28 สิงหาคม 2021
2 K

ที่อวีดาฮ์ (Ouidah) เมืองขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ของประเทศเบนิน (Republic of Benin) อดีตอาณานิคมฝรั่งเศสในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ปรากฏสิ่งก่อสร้างทรงเหลี่ยมที่เรียกขานกันว่า ‘ประตูไม่หวนกลับ’ (La Porte de Non Retour) ตั้งตระหง่านอยู่บนชายหาดริมมหาสมุทรแอตแลนติก ในอดีตประตูไม่หวนกลับเป็นเพียงแค่ช่องไม้กำกับให้ชายหญิงแอฟริกันเดินเรียงแถวไปลงเรือเล็ก ก่อนไปขึ้นเรือใหญ่กลางทะเลลึก เพื่อจากบ้านเกิดเมืองนอนไปตลอดกาล

ล่องเรือเที่ยวก็องวิเย่ เวนิสแห่งแอฟริกาที่รอดพ้นการค้าทาสจนเป็นเมืองเสรีชนบนผืนน้ำ
ประตูไม่หวนกลับ (La Porte de Non Retour)

สันนิษฐานกันว่ามีชายหญิงแอฟริกันจำนวนตั้งแต่ 12 – 25 ล้านชีวิตที่โดนบีบบังคับให้เดินทางออกจากชายฝั่งแอฟริกาตะวันตก เพื่อข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยัง ‘โลกใหม่’ บนแผ่นดินทวีปอเมริกาในฐานะสินค้าที่เรียกว่า ทาส ภายใต้กระบวนการค้าที่เรียกว่า Transatlantic Slave Trade อันกินเวลากว่า 300 ปีระหว่างศตวรรษที่ 16 – 19

ล่องเรือเที่ยวก็องวิเย่ เวนิสแห่งแอฟริกาที่รอดพ้นการค้าทาสจนเป็นเมืองเสรีชนบนผืนน้ำ

ชายหญิงแอฟริกันหลายล้านชีวิตในวันนั้น ครึ่งหนึ่งคือประชากรชาวบราซิลและประเทศแถบอเมริกาใต้ในปัจจุบัน อีกเกือบ 1 ใน 3 กลายเป็นชาวแอฟริกันอเมริกัน รวมทั้งประชากรในหมู่เกาะแคริบเบียนทั้งหมด และมีอีกมากมายที่อาศัยอยู่ทั่วภาคพื้นยุโรปและกลุ่มประเทศอาหรับ จากเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสะเทือนใจคราวนั้น ยังมีชนเผ่าอยู่ชนเผ่าหนึ่งที่หลบหนีการค้าทาสได้สำเร็จ และยืนหยัดเป็นเสรีชนด้วยความภาคภูมิใจมาจนถึงทุกวันนี้ 

พวกเขาไม่ได้อาศัยบนผืนแผ่นดิน แต่ใช้ทะเลสาบขนาดใหญ่เป็นที่หลีก เร้น และหลบ จนสำเร็จ แม้ว่าการค้าทาสจะจบสิ้นไปนานแล้ว แต่พวกเขายังคงยืนหยัดอยู่บนพื้นที่เดิม และดินแดนนี้ได้รับขนานนามว่า ‘เวนิสแห่งแอฟริกาตะวันตก’

ผมขอพาทุกท่านไปยังเมืองก็องวิเย่ (Ganvié) เมืองแห่งเสรีชนบนผืนน้ำ

นักบวชวูดูผู้มากับเหยี่ยวและจระเข้ศักดิ์สิทธิ์

ล่องเรือเที่ยวก็องวิเย่ เวนิสแห่งแอฟริกาที่รอดพ้นการค้าทาสจนเป็นเมืองเสรีชนบนผืนน้ำ
Hugo Van Tilborg
ภาพ : www.flickr.com

รถตู้คันมอมวิ่งฝ่าอากาศร้อนไปตามท้องถนนจากเมืองโกโตนู (Cotonou) สู่ก็องวิเย่โดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง เลยทำให้เรามีเวลาสนทนาจ๊ะจ๋ากันบนรถ 

