ก่อนจะเริ่มอ่านบทความนี้ มีคำถามอยู่ 2 ข้อที่เราอยากให้คุณผู้อ่านลองตอบ
1. คุณเคยนั่งทำงานจนปวดไหล่-ปวดหลังสุด ๆ ไหม
2. คุณเคยพยายามซื้อสินค้าต่าง ๆ หรือเก้าอี้ดี ๆ เพราะหวังว่ามันจะช่วยแก้ปัญหา แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ยังปวดหลังเหมือนเดิมไหม
เราคนหนึ่งแล้วแหละ ที่ขอตอบ ‘ใช่’ กับทั้ง 2 ข้อ
ยิ่งในยุคโควิด-19 การนั่งทำงานนับสิบชั่วโมง และลงเอยด้วยการเป็นออฟฟิศซินโดรมนั้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเลย
มิหนำซ้ำ พอลงทุนซื้อของตามที่เห็นในโฆษณาอยู่ทุกวี่วันเพื่อมาช่วยแก้ปัญหานี้ แต่หลายครั้งก็ ‘เสียเงินฟรี’
สาเหตุมีอยู่ข้อหนึ่ง เพราะว่าสิ่งที่คุณซื้ออาจเป็นสิ่งที่คุณชอบที่สุด แต่ไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับคุณที่สุด
เหมือนกับเวลาเราไปหาหมอ หมออาจจ่ายยาที่บรรเทาตามอาการ แต่อาจจะไม่ใช่การแก้ต้นตอของปัญหา ทำให้ลงเอยด้วยสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘เลี้ยงไข้’
วันนี้เเราจึงมีนัดหมายพิเศษกับ สยาม ธนาภรณ์ Certified Office Ergonomist ผู้ก่อตั้งร้าน Gaoii ที่ตั้งใจจะแก้ปัญหานี้ด้วยการให้คำปรึกษาเฉพาะบุคคล จนลูกค้ากว่า 80% ที่เข้ามาที่ร้าน ต้องซื้อเก้าอี้ติดไม้ติดมือกลับไปด้วย
เรื่องราวต่อไปนี้คือเรื่องราวของชายคนนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่เจ้าของร้านเก้าอี้เพื่อสุขภาพ แต่ยังเป็นอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักกีฬายูโดทีมชาติไทย ผู้คว้าเหรียญทองในการแข่งขันซีเกมส์มาแล้ว!
เกิดอะไรขึ้น และที่สำคัญ เขาทำได้อย่างไร เอาล่ะ ขอเชิญทุกท่านลองอ่าน

กำเนิดเก้าอี้
ย้อนเวลากลับไป 15 ปีที่แล้ว สยามคือนักกีฬายูโดทีมชาติไทยผู้คว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ประจำปี 2550 รุ่นเอ็กซ์ตร้า ไลท์เวต 60 กิโลกรัมชาย และในอีกมุม เขาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่กำลังศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ธุรกิจ
เมื่อเป็นถึงนักกีฬาทีมชาติที่คว้าเหรียญทอง แน่นอนว่าการฝึกซ้อมร่างกายอย่างหนักหน่วงมาเป็นเวลายาวนานคือสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
สำหรับนักศึกษา การนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานับสิบชั่วโมงต่อวันเพื่อทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จ ก็ไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงได้เช่นกัน และนี่คือจุดที่สยามเริ่มรู้จักกับคำว่า ‘เก้าอี้เพื่อสุขภาพ’
อย่างไรก็ตาม เก้าอี้เพื่อสุขภาพมือหนึ่งในสมัยนั้นราคาไม่ใช่น้อย เก้าอี้ดี ๆ หลายตัวราคาอยู่ที่หลายหมื่นจนถึงหลักแสน ซึ่งไม่ใช่ทางเลือกสำหรับเขาในวัยนั้น เขาจึงต้องไปหาซื้อจากโกดังเฟอร์นิเจอร์มือสองแทน
“ตอนนั้นยูโดก็ต้องเล่น เช้าก็ต้องตื่นมาวิ่ง เย็นก็ต้องซ้อม เรียนก็ยังไม่จบ เราเริ่มไม่ไหว ถ้ามาทางกีฬา เราเห็นรุ่นพี่และเพื่อน ๆ นักกีฬา ท้ายที่สุดลงเอยด้วยการเป็นโค้ช”
เมื่อเห็นอนาคตเป็นเช่นนี้ สยามจึงตัดสินใจตั้งใจทำเล่มจบ เพื่อผันตัวไปในสายอาจารย์สอนคอมพิวเตอร์ธุรกิจแทน โดยเรียนต่อปริญญาโทในสาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้งเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม
หลังจากทำงานเป็นอาจารย์พิเศษเกือบ 8 ปี เพื่อที่จะก้าวต่อไปในเส้นทางอาชีพนี้ เขาจึงตัดสินใจไปเรียนภาษาอังกฤษต่อที่ University of Washington สหรัฐอเมริกา เพื่อใช้โอกาสนั้นหาลู่ทางต่อปริญญาเอก ทว่าเส้นทางกลับไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด

“ตอนนั้นได้รู้ว่าการเรียนปริญญาเอกที่นั่นไม่สวยหรูเหมือนที่คิดไว้ เพราะต้องหา Advisor ให้ได้เอง ถ้า Advisor ย้ายมหาวิทยาลัย เราก็ต้องย้ายตาม ขั้นต่ำ 6 ปีถึงจะเรียนจบ ไหนจะค่าใช้จ่ายอีก
“แต่ว่าตอนนั้นก็พอจะดูเก้าอี้เป็นอยู่ระดับหนึ่ง และทางมหาวิทยาลัยจะมีวันที่เปิดโกดังเก้าอี้ให้นักศึกษาเข้ามาดู เพื่อขายให้ในราคานักศึกษา ซึ่งถูกกว่าที่เมืองไทยมาก มันมีช่องว่างในการทำธุรกิจ เลยตัดสินใจเรียนภาษาอยู่ 2 ปีแล้วกลับประเทศไทยเลย”
เมื่อกลับมาที่ประเทศไทยแล้ว สยามเลยตัดสินใจใช้บ้านตัวเองเปิดเป็นโชว์รูมเก้าอี้ โดยอาศัยช่องว่างทางธุรกิจ 2 อย่าง ณ ขณะนั้น
หนึ่ง คือการที่เขาลงมือคัดเลือกเก้าอี้มือสองสภาพดีจากสหรัฐอเมริกา เพื่อนำเข้ามาขายในประเทศไทย ทำให้ตั้งราคาได้ถูก ในขณะที่คุณภาพยังดีอยู่
สอง คือการที่ร้านเก้าอี้ส่วนใหญ่มักขายอยู่แค่แบรนด์เดียว ลูกค้าจึงไม่ได้มีตัวเลือกเปรียบเทียบมากนัก
สยามตัดสินใจแก้ปัญหานี้ด้วยการนำเข้าเก้าอี้เพื่อสุขภาพหลากหลายแบรนด์ชั้นนำของโลกที่มีงานวิจัยรองรับเข้ามา เพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสลองนั่ง และเปรียบเทียบแต่ละแบรนด์เพื่อเลือกเก้าอี้ที่นั่งแล้วรู้สึกเหมาะสมกับตัวเองมากที่สุดหรือสบายที่สุด ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นโมเดลเดียวกับที่เขาได้มีโอกาสเจอระหว่างเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
และนี่จึงเป็นจุดที่ทำให้เขาเริ่มธุรกิจเก้าอี้เล็ก ๆ ขึ้นมา

ก่อร่างสร้างเก้าอี้
เมื่อตัดสินใจทำธุรกิจเกี่ยวกับเก้าอี้สุขภาพระดับท็อปอย่างจริงจังแล้ว การที่มีแต่เก้าอี้มือสองอยู่ในร้านเพียงอย่างเดียว ก็มอบตัวเลือกให้ลูกค้าได้ไม่มากนัก
เป้าหมายของสยามคือการคว้าเก้าอี้ 3 แบรนด์ท็อปมาให้ได้ นั่นก็คือ Herman Miller, Steelcase, และ Humanscale
โดย ณ ปัจจุบัน สยามได้นำเข้าเก้าอี้โดยตรงจากทางแบรนด์ Humanscale สำหรับ Steelcase เขาไปนำเสนอไอเดียและพิสูจน์ว่าเขาขายเก้าอี้ได้ เพื่อขอเป็นพาร์ตเนอร์กับ Modernform ซึ่งเป็นผู้ถือสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายเพียงรายเดียวภายในประเทศไทย ในขณะที่ Herman Miller ทางร้านจำหน่ายเป็นเก้าอี้มือสองสภาพดี
เมื่อลูกค้าเข้ามามากขึ้น สยามจึงตัดสินใจออกจากอาชีพอาจารย์ เพื่อมาดูแลหน้าร้านและให้คำแนะนำในการเลือกและปรับเก้าอี้กับลูกค้าแต่ละคนด้วยตัวเอง โดยอาศัยประสบการณ์ที่คลุกคลีกับเก้าอี้เพื่อสุขภาพมานานหลายปี
จนกระทั่งวันหนึ่ง จุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีลูกค้าชาวต่างชาติคนหนึ่งเข้ามาดูเก้าอี้และถามสยามว่า “คุณมาปรับเก้าอี้แบบนี้ คุณเป็น Ergonomist เหรอ”
“ตอนนั้นเราไม่รู้จักคำว่า Ergonomist รู้จักแต่คำว่า Ergonomic ตอนแรกก็คิดว่าฟังผิดหรือเปล่า แต่ด้วยความสงสัย พอกลับถึงบ้านเลยลองเสิร์ชดู และค้นพบว่าจริง ๆ การจะแนะนำเรื่องเก้าอี้เพื่อสุขภาพได้ ต้องไปเรียนมาก่อน และต้องสอบใบอนุญาต”
เขาจึงตัดสินใจใช้โอกาสนั้นในการลงเรียนเป็น Ergonomist กับ Humanscale ทันที

