“สวัสดีครับ ออกแบบแอบบอกกับผม แก๊ป ธนเวทย์ วันนี้จะพาไปดูบ้านหนึ่งหลังในแอฟริกาใต้…”

เสียงทักทายคุ้นหูของ แก๊ป-ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล เจ้าของแชนแนล Gapthanavate ที่พาเราเคาะประตูเยือนบ้าน แวะดูงานสถาปัตยกรรมและสนทนากับสถาปนิกอย่างออกรส พ่วงด้วยเรื่องเล่าเพลินหูของคนวงการออกแบบจากทุกแขนงและจากหลายประเทศ ด้วยข้อมูลเจาะลึก ย่อยง่าย จนทำให้คนกดติดตามแชนแนลของเขาเกือบแสน

แก๊ป-ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล, Gapthanavate

เป็นเวลา 2 ปีที่เขาตั้งใจนำเสนองานออกแบบที่หมายมั่นให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และซ่อนเป้าหมายเล็กจิ๋วอย่างการให้คนกลับมาเห็นคุณค่าของงานออกแบบ ผ่านสารพันเรื่องราวที่ยูทูเบอร์หน้าใหม่คัดสรรมาเสิร์ฟถึงหน้าจอ 

ชายตรงหน้าเราจึงไม่ใช่แค่คนที่ออกมาเล่าเรื่องงานดีไซน์ผ่านแพลตฟอร์มทันสมัย แต่เขากำลังส่งต่อคุณค่าของงานออกแบบอย่างที่เขาเชื่อเสมอมา ผ่านการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนกับสถาปนิก นักออกแบบ และตึกรามบ้านช่อง

ครั้งนี้เราไม่ได้พาคุณลัดเลาะรอบบ้านหรือสอดส่องงานสถาปัตย์ แต่เราชวนคุณแง้มประตูเบื้องหลังชายมากบทบาท ที่เบื้องหน้าเขาเป็นนักแสดง พิธีกร เจ้าของกิจการ และคุณพ่อ แถมท้ายด้วยบทบาทล่าสุด ‘ยูทูเบอร์’ ที่เขาขอเป็นฟันเฟืองตัวเล็กขับเคลื่อน และหวังสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้กับวงการออกแบบของประเทศไทย

ตัวตนที่คนเชื่อ

“ตอนแรกเราอยากทำช่องเกี่ยวกับลิเวอร์พูล” 

ชายหนุ่มที่มีเลือดหงส์แดงเต็มร้อยบอกเราด้วยสีหน้าจริงจัง ก่อนจะเสริมว่า “เราดูบอลหนักเลย ชอบลิเวอร์พูลมาก แต่ถ้าคนอื่นมองเข้ามาเขาอาจจะคิดว่า มันไม่ใช่หรอ แบบนี้ได้หรอ เรารู้สึกว่าคนยังติดภาพจำของเราอยู่” 

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี แก๊ปคลุกคลีกับวงการสถาปัตย์และการออกแบบตั้งแต่เขาตัดสินใจเลือกเรียนสาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังเรียบจบเขาตั้งไข่ด้วยอาชีพกราฟิกดีไซเนอร์ ก่อนจะเลือกเดินสายโฆษณา ด้วยตำแหน่งครีเอทีฟและ Copywriter พ่วงเจ้าของกิจการ A pieces of paper แบรนด์กระดาษสุดคราฟต์ บวกกับอาชีพพิธีกรรายการว่าด้วย ‘บ้าน’ ที่คุณคงเคยคุ้นตาเขาจากตรงนี้

แก๊ปสั่งสมประสบการณ์งานออกแบบและแวดวงสถาปัตยกรรมกว่าค่อนชีวิต จนตัดเส้นทางสายใหม่ให้ตัวเองด้วยบทบาทยูทูเบอร์ เส้นทางที่เขาพาโลกความเป็นจริงมาบรรจบพบเจอกับสิ่งที่คนสมัยใหม่เรียกว่า ‘แพสชัน’ 

 แก๊ป-ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุ, Gapthanavate

“ตอนแรกเราอยากทำช่องเกี่ยวกับลิเวอร์พูล” เขาย้ำ

“แต่มันก็เป็นทางขนานสองทาง ระหว่างสิ่งที่เราอยากทำมากกับสิ่งที่คนเชื่อว่าเราเป็นตั้งแต่แรก”