“ชนเผ่าโตฟินูว่ายน้ำเป็นก่อนจะเดินได้อีกนะ” เสียงลุงโคฟี่ ไกด์อารมณ์ดีของเราดังขึ้นบนรถ

“ก็น่าจะเป็นแบบนั้นนะครับลุง เพราะเกิดและโตอยู่บนน้ำเลย แล้วทำไมพวกเขาถึงมาลงหลักปักฐานสร้างเมืองกันกลางทะเลสาบแบบนี้ล่ะครับ” ผมตั้งคำถามซึ่งพาให้ลุงโคฟี่ต้องหันหน้ามาเล่าตำนานอันเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเมืองนี้

“เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีชาวแอฟริกันร่วมอยู่ในกระบวนการค้าทาสด้วย คนยุโรปและอเมริกันไม่ใช่ผู้กวาดต้อนชนพื้นเมืองมาเป็นทาสนะครับ หลายคนเข้าใจผิด คนขาวคือผู้ขายและผู้ซื้อเท่านั้น แต่หัวหน้าเผ่าหรือกษัตริย์ของราชอาณาจักรเล็กๆ ในพื้นที่แอฟริกาตะวันตกต่างหากที่เป็นผู้กวาดต้อนเชลยสงคราม หรือประชากรจากเผ่าที่อ่อนแอกว่า แม้กระทั่งจับราษฎรของตนมาขายเป็นทาส โดยมีผลประโยชน์มากมายที่ได้รับแลกเปลี่ยนเป็นของกำนัล” ลุงโคฟี่อธิบาย

 “ทาสแข็งแรงล่ำสันสักหนึ่งคน อาจหมายถึงสินค้าฟุ่มเฟือยทั้งหลายจากยุโรป ไม่ว่าเหล้า ไวน์ ยาสูบ หรืออาวุธยุทโธปกรณ์หลากชนิด เช่น ปืนสั้น ปืนยาว ปืนใหญ่ หรือกระสุน ที่หัวหน้าเผ่าและกษัตริย์ในภูมิภาคนี้ต้องการเพื่อใช้ทำสงครามระหว่างเผ่า และของกำนัลเหล่านั้นก็มีอำนาจพอจะเปลี่ยนคนผู้นั้นให้ละทิ้งความเป็นมนุษย์ของตนได้” 

และหนึ่งในเผ่าที่สมรู้ร่วมคิดกับชาวยุโรปและอเมริกันในครั้งนั้นก็คือเผ่าฟอน (Fon) กล่าวกันว่าเป็นเผ่าที่ยิ่งใหญ่และทรงอำนาจที่สุดเผ่าหนึ่งในขณะนั้น รวมทั้งมีความดุร้ายและมีกองกำลังที่เกรียงไกรมากกว่าเผ่าอื่นๆ 

เรื่องเล่ามีอยู่ว่า พวกเผ่าฟอนได้ไล่ล่าบรรพบุรุษของเผ่าไอโซ (Aïzo) จากป่ามาจนถึงชายน้ำริมทะเลสาบโนกูเอ (Nokoué) นักบวชวูดูซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่หลบหนีมาพร้อมกันได้เริ่มท่องมนตร์ศักดิ์สิทธิ์ขึ้น อีกไม่นานเหยี่ยวตัวใหญ่ปรากฏร่างขึ้น นำนักบวชวูดูผู้นั้นขึ้นขี่หลัง และพาบินลัดฟ้าไปจนถึงเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งกลางทะเลสาบโนกูเอ 

