ้าน หรือที่ทำงาน และลองดูซิสิว่ามีพื้นที่ตรงไหนบ้าง ที่พอจะลงมือเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ บางอย่างได้ เพื่อร่วมกันสร้างอุทยานจิ๋วให้กับนก ผีเสื้อ และแมลง

6 องค์ประกอบของสวนเพื่อนแมลง

1. ไม่ใช้สารเคมีในสวน

แมลงและแมงหลายชนิดอ่อนไหวกับสารเคมีมาก ๆ เช่น ผึ้ง ชันโรง ผีเสื้อ ซึ่งเราอาจจะเคยรู้กันอยู่แล้ว แต่มีแมลงและแมงบางพวกที่วางไข่และตัวอ่อนในดินหรือพื้นที่ชื้นแฉะ ซึ่งเราไม่ค่อยได้สังเกตเห็น อย่างจักจั่น ผึ้งที่อยู่ในดิน ที่จะหายวับไปจากสวนในบ้านของเรา เพราะสารเคมีที่เราใช้ไหลซึมลงไปในดิน หรือจากละอองเคมีที่เราฉีดพ่นตกลงบนผิวน้ำ ซึ่งเป็นที่วางไข่และตัวอ่อนของแมลงที่น่ารักอย่างชีปะขาว หิ่งห้อย และแมลงปอ

2. ไม้ยืนต้นที่หลากหลาย

การปลูกผลไม้ที่หลากหลาย ดึงดูดได้ทั้งกระรอก กระแต นก และผีเสื้อ กิ่งก้านของมันยังเป็นที่ปลอดภัยให้นกสร้างรังในช่วงวางไข่ เป็นบ้านของกิ้งก่า และกิ่งผุเก่าแก่ยังเป็นโพรงอย่างดีให้กับนกตีทอง ยอดทรงพุ่มของเรือนยอดที่ต่อกันแพ ยังทำหน้าที่เป็นระเบียงนิเวศหรือทางด่วนยกระดับอย่างดี ให้สัตว์ได้เดินทางเคลื่อนย้ายและกระจายพันธุ์ เชื่อมต่อกันจากหย่อมป่าเล็ก ๆ จากบ้านหนึ่งไปสู่อีกบ้านหนึ่ง ต้นไม้หลายชนิดที่ดอกบานตอนกลางคืน อย่างแคนา เพกา ละมุด ยังช่วยดึงดูดค้างคาวที่ช่วยกินยุงให้กับเรา

6 วิธีเปลี่ยนสนามหญ้าหน้าบ้านให้กลายเป็นอุทยานจิ๋วของผีเสื้อและแมลง
6 วิธีเปลี่ยนสนามหญ้าหน้าบ้านให้กลายเป็นอุทยานจิ๋วของผีเสื้อและแมลง

3. ไม้ดอกที่หลากหลาย รูปทรง สี ขนาด

การมีดอกไม้หลายหลายชนิดในสวน ทั้งสีสัน รูปทรง และขนาด ยังดึงดูดผีเสื้อและผึ้งแตกต่างชนิดกัน เพราะว่าปากดูดน้ำหวานของผีเสื้อกับดอกไม้ต่างวิวัฒนาการมาร่วมกัน ส่วนแมลงต่าง ๆ ก็เห็นสีไม่เหมือนกับที่เราเห็น เช่น ผึ้งไม่เห็นสีแดง แต่เห็นสีฟ้า เหลือง ชมพู ส้ม ได้ดี ดังนั้น ถ้าสวนเรามีดอกไม้หลากหลายสีสัน รูปทรง ก็ย่อมดึงดูดผีเสื้อและแมลงได้หลากหลายชนิด กว่าสวนที่มีดอกสวยเพียงชนิดเดียว

4. หญ้าหลากหลายระดับความสูง

เรามักสบายใจเมื่อเห็นหญ้าเรียบเตียน และรู้สึกขัดตากับความรกเมื่อเห็นหญ้ายาว ๆ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเราต่างเคยมีสัญชาตญาณที่ต้องเอาตัวรอดในทุ่งหญ้า เพื่อระวังภัยจากสัตว์ป่าในอดีต การได้เห็นทุ่งโล่งจึงเกิดความสบายใจในระดับพันธุกรรม แต่ในเมืองปัจจุบันไม่ต้องกลัวสัตว์ป่าเหมือนในอดีต และการมีพื้นที่ที่ปล่อยให้หญ้ายาวได้บ้างนั้นก็ดีกับระบบนิเวศ เช่น เมล็ดหญ้าบางชนิดเป็นอาหารให้นกปากสั้น ๆ อย่างนกกระจอก นกกะติ๊ด พงหญ้ายังเป็นที่หลบภัยและบ้านให้สัตว์และแมลงอย่างเต่าทอง หรือแม้แต่เป็นวัสดุทำรังของนกกระจาบ 