เขาเปรยถึงการตัดสินใจเลือกทำคอนเทนต์เล่าเรื่องงานออกแบบมากกว่าคอนเทนต์แฟนพันธุ์แท้หงส์แดง แก๊ปว่ามันเป็นการรักษาสมดุลระหว่างสิ่งที่เขาคลั่งไคล้เหลือเกินกับโลกของความจริง ยูทูเบอร์หน้าใหม่หยิบต้นทุนที่ดีจากภาพจำของอดีตพิธีกรชายประจำรายการบ้าน เจ้าของกิจการที่เป็นนักออกแบบ และนักเรียนสถาปัตย์ออกมาใช้

“เราไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจนว่าช่องจะเป็นแบบไหน เพราะเราไม่ได้มีแพสชันภาพกว้าง เรามีแค่แพสชันภาพเล็กของเราว่าอยากทำในสิ่งที่อยากทำ อย่างคลิปแรกเป็นการเยี่ยมบ้านสถาปนิกแล้วเล่าออกมาในแบบที่เราเชื่อ

“จนเรามีโอกาสฟัง TED Talks ของ พี่กชกร (กชกร วรอาคม) สถาปนิกระดับโลกที่ออกแบบอุทยาน 100 ปี พอเราฟังก็รู้สึกว่า ปกติคนเราจะคิดถึงแต่แพสชันเล็กๆ ว่าฉันจะเป็นแบบนั้น ฉันจะเป็นแบบนี้ แต่พี่กชคิดเกินไปมากกว่านั้น ว่าสวนที่ออกแบบจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้มั้ย สถาปัตยกรรมจะช่วยยังไงในวงกว้าง หลังจากฟังจบ มันทำให้เราเริ่มมีแนวคิดของแพสชันที่กว้างขึ้น ว่าคนภายนอกจะได้อะไรจากสิ่งที่เราทำบ้าง ไม่ใช่คิดแค่ว่าเราจะได้อะไร”

Gapthanavate จึงเป็นแชนแนลที่ตั้งใจเล่างานออกแบบทุกแขนง ทั้งของชิ้นเล็กจนถึงของชิ้นใหญ่ โดยเฉพาะคอนเทนต์เปิดบ้านที่พาคนแวะมาเยือนแชนแนลของเขาอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งแก๊ปเล่าผ่านวิธีการย่อยข้อมูลและวิเคราะห์ด้วยมุมมองนักออกแบบที่สั่งสมประการณ์มาหลายสิบปี แม้ตอนแรกเริ่มคนดูจะแตะเพียงหลักสิบ หลักร้อย แต่เขายืนยันว่าจะนำเสนองานดีไซน์ตามแบบที่เขาเชื่อต่อไป เพื่อหวังภาพกว้างให้คนกลับมาเห็นคุณค่าของงานออกแบบ

 แก๊ป-ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุ, Gapthanavate
 แก๊ป-ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล, Gapthanavate

นักออกแบบเล่างานออกแบบ

Gapthanavate แบ่งรายการออกเป็น 2 รายการ คือ Design Fund รายการเล่าเรื่องสถาปัตยกรรมสุดสนุกที่แก๊ปรับบทเป็นผู้ดำเนินรายการ พาพวกเราเปิดประตูบ้านจากหน้าจอ เดินทะลุอาคารและห้างร้าน ชมทุกซอกทุกมุม แถมถามทุกความสงสัยและไขทุกคำตอบด้วยการนั่งสนทนากับเจ้าบ้านและสถาปนิกเจ้าของผลงาน เพื่อให้คนเข้าใจขั้นตอนของการสร้างบ้าน อาคาร ตึกรามบ้านช่อง ว่ากว่าจะเป็นหนึ่งหลังอย่างที่ตาเห็นต้องผ่านกระบวนอะไรบ้าง

Design Fund  เราคุยกับสถาปนิกเป็นหลัก เพราะเรามีความเชื่อว่าไม่มีใครถ่ายทอดแนวคิดของงานออกแบบได้ดีเท่ากับคนต้นความคิด ความจริงเราอยากให้สถาปนิกมีที่ยืน ให้เขามีพื้นที่ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการเล่ากระบวนการตั้งแต่ศูนย์ถึงร้อย เพราะบางคนเห็นตอนที่มันร้อยแล้ว มันสวยงาม มันร่มรื่นนะ แต่ระหว่างทางนั้นมีน้อยคนที่จะรู้