“การเรียนเรื่องปรับระยะเก้าอี้ไม่ใช่สิ่งที่ยาก แต่เราไม่ได้เรียนแค่เรื่องนั้น เพราะเวลาเจอลูกค้า จะมีเรื่องโรคต่าง ๆ ที่เราต้องรู้ว่าเขามีปัญหาพวกนี้มาก่อนหรือเปล่า เป็นโรคที่เกี่ยวกับออฟฟิศซินโดรมทั้งหมด”
การเรียนเพื่อเป็น Ergonomist ไม่ใช่แค่เรียนให้จบหลักสูตร แต่ผู้เรียนต้องทำข้อสอบให้ได้คะแนนเกิน 80% จึงจะถือว่าสอบผ่าน ดังนั้น สยามเลยตัดสินใจขออนุญาตอาจารย์หมอที่รู้จัก เพื่อตามเข้าไปในโรงพยาบาลและเรียนรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องจากคนไข้จริง
“ตอนเราเปิดอ่านตำรา เราก็ได้แค่ท่องจำ แต่พอไปดูเคสจริงที่โรงพยาบาลเท่านั้นแหละ รู้เลยว่าพวกนี้แค่มานั่งอ่านไม่มีทางเข้าใจ เพราะเราต้องรู้ว่าการที่คนเขานิ้วชานั้นนิ้วไหน สาเหตุของแต่ละนิ้วที่ชาจะต่างกันในแต่ละโรค การที่คนเขาปวดหลัง มีอาการร้าวลงขาร่วมด้วยไหม ฯลฯ”
แม้ต้องใช้เวลาอยู่หลายเดือนกว่าจะเข้าใจและคว้าใบอนุญาตนี้มา แต่ใบอนุญาตนี้ก็เปรียบเสมือนใบเบิกทางสำหรับเขา
เบิกทางอย่างไร คิดค่าปรึกษา คิดราคาเก้าอี้ให้แพงขึ้น สำหรับบางธุรกิจอาจจะใช่ แต่นั่นไม่ใช่กับร้าน Gaoii ของสยาม
สยามใช้ใบเบิกทางนี้ในการเพิ่มคุณภาพในการให้บริการกับลูกค้า โดยใช้เวลากับลูกค้าเป็นรายบุคคล รายละมากกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อให้ลูกค้ารายนั้น ๆ ได้เก้าอี้ที่ดีที่สุด
ซึ่ง ‘เก้าอี้ที่ดีที่สุด’ ในที่นี้ ไม่ใช่เก้าอี้ราคาแพงที่สุด ไม่ใช่เก้าอี้ที่สยามได้กำไรมากที่สุด แต่ต้องเป็นเก้าอี้ที่เหมาะสมกับลูกค้าคนนั้น ๆ มากที่สุด เป็นเก้าอี้ที่ ‘จบ’ ปัญหาต่าง ๆ ของลูกค้าได้
นอกจากการเลือกเก้าอี้แล้ว สยามยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปรับเก้าอี้แต่ละตัวให้เข้ากับสรีระของผู้นั่งมากที่สุด รวมไปถึงวิธีการนั่งทำงานอย่างถูกต้อง โดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมกับลูกค้าแต่อย่างใด
ก้าวปัจจุบันของเก้าอี้
เล่ามาถึงจุดนี้ หลายคนอาจจะนึกภาพร้านเก้าอี้ที่ลูกค้าเดินเข้ามา เจอพนักงานเข้ามาขายของ ซื้อเก้าอี้แล้วกลับไป
แต่ร้าน Gaoii ไม่ใช่ร้านเก้าอี้ทั่ว ๆ ไปแบบนั้น เอาล่ะ เรามาดูภาพขั้นตอนการให้บริการของร้านนี้ให้เห็นภาพกันเลยดีกว่า

1. การให้บริการของร้าน Gaoii นั้นเริ่มต้นแม้เราจะยังไม่ได้ย่างก้าวเข้ามาภายในร้าน เพราะก่อนจะถึงนัดหมาย ทางร้านจะให้คุณส่งรูปภาพโต๊ะ เก้าอี้ และท่านั่งทำงานของเรา เพื่อที่จะได้วิเคราะห์สาเหตุของความเจ็บปวดที่คอยรังควานได้อย่างตรงจุดที่สุด