หากเราลองสังเกตดอกหญ้าในเมือง เราจะพบว่าจะเห็นความหลากหลายของหญ้าเพียงไม่กี่ชนิด เพราะเมล็ดหญ้าที่ฝังอยู่ในดินไม่ได้มีโอกาสได้งอก เพราะโดยตัดเสียก่อน การมีพื้นที่รกชัฏให้หญ้าได้ยาวบ้างในพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น ริมแม่น้ำ ริมคลอง ยังช่วยกรองสารเคมีจากพื้นที่เมืองลงแหล่งน้ำ หรืออุณหภูมิของใต้ดินบริเวณนั้นยังลดลงกว่าพื้นที่หญ้าประดับสั้น ๆ การเว้นพื้นที่มุมใดมุมหนึ่งของบ้านให้หญ้ามีโอกาสยาวได้บ้าง อาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนิเวศของเมืองได้

6 วิธีเปลี่ยนสนามหญ้าหน้าบ้านให้กลายเป็นอุทยานจิ๋วของผีเสื้อและแมลง

5. แหล่งน้ำ

แหล่งน้ำจำเป็นกับสัตว์และแมลง ซึ่งอาจจะแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ แอ่งน้ำที่ตื้นมาก ๆ ประมาณ 2 – 15 เซนติเมตร อย่างถาดดินเผาเพื่อให้นกอาบน้ำ กินน้ำ หรือสระน้ำตื้น ๆ ซึ่งอาจเป็นบ่อปูนหรือบ่อดินที่ลึกตั้งแต่ 15 – 50 เซนติเมตร แหล่งน้ำที่ว่านี้อาจเป็นอันเดียวกันได้ โดยต้องมีขนาดความลึกหลากหลาย เพราะความต่างระดับที่หลากหลายของระดับน้ำ ทำหน้าที่ต่างกัน เช่น เป็นที่อาบน้ำ กินน้ำของนก เป็นที่กินน้ำของผึ้ง วางไข่ของแมลงปอ หรือเป็นที่วางไข่ของกบ หรือเลี้ยงปลา 

รวมทั้งพืชน้ำที่หลากหลายก็ชอบระดับที่แตกต่างกัน จุดสำคัญคือ แหล่งน้ำนี้ต้องมีจุดที่นกและแมลงเกาะได้อย่างปลอดภัย หรือจุดสัญจรให้สัตว์ขึ้นลงน้ำได้อย่างปลอดภัย แหล่งน้ำนี้ควรมีส่วนที่โดนแดดบ้าง และอยู่ในร่มบ้าง เพื่อไม่ให้อุณหภูมิของน้ำร้อนเกินไป หรือร่มจนพืชน้ำทั้งชายน้ำและในน้ำขึ้นไม่ได้ เพราะความหลากหลายของพืชในน้ำและพืชชายน้ำ เป็นตัวสร้างสมดุลของธาตุอาหารในแหล่งน้ำ

6 องค์ประกอบง่าย ๆ ในสวน ที่อยากชวนทุกบ้านทำ เพื่อให้เรากับธรรมชาติกลับมาคุ้นเคยกันมากขึ้นกับการเปลี่ยนสนามหญ้าหน้าบ้าน

6. กองใบไม้ กองท่อนไม้

ตรงบริเวณกองใบไม้หรือกองปุ๋ยหมักของบ้าน มักเป็นพื้นที่ชื้นเย็น สัตว์เลื้อยคลานและแมลงมักไปวางไข่หรือทำรัง จุดนี้ควรจะอยู่ห่างจากตัวบ้าน และแต่ละปีควรรื้อออกไปใช้เป็นปุ๋ยบ้าง เพื่อให้นก (หรือไก่) มาช่วยกำจัดแมลงหรือแมงที่มีพิษ เช่น ตะขาบ แมงป่อง กองท่อนไม้ที่วางไว้ในตำแหน่งเย็น ๆ แบบนี้ มักดึงดูดให้ผึ้งมิ้มมาอยู่ รวมทั้งจิ้งเหลนซึ่งไม่ได้มีพิษมาอยู่ และทั้งสองเป็นแหล่งอาหารสำคัญของนกผู้ล่า