“เราคิดว่าการที่สถาปนิกได้ออกมาเล่าด้วยตัวเองจะทำให้คนอินกับงานออกแบบมากขึ้น คนจะได้รับรู้ถึงความยาก” เขาเล่าพลางอมยิ้ม “พอคนดูอินมันก็กลับไปจุดที่เราอยากสื่อสาร งานออกแบบทุกงานมีคุณค่าและเราควรที่จะเห็นคุณค่าของงานออกแบบนั้นด้วย ส่วนผลพลอยได้ของสถาปนิกที่เราให้พื้นที่กับเขาคือเขามีงานมากขึ้น”

เรื่องที่จับเข่าคุยกัน เป็นการเล่ากระบวนการแรกเริ่มจนกลายเป็นบ้านหลังสวย แก๊ปว่าสถาปนิกบางคนก็มาพร้อมแบบสอบถาม เจ้าบ้านนอนตอนไหน อยู่กันทั้งหมดกี่คน ชอบทำอะไร ฯลฯ เพื่อศึกษาพฤติกรรมและออกแบบบ้านให้ตรงใจคนอยู่บ้านมากที่สุด หมายรวมสภาพแวดล้อมที่จะต้องสัมพันธ์กับคนอาศัย ต้นไม้ สายลม และแสงแดด

“เราพยายามให้เวลากับการพูดเรื่องนี้ยาวขึ้น เราคุยตั้งแต่ความต้องการของเจ้าบ้าน งานออกแบบแต่ละส่วน โครงสร้างและวัสดุ บางทีถึงขั้นว่างานออกแบบส่งผลกับคนอยู่ยังไง เพราะเราเชื่อเสมอว่าคนที่ดูรายการบ้านเขาอยากรู้เนื้อหาที่ลึกประมาณหนึ่ง โอกาสนั่งคุยกับสถาปนิกหนึ่งครั้งในบ้านหนึ่งหลังคงมีครั้งเดียว ไปถึงตรงนั้นเราซัดให้สุด เราไม่กลัวถ้าทำคลิปออกมาแล้วจะยาว ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่คนสนใจเราว่ามีคนรอดูอยู่แล้ว” ยูทูเบอร์เล่าความตั้งใจ

 แก๊ป-ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล, Gapthanavate

Form Follows Function

ออกแบบแอบบอก เป็นอีกหนึ่งรายการที่ยูทูเบอร์คนนี้อัปเดตข่าวสารงานดีไซน์จากหลายแขนง แฟชั่นก็มี ผลิตภัณฑ์ก็มี บ้านก็มี (คนเรียกร้องให้เขาทำเยอะมาก) ซึ่งเน้นงานออกแบบที่เปลี่ยนคุณภาพชีวิตคนให้ดีขึ้นตามอย่างที่เขาเชื่อ แก๊ปยกตัวอย่างงานออกแบบของ ดิเอเบโด้ ฟรองซิส เคเร สถาปนิกชาวแอฟริกาที่เติบโตมาในประเทศที่ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ แต่มีโอกาสได้เรียนด้านสถาปัตยกรรมที่ประเทศเยอรมนี และหยิบเอาความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด

รูปแบบการนำเสนอเป็นเสมือนการเล่าสู่กันฟัง แก๊ปจะย่อยข้อมูลมาเล่าด้วยภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจง่าย ชนิดที่ว่าไม่ต้องถนัดสถาปัตย์หรือการออกแบบก็ฟังเรื่องราวเหล่านี้ได้ด้วยความเพลินใจ ตลอดความยาวคลิปขนาดสั้น เขาจะเสนอมุมมอง แบ่งปันประสบการณ์การออกแบบเพื่อเปิดโลกงานดีไซน์ให้กับคนที่สนใจทะลุประตูมาอินด้วยกันกับเขา

แก๊ปในสถานะนักออกแบบกระซิบว่า งานออกแบบที่ดีต้องไม่สวยงามแค่ภายนอกเท่านั้น ทว่าภายในก็ต้องให้ความสำคัญ ต้องคำนึงถึงการใช้งานที่จะส่งผลให้คนมีคุณภาพชีวีตที่ดีขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความสะดวกสบายบางอย่าง ด้วยหลักการ Form Follows Function ชายตรงหน้าขยายความให้เราเห็นภาพ ด้วยการเล่าถึงบ้านที่สร้างโดยไม่ตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว ซึ่งสถาปนิกทำโดยการใช้ 3D Scan แล้วสร้างรูปทรงของบ้านในลักษณะหลบหลีกกิ่งก้านของต้นไม้