2. เมื่อมาถึงร้านแล้ว จะมีการซักประวัติ พร้อมวิเคราะห์ท่านั่งทำงานจากรูปถ่ายอย่างละเอียด โดยหากสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพที่ต้องการการรักษาด้วย ทางร้านก็จะแนะนำให้เราไปพบแพทย์ ก่อนที่จะมาค้นหาเก้าอี้ที่ใช่กันต่อไป

3. หลังจากซักประวัติเสร็จเรียบร้อยและไม่ติดปัญหาด้านสุขภาพอะไรที่น่ากังวล ขั้นตอนต่อไปคือการค้นหาเก้าอี้อย่างละเอียดว่ามีเก้าอี้รุ่นใดบ้างเข้ากับสรีระของเราได้ เพราะเก้าอี้ชื่อดังหลายๆ รุ่น อาจไม่ใช่รุ่นที่เหมาะที่สุดสำหรับเราก็เป็นได้


4. แม้ว่าจะได้เก้าอี้รุ่นงาม แต่หากเราใช้ไม่ถูกวิธี เก้าอี้ตัวนั้นก็มิอาจช่วยเราได้ ดังนั้นร้านแห่งนี้จะมีการ Fitting และวัดค่าของเก้าอี้ตัวนั้นทุกส่วน เพื่อหาค่าที่ใช่สำหรับเราอย่างเฉพาะเจาะจง โดยจะมีสติ้กเกอร์เล็กๆ คอยแปะไว้ให้ด้วย ทำให้เราสามารถปรับเก้าอี้กลับมายังค่าเดิมได้

5. เมื่อได้เก้าอี้ที่ใช่ และการตั้งค่าที่เหมาะสมแล้ว ท้ายที่สุดสิ่งที่เราจะได้กลับไปนั้น ไม่ใช่เพียงแค่เก้าอี้ตัวหนึ่ง แต่มาพร้อมด้วยคำแนะนำในการปรับส่วนอื่นๆ ในพื้นที่ทำงานของเราด้วยสิ่งที่เรามีอยู่ ให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ หรือแม้กระทั่งจอมอนิเตอร์ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อของเพิ่มขึ้นหากไม่มีความจำเป็น
เก้าอี้ก้าวต่อไป
“จริง ๆ แล้วที่อยากได้มากที่สุดในอนาคตคือแบรนด์ Herman Miller อยากให้แบรนด์ยักษ์ใหญ่ 3 แบรนด์มาอยู่ในโชว์รูมเลย” สยามเล่าถึงความฝันที่เขากำลังพยายามหาลู่ทาง เพื่อให้ร้าน Gaoii มีเก้าอี้มือหนึ่งจากแบรนด์ระดับโลกอย่างครบถ้วน
ตอนนี้ ร้าน Gaoii มีเก้าอี้มือหนึ่งจาก Steelcase, Humanscale, ITOKI ขาดแต่เพียง Herman Miller ที่มีเก้าอี้มือสอง (แต่สภาพยังดีมาก ๆ) แทน
ตัวเลือกเหล่านี้ทำให้ลูกค้ากว่า 80% ที่เดินเข้าร้าน Gaoii ตัดสินใจซื้อกับที่นี่ และยังเอาไปบอกต่อ จนหลายครั้งคิวการปรึกษาที่ร้านเต็มยาวทั้งอาทิตย์เลยทีเดียว
นอกจากนี้เขายังมีแผนที่จะขยายร้าน Gaoii ในอนาคต โดยใช้พื้นที่ชั้นสองเปิดขายเฟอร์นิเจอร์เพื่อสุขภาพประเภทอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งบอกเลยว่าถ้าเปิดเมื่อไหร่ เราจะขอเป็นคนแรกที่เข้าไปลองอย่างแน่นอน

Lessons Learned:
- สำหรับการทำธุรกิจ การได้ลงมือทำและลองผิดลองถูกเองนั้นสำคัญมาก เพราะถ้าไม่ลงมือทำเอง เราอาจจะเป็นได้แค่ร้านธรรมดาทั่ว ๆ ไป ไม่ได้มีโอกาสมาฟังปัญหาจากลูกค้าและเข้าใจเขาจริง ๆ
- การทำธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ จะต้องขายความจริงและซื่อสัตย์กับลูกค้า เพราะถ้าเขาใช้บริการเราแล้วยังมีปัญหาด้านสุขภาพอยู่ เราก็เป็นเหมือนส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาสุขภาพไม่ดีขึ้น
- ถ้าทำธุรกิจอย่างจริงใจและมีคุณภาพที่ดี จึงจะสามารถซื้อใจลูกค้าและทำให้ลูกค้าบอกต่อได้