ขณะนั้นพวกฟอนกำลังไล่ตามมาอย่างกระชั้นชิด เสียงโห่ร้องดังขึ้นอื้ออึงเมื่อเห็นชนเผ่าไอโซยืนรวมกลุ่มอย่างหวาดหวั่นอยู่ริมน้ำ ไม่นานเหยี่ยวตัวเดิมก็พานักบวชวูดูผู้นั้นกลับมายังชายฝั่ง ท่านรีบท่องมนตร์ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นอีกบทหนึ่ง คราวนี้มีจระเข้ตัวใหญ่ปรากฏกายขึ้น นักบวชวูดูรีบต้อนชาวเผ่าไอโซขึ้นขี่หลังจระเข้ตัวนั้น แล้วจระเข้ก็ว่ายน้ำพาพวกเขาไปยังเกาะเล็กๆ ที่เหยี่ยวนำนักบวชวูดูมาก่อนหน้านี้ เมื่อพวกเขาลงจากหลังจระเข้ ก็สังเกตได้ว่าไม่มีพวกฟอนไล่ตามพวกเขามาอีก เสียงโห่ร้องอื้ออึงเมื่อสักครู่กลับเงียบสงบลงทันที บรรพบุรุษของเผ่าไอโซจึงตัดสินใจอาศัยอยู่บนเกาะกลางทะเลสาบแห่งนั้น โดยไม่คิดจะกลับขึ้นไปเหยียบพื้นดินอีกเลย 

ล่องเรือเที่ยวก็องวิเย่ เวนิสแห่งแอฟริกาที่รอดพ้นการค้าทาสจนเป็นเมืองเสรีชนบนผืนน้ำ
ภาพ : www.commons.wikimedia.org

ดินแดนเหนือทะเลสาบแห่งนี้จึงเป็นดินแดนแห่งความสงบที่พวกเขาขนานนามว่า ก็องวีเย่ (Ganvié) ผู้ที่อาศัยอยู่ ณ ที่นี้จะมีแต่ความปลอดภัย พ้นจากความเป็นทาส และเป็นเสรีชนไปตลอดกาล 

ต่อมาชนเผ่าไอโซจึงได้รับการขนานนามว่าโตฟินู (Tofinu) คำว่าโตฟิน (Tofin) แปลว่าคน ส่วนคำว่าฟินู (Finu) หมายถึงน้ำ สองคำนี้จึงหมายถึงคนที่อาศัยอยู่บนผืนน้ำ โตฟินูจึงเป็นหนึ่งในชนเผ่าที่หนีรอดจากการค้าทาสได้สำเร็จ

“หากไปถึงก็องวิเย่แล้วจะเห็นรูปปั้นเหยี่ยวกับจระเข้ศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่ใกล้ๆ เกาะที่บรรพบุรุษโตฟินูหนีพวกฟอนมาลงหลักปักฐานเป็นครั้งแรก” ลุงโคฟี่กล่าวสรุปพอดีกันกับที่เรามาถึงก็องวิเย่เป็นที่เรียบร้อย

เวนิสแห่งแอฟริกา

เวนิสแห่งแอฟริกาไม่มีเรือกอนโดลา ไม่มีคนแจวเรือที่คอยขับกล่อมด้วยเพลงนาโปลิตานหวานซึ้ง ที่นี่มีแต่เรือยนต์สีสด ลำใหญ่ นั่งสบาย ที่กำลังพาผมกับลุงโคฟี่ออกจากฝั่ง ลัดเลาะไปตามท้องน้ำของทะเลสาบโนกูเอ

ล่องเรือเที่ยวก็องวิเย่ เวนิสแห่งแอฟริกาที่รอดพ้นการค้าทาสจนเป็นเมืองเสรีชนบนผืนน้ำ

“จากตำนานที่เล่าให้ฟังเมื่อสักครู่ หากวิเคราะห์จากบริบทอื่นๆ ก็จะพบว่าชาวเผ่าโตฟินูเป็นชาวประมง และอาศัยอยู่ริมชายฝั่งทะเลสาบโนกูเอมาก่อน ในขณะที่เผ่าฟอนอาศัยอยู่ในป่าลึก ชำนาญเฉพาะพื้นดิน เมื่อเผ่าโตฟินูถูกคุกคามและรุกรานหนักเข้า จึงตัดสินใจย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนมาอาศัยในน้ำแทนเสียเลย วิธีนี้ได้ผลมาก เพราะชาวเผ่าฟอนไม่มีทักษะการเอาตัวรอดในน้ำได้ดีเท่าเผ่าโตฟินู จึงไม่กล้าตามลงไป พวกเขาจึงอยู่รอดปลอดภัยจนหมดยุคการค้าทาส 