ด้วยการเพิ่มเติม 6 องค์ประกอบเหล่านี้ที่ทำได้ง่าย ๆ ในพื้นที่รอบบ้านของเรา พื้นที่ที่เคยแห้งแล้งก็จะกลายเป็นที่สวนจิ๋วที่เป็นมิตรกับสัตว์และแมลง

เมื่อสวนและเราให้ธรรมชาติฟื้นคืน

ภาพสวนดอกไม้ขนาดย่อม ๆ รวมทั้งผีเสื้อและแมลงที่เห็นในคอลัมน์นี้ เป็นสวนที่มีอายุประมาณ 6 เดือนหน้าสตูดิโอของเรา ที่ทดลองเปลี่ยนสนามหญ้าบางส่วนให้เป็นทุ่งดอกไม้หลากหลายชนิด เราช่วยกันพรวนดินและหว่านเมล็ดดอกไม้ที่เราเก็บมาจากที่ต่าง ๆ พร้อมปลูกไม้พุ่มแทรกลงไปในแปลงรูปฟรีฟอร์ม มีทางเดินแคบ ๆ ตัดผ่านเข้าไปในแปลง เพื่อให้สังเกตรายละเอียดในระยะใกล้ ๆ นอกเหนือจากการทดลองเรียนรู้และสังเกตว่า สวนแบบนี้จะดึงดูดผึ้ง ผีเสื้อและแมลงชนิดไหนเข้ามาอยู่อาศัยบ้าง เราตั้งใจทดลองดูว่า สวนดอกไม้แบบไหนที่ดูแลไม่เยอะ และไม่ต้องเปลี่ยนปลูกใหม่ทุกฤดู และสอง มันให้มุมมองความงามที่ใกล้เคียงธรรมชาติกับความรู้สึกของเราในแง่ไหนบ้าง

ไม่น่าเชื่อว่าพื้นที่ขนาด 6 x 8 เมตร จะปลูกพืชพรรณได้กว่า 32 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้ดอกธรรมดา ๆ ที่พบเห็นได้ตามข้างทาง ขึ้นแทรกตรงรอยแตกของทางเดินคอนกรีต หรืออยู่ตามทุ่งร้าง รั้วบ้านของชาวบ้านในชนบทที่เราผ่านทาง และขอเก็บเมล็ดกลับมา มีหลายชนิดที่ขึ้นเองโดยไม่ได้ตั้งใจปลูก มีแมลงและแมงที่เราถ่ายรูปได้กว่า 48 ชนิด และอีกหลายชนิดที่เราถ่ายรูปไม่ได้ 

เราสังเกตว่ามีผีเสื้อที่มีขนาดและสีสันแตกต่างกัน 6 ชนิด และมีผึ้ง ชันโรง ต่อ แตน รวมกันน่าจะประมาณ 9 ชนิด เรายังเคยเจอผึ้งบัมเบิ้ลบีตัวใหญ่ ๆ ขนฟู ๆ ในสวนอีกด้วย ไม่แน่ใจว่าผีเสื้อและแมลงทั้งหมดนี้มีอยู่มาก่อนที่เราทำสวน หรือการที่เราทำสวนเป็นการดึงดูดแมลงเหล่านั้นให้เข้ามาอยู่ แต่ที่แน่ ๆ เราสัมผัสและรับรู้ถึงการมีอยู่ของเพื่อนตัวจิ๋วเหล่านี้มากขึ้น

6 องค์ประกอบง่าย ๆ ในสวน ที่อยากชวนทุกบ้านทำ เพื่อให้เรากับธรรมชาติกลับมาคุ้นเคยกันมากขึ้นกับการเปลี่ยนสนามหญ้าหน้าบ้าน

การมีสวนที่เต็มไปด้วยรายละเอียดแบบนี้ช่วยทำให้เราช้าลง เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รวมกันอย่างหลากหลาย จะเห็นได้ไม่ชัดเจนในแวบแรก เพราะสายตาของเราไม่มีจุดโฟกัสไปที่ดอกใดดอกหนึ่ง หรือต้นใดต้นหนึ่งในสวนแบบที่เราคุ้นเคย เราจึงต้องใช้เวลาค่อย ๆ ดูรายละเอียดที่ผสมผสานกันมากกว่าปกติ บางครั้งเราจะพบแมลงซ่อนตัวอย่างกลมกลืนไปกับใบหรือดอก อย่างแมงมุมสีเหลืองใบไม้ แมงมุมปูขาวที่รอซุ่มดักเหยื่อ หากสังเกตดี ๆ จะยิ่งเห็นรายละเอียดและรูปแบบบางอย่าง ที่ชวนให้เกิดความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับธรรมชาติของสรรพสิ่งเพิ่มขึ้น 