ในมุมมองของแก๊ป เขาบอกว่าสิ่งนี้น่าสนใจจนต้องร้องว้าว แต่คอมเมนต์ของผู้ชมทางบ้านมีทั้งกดไลก์ยอดเยี่ยม บ้างก็คอมเมนต์บอกถึงความกลัวเมื่อต้องอาศัยอยู่ในบ้านท่ามกลางป่า กลัวต้นไม้หักบ้าง สัตว์ตัวร้ายบ้าง ทำให้เขาต้องกลับมามองและเพิ่มเติมการนำเสนอข้อมูลแง่ของการใช้งานด้วย เหนือสิ่งอื่นใด เขาไม่ตัดสินว่าแบบไหนผิด แบบไหนถูก แต่แก๊ปเชื่อว่าเจ้าของบ้านเลือกและพอใจกับบ้านที่เขาอยากจะอยู่ กับพื้นที่ที่เขาอยากจะอยู่ เรียบร้อยแล้ว

“สำหรับเรา งานออกแบบที่ดีต้องแก้ปัญหาได้ ทั้งเชิงการใช้งานและพฤติกรรมของคนที่อยู่ อันนี้เป็นสิ่งที่เราจำมาตั้งแต่ตอนเรียน ซึ่ง Form อาจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สุุดท้าย Form Follows Function ต้องเป็นสิ่งที่เราไม่ลืม ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่การใช้งานไม่ได้กลับมาตอบโจทย์ คนไม่ได้สะดวกสบายขึ้น ก็เท่ากับคุณภาพชีวิตที่ดีหายไปด้วย”

แก๊ป-ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล, Gapthanavate ยูทูเบอร์ที่อยากส่งต่อคุณค่าของงานดีไซน์เปลี่ยนชีวิต สู่การขับเคลื่อนวงการออกแบบไทย

ถ้าเชื่อว่ามันสำคัญ จงให้ความสำคัญ

“เราควรเป็นคนเขียนสคริปต์ คนกำกับ คนตัดต่อ และรู้ทุกขั้นตอนของการทำงาน ถึงจะเป็นพิธีกรที่ดีได้” 

เป็นคำพูดหนึ่งของ พ่ออี๊ด-สุประวัติ ปัทมสูต ศิลปินแห่งชาติที่ชายตรงหน้าถ่ายทอดให้เราฟัง แก๊ปว่ามันกินใจมากจนเขายกเป็นหัวใจหลักในการทำงาน ช่วงแรกเขาเลยเป็นยูทูเบอร์ที่ติดต่อลูกค้าเอง หาสถานที่เอง เตรียมข้อมูลเอง เขียนสคริปต์เอง ดำเนินรายการเอง กำกับภาพเอง และมีบางครั้งที่เขาตัดต่อเอง ช่วงหลังเขามีทีมเฉพาะกิจคอยเป็นตากล้อง คนตัดต่อ และคนแปลซับภาษาอังกฤษ เพื่อร้อยเรียงเรื่องราวทุกอย่างให้ออกมาสมบูรณ์

“เราได้สกิลล์หลายอย่างจากการเป็นครีเอทีฟโฆษณาและตอนเป็น Copywriter เราต้องเขียน ส่วนของอาร์ตไดเรกเตอร์ก็ต้องทำงานกราฟิกด้วย บางทีก็มีพาร์ตที่เราได้คุยกับผู้กำกับ ได้รู้เรื่องมุมก้ลอง การทำสตอร์รี่บอร์ด ซึ่งวิธีคิดเหล่านั้นมันดันกลับมาช่วยเราตอนทำแชนเนลเยอะมาก และนิสัยเราค่อนข้างเป็นคนเบื้องหลังด้วย

“ตอนทำยูทูบเราเห็นเรื่องนี้ชัดเจนมาก เพราะเราเคยทำทุกอย่างเองมาก่อน เลยพอจะรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง และเมื่อไหร่ก็ตามที่เรามองเห็นภาพรวมของงานได้ทั้งหมด มันเป็นสิ่งที่ดีมาก ที่จะทำให้เราแก้ปัญหาได้ทันท่วงที”

แก๊ป-ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล, Gapthanavate ยูทูเบอร์ที่อยากส่งต่อคุณค่าของงานดีไซน์เปลี่ยนชีวิต สู่การขับเคลื่อนวงการออกแบบไทย

เอกลักษณ์เด่นที่ดึงดูดให้เราคลิกชมคลิปของเขาแทบจะทันทีคือลีลาการตั้งชื่อที่ไม่ธรรมดา เหมือนคนหนุ่มที่เล่นหูเล่นตาพราวเสน่ห์ เขาว่าล้วนเป็นสกิลล์ที่ติดตัวมาจากการเป็น Copywriter ช่างเขียนแห่งวงการโฆษณา 