“ตั้งแต่นั้นมาชาวโตฟินูก็ไม่เคยกลับขึ้นไปอยู่บนแผ่นดินอีกเลย”

บ่ายวันนั้นเรือแล่นฉิวฝ่าลมพัดแรง อากาศไม่ร้อนแม้แดดจะจ้าพอสมควร ชาวบ้านพายเรือไม้ที่ขุดจากท่อนซุงสวนกันไปมาดูคึกคัก เรือบางลำเป็นเรือไม้ลำใหญ่ กางใบเรือที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลอย่างถุงปุ๋ยหรือเศษผ้าที่นำมาปะชุนต่อๆ กัน เครื่องแต่งกายของหญิงชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นชุดหรือผ้าโพกผม ล้วนทำจากผ้าพื้นเมืองแอฟริกันสีสันสดใส ช่วยแต่งแต้มบรรยากาศให้มีชีวิตชีวาและน่าบันทึกภาพมากๆ แต่เมื่อผมยกกล้องขึ้นครั้งใด นายแบบ/นางแบบของผมจะหันหน้าหนีทันที ไม่ก็เอามือหรือตะกร้าบังใบหน้า และมีอีกหลายคนที่ยกมือห้ามพร้อมส่งสายตาปรามอย่างโกรธๆ

ล่องเรือเที่ยวก็องวิเย่ เวนิสแห่งแอฟริกาที่รอดพ้นการค้าทาสจนเป็นเมืองเสรีชนบนผืนน้ำ

เวลาเดินทางในประเทศทางแถบแอฟริกา ผมมักจะได้รับคำเตือนเรื่องการถ่ายภาพอยู่เสมอ ไม่ว่าภาพบุคคลหรือภาพสถานที่ และผมก็พยายามไม่ทำให้ใครต้องอารมณ์เสีย หากผมจะถ่ายรูปใคร ก็จะขออนุญาตทุกครั้ง ถ้าได้รับการปฏิเสธ ผมก็จะกล่าวขอโทษและจากไปด้วยความเข้าใจ ตามข้อมูลที่ผมได้รับทราบมานั้นระบุว่า สาเหตุที่คนแอฟริกันไม่ถูกกับกล้อง เพราะบางประเทศเคยตกอยู่ในภาวะสงครามมานานจนไม่ไว้ใจกัน บางดินแดนมีความเชื่อเรื่องขวัญที่อาจจะออกจากร่างเมื่อโดนถ่ายภาพ แต่ส่วนใหญ่คิดว่านักท่องเที่ยวชอบนำภาพของพวกเขาไปขายหาผลประโยชน์ หรือไม่ก็นำไปเผยแพร่ในทางเสียหาย เช่น ทำให้คนเข้าใจผิดว่าแอฟริกาเป็นดินแดนยากจนข้นแค้น เป็นการสร้างภาพจำในเชิงลบให้พวกเขา

สำรวจชีวิตบนผืนน้ำของชาวเผ่าโตฟินู ฟังประวัติศาสตร์เที่ยวเมืองก็องวิเย่ ‘เวนิสแห่งแอฟริกาตะวันตก’ ที่รอดพ้นจากการค้าทาส

แต่สำหรับวันนี้ การจะขออนุญาตชาวบ้านที่กำลังพายเรืออยู่นั้น คงเป็นไปแทบไม่ได้ จะให้ผมล่องเรือเข้าไปข้างๆ แล้วเอ่ยปากขออนุญาตถ่ายภาพก็ดูจะลำบากทั้งเขาและเรา ดังนั้น หลังจากที่ผมลองยกกล้องเพื่อเตรียมบันทึกภาพไปสักระยะ จนเริ่มรู้สึกว่าพวกเขาไม่ชอบอย่างจริงจัง ผมจึงตัดสินใจบันทึกภาพแต่เฉพาะจากด้านหลังเท่านั้น และงดการบันทึกภาพใบหน้าโดยเด็ดขาด ดังนั้น บันทึกนี้จึงมีภาพด้านหลังของชาวเผ่าโตฟีนูเป็นหลักนะครับ

เรือพาเราลัดเลาะร่องน้ำไปตามแนวใบปาล์มแห้งๆ สีน้ำตาลที่เรียงตัวคดเคี้ยวไปมาเสมือนแนวเขื่อนที่ซ้อนทับกันไปเรื่อยๆ ลุงโคฟี่อธิบายว่า นี่คือการสร้างโครงข่ายดักปลาตามภูมิปัญญาท้องถิ่น มีชาวบ้านมาตกเบ็ดทอดแหทอดอวนกันอยู่บริเวณนั้นมากมาย อาจกล่าวได้ว่าชาวก็องวิเย่มีอาชีพอันเกี่ยวเนื่องกับการประมงในอัตราร้อยเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว และตลาดรองรับสินค้าของพวกเขา ก็คือเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศเบนินอย่างโกโตนู

สำรวจชีวิตบนผืนน้ำของชาวเผ่าโตฟินู ฟังประวัติศาสตร์เที่ยวเมืองก็องวิเย่ ‘เวนิสแห่งแอฟริกาตะวันตก’ ที่รอดพ้นจากการค้าทาส

เรือพาเราชมทิวทัศน์ที่สวยงามไปเรื่อยๆ จากเขตประมงชายฝั่งก็เริ่มออกสู่พื้นทะเลสาบโนกูเอที่กว้างใหญ่ อยู่ดีๆ เราก็เห็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ปรากฏตัวขึ้นมากลางทะเลสาบ หมู่บ้านนี้แน่นขนัดไปด้วยเรือนไม้หลายร้อยหลังที่ปลูกอยู่บนเสาสูง แผ่อาณาบริเวณกว้างไกล จากการสำรวจพบว่ามีประชากรกว่า 30,000 คน ที่อาศัยอยู่บนเมืองน้ำแห่งนี้ 

เมื่อเข้าสู่หมู่บ้าน เราพบว่ามีคลองสายหลักที่เป็นเหมือนถนนใหญ่ และมีคลองย่อยที่เป็นดั่งซอยเล็กซอยน้อยที่พาลัดเลาะไปยังบ้านที่อยู่ลึกๆ เข้าไป ยิ่งเข้าเขตหมู่บ้านก็ยิ่งพบชาวบ้านที่ยังคงสัญจรไปมาด้วยเรือพายมากขึ้น ผมรีบเก็บกล้องลงเป้ แล้วส่งยิ้มหวานพร้อมโบกมือแสดงความเป็นมิตร คราวนี้ผมเริ่มได้รับรอยยิ้มตอบกลับมาบ้างแล้ว และมันดีกว่าสายตาโกรธเกรี้ยว หรือการหันหน้าหนีที่ได้เผชิญมาเมื่อสักครู่

สำรวจชีวิตบนผืนน้ำของชาวเผ่าโตฟินู ฟังประวัติศาสตร์เที่ยวเมืองก็องวิเย่ ‘เวนิสแห่งแอฟริกาตะวันตก’ ที่รอดพ้นจากการค้าทาส

เรือนไม้หลายหลังทำหน้าที่เป็นโบสถ์ เป็นมัสยิด เป็นโรงเรียน เป็นร้านอาหาร เป็นร้านชำ และมีแม้กระทั่งบาร์และดิสโก้เทค ส่วนมากทาสีสันฉูดฉาดดึงดูดสายตา ร้านที่ผมชอบมากคือร้านเสริมสวยที่สาวๆ ช่างแต่งผมแต่งหน้าอยู่ในเครื่องแบบสีชมพูหวาน พวกเธอกำลังช่วยกันดูแลลูกค้าคนสำคัญที่มีเพียงหนึ่งเดียวในขณะนั้น ทั้งเลือกวิกและจัดแต่งทรงผม เสียงหัวเราะสดใสของพวกเธอลอยแว่วมาตามลม

สำรวจชีวิตบนผืนน้ำของชาวเผ่าโตฟินู ฟังประวัติศาสตร์เที่ยวเมืองก็องวิเย่ ‘เวนิสแห่งแอฟริกาตะวันตก’ ที่รอดพ้นจากการค้าทาส

เราแวะขึ้นไปเดินเล่นที่ร้าน Chez M à Ganvié หนึ่งในร้านขายของที่ระลึกที่มีเพียงไม่กี่ร้านเพื่อเลือกหาสินค้าหัตถกรรมพื้นถิ่นหรือผ้าพิมพ์ลายสวยติดไม้ติดมือกลับไป และลองทานน้ำมะม่วงเรียกความสดชื่นยามบ่าย เราเดินลัดเลาะบนสะพานไม้ที่ทอดตัวผ่านบ้านหลายสิบหลังรวมทั้งผ่านโรงเรียน ผ่านร้านชำ ให้ได้สำรวจความเป็นอยู่พอหอมปากหอมคอ 

สำรวจชีวิตบนผืนน้ำของชาวเผ่าโตฟินู ฟังประวัติศาสตร์เที่ยวเมืองก็องวิเย่ ‘เวนิสแห่งแอฟริกาตะวันตก’ ที่รอดพ้นจากการค้าทาส
ภาพ : www.thewandertheory.com

ก่อนจบการล่องเรือ เราวนไปยังตลาดสดของเมือง ที่นั่นมีเรือหลายลำจอดขายสินค้ามากมาย ไม่ว่าผักผลไม้สด ข้าวสาร อาหารแห้ง แป้ง ข้าวโพด หัวเผือก หัวมัน ตลอดจนเนื้อสัตว์ รวมทั้งแชมพู สบู่ วิกผม ยาทาเล็บ หลอดไฟ ฯลฯ ตามที่พบได้ในตลาดทั่วไป แต่ความเก๋ของที่นี่คือ ทุกอย่างอยู่บนเรือลำนู้นลำนี้เต็มบริเวณ โดยขาช้อปก็พายเรือออกมาซื้อของโดยแวะไปตามเรือลำต่างๆ ผมอยากจะถ่ายภาพมากๆ เลยนะครับ แต่ผมก็ตัดใจว่าผมไม่อยากสร้างความโกรธให้กับใคร และผมก็เลือกใช้สายตาบันทึกภาพไว้แทน

สำรวจชีวิตบนผืนน้ำของชาวเผ่าโตฟินู ฟังประวัติศาสตร์เที่ยวเมืองก็องวิเย่ ‘เวนิสแห่งแอฟริกาตะวันตก’ ที่รอดพ้นจากการค้าทาส

เวลาที่ก็องวิเย่ผ่านไปอย่างเพลิดเพลินตลอดช่วงบ่าย และแล้วก็ถึงเวลาที่เราจะกลับขึ้นฝั่งกันเสียที เรือยนต์หันหัวออกจากตลาด ลัดเลาะคลองเล็กคลองน้อยจนมาออกคลองใหญ่ 

“เมอซิเออร์ เมอซิเออร์… ถ่ายรูปหน่อยสิครับ มีเสียงตะโกนเป็นภาษาฝรั่งเศสดังขึ้น มีคนกำลังชวนให้ถ่ายรูป นี่ผมหูฝาดไปรึเล่าเนี่ย

ผมหันไปหาเด็กชายเจ้าของเสียงที่นั่งแจวเรืออย่างคล่องแคล่ว แล้วก็ยกกล้องขึ้นพร้อมส่งสายตาเป็นเชิงขออนุญาตอีกครั้ง เจ้าหนูยิ้มรับเขินๆ ตามมาด้วยเสียงลั่นชัตเตอร์ดังแชะ ก่อนที่ผมจะหันภาพถ่ายยื่นให้เขาดู นั่นจึงเป็นภาพถ่ายเพียงภาพเดียวที่นายแบบเต็มใจ

สำรวจชีวิตบนผืนน้ำของชาวเผ่าโตฟินู ฟังประวัติศาสตร์เที่ยวเมืองก็องวิเย่ ‘เวนิสแห่งแอฟริกาตะวันตก’ ที่รอดพ้นจากการค้าทาส

“Merci beaucoup ขอบคุณมากๆ นะ” ผมกล่าวขอบคุณน้องชายใจดี เขายิ้มทะเล้นอีกครั้ง ก่อนที่เรือจะแล่นไปช้าๆ จนพ้นเขตหมู่บ้าน และเร่งความเร็วกลับเข้าสู่ฝั่งพร้อมกับความประทับใจเวนิสแห่งแอฟริกานามว่าก็องวิเย่แห่งนี้

ส่งท้ายที่อวีดาฮ์

หลังจากการเดินทางในก็องวิเย่จบลง ผมมีโอกาสเดินทางต่อไปยังเมืองอวีดาฮ์ ไปยืนอยู่ใต้ประตูที่ไม่หวนกลับ และมองออกไปยังมหาสมุทรแอตแลนติกที่ทอดตัวเวิ้งว้างอยู่เบื้องหน้า เลยไปไกลแสนไกลก็คือทวีปอเมริกา ผมอดคิดถึงชาวแอฟริกันนับล้านชีวิตที่หลบหนีการค้าทาสไม่สำเร็จเหมือนชาวโตฟินูแห่งก็องวิเย่

สำรวจชีวิตบนผืนน้ำของชาวเผ่าโตฟินู ฟังประวัติศาสตร์เที่ยวเมืองก็องวิเย่ ‘เวนิสแห่งแอฟริกาตะวันตก’ ที่รอดพ้นจากการค้าทาส

“เมื่อเดินผ่านประตูไม่หวนกลับเพื่อเตรียมลงเรือ ทาสหลายคนทุ่มตัวลงกินทรายเพราะเชื่อว่าอย่างน้อยก็ยังมีอะไรจากแผ่นดินแม่ติดตัวไปบ้าง บางคนก็ถึงขั้นเสียสติทำร้ายตัวเอง และมีอีกหลายคนที่เลือกปลิดชีวิตด้วยการกระโดดน้ำทะเลพร้อมโซ่ตรวน เพราะไม่อยากจากบ้านเกิดไปยังโลกใหม่” ลุงโคฟี่กล่าว เสียงของลุงค่อยๆ แผ่วลงและขาดหายไปพร้อมกับลำแสงสุดท้ายยามอาทิตย์อัสดง ผมยืนนิ่ง มองไปข้างหน้า ลำคอแหบแห้ง รอบตัวมีแต่ความเงียบงัน

ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งได้ปิดฉากลงไปแล้ว สิ่งสำคัญคือเราเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์กันบ้าง และเราพยายามกันแค่ไหนที่จะไม่ทำให้สิ่งเลวร้ายเช่นนั้นเกิดขึ้นซ้ำ และเราพยายามกันมากพอแล้วหรือยัง

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographers

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Avatar

ดวงฤทัย พุ่มชูศรี

ลูกคนกลางที่เกิดวันพฤหัสบดี มีโลกส่วนตัวสูง แต่ชอบตะลุยโลกกว้าง ขีดๆ เขียนๆ บันทึกเอามัน สีน้ำบ้าง ถ่ายรูปด้วยความหลงใหลด้วยฟิล์มบ้าง ดิจิทัลบ้างตามอารมณ์ ติดตามบันทึกการเดินทางประเทศไม่ธรรมดาที่ Facebook และ Instagram)