เช่นว่าทำไมตัวมวนสีเขียว ๆ คู่นี้มักอยู่บนก้านดอกด้ายนี้ตลอดเวลา ทำไมตั๊กแตนตำข้าวมักเกาะอยู่ที่ยอดของต้นฉัตรพระอินทร์อยู่ประจำ หรือผีเสื้อสีเทาตัวเล็ก ๆ มักเจอคู่กับดอกตีนตุ๊กแก หรือใบที่มีรอยปรุประช่วงต้นหน้า เป็นฝีปากของหนอนผีเสื้อหรือตั๊กแตนกันนะ และเดือนต่อมา ใบนี้จะถูกม้วนเป็นรังให้ตัวดักแด้ได้หลบอยู่ข้างใน 

ความสงสัยที่มาพร้อมกับความรู้สึกมหัศจรรย์ใจในสิ่งธรรมดาเล็กน้อยเหล่านี้ บางครั้งก็ช่วยเปิดผัสสะหลายด้านของเรา อย่างเช่นการมองเห็น การสังเกต หรือแม้กระทั่งการได้ยินในเสียงที่ละเอียดมาก ๆ ซึ่งปกติเราไม่เคยสังเกต อย่างเสียงจิ้งหรีดตอนหัวค่ำในความมืด หรือของนกแต่ละชนิดที่เราจำแนกแยกออกจากกันได้ การมองเห็นและเป็นส่วนหนึ่งของความงามแบบนี้ แม้จะเป็นชั่วขณะสั้น ๆ แต่หลายครั้งมันก็ช่วยปิดโหมดความคิดที่เราติดแหงกอยู่ หรือปลอบประโลมจิตใจที่อ่อนล้าแส่ส่ายของเราให้สงบลง

มีอยู่หลายครั้งที่เราเจอแมลงที่เรามักจะเจอซ้ำ ๆ บนต้นไม้ต้นเดิม เราเห็นมันตั้งแต่เป็นตัวอ่อนปีกใส จนกลายเป็นตัวเต็มวัย และเห็นตอนที่มันล่าเหยื่ออย่างเจ้าตั๊กแตนตำข้าว การพบเจอกันบ่อยครั้งจึงกลายเป็นความคุ้นเคย เราลองยื่นนิ้วมือให้มันมาเกาะ ซึ่งก็ใช้เวลาหลายวันในการที่มันถอยเข้าถอยออกด้วยความระแวง จนวันที่มันวางใจเดินมาเกาะหรือเดินบนฝ่ามืออย่างคุ้นเคย เรารู้สึกได้ถึงพลังชีวิตหรือกระแสความอบอุ่นของสิ่งมีชีวิตที่บอบบางนี้ 

บางทีความอบอุ่นที่เรารู้สึกตรงกลางฝ่ามือนี้ อาจเป็นชีพจรเราเองที่เราไม่ค่อยรู้สึกถึงมันได้ในช่วงเวลาปกติ แต่ด้วยสิ่งมีชีวิตสามัญที่อยู่ตรงหน้าเราเหล่านี้ มันช่วยให้เราละเอียดอ่อนขึ้น เพื่อจะรู้สึกถึงสายใยบาง ๆ ที่ยึดโยงเราเข้ากับสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ หากการมีความสัมพันธ์ที่ดีคือปัจจัยหนึ่งของความสุข สวนจิ๋วหน้าบ้านของเราก็น่าจะมีพลานุภาพไม่น้อย ในการเยียวยาโลกและเราไปพร้อม ๆ กัน

6 องค์ประกอบง่าย ๆ ในสวน ที่อยากชวนทุกบ้านทำ เพื่อให้เรากับธรรมชาติกลับมาคุ้นเคยกันมากขึ้นกับการเปลี่ยนสนามหญ้าหน้าบ้าน

Writer & Photographer

Avatar

ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร

สถาปนิกผู้ก่อตั้งใจบ้านสตูดิโอและคุณพ่อลูกหนึ่ง ที่สนใจงานฟื้นฟูธรรมชาติผ่านงานออกแบบ กำลังหัดเขียนสื่อสารเรื่องราวการเรียนรู้จากธรรมชาติ และประสบการณ์ rewilding