ความแตกต่างของ Gapthanavate อีกข้อที่ทำให้คนติดตามเขาเกือบแสน คือการเป็นผู้ดำเนินรายการที่ย่อยภาษาสถาปัตย์ที่เข้าใจยากให้เข้าใจง่าย ผ่านท่าทางและน้ำเสียงเป็นกันเอง รวมถึงการแปลซับภาษาอังกฤษ แม้ใครจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับเขามันเป็นวิธีหนึ่งในการส่งต่อเรื่องราวสถาปัตย์ไทยให้คนต่างชาติเห็น

“บางขั้นตอนของการทำงานคนอาจไม่คิดว่าสำคัญ แต่ถ้าเราเชื่อว่ามันสำคัญ จงให้ความสำคัญ” 

งานออกแบบทุกงานมีคุณค่า

“งานออกแบบเปลี่ยนชีวิตคุณยังไงบ้าง” เราถามชายที่เชื่อว่างานดีไซน์เปลี่ยนชีวิตคนให้ดีขึ้นได้

“งานออกแบบทำให้เรามองทุกอย่างละเอียดขึ้น” เขานิ่งคิดก่อนจะเสริมต่อ “เวลามองเราก็จะตั้งคำถามว่าทำไมคนออกแบบถึงทำแบบนี้ พยายามหาที่มาที่ไป หาความเชื่อมโยง มันช่วยให้เราได้ใช้สมองในการมอง”

ตลอดการทำงานเขาย้อนดูเรื่องเล่างานออกแบบของตัวเองในแชนแนล มันทำให้แก๊ปกลับมาคิดถึงความตั้งใจแรกว่า มันไม่ใช่แค่การเล่าเรื่องบ้านอย่างที่เขาอยากเล่า แต่กลายเป็นการแบ่งปันงานออกแบบหลายแขนงที่มอบคุณค่าให้กับผู้ใช้งาน และไม่ใช่แค่งานออกแบบที่มีคุณค่า แต่ต้องคำนึงถึงความสำคัญของผู้สร้างงานด้วย

“การทำยูทูปทำให้เราเข้าใจความหลากหลาย เข้าใจมุมมองของคนดูและความต้องการที่แตกต่าง เราเป็นคนที่เปิดรับทุกความคิดเห็น ไม่ได้เป็นน้ำเต็มแก้ว ซึ่งเป็นข้อดีของงานครีเอทีฟ ที่ทำให้เรากลายเป็นคนฟังอื่นเยอะขึ้น

“สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดีและมีความสุขน่าจะเป็นคอมเมนต์ของคนที่เขารู้สึกว่าสิ่งที่เรานำเสนอมันมีผลกับชีวิตของเขาในหลายมุม อาจจะเปลี่ยนอะไรบางอย่างแล้วทำให้เขาเป็นเขาในแบบที่ดีขึ้น หรือเปลี่ยนความคิดที่มีต่องานออกแบบ เช่น เขากลับมามองเห็นคุณค่าของงาน ถ้าตรงไปตรงมาอย่างที่สุดคือมันถึงแสนเราแฮปปี้แล้ว” เขายิ้ม

“ช่วงหลังแพสชันเรากว้างขึ้น อยากให้วงการสถาปัตยกรรมและวงการออกแบบดีขึ้นด้วยการทำคอนเทนต์ของเรา เป็นพื้นที่ที่สถาปนิกและนักออกแบบมีความสำคัญ คนเข้าใจงานออกแบบในหลากหลายมุม เราว่าสิ่งที่เราพยายามทำมันสำคัญมากนะ สุดท้ายเรายังเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มันจะขับเคลื่อนมากกว่าวงการสถาปนิกแน่นอน”

แก๊ป-ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล, Gapthanavate ยูทูเบอร์ที่อยากส่งต่อคุณค่าของงานดีไซน์เปลี่ยนชีวิต สู่การขับเคลื่อนวงการออกแบบไทย

Writer

Avatar

จิตาภา ทวีหันต์

ตอนนี้เป็นนักฝึกหัดเขียน ตอนหน้ายังสงสัย ชาติก่อน (คาดว่า) เป็นคนเชียงใหม่ แต่ชาตินี้อยากเป็นคนธรรมดาที่มีบ้านเล็กๆ อยู่ต่างจังหวัด